สิทธิของปัจเจกบุคคลกับฐานข้อมูลพันธุกรรม น.พ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ **** ในปัจจุบันมีการรวบรวมสารพันธุกรรมเพื่อใช้ประโยชน์ในการวิจัยมากขึ้นและข้อมูลพันธุกรรม มนุษย์มักจัดเก็บในรูปของฐานข้อมูล ผู้มีอำนาจควบคุมข้อมูลในฐานข้อมูลนั้นสามารถนำข้อมูลไปใช้ ประโยชน์ได้มากมาย และมีหลายกรณีที่การกระทำเช่นนั้นมีผลกระทบต่อผู้เป็นเจ้าของสารพันธุกรรม การที่จะรู้ว่าพันธุกรรมมนุษย์มีอิทธิพลต่อมนุษย์อย่างไร จะต้องใช้ข้อมูลพันธุกรรม (Genetic information) วิเคราะห์คู่กับข้อมูลสุขภาพ หรือความเจ็บป่วย (Health information) การที่จะวิเคราะห์ข้อมูลพันธุกรรม (Genetic information) ต้องเก็บชิ้นส่วนร่างกายที่มีสารพันธุกรรม (Genetic material) ในปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีแบบใหม่ วิธีการตรวจสารพันธุกรรมใหม่ๆที่ถูกพัฒนาขึ้น สามารถตรวจหาข้อมูลพันธุกรรม เป็นหมื่นเป็นแสนตำแหน่งในครั้งเดียวในระยะเวลาอันใกล้ (อาจโดยใช้อุปกรณ์ซึ่งเรียกว่า DNA chip หรือ DNA microarray) และมีประโยชน์ในการค้นหาหน้าที่ของยีนต่างๆ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบเป็นส่วนมาก ความรู้ที่ได้มานี้สามารถพัฒนาการรักษาโรคได้ เช่น พัฒนายารักษาโรค นอกจากนี้การวิจัยเหล่านี้ยังนำไปสู่ การสร้างวิธีการตรวจวินิจฉัยใหม่ๆซึ่งใช้ทำนายโอกาสการเกิดโรคบางอย่างได้ ดังนั้นสารพันธุกรรมจึงอาจถูก นำมาใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมอีกมากมาย การวิจัยโดยอาศัยตัวอย่างสารพันธุกรรมจากคน จำนวนมากเช่นนี้ในทางปฏิบัติจึงเป็นไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสามารถแจ้งผู้ให้ตัวอย่างให้ทราบ ได้ล่วงหน้า การวิจัยเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์แต่ก็อาจละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ในกรณีที่ซับซ้อน เหล่านี้ ปัจเจกบุคคลผู้เป็นเจ้าของสารพันธุกรรมนั้นจะมีสิทธิ์รับรู้และอนุญาตให้นำข้อมูลนั้นไปใช้อย่างไร ลักษณะสำคัญของสารพันธุกรรมมนุษย์และข้อมูลพันธุกรรม สารพันธุกรรมมนุษย์เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล สามารถบ่งชี้กลับไปถึงเจ้าตัวได้อย่าง แม่นยำ มวลสารพันธุกรรมภายในนิวเคลียสของเซลล์เป็นที่บรรจุข้อมูลพันธุกรรมทั้งหมดของคนคนนั้น เช่น ลักษณะทางสรีระ ลักษณะที่ถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ รวมทั้งข้อมูลการเป็นโรคของบุคคลนั้นด้วย มวลสารพันธุกรรมจากเซลล์นั้นสามารถได้จากชิ้นส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น เลือด เนื้อเยื่อในร่างกาย เยื่อบุเพดานปาก รากผม เป็นต้น และสามารถตรวจพบได้หาได้จากทุกส่วนของมนุษย์ ตรวจได้แม้ มีตัวอย่างให้ตรวจเพียงเล็กน้อย เมื่อตรวจแล้วจะได้ข้อมูลจำนวนมากจนคาดไม่ถึง สารพันธุกรรมได้มาจาก ๑. จากการตรวจวินิจฉัยของแพทย์ เช่นการตรวจเลือด, การเก็บชิ้นเนื้อไปตรวจ ๒. งานวิจัย เช่น จากการวิเคราะห์สารพันธุกรรมของผู้เข้าร่วมการทดลอง (samples) ๓. สถานการณ์พิเศษอื่น ๆ เช่นการเก็บชิ้นส่วนจากศพ, การเก็บหลักฐานในคดีฆาตกรรม (crime scene) ธรรมเนียมปฏิบัติในการเก็บข้อมูลและตัวอย่างในงานวิจัย ๑. แจ้งวัตถุประสงค์อย่างชัดเจน ผู้เข้าร่วมการทดลองเข้าใจและยอมรับการกระทำที่จะเกิดขึ้น จากการวิจัย ๒. ขอความยินยอมจากเจ้าของสารพันธุกรรมนั้น โดยใช้แบบฟอร์มความยินยอม (informed consent) ๓. เก็บตัวอย่างเท่าที่จำเป็น ไม่ควรเก็บตัวอย่างเผื่อไว้ แล้วนำมาใช้อีกในภายหลัง ๔. การวิจัยเป็นไปเพื่อประโยชน์ของเจ้าของและสาธารณะ ปัจจุบันเกิดการละเมิดสิทธิ์ของประชาชนจากการวิจัยทางพันธุศาสตร์มนุษย์ เช่น ในประเทศจีนออสเตรเลีย ตองกา และกรณีที่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และมีข้อถกเถียงในแง่ การละเมิดสิทธิ์ทั่วทั้งประเทศได้แก่ประเทศไอซ์แลนด์ กรณีตัวอย่างของประเทศไอซ์แลนด์ ประเทศไอซ์แลนด์เป็นประเทศในแถบขั้วโลกเหนือ มีประชากรน้อย เพียงประมาณ 300,000 คน มีการเคลื่อนย้ายของประชากรน้อยมาก พันธุกรรมคล้ายคลึงกัน อีกทั้งมีการเก็บบันทึกประวัติครอบครัว เพื่อเป็นข้อมูลสาธารณสุขอย่างละเอียด ย้อนหลังตั้งแต่ปี 1915 นับเป็นตัวอย่างประชากรที่ดีสำหรับทำการ ศึกษาด้านพันธุกรรมมนุษย์ ในปี 1998 บริษัท Decode Genetics จึงได้ขอใช้ข้อมูลพันธุกรรมและเก็บเลือด ตัวอย่างจากประชาชนทุกคนทั้งประเทศ ศึกษาเปรียบเทียบสารพันธุกรรม เพื่อหาสาเหตุของโรคว่ายีนใด ที่ก่อให้เกิดโรค รัฐสภาประเทศไอซ์แลนด์ ได้ให้สิทธิและสนับสนุนบริษัท Decode Genetics ให้ทำการ ศึกษา และสร้างฐานข้อมูลโดยให้สิทธิบริษัทใช้ข้อมูลแต่ผู้เดียวเป็นเวลา12 ปี โดยใช้วิธีให้สิทธิแก่ประชาชน ผู้ไม่ยินยอมให้ใช้ข้อมูลของตนมาขอเลิกการใช้สิทธิ์นั้น (Presumed Consent) พบว่ามีประชาชนเพียง 8% ที่ยื่นความจำนงขอถอนสิทธิ์ดังกล่าว สิ่งที่เกิดในประเทศไอซ์แลนด์ ทำให้เป็นปัญหาตามมาคือ - รัฐบาลใช้หลัก “Presumed consent” (หมายความว่าถ้าประชาชนไม่มาแจ้งถอนสิทธิ์ แสดงว่า ยินยอมให้เก็บตัวอย่าง) ซึ่งหลายฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว เปรียบเสมือนการมัดมือชก มีผู้เสนอว่าควรใช้หลัก “Informed Consent” เพื่อให้ประชาชนสมัครใจเข้าร่วมโครงการ - แม้ว่าประชาชนจะมีสิทธิ์ขอทำลายตัวอย่างได้ แต่จะขอทำลายข้อมูลไม่ได้ ข้อมูลที่เกิดขึ้นจากการ ศึกษาที่ผ่านมาก็ยังถูกนำไปใช้ได้ ดูเหมือนไม่ใช่การให้สิทธิ์อย่างแท้จริงต่อผู้เข้าร่วมโครงการ - มีข้อกำหนดว่าบริษัทจะไม่เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน การตรวจสอบจึงเป็นไปได้ยาก ดังนั้น มีโอกาสที่บริษัทจะกลายเป็นผู้ครอบครองข้อมูลเหล่านั้น และอาจนำไปใช้ประโยชน์อื่นใด นอกเหนือข้อตกลงเดิม - บริษัทอาจนำข้อมูลพันธุกรรมนี้ไปขายได้ ประเด็นทางจริยธรรมที่เกี่ยวข้อง ๑. ผู้ใดเป็นเจ้าของสารพันธุกรรม - สารพันธุกรรมและแหล่งของสารพันธุกรรมที่เก็บเป็นระบบอาจมีคุณค่าเชิงพาณิชย์ สามารถเปลี่ยนโอนผู้ดูแลได้หรือไม่ ๒. ผู้ใดเป็นเจ้าของข้อมูลพันธุกรรม - ในการวิจัย เจ้าของสารพันธุกรรมสามารถขอทราบข้อมูลพันธุกรรมของตนได้หรือไม่ หากผู้วิจัยไม่ทราบเจ้าของสารพันธุกรรมแต่ละรายการ เพียงแต่ทราบว่ามีอยู่ ผู้วิจัยจำเป็นต้องดำเนินการให้ทราบตามข้อเรียกร้องหรือไม่ - หากการเปิดเผยข้อมูลพันธุกรรมจะเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของสารพันธุกรรม เป็นหน้าที่ ที่ผู้วิจัยต้องบอกเจ้าของสารพันธุกรรม หรือไม่ - การเปิดเผยข้อมูลพันธุกรรมรายบุคคลแก่บุคคลอื่นที่ไม่ใช่เจ้าของต้องมีเงื่อนไขอย่างไร ฝ่ายปกครอง บริษัทประกัน หรือนายจ้าง หากการเปิดเผยข้อมูลพันธุกรรมดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ผู้วิจัยมีหน้าที่ที่ต้องบอกหรือสิทธิที่จะบอกหรือไม่ - สามารถเปลี่ยนโอนสิทธิการเข้าถึงข้อมูลพันธุกรรมของกลุ่มประชากรในเชิงพาณิชย์ ได้หรือไม่ - ฐานข้อมูลพันธุกรรมจะต้องมีกลไกการป้องกันการลักลอบเข้าดูข้อมูลอย่างน้อยเพียงใด จึงน่าจะถือว่า ถูกจริยธรรม - เจ้าของสารพันธุกรรมสามารถขอให้ทำลายข้อมูลพันธุกรรมที่อยู่ในฐานข้อมูล โดยเฉพาะ อย่างยิ่งฐานข้อมูลที่เป็นของฝ่ายปกครอง ได้หรือไม่ - รัฐมีสิทธิที่จะเข้าถึงข้อมูลพันธุกรรมของของประชาชนมากน้อยเพียงใด การตรวจสาร พันธุกรรมเพื่อระบุตัวบุคคลควรทำได้หรือไม่ ๓. ใครควรได้รับประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้บ้าง เช่น เจ้าของสารพันธุกรรม นักวิจัย หรือ บริษัทที่ทำการวิจัย จากกรณีตัวอย่างในต่างประเทศ ในกรณีที่สามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ นักวิจัย และบริษัทได้รับผลตอบแทน แต่เจ้าของสารพันธุกรรมกลับไม่ได้รับผลตอบแทนใด ๆ ๔. เกณฑ์การเก็บตัวอย่างควรเป็นอย่างไร เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และ ไม่เป็นการเอารัดเอาเปรียบ การเก็บตัวอย่างจากคนรวมทั้งสารพันธุกรรมเพื่อใช้ในการวินิจฉัย ควรมีกฎเกณฑ์ต่างจากการเก็บเพื่อใช้ในการวิจัยหรือไม่ อย่างไร หรือกฎเกณฑ์ควรขึ้นอยู่กับว่า สามารถระบุตัวเจ้าของตัวอย่างได้มากน้อยเพียงใด (anonymous, anonymized, identifiable, หรือ identified) - ผู้เก็บตัวอย่างมีสิทธิเสนอค่าตอบแทนหรือสิ่งจูงใจเพื่อขอตัวอย่างหรือไม่ หากได้ ใครเป็นผู้ดูแลว่าการตกลงดังกล่าวยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผู้ให้ตัวอย่างมีแนวโน้มที่จะเป็นประชากรที่ยากจนและอยู่ห่างไกล ในขณะที่ผู้เก็บตัวอย่างเป็นผู้ที่มีการศึกษาสูงและมีทรัพยากรมาก ๕. หากมีการกระทำที่ผิดสัญญา ผู้ให้ตัวอย่างจะสามารถเรียกร้องการชดใช้ได้หรือไม่ อย่างไร ๖. จะเก็บรักษาข้อมูลอย่างไรให้เป็นความลับเฉพาะเจ้าของข้อมูลเท่านั้น (confidentiality) ๗. เจ้าของสารพันธุกรรมสามารถเรียกร้องให้ทำลายสารพันธุกรรมในภายหลังได้หรือไม่ ๘. ผู้วิจัยสามารถใช้ตัวอย่างจากคนรวมทั้งสารพันธุกรรมในการศึกษาอื่นๆ ที่ไม่ได้แจ้ง ผู้ให้ตัวอย่างไว้ตั้งแต่ต้นได้หรือไม่ ถ้าได้ควรมีกฎเกณฑ์อย่างไร ถ้าไม่สามารถแจ้งได้ด้วยเหตุต่าง ๆ จะอนุโลมได้หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น - สามารถนำเลือดที่เก็บมาเพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรคหนึ่งไปตรวจหาอีกโรคหนึ่ง หรือไปในการวิจัย โดยไม่บอกผู้ป่วยได้หรือไม่ - สามารถนำตัวอย่างอวัยวะของผู้ป่วยที่เก็บไว้เพื่อการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา มาศึกษากลไกทางพันธุศาสตร์ของโรคนั้นๆโดยไม่บอกผู้ป่วยได้หรือไม่ - สามารถนำชิ้นเนื้อต่างๆที่ตัดทิ้งในการผ่าตัดต่างๆมาใช้ในการศึกษากลไกทางพันธุศาสตร์ ของโรคโดยไม่ได้บอกผู้ป่วยได้หรือไม่ ปัญหา ข้อเสนอแนะ และแนวทางปฏิบัติ - รัฐบาลหรือสถานพยาบาลไม่มีสิทธิใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลพันธุกรรมประชาชนหรือข้อมูล ของผู้ป่วย โดยไม่ได้รับอนุญาต (no presumed consent) - บุคคลเจ้าของข้อมูลควรได้ประโยชน์จากการใช้ข้อมูลพันธุกรรมนั้น เช่น ถ้าได้ผลตอบแทน จากสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา(Intellectual Property) ต้องแบ่งผลตอบแทนให้กับเจ้าของสารพันธุกรรม แต่ก็อาจเป็นการทำให้เทคโนโลยีนั้นมีราคาแพงขึ้น - การเก็บตัวอย่างต้องบอกวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนด้วยภาษาที่เข้าใจได้ง่าย -การเก็บตัวอย่างจากผู้ถูกวิจัย ต้องบอกวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน จะเป็นประโยชน์หรือโทษ อย่างไรและห้ามใช้เกินวัตถุประสงค์ที่บอกไว้ -การเก็บตัวอย่าง (Specimen) ควรขออนุญาตเจ้าของทุกครั้ง แต่อาจมีปัญหาว่าค่าใช้จ่ายสูง ควรพิจารณาเป็นรายกรณี ตามความเหมาะสม -ถ้าเป็นความร่วมมือกับต่างประเทศต้องมีการเจรจาถึงผลประโยชน์ที่จะให้กับประเทศด้วย เช่น ซื้อเทคโนโลยีได้ในราคาถูก โดยใช้กลไกการเจรจาระดับองค์กรหรือระดับประเทศ ไม่ใช่ การเจรจาจากทีมวิจัย เพราะนักวิจัยมักไม่มีประสบการณ์ในการต่อรองผลประโยชน์ในระดับประเทศ *** ที่มา : http://www.thainhf.org/Bioethics/article/rights.doc