สรุปข้อมูลและสถานภาพด้านชีวจริยธรรม (Bioethics) ทิพยวรรณ ธนไพศาล โครงการศึกษานโยบายด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ *** ที่มาและความสำคัญ ปัจจุบันนี้การวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์มีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว เห็นได้ชัดว่า ความก้าวหน้าเหล่านั้น กำลังเริ่มส่งผลกระทบต่อสังคม ไม่เพียงในแง่ต้นทุนและผลได้ทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผลกระทบที่มีต่อความรู้สึกในเรื่องคุณค่าและศักดิ์ศรีของชีวิต จนถึงสิทธิและเกียรติภูมิความ เป็นมนุษย์อีกด้วย โดยเฉพาะในแง่ของจริยธรรม ซึ่งทำให้สังคมเกิดประเด็นพิจารณาทางด้านความเหมาะสม ทั้งในส่วนของการศึกษาวิจัยเอง และในส่วนของการใช้ประโยชน์จากผลการวิจัยนั้น สังคมโดยส่วนรวม ตั้งความหวังว่ากระบวนการวิจัยนั้นควรจะอยู่บนฐานของจริยธรรมที่ยอมรับได้ในสังคม ทั้งในระดับโลก และ ในระดับประเทศ ในขณะเดียวกัน การนำเอาผลจากการวิจัย ซึ่งปรากฏออกมาในรูปของเทคโนโลยีต่าง ๆ ไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างจริงจังควรต้องมีการกำหนดเงื่อนไข และมาตรฐานทางจริยธรรมสำหรับ บุคลากรสาธารณสุขประเภทต่าง ๆ ที่จะพึงปฏิบัติต่อผู้ป่วย หรือผู้มารับบริการ และยังอาจต้องมีการกำหนด กฏกติกาต่างๆ สำหรับกลุ่มอื่น ๆ ในสังคม เช่น สำหรับภาคธุรกิจเอกชน และตัวนักวิจัยเอง เพื่อให้ได้ รับประโยชน์จากผลการวิจัย โดยประชาชนผู้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีต่าง ๆ จะไม่ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ในระดับนานาชาติ เมื่อปี ๒๕๐๗ World Medical Association ได้ออกแถลงการณ์ Helsinki Declaration ว่าด้วย Ethical Principles for Medical Research Involving Human Subjects เพื่อกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของการวิจัยในมนุษย์ ซึ่งได้มีการนำมาปรับใช้หลายครั้งจนกระทั่ง พัฒนาขึ้นเป็นมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ถูกทำการทดลองวิจัยสำหรับบุคลากรทางด้านสุขภาพ จนกระทั่ง ถึงปี ๒๕๓๗ UNESCO จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการชีวจริยธรรมระหว่างประเทศ (International Bioethics Committee: IBC) เพื่อติดตาม และกำหนดมาตรฐาน หรือแนวทางปฏิบัติ เกี่ยวกับการทำการวิจัยด้าน พันธุกรรมมนุษย์ รวมทั้งการวิจัยใหม่ๆทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย UNESCO สนับสนุนและ ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ bioethics ในประเทศต่างๆ เพื่อมาพิจารณาแง่มุมต่างๆ ของการวิจัย และใช้ประโยชน์จากการวิจัยด้านพันธุกรรม และการวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์อื่น ๆ สำหรับประเทศไทยได้มีดำริในระหว่างผู้เกี่ยวข้องกับการวิจัยด้านแพทย์และนักวิจัยด้าน เทคโนโลยีชีวภาพมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วว่าน่าจะมีการดำเนินการเพื่อให้เกิดกลไกที่จะให้ความสนใจ แง่มุมทางชีวจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยทางด้านพันธุกรรมมนุษย์ และการวิจัยใหม่ ๆ ทางด้าน วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่อาจมีประเด็นในเชิงชีวจริยธรรม เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินการวิจัย รวมทั้ง การใช้ประโยชน์จากผลการวิจัยในด้านเหล่านี้จะเป็นไปบนฐานของการพิจารณาทางด้านชีวจริยธรรม อย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดความเข้าใจและการปฏิบัติอย่างเหมาะสมในประชากรกลุ่มต่าง ๆ ไม่เฉพาะแต่ นักวิทยาศาสตร์และแพทย์เท่านั้น โดยสามารถนำไปปรับใช้ในการกำหนดนโยบายและแนวทางการ ส่งเสริมและทำการศึกษาวิจัย และใช้ประโยชน์เกี่ยวกับพันธุกรรมมนุษย์ไม่ให้กระทบต่อสิทธิพื้นฐาน ของความเป็นมนุษย์ของปัจเจกบุคคล และเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมอย่างจริงจังในระยะยาว ประเทศไทยจึงควรมีการเตรียมมาตรการที่เหมาะสมในการจัดการในเรื่องนี้ที่สอดคล้องกับสถานภาพ ของพัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านการแพทย์ที่อาจมีผลกระทบต่อสังคมไทย และ ในบริบทด้านจริยธรรมของไทยที่อาจเหมือนหรือแตกต่างกับต่างประเทศก็ได้ แต่ขณะเดียวกันก็ควร ดำเนินงานเรื่องนี้โดยมีการศึกษาและใช้ประโยชน์จากความเคลื่อนไหวสากลควบคู่กันไป และรวมถึง การที่ไทยอาจมีข้อเสนอต่อประชาคมโลกในเรื่องนี้ได้เช่นกัน ตัวอย่างประเด็นพิจารณาด้านจริยธรรมที่มีอยู่ในโลก การทำลายชีวิตมนุษย์ ในการวิจัยที่มีการใช้เทคโนโลยีบางอย่างที่อาจนำไปสู่การสร้างมนุษย์ คนใหม่ขึ้นมา แต่ก็จะต้องมีการทำลายบางส่วนทิ้งไป จะถือว่าเป็นการฆ่า หรือทำลายชีวิตที่เกิดใหม่หรือไม่ จะเป็นที่ยอมรับได้มากน้อยเพียงใดในแต่ละสังคม เช่น การผสมเทียม หรือการสร้างเด็กหลอดแก้ว ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น IVF สำหรับคู่สมรสที่ต้องการมีบุตร แพทย์จะต้องสร้างตัวอ่อนขึ้นมาหลาย ๆ ตัว แล้วเลือกตัวที่ต้องการไปใช้เพียงตัวเดียว และทิ้งตัวที่เหลือไป เราจะถือว่าเกิดการฆ่าชีวิตที่ถูกทิ้งไป เหล่านั้นหรือไม่ แต่ในขณะเดียวกันความรู้และประโยชน์ที่อาจจะเกิดจากการค้นพบเหล่านั้นอาจช่วยในการ รักษาโรค หรือเพิ่มคุณภาพชีวิตเราได้อย่างที่เทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่อาจจะช่วยได้ เราจะมีเกณฑ์ใด มาวัดความเหมาะสมนี้ การคัดพันธุ์หรือการเลือกเพศมนุษย์ มีแนวโน้มว่าการวิจัยทางพันธุศาสตร์จะสามารถบอกเรา ได้ว่าเรามีวิธีคัดเลือกมนุษย์ที่มีลักษณะตามที่ต้องการได้ เช่น ให้เป็นเพศ หญิง หรือ ชาย มีความแข็งแรง ไม่เป็นโรคทางพันธุกรรมบางอย่าง (เช่น โรค Thalassemia) ปัจจุบันนี้แพทย์สามารถคัดเลือกตัวอ่อน ที่มีลักษณะที่ต้องการได้ เราควรปล่อยให้เกิดการคัดเลือกเช่นนี้หรือไม่ ในข่าวล่าสุดนักวิทยาศาสตร์พบว่า ในการผสมเทียม มีสารพันธุกรรม (ส่วนที่เรียกว่า mitochondrial DNA) ของบุคคลที่สามปนเปื้อนเข้าไป ในตัวอ่อนที่ปฏิสนธิด้วย เกิดเป็น Genetically Modified baby (GM baby) ทำให้เด็กที่เกิดมามีสารพันธุกรรม แปลกปลอมในตัวเองจากคนอื่นที่ไม่ใช่พ่อแม่ของตนเอง มีคำถามว่าเราควรปล่อยให้เรื่องนี้ดำเนินต่อไป สนับสนุนให้ทำวิจัยมากขึ้น หรือควรมีมาตรการใดยับยั้งการกระทำนี้ การจำกัดสิทธิความรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยพันธุกรรมของแต่ละบุคคล การวิจัยทางด้าน พันธุวิศวกรรมที่ก้าวหน้าถึงขั้นการสามารถตรวจหาหน่วยพันธุกรรมที่อาจเป็นสาเหตุของโรคบางชนิด ทำให้เกิดคำถามว่าข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยพันธุกรรมของแต่ละบุคคล ควรได้รับการดูแลอย่างไร จึงจะไม่กลายเป็นข้อมูลที่จะส่งผลเสียต่อผู้เป็นเจ้าของ เช่น บริษัทจะไม่รับเข้าทำงานเมื่อทราบว่า บุคคลนั้นมีโอกาสเป็นโรค ในขณะเดียวกันก็สามารถให้ผู้อื่นที่เหมาะสมทราบได้ (เช่น สามี ภรรยา บุตร ญาติใกล้ชิด) ได้รับรู้ เราควรมีข้อกำหนดอย่างไร สิทธิเหนือข้อมูลเกี่ยวกับรหัสพันธุกรรม นักวิทยาศาสตร์สามารถค้นพบการทำงานของรหัส พันธุกรรมของมนุษย์ เช่น ทราบว่ารหัสพันธุกรรมชุดใดที่ควบคุมการเกิดโรค ความสูง ความแข็งแรง ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้มากมาย ข้อมูลเหล่านี้จะมีฐานะเป็นข้อมูลสาธารณะ หรือถือเป็น ความรู้ส่วนตัวที่ผู้ค้นพบ (นักวิทยาศาสตร์) สามารถผูกขาดการใช้ประโยชน์ เช่นนำไปจดสิทธิบัตร หรือ เรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนภายใต้กรอบกติกา และกรอบกฎหมาย อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หรือ มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดกรอบกฎเกณฑ์ กติกาใหม่เพื่อให้ฝ่ายต่าง ๆ ปฏิบัติตาม เพื่อให้มั่นใจว่า การวิจัยทางด้านนี้จะก้าวหน้าและเกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางมากกว่าจะอยู่ในการควบคุมของคน เพียงบางกลุ่ม คำถามที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจน ได้แก่ - ผู้ใดเป็นเจ้าของสารพันธุกรรม (เจ้าตัวสามารถโอนสิทธิ์ให้ผู้ดูแลสารพันธุกรรมนั้นได้หรือไม่ ในกรณีที่สารพันธุกรรมนั้นเกิดมีค่าทางเชิงพาณิชย์ขึ้นมา) - ผู้ใดเป็นเจ้าของข้อมูลพันธุกรรม (หากมีการจัดทำฐานข้อมูลพันธุกรรมมนุษย์ ใครจะมีสิทธิ์ จัดการกับข้อมูลของมนุษย์ ผู้นั้นสามารถเปิดเผยข้อมูลให้กับใครได้บ้าง เช่น นายจ้าง รัฐบาล บริษัทประกัน หากเจ้าของสารพันธุกรรมเรียกร้องให้ทำลายข้อมูลนั้นจะได้หรือไม่ หรือถือว่าเป็นข้อมูลของสังคม จะต้องถูกเก็บไว้เป็นหลักฐานตลอดไปหรือไม่ ความเสี่ยงในการถูกกีดกันในการทำงาน เมื่อทำการตรวจเชิงพันธุกรรมจะมีปัญหาตามมาว่าใคร จะมีสิทธิในการทราบข้อมูลดังกล่าวบ้าง ผู้จ้างงานจะสามารถขอประวัติสุขภาพ หรือขอให้ผู้สมัครงาน หรือ พนักงานของตนตรวจสุขภาพรวมทั้งตรวจความเสี่ยงเชิงพันธุกรรมในการเกิดโรคได้หรือไม่ ในสหรัฐอเมริกา มีการศึกษาที่บ่งชี้ว่าผู้ป่วยที่ป่วยเป็นมะเร็งได้รับการกีดกันหรือการปฏิบัติอย่างไม่เสมอภาคในการทำงาน แม้จะรักษาหายแล้ว เช่น ถูกปฏิเสธจากการจ้างงาน โดนให้ออกจากงาน ไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งตามที่ เหมาะสม เป็นต้น ในทำนองเดียวกันผู้จ้างงานอาจมองว่าผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคจะปฏิบัติงานให้กับ องค์กรได้ไม่เต็มที่และเป็นภาระในระยะยาว ทำให้เกิดการกีดกันหรือการปฏิบัติโดยไม่เท่าเทียมกับผู้อื่น ความเสี่ยงในการถูกกีดกันจากการประกันสุขภาพ ประเทศที่มีการศึกษาและถกเถียงในเรื่องนี้ มากที่สุด คือ ประเทศสหรัฐอเมริกาเนื่องจากเป็นประเทศที่ใช้ระบบประกันสุขภาพโดยภาคเอกชนเป็นระบบ หลักการประกันสุขภาพรายบุคคลขึ้นอยู่กับข้อมูลความเสี่ยงส่วนบุคคลและจะเกิดปัญหามากหากมีการใช้ ข้อมูลทางพันธุกรรมเป็นส่วนประกอบในการทำกรมธรรม์ จึงเป็นประเด็นที่คนส่วนใหญ่ในระบบนั้นกังวลมาก จากการสำรวจในผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาพันธุกรรม ๒๙๖ คนในสหรัฐอเมริกา มีถึงร้อยละ ๖๘ ที่ตอบว่าตนจะไม่แจ้งให้บริษัทประกันทราบเกี่ยวกับการตรวจทางพันธุกรรม เนื่องจาก เกรงถูกกีดกัน และมีถึงร้อยละ ๒๖ ที่ตอบว่าจะใช้ชื่อปลอมเมื่อไปทำการตรวจทางพันธุกรรม จากปัญหา ดังกล่าว จึงมีความพยายามทั้งในระดับประเทศและระดับรัฐต่างๆที่จะออกกฏหมายป้องกันการใช้ข้อมูล เชิงพันธุกรรมมาเป็นประเด็นในการกีดกัน เช่น มีการกำหนดว่าห้ามมิให้ถือข้อมูลด้านพันธุกรรมเป็นโรคที่มี อยู่ก่อนการประกัน และมีความพยายามที่จะเสนอว่าบริษัทประกันไม่ควรมีสิทธิที่จะใช้ข้อมูลด้านพันธุกรรม มาจำแนกการรับประกัน รวมทั้งไม่มีสิทธิจะขอข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจทางพันธุกรรม หรือขอให้ผู้เอาประกัน ทำการตรวจเพื่อหาความผิดปกติทางพันธุกรรม การเตือนหรือให้ความรู้ต่อสังคมด้านชีวจริยธรรม เมื่อสังคมเริ่มจะมีปัญหาและมีข้อกังวล ในเรื่องชีวจริยธรรม เราควรมุ่งให้ฝ่ายต่าง ๆ เข้าใจถึงแง่มุมทางจริยธรรมของวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี ใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น รวมทั้งแง่มุมทางจริยธรรมของปัญหาต่าง ๆ ทางด้านชีวการแพทย์ที่มีอยู่เดิมด้วย กลุ่มเป้าหมายมีทั้งประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบวิชาชีพ นักวิทยาศาสตร์และกลุ่มเด็กนักเรียน การสอน จริยธรรมแก่แพทย์ เจ้าหน้าที่สุขภาพ เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้เกิดความเข้าใจในงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง เข้าใจคนอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย เพราะการตัดสินใจของแพทย์ต้องนั้นเป็นการตัดสินใจที่จะต้องมีรากฐาน ทางศีลธรรม หลักสูตรควรจะสอนให้แพทย์รู้จักการเคารพผู้ป่วย เข้าใจทฤษฎีว่าด้วยการตัดสินใจ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ป่วย เป็นต้น เราควรให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด ข้อมูลและสถานภาพด้านชีวจริยธรรมในระดับนานาชาติ ๑. World Medical Association ได้กำหนดมาตรฐานจริยธรรม ทั้งสำหรับบุคลากร ทางด้านสาธารณสุข รวมทั้งการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ถูกทำการทดลองวิจัย ซึ่งผ่านการพัฒนา ของ Helsinki Declaration ๒. UNESCO ปี ๒๕๓๗ UNESCO ได้จัดตั้งคณะกรรมการชีวจริยธรรมระหว่างประเทศของยูเนสโก (International Bioethics Committee: IBC) ตั้งแต่นั้นมาคณะกรรมการ IBC ได้ประชุมรวมทั้งสิ้น ๖ ครั้ง โดยหมุนเวียนไปประชุมในประเทศต่าง ๆ ครั้งล่าสุดมีการประชุม ครั้งที่ ๗ ในวันที่ ๗-๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ณ กรุงคิโต สาธารณรัฐเอกวาดอร์ โดยมีนายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและ แผนสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และเลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติเข้าร่วม การประชุม ปี ๒๕๓๙ มีการเสนอ Universal Declaration on the Human Genome and Human Rights ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่องค์การ UNESCO ปี ๒๕๔๒ UNESCO ได้จัดตั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลในด้านจริยธรรมชีวการแพทย์ขึ้น (Inter-governmental Bioethics Committee : IGBC) ๓. WHO (World Health Organization) ปี ๒๕๔๔ นี้ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ได้มอบหมายให้ คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการวิจัยการแพทย์ (Advisory Committee on Health Research : ACHR) จัดทำรายงานพิเศษเรื่อง Genomics and Health ให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปี ๒๕๔๔ นี้ เพื่อมุ่งเน้น การช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนา โดยจัดการประชุมสำหรับภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และจัดทำ guideline ที่ครอบคลุมประเด็นต่างๆ ด้านจริยธรรม กฎหมาย และสังคม ข้อมูลและสถานภาพด้านชีวจริยธรรมที่ผ่านมาของประเทศไทย ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะด้าน กลไก หรือหน่วยงานที่ดูแล กำหนด มาตรฐาน หรือแนวทางในการปฏิบัติ สำหรับทั้งนักวิจัย ผู้ให้บริการทางสุขภาพ ภาคธุรกิจเอกชน รวมทั้งประชาชนทั่วไป ในปัจจุบันหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องในแต่ละเรื่องเพียงแต่มีบทบาทในแง่มุม ต่าง ๆ ดังนี้ - แพทยสภา สภาวิชาชีพต่างๆ และคณะกรรมการประกอบโรคศิลปะ จะมีบทบาทในการกำหนดและควบคุม กำกับว่าด้วยมาตรฐานจริยธรรมของการปฏิบัติต่อผู้ป่วย หรือผู้มารับบริการ - หน่วยงานวิจัยและให้ทุนสนับสนุนการวิจัย มีการกำหนดให้แต่ละสถาบันที่มีการวิจัยต้องมีกลไกที่จะ ตรวจสอบดูแลทางด้านจริยธรรมของแผนการศึกษาวิจัย ซึ่งส่วนใหญ่ก็มุ่งให้เกิดการคุ้มครองแก่ผู้ที่ยอมตน เป็นผู้ถูกทดลอง (human subject) โดยยึดตามหลักการของ Helsinki Declaration รวมทั้งมาตรฐานอื่น ๆ ที่อาจจะมีการพัฒนาขึ้นในอนาคต - ภาคธุรกิจ ในปัจจุบันยังไม่มีกรณีที่ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบโดยตรง แต่คาดว่าในอนาคตจะมีประเด็น ที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจด้านการประกันชีวิต : การเพิ่มเบี้ยประกันหรือไม่รับประกันผู้ที่มีโอกาสเสี่ยง ในการเป็นโรคสูง นายจ้าง : การกีดกันผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคไม่ให้มีโอกาสในการทำงาน - ประชาชนทั่วไป มีความคาดหวังต่อการใช้ประโยชน์จากการวิจัย เช่นการทำเด็กหลอดแก้ว หรือ การปลูกถ่ายอวัยวะ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความกังวลต่อจริยธรรมที่จะกระทบต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม *** ที่มา : http://www.thainhf.org/Bioethics/Document/conclude.doc