พุทธศาสนาในระบอบสังคมนิยมลาวได้รับการตีความใหม่ โดยผสมผสานแนวคิดเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อเอกราชอธิปไตย และหลักการของสังคมนิยมเข้าไว้ด้วย นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 เป็นต้นมา ประเพณีและพิธีกรรมในพุทธศาสนาถูกประยุกต์ใช้เป็นยุทธวิธี ในการจัดระเบียบทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เช่น ในการประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา มีการอธิบายและแทรกแนวคิดลัทธิมาร์กซ์-เลนิน (Marxism-Leninism) เข้าไปด้วย เป็นต้น นับเป็นการใช้พุทธศาสนาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ลาวอย่างได้ผล ทำให้พุทธศาสนากับลัทธิสังคมนิยมอยู่เคียงคู่กันได้เป็นอย่างดีในสังคมนิยมแบบลาว
พุทธศาสนาเถรวาทในประเทศลาวมีความเก่าแก่ไม่น้อยไปกว่าของไทย แต่พุทธศาสนาของลาวมีความโดดเด่นและน่าสนใจในแง่ที่ว่าสามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งพุทธศาสนาแสดงบทบาทอย่างสำคัญ ในการต่อสู้กับการครอบครองของจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง และจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสในยุคอาณานิคม และยังสามารถปรับตัวให้เข้ากับระบอบสังคมนิยมในลาวยุคใหม่ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
อาณาจักรลาวก่อกำเนิดขึ้นประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 13 โดยในปี พ.ศ.1859 เจ้าชายฟ้างุ้มประสูติและทรงเติบโตขึ้นในพระราชวังของอาณาจักรนครวัตอันยิ่งใหญ่ พระองค์อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงแห่งอาณาจักรขอมและกลายเป็นชาวพุทธเถรวาทผู้เคร่งครัด ในปี พ.ศ.1896 พระเจ้าฟ้างุ้มทรงก่อตั้งอาณาจักรล้านช้างขึ้นโดยมีหลวงพระบางเป็นเมืองหลวง แต่ก็ยังเป็นรัฐบรรณาการของอาณาจักรขอม ต่อมาเมื่อขอมเสื่อมลง ล้านช้างจึงกลายเป็นอาณาจักรอิสระ
ล้านช้างซึ่งเป็นราชอาณาจักรในพุทธศาสนา ได้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนาที่สำคัญ พุทธศาสนาในล้านช้างมีเอกลักษณ์ของลาวโดยเฉพาะ โดยผสมผสานเข้ากับลัทธิ "วิญญาณนิยม" ของท้องถิ่น และแนวคิดเรื่องการแบ่งชนชั้นทางสังคมจาก "จักรวาลวิทยา" ของอินเดีย พระเจ้าแผ่นดินและขุนนางสมควรแก่การเคารพ การเสียภาษีให้ และการรับใช้จากพสกนิกร เนื่องจาก "บุญ" ที่สั่งสมมาจากชาติปางก่อน และจากการอุปถัมภ์ค้ำจุนพุทธศาสนา นอกจากนี้ความเชื่อในเรื่องนรกสวรรค์และภพภูมิต่างๆ ก็ได้รับอิทธิพลจากหนังสือ "ไตรภูมิพระร่วง" ของสุโขทัย
ต่อมาอาณาจักรล้านช้างเสื่อมลง เนื่องจากการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันภายใน การสงครามทั้งกับไทยและเวียดนาม และการยึดครองของพม่า หลังจากที่ขับไล่พม่าออกไปได้สำเร็จ พระเจ้าโสลิกนวงศ์ (King Souligna Vongsa) ทรงขึ้นครองราชย์ (พ.ศ.2180) และทรงย้ายเมืองหลวงไปยังเวียงจันทร์ โดยทรงครองราชย์อยู่นานถึง 57 ปี พระองค์ทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับรัฐเพื่อนบ้าน และทรงมีชื่อเสียงในด้านการปกครองที่เที่ยงธรรม ชาวยุโรปกลุ่มแรกที่เดินทางมาถึงเวียงจันทน์ ได้รายงานถึงความรุ่งเรืองของนครและสิ่งก่อสร้างทางศาสนาอันวิจิตร
ความเที่ยงธรรมอันน่าสรรเสริญของพระเจ้าโสลิกนวงศ์ ได้ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นแก่อาณาจักรล้านช้าง เมื่อพระโอรสเพียงองค์เดียวของพระองค์ ต้องโทษประหารชีวิตในความผิดฐานล่อลวงภรรยาของขุนนางระดับสูง เมื่อพระเจ้าโสลิกนวงศ์สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.2237 จึงขาดรัชทายาทสืบสันตติวงศ์ ทำให้เกิดศึกแย่งชิงราชบัลลังก์ขึ้น โดยมีเวียดนามและไทยหนุนหลังคนละฝ่าย อาณาจักรล้านช้างจึงแตกออกเป็นสองเสี่ยง
ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 เวียงจันทน์ หลวงพระบาง และจัมปาสักได้กลายเป็นศัตรูต่อกัน โดยเวียงจันทน์ได้รับการสนับสนุนจากเวียดนาม หลวงพระบางได้รับการสนับสนุนจากพม่า ส่วนจัมปาสักได้รับการสนับสนุนจากไทย แทนที่จะร่วมมือกันขับไล่อิทธิพลของต่างชาติ รัฐลาวเหล่านี้กลับสนับสนุนต่างชาติให้เข้ามาปราบคู่แข่งของตนเอง ในที่สุดพม่าสามารถขับไล่เวียดนามออกจากเวียงจันทน์ได้ แต่สุดท้ายพม่าก็สูญเสียอำนาจทั้งหมดในลาวให้แก่ไทย ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ผู้ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตจากเวียงจันทน์ไปสู่ราชอาณาจักรไทยในปี พ.ศ.2321
พุทธศาสนากับสังคมการเมืองลาว
พุทธศาสนาเป็นรากฐานทางสังคมและวัฒนธรรมของลาว โดยพระสงฆ์เป็นผู้นำและวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน วัดและพระสงฆ์จึงเปรียบเสมือน "ธรรมนูญวัฒนธรรม" ที่ไม่ได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร แต่กำหนดวิถีชีวิตของชาวลาวยิ่งกว่ากฎหมายบ้านเมืองเสียอีก พุทธศาสนายังเปรียบเสมือน "ธรรมนูญชีวิต" ของพลเรือน ชาวลาวโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เมืองหลวงพระบาง มีชีวิตผูกติดอยู่กับพุทธศาสนาอย่างแนบแน่นตั้งแต่เกิดจนตาย ประเพณีที่สำคัญ เช่น "การทำบุญธาตุหลวง" เป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาวหลวงพระบาง และเป็นเอกลักษณ์ของเมืองอันเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาแห่งนี้
ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสในยุคอาณานิคม ฝรั่งเศสได้แยกเรื่องรัฐและศาสนาออกจากกันตามแนวคิดแบบตะวันตก พุทธศาสนาจึงมิได้เป็นศาสนาประจำชาติอีกต่อไป และเมื่อฝรั่งเศสนำระบบการศึกษาแบบตะวันตกเข้ามาในลาว พระสงฆ์ลาวก็เริ่มสูญเสียบทบาทในด้านการศึกษา และการเป็นผู้นำทางสติปัญญาแก่สังคมไปด้วย ทำให้พุทธศาสนาของลาวในยุคอาณานิคมเสื่อมลง
ต่อมาเมื่อกองทัพญี่ปุ่นบุกเข้ายึดครองประเทศลาวในสงครามโลกครั้งที่สอง คนลาวได้รวมตัวกันเป็น "ขบวนการชาตินิยมลาว" ขึ้นในปี พ.ศ.2483 มีการปลุกระดมให้สำนึกถึงประวัติศาสตร์ และประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมของลาวอันมีพุทธศาสนาเป็นศูนย์กลาง จึงเกิดความพยายามที่จะฟื้นฟูพุทธศาสนาขึ้นมาใหม่ พระสงฆ์ทำหน้าที่ในการปลูกฝังความรู้สึกรักชาติ และวัดได้กลายเป็นศูนย์กลางการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราช พุทธศาสนาจึงมีบทบาทอย่างสำคัญในการต่อสู้ของประชาชน จากการครอบครองของจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง และของอาณานิคมฝรั่งเศสในยุคต่อมา
หลังยุคอาณานิคม ลาวตกอยู่ในความยุ่งยากทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง การต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่างทุนนิยมประชาธิปไตยและสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เกิดขึ้นอย่างเข้มข้น "ขบวนการประเทศลาว" ได้นำพุทธศาสนามาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับระบบทุนนิยม โดยชี้ให้เห็นว่าหลักการพระโพธิสัตว์ที่มุ่งช่วยเหลือผู้อื่นนั้นสอดคล้องกับระบอบสังคมนิยม ส่วนระบบทุนนิยมมุ่งแต่ประโยชน์เฉพาะตัวจึงเป็นระบบที่ชั่วร้ายและเป็นบาป ขัดกับหลักการของพระโพธิสัตว์อย่างสิ้นเชิง มีการเชื่อมโยงว่าผู้นำขบวนการประเทศลาวคือพระโพธิสัตว์ยุคใหม่ที่จะมาปลดปล่อยประชาชน และระบอบสังคมนิยมจะให้ผลตอบแทนที่ดีงามในชาตินี้ โดยไม่ต้องรอไปถึงชาติหน้า
ขบวนการประเทศลาวได้สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจขึ้นในหมู่ประชาชน โดยประกาศนโยบายในการธำรงรักษาพุทธศาสนาว่า "จะเคารพเสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเชื่อของประชาชน จะเผชิญหน้ากับการบ่อนทำลายศาสนาในทุกรูปแบบ จะปรับปรุงฟื้นฟูพุทธศาสนาขึ้นมาใหม่ โดยการปฏิสังขรณ์สถูป เจดีย์ วัดวาอาราม และให้ความเคารพนับถือต่อพระสงฆ์"
พุทธศาสนาในระบอบสังคมนิยมลาว
เมื่อ "สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว" ได้รับการสถาปนาขึ้นในปี พ.ศ.2518 นโยบายเกี่ยวกับพุทธศาสนาถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจน โดยเน้นว่าหลักการของพุทธศาสนาและสังคมนิยมมีความสอดคล้องกัน เพราะต่างก็สอนให้มนุษย์มีความเสมอภาค สมบัติหรือกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลเป็นสิ่งต้องห้าม ทรัพย์สินหรือกรรมสิทธิ์ส่วนรวมได้รับการสนับสนุน เป้าหมายของพุทธศาสนาและสังคมนิยมคือ การทำให้มนุษย์ปราศจากทุกข์ โดยในส่วนบุคคลคือการละกิเลสเพื่อบรรลุนิพพาน ในส่วนสังคมคือการปฏิวัติสังคมนิยม เพื่อปลดปล่อยชาติและประชาชนจากการแสวงหาผลประโยชน์ของพวกนายทุน ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ในความทุกข์ยากของประชาชน
พุทธศาสนาในระบอบสังคมนิยมลาวได้รับการตีความใหม่ โดยผสมผสานแนวคิดเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อเอกราชอธิปไตย และหลักการของสังคมนิยมเข้าไว้ด้วย นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 เป็นต้นมา ประเพณีและพิธีกรรมในพุทธศาสนาถูกประยุกต์ใช้เป็นยุทธวิธี ในการจัดระเบียบทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เช่น ในการประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา มีการอธิบายและแทรกแนวคิดลัทธิมาร์กซ์-เลนิน (Marxism-Leninism) เข้าไปด้วย เป็นต้น นับเป็นการใช้พุทธศาสนาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ลาวอย่างได้ผล ทำให้พุทธศาสนากับลัทธิสังคมนิยมอยู่เคียงคู่กันได้เป็นอย่างดีในสังคมนิยมแบบลาว
---
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ปีที่ ๒๙ ฉบับที่ ๑๐๔๑๐. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า ๖.
Photo : https://pixabay.com/photos/monks-praying-prayer-bangkok-asia-1822569/