การเกิดขึ้นของปรัชญา "ธรรมชาตินิยม" จึงทำให้ความรู้ทางปรัชญาและวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ มาประสานสอดคล้องเข้ากับพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทฤษฎี "อนิจจัง" และ "อนัตตา" อย่างน่าอัศจรรย์
"ธรรมชาตินิยม" (Naturalism) เป็นแนวคิดทางปรัชญาที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง ภายหลังจากการค้นพบทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ 3 ทฤษฎี กล่าวคือ ทฤษฎี "มหากัมปนาท" (Big Bang Theory) ของเอ็ดวิน ฮับเบิ้ล (Edwin Hubbles) ทฤษฎี "วิวัฒนาการ" (Evolution Theory) ของชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) และทฤษฎี "ควอนตั้มฟิสิกส์" (Quantum Physics) ของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) นับเป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) ครั้งสำคัญทั้งในโลกของปรัชญาและวิทยาศาสตร์
ปรัชญา "ธรรมชาตินิยม" ตั้งต้นจากทรรศนะที่ว่า "สิ่งที่เป็นจริงซึ่งเรียกว่า สิ่งธรรมชาติ (natural object) จะต้องอยู่ภายใต้อวกาศและเวลา (space and time) เกิดขึ้นและดับลงโดยมีสาเหตุ และสาเหตุนั้นจะต้องเป็นสิ่งธรรมชาติด้วย" หมายความว่า นอกจากสสารแล้ว สิ่งที่มิใช่สสาร เช่น ปรากฏการณ์ (phenomenon) ที่เรียกว่า "จิต" ของมนุษย์ หากอยู่ภายใต้ระบบอวกาศและเวลาแล้ว ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นจริงด้วย นับเป็นการทลายข้อจำกัดของปรัชญา "สสารนิยม" (Materialism) ซึ่งยอมรับแต่เพียง "สสาร" (matter) ที่สัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เท่านั้น
ตามทฤษฎี "มหากัมปนาท" ต้นกำเนิดของจักรวาลเกิดจากการระเบิดครั้งใหญ่ (Big Bang) เมื่อประมาณ 15,000 ล้านปีที่แล้ว อันก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่กลายเป็น "มวลสาร" (matter) ปริมาณมหาศาล แรงระเบิดได้ก่อให้เกิด "ช่องว่าง" หรือ "อวกาศ" (space) ขึ้น มวลสาร อวกาศ และความเร็ว ได้ก่อให้เกิด "เวลา" (time) ขึ้น จักรวาลได้ขยายตัวออกกลายเป็น "กาแล็กซี" (Galaxy) ซึ่งมีจำนวนกว่า 1 ล้านล้านกาแล็ซี แต่ละกาแล็กซีประกอบด้วยดาวฤกษ์ (เช่น ดวงอาทิตย์) จำนวนกว่า 1 ล้านล้านดวง "สุริยระบบ" (Solar System) ของเราอยู่ชายขอบ "กาแล็กซีทางช้างเผือก" (Milky Way Galaxy) ซึ่งอยู่ชายขอบของจักรวาลใหญ่อีกทีหนึ่ง เราจึงมิได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาลไม่ว่าในความหมายใด
ตามทฤษฎี "วิวัฒนาการ" หลังจากโลกได้เย็นตัวลงแล้ว ปฏิกิริยาทางเคมีบนผิวโลกทำให้เกิดไอน้ำ ไอน้ำที่ลอยขึ้นสูงถูกแรงดึงดูดของโลกดูดไว้ ก่อให้เกิดชั้นบรรยากาศและเมฆขึ้น ในที่สุดเมฆก็ตกลงมาเป็นฝน ทำให้เกิดลำคลอง แม่น้ำ ทะเล และมหาสมุทร เมื่ออนินทรียสาร (non-organic matter) ทำปฏิกิริยากับน้ำปริมาณมหาศาลในเวลาที่ยาวนานเพียงพอ สิ่งมหัศจรรย์คือ อินทรียสาร (organic matter) หรือ "ชีวิต" (life) ก็เกิดขึ้น จากโครงสร้างที่เรียบง่าย (เช่น สัตว์เซลล์เดียว) ชีวิตได้วิวัฒนาการสู่ความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยแยกเป็นทั้งอาณาจักรพืชและอาณาจักรสัตว์
ในอาณาจักรสัตว์ชีวิตได้วิวัฒนาการจากหนอนทะเล มาเป็นปลา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์บก กระทั่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในที่สุด เมื่อชีวิตมีวิวัฒนาการที่ยาวนานเพียงพอ สิ่งอัศจรรย์ยิ่งกว่านั้นคือ "จิต" (mind) ก็เกิดขึ้น นักชีววิทยาสังเกตว่า รูปแบบของชีวิตนับตั้งแต่ปลาเป็นต้นมาล้วนแต่มีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "จิต" เกิดขึ้นแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นปลาโลมาที่สามารถฝึกได้ สุนัขที่ซื่อสัตย์ต่อเจ้าของ ลิงที่เริ่มเรียนรู้การใช้เครื่องมือ และที่สำคัญที่สุดก็คือมนุษย์ "จิต" ของมนุษย์จึงเป็นสุดยอดของวิวัฒนาการของจักรวาลนี้ จากการคำนวณของนักธรณีวิทยา โลกมีอายุประมาณ 5,000 ล้านปี สิ่งมีชีวิตมีอยู่ในโลกนี้ประมาณ 500 ล้านปี และมนุษย์เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 2 ล้านปีมานี้เอง
ทฤษฎี "วิวัฒนาการแบบก้าวกระโดด" (Emergent Evolution) บ่งบอกว่า เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านปริมาณมาถึงจุดหนึ่ง จะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพขึ้นอย่างฉับพลัน และในวิวัฒนาการของจักรวาลและโลก ได้เกิดวิวัฒนาการแบบก้าวกระโดดขึ้นอย่างน้อยที่สุด 4 ครั้งใหญ่ ๆ คือ การเกิดขึ้นของมวลสาร น้ำ ชีวิต และ "จิตใจ" พุทธศาสนาเห็นพ้องกับปรัชญา "ธรรมชาตินิยม" ที่ว่า "จิตใจ" ของมนุษย์มีอยู่ แต่มิใช่ "สิ่ง" (object) แต่เป็น "ปรากฏการณ์" (phenomenon) ที่ไม่เป็นตัวไม่เป็นตน เป็น "อนัตตา" (non-self) ร่างกายกับจิตใจจึงเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน และอิงอาศัยกันอย่างแยกไม่ออก
ตามทฤษฎี "ควอนตั้มฟิสิกส์" หน่วยที่เล็กที่สุดที่เรียกว่า "อะตอม" (atom) นั้นมิใช่สิ่งที่แข็งตันและหยุดนิ่งอยู่กับที่ ดังคำอธิบายของ "ฟิสิกส์แบบนิวตัน" (Newtonian Physics) แต่กลับประกอบด้วยโปรตอน นิวตรอน อิเล็กตรอน และช่องว่างมหาศาลระหว่างประจุไฟฟ้าเหล่านั้น และอิเล็กตรอนก็วิ่งรอบนิวตรอนด้วยความเร็วสูง ทุกสิ่งจึงเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่มีสิ่งใดหยุดนิ่งอยู่กับที่ สรรพสิ่งจึงเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงด้วยตัวของมันเองได้ ไม่จำเป็นต้องเกิดจากแรงผลักจากภายนอกแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ทรรศนะนี้นับเป็นการทลายข้อจำกัดของปรัชญา "สสารนิยม" ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ "ฟิสิกส์แบบนิวตัน" ซึ่งมองว่าสรรพสิ่งอยู่ภายใต้ระบบจักรกล (Mechanism) จะเคลื่อนไหวก็ต่อเมื่อมีแรงผลักจากภายนอกเท่านั้น (Determinism) และทุกสิ่งสามารถทอนลงเป็นหน่วยย่อยได้ (Reductionism) "สสารนิยม" จึงปฏิเสธการมีอยู่ของ "จิต" ว่าเป็นเพียงปฏิกิริยาทางชีวเคมีของร่างกายเท่านั้น มนุษย์จึงไม่แตกต่างไปจากหุ่นยนต์ นับเป็นข้อจำกัดของปรัชญา "สสารนิยม" ที่นำเอาระบบกลไกทางฟิสิกส์มาใช้อธิบายเรื่องของชีวิตซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ละเอียดอ่อนทางชีววิทยา
การเกิดขึ้นของปรัชญา "ธรรมชาตินิยม" จึงทำให้ความรู้ทางปรัชญาและวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ มาประสานสอดคล้องเข้ากับพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทฤษฎี "อนิจจัง" และ "อนัตตา" อย่างน่าอัศจรรย์
--
ที่มา :หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2546 ปีที่ 26 ฉบับที่ 3961. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6.
Photo : https://pixabay.com/photos/buddhist-monk-novice-buddhism-bird-5843719/