ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีบทบัญญัติที่แยกการเมืองกับศาสนาออกจากกันอย่างชัดเจนเช่นนี้แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ศาสนา กับพระมหากษัตริย์ ก็จะยังคงอยู่ตามราชประเพณีโบราณ อันสอดคล้องกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสังคมไทย ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะมีลักษณะที่ก้าวหน้า สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญของนานาอารยประเทศอีกด้วย
ขณะนี้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) กำลังอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อนำความคิดเห็นเหล่านี้ไปประกอบการร่างรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรภายในเดือนมีนาคม พุทธศักราช 2550 นี้ เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนกรกฎาคม หรือภายใน 180 วัน นับแต่การแต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ผมขอร่วมแสดงความคิดเห็นในส่วนที่เกี่ยวกับ "บทบัญญัติว่าด้วยศาสนาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่" แด่ท่านสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและประชาชนไทยทุกท่าน
ในประวัติศาสตร์อันยาวนานนั้น ศาสนาได้แสดงบทบาทที่เป็นคุณอนันต์ต่อมนุษย์ ขณะเดียวกันก็เป็นโทษมหันต์ต่อมนุษยชาติเช่นเดียวกัน ถ้าเกิดความขัดแย้งในเรื่องเกี่ยวกับศาสนา เช่น เกิดสงครามระหว่างศาสนา (ดังเช่น สงครามครูเสด) หรือแม้กระทั่งสงครามระหว่างต่างนิกายในศาสนาเดียวกัน (ดังเช่น สงครามอิรัก-อิหร่าน และสงครามกลางเมืองในอิรักปัจจุบัน) หรือถ้าเกิดความเห็นหรือการตีความที่ผิดในหลักการของศาสนาก็อาจนำไปสู่ความรุนแรง เช่น ความพยายามของกลุ่มก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย หรืออาจเกิดการฆาตกรรมหมู่ เช่น ลัทธิโอมชินริเคียวในญี่ปุ่น หรือถ้าเกิดความเห็นหรือการตีความที่แตกต่างกันแม้ในศาสนาเดียวกัน ก็อาจนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชน เช่น กรณีวัดพระธรรมกาย หรือแม้กระทั่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ระหว่างเชื้อชาติที่นับถือศาสนาต่างกัน เช่น กรณีที่เกิดขึ้นในโคโซโว เป็นต้น
ตะวันตกเป็นดินแดนที่เรียนรู้เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างศาสนา หรือระหว่างนิกายในศาสนามายาวนาน จากประวัติศาสตร์อันขมขื่นของสงครามศาสนา การครอบงำของศาสนจักรต่อการแสวงหาความรู้ใหม่ของมนุษย์ หรือความขัดแย้งระหว่างนิกายในศาสนา ทำให้ในที่สุดแล้วประเทศตะวันตกได้แยกรัฐและศาสนาออกจากกัน โดยรัฐจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในเรื่องของศาสนา (secular state) ถือว่าศาสนาเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล รัฐจะให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาแก่ประชาชนทุกคน ตราบเท่าที่การนับถือศาสนานั้นไม่ล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น และความสงบสุขของสังคมโดยรวม ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ปัจจุบันประเทศที่รุ่งเรืองในทางเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรปตะวันตก และญี่ปุ่น เป็นต้น มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่แยกรัฐและศาสนาออกจากกันอย่างชัดเจน
พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิมาเป็นเวลากว่า 2,000 ปี พุทธศาสนาจึงฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยตั้งแต่ครั้งอาณาจักรสุโขทัยเป็นต้นมา ความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาที่สืบเนื่องมายาวนานเกิดจากความสัมพันธ์ที่สมดุลระหว่างประชาชน พระสงฆ์ และพระเจ้าแผ่นดิน โดยพระเจ้าแผ่นดินทรงทำนุบำรุงพุทธศาสนา และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวงการพุทธศาสนามาโดยตลอด ส่วนพระสงฆ์มีหน้าที่ศึกษาและปฏิบัติธรรม สั่งสอนประชาชนในด้านศีลธรรมและสัจธรรม และเป็นที่พึ่งทางจิตใจแก่ประชาชน ส่วนประชาชนก็ควบคุมพระสงฆ์ในเชิงชีวิตความเป็นอยู่ทางร่างกาย (อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค) รวมทั้งการก่อสร้างศาสนสถานและศาสนวัตถุ และเป็นผู้กลั่นกรองพระสงฆ์ที่จะมาพำนักอยู่ในวัดหรือสำนักสงฆ์ในชุมชนของตน นับเป็น "ความสัมพันธ์ 3 เส้า" ที่ลงตัว ทำให้เกิดระบบตรวจสอบและการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน
การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในปี พ.ศ.2475 นั้น ทำให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญและทรงเป็นผู้นำแห่งรัฐในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น อำนาจทางการเมืองตกไปอยู่ที่นักการเมืองซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นรัฐบาล ประจวบกับเมื่อมีการประกาศใช้ "พระราชบัญญัติคณะสงฆ์" ทั้ง 3 ฉบับ ทำให้คณะสงฆ์ทั้งคณะตกอยู่ภายใต้ระบบราชการไทย ราชการในคณะสงฆ์เป็นผู้ให้คุณให้โทษแก่พระสงฆ์ มิใช่ประชาชนดังเช่นในอดีต ระบบการควบคุมซึ่งกันและกันระหว่างประชาชนกับพระสงฆ์ กล่าวคือ ประชาชนควบคุมพระสงฆ์ในเชิงวัตถุ และพระสงฆ์ควบคุมประชาชนในเชิงจิตใจได้ค่อยๆ หมดไป
นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้นมาจากพื้นฐานที่หลากหลาย และผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาบริหารประเทศ ความรู้ความเข้าใจและความใส่ใจในพุทธศาสนาจึงมีไม่มากและไม่ลึกซึ้งเท่าสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อนักการเมืองซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจรัฐเข้ามาทำหน้าที่ทำนุบำรุงพุทธศาสนา และแก้ไขปัญหาในวงการพุทธศาสนาแทนองค์พระมหากษัตริย์ในอดีต ความไม่ลงตัวในเชิงโครงสร้างจึงได้เกิดขึ้น ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ของพุทธศาสนาได้อย่างถูกต้องและทันกาล เพราะนักการเมืองเป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง ย่อมตัดสินใจและแก้ปัญหาไปตามแรงกดดันทางการเมือง นอกจากนี้ นักการเมืองไทยยังมิได้เป็นพุทธศาสนิกชนเพียงอย่างเดียว แต่มีศาสนิกจากศาสนาอื่นเข้ามาร่วมด้วย ทำให้ภารกิจในการทำนุบำรุงพุทธศาสนา (รวมทั้งศาสนาอื่น) และการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของพุทธศาสนา (รวมทั้งศาสนาอื่น) เกิดความสับสนยิ่งขึ้น
ทางออกของเรื่องนี้น่าจะได้แก่การกลับไปหา "ความสัมพันธ์ 3 เส้า" ที่ลงตัวดังเช่นครั้งในอดีต โดยการกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แยก "การเมือง" กับ "ศาสนา" ออกจากกันให้ชัดเจน และสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของรัฐและเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ควรจะเป็นผู้ทำนุบำรุงพุทธศาสนา แต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะต่างๆ และแก้ไขปัญหาของพุทธศาสนาต่อไป (โดยปัจจุบันครอบคลุมถึงศาสนาอื่นด้วย) ดังนั้น บทบัญญัติที่ว่าด้วยเรื่องศาสนาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงควรจะคงมาตราที่ว่า "พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก" ไว้เพียงมาตราเดียว นอกเหนือจากการให้หลักประกันในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาแก่ประชาชน และการบัญญัติให้แยกรัฐ (ทางการเมือง) ออกจากศาสนาให้ชัดเจน
เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แยกการเมืองกับศาสนาออกจากกันแล้ว ศาสนาก็จะเป็นเรื่องของภาคประชาชนโดยสมบูรณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นหลักชัยของศาสนิกชนทุกหมู่เหล่าและทุกศาสนา รัฐทางการเมือง (หรืออำนาจทางการเมือง) จะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับศาสนาไม่ได้อีกต่อไป ศาสนาจะกลับคืนไปสู่ประชาชนและชุมชน ระบบราชการในคณะสงฆ์ก็จะสิ้นสุดลง "พระราชบัญญัติคณะสงฆ์" "พระราชบัญญัติการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา" ในพุทธศาสนา และ "พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรอิสลาม" "พระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจญ์" "พระราชบัญญัติธนาคารอิสลาม" ในศาสนาอิสลาม ก็ควรจะถูกยกเลิกพร้อมกันไป รวมทั้งหน่วยงานราชการ เช่น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และกรมการศาสนา เป็นต้น
ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีบทบัญญัติที่แยกการเมืองกับศาสนาออกจากกันอย่างชัดเจนเช่นนี้แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ศาสนา กับพระมหากษัตริย์ ก็จะยังคงอยู่ตามราชประเพณีโบราณ อันสอดคล้องกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสังคมไทย ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะมีลักษณะที่ก้าวหน้า สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญของนานาอารยประเทศอีกด้วย
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10564. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6.