ภูฏาน : วัชรยานใต้ฟ้าป่าหิมพานต์

พุทธศาสนาฝ่าย "วัชรยาน" (Vajrayana) หรือ "ตันตระ" (Tantra) ในภูฏาน ได้รับอิทธิพลจากอินเดียสมัยที่ลัทธิตันตระกำลังเฟื่องฟู ในยุคแห่งความรุ่งเรืองนั้นลัทธิตันตระมีอิทธิพลต่อทั้งปรัชญาและศาสนาในอินเดียอย่างใหญ่หลวง จนทำให้เกิดศาสนาฮินดูแบบตันตระ ศาสนาเชนแบบตันตระ และพุทธศาสนาแบบตันตระขึ้น โดยที่ลัทธิตันตระได้ยกย่องและเน้นความสำคัญของเทพเจ้าที่เป็นเพศหญิง "เทพเจ้า" ทุกพระองค์ในคติความเชื่อแบบตันตระ (ซึ่งรวมทั้งพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย) จึงมี "ทาระ" (คู่ครอง) สวมกอดอยู่ ดังที่แสดงออกในศิลปะแบบตันตระในภูฏาน

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
ภาควิชามนุษยศาสตร์ 
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยมหิดล

ในระหว่างวันที่ 3-10 กันยายน พุทธศักราช 2548 กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ภายใต้การนำของท่านฐากุร พานิช รองปลัดกระทรวง ได้พาคณะผู้แทนจากประเทศไทย อันประกอบด้วยเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม สื่อมวลชน รวมทั้งตัวแทนนักศึกษาในฐานะยุวทูต จำนวน 28 คน ไปเยือนประเทศเนปาลและภูฏาน ภายใต้โครงการ "ทำความรู้จักกับประเทศสมาชิกใหม่ BIMSTEC" (Getting to Know the New BIMSTEC Members)

BIMSTEC(Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) เป็นกรอบความร่วมมืออันหลากหลายทางวิชาการและเศรษฐกิจระหว่าง 7 ประเทศในบริเวณอ่าวเบงกอล อันได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย พม่า เนปาล ศรีลังกา และไทย นับเป็นกรอบความร่วมมือเดียวที่เชื่อมโยงอนุภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าด้วยกัน นอกเหนือจากความร่วมมือทางด้านการค้า การลงทุน การเกษตร การประมง พลังงาน การท่องเที่ยว คมนาคม และเทคโนโลยีแล้ว ประเทศสมาชิกยังแสวงหาความร่วมมือในด้านการลดความยากจน การต่อต้านการก่อการร้าย การคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ และภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกด้วย

ระหว่างที่เยือนประเทศเนปาลในวันที่ 3-5 กันยายน 2548 นั้น คณะได้รับการต้อนรับที่อบอุ่นทั้งจากท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำเนปาล รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ของเนปาลอย่างดียิ่ง โดยได้เยี่ยมชมโบราณสถานต่างๆ ที่น่าสนใจ ทั้งในกรุงกาฐมาณฑุและเมืองภักทาพูร์ เช่น สถูปสวายัมภูนาถ สถูปพุทธนาถ ย่านธาเมล ย่านพาทาน และพาชูพาตินาถ เป็นต้น

อารยธรรมอินเดียเป็นอารยธรรมของการแสวงหาความพ้นทุกข์ โลกทัศน์ของอินเดียนั้นมองว่าชีวิตของมนุษย์มีความทุกข์(โดยเฉพาะอย่างยิ่งความทุกข์ทางจิตใจ) แต่ความพ้นทุกข์และหนทางที่จะเข้าถึงความพ้นทุกข์ก็มีอยู่ การประพฤติพรหมจรรย์(การครองตนเป็นโสด) และการสละโลกเพื่อบำเพ็ญเพียรทางสมาธิภาวนา โดยการใช้ชีวิตนักบวชหรือการหลีกเร้นตามป่าตามถ้ำ ถือเป็นหนทางที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ อินเดียจึงเป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรมการออกบวช และเป็นต้นแบบของสถาบันนักบวช ศาสนาทุกศาสนาที่เกิดขึ้นในอินเดียแม้ว่าจะมีปรัชญาและรายละเอียดที่แตกต่างกัน แต่ก็มีโลกทัศน์ดังกล่าวร่วมกัน

เมื่อวัฒนธรรมการออกบวชของอินเดียมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน และดำเนินมาถึงจุดหนึ่งประชาชนลดน้อยถอยลงเพราะพากันไม่ใส่ใจในทางโลก จึงเกิดปฏิกิริยาสะท้อนกลับ เกิด "วัฒนธรรมคชุรโห" (Kashuraho) อันเป็นวัฒนธรรมที่สุดโต่งในทางกามคุณขึ้นมา เกิดศิลปะและปฏิมากรรมอันลือเลื่องในทางส่งเสริมกามคุณ และเป็นที่มาของ "กามสูตร" (Kama Sutra) ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่เกี่ยวกับกามคุณอันโด่งดังของอินเดีย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อกว่า 1,000 ปีที่แล้ว

เมื่อเกิดแนวความคิดที่สุดโต่งทั้งสองนี้ในอินเดียแล้ว ต่อมาวัฒนธรรมสุดโต่งทั้งสองสายนี้ก็ค่อยๆ เข้ามาบรรจบกัน กลายเป็นลัทธิ "ตันตระ" (Tantricism) ในที่สุด ลัทธิตันตระได้เชื่อมโยงเรื่องราวของเทพเจ้าและกามคุณเข้าไว้ด้วยกันอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ โดยอธิบายว่าการที่เทพเจ้าทุกพระองค์ล้วนแล้วแต่มี "ทาระ"(Tara) หรือคู่ครองสวมกอดอยู่นั้น เป็นสัญลักษณ์ของการรวมพลังอันยิ่งใหญ่ของเพศชายและเพศหญิงเข้าด้วยกัน กลายเป็นพลังอันสมบูรณ์ของจักรวาล ศิลปกรรมในเนปาลได้สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดนี้อย่างเด่นชัด ลัทธิตันตระได้กลายเป็นตัวกลางที่เชื่อมโยงศาสนาฮินดูและพุทธศาสนาเข้าไว้ด้วยกันอย่างแนบแน่น ดังปรากฏในศาสนาและวัฒนธรรมของเนปาลปัจจุบัน

ระหว่างวันที่ 5-10 กันยายน 2548 คณะผู้แทนไทยได้เยือนประเทศภูฏานอย่างเป็นทางการ โดยได้รับการต้อนรับที่อบอุ่นจากท่านเอกอัครราชทูตไทย และกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำภูฏาน คณะได้เข้าพบทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและวัฒนธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม รวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของภูฏาน ได้เห็นถึงศรัทธาอันมั่นคงในพุทธศาสนา ระบบ "เศรษฐกิจแบบพอเพียง" ที่มีเป้าหมายการพัฒนาประเทศคือ "ความสุขประชาชาติ" (Gross National Happiness) อันรวมถึงคุณภาพชีวิตของประชาชน เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันโดดเด่น การปกครองด้วยสติปัญญา และการพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าเขาลำเนาไพรและลำธารน้ำใสสะอาด ที่ยังมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ในดินแดนบนเทือกเขาหิมาลัยแห่งนี้ อันเป็นดินแดนแห่งฟ้าใสและป่าหิมพานต์จากอดีตถึงปัจจุบัน

คณะผู้แทนไทยได้เยี่ยมชมสถานที่ รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีอันวิจิตรพิสดารตระการตาของชาวภูฐาน ทั้งที่เมืองธิมภู(Thimphu) อันเป็นเมืองหลวง เมืองวันดิโพแดรง(Wandi Phodrang) เมืองภูนาคา(Punakha) และเมืองพาโร(Paro) อันเป็นเมืองหน้าด่าน โดยแต่ละเมืองนั้นได้เยี่ยมชม "ซอง" (Dzong) ที่สำคัญซึ่งเป็นปราสาทและวัดในอาเขตเดียวกัน พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด รวมทั้งระบำหน้ากากทางศาสนาอันเลื่องชื่อในเทศกาลประจำปีของชาวภูฏาน นอกเหนือจากทิวทัศน์อันงดงามทั่วทั้งประเทศบนเทือกเขาหิมาลัย จนได้ชื่อว่า "สวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย"

พุทธศาสนาฝ่าย "วัชรยาน" (Vajrayana) หรือ "ตันตระ" (Tantra) ในภูฏาน ได้รับอิทธิพลจากอินเดียสมัยที่ลัทธิตันตระกำลังเฟื่องฟู ในยุคแห่งความรุ่งเรืองนั้นลัทธิตันตระมีอิทธิพลต่อทั้งปรัชญาและศาสนาในอินเดียอย่างใหญ่หลวง จนทำให้เกิดศาสนาฮินดูแบบตันตระ ศาสนาเชนแบบตันตระ และพุทธศาสนาแบบตันตระขึ้น โดยที่ลัทธิตันตระได้ยกย่องและเน้นความสำคัญของเทพเจ้าที่เป็นเพศหญิง "เทพเจ้า" ทุกพระองค์ในคติความเชื่อแบบตันตระ (ซึ่งรวมทั้งพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย) จึงมี "ทาระ" (คู่ครอง) สวมกอดอยู่ ดังที่แสดงออกในศิลปะแบบตันตระในภูฏาน

ปฏิมากรรมหรือจิตรกรรมแบบตันตระ ซึ่งมีเทพเจ้าเพศหญิงและเพศชายสวมกอดกันอยู่นั้น เรียกว่า "ยับ-ยุม" (yab-yum) มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์มากกว่าอย่างอื่น พุทธศาสนาฝ่ายตันตระอธิบายว่า การตรัสรู้เป็นผลรวมของปัญญาและกรุณา โดยที่เพศหญิงเป็นสัญลักษณ์ของ "ปัญญา" ขณะที่เพศชายเป็นสัญลักษณ์ของ "กรุณา" (ซึ่งตรงข้ามกับสามัญสำนึกของคนในปัจจุบัน)ตามทรรศนะแบบตันตระ ปัญญาเปรียบเหมือนดวงตา กรุณาเปรียบเหมือนแขนขา หากขาดดวงตาแล้วแขนขาก็กระทำการอย่างมืดบอด หากขาดแขนขาแล้วดวงตาก็ไม่อาจจะทำอะไรได้ ดวงตาและแขนขาจึงต้องทำงานร่วมกันอย่างแยกไม่ได้ ปัญญาและกรุณาต้องรวมเป็นหนึ่งเดียวจึงจะเป็นการตรัสรู้ที่สมบูรณ์

พุทธศาสนาฝ่ายตันตระ ซึ่งเป็นผลรวมของพุทธศาสนาและลัทธิตันตระนั้น มีทรรศนะในเชิงบวกต่อเรื่องเพศ ตามคำสอนของพุทธศาสนาฝ่ายตันตระ คฤหัสถ์ผู้ครองเรือนซึ่งรักษาศีลห้า สามารถมีเพศสัมพันธ์กับคู่ครองได้โดยมิได้ละเมิดคำสอนของพระพุทธเจ้าแต่อย่างใด สำหรับฆราวาสแล้วศีลข้อที่สามห้ามเพียงมิให้มีเพศสัมพันธ์นอกการสมรสเท่านั้น พุทธศาสนาฝ่ายตันตระถือว่าเรื่องเพศเป็น "วิถีทาง" หรือ "อุบาย" อย่างหนึ่งในการเดินทางไปสู่การตรัสรู้ แทนที่จะไม่เอ่ยถึงและปล่อยให้ฆราวาสเกี่ยวข้องกับกามคุณอย่างไร้ทิศทาง พุทธศาสนาฝ่ายตันตระกลับสอนให้สาวกเข้าหากามคุณด้วย "สติ" เพื่อที่จะเรียนรู้ธรรมชาติที่แท้จริงของมัน และเพื่อว่าจะเอาชนะมันได้ในที่สุด พุทธศาสนาฝ่ายตันตระอุปมาว่าเพื่อที่จะเอาน้ำออกจากหู เราต้องกรอกน้ำเข้าไปในหูอีก หนามยอกก็ต้องเอาหนามบ่ง ดังนั้นในการเอาชนะกามคุณ เราต้องรู้จักธรรมชาติที่แท้จริงของมัน ถ้าเราไม่รู้จักธรรมชาติที่แท้จริงของมันแล้ว ก็ย่อมไม่อาจอยู่เหนือมันได้

สำหรับบรรพชิตผู้ครองเพศพรหมจรรย์จะต้องใช้วิธีการอีกอย่างหนึ่ง เนื่องจากกิเลสทั้งหลายรวมทั้งกามคุณด้วยนั้นเกิดขึ้นจาก "ความคิด" พุทธศาสนาจึงสอนให้สานุศิษย์เห็นธรรมชาติที่แท้จริงของความคิด เพื่อที่จะ "เห็น" ความคิดและตัดกระแสของความคิดได้นั้น "ความรู้สึกตัว" (สติ) เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง ดังนั้น "การเจริญสติ" จึงเป็นหัวใจของการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา อย่างไรก็ตาม ในพุทธศาสนาฝ่ายตันตระ การเพ่งภาพสัญลักษณ์ต่างๆ บางครั้งก็ถูกนำมาใช้ในระหว่างการทำสมาธิภาวนา เพื่อการอยู่เหนือกามคุณทั้งปวง ในอดีตนั้นภาพตันตระเป็นสื่อการสอนเฉพาะตัวระหว่างอาจารย์กับศิษย์ แต่ปัจจุบันภาพเหล่านี้กลับถูกทำให้กลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมไป

พุทธศาสนาฝ่ายวัชรยานนั้นรุ่งเรืองอยู่ในภูฏาน ทิเบต และมองโกเลีย ทุกวันนี้ภูฏานได้กลายเป็นปราการหรือที่มั่นสุดท้ายของพุทธศาสนานิกายที่วิจิตรพิสดารและเร้นลับนี้ในโลกปัจจุบัน
--- 
     ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘ ปีที่ ๒๘ ฉบับที่ ๑๐๐๕๓. คอลัมน์หน้าต่างครอบครัว, หน้า ๖.
     Photo : https://pixabay.com/photos/tigers-nest-monastery-bhutan-2691190/

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo