นับตั้งแต่ยังเป็นพระบวชใหม่ได้ไม่ถึงหนึ่งพรรษา หลวงพ่อได้ตั้งอธิษฐานจิตต่อหน้าพระบรมธาตุในจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่จะอุทิศชีวิตทั้งชีวิตเพื่อพระศาสนา เวลาผ่านมากว่า 80 ปี ปณิธานที่ตั้งไว้ก็ยังไม่มีสิ่งใดเปลี่ยนแปลง
เช้าวันอาทิตย์ ที่ลานไผ่ภายในวัดชลประทานรังสฤษฏ์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ต้นไม้ใหญ่ช่วยเป็นร่มเงา บดบังแสงแดดยามเช้าจากดวงอาทิตย์
พุทธศาสนิกชนผู้มุ่งแสวงหาความสว่างทางปัญญา และต้องการค้นหาความจริงแห่งธรรม ทยอยเดินทางกันมาตั้งแต่เช้า พร้อมกับข้าวขันแกงโถ เพื่อมาร่วมทำบุญตักบาตร อันเป็นเจตนารมณ์หลักของท่านเจ้าอาวาสวัด ที่ปรารถนาจะเห็นวัดและพระสงฆ์เป็นผู้นำความสว่างทางปัญญามาสู่ผู้คน
"พระพรหมมังคลาจารย์" หรือที่คนทั้งประเทศมักเรียกกันติดปากว่า หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ"
"ท่านสอนให้เราไม่ยึดติดกับพระรูปใดรูปหนึ่ง"
"ตอนลูกชายมาบวชที่นี่ ถามว่าเอาเศษผมไปไว้ที่ไหน ท่านบอกว่าเอาไปทิ้งถังขยะ"
"เราประทับใจมากที่ท่านสอนให้เราไม่ยึดติด"
"ท่านสอนง่ายตรงไปตรงมา ไม่ใช้คำบาลีมากมาย"
คือเหตุผลที่บรรดาพุทธศาสนิกชน ต่างเดินทางมาที่วัดเพื่อมาฟังปาฐกถาธรรมจากหลวงพ่อ
ถ้อยคำสอนที่ว่า "งานคือชีวิต ชีวิตคืองาน บันดาลสุข ทำงานให้สนุก เป็นสุขเมื่อทำงาน" เป็นคำสอนที่ฟังดูง่าย แต่ทว่าลึกซึ้งกินใจแก่ชาวพุทธมาเป็นระยะเวลาช้านาน
นับตั้งแต่ยังเป็นพระบวชใหม่ได้ไม่ถึงหนึ่งพรรษา หลวงพ่อได้ตั้งอธิษฐานจิตต่อหน้าพระบรมธาตุในจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่จะอุทิศชีวิตทั้งชีวิตเพื่อพระศาสนา เวลาผ่านมากว่า 80 ปี ปณิธานที่ตั้งไว้ก็ยังไม่มีสิ่งใดเปลี่ยนแปลง
"เราต้องเทศน์กันจริง ๆ เสียที ที่เทศน์กันอยู่นี้มันเทศน์เล่น ๆ เทศน์เอาหน้ากัณฑ์กัน ไม่ค่อยได้สาระ ไม่ได้เทศน์แก้คน ไม่ได้ปรับปรุงจิตใจคนให้มันดีขึ้น ต่อไปนี้ต้องเทศน์จริงๆ พุทธศาสนาในเมืองไทยยังไม่เจริญ คนไทยเป็นชาวพุทธกันเพียงแต่ชื่อ หาได้ดำเนินชีวิตตามแบบชาวพุทธที่แท้ไม่ เพราะเขาขาดการศึกษาอบรมในทางที่ถูกต้อง ต้องช่วยให้เขาพบแสงสว่างบ้างเถิด"
ตลอดหลายสิบปีของการทำงานในฐานะพระนักเทศน์ หลวงพ่อเดินทางไปแสดงธรรมตั้งแต่เหนือจรดใต้ ไม่ว่างานเล็กงานใหญ่ ไม่ว่าจะมีคนฟังหลักพัน หลักสิบ หรือเพียงไม่กี่คน หลวงพ่อก็ไม่เคยเกี่ยงงอน แต่กลับคิดอยู่เสมอว่า การเทศน์ทุกครั้งคือโอกาสที่จะได้สั่งสอนให้คนตื่นขึ้นจากความงมงาย
ในสมุดนัดหมายรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อ จึงแทบไม่มีหน้าใดว่างเว้นจากการทำงาน และบางวันอาจจะต้องเดินทางไปเทศน์หลายแห่งเสียด้วยซ้ำ
และแม้ว่าวันนี้วัยและสังขารของท่านจะล่วงเข้าสู่ปีที่ 96 แล้วก็ตาม แต่ท่านยังคงทำงานหนักเพื่อพระพุทธศาสนาต่อเนื่อง โดยไม่มีใครแม้แต่ตัวท่านเองจะกำหนดรู้ได้ว่าวันใดคือวันเกษียณของท่าน
"ทุกวันนี้เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ แต่เมื่อทำงานเหนื่อยก็หยุดพัก หายเหนื่อยก็ทำต่อ ไม่ห่วง เพราะห่วงแล้วจะทุกข์ ได้ทำงานแล้วมีความสุข นอนอยู่เฉยๆ ใช้ไม่ได้ เปลืองข้าวสุกเปล่าๆ
"หลวงพ่อในวัย 96 ปี ยังยืนยันถึงความมุ่งมั่นไม่เปลี่ยนแปลงแม้ว่าจะมีโรคภัยต่างๆ เข้ามารุมเร้า
นอกจากการแสดงธรรมเทศนามาทั้งชีวิต หลวงพ่อได้สร้างสิ่งปลูกสร้างที่เป็นสาธารณประโยชน์ไว้หลายชิ้น
ทั้งโรงเรียน วัด โรงพยาบาล งานทุกชิ้นที่ทำต่างก็มุ่งเน้นที่ประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าจะสร้างประโยชน์ให้กับส่วนตน หลวงพ่อจึงไม่สร้างเครื่องรางของขลัง หรือถาวรวัตถุที่มีแต่ความยิ่งใหญ่แต่ไม่เป็นประโยชน์
และในบั้นปลายสุดท้ายของชีวิตการทำงาน กับความตั้งใจสุดท้ายคือ *อุโบสถกลางน้ำ*
บริเวณมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา อุโบสถทรงไทยประยุกต์สองชั้นกลางสระน้ำใหญ่ พื้นที่ชั้นบนรองรับพระสงฆ์ได้ 4,000 รูป เพื่อใช้เป็นที่ประกอบสังฆกรรม สำหรับพระสงฆ์จากทั่วโลกที่เข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาที่มหาวิทยาลัย
อุโบสถกลางน้ำแห่งนี้ เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2548 โดยต้องใช้งบประมาณถึง 136 ล้านบาท มีกำหนดแล้วเสร็จในปลายปี 2550 เงินบริจาคทุกบาททุกสตางค์เป็นเงินที่หลวงพ่อได้รับจากการทำบุญของผู้มีจิตศรัทธาจากทุกหนแห่งที่หลวงพ่อไปแสดงธรรม
"ตอนนี้เงินจากการทำบุญทั้งหมด และเวลาการทำงานทั้งหมดของหลวงพ่อ ท่านทุ่มให้กับการสร้างอุโบสถกลางน้ำ ท่านบอกว่า นี่จะเป็นงานใหญ่ชิ้นสุดท้ายของท่าน" หลวงพี่ปั่นแก้ว พระเลขาบอกเล่าถึงความตั้งใจสุดท้ายของหลวงพ่อ
ตอนนี้งานก่อสร้างดำเนินมาได้ถึงครึ่งทาง งานโครงสร้างเสร็จไปแล้วประมาณครึ่งหนึ่ง แต่ว่าเงินบริจาคตอนนี้ก็ยังขาดอยู่อีกบางส่วน
แต่สำหรับหลวงพ่อท่านยังเชื่อว่างานชิ้นนี้จะยังเสร็จตามเป้าหมายในอีกสองปีข้างหน้านี้ และท่านยังหวังว่าจะได้มีโอกาสไปในงานพิธีเปิดและร่วมแสดงธรรมในโบสถ์นั้น
อยากรู้เรื่องชีวิตและงานของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุอย่างละเอียดติดตามได้ใน "คนค้นฅน" วันอังคารที่ 16 มกราคม เวลา 4 ทุ่ม ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี
สำหรับงานใหญ่ชิ้นสุดท้ายในบั้นปลายชีวิตของหลวงพ่อ "อุโบสถกลางน้ำ" ยังจะเดินหน้าสร้างต่อไป
"อุโบสถไม่เสร็จ ไม่ตาย" ยืนยันถึงปณิธานตลอด 80 ปีของการทำงานที่เดิมพันด้วยชีวิต ด้วยเงื่อนไขของเวลาและสุขภาพ !!
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๐ ปีที่ ๓๐ ฉบับที่ ๑๐๕๓๘. หน้า ๓๔.