พุทธศาสนามหายานในอุษาคเนย์

พุทธศาสนามหายานจากอินเดีย แผ่อิทธิพลมายังอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ในอุษาคเนย์สองอาณาจักรด้วยกันคือ อาณาจักรขอมบนภาคพื้นทวีป และอาณาจักรศรีวิชัยในหมู่เกาะอินโดนีเซียและแหลมมลายู แม้ว่ามหายานในสองดินแดนนี้จะเลือนหายไปนานแล้ว แต่ก็ยังคงปรากฏร่องรอยของโบราณสถานและโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก
 

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
ภาควิชามนุษยศาสตร์ 
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยมหิดล

พุทธศาสนามหายานจากอินเดีย แผ่อิทธิพลมายังอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ในอุษาคเนย์สองอาณาจักรด้วยกันคือ อาณาจักรขอมบนภาคพื้นทวีป และอาณาจักรศรีวิชัยในหมู่เกาะอินโดนีเซียและแหลมมลายู แม้ว่ามหายานในสองดินแดนนี้จะเลือนหายไปนานแล้ว แต่ก็ยังคงปรากฏร่องรอยของโบราณสถานและโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก ส่วนพุทธศาสนามหายานจากจีน ได้แผ่อิทธิพลลงมายังเวียดนามและสิงคโปร์ อันเป็นประเทศที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของวัฒนธรรมขงจื๊อ และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งแห่งวิถีชีวิตของผู้คนในดินแดนดังกล่าวจวบจนกระทั่งปัจจุบัน

อาณาจักรขอม

อาณาจักรขอมได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์มาช้านาน ทั้งในเรื่องของศาสนา การปกครอง ขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนพิธีกรรมต่างๆ ต่อมาพุทธศาสนามหายานก็ได้เผยแผ่มาถึงดินแดนสุวรรณภูมิ (ประมาณ 300 ปีก่อน ค.ศ.) ในศตวรรษที่ 12 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้ทรงเลื่อมใสพุทธศาสนามหายานและหลักการของพระโพธิสัตว์ ทรงพิจารณาว่า ความทุกข์ที่กล่าวไว้ในพุทธศาสนามิได้หมายเพียงความทุกข์ทางใจเท่านั้น แต่ยังหมายรวมความทุกข์ทางกายอีกด้วย พระองค์จึงทรงเร่งสร้างถนนหนทาง วัด ที่พักคนเดินทาง สระน้ำ และโรงพยาบาล (โรคยาศาลา) เพื่อขจัดความทุกข์ของทวยราษฎร์ นับว่าพระองค์ทรงเป็นนักปฏิวัติสังคม ผู้ทรงนำหลักการ "ธรรมราชา" ในพุทธศาสนามาใช้แทน "เทวราชา" ตามคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์

ในปี ค.ศ.1186 พระองค์ทรงสร้าง "ปราสาทตาพรม" เพื่อเป็นที่ประดิษฐานภาพสลักศิลาของพระมารดา (พระนางศรีชัยราชจุฑามณี) ในรูปของ "พระโพธิสัตว์ปรัชญาปารมิตา" อันเป็นสัญลักษณ์ของปัญญา และ "ปราสาทชัยศรี" เพื่อเป็นที่ประดิษฐานภาพสลักศิลาของพระบิดา (พระเจ้าธรณันทรวรมัน) ในรูปของ "พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร" อันเป็นสัญลักษณ์ของกรุณา ตามคติความเชื่อของพุทธศาสนามหายาน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิกายวัชรยาน) ที่ว่า "การสมรสระหว่างปัญญากับกรุณาทำให้เกิดการตรัสรู้" นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงสร้าง "นครธม" ซึ่งมี "วิหารบายน" เป็นศูนย์กลางตามคติความเชื่อของพุทธศาสนามหายาน

อาณาจักรศรีวิชัย

อาณาจักรศรีวิชัย (ประมาณ พ.ศ.1200-1800) ครอบคลุมตั้งแต่ตอนบนของแหลมมลายู (รวมทั้งตอนใต้ของไทย) จนถึงหมู่เกาะอินโดนีเซีย เป็นอาณาจักรที่นับถือพุทธศาสนามหายาน ธรรมาจารย์จากนาลันทา วิกรมศิลา โอทันตบุรี ในอินเดียได้เดินทางมาถึงศรีวิชัย และได้นำพุทธศาสนาวัชรยาน (Vajrayana) หรือตันตระ (Tantra) มายังศรีวิชัย มีการก่อสร้างพระมหาสถูป "โบโรบูโดร์" (Borobudor) อันมีชื่อเสียง และพุทธสถานอื่นๆ เป็นจำนวนมาก อิทธิพลของอาณาจักรศรีวิชัยได้แผ่ไปถึงจามปา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เทวสถานโพนคร และแผ่ขยายขึ้นมาถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

ในพุทธศตวรรษที่ 12 พระภิกษุอี้จิงจากประเทศจีนซึ่งต้องการเดินทางไปอินเดีย โดยได้มาแวะพักที่อาณาจักรศรีวิชัยเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อศึกษาคัมภีร์ศัพทศาสตร์ ได้เขียนจดหมายเหตุบันทึกไว้ว่า ในอาณาจักรศรีวิชัยมีพระภิกษุมากกว่า 1,000 รูปที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยเหมือนอย่างพระภิกษุในอินเดีย และแนะนำว่าพระภิกษุจีนควรจะมาแวะที่อาณาจักรศรีวิชัยเป็นเวลา 1-2 ปี เพื่อศึกษาภาษาสันสกฤต ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังอินเดีย

ศาสนาในเวียดนาม

ในระยะเวลากว่า 1,000 ปีภายใต้การปกครองของจีน เวียดนามคุ้นเคยกับสถาบันการเมืองและสังคม ระบบการเขียน การศึกษา และศิลปวัฒนธรรมแบบจีน อิทธิพลของจีนที่มีต่อเวียดนามขึ้นถึงระดับสูงสุดในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907) ภายหลังจากที่ได้รับเอกราชในปี ค.ศ.939 เวียดนามยังคงมองจีนในฐานะแบบอย่างทางวัฒนธรรม การปกครอง การจัดองค์กรทางสังคมและศิลปกรรม เวียดนามจึงอยู่ในวัฒนธรรมขงจื๊อ และได้รับอิทธิพลจากปรัชญาเต๋าและพุทธศาสนามหายาน รวมทั้งความเชื่อของศาสนาท้องถิ่น

มิชชันนารีคาทอลิกฝรั่งเศสได้แสดงบทบาทในเวียดนามมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 17 โดยช่วยพระจักรพรรดิเกียลองปราบกบฏเทซอน (Tay Son) และจัดตั้งราชวงศ์ขึ้น ภายในกลางศตวรรษที่ 19 ประมาณกันว่ามีคาทอลิกในเวียดนามถึง 450,000 คน รัฐบาลเวียดนามหวั่นเกรงศาสนาที่มีการจัดตั้งในรูปองค์กรทุกประเภท ว่าจะเป็นภัยต่ออำนาจรัฐในแบบฉบับขงจื๊อ และศาสนาคริสต์ดูเหมือนว่าจะเป็นภัยในลักษณะนั้น การรณรงค์ปราบปรามจึงเกิดขึ้นหลายครั้ง มีบาทหลวงและชาวคริสต์หลายพันคนเสียชีวิต และหมู่บ้านชาวคริสต์ถูกทำลาย การปราบปรามนี้สร้างความตกตะลึงแก่ชาวคาทอลิกในฝรั่งเศส และกลายเป็นข้ออ้างของฝรั่งเศสในการเข้ายึดครองเวียดนาม

ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ความเคลื่อนไหวทางศาสนาที่เด่นที่สุดได้แก่ ศาสนาเจาได (Cao Dai) ซึ่งก่อตั้งในปี ค.ศ.1925 โดยอ้างว่าจะรวมตะวันออก ตะวันตก และเอกลักษณ์วัฒนธรรมเวียดนามเข้าด้วยกัน มีสานุศิษย์กว่า 1 ล้านคน (ทศวรรษที่ 1930) ขณะนั้นพุทธศาสนานิกายฮวาเฮา (Hoa Hao) ก็มีสานุศิษย์เป็นจำนวนมากทางตอนใต้เช่นเดียวกัน ความเคลื่อนไหวทางศาสนาเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาแก่ขบวนการชาตินิยมเวียดนามในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ระหว่างสงครามเวียดนาม โลกต้องตกตะลึงเมื่อพระภิกษุในพุทธศาสนาจำนวนหนึ่งได้เผาตัวตายเพื่อประท้วงสงครามและรัฐบาล ผู้นำชาวพุทธได้สร้างขบวนการต่อสู้ทางการเมือง โดยใช้ปรัชญาการเมืองและปรัชญาสังคมตามหลักการของพุทธศาสนา เรียกร้องให้ยุติสงครามและนำสันติภาพกลับคืนสู่ประเทศ ขบวนการต่อสู้ทางการเมืองของชาวพุทธเวียดนามนี้เรียกกันว่า "พุทธสังคมนิยม" (Buddhist Socialism)

พุทธศาสนาในสิงคโปร์

ศาสนาในสิงคโปร์ยุคแรกมีลักษณะผสมผสานทางความเชื่อระหว่างศาสนาเต๋ากับพุทธศาสนา ส่วนหลักปฏิบัติจะเน้นจริยธรรมขงจื๊อ เช่น ความกตัญญูกตเวที ความผูกพันทางเครือญาติ มารยาททางสังคม ความประหยัดมัธยัสถ์ การเคารพกฎหมาย การปรองดองกับเพื่อนบ้าน และการยกย่องการศึกษา เป็นต้น ภายหลังการสำรวจสำมะโนประชากรปี ค.ศ.1980 ประชาชนจะต้องเลือกศาสนาให้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่าง "พุทธศาสนา" กับ "ศาสนาเต๋า"

การไหว้พระและประกอบพิธีศาสนาที่วัดจีนในสิงคโปร์ ไม่อาจดึงดูดความสนใจของคนหนุ่มสาวสิงคโปร์มากนัก คนรุ่นใหม่สนใจที่จะศึกษาพุทธปรัชญา จริยธรรม และการปฏิบัติธรรมอย่างกว้างขวาง รวมทั้งการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ความสนใจดังกล่าวเกิดขึ้นในหมู่ฆราวาสชาวสิงคโปร์ และเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเกินกว่าจำนวนของครูที่มีอยู่ องค์การต่างๆ จึงถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการนี้ จนกลายเป็นความเคลื่อนไหวใหม่ที่เรียกว่า "พุทธศาสนาแบบสมาคม" (Associational Buddhism) โดยมีจำนวนสมาชิกที่แน่นอน และสมาชิกมีความสนใจต่อคำสอนและวิธีปฏิบัติโดยเฉพาะของพุทธศาสนาในแบบของตน

"พุทธศาสนาแบบสมาคม" ในสิงคโปร์มีคำสอนและหลักการปฏิบัติที่หลากหลายมาก ตัวอย่างเช่น ศูนย์ยุวพุทธอานันทเมตไตรย์ (Ananda Metyarna Buddhist Youth Circle) ที่วัดพุทธอานันทเมตไตรย์ มีการปฏิบัติแบบเถรวาทภายใต้การนำของพระสงฆ์ไทย ขณะที่สมาชิกของวัดทิเบต (Sakya Tenphel Ling) จะประกอบพิธีกรรมและปฏิบัติแบบทิเบต ภายใต้การนำของพระสงฆ์ฝ่ายวัชรยาน เป็นต้น ปัจจุบันชาวจีนสิงคโปร์ได้พบคำสอนรูปแบบต่างๆ ของพุทธศาสนา มิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะพุทธศาสนาแบบจีนเท่านั้น แม้จะได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมจีน แต่สังคมสิงคโปร์ก็ได้พัฒนาวัฒนธรรมสิงคโปร์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนขึ้นมา

บทสรุป

พุทธศาสนามหายานได้เดินทางมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสองสายด้วยกัน สายหนึ่งมาจากอินเดียที่เข้ามาทางแผ่นดินภาคพื้นทวีป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาณาจักรขอม โดยมีปราสาทตาพรม นครธม และวิหารบายน เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญ และเข้ามาทางบริเวณหมู่เกาะอินโดนีเซียและแหลมมลายู โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาณาจักรศรีวิชัย โดยมีพระมหาสถูป "โบโรบูโดร์" เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญ ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในเอเชียอาคเนย์ อีกสายหนึ่งมาจากจีนที่ส่งผ่านเข้ามายังประเทศที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของวัฒนธรรมขงจื๊อ อันได้แก่ เวียดนาม และสิงคโปร์ โดยเวียดนามรับพุทธศาสนามหายานจากจีนและปรับให้เป็นพุทธศาสนาแบบเวียดนาม ส่วนชาวจีนในสิงคโปร์ได้นำพุทธศาสนามหายานติดตัวมาและปรับเปลี่ยนให้เป็นพุทธศาสนาแบบสมาคม อันเป็นรูปแบบของพุทธศาสนาสมัยใหม่ แต่ทั้งหมดนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของอารยธรรมจีนในอุษาคเนย์.
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ปีที่ ๓๒ ฉบับที่ ๑๑๔๗๔. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า ๖.

Photo : https://pixabay.com/photos/statue-buddha-show-piece-color-2691173/

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo