พุทธศาสนากับสสารนิยม

พุทธศาสนายอมรับว่ามนุษย์สัมผัสและรับรู้โลกภายนอกโดยผ่านทางประสาทสัมผัส  คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่พุทธศาสนาก็ยอมรับอีกเช่นกันว่ามนุษย์มีอายตนะที่ ๖ คือ “ใจ” และ “ใจ” ของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาให้สูงส่งได้จนกระทั่งสามารถพ้นทุกข์ได้ 
 

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
ภาควิชามนุษยศาสตร์ 
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยมหิดล

สสารนิยม (Materialism)เป็นแนวคิดทางปรัชญที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เนื่องจากมนุษย์ได้สัมผัสกับสสารวัตถุอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ต่อมาแนวคิดนี้ได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบทั้งในจีน อินเดีย และกรีซ โดยปรัชญา “สสารนิยม” ของจีนเห็นพ้องกับปรัชญา “สสารนิยม” (จารวาก) ของอินเดีย ที่ว่าโลกแห่งสสสารวัตถุที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้เป็นโลกที่จริงเพียงโลกเดียว

ส่วนปรัชญา “สสารนิยม” ของกรีซนั้น มุ่งแสวงหาสิ่งที่เรียกว่า “ปฐมธาตุ” (First Element) กล่าวคือ ตัวร่วมของสรรพสิ่งทั้งหลายในจักรวาล ทาเสส (Thales) บิดาแห่งปรัชญากรีกเห็นว่า “น้ำ คือปฐมธาตุ เพราะสามารถดำรงอยู่ได้ทั้งสถานะที่เป็นของแข็ง ของเหลว และก๊าซ” นักปรัชญากรีกท่านอื่น ๆ เห็นว่า ปฐมธาตุคือ ดินบ้าง ลมบ้าง หรือ ดิน น้ำ ลม ไฟ รวมกันบ้าง แต่นักปรัชญากรีกที่สำคัญอีกท่านหนึ่งคือ เดโมคลีตุส (Democretus) เห็นว่า “ปฐมธาตุ คือ อะตอม (atom)” ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกย่อยต่อไปอีกได้ แต่ทรรศนะเรื่อง “สสารนิยม” ก็ไม่อาจไปไกลได้มากกว่านี้นานนับสหัสวรรษ เนื่องจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของมนุษย์ยังมีอยู่อย่างจำกัด

หลังยุค “การฟื้นฟูศิลปวิทยาการ” (Renaissance) และ “การปฏิวัติอุตสาหกรรม” ในยุโรป นับตั้งแต่การค้นพบ “กฎแห่งแรงโน้มถ่วง” ของนิวตั้น (Newton) เป็นต้นมา วิทยาศาสตร์ได้เจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ปรัชญา “สสารนิยม” เจริญรุ่งเรือง แต่ก็ยังอยู่ในกรอบของ “ฟิสิกส์แบบนิวตั้น” (Newtonian Physics) กล่าวคือ เชื่อว่าอะตอมเป็นสิ่งที่แข็งตัวและอยู่นิ่งอยู่กับที่ อะตอมและสิ่งที่ประกอบขึ้นด้วยอะตอมจะเคลื่อนที่ไปก็ต่อเมื่อมีแรงภายนอกมากระทบมันเท่านั้น (Determinism) สรรพสิ่งเคลื่อนไหวไปอย่างเป็นระบบจักรกล (Machanism) และสรรพสิ่งสามารถทอนลงเป็นหน่วยย่อยได้ (Reductionism) ปรัชญาด้าน “สสารนิยม” ดังกล่าวมีอิทธิพลต่อวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแพทย์และสาธารณสุข และต่อวิชาการด้านสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐศาสตร์แม้กระทั่งในปัจจุบัน

“สสารนิยม” ตั้งต้นจากทรรศนะที่ว่า “สิ่งที่เป็นจริงจะต้องสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย สิ่งที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่สามารถสัมผัสได้เป็นสิ่งที่ไม่จริง” เมื่อเป็นเช่นนี้โลกที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้จึงเป็นโลกที่จริงแท้เพียงโลกเดียว โลกแห่งนามธรรมมีเพียงในความคิด หรือความฝันของมนุษย์เท่านั้น มันจึงไม่มีอยู่จริง

ชีวิตของมนุษย์มีเพียงความจริงทางด้านสรีรร่างกายเท่านั้น สิ่งที่เรียกว่า “จิต” ไม่มีอยู่จริง จิตเป็นเพียงปฏิกิริยาทางชีวเคมีที่เกิดจากความสลับซับซ้อนของร่างกายเท่านั้น สรีรร่างกายของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างทางสมอง มีความละเอียดอ่อนและสลับซับซ้อนมาก มันซับซ้อนมากจากระทั่งเราคิดว่าเรามี “จิต” แต่จิตก็หามีอยู่ไม่ ความจริงของมนุษย์ก็คือความจริงทางด้านร่างกายเท่านั้น ดังนั้ ในแง่นี้มนุษย์จึงเป็นหุ่นยนต์ชนิดหนึ่ง แต่เป็นหุ่นยนต์ทางชีวเคมี ซึ่งอาจผ่าตัดเปลี่ยน “อะไหล่” ได้

แม้ว่าพุทธศาสนาจะมีทฤษฎีความรู้ (Epistemology) ที่ใกล้เคียงกับปรัชญา “สสารนิยม” กล่าวคือ พุทธศาสนายอมรับว่ามนุษย์สัมผัสและรับรู้โลกภายนอกโดยผ่านทางประสาทสัมผัส (หรือ “อายตนะ”) คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย (ที่รับรู้รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) แต่พุทธศาสนาก็ยอมรับอีกเช่นกันว่ามนุษย์มีอายตนะที่ ๖ คือ “ใจ” (ที่รับรู้ “ความรู้สึกนึกคิด”) และ “ใจ” ของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาให้สูงส่งได้จนกระทั่งสามารถพ้นทุกข์ได้

หลัก “ไตรลักษณ์” ของพุทธศาสนาข้อหนึ่ง คือ อนิจจัง (ความไม่เที่ยง) นับเป็นการปฏิเสธทฤษฎี “ฟิสิกส์แบบนิวตั้น” โดยสิ้นเชิง ในโลกทัศน์ของพุทธศาสนาทุกสิ่งเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่เหมือน “อะตอม” ของนิวตั้น ซึ่งจะเคลื่อนไหวก็ต่อเมื่อมีแรงผลักจากภายนอกเท่านั้น ตามทรรศนะของพุทธศาสนาทุกสิ่งจึงมิได้เคลื่อนไปอย่างจักรกล (Non-Mechanism) มิได้เคลื่อนไปเมื่อเกิดแรงกระทบจากภายนอกแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น (Non-Determinism) แต่อาจเคลื่อนที่ไปจากการเคลื่อนไหวภายใน หรือจากแรงจูงใจของ “จิตใจ” ได้ ดังนั้น “จิตใจ” จึงไม่สามารถทอนลงเป็นวัตถุหรือร่างกายได้ Non-Reductionism) ดังนั้น พุทธศาสนาจึงแตกต่างไปจากปรัชญา “สสารนิยม” อย่างเด่นชัด.
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๙๓. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า ๖.

Photo : https://pixabay.com/photos/mystery-mysterious-religion-1639549/

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo