“ธรรมิกสังคมนิยม” กับการเมืองไทย

ทฤษฎี "ธรรมิกสังคมนิยม" ของพุทธทาสภิกขุ ซึ่งเป็นปรัชญาการเมืองของนักคิดไทย ในบริบทของสังคมไทย บางทีอาจให้แนวทางในการแสวงหาคำตอบต่อเสียงเรียกร้องนี้ ซึ่งออกมาจากความต้องการที่แท้จริงของประชาชน 
   

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
ภาควิชามนุษยศาสตร์ 
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยมหิดล

สถานการณ์การเมืองไทยขณะนี้มาถึงทางตัน ระบอบ "ประชาธิปไตย" แบบตะวันตกที่ใช้อยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน ไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤตของชาติและสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ขณะเดียวกันการรัฐประหารก็ไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้ ท่ามกลางวิกฤตการเมืองไทยและการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในปัจจุบัน ดูเหมือนว่าเรากำลังแสวงหาระบอบปกครองที่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของสังคมและวัฒนธรรมไทย ทฤษฎี "ธรรมิกสังคมนิยม" (Dhammic Socialism) ของพุทธทาสภิกขุ บางทีอาจให้แนวทางไปสู่การปกครองนั้น

ตามทรรศนะของพุทธทาสภิกขุ รัฐบาลที่ชอบธรรมเกิดขึ้นจากการมีผู้นำทางการเมืองที่มีศีลธรรม และเอาใจใส่ต่อสวัสดิภาพของประชาชนมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง ท่านกล่าวถึงทฤษฎี "กำเนิดผู้นำทางการเมือง" โดยอ้างอิงตำนานจากพระไตรปิฎก (อัคคัญญสูตร) ว่า ในสมัยก่อนเมื่อมนุษย์อาศัยอยู่ในป่าโดยไม่มีวัฒนธรรมอย่างที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้ มนุษย์มีทรัพยากรที่เพียงพอต่อความต้องการและอยู่กันอย่างสันติ

ความเป็น "สังคมนิยม" แบบดั้งเดิมนี้ดำรงอยู่ จนกระทั่งมนุษย์เริ่มกักตุน ขโมย และทะเลาะเบาะแว้ง อันเนื่องมาจากความโลภ (กิเลส) มนุษย์เอาเปรียบซึ่งกันและกัน จนความทุกข์ยากแผ่ขยายไปทั่ว "พระเจ้าสมมติราช" กษัตริย์พระองค์แรกในโลกจึงได้เกิดขึ้น เพื่อนำสันติภาพและความสงบเรียบร้อยกลับคืนมา พุทธทาสภิกขุอธิบายว่า "อยู่มากระทั่งวันหนึ่ง มนุษย์พูดหลุดปากออกมาว่า พอใจ! พอใจ! คำว่า พอใจ นี้ที่เป็นภาษาบาลีว่า ราชา คำว่า รช นั่นแปลว่า พอใจ หรือ ยินดี... คำนี้ก็เกิดขึ้นมาเป็นชื่อเรียกของคนคนนั้น ที่ถูกสมมตินั้นว่าราชา"

ผู้นำทางการเมืองจึงควรเป็น "ธรรมราชา" ผู้ตั้งตนอยู่ในทศพิธราชธรรม (คุณธรรมสิบประการของนักปกครอง) ซึ่งมีดังนี้

1. ทาน (การแบ่งปัน) ผู้ปกครองไม่พึงหลงใหลยึดติดในความมั่งคั่งและทรัพย์สมบัติ แต่ควรจะแจกจ่ายเพื่อสวัสดิภาพของประชาชน

2. ศีล (การรักษาความสุจริต) ผู้ปกครองไม่พึงทำลายชีวิต คดโกง ขโมย และเอาเปรียบผู้อื่น ไม่พึงประพฤติผิดในกาม กล่าวคำเท็จ และเกี่ยวข้องกับสิ่งเสพติด นั่นคือผู้ปกครองพึงรักษาศีลห้าเป็นอย่างน้อย

3. ปริจจาคะ (การเสียสละเพื่อส่วนรวม) ผู้ปกครองพึงมีความพร้อมที่จะเสียสละความสุขส่วนตัว ชื่อเสียงเกียรติยศ และแม้กระทั่งชีวิต เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

4.อาชชวะ (การปฏิบัติหน้าที่โดยซื่อตรง) ผู้ปกครองพึงปฏิบัติภาระหน้าที่ โดยปราศจากความเกรงกลัวหรือความลำเอียงใดๆ มีความจริงใจ และต้องไม่หลอกลวงประชาชน

5. มัททวะ (ความเมตตาอ่อนโยน) ผู้ปกครองพึงมีอัธยาศัยอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ยกตนข่มท่าน

6. ตปะ (ความเพียรเผากิเลส) ผู้ปกครองพึงใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย รู้จักบังคับควบคุมตนเอง

7. อักโกธะ (ความไม่โกรธ) ผู้ปกครองพึงละเว้นจากความขุ่นแค้น ริษยา อาฆาตต่อผู้ใด

8. อวิหิงสา (ความไม่เบียดเบียน) ผู้ปกครองพึงละเว้นจากการทำร้ายเบียดเบียนผู้ใด พึงส่งเสริมสันติภาพ หลีกเลี่ยงการทำสงคราม ความรุนแรง และการทำลายชีวิต

9. ขันติ (ความอดกลั้นอดทน) ผู้ปกครองพึงอดทนต่อความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบาก และคำวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่เสียอารมณ์

10. อวิโรธนะ (ความไม่คลาดไปจากธรรม) ผู้ปกครองพึงตั้งตนอยู่ในความชอบธรรม ไม่ขัดขวางเจตนารมณ์ หรือมาตรการอันจะนำไปสู่ประโยชน์สุขของประชาชน

ลักษณะของผู้นำเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าคนดีเป็นผู้ปกครองสังคมทั้งระบบก็จะดีไปด้วย ในทางกลับกันผู้ปกครองที่เลวจะทำให้ระบอบการปกครองเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ การปกครองแบบ "ธรรมิกสังคมนิยม" จึงขึ้นอยู่กับคุณธรรม ความรับผิดชอบ และการตัดสินใจของผู้นำเป็นสำคัญ พุทธทาสภิกขุยกตัวอย่างผู้ปกครองที่ทรงคุณธรรม จากตำนานและประวัติศาสตร์ขึ้นมากล่าวอ้าง เช่น พระเจ้าสมมติราช (กษัตริย์ตามตำนานพระองค์แรกของโลก) พระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดีย และพ่อขุนรามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัย เป็นต้น การปกครองดังกล่าวเคยใช้ได้ผลดีในอาณาจักรเมื่อครั้งอดีต แต่สำหรับสังคมปัจจุบันที่สลับซับซ้อน เราอาจต้องการระบบตรวจสอบอำนาจที่มีประสิทธิภาพในการธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมของสังคม

พุทธทาสภิกขุกล่าวถึงผู้นำทางการเมืองต่อไปว่า "ถ้าพระราชาเป็นเผด็จการเป็นทุรราชเป็นทรราช หรือว่าเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบนั้น ก็ควรอยู่ที่จะเลิกถูกแล้ว แล้วทำไมจึงต้องไปเลิกระบบพระราชาที่ประกอบไปด้วยทศพิธราชธรรม ซึ่งเป็นต้นตอของสังคมนิยม... สังคมนิยมที่แท้จริงหรือเป็นธรรมนั้น ย่อมไม่สร้างคนสองจำพวกนี้ (นายทุนและชนชั้นกรรมาชีพ) จะสร้างแต่ระบบที่ประกอบไปด้วยธรรมที่ถูกต้อง เช่น ระบบที่ไม่มีโอกาสแห่งการกอบโกย"

กระบวนการทางประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลามาก ซึ่งบ่อยครั้งทำให้ชุมชนเสียประโยชน์ พุทธทาสภิกขุจึงได้เพิ่มเติมแนวคิดในเรื่อง "เผด็จการ" มิใช่ในฐานะทรราช แต่ในฐานะผู้พิทักษ์ประโยชน์ส่วนรวม ตามความเห็นของท่าน คำว่า "เผด็จการ" มีสองความหมายคือ ในฐานะอุดมการณ์ทางการเมือง เช่น ลัทธิรวบอำนาจของเผด็จการทหาร เป็นต้น เป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาอย่างแน่นอน แต่ในฐานะเครื่องมือเพื่อบรรลุถึงเป้าหมายอันพึงปรารถนา นับเป็นการกระทำสิ่งต่างๆ อย่างรวดเร็วฉับไว

ความคิดของพุทธทาสภิกขุในเรื่อง "เผด็จการ" นี้เกิดขึ้นในระหว่างปี พ.ศ.2516-2519 อันเป็นช่วงเวลาแห่งความยุ่งยากทางการเมืองในประเทศไทย ดูเหมือนว่าเวลานั้น "ประชาธิปไตย" จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาความแตกแยกของอุดมการณ์ทางการเมือง ที่แบ่งออกเป็นฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายได้ ท่านจึงเห็นว่าควรใช้วิธีการแบบ "เผด็จการโดยธรรม" ในอันที่จะยุติความเกลียดชังและความยุ่งยากทั้งหลาย และนำสังคมกลับคืนไปสู่ความสงบสุขอีกครั้งหนึ่ง ท่านกล่าวว่า "เดี๋ยวนี้ประเทศเรากำลังสับสนหมด ไม่รู้ว่าจะจัดการลงไปอย่างไร ที่ตรงไหน ถ้าใช้เผด็จการที่ประกอบไปด้วยธรรมแล้ว จะดีจะเร็วจะหมดปัญหาได้เร็ว"

พุทธทาสภิกขุสรุปว่า "ประชาธิปไตยแบบสังคมนิยม" ตามหลักแห่งพระศาสนา ประกอบไปด้วยธรรม และดำเนินการอย่างเผด็จการแนว "ทศพิธราชธรรม" ซึ่งหลุยส์ กาโบด (Louis Gabaude) วิจารณ์ว่าเป็นไปได้ยากในโลกแห่งความเป็นจริง เพราะไม่มีใครจะสามารถจินตนาการได้ว่า องค์ประกอบที่สำคัญสามประการของรัฐในอุดมคติของพุทธทาสภิกขุ คือ ธรรมะ เผด็จการ และสังคมนิยม จะเข้ามารวมกันได้อย่างไรในสังคมไทยปัจจุบัน ส่วนโดนัลด์ สแวเรอร์ (Donald Swearer) กลับเห็นว่า ทรรศนะของพุทธทาสภิกขุเป็นบทวิพากษ์ของทั้งระบบทุนนิยมและสังคมนิยมแบบตะวันตก และให้หลักการพื้นฐานในเรื่องปรัชญาการเมือง ซึ่งอาจช่วยนำประเทศไทยไปสู่สังคมที่ยุติธรรมและเสมอภาคมากขึ้น

ผู้นำทางการเมืองของพุทธทาสภิกขุเตือนให้เรานึกถึง "ราชานักปราชญ์" (philosopher king) ในอุตมรัฐ (Republic) ของเพลโต (Plato) ในสาธารณรัฐสังคมนิยมของเพลโต ได้จำแนกพลเมืองออกเป็นสามชั้นด้วยกันคือ ราชานักปราชญ์ ข้าราชการ และประชาชน ราชานักปราชญ์เป็นผู้ปกครองที่มีคุณธรรมและสติปัญญามากที่สุด "ราชานักปราชญ์" ของเพลโตมีคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกับ "ธรรมราชา" ในธรรมิกสังคมนิยมของพุทธทาสภิกขุ อย่างไรก็ตามสาธารณรัฐของเพลโตถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยอริสโตเติล (Aristotle) ซึ่งสนับสนุนรูปแบบของรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่า

ท่ามกลางวิกฤตการเมืองไทยในปัจจุบันซึ่ง "ทุนนิยมผูกขาด" (monopoly capitalism) ครองเมือง ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจตกอยู่ในมือของชนชั้นนายทุนผู้มั่งคั่ง (ทั้งทุนชาติและทุนข้ามชาติ) เพียงหยิบมือเดียว โดยหลักการแล้วทุกคนมีสิทธิที่จะ "แข่งขันโดยเสรี" ได้ แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้ว "ทุนใหญ่กลืนกินทุนเล็ก" ประชาชนส่วนใหญ่จึงตกอยู่ในความยากจน ความเคลื่อนไหวเรียกร้องของภาคประชาชน ที่ต้องการแสวงหารูปแบบการปกครองอย่างใหม่ ที่จะสามารถจัดสรรทรัพยากรของชาติได้อย่างเป็นธรรม เพื่อประโยชน์ที่แท้จริงของชาติและประชาชน จึงเป็นเสียงเรียกร้องที่ควรแก่การรับฟัง

ทฤษฎี "ธรรมิกสังคมนิยม" ของพุทธทาสภิกขุ ซึ่งเป็นปรัชญาการเมืองของนักคิดไทย ในบริบทของสังคมไทย บางทีอาจให้แนวทางในการแสวงหาคำตอบต่อเสียงเรียกร้องนี้ ซึ่งออกมาจากความต้องการที่แท้จริงของประชาชน
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 10 สิงหาคม 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11110 . คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6.

Photo : https://pixabay.com/photos/buddhists-monks-meditate-thailand-453393/

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo