"วิทยาการ”ล้ำเส้น”จริยธรรม”? *** ความก้าวหน้าทาง “เทคโนโลยีชีวภาพ” นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับมวลมนุษย์ทั้งหลาย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์ แต่สิ่งที่ติดตามมาเหมือนเงาที่ทอดตามหลังความน่าอัศจรรย์ เหล่านั้นก็คือ คำถามในเชิง “จริยธรรม” ที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่า หากไม่เหลียวหลังกลับมามองบ้าง ความเป็นมนุษย์ที่ธรรมชาติเป็นผู้กำหนดมาแต่ไหนแต่ไร จะเปลี่ยนแปลงไปจนขาดความสมดุลและ สร้างปัญหาตามมาได้ในภายหลัง เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ที่ผ่านมา มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และศูนย์พันธุวิศวกรรม และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ได้จัดงานสัมมนาเรื่อง “แปลงพันธุ์มนุษย์…ผิดจริยธรรม ?" ขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อให้ตัวแทนจากศาสนาที่สำคัญๆ เช่น พุทธ คริสต์ และอิสลาม รวมทั้งบุคคลที่มาจากหลายสาขาอาชีพได้มีโอกาสมานำเสนอข้อมูลและแนวคิดที่มีต่อผลงานของ บรรดานักวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่กำลังก้าวล้ำไปอย่างไม่หยุดยั้ง ไม่ว่าจะเป็นการผสมเทียม การโคลนนิ่งมนุษย์ การคัดเลือกเพศหรือพันธุ์ให้ได้ลักษณะตามที่ต้องการ ในมุมมองของศาสนาต่างๆ ต่อเรื่องการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่อง "โคลนนิ่ง” ในมุมมองของศาสนาคริสต์ไม่ต่างไปจากอิสลามและพุทธ นั่นคือ ถือเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ เพราะสิ่งมีชีวิตที่ได้จากวิธีนี้ ไม่มีสิ่งที่ใช้แยกความผิดชอบชั่วดีติดตัวมาด้วย ซึ่งหมายถึงจิตนั่นเอง แต่เรื่องการคัดเลือกเพศหรือพันธุ์นั้น ยังมีมุมมองที่หลากหลายอยู่พอสมควร ซึ่งเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขและ บริบทของแต่ละเรื่องด้วย นอกเหนือจากทรรศนะของแต่ละศาสนาต่อเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์แล้ว ยังมี ความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ข้อมูลทางพันธุกรรมในการประกันภัย เช่น น.พ.นิพิฐ …….. จาก บริษัท……….. ได้ให้ความคิดเห็นไว้ว่า บริษัทประกันจะได้รับข้อเสนอในบริการด้านนี้อย่างมาก เพื่อจะได้รู้ข้อมูลของลูกค้าได้มากที่สุด ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีการเสนอตรวจ ดี เอ็น เอ ลูกค้า ให้กับบริษัทประกันต่าง ๆ ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก หากมาดูในบ้านเราในปัจจุบันที่การเมือง และการค้าเชื่อมโยงกันได้เป็นอย่างดี ถ้าภาคศาสนาและสังคมไม่ช่วยกันถ่วงดุลไว้ ก็จะควบคุม การเข้ามาของการใช้เทคโนโลยีนี้ไม่ได้ “ผมคิดว่าการให้บริการผู้ประกอบการประกันชีวิตในบ้านเราปัจจุบันนี้ก็ดีอยู่แล้ว เพราะ มีการพิจารณาความเสี่ยงทางสุขภาพจากอาชีพ และอื่นๆ ที่มีความเป็นธรรมพอสมควรกับทั้งสองฝ่าย” น.พ. นิพิฐกล่าว กฎหมายเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มองข้ามไปไม่ได้ เพราะกฎหมายไทยยังช้าอยู่มากเมื่อเทียบกับ ความรวดเร็วของความเปลี่ยนแปลงในทางนี้ ดังที่ ด.ร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักกฎหมายด้านเทคโนโลยี ชีวภาพทิ้งคำถามไว้มากมาย เช่น การทำลายชีวิตตัวอ่อนในการผสมเทียม ไม่ถือเป็นความผิดฐานฆ่าคน ถ้าจะให้ทำได้ ควรกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ในกฎหมายหรือไม่ อย่างไร รวมไปถึงเรื่องสิทธิในการรับรู้ข้อมูลทาง พันธุกรรม เมื่อรู้แล้วควรนำไปใช้อย่างไร ที่ควรใส่ใจและตระหนักเป็นอย่างมากก็คือ ความคิดเห็นของผู้รู้สองท่าน คือ ดร.ระวี ภาวิไล ผู้เชี่ยวชาญทั้งทางวิทยาศาสตร์-พุทธศาสนา และ พระมโน เมตตานันโท ที่ปรึกษาด้านจริยธรรม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ระวี กล่าวว่า มนุษย์มักใช้ความรู้โดยไม่รู้จริง เพราะเราไม่รู้อะไรเท่าไหร่ เรื่องเทคโนโลยี ชีวภาพก็เช่นกัน ถ้านำไปใช้ผิดแล้วอะไรจะเกิดขึ้น เราควรจะรู้ว่าอะไรที่ไม่รู้ จะได้นำสิ่งที่รู้ไปใช้ให้ถูก ซึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องมีความชัดเจนในเรื่องนี้ก็คือ คำจำกัดความของมนุษย์คืออะไร ด้านพระมโน มองว่า การเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของมนุษย์นั้นเป็นเรื่องใหญ่มาก จะเป็นการ ปฏิวัติเรื่องสายพันธุ์มนุษย์เลยทีเดียว ซึ่งจะเป็นอาวุธที่มีอำนาจมาก รัฐบาลไทยควรจะมีความเท่าทัน ต่อการใช้เทคโนโลยประเภทนี้ของทางตะวันตก ไม่เช่นนั้นประชาชนอาจตกเป็นเหยื่อของการทดลอง ที่แฝงมาในรูปแบบต่าง ๆ ได้ ทั้งหมดนี้เป็นความคิดและข้อเสนอแนะที่ถูกระดมออกมาจากหลาย ๆ ฝ่าย ที่ทำให้มองเห็น ภาพราง ๆ ของแนวทางที่จะต้องให้ความสำคัญควบคู่ไปกับวิทยาการทางด้านนี้ เทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์และจริยธรรมจึงจะสอดคล้องต้องกันได้ในที่สุด มองวิทยาศาสตร์ผ่านแว่นของศาสนา ดร.บรรจบ บรรณรุจิ จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์ประกอบการเริ่มมีชีวิตของมนุษย์จะมีความครบถ้วนก็ต่อเมื่อ ชายและหญิงมีเพศสัมพันธ์กัน และมีวิญญาณเข้ามาเกิดในท้องของฝ่ายหญิง จึงจะเรียกว่าการมีปฏิสนธิ “วิญญาณ”จึงถือเป็นสิ่งบ่งชี้สำคัญ ของชีวิตที่เกิดใหม่ ฉะนั้นเมื่อพูดถึงการโคลนนิ่งในมุมมองของพุทธจึงเห็นว่า ชีวิตที่เกิดขึ้นจากวิทยาการนี้ จะได้มาเพียงร่างกายเท่านั้น แต่จิตใจจะไม่ใช่ของเจ้าของร่างเดิม และถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดจริยธรรม ทำให้มีปัญหาตามมามากมาย “ในเรื่องการสร้างมนุษย์พันธุ์ใหม่ที่ผู้สร้างต้องการกำหนดคุณสมบัติเองนั้น ถือเป็นการจำกัด ชาติพันธุ์ที่อาจสร้างปัญหาตามมาได้ เช่น เมื่อได้ชีวิตมาแล้ว ต้องดูว่ามีวิญญาณของใครมาเกิด ถ้าเป็น นักฆ่าคงจะยุ่งเหมือนกัน” *** ที่มา : http://www.thainhf.org/html/article.php?sid=354