พัฒนาการทางความคิดของพุทธศาสนามหายาน

เมื่อพุทธศาสนามาถึงจุดเสื่อมถอย ชาวพุทธอินเดียจำนวนหนึ่งได้ใช้วิธี "หนามยอกเอาหนามบ่ง" โดยเข้าไปศึกษาจุดอ่อนจุดแข็งของศาสนาฮินดูบ้าง เพื่อนำมาปรับปรุงพุทธศาสนาให้อยู่ในสถานะที่จะสามารถ "แข่งขัน" กับศาสนาฮินดูได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความศรัทธา ในที่สุดพุทธศาสนาก็ได้นำเสนอ "ทฤษฎีตรีกาย" หรือกายทั้งสามของพระพุทธเจ้าออกมา 

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
ภาควิชามนุษยศาสตร์ 
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยมหิดล

ภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว พุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองในอินเดียอย่างต่อเนื่อง กระทั่งถึงยุคพระเจ้าอโศกมหาราชพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองอย่างสูงสุด โดยแผ่ไปทั่วทั้งชมพูทวีปอย่างกว้างขวาง มีศิลาจารึกและเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นประจักษ์พยานอันสำคัญ หลังสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชไม่มีพระเจ้าแผ่นดินอินเดียที่ทรงทำนุบำรุงพุทธ ศาสนาอย่างจริงจัง พุทธศาสนาจึงเสื่อมถอยมาเป็นลำดับ

มูลเหตุแห่ง ความเสื่อมของพุทธศาสนาในอินเดียได้แก่ ประการแรกเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานนานวันเข้า ชาวพุทธอินเดียเกิดความประมาท หันเหออกจากหลัก "การพึ่งตนเอง" ไปพึ่งอำนาจศักดิ์สิทธิ์ภายนอก จึงเป็นทีของศาสนาพราหมณ์ซึ่งมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่เต็มไปหมด ในที่สุดชาวพุทธก็ค่อยๆ ถูกกลืนหายไป ประการที่สองขณะเมื่อพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอยู่นั้น มีพราหมณ์จำนวนมากเข้ามาบวชเรียนในพุทธศาสนา พราหมณ์พวกหนึ่งมีความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแท้จริงหลังจากอุปสมบทแล้วก็กลาย มาเป็นกำลังสำคัญของพุทธศาสนา พราหมณ์อีกพวกหนึ่งต้องการที่จะเข้ามาศึกษาเรียนรู้จุดอ่อนจุดแข็งของพุทธ ศาสนา เพื่อนำไปปรับปรุงศาสนาพราหมณ์ของตนให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อมา "ต่อสู้ทางความคิด" กับพุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์ที่ได้ผ่านการปฏิรูปแล้วได้กลายมาเป็นศาสนาฮินดูในที่สุด

เมื่อพุทธศาสนามาถึงจุดเสื่อมถอย ชาวพุทธอินเดียจำนวนหนึ่งได้ใช้วิธี "หนามยอกเอาหนามบ่ง" โดยเข้าไปศึกษาจุดอ่อนจุดแข็งของศาสนาฮินดูบ้าง เพื่อนำมาปรับปรุงพุทธศาสนาให้อยู่ในสถานะที่จะสามารถ "แข่งขัน" กับศาสนาฮินดูได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความศรัทธา ในที่สุดพุทธศาสนาก็ได้นำเสนอ "ทฤษฎีตรีกาย" (Trikaya) หรือกายทั้งสามของพระพุทธเจ้าออกมา ซึ่งมีสาระสำคัญโดยสังเขปดังนี้

1. "นิรมาณกาย" (Nirmana-kaya) หรือ "กายเนื้อ" ได้แก่ ร่างกายของเจ้าชายสิทธัตถะ หรือพระพุทธเจ้าในประวัติศาสตร์ซึ่งมีชีวิตอยู่ได้ 80 ปี ก็เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน

2. "ธรรมกาย" (Dharma-kaya) หรือ "กายธรรม" ได้แก่ คุณสมบัติที่ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า หรือพระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบนั่นเอง ("ธรรมกาย" ในที่นี้แตกต่างจากคำสอนของวัดพระธรรมกายที่อ้างว่า นิพพานคืออัตตา และจุดหมายสูงสุดในพุทธศาสนาคืออายตนะนิพพานที่อยู่บนฟ้าบนสวรรค์ สามารถวัดขนาดความกว้าง ยาว และสูงได้ คำว่า "ธรรมกาย" เป็นแนวความคิดของพุทธศาสนามหายานที่เกิดขึ้นในอินเดียกว่า 2,000 ปีมาแล้ว โดยมีความหมายแตกต่างจากวัดพระธรรมกายอย่างสิ้นเชิง)

3. "สัมโภคกาย" (Sambhokha-kaya) หรือ "กายทิพย์" ได้แก่ กายแห่งนามธรรมของพระพุทธเจ้า ซึ่งยังดำรงอยู่ในจักรวาลนี้ต่อไปภายหลังการเสด็จดับขันธ์ โดยชาวพุทธกลุ่มใหม่อธิบายว่า พระพุทธเจ้าเมื่อใกล้เสด็จดับขันธ์แล้วก็ยังทรงห่วงใยสรรพสัตว์ที่อยู่ เบื้องหลัง และด้วยพระมหาเมตตากรุณาที่ยิ่งใหญ่ จึงทรงตัดสินพระทัยไม่เสด็จสู่ปรินิพพาน (สภาพที่ขาดสูญไปจากจักรวาลนี้อย่างสิ้นเชิง) แต่ยังทรงดำรงอยู่ในฐานะ "กายทิพย์" แห่งสัมโภคกาย คอยสดับตรับฟังทุกข์สุขของสรรพสัตว์ที่อยู่เบื้องล่าง เมื่อมีผู้เดือดร้อนเป็นทุกข์สวดมนตร์อ้อนวอน ก็จะทรงได้ยินและจะทรงประทานความช่วยเหลือลงมาให้

การนำเสนอทฤษฎี "ตรีกาย" ของพุทธศาสนาอย่างใหม่ ซึ่งต่อมารู้จักกันในนามว่า "พุทธศาสนามหายาน" (Mahayana Buddhism) นี้ ทำให้พระพุทธเจ้าถูกยกสถานะให้เทียบเท่ากับ "พระเจ้า" ในศาสนาฮินดู นับเป็นการพลิกโฉมของพุทธศาสนาจากศาสนาประเภท "อเทวนิยม" (Atheism) มาเป็นศาสนาประเภท "เทวนิยม" (Theism) เลยทีเดียว แต่พระพุทธเจ้าในฐานะพระเจ้าก็มีอยู่เพียงพระองค์เดียว คงจะไม่สามารถต้านทานพระเจ้าในศาสนาฮินดูที่มีมากมาย ซึ่งมากันเป็น "กองทัพ" ได้

มหายานจึงได้พัฒนาแนวความคิดต่อไปว่า จักรวาลเป็นอนันตกาล (infinity) ในอดีตอันเป็นอนันตกาลนั้น เคยมีพระพุทธเจ้าเสด็จมานับครั้งไม่ถ้วน (ยิ่งกว่าจำนวนเมล็ดทรายในแม่น้ำคงคาเสียอีก) โดยพระพุทธเจ้าสมณะโคดม (หรือ "พระพุทธเจ้าศากยมุนี" ตามคำเรียกของฝ่ายมหายาน) เป็นเพียงพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งเท่านั้น พระพุทธเจ้าเหล่านั้นล้วนแล้วแต่ทรงมีพระมหากรุณาที่ยิ่งใหญ่ เมื่อถึงคราวจะดับขันธ์ ก็ทรงเลือกที่จะดำรงอยู่ในจักรวาลนี้ต่อไปในฐานะ "สัมโภคกาย" ทั้งสิ้น โดยนัยยะนี้มหายานจึงมี "พระพุทธเจ้า" จำนวนมหาศาล (พอที่จะต่อกรกับ "กองทัพเทพเจ้า" ของศาสนาฮินดูได้)

ในบรรดาพระพุทธเจ้าซึ่งมีอยู่อย่างมากมายนั้น พุทธศาสนามหายานได้ให้ความสำคัญกับพระพุทธเจ้าอมิตาภะ (Amitabha Buddha) ที่ประทับอยู่ ณ แดนสุขาวดี (Sukhavati) สวรรค์ทางทิศตะวันตก โดยมีสาวกเบื้องซ้ายและขวาที่ดำรงอยู่ในฐานะสัมโภคกายคือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (Avalokitesvara) ผู้ยิ่งด้วย "เมตตา-กรุณา" และพระโพธิสัตว์มหาสถามปราปต์ (Mahasathamaprapta) ผู้ยิ่งด้วย "มุทิตา-อุเบกขา" เนื่องจากคุณสมบัติของพระโพธิสัตว์ดังกล่าว ชาวพุทธมหายานจึงนิยมสวดมนตร์อ้อนวอนต่อพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (หรือ "กวนอิม" ในภาษาจีน) มากกว่า

ขณะเดียวกันมหายานได้พัฒนาแนวคิดต่อไป อีกว่า ในอนาคตซึ่งก็เป็นอนันตกาลเช่นกันนั้น จะมีพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่มาอุบัติอีกนับจำนวนไม่ถ้วน (มากกว่าจำนวนเมล็ดทรายในแม่น้ำคงคาเสียอีก) มีความเชื่อของชาวพุทธโดยทั่วไปที่ว่า ศาสนาของพระพุทธเจ้าสมณะโคดมนั้นจะมีอายุเพียง 5,000 ปี (ซึ่งเราก็ได้ฉลองกึ่งพุทธกาลไปแล้วในปี พ.ศ. 2500) หลังจากนั้นจะมีพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่มาอุบัตินามว่า "พระพุทธเจ้าศรีอาริยเมตไตรย์" (หรือ "พระศรีอาริย์") และถ้าหากว่าจะมีพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่มาอุบัติในอีก 2,400 กว่าปีข้างหน้าแล้วไซร้ เวลานี้พระองค์ก็จะต้องกำลังเสวยพระชาติเป็น "พระโพธิสัตว์" อยู่ และเราก็ไม่อาจบอกได้ว่า เวลานี้พระองค์เป็นใครหรืออยู่ที่ไหน

เมื่อเราไม่อาจระบุได้ว่า เวลานี้พระศรีอาริย์เป็นใครและอยู่ที่ไหนแล้ว มหายานก็ได้แนะนำว่า เราทุกคนสามารถที่จะเป็น "ผู้สมัครแข่งขันชิงชัย" (candidate) ได้ โดยแนะนำว่าเราทุกคนควรจะบำเพ็ญ "พระโพธิสัตวธรรม" (ธรรมะของพระโพธิสัตว์) เพื่อปรารถนาต่อพุทธภูมิในวันข้างหน้า และถ้าหากว่าเราพลาด "ตำแหน่ง" พระศรีอาริย์แล้วไซร้ ก็ยังมี "ตำแหน่ง" ของพระพุทธเจ้าในอนาคตให้เราได้ปรารถนาอีกมาก ดังนั้นอุดมคติของชาวพุทธมหายานจึงเปลี่ยนจาก "พระอรหันต์" มาเป็น "พระโพธิสัตว์" เพื่อที่จะได้ตรัสรู้เป็น "พระพุทธเจ้า" เสียเองในที่สุด
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11383. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6.

Photo : https://pixabay.com/photos/buddha-statue-coast-shrine-6870234/

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo