ความหวัง ความกลัว และพันธุศาสตร์ : การตอบสนองของกระบวนการยุติธรรมต่อเทคโนโลยีชีวภาพ (Hope, Fear, and Genetics: Judicial responses to biotechnology) *** เท่าที่เราเห็น ๆ กันในปัจจุบันนี้ เป็นที่สรุปได้ว่าไม่มีใครเลยที่พูด คิด อ่าน เขียน เรื่องเกี่ยวกับพันธุศาสตร์ (genetics) ได้โดยไม่คำนึงถึงมุมมองในด้านกฎหมาย หลายฝ่าย ให้ความเห็นว่ากฎหมายจะต้องเข้ามามีส่วนสัมพันธ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อความก้าวหน้า ทางด้านพันธุศาสตร์ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ประเด็นต่าง ๆ ในทางกฎหมายที่เราจะต้องนำมา ขบคิดก็เช่น หลักการระแวดระวังภัย (หรือบางคนก็เรียกว่าปลอดภัยไว้ก่อน) (precautionary principle) หลักในเรื่องมาตรการป้องกัน (preventive principle) หลักมรดกร่วมของมวลมนุษยชาติ (common heritage of mankind) การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ (economic analysis) ความเท่าเทียมกันแห่งสิทธิ (equal right) สิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน (right of privacy) และ สิทธิในการรับรู้ข้อมูล ข่าวสาร (right to information) แต่เราไม่เข้าใจเรื่องพวกนี้เลย พูดตรง ๆ พวกที่เสนอแนวคิดเหล่านี้ขึ้นมาก็ยังไม่ค่อยเข้าใจเลยว่าเกิดอะไรขึ้น นี่อาจจะเป็นเพราะยังไม่มีใคร รู้แน่ชัดว่าจะนำแนวคิดต่าง ๆ นั้นมาใช้กับงานด้านพันธุศาสตร์อย่างไร แม้จะมีหลายเรื่องทางด้านพันธุศาสตร์ที่เรายังไม่เข้าใจแต่อย่างน้อยเรื่องที่ค่อนข้างชัดแจ้ง คือศาสตร์แขนงนี้สามารถจะช่วยสร้างงาน เงิน และเศรษฐกิจได้ ทั้งยังเป็นการปฏิวัติทางด้านวิทยาการ ที่ไม่น้อยหน้าวิทยาการด้านอื่น ๆ เลย นอกจากนี้วิทยาการด้านนี้ยังเป็นสิ่งที่เดินไปด้านเดียว คือ เมื่อเริ่มต้นแล้วจะไม่สามารถหยุด หรือย้อนกลับสู่จุดแรกเริ่มได้ และทั้งผู้ทำการทดลอง และผู้รอใช้ผล การทดลองนั้นก็ต่างคาดหมายว่าศาสตร์แขนงนี้จะนำพาสิ่งที่ดีมาสู่ชีวิต (แหม! slogan เหมือน Toshiba เลยนะครับ) อย่างไรก็ตามเราอย่าพึ่งดีใจกันไปว่าพันธุศาสตร์จะนำมาแต่ความสุข ความสมบูรณ์ เนื่องจาก ศาสตร์ วิทยาการ และเทคโนโลยีทุกชนิดจะก่อให้เกิดผลดี หรือร้ายนั้นอยู่ที่ทางเลือกที่มนุษย์จะใช้มัน หากใช้ไปในทางสร้างสรรค์ก็อาจจะสามารถรักษาโรคต่าง ๆ ได้อย่างชงัด และป้องกันการเกิดโรคร้าย ๆ ต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากใช้อย่างไม่ระมัดระวัง หรือใช้อย่างผิดวิธีก็อาจจะนำพาโรคร้ายชนิด ใหม่ ๆ มาสู่มวลมนุษยชาติ รวมไปถึงสัตว์ต่าง ๆ และพฤกษานานาพันธุ์ ทั้งยังอาจจะก่อผลเสียหายให้แก่ สิ่งแวดล้อมอีกด้วย จะเห็นได้ว่าเมื่อสิ่งใดมีประโยชน์ก็ย่อมจะมีโทษได้เหมือนกัน เมื่อมีโทษก็ต้องมีการ ควบคุม หรือป้องกันเพื่อไม่ให้ต้องมีการชำระโทษกันในวาระต่อไป หากจะมองเทคโนโลยีอย่างกว้างพันธุศาสตร์ที่เราพูดถึงกันมาแต่ต้นก็คือ ส่วนหนึ่งที่สร้าง ความเจริญก้าวหน้าให้แก่วงการเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งเทคโนโลยีแขนงนี้ในสมัยปัจจุบันแม้จะเป็น วิทยาการที่อยู่ในวัยกำลังเจริญเติบโตแต่ก็ได้ก่อให้เกิดข้อขัดแย้งต้องขึ้นโรงขึ้นศาล หรือหน่วยงาน ระงับกรณีพิพาทกันอยู่เนือง ๆ เนื่องจากข้อขัดแย้งในเรื่องเทคนิคทางด้าน DNA เทคโนโลยีด้าน การทำซ้ำ หรือการสร้างแม่แบบขึ้นใหม่ (reproductive technologies) รวมไปถึงปัญหาด้านการ จดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะสัตว์ ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีชีวภาพจะไม่มีความแตกต่างจากเทคโนโลยีอื่น ๆ มากนักในเชิงของ วิวัฒนาการ แต่พอจะมีสังเกตุประมาณสามประการที่แสดงให้เห็นข้อแตกต่างระหว่างเทคโนโลยีชีวภาพ กับเทคโนโลยีด้านอื่น ๆ ผลกระทบเนื่องจากการเกิดการกีดกันโดยสิทธิบัตร (บางทีเรียกว่าโศกนาฏกรรม ของการต่อต้านการใช้ทรัพย์สินของผู้อื่น – tragedy of the anti-commons) ผลกระทบของพันธุศาสตร์ ต่อนโยบายทางด้านสาธารณสุข และปัญหาด้านจริยธรรมและศาสนาสืบเนื่องจากพันธุศาสตร์ และ เทคโนโลยีทางพันธุกรรม โศกนาฏกรรมของการต่อต้านการใช้ทรัพย์สินของผู้อื่นนั้นเป็นปัญหาที่เราพบเห็นได้ จากบทความทางวิชาการ และคำตัดสินของศาลอยู่บ่อย ๆ เรื่องราวง่าย ๆ ก็คือ ผู้คนหลายฝ่ายเห็นว่า การให้ผู้ใดผู้หนึ่งมีสิทธิเด็ดขาด หรือทรัพยสิทธิ์ส่วนบุคคลในข้อมูลทางพันธุศาสตร์จะเป็นการขัดขวาง ความเจริญมากกว่าการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม จะเห็นได้ว่าในเซลส์แต่ละเซลส์ของคน สัตว์ หรือ ต้นไม้ก็ตามจะประกอบไปด้วยเส้นใยสายยาวของรหัสซึ่งประกอบขึ้นจากสารเคมีที่เรียกว่า DNA รหัสเหล่านี้เรียกว่ายีนส์ และเป็นตัวนำคำสั่งในการสร้างโปรตีน โดยโปรตีนแต่ละตัวก็จะมีปฏิสัมพันธ์ กับโปรตีนตัวอื่น ๆ ก่อให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ ของชีวิตภายในเซลส์ และแต่ละเซลส์ก็จะมีปฏิสัมพันธ์กับ เซลส์อื่น ๆ ก่อให้เกิดองค์ชีวิตขึ้น การให้ทรัพยสิทธิ์ส่วนบุคคลสำหรับสิ่งใด ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงแห่งการทำงาน และการเชื่อมโยง ของระบบต่าง ๆ เหล่านี้เป็นส่วนสำคัญของโศกนาฏกรรมของการต่อต้านการใช้ทรัพย์สินของผู้อื่น ลองคิดถึงการพยายามหารหัสทุกตัวที่ออกคำสั่งในกระบวนการย่อยสลายน้ำตาล แน่นอนจะต้องมีเซลส์ ที่มีชุดโปรตีนต่าง ๆ กัน โดยโปรตีนเหล่านี้บ่งชี้ยีนส์ที่ต่างกัน และยีนส์พวกนั้นก็ประกอบขึ้นจากรหัสที่ แตกต่างกันไปมากมายเข้ามาเกี่ยวข้อง จะเห็นได้ว่ารหัสที่เข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการย่อย ๆ นี้ มีอยู่มากมายมหาศาลจริง ๆ คราวนี้ลองมาคิดดูว่าชุดรหัสของกระบวนการต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วตกเป็นสิทธิเด็ดขาดของ บุคคลใดบุคคลหนึ่ง (เรื่องมันถ้าจะยุ่งกันไปใหญ่) นี่หมายความว่าในการที่นักวิจัยคนใดคนหนึ่งคิดที่จะใช้ ทำซ้ำ หรือศึกษา ทั้งนี้ขอสงวนไว้ภายใต้บริบทของการทำเพื่อการค้า จะต้องมีการขออนุญาตจากเจ้าของ รหัสต่าง ๆ เหล่านั้น วกกลับไปถึงเรื่องกระบวนการย่อยสลายน้ำตาลก็จะเห็นได้ว่าใครก็ตามที่คิดจะศึกษา ทดลองกระบวนการดังกล่าวจะต้องขออนุญาตจากบุคคลนับจำนวนไมถ้วนจนเป็นเหตุให้เขาเลิกทำการ ศึกษา ค้นคว้า หรือวิจัยงานนั้นไปเลย (ตรงนี้ในอีกสัก 2-3 ฉบับหลังจากเขียนเรื่องนี้เสร็จแล้วจะขอ อธิบายเป็นส่วน ๆ ว่าข้อกังวลเหล่านี้มีมูลหรือไม่มากน้อยเพียงใด) เราจะเห็นได้ว่าหากเหตุการณ์เกิดขึ้นเช่นว่ามาแล้วจริง ๆ คงจะเกิดปัญหาในด้านการใช้ข้อมูล ทางพันธุกรรมเป็นอย่างมาก และจากการที่สิทธิอาจแยกกันอยู่จะทำให้การได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิ ทั้งหมดเหล่านั้นต้องแลกมาด้วยการใช้เงินทองจำนวนสูงมาก แล้วจะกลายเป็นว่าระบบสิทธิบัตรที่สร้างมา เพื่อส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนาจะกลายเป็นสิ่งที่ตัดลมหายใจของการวิจัยและพัฒนาเสียเอง ในเรื่องการผูกขาดโดยระบบสิทธิบัตรนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาในงานวิจัยต้นน้ำ (upstream research) มากกว่าในงานวิจัยปลายน้ำ (dowmstream research) เนื่องจากงานวิจัยอย่างแรกนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการวิจัยพื้นฐาน (basic research) ซึ่งต้องมีการใช้ขั้นตอนหลายขั้นตอนมาก เมื่อแต่ละขั้นละส่วนล้วนถูกผูกขาดไว้โดยบุคคลที่แตกต่างกัน ก็จะต้องขออนุญาตจากทุกคนก่อให้เกิด ปัญหาชีวิตที่ยากจะแก้ไขได้ โดยเฉพาะในงานวิจัยทางด้านพันธุศาสตร์เนื่องจากส่วนมากจะเป็นงานวิจัย ต้นน้ำทั้งนั้น จะเห็นได้ว่าการสร้างแรงจูงใจให้นักวิจัยอยากที่จะสร้างสรรค์ผลงาน และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ขึ้นมาโดยใช้ระบบสิทธิบัตรสามารถก่อให้เกิดปัญหาได้ในเชิงปฏิบัติ จุดนี้เองเป็นสิ่งที่ระบบกฎหมาย เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับพันธุศาสตร์ เราทิ้งประเด็นปัญหาไว้ตรงนี้ก่อนแล้วคราวต่อไปเราจะมาว่ากันด้วยเรื่องผลกระทบของ พันธุศาสตร์ต่อนโยบายทางด้านสาธารณสุข และปัญหาด้านจริยธรรมและศาสนาสืบเนื่องจาก พันธุศาสตร์ และเทคโนโลยีทางพันธุกรรมต่อไป ในเรื่องผลกระทบของพันธุศาสตร์ต่อนโยบายทางด้านสาธารณสุขนั้น (จริง ๆ แล้วเรื่องนี้ ต้องเกี่ยวพันธ์กับด้านการเกษตรด้วย แต่เราจะพูดถึงเฉพาะเรื่องสาธารณสุขละกัน) เมื่อเราเริ่มเข้าใจ โครงสร้างของยีนส์ในร่างกายของเรามากขึ้น เราก็หวังกันว่าการพัฒนาในเรื่องการป้องกัน เยียวยา และรักษาโรคต่าง ๆ จะพรั่งพรูมาสร้างความสุขกายสบายใจให้เราอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งหากมอง ตรงจุดนี้จะพบว่าสุขภาพที่ดีมิได้เกิดจากการรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพ แต่เกิดจากการมีสุขอนามัยที่ดี เป็นส่วนหลัก น่าเสียดายที่เราถูกบังคับให้พึ่งการผลักดันของตลาดที่มีระบบทรัพย์สินทางปัญญาเข้ามา เกี่ยวข้อง ตรงจุดนี้จึงทำให้การมีสุขอนามัยที่ดีมักไม่ค่อยได้รับการเหลียวแลเท่าไหร่ เนื่องจากวงจร เรื่องสุขภาพมักจะต้องกระทำกันโดยผ่านสถาบันด้านสุขภาพต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาล ซึ่งผู้เข้าฝากเนื้อ ฝากตัว ณ สถานที่เหล่านี้ก็จะเกิดภาวะพึ่งพิง คุณหมอว่าอย่างไรผมก็ว่าอย่างนั้น คุณหมอสั่งยาอะไรมา ผมก็กินยานั้น และคุณหมอบอกให้ผมไปซื้อยาที่ไหน ยี่ห้อไหนผมก็ว่าอย่างนั้น นอกจากจะต้องฟังหมอ แล้วยังต้องฟังผู้รับประกันสุขภาพอีกมิเช่นนั้นหากไปรักษายังสถานพยาบาล หรือในรูปแบบที่ผู้รับประกัน สุขภาพไม่รับรองก็จะต้องจ่ายเองอีก คนไข้ก็จะตกที่นั่งลำบาก คนไม่ไข้ก็พาลจะไข้เอาง่าย ๆ อาจจะมีหลายฝ่ายอ้างว่าภาวะการขาดแคลนก่อให้เกิดปัญหาการไร้ดุลยภาพระหว่าง การป้องกันกับการรักษา หรือจะพูดง่าย ๆ ก็คือในมุมมองของนโยบายด้านสาธารณสุขแล้วยังมีปัจจัย อีกหลายอย่างที่ทำให้ตลาดไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของระบบสาธารณสุขที่ดีได้ เราลองมาดูตัวอย่าง ที่เป็นที่ถกเถียงกันในเรื่องการทดสอบตรวจหา (screening test) ยีนส์มะเร็งทรวงอก (breast cancer) Myriad Genetics, Inc. ให้บริการทดสอบตรวจหาพันธุกรรมสำหรับผู้หญิงที่ห่วงว่าตน อาจจะมีการเริ่มก่อตัวของพันธุกรรมของลักษณะที่เป็นมะเร็งทรวงอก และมดลูกที่ได้รับการถ่ายทอดมา (ในชั่วชีวิตผู้หญิงทั่วไปคนหนึ่งจะมีโอกาส 1/8 ที่จะเป็นมะเร็งทรวงอก แต่สำหรับผู้หญิงที่มีการ กลายพันธุ์ของยีนส์ตัวใดตัวหนึ่งในสองตัวที่ได้รับการบ่งระบุโอกาสจะกระโดดเป็น 7/10 หรือ 8/10 อย่างไรก็ตามโดยทั่วไปโอกาสที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะมียีนส์ที่กลายพันธุ์ตัวใดตัวหนึ่งมีน้อยมากประมาณ 1/400 เนื่องจากน้อยกว่า 7% ของการเกิดมะเร็งทรวงอกมีส่วนเชื่อมโยงกับหนึ่งในการกลายพันธุ์นี้) โดยผ่านทาง Haddow Institute ในอังกฤษ ทั้ง Myriad และ Cancer Research Campaign อ้างว่าได้ค้นพบยีนส์ตัวที่สองในยีนส์สองตัวที่มีส่วนสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งทรวงอก นั่นคือ BRCA2 เพื่อความเข้าใจตัวอย่างนี้คงจะต้องอธิบายสักหน่อยว่า Myriad เป็นบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพที่กระทำการ เพื่อผลกำไร Haddow Institute เป็นสถาบันที่ไม่หวังผลกำไร ส่วน Cancer Reseach Campaign เป็นหน่วยงานสาธารณกุศลที่มุ่งหวังจะกวาดล้างมะเร็งไปจากโลกเราลองมาดูกันว่าพวกต่าง ๆ เหล่านี้ เขามุ่งหวังจะทำอย่างไรกับการทดสอบตรวจหายีนส์ และทำอะไรกับเจ้า BRCA2 แน่นอนชัดเจนเราคงจะตอบได้เหมือนกันคือการใช้ทดสอบตรวจหายีนส์มะเร็งทรวงอก แต่วิธีการของหน่วยงานเหล่านี้แตกต่างกัน Haddow และ Cancer Research ต้องการที่จะช่วยเหลือ ผู้หญิงในการวางแผนให้กับชีวิตของตน การทดสอบจะทำให้ผู้หญิงที่มียีนส์ที่กลายพันธุ์เดินตาม ขั้นตอนในการป้องกันการเกิดผลได้ (หรือไม่) นอกจากนั้นก็ยังสามารถบรรเทาความหวั่นเกรงของผู้หญิงที่มีความเสี่ยงเพราะมาจากครอบครัว ที่มีประวัติ ทั้งสองหน่วยงานด้วยความที่ห่วงใยกังวลปัญหาร้อยแปดที่เป็นผลข้างเคียงซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ จากการทดสอบจึงกำหนดวิธีการ และคุณสมบัติของผู้จะเข้าทำการทดสอบอย่างเข้มงวดโดยเฉพาะ การกำหนดให้ผู้ที่จะเข้าทดสอบได้จะต้องผ่านการปรึกษาหารือกับที่ปรึกษาด้านพันธุกรรมก่อนที่จะเข้ารับ การทดสอบ ในอีกด้านหนึ่ง Myriad แนะนำว่าผู้มาตรวจควรจะเป็นผู้ที่ครอบครัวมีประวัติว่าเป็นมะเร็งทรวงอก หรือมดลูก และควรจะได้ปรึกษาหารือกับที่ปรึกษาด้านพันธุกรรมก่อนมาทดสอบ แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเพียง คำแนะนำไม่ใช่ข้อกำหนด ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า Myriad ให้บริการทดสอบแก่ผู้หญิงทุกคน จากการนี้ Myriad คาดการณ์ว่าการทดสอบตรวจหาพันธุกรรมมะเร็งทรวงอก และมดลูกดังกล่าวนี้จะสามารถทำรายได้ถึง $150 – 200 ล้านต่อปี จากตัวอย่างนี้เราจะพบว่าแท้จริงแล้ว Myriad ไม่ได้ทำอะไรผิดเลย เพราะเขาเพียงแต่แสวงหา กำไรโดยถูกต้องตามกฎหมาย และโดยไม่ผิดหลักจริยธรรม แต่การกระทำนั้นเป็นการก่อให้เกิดความไร้ ประสิทธิภาพ และค่าใช้จ่ายที่สูงมากของกิจกรรมทางด้านสาธารณสุข และเป็นการทำให้สุขภาพเสื่อมโทรม ได้อีกด้วย เราคงจะประจักษ์แล้วว่าการหลับตาปิดหูไว้วางใจในระบบตลาดนอกจากถือเป็นความด้อยปัญญา แล้วยังเป็นอันตรายอีกด้วย ลองมามองทางด้านจริยธรรม และศาสนากันดูบ้าง ซึ่งในด้านนี้ตลาดก็ยังคงไม่สามารถปกป้อง คุณค่าของจริยธรรม และศาสนาได้เช่นเดียวกับที่ไม่สามารถจะให้การรับรองในเรื่องสาธารณสุขได้ ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ค่อนข้างสำคัญ เพราะงานวิจัยทางด้านพันธุศาสตร์เชื่อมโยงกับสายใยแห่งสังคม ชุมชน และคุณค่าทางศาสนาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความเจริญก้าวหน้าทางด้านการศึกษาเกี่ยวกับพันธุกรรม ทำให้ข้อมูลแต่ละอย่างของมนุษย์ เช่น ความเสี่ยงต่อโรค หรือลักษณะด้อยต่าง ๆ ปรากฏขึ้นเด่นชัด อย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ ถึงแม้ว่าข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้จะสามารถใช้ในการรักษา และป้องกัน โรคต่าง ๆ ได้แต่ในทางกลับกันก็อาจเป็นเครื่องมือที่มนุษย์ใช้ในการกีดกันมนุษย์ด้วยกันในด้านต่าง ๆ เช่น การทำประกันภัย หากมองในมุมกว้างนอกเหนือจากผลกระทบของการศึกษาทางด้านพันธุศาสตร์ต่อมนุษย์แล้ว ยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เราสามารถใช้เทคโนโลยีทางด้านพันธุกรรมเป็นตัวช่วยทำให้ สิ่งแวดล้อมสะอาดขึ้น และมีมลพิษน้อยลงได้ก็จริง แต่เราก็อาจจะส่งสิ่งมีชีวิตบางอย่างเข้าทำลาย ชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น หรือเข้าทำลายความสมดุลของระบบนิเวศน์วิทยาในบางพื้นที่ได้ด้วย เมื่อมองตรง จุดนี้แล้วเราอาจจะเลยไปถึงว่าความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านพันธุศาสตร์อาจทำให้วันนึง ข้างหน้าเราสามารถสร้างมนุษย์สมบูรณ์แบบขึ้นมาเหมือนที่เรากำลังพยายามสร้างพืช และสัตว์ สมบูรณ์แบบอยู่ การพยายามสร้างคนเหนือคนนี้มีส่วนสัมพันธ์กับจริยธรรม และศาสนาอย่างมากเนื่องจาก จะเป็นการสร้างลัทธิการแยกแยะเผ่าพันธุ์มนุษย์ (eugenism) ยุคใหม่ขึ้นมาได้ แล้วตรงนั้นเราจะสามารถ ควบคุมจริยธรรม และบ่มเพาะความศรัทธาในความดีที่ทุกศาสนาพร่ำสอนให้แก่มนุษย์ทุกรูปนามให้แก่ มนุษย์สมบูรณ์แบบได้เช่นเดียวกับที่เราสามารถผนวกรวมยีนส์ที่เลอเลิศเข้าไปในมนุษย์คนนั้นได้หรือไม่ ตรงนี้เองที่ปัญหาจะเกิดตามมาอย่างมากมายหากไม่ระมัดระวัง ปัจจุบันนี้ยังไม่มีมาตรการทางกฎหมายใด ๆ ที่จะออกมาควบคุม และกำกับดูแลการทดลองด้านพันธุศาสตร์เพื่อให้มีระบบ ระเบียบ และไม่ก้าวล้ำ ออกนอกเส้นเกินควร ถึงแม้ระบบตลาดจะสามารถช่วยให้เราเลือกสินค้าที่ดีที่สุดได้ แต่แน่นอนระบบ ดังกล่าวไม่สามารถชี้ทางที่จะเลือกจริยธรรมที่ดีที่สุดได้ ในคราวต่อไปเราจะมาดูกันว่ากระบวนการยุติธรรมมีการตอบสนองต่อปัญหาที่เรา ได้ว่ากันมาแล้วอย่างไรบ้าง การตอบสนองต่อปัญหาการทดลองด้านพันธุศาสตร์ของกระบวนการยุติธรรมนั้นคงจะต้อง กลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากผลกระทบของพันธุศาสตร์จะเกิดขึ้นแก่ ช่วงชีวิตของคนหลายช่วง และหลายหมู่ เหล่ามาก และในไม่ช้าการจัดการเกี่ยวกับผลกระทบของ พันธุศาสตร์ก็จะกลายเป็นงานพื้นฐานส่วนหนึ่งของผู้พิพากษา จริง ๆ แล้วการคิดล่วงหน้าว่าศาลจะใช้ วิธีการอย่างไรดีในการจัดการกับเรื่องราวเหล่านี้ก่อนที่จะมีคดีความเกี่ยวกับพันธุศาสตร์มาสู่ศาลน่าจะ เป็นประโยชน์สำหรับการเตรียมตัวของศาลพอสมควร บทบาทของศาลก็คือจะเป็นคนคอยประสาน ความเหมาะสมระหว่างความก้าวหน้าในเชิงเทคโนโลยีชีวภาพกับการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และ สุขอนามัยของมนุษย์ ผู้พิพากษาจะต้องทำการตัดสินเรื่องดังกล่าวในช่วงเวลาที่ข้อโต้แย้งเกิดขึ้น โดยอาศัยข้อเท็จจริงที่เป็นไปได้ ไม่ใช่การมองเหตุการณ์ที่ไกลตัวเกินไป ข้อเท็จจริงเท่าที่เราทราบในขณะนี้ก็คือเทคโนโลยีชีวภาพมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วมาก ไม่เพียงแต่ในเชิงความรู้ทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น หากแต่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพก็ได้มีการ ขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีการลงทุนกันอย่างมหาศาล และมีการจ้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญมาบริหาร จัดการอุตสาหกรรมดังกล่าวในอัตราค่าจ้างที่คุ้มค่าเหนื่อยเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้การปฏิวัติทาง พันธุศาสตร์ยังจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิธีการดำเนินธุรกิจของอุตสาหกรรมแขนงอื่นอีกด้วย เช่น การประกันภัยจะมีการประเมินความเสี่ยงที่แม่นยำขึ้น การบริการทางด้านสุขภาพจะมีกลุ่มโรค เป้าหมายมากขึ้น การรักษาความปลอดภัยจะมีวิธีการจำแนกบุคคลได้ดีขึ้น และในทางการเกษตรก็จะมี ผลิตผลที่มีคุณภาพสูงกว่าเดิม แม้กระทั่งหน่วยงานของรัฐก็จะไม่อาจหลีกเลี่ยงจากการเข้าร่วมวงได้ เพราะพันธุศาสตร์จะสร้างโอกาส (แม้จะเจือด้วยความเสี่ยง) ทั้งในด้านการปราบปรามอาชญากรรม และการอำนวยประโยชน์ต่าง ๆ แก่สังคม เมื่อได้รับทราบข้อเท็จจริงเช่นนี้ผู้พิพากษาจะทำการเตรียมตัวเตรียมใจอย่างไรดีเนื่องจาก บนเหรียญเดียวกันด้านหนึ่งคือศักยภาพในเชิงบวกของเทคโนโลยีชีวภาพ ส่วนอีกด้านหนึ่งคือความกลัว ที่เทคโนโลยีชีวภาพก่อให้เกิดขึ้น หากจะพูดให้ชัดเจนกว่านี้ก็คือผู้พิพากษาควรจะรับฟังการคาดคำนวณ ถึงประโยชน์ต่าง ๆ นานาที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพจะนำมาสู่มนุษยชาติ หรือการทำนายความ หายนะที่เทคโนโลยีชีวภาพจะนำมาโดยการคาดการณ์ของผู้ที่ต่อต้านมากน้อยแค่ไหน ต่อจากส่วนนั้น หากว่าผู้พิพากษาใช้กฎหมายเป็นตัวตัดสินอันตรายที่วางไว้โดยเทคโนโลยีชีวภาพจะถือว่าเป็นการกระทำ ที่ชาญฉลาดหรือไม่ เท่าที่คิดได้น่าจะมีหนทางสักสี่ทางให้ผู้พิพากษาเลือกใช้ในการจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ที่เราได้พูดกันมานั่นคือ การมองปัญหาแบบหญิงชราผู้กลืนกินแมลงวันลงไป การมองในเชิงวิวัฒนาการ การมองแบบผู้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Luddite) (เล่าแถมพอเป็นเกร็ดว่าพวก Luddite นี้ คือพวกคนงานชาวอังกฤษในช่วงระหว่างปี 1811 ถึง 1816 ที่ก่อการจราจล และทำลายเครื่องจักร ในโรงงานสิ่งทอเนื่องจากเชื่อว่าเครื่องจักรเหล่านั้นจะทำให้การจ้างงานลดลง) และการมองแบบคนสงสัย ในเรื่องศาสนาในยุโรป (Euro-skeptic) แนวทางแต่ละแนวตั้งอยู่บนพื้นฐานของทัศนคติที่แตกต่างกัน สองประการคือ ประการแรกคือทัศนคติต่อผลกระทบโดยตัวมันเองของพันธุศาสตร์, ซึ่งอาจจะเป็นความ สงสัยใคร่รู้ การมองโลกในแง่ร้าย หรืออะไรสักอย่างในระหว่างทั้งสอง ประการที่สองคือการที่ผู้พิพากษา มองกฎหมาย หรือความสามารถของกฎหมาย (ซึ่งอาจจะเป็นความไร้ความสามารถของกฎหมายก็ได้) ในอันที่จะปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ แนวทางแรก – การมองปัญหาแบบหญิงชราผู้กลืนกินแมลงวันลงไป – เป็นการมองในแบบ ผู้ที่มีความเชื่อถือเลื่อมใสในเทคโนโลยี ผู้ที่รับเอาแนวทางนี้คือผู้ที่เชื่อว่าเทคโนโลยีชีวภาพ และงานวิจัย ทางด้านพันธุศาสตร์โดยทั่ว ๆ ไปมีแต่ผลดี พวกนี้บางทีก็เชื่อแบบหญิงชราในเพลงที่พวกเด็ก ๆ ชอบร้องกัน (เนื้อหาของเพลงก็คือว่าหญิงชรากลืนแมงมุมลงไปเพื่อหวังจะให้มันไปจัดการกับเจ้าแมลงวัน ให้ จากนั้นก็กลืนเจ้านกน้อยลงไปจัดการกับเจ้าแมงมุม จนในที่สุดถึงกระทั่งกลืนม้าเข้าไป แล้วแกก็ตาย) ว่าปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นจะต้องมีทางเยียวยา เราสามารถมอบหมายเรื่องความปลอดภัย สุขอนามัย ของเราและของลูกหลานเรา และสิ่งแวดล้อมให้วิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรม และตลาดเป็นผู้รับผิดชอบ ตัวอย่างหนึ่งของแนวทางนี้ปรากฏในสหรัฐอเมริกาในคดีระหว่าง Diamond กับ Chakrabarty (1980) ศาลได้ถูกตั้งคำถามให้ตัดสินว่าควรจะขยายความคุ้มครองของกฎหมายสิทธิบัตรไปสู่ สิ่งมีชีวิตหรือไม่ ซึ่งในคดีนั้นได้แก่แบคทีเรียที่ถูกทำเทียมขึ้นมา พวกที่ไม่เห็นด้วยอ้างว่าการกระทำ ดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบต่อสุขอนามัย และสิ่งแวดล้อมดังนั้นศาลควรจะปล่อยเรื่องนี้ ให้เป็นเรื่องของสภาคองเกรส (Congress) อย่างไรก็ตามในความเห็นที่ค่อนข้างมั่นคงในคำตัดสิน เสียงฝ่ายข้างมากขยายความคุ้มครองของกฎหมายสิทธิบัตรไปสู่แบคทีเรียโดยชูคุณความดีในด้าน เศรษฐศาสตร์ของเทคโนโลยีดังกล่าวโดยวางภัยที่อาจจะเกิดขึ้นแก่สุขอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ไว้นอกกรอบการพิจารณา น่าเสียดายที่ประวัติศาสตร์ไม่ให้การสนับสนุนแก่วิสัยทัศน์อันสวยงามของเทคโนโลยี ในความเป็นจริงการแนะนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้าสู่วงการมักจะมีสิ่งที่ไม่ได้ตั้งใจให้เกิด และไม่ต้องการ ให้เกิดขึ้นตามมาด้วย อย่างเช่น พลังงานนิวเคลียซึ่งเป็นความหวังว่าเราจะมีพลังงานที่สะอาดและราคาถูก ไว้ใช้งานกัน ไม่เพียงแต่นำมาซึ่งความหายนะแก่เกาะ-สามไมล์ และเชอร์โนบลิล (Chernobyl) เท่านั้น หากแต่ยังทิ้งปัญหาระยะยาวเรื่องการเก็บกวาดของเสีย หรือขยะนิวเคลีย (nuclear wastes) ไว้ให้อีกด้วย ยังมีปัญหาเรื่องการใช้รังสีเอ็กซ์ (X –ray) ในการวัดขนาดเท้าเด็กเพื่อหารองเท้าที่เหมาะสมที่ใช้กันในช่วง ปี 1940 อีก นอกจากนี้เรายังไม่สามารถจะพึ่งพาเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาที่มันก่อขึ้นได้อีกด้วย ลองดูตัวอย่างในออสเตรเลียที่ คางคกหรืออึ่งอ่างอ้อยอะไรทำนองนี้ เรียกว่า cane toad จากอเมริกาใต้ได้ถูกนำมายังรัฐควีนส์แลนด์ในปี 1935 เพื่อจัดการกับเจ้าแมลงอ้อยปีกแข็ง พวก cane beetle species ซึ่งเป็นตัวการในการทำลายไร่อ้อยในออสเตรเลีย การกลับตรงข้ามเพราะ ไอ้เจ้าอึ่งอ่างหรือคางคกดังกล่าวกลับกลายเป็นศัตรูตัวร้ายของอ้อยไปเสียเอง ตอนนี้ได้มีการพยายาม ที่จะนำไวรัสหรือเชื้อรามากำจัดเจ้าอึ่งอ่างหรือคางคกนี่อยู่ ซึ่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของการกระทำ ดังกล่าวไม่อาจจะคาดเดาได้เลย เช่นเดียวกับหญิงชราในเพลง เราคงจะไม่ฉลาดนักหากคิดว่าเราสามารถ จะแก้ไขปัญหาที่เราทำผิดพลาดมาในอดีตได้เสมอ หญิงชราผู้กลืนกินแมลงวันลงไปจะทิ้งการตัดสินปัญหาไว้กับกฎหมายสิทธิบัตร และกลไก ของตลาด อย่างที่เคยบอกมาแล้วว่าทางเลือกนี้นอกจากอาจจะไม่ส่งเสริมความก้าวหน้าของการวิจัย ทางด้านพันธุศาสตร์แล้วยังอาจจะค่อย ๆ ทำลายพัฒนาการอย่างสมเหตุสมผล และอย่างมีจริยธรรม ของนโยบายสาธารณสุขด้วย นอกจากนี้หากเราเลือกทางเดินเช่นนี้ยังเป็นการละเลยที่จะคำนึงถึง สิ่งแวดล้อม ศาสนา และความกังวลของชุมชนเกี่ยวกับข้อมูลทางพันธุกรรม และงานวิจัยทาง พันธุศาสตร์อีกด้วย แนวทางที่สอง – การมองปัญหาในเชิงวิวัฒนาการ – แนวทางนี้เกี่ยวพันธ์กับความศรัทธา ในทางวิทยาศาสตร์เช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้เชื่อแบบหัวปักหัวปำ และโดยธรรมชาติที่มืดบอด แต่ความศรัทธาดังกล่าวได้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นแขนงของความศรัทธาคือ เชื่อว่าระบบกฎหมาย จะสามารถป้องกันภัยก่อนที่ภัยจะออกนอกเหนือการควบคุม มุมมองนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นเนื่องจากเป็น มุมมองที่เชื่อว่าสิ่งใดที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ระบบกฎหมายจะทำการจัดการให้เอง ที่กล่าวมาคือแนวทางดั้งเดิมของกฎหมายเพียงแต่ที่ต่างไปคือตอนนี้มันกำลังถูกนำมาประยุกต์ ใช้กับเทคโนโลยีชีวภาพ ผู้พิพากษาผู้เชื่อมั่นในมุมมองนี้เห็นว่าระบบกฎหมายมีความยืดหยุ่นพอเพียงแก่ การจัดการกับพันธุศาสตร์ โดยเฉพาะกฎหมายสิทธิบัตรซึ่งปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีที่หลากหลายมาก ข้ามศตวรรษมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ จากเครื่องจักรเครื่องกลมาสู่สารเคมี และมาสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยอาศัยมุมมองนี้ หากเกิดปัญหาขึ้นผู้พิพากษาจะสามารถประยุกต์ใช้กฎเกณฑ์เดิม ๆ เพื่อให้เหมาะสม กับสถานการณ์ที่ตนกำลังเผชิญอยู่ได้ ตัวอย่างหนึ่งของแนวทางนี้คือคำตัดสินของเสียงข้างมากในศาลสูง หรือศาลฎีกาแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ในคดีระหว่าง Moore กับ Regents of the University of California (1990) คดีนั้นเกี่ยวพันกับการที่คนไข้อ้างว่าหมอได้นำเนื้อเยื่อที่ถูกนำออกไปจากร่างกายของเขา ไปใช้ในงานวิจัยเพื่อแสวงหากำไรมหาศาล เสียงข้างมากในศาลปฏิเสธที่จะรับฟังข้อโต้แย้งที่ว่าคนไข้ ควรจะมีทรัพยสิทธิในเนื้อเยื่อของตน ในทางกลับกันเสียงข้างมากได้ทำการดัดแปลงกฎหมายเกี่ยวกับ การให้ความยินยอมเมื่อได้รับแจ้ง (informed consent) ให้แพทย์ต้องเปิดเผยต่อคนไข้ถึงผลประโยชน์ ในเชิงพาณิชย์ซึ่งตนอาจจะได้รับจากขั้นตอนในการรักษา ผลลัพธ์ก็คือการที่ศาลสามารถจะนำเสนอ เรื่องราวที่เกี่ยวข้องให้แคบพอเป็นที่เข้าใจบนพื้นฐานการทำการแบบเฉพาะกิจ แต่ยังคงทิ้งวิทยาศาสตร์ ให้มีอิสระในการทำงานโดยไม่ถูกขัดขวาง เราคงจะต้องมาต่อกันในเรื่องการมองปัญหาการวิจัยทางพันธุศาสตร์ในเชิงวิวัฒนาการกัน คราวหน้า และเราจะพูดกันถึงการมองแบบผู้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Luddite) รวมทั้ง การมองแบบคนสงสัยในเรื่องศาสนาในยุโรป แล้วเราก็คงจะสรุปจบเรื่องชุดนี้กัน ความเชื่อที่จำเป็นสำหรับพวกวิวัฒนาการคือเชื่อว่าระบบกฎหมายจะสามารถตอบสนองต่อ ภัยที่เกิดจากการคุกคามของเทคโนโลยีได้ก่อนที่ภัยนั้นจะกลายเป็นเรื่องลุกลามใหญ่โต เราสามารถ ที่จะปล่อยให้วิทยาศาสตร์มุ่งหน้าไปเพื่อช่วยหนุนเศรษฐกิจ และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน แต่ก็ต้องรู้ ไว้ด้วยว่าหากมีความจำเป็นเกิดขึ้นผู้พิพากษาจะเข้ามาทำหน้าที่ของเขา ถึงแม้ในหลักการแล้วการ มองแบบวิวัฒนาการจะดูดี แต่การมองแบบนี้ก็มีจุดอ่อนอยู่อย่างหนึ่งคือในความเป็นจริงนั้นเทคโนโลยี รุดหน้ารวดเร็วกว่าการปรับตัวของระบบกฎหมายมากนัก ถึงแม้ว่าผู้พิพากษาจะประสบความสำเร็จ ในการปรับใช้กฎหมายสิทธิบัตรกับนวัตกรรมต่าง ๆ แต่พวกเขาก็ใช้ระยะเวลาพอสมควรในการปรับตัว กรณีเช่นเดียวกันนี้คงจะไม่ง่ายนักสำหรับเทคโนโลยีชีวภาพ ยกตัวอย่างโครงการจีโนมมนุษย์ซึ่งเดิมคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2005 แต่ด้วยศักยภาพ ของหน่วยพันธุกรรมต่าง ๆ ที่จะค้นพบสืบเนื่องจากโครงการนี้ทำให้มีการเร่งคิดค้นเครื่องมือในการหา ลำดับจีโนมจนกระทั่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2003 เมื่อได้สิ่งที่เขาต้องการ แน่นอนจะต้องมีนักวิจัย จำนวนไม่น้อยที่รีบวิ่งไปจดสิทธิบัตร ซึ่งพวกเขาอาจจะได้สิทธิบัตรออกมาบังคับใช้ก่อนที่เราจะสามารถ วางนโยบายทางด้านสาธารณสุข และนัยทางจริยธรรมของสิทธิบัตรเสียอีก นอกจากนั้นในเรื่องของ สิ่งแวดล้อมลองคิดดูว่าหากเราส่งสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่เข้าสู่สิ่งแวดล้อมจะเป็นการยากง่ายแค่ไหนในการ นำมันออกไปหากมีความจำเป็น ลองนึกย้อนถึงตัวอย่างอึ่งอ่างหรือคางคกอ้อยในออสเตรเลียดูกัน ถ้าเรารีบร้อนในการส่งสิ่งมีชีวิตปรับปรุงหน่วยพันธุกรรม (genetically modified organisms – GMOs) เข้าสู่สิ่งแวดล้อมโดยไม่ทำการประเมินความปลอดภัยทางชีวภาพให้ดีเสียก่อนเราอาจจะก่อให้เกิด ผลกระทบอันร้ายแรงต่อธรรมชาติในอนาคตโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้ เราต้องไม่ลืมอย่างหนึ่งว่าธรรมชาติของกฎหมายจะต้องค่อยเป็นค่อยไป มีการพัฒนาที่สุขุม และลุ่มลึกเนื่องจากเกี่ยวพันถึงชีวิตความเป็นอยู่ และการจำกัดสิทธิของผู้คน แม้คดีบางคดีจะใช้เวลา ตัดสินที่รวดเร็วแต่ระยะเวลาดังกล่าวก็ยังคงนานพอสมควรเมื่อเทียบกับความเจริญก้าวหน้าในแต่ละวัน ของเทคโนโลยีชีวภาพ เพราะในที่สุดเทคโนโลยีชีวภาพอาจจะคุกคามทำลายความสืบเนื่อง และ เชื่อมโยงกันของระบบกฎหมายลงทีละน้อย พวกวิวัฒนาการก็ยังคงพึ่งพากฎหมายสิทธิบัตรและ กลไกตลาดมากอยู่ไม่น้อยไปกว่าหญิงชราผู้กลืนกินแมลงวันลงไปเท่าไหร่ แต่ก็อย่างที่ได้คุยกันมาแล้วว่า ระบบทั้งสองนั้นไม่สามารถจะใช้ได้ผลทั้งในการส่งเสริมนวัตกรรมและการวางนโยบายสาธารณสุข มันไม่ใช่เรื่องง่ายแค่เพียงบอกว่าระบบกฎหมายจะช่วยแก้ไขปัญหาให้ได้ไม่ว่าจะเป็น โดยการพิจารณาเรื่องราวเป็นกรณี ๆ ไปหรือการพิจารณาเฉพาะกิจเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ก็ยากที่จะแก้ไขกลับกลายได้ พวกวิวัฒนาการก็ยังคงขาดการผนวกสังคม ศาสนา และชุมชนเข้าไว้ในการ พิจารณาการวิจัยในทางพันธุศาสตร์ หากเราปล่อยให้กลุ่มเหล่านั้นรู้สึกว่าพวกเขาถูกกีดกันจากการมี ส่วนร่วม พวกเขาอาจจะก่อการต่อต้านแม้กระทั่งงานวิจัยที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านสิ่งแวดล้อม และสาธารณสุขก็เป็นได้ แนวทางที่สาม -- การมองปัญหาแบบผู้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Luddite) – เราไม่จำเป็นที่จะต้องเชื่อว่าเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีชีวภาพหรือเทคโนโลยีใด ๆ จะนำมาซึ่ง ความสุข ความสะดวกสบาย และผลประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติเช่นเดียวกับพวก Luddite ที่เชื่อใน ทางตรงข้าม บางทีความกลัวในเทคโนโลยีก็เกิดจากการกระจายข่าวในเรื่องเทคโนโลยีที่ผิด เช่น การทำข่าวในเรื่องโรควัวบ้า (Mad Cow Disease – Bovine Spongiform Encephalitis) เรื่องไดอ๊อกซิน (Belgian Dioxin) และเรื่องความบกพร่องของโคคา โคลา (defective Coca Cola) ได้ก่อให้เกิด ความกลัวและความไม่ไว้วางใจในเทคโนโลยีขึ้น ผลที่ตามมาก็คือการที่สาธารณะกดดันให้รัฐบาลทำการจำกัดการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ การตอบสนองต่อ GMOs ของชาวยุโรปเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด เมื่อได้รับทราบข่าวสารว่า ข้าวโพด GMO ทำให้เจ้า Monarch Butterfly เสียชีวิต ประชาชนชาวยุโรปก็ได้กดดันให้ตลาด (supermarket) และรัฐบาลจำกัดการใช้ และการขายผลิตภัณฑ์อาหารที่เกิดจากการปรับแต่ง หน่วยพันธุกรรม (GM food) หรือที่พวกเขาเรียกว่า Frankenstein food นั่นเอง ซึ่งผลลัพธ์ของ การกระทำดังกล่าวคือคำสั่งระงับ (moratorium) การให้การรับรอง GM food ในยุโรป ลองคิดดูว่า ความกลัวเทคโนโลยี หรือให้ชัดเจนขึ้นเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมเช่นนี้ให้ความชัดเจนหรือไม่ เพราะจวบจนปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใด ๆ เลยที่แสดงว่า GM food เป็นอันตราย หรือปลอดภัย พวก Luddite กลัวและไม่ไว้วางใจทั้งในเทคโนโลยี และในระะบบกฎหมาย อาจเป็นเพราะ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี หรือระบบกฎหมายก็ตามก็มิได้พิสูจน์ตนเองว่าสามารถแก้ไขปัญหา Chernobyl, Mad Cow Disease, หรือ Belgian Dioxin ได้ จึงเห็นว่าความกลัวของพวกนี้ก็ใช่ว่าจะไร้เหตุผลเสียทีเดียว แต่ก็ไม่ใช่ว่าพอเรามีความกลัวเกิดขึ้นจะมีความสมเหตุสมผลในอันที่เราจะระงับสิ่งที่ทำให้เรากลัวเสียเลย เพราะไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่เราต้องตระหนักว่าเทคโนโลยีชีวภาพเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับชีวิตเราในความเป็นจริง คำถามที่เราควรจะตอบไม่ใช่ว่าเราควรจะระงับการทดลองทางเทคโนโลยีชีวภาพ หรือยุบอุตสาหกรรมนี้ ไปเลยหรือไม่ หากแต่เป็นเราจะทำการควบคุมการทดลอง และการดำเนินกิจการนั้นอย่างไรให้ก่อให้เกิด ผลประโยชน์แก่เรามากที่สุด และก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบน้อยที่สุด แนวทางที่สี่ -- การมองพันธุศาสตร์แบบคนสงสัยในเรื่องศาสนาในยุโรป (Euro-skeptic) – โดยแนวทางนี้ผู้พิพากษาจะต้องยอมรับในประโยชน์ และภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้ข้อมูล และ เทคโนโลยีทางพันธุศาสตร์ และต้องยอมรับในข้อจำกัด หรือความสามารถอันมีขีดจำกัดของระบบกฎหมาย ในการที่จะควบคุมภัยที่อาจเกิดขึ้น พวก Euroskeptic จะปล่อยให้เทคโนโลยีได้ดำเนินงานของตนเองไป แต่ให้เป็นไปอย่างช้า ๆ และอยู่ในสายตาตลอด แนวทางการระมัดระวังเช่นนี้เหมือนกับการที่อังกฤษ เข้าร่วมในระบบสหภาพ ยุโรปโดยเฉพาะในเรื่องสกุลเงินยูโร อังกฤษยังคงใช้เงินปอนด์อยู่แม้ว่าประเทศ อื่น ๆ ในสหภาพยุโรปจะหันมาปรับใช้เงินยูโรแล้วก็ตาม อังกฤษให้ปฏิญญาว่าจะเข้าเป็นพวก Euroland หากปรากฏว่าการใช้เงินยูโรเป็นผลสำเร็จทั้ง ๆ ที่อังกฤษเองเป็นตัวตั้งตัวตีในการที่จะใช้เงินยูโร อังกฤษ พูดเป็นเชิงว่าตนเอาแน่แต่ช้าและระมัดระวัง ถึงแม้ว่าพวก Euroskeptic จะยังคงคลางแคลงใจในเทคโนโลยีทางด้านพันธุศาสตร์แต่ก็ ไม่ปฏิเสธศักยภาพในการเอื้อประโยชน์ของเทคโนโลยีดังกล่าว อย่างไรก็ตามพวกนี้ก็ยังคงมองว่า หากเราส่งเทคโนโลยีเข้าสู่ตลาด ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะต่อสิ่งแวดล้อม หรือต่อสุขอนามัยของ มนุษย์ไม่สามารถจะถูกทำให้ย้อนกลับได้ ดังนั้นจึงเห็นว่าการก้าวอย่างช้า ๆ และอย่างระมัดระวังเป็น ทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด พวก Euroskeptic จะไม่พึ่งพากฎหมายสิทธิบัตร หรือกลไกตลาดเพื่อให้เกิด การส่งเสริมการวิจัยให้ได้มาซึ่งนโยบายสาธารณสุขที่เป็นที่พึงปรารถนา และเพื่อส่งเสริมคุณค่าของสังคม ชุมชน และศาสนา แต่พวกนี้จะจำกัดขอบเขตของกฎหมายสิทธิบัตร และกลไกตลาดในเรื่องเกี่ยวกับ ข้อมูล และเทคโนโลยีทางด้านพันธุศาสตร์จนกระทั่งได้ตรวจสอบสิ่งเหล่านี้ก่อน พวก Euroskeptic นี้ จะคิดสองชั้นว่าควรจะให้สิ่งใดได้รับการจดสิทธิบัตรหรือไม่ แล้วเมื่อให้จดได้จะคิดต่อไปว่าแล้วจะให้ ผูกขาดอย่างไรแค่ไหน แนวคิดแบบนี้จะส่งเสริมการพูดคุยกันในวงกว้างเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว แต่ไม่ได้ หมายความว่าจะต้องจับพวกที่ค้านแบบหังชนฝามานั่งคุยกับพวกที่สนับสนุนอย่างเอาเป็นเอาตาย เพียงแต่ต้องพยายามผนวกผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ที่สนใจให้เข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด และให้มีแนวคิด ร่วมกันในอันที่จะส่งเสริมการวิจัยเกิดขึ้นในแวดวงสาธารณะ เดินแบบระมัดระวังไม่ได้แปลว่าปฏิเสธ กลไกตลาด หรือเพิกเฉยต่อระบบกฎหมาย หากแต่เป็นการมองกฎหมาย และหลักการประชาธิปไตย โดยมีความหวงกัน หรือความสงสัยในข้อกล่าวอ้างของตลาดว่าจะสามารถทำนั่นทำนี่ได้ จนกว่าจะได้ เห็นจริง โดยสรุปแม้จะยอมรับในความกลัวของพวก Luddite พวก Euroskeptic ก็ยังไม่เห็นเหตุผล ที่จะห้ามการใช้เทคโนโลยี แม้จะเห็นสอดคล้องกับหญิงชราผู้กลืนกินแมลงวันลงไปว่าเทคโนโลยีจะให้ ประโยชน์อย่างใหญ่หลวงแก่เรา แต่พวก Euroskeptic จะไม่เชื่อว่าเทคโนโลยีมีแต่ผลดีเท่านั้น ในจุดนี้ พวก Euroskeptic ลงเรือลำเดียวกับพวกวิวัฒนาการ พวก Euroskeptic ไม่เห็นด้วยกับพวกวิวัฒนาการว่า ระบบกฎหมายจะสามารถแก้ปัญหาเกี่ยวกับภัยของเทคโนโลยีทางพันธุศาสตร์ได้ เพราะหลายต่อหลายครั้ง ระบบกฎหมายเองเป็นตัวก่อให้เกิดภัยขึ้น พวก Euroskeptic จะไม่ยอมให้สถาบันการเงินเป็นผู้ตัดสินไม่ว่า จะเป็นเรื่องเงินยูโร หรือเทคโนโลยีชีวภาพ และจะทำแบบศาลในคดีระหว่าง Diamond กับ Chakrabarty ที่คำนึงผลประโยชน์สุดท้ายเป็นผลกำไรแทนที่จะเป็นจริยธรรม แต่พวก Euroskeptic จะตัดสินอนาคต ของงานวิจัยทางด้านพันธุศาสตร์โดยรวมความคิดเห็น และภูมิความรู้ของชนทุกหมู่ทุกเหล่าเท่าที่จะหาได้ เข้าด้วยกัน หลักการของพวก Euroskeptic นี้ก็คือพื้นฐานของหลักการปลอดภัยไว้ก่อน หรือหลักการ ระแวดระวังภัย (Precautionary Principle) และหลักการกันไว้ดีกว่าแก้นั่นเอง อย่างไรก็ตามเราต้อง จำเอาไว้ว่าการเดินแบบระมัดระวังมิใช่การหยุดเดิน เราต้องเข้าใจว่าเทคโนโลยีชีวภาพไม่เพียงแต่ อาจจะให้ผลประโยชน์เป็นสุขภาพที่สมบูรณ์ และสิ่งแวดล้อมที่ดีเท่านั้น หากแต่ยังจะช่วยให้เศรษฐกิจ เกิดการขยายตัว และรุ่งเรืองขึ้นอีกด้วย ผู้พิพากษาทั้งหลายจะมีบทบาทอย่างมากในระบบกฎหมาย ในการตอบสนองต่อการวิจัยทางด้านพันธุศาสตร์ กระบวนการยุติธรรมจะต้องไม่รอแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วเท่านั้น หากแต่ผู้พิพากษาทั้งหลายจะต้องแสดงบทบาทในเชิงรุกในอันที่จะวางมาตรฐานในการ ตั้งข้อสงสัยทั้งต่อเทคโนโลยี และต่อความสามารถของระบบกฎหมายที่จะแก้ปัญหาได้ทันท่วงทีเสมอ นอกเหนือจากผู้พิพากษาแล้วก็คงต้องขอฝากอนาคตไว้ในมือทุกคนด้วยนะครับ *** ที่มา : http://www.thainhf.org/Bioethics/Document/jade.doc