เทคโนโลยีจีโนม อหังการของมนุษย์ (ตอนที่ ๑) โดย นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ *** หนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า “As the Future Catches You” เขียนโดย ฮวน เอ็นริเก้ (Juan Enriquez) ได้ชี้ให้เห็นว่าเทคโนโลยีชีวภาพ (โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านจีโนม) จะมีผลกระทบรุนแรงแค่ไหน อย่างไร ต่อชีวิตของปัจเจกบุคคล ชีวิตการทำงาน สุขภาพอนามัย แนวทางการลงทุน และต่อโลกทั้งระบบ เอ็นริเก้ได้แสดงแนวความคิดว่าด้วยเรื่องการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของ แต่ละประเทศว่าเกิดจากความรู้โดยรวมของสังคม (knowledge) และความสามารถในตัวของมนุษย์เอง (human resource) ซึ่งผู้เขียนได้ย้ำว่าสองสิ่งนี้มีความสำคัญมากกว่าทรัพยากรชนิดอื่นใดทั้งสิ้น และ ยังได้ชี้ให้เห็นว่าสังคมฐานความรู้ของแต่ละประเทศ (knowledge-based economy) จะเกิดขึ้นได้นั้น สังคมจะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการคือ จะต้องมีความสามารถในการสร้างสรรค์ความรู้ให้เกิดขึ้น (creation) มีแนวทางการปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น (protection) จากความรู้ และมีความ สามารถในการกระจายผลิตภัณฑ์ความรู้ / การสร้างผลิตภัณฑ์ความรู้ให้เข้าสู่เชิงพาณิชย์ได้ (dissemination / commercialization) เอ็นริเก้ยังเห็นว่าองค์ความรู้สำคัญ 3 ประเภทที่น่าจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นอย่างมาก ได้แก่ เทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ (ระบบปัญญาประดิษฐ์), เทคโนโลยีจีโนม (โดยเฉพาะ อย่างยิ่งทางด้านชีวสารสนเทศศาสตร์, และเทคโนโลยีต่างๆ ในการศึกษายีน) และเทคโนโลยีจิ๋ว หรือ นาโนเทคโนโลยี ทั้งนี้ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เป็นเทคโนโลยีที่ดำเนินมานานและเกือบถึงจุดสูงสุดตามศักยภาพ ของเทคโนโลยีที่อิงบนสารกึ่งตัวนำแล้ว มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย และได้สร้างความเปลี่ยนแปลง ให้กับโลกและมนุษย์อย่างมากมาย นาโนเทคโนโลยีนั้นเป็นเทคโนโลยีในอนาคต ซึ่งในปัจจุบันยังอยู่ใน ระยะเริ่มต้น ส่วนเทคโนโลยีจีโนมนั้นเป็นเทคโนโลยีที่กำลังมีการพัฒนาและใช้งานอย่างจริงจังในปัจจุบัน และจะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศต่าง ๆ ในเวลาอันใกล้นี้ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาต่างมุ่งเน้นการพัฒนา เทคโนโลยีจีโนม และประยุกต์ใช้สำหรับประเทศตนเอง เพราะเทคโนโลยีนี้เป็นเทคโนโลยีที่จะทำให้ แต่ละประเทศสามารถพัฒนาสิ่งมีชีวิตของแต่ละประเทศ (เช่น พืชอาหาร, สัตว์เศรษฐกิจ) ให้มีคุณสมบัติ ใหม่ ๆ ตามที่ต้องการได้ และยังเป็นแนวทางที่จะสามารถป้องกันการเกิดโรคในประชาชน เป็นการสร้าง สุขภาพดีถ้วนหน้าให้กับประชาชนของประเทศแบบยั่งยืน นอกจากนี้เทคโนโลยีจีโนมยังเป็นเทคโนโลยีที่ประเทศกำลังพัฒนามีโอกาสที่จะก้าวทัน ประเทศพัฒนาแล้วได้ (ต่างกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่มีโอกาสน้อยกว่ามาก) เนื่องจากเทคโนโลยี จีโนมสามารถประยุกต์ร่วมกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งตั้งต้นในการพัฒนา ประเทศกำลังพัฒนา หลายประเทศ (รวมทั้งประเทศไทย) จะมีข้อได้เปรียบอย่างมากต่อประเทศพัฒนาแล้ว เพราะมีทรัพยากร ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วอย่างมาก ดังนั้นเทคโนโลยีจีโนม จึงเป็นสิ่งที่แทบทุกประเทศทั่วโลกมุ่งลงทุนกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทุกประเทศมีโอกาสประสบ ความสำเร็จในสาขาที่ได้เปรียบต่อประเทศอื่น ที่เป็น Niche area ของประเทศตนเอง ซึ่งประเทศอื่น จะไม่สามารถก้าวทันได้ และเมื่อนั้นประเทศนั้นก็จะสามารถเป็นผู้ครองตลาดในผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ได้เป็นประเทศแรก สำหรับประเทศไทย สาขาที่มีโอกาสประสบความสำเร็จสูงและครองความเป็นผู้นำใน ตลาดโลกได้ คือ สาขาจีโนมกุ้ง จีโนมข้าว และจีโนมมนุษย์ในโรคที่เป็นปัญหาของประเทศไทย เช่น ไข้เลือดออก ธาลัสซีเมีย มาลาเรีย เป็นต้น ในหนังสือเล่มนี้ได้อธิบายถึงผลกระทบของเทคโนโลยีด้านจีโนม แต่ยังไม่ครอบคลุมแนวคิด ทั้งหมด จึงได้เพิ่มเติมข้อมูลบางประการ เพื่อให้กระจ่างขึ้นดังนี้ เทคโนโลยีด้านจีโนมนั้นเป็นเทคโนโลยีที่จะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั้งชีวิตของปัจเจกบุคคล ชีวิตการทำงาน แนวทางการลงทุน และระบบเศรษฐกิจของโลกทั้งระบบ โดยอาจแบ่งการได้รับผลกระทบ ออกเป็น 4 ระยะดังนี้ ระยะที่1 : ระยะเริ่มพัฒนาเทคโนโลยีจีโนม เป็นช่วงเวลาในปัจจุบัน ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ในโลก ได้เดินทางมาถึงระยะกว่ากึ่งกลางของระยะที่ 1 แล้ว ส่วนประเทศไทยอยู่ในระยะเริ่มต้นของระยะที่ 1 นี้ นักวิทยาศาสตร์ไทยได้ให้ความสำคัญ อย่างมากและเริ่มรวมกลุ่มวิจัยอย่างจริงจังในหลายสถาบันแล้ว ซึ่งการวิจัยด้านจีโนมจะประสบความ สำเร็จได้นั้นต้องการการลงทุนสูง และต้องการการบริหารจัดการแบบพิเศษที่ต่างไปจากระบบเดิม ซึ่งไม่สามารถทำได้เองจากหน่วยงานย่อยๆ เหล่านั้น เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่ระดับชาติ หากรัฐบาล ต้องการได้ผลลัพธ์ในด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน รัฐบาลควรให้การสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในด้านนโยบาย การกำหนดให้เป็นกลยุทธ์ของชาติ การกำหนดบริหารจัดการแบบพิเศษ และ สนับสนุนทุนวิจัยที่มุ่งเป้า ระยะที่ 1 นี้เป็นระยะที่เริ่มมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์กับข้อมูลทางชีววิทยา เพื่อหาความสัมพันธ์ในระบบด้านต่างๆ ในสิ่งมีชีวิต นับเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ของวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ซึ่งเกิดมาจากความก้าวหน้าด้านจีโนม และชีวสารสนเทศ การทำวิจัยในระดับจีโนมนั้นเป็นวิธีวิจัยที่จะ ปฏิวัติวิธีวิจัยแบบดั้งเดิมโดยสิ้นเชิง อาจเปรียบเทียบได้ว่าการวิจัยระดับจีโนมเปรียบเสมือนเป็นโรงงาน ที่สามารถผลิตผลงานที่มีมาตรฐานสูงได้จำนวนมหาศาลหลายร้อยเท่าตัวในเวลาอันสั้นลงอย่างมาก เทคโนโลยีจีโนมจะเปลี่ยนโฉมหน้าวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จากเดิมที่เป็นสาขาที่มีข้อมูลแบบข้อมูลน้อย และมีการใช้ประโยชน์ต่ำ ให้เป็นสาขาที่มีข้อมูลจำนวนมากและมีการใช้ประโยชน์มหาศาล การวิจัยในอนาคตอันใกล้ของประเทศไทยจำเป็นจะต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ด้านจีโนม และชีวสารสนเทศ เพื่อให้ได้ผลคุ้มค่าต่อการวิจัยในระยะเวลาอันสั้น แม้ว่าการวิจัยด้านชีวภาพแบบดั้งเดิม ในบางสาขายังอาจสามารถดำเนินไปได้ แต่นักวิทยาศาสตร์ด้านชีวภาพของไทยเกือบทั้งหมดควรปรับ วิธีการทำวิจัยใหม่ให้เข้าสู่เทคโนโลยีจีโนมและชีวสารสนเทศ มิฉะนั้นการทำวิจัยด้านชีวภาพของประเทศ ไทยที่ลงทุนลงแรงเกือบทั้งหมดก็แทบจะไม่เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าแต่อย่างใด *** ที่มา : http://www.thainhf.org/html/modules.php?name=News&file=article&sid=266