เทคโนโลยีการเจริญพันธุ์กับการคัดเลือกพันธุกรรมมนุษย์ ร.ศ.น.พ.สมชาย สุวจนกรณ์ หน่วยชีววิทยาการเจริญพันธุ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย *** เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (Assisted Reproductive Technology) หมายถึง เทคโนโลยี ที่ใช้ในการช่วยเหลือรักษาคู่สมรสที่มีบุตรยากโดยการใช้เทคโนโลยีช่วยให้ไข่ของฝ่ายหญิงและอสุจิ ของฝ่ายชายสามารถผสมกันเกิดเป็นตัวอ่อนได้ โดยปกติแล้วมีคู่สมรสถึง 10% ที่มีปัญหาการมีบุตรยาก ส่วนหนึ่งแก้ไขโดยเทคนิคง่ายๆ เช่น การนับวันตกไข่ของฝ่ายหญิง ผู้ที่มีปัญหามากขึ้นอาจใช้วิธีการทำ GIFT (Gamete Intrafallopian Transfer) คือการนำไข่ของฝ่ายหญิงมาผสมกับอสุจิของฝ่ายชาย ภายนอกร่างกาย แล้วฉีดกลับเข้าไปในร่างกายฝ่ายหญิง เพื่อให้ไข่ที่ผสมแล้วนี้เคลื่อนตัวไปฝังตัวที่ ผนังมดลูกต่อไป หากวิธีนี้ยังไม่ได้ผล แพทย์จะใช้วิธี IVF (in vitro Fertilization) คือผสมไข่และเชื้ออสุจิ ภายนอกร่างกาย แล้วเลี้ยงไว้อีกระยะหนึ่ง เพื่อให้ตัวอ่อนแข็งแรง แล้วฉีดกลับเข้าไปในร่างกายฝ่ายหญิง หากฝ่ายชายมีเชื้ออสุจิน้อยมากจะใช้วิธีการทำ ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) คือการฉีด เชื้ออสุจิเพียงหนึ่งตัวเข้าไปในไข่โดยตรง และยังมีเทคนิคอื่นๆอีกมากที่จะช่วยให้คู่สมรสมีบุตรได้ เทคนิคเหล่านี้ทวีความซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ ตามความก้าวหน้าของวิทยาการ การที่แพทย์พยายามช่วยผู้ที่มีบุตรยาก ซึ่งไม่สามารถจะรักษาได้ในอดีตประสบความสำเร็จ อย่างมากและมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ก่อให้เกิดปัญหาทางจริยธรรม บางประการตามมาด้วยเช่นกัน ผลกระทบของเทคโนโลยีต่อการคัดเลือกพันธุกรรมมนุษย์และปัญหาทางจริยธรรม ในอนาคต กระบวนการต่าง ๆ ที่แพทย์เลือกมาช่วยรักษาปัญหาการมีบุตรของคู่สมรส อาจจะมีบทบาทเข้ามาเกี่ยวข้องกับการคัดเลือกพันธุกรรมมนุษย์ เนื่องจากว่าแพทย์มีความสามารถ ในการวินิจฉัยโรคต่างๆได้แม่นยำขึ้น รวมทั้งมีแนวทางในการเลือกตัวอ่อนให้มีลักษณะพันธุกรรม ที่เป็นที่ต้องการได้ ในการวินิจฉัยโรคนั้นอาจวินิจฉัยได้ 3 ช่วงคือ ๑. การวินิจฉัยโรคหลังคลอด ปัจจุบันแพทย์จะตรวจความผิดปกติหลังคลอดในเด็กทุกคน จะทราบว่าเด็กคนนั้นเป็นโรคอะไรหรือไม่ แต่ไม่ได้ป้องกันการเกิดโรค ๒. การวินิจฉัยโรคก่อนคลอด เช่น การเจาะน้ำคร่ำ การเจาะชิ้นเนื้อรกมาตรวจ การเจาะเลือด มาตรวจ ซึ่งเมื่อตรวจพบโรคแล้ว ก็ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เด็กก็ยังเป็นโรคอยู่ แต่ในกรณีที่มีปัญหารุนแรง ปัจจุบันมีการเสนอกฎหมายทำแท้งในกรณีที่การเป็นโรคนั้น อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพแม่หรือเด็ก ๓. การวินิจฉัยก่อนการตั้งครรภ์ มีปัญหาว่ามีค่าใช้จ่ายสูง แต่ข้อดีอยู่ที่ว่า เมื่อเด็กเกิดแล้ว จะมั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าเด็กคนนั้นจะปราศจากจากโรคที่ตรวจ ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ มีผลต่อการคัดเลือก พันธุกรรมมนุษย์ได้ในหลายกรณี เช่น ๑. ความสามารถในการวินิจฉัยโรคที่ทราบว่าจะถ่ายทอดไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานในระดับยีนได้ ก่อให้เกิดคำถามว่าแพทย์ควรเลือกปฏิบัติอย่างไร เช่น ในกรณีที่ผู้ชายมีปัญหา มีความผิดปกติที่ยีน ที่อยู่บน Y Chromosome ด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์นี้ถึงแม้ว่าแพทย์จะทำให้เด็กเกิดขึ้นได้ แต่จะเป็นการถ่ายทอดลักษณะที่ผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับลูกได้ มีคำถามทางจริยธรรมว่า ถ้าแพทย์ ช่วยให้คนไข้มีลูก โดยที่จะเป็นการถ่ายทอดลักษณะของพันธุกรรมที่ไม่ดีไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน จะเป็นการสมควรไหม ในกรณีโรคธาลัสซีเมีย พบว่าคนไข้บางรายต้องเสียลูกเนื่องจากโรคธาลัสซีเมีย ถ้าแพทย์เลือกตัวอ่อนที่ไม่เป็นธาลัสซีเมีย แล้วตัวอ่อนที่แพทย์ไม่เลือก แพทย์จะทำอย่างไร หากทำลายทิ้ง จะถือว่าเป็นการทำลายชีวิตหรือไม่ หากจะเก็บไว้ ควรเก็บไว้นานกี่ปี ผู้ใดจะเป็น ผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ยิ่งไปกว่านั้น ในอนาคตความรู้จากโครงการจีโนมมนุษย์ (human genome project) จะทำให้เราเข้าใจการทำงานของยีนมนุษย์มากขึ้น เราก็ยิ่งจะมีข้อมูล ที่ช่วยในการคัดเลือกได้มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน เราควรมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร ๒. การตรวจพบความผิดปกติของโครโมโซม (chromosome abnormality)ได้ เมื่อวินิจฉัยพบความผิดปกติในเด็ก แพทย์ควรทำอย่างไร ควรคัดเลือกทิ้งไปหรือไม่ เช่น การตรวจพบ ความผิดปกติของโครโมโซมแล้วพบว่าตัวอ่อนนั้นเป็นโรค Down’s Syndrome จะทำลายได้ไหม หากถือว่าตัวอ่อนมีสถานะเป็นบุคคล จะก่อปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะจะถือว่าเป็นการฆ่าชีวิต ซึ่งผิดกฎหมาย ๓. เทคโนโลยีการตัดชิ้นเนื้อและเทคโนโลยีที่จะก่อให้เกิดการเป็นฝาแฝด การตัดชิ้นเนื้อ ตัวอ่อน (Partial Dissection Technique) เป็นกระบวนการที่ใช้วินิจฉัยโรคก่อนการตั้งครรภ์ ในการ ตัดชิ้นเนื้อจะเป็นการกระตุ้นให้เซลล์เกิดการแบ่งตัว มีโอกาสที่จะเกิดการเป็นฝาแฝดได้ เนื่องจาก มีการแยกตัวของตัวอ่อน (embryo splitting) ในกรณีเช่นนี้แพทย์ควรทำอย่างไร ๔. ความสามารถในการเลือกเพศ (sex determination) ในปัจจุบันแพทย์มีเทคโนโลยี ที่ทำให้ทราบเพศของตัวอ่อนได้ โดยการตรวจโครโมโซมเพศ (Sex Chromosome) ว่าเป็น xx หรือ xy การทดสอบนี้ทำให้ทราบเพศได้อย่างแน่นอน 100% หากคู่สมรสระบุเพศเด็กที่ต้องการ แพทย์ควรทำอย่างไร สามารถทำลายตัวอ่อนที่ไม่ต้องการได้หรือไม่ อย่างไรก็ดีการเลือกเพศนั้น มีประโยชน์บางประการ เช่นช่วยหลีกเลี่ยงโรคบางโรคที่จำเพาะกับเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น ในปัจจุบัน มีการใช้เทคนิคนี้ในคนไข้บางราย เพื่อป้องกันการเกิดโรคในเด็ก ๕. การใช้เทคโนโลยีที่่เกี่ยวข้องกับไข่หรือตัวอ่อนของมนุษย์ เพื่อมุ่งเน้นที่จะเข้าไปแก้ไข ความผิดปกติของยีน อาจจะเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อลูกหลานในรุ่นต่อไป ทั้งนี้เนื่องจากเทคนิคในการตัดต่อยีน ปัจจุบันยังไม่สามารถควบคุมตำแหน่งและจำนวนการตัดต่อ ได้อย่างแม่นยำ การรักษาโดยการคัดเลือกตัวอ่อนที่ปกติใส่กลับไป น่าจะเป็นวิธีการที่ง่ายและเหมาะสม กว่าการเข้าไปตัดต่อยีน แต่มีปัญหาในเรื่องของจริยธรรมมาก *** ที่มา : http://www.thainhf.org/Bioethics/article/techno05.doc