พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธทฤษฎี “จิตอมตะ” ของพวกพราหมณ์ โดยชี้ให้เห็นว่าทฤษฎีดังกล่าวไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในธรรมชาติ และเสนอทฤษฎี “อนัตตา” ขึ้นมาแทน
“จิตนิยม” (Idealism) เป็นแนวคิดทางปรัชญาที่มีมาแต่โบราณ เชื่อกันว่าเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยที่มนุษย์ค้นพบไฟ สามารถขับไล่สัตว์ใหญ่ให้ออกจากถ้ำ และยึดเอาถ้ำเป็นที่อยู่อาศัยโดยก่อไฟไว้ที่ปากถ้ำ ทำให้มนุษย์รู้สึกปลอดภัยและนอนหลับได้สนิท เมื่อนอนหลับสนิทมนุษย์ก็เห็นความฝันชัดเจน จึงเข้าใจเอาเองว่า “จิต” หรือ “วิญญาณ” ของตนออกไปท่องเที่ยวขณะที่ตนเองนอนหลับ
แนวคิดเรื่อง “จิตนิยม” ได้รับการพัฒนาต่อมาโดยนักปรัชญาทั้งในกรีซและอินเดีย และต่อมาได้มีอิทธิพลต่อศาสนาทั้งในตะวันตกและตะวันออก “จิตนิยม” เริ่มต้นจากแนวความคิดที่ว่า “สิ่งที่เป็นจริงจะต้องแน่นอนตายตัว เที่ยงแท้ นิรันดร ตลอดกาล สิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอนเป็นสิ่งที่ไม่จริง” เมื่อเป็นเช่นนี้โลกที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้จึงเป็นโลกที่ไม่จริงแท้ เพราะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
โลกที่จริงแท้จะต้องเป็น “โลกแห่งนามธรรม” เท่านั้น เพราะ “นามธรรม” อยู่เหนือกฎเกณฑ์ทั้งปวงของวิชาฟิสิกส์ ทันทีที่เป็นรูปธรรมทุกสิ่งจะต้องตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของฟิสิกส์ทั้งสิ้น ซึ่งเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
“โลกแห่งนามธรรม” นี้ เพลโต (Plato) นักปรัชญากรีกเรียกว่า “โลกแห่งแบบ (Form)” ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูเรียกว่า “พรหมัน” หรือ “ปารมาตมัน” ส่วนศาสนาที่เชื่อเรื่องพระเจ้าเรียกว่า “อาณาจักรของพระเจ้า”
ตามทรรศนะของ “จิตนิยม” ชีวิตมนุษย์แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือ ร่างกายและจิตใจ ร่างกายเป็นสมาชิกของโลกแห่งสสารวัตถุ ส่วนจิตใจเป็นสมาชิกของโลกแห่งนามธรรม
จิตใจทำหน้าที่ควบคุมบังคับบัญชาร่างกายให้แสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ไปตามที่จิตใจต้องการ ดังคำกล่าวที่ว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” เมื่อร่างกายตายลงจิตหาได้ตายตามไม่ จิตซึ่งเป็นตัวตนที่แท้จริงของมนุษย์จะเป็นอิสระจากร่างกาย และออกจากร่างกายซึ่งเสื่อมสลายไป
ปัญหาต่อมาก็คือว่าเมื่อออกจากร่างกายแล้วจิตจะไปที่ไหน “จิตนิยมตะวันตก”เช่น ศาสนาที่เชื่อพระเจ้าองค์เดียว (Monotheism) ทั้งหลาย อธิบายว่าจิตจะตรงดิ่งไปยังที่ที่พระเจ้ากำหนดไว้ และรออยู่ที่นั้นจนกว่าจะถึง “วันสิ้นโลก” แล้วพระเจ้าจะทรงลงมาตัดสิน ใครทำดีก็ขึ้นสวรรค์ ใครทำชั่วก็ลงนรก
ในทางดาราศาสตร์แล้ว ดวงอาทิตย์จะมีเชื้อเพลิงเผาไหม้ตัวเองไปอีกประมาณ ๕,๐๐๐ ล้านปีก็จะดับ เมื่อถึงเวลานั้นโลกก็จะถึงกาลอวสาน ถ้าหาก “วันสิ้นโลก” หมายถึงวันดังกล่าวแล้ว จิตของคนตายจะต้องรอแกร่วอยู่นานโขทีเดียวกว่าจะได้รับการพิพากษา
สำหรับ “จิตนิยมตะวันออก” เช่น ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู อธิบายว่า จิตจะล่องลอยไปหาร่างกายใหม่ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลางคืนที่มีการปฏิสนธิ จิตจะวิ่งตรงเข้าสวมร่างกายใหม่นั้นทันที) พวกพราหมณ์เปรียบร่างกายเหมือนกับเสื้อผ้า เมื่อเราใส่จนเก่าขาดแล้วก็ทิ้งไป และหาเสื้อผ้าใหม่มาสวมใส่แทน แนวคิดเช่นนี้เรียกว่าทฤษฎี “จิตอมตะ” (อาตมัน) และเป็นที่มาของทฤษฎี “การกลับชาติมาเกิดใหม่” (rebirth) โดยต้นตอของทฤษฎีเกิดที่อินเดียก่อน แล้วต่อมาก็แพร่หลายไปยังดินแดนที่ได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมอินเดีย เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย เป็นต้น
เมื่อพุทธศาสนาเกิดขึ้นในอินเดีย พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธทฤษฎี “จิตอมตะ” ของพวกพราหมณ์ โดยชี้ให้เห็นว่าทฤษฎีดังกล่าวไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในธรรมชาติ และเสนอทฤษฎี “อนัตตา” ขึ้นมาแทน โดยทรงอธิบายว่า ร่างกายไม่สามารถตั้งอยู่ได้โดยปราศจากจิตใจ และจิตใจก็ไม่สามารถตั้งอยู่ได้โดยปราศจากร่างกาย ทั้งร่างกายและจิตใจนั้นสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก
พุทธศาสนายอมรับว่า จิตนั้นมีอยู่ แต่มีอยู่อย่างไม่เป็นตัวไม่เป็นตน เป็น “อนัตตา” (ความไม่มีตัวตนที่แท้จริง) ดังนั้นพุทธศาสนาจึงมิใช่ “จิตนิยม” ในความหมายที่กล่าวมาทั้งหมด
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๙๓๐๕. คอลัมน์หน้าต่างครอบครัว, หน้า ๖.
Photo : https://pixabay.com/photos/buddha-statue-temple-buddhism-5082641/