นักปฏิรูปพุทธศาสนาของไทยที่สำคัญอีกท่านหนึ่งคือ พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตโต) พระธรรมปิฎกได้เชื่อมโยงแนวคิดในพุทธศาสนากับแนวคิดตะวันตกไว้อย่างกว้างขวาง เช่น พุทธศาสนากับจริยธรรมการแพทย์ จริยธรรมสังคม เศรษฐศาสตร์ และนิเวศวิทยา เป็นต้น นอกเหนือจากพุทธทาสภิกขุและพระธรรมปิฎกแล้ว ยังมีนักคิดและนักกิจกรรมชาวพุทธอีกจำนวนหนึ่งซึ่งมีส่วนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมและวัฒนธรรมไทย บุคคลเหล่านี้ ได้แก่ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ประเวศ วะสี และภิกษุณีธรรมนันทา (ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์) เป็นต้น นักปฏิรูปเหล่านี้เป็นตัวแทนของพุทธศาสนาที่เปลี่ยนแปลงสังคมไทย
สำนักพุทธศาสนาของไทยอาจอธิบายจากมุมมองทางสังคมวัฒนธรรม ตามกรอบความคิด (methodology) ของริชาร์ด นีบูรห์ (Richard Niebuhr) ภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั้งทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของไทย นับตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับสังคมวัฒนธรรมจากมุมมองของนีบูรห์ มี 5 ประการคือ (1) ศาสนาเป็นสิ่งเดียวกับ (identify) วัฒนธรรมและสังคม (2) ศาสนาเป็นสิ่งที่อยู่เหนือ (above) วัฒนธรรมและสังคม (3) ศาสนาเป็นสิ่งต่อต้าน (against) วัฒนธรรมและสังคม (4) ศาสนาเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลง (transform) วัฒนธรรมและสังคม และ (5) ศาสนาเป็นสิ่งที่ไม่เข้ากับ (paradox) วัฒนธรรมและสังคม
พุทธศาสนาที่เข้ากับอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ
นับตั้งแต่ราชอาณาจักรสุโขทัยในคริสต์ศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมา พุทธศาสนาถูกนำมาใช้ทั้งเชิงจักรวาลวิทยาและเชิงสถาบัน ในการรับรองสถานะของพระมหากษัตริย์และรัฐไทย สำหรับยุคสมัยหลัง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงประดิษฐ์คำขวัญเชิงอุดมการณ์ที่ว่า "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" คำขวัญดังกล่าวได้กลายเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างง่ายๆ ของคนไทยทั่วทั้งประเทศ
ระหว่างทศวรรษที่ 1960 เมื่อประเทศไทยได้เร่ง "การพัฒนา" ตามแบบอย่างของตะวันตก รัฐบาลได้ส่งเสริมคณะสงฆ์ไทยให้ช่วยสร้างความสามัคคีภายในชาติและการพัฒนาประเทศ ด้วยการสนับสนุนโครงการที่สำคัญ 2 โครงการ โครงการแรกคือ "ธรรมทูต" คณะสงฆ์จากส่วนกลางถูกส่งออกไปยังชนบท เพื่อช่วยชาวบ้านในการพัฒนาชุมชนพร้อมๆ ไปกับการเผยแผ่ธรรมะ โครงการที่สองคือ "ธรรมจาริก" มีวัตถุประสงค์เพื่อเปลี่ยนชาวไทยภูเขาในภาคเหนือให้หันมานับถือพุทธศาสนาเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติ โครงการทำนองเดียวกันในระยะต่อมาคือ "แผ่นดินธรรม-แผ่นดินทอง" รัฐบาลพยายามที่จะควบคุมการทำงานเชิงสังคมทุกโครงการที่ริเริ่มโดยพระสงฆ์ทั่วประเทศภายใต้นโยบายเดียว เช่น ธนาคารข้าว ธนาคารควาย การช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติด การค้าขายของชุมชน การผลิตทางการเกษตรที่หลากหลาย และการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น
พุทธศาสนาอย่างใหม่ของไทย ที่เข้ากับฐานอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจคือ "ธรรมกาย" ธรรมกายได้ย่อจักรวาลวิทยาตามแบบฉบับของพุทธศาสนา พร้อมด้วยจุดหมายคือ "นิพพาน" ให้ตั้งอยู่ ณ ตำแหน่งต่างๆ ในร่างกาย สาวกของธรรมกายได้ใช้กลวิธีการตลาดที่ซับซ้อน และทักษะในการติดต่อสื่อสารเพื่อเผยแพร่ลัทธิของตน กิจกรรมและการตีความพุทธศาสนาของธรรมกายได้ให้การรับรองสถานะของชนชั้นปกครอง กลุ่มซึ่งได้ให้การสนับสนุนธรรมกายเป็นการตอบแทนในขณะเดียวกัน
พุทธศาสนาที่อยู่เหนือสังคมไทย
ในธรรมเนียมพุทธศาสนาเถรวาทของไทย วัดมีอยู่ 2 ประเภทคือ "คามวาสี" (วัดบ้าน) และ "อรัญญวาสี" (วัดป่า) วัดบ้านส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่การศึกษา (คันถะธุระ) ในขณะที่วัดป่าจะมุ่งเน้นไปที่การปฏิบัติสมาธิภาวนา (วิปัสสนาธุระ)
ในบรรดาวัดป่าทั้งหลาย สายอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แห่งภาคอีสานของไทย ได้รับการยกย่องว่าเป็นสายที่เข้มแข็งที่สุดทางด้านวิปัสสนาธุระ อาจารย์มั่นได้สืบทอดธรรมเนียมการปฏิบัติลงมายังวิปัสสนาจารย์หลายรูป เช่น อาจารย์ชา หลวงตามหาบัว และหลวงปู่สิม เป็นต้น คนไทยส่วนใหญ่ยกย่องพระสงฆ์เหล่านี้ว่าเป็น "พระอริยะ" ผู้ซึ่ง "อยู่เหนือ" สังคมและชีวิตธรรมดาสามัญ สายวัดป่าของอาจารย์มั่นนับเป็นประเภท "ศาสนาที่อยู่เหนือสังคม" ในบริบทของไทย
พุทธศาสนาที่ต่อต้านวัฒนธรรมและสังคมไทย
ในดินแดนอันยากจนแห่งภาคอีสานของไทย ณ จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ ได้เกิดความเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองที่เรียกว่า ขบวนการ "ผู้มีบุญ" (หรือ "กบฏผีบุญ" ตามคำเรียกของทางราชการ) ขึ้น เพื่อต่อต้านอำนาจส่วนกลางจากกรุงเทพฯ ขบวนการ "ผู้มีบุญ" นับเป็นตัวแทนของการแสดงออกทางศาสนา เพื่อประท้วงต่อความไม่ยุติธรรมทางเศรษฐกิจจากรัฐบาลกลาง
เช่นเดียวกับในภาคเหนือของไทยในช่วงทศวรรษที่ 1920 และ 1930 ครูบาศรีวิชัยได้ประท้วงต่อการรวมศูนย์อำนาจคณะสงฆ์ไว้ที่ส่วนกลางในกรุงเทพฯ โดยได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากประชาชนภาคเหนือ ทั้งสองกรณีนี้เป็นตัวอย่างในประวัติศาสตร์ที่ชาวพุทธได้ลุกขึ้นประท้วงต่อวัฒนธรรมและสังคมไทยกระแสหลัก
ล่าสุดก็คือ กรณีของโพธิรักษ์และสันติอโศก การปฏิเสธในเชิงทฤษฎีต่อ "พุทธศาสนาของชนชั้นปกครอง" ของนักปฏิรูปส่วนใหญ่นั้น ได้รับการนำไปปฏิบัติโดยโพธิรักษ์ โดยท่านและคณะได้ปฏิเสธอำนาจเชิงสถาบันของมหาเถรสมาคม สำหรับการเน้นวินัยชาวพุทธที่เคร่งครัด และความบริสุทธิ์ทางจริยธรรมของโพธิรักษ์และสันติอโศกนั้น นับเป็นการนำระบบ "เหตุผลนิยม" (ซึ่งนักปฏิรูปท่านอื่นเห็นด้วยในเชิงทฤษฎี) มาใช้ในเชิงปฏิบัติ
โพธิรักษ์และสานุศิษย์ได้วิพากษ์พฤติกรรมอันหละหลวมของคณะสงฆ์ไทย และความงมงายในการทำบุญของชาวพุทธไทย ท่านได้ต่อต้านความรุนแรงทุกรูปแบบในสังคมไทย โพธิรักษ์และสมาชิกสันติอโศกได้ประพฤติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด รวมทั้งการฉันอาหารมังสวิรัติเพียงวันละมื้อ การไม่ใส่รองเท้า และการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย เนื่องจากโพธิรักษ์ต่อต้านกระแสหลักของสังคมและวัฒนธรรมไทย คณะสงฆ์ไทยและชนชั้นปกครองได้ทำการปราบปรามท่านและคณะ ด้วยข้อหาละเมิดต่อกฎหมายคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 โพธิรักษ์และสันติอโศกเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของพุทธศาสนาที่ต่อต้านสังคมและวัฒนธรรมไทย
พุทธศาสนาที่เปลี่ยนแปลงสังคมไทย
นักปฏิรูปและอรรถกถาจารย์ที่เด่นที่สุดในพุทธศาสนาของไทย ได้แก่ พุทธทาสภิกขุ ท่านมีความสำคัญต่อพุทธศาสนาของไทยอย่างน้อยที่สุดใน 2 แง่มุมคือ ในทางทฤษฎีแล้วพุทธทาสภิกขุได้ตีความแนวคิดส่วนใหญ่ในพุทธศาสนาของไทย โดยใช้ระบบเหตุผลนิยม(rationalism) และการตีความให้เป็นเรื่องภายในจิตใจของมนุษย์ (internalization) ในทางปฏิบัติแล้วพุทธทาสภิกขุได้ตั้ง "สวนโมกขพลาราม" (สวนแห่งความหลุดพ้น) ขึ้น ในความพยายามที่จะกลับไปหารูปแบบดั้งเดิมของคณะสงฆ์ในครั้งพุทธกาล กล่าวกันว่าการปฏิรูปคำสอนพุทธศาสนาของไทยที่ริเริ่มโดยรัชกาลที่ 4 ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั้น มาสำเร็จสมบูรณ์ในงานของพุทธทาสภิกขุในคริสต์ศตวรรษที่ 20 นี้เอง
นักปฏิรูปพุทธศาสนาของไทยที่สำคัญอีกท่านหนึ่งคือ พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตโต) พระธรรมปิฎกได้เชื่อมโยงแนวคิดในพุทธศาสนากับแนวคิดตะวันตกไว้อย่างกว้างขวาง เช่น พุทธศาสนากับจริยธรรมการแพทย์ จริยธรรมสังคม เศรษฐศาสตร์ และนิเวศวิทยา เป็นต้น นอกเหนือจากพุทธทาสภิกขุและพระธรรมปิฎกแล้ว ยังมีนักคิดและนักกิจกรรมชาวพุทธอีกจำนวนหนึ่งซึ่งมีส่วนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมและวัฒนธรรมไทย บุคคลเหล่านี้ ได้แก่ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ประเวศ วะสี และภิกษุณีธรรมนันทา (ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์) เป็นต้น นักปฏิรูปเหล่านี้เป็นตัวแทนของพุทธศาสนาที่เปลี่ยนแปลงสังคมไทย
พุทธศาสนาที่ไม่เข้ากับวัฒนธรรมไทย
ภายในบริบทพุทธศาสนาเถรวาทของไทย ได้เกิดครูสอนสมาธิภาวนาท่านหนึ่งขึ้น ซึ่งคำสอนของท่านนั้นยากที่จะเข้ากันได้กับวัฒนธรรมไทย ท่านมีคุณลักษณะที่เหมือนกับอาจารย์เซน ("ฌาน" ในภาษาจีน หรือ "เซน" ในภาษาญี่ปุ่น) มากกว่าอาจารย์เถรวาท ท่านคือหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ผู้ก่อตั้ง "การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว" (Dynamic Meditation)
เรื่องราวของหลวงพ่อเทียนเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ยาก ในบริบทของพุทธศาสนาเถรวาทของไทย หลวงพ่อเทียนเติบโตขึ้นในวัฒนธรรมพุทธศาสนาในภาคอีสานของไทย ท่านรู้แจ้งในธรรมะขณะที่เป็นฆราวาสเมื่ออายุได้ 46 ปี วิถีทางแห่งการรู้แจ้งของท่านนั้นเป็นไปแบบ "ฉับพลัน" ซึ่งเป็นที่คุ้นเคยในพุทธศาสนานิกายฌาน(เซน) ภายในกรอบวัฒนธรรมเถรวาทของไทยนั้น บุคคลจะต้องสร้างสมบารมีและ "กรรมดี" นับชาติไม่ถ้วนกว่าที่จะบรรลุ "นิพพาน"(ความสิ้นสุดแห่งทุกข์) อันเป็นเป้าหมายของพุทธศาสนา ในชาติสุดท้ายบุคคลนั้นจะต้องออกบวชเป็นพระภิกษุ และจะต้องบำเพ็ญเพียรอย่างหนักในป่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนานจึงจะสามารถบรรลุธรรมได้ โดยนัยนี้ชีวิตของหลวงพ่อเทียนเป็นสิ่งที่ไม่เข้ากับธรรมเนียมของวัฒนธรรมไทย
หลวงพ่อเทียนสอนการเจริญสติขณะที่ยังเป็นฆราวาสเป็นระยะเวลา 2 ปี โดยไม่สู้ได้ผลนัก ในโลกแห่งพุทธศาสนาของไทยที่มีวัดเป็นศูนย์กลางนั้น เป็นสิ่งที่ยากลำบากที่จะยอมรับครูสอนสมาธิภาวนาที่เป็นฆราวาส ดังนั้นการไม่ประสบความสำเร็จในการสอนการเจริญสติในขณะที่เป็นฆราวาสของหลวงพ่อเทียนนั้นเป็นเรื่องที่น่าไม่แปลกใจ แต่เมื่อท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุและสั่งสอนการเจริญสตินั้น ท่านได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากประชาชนและมีสานุศิษย์เป็นจำนวนมาก
คำสอนของหลวงพ่อเทียนนั้น "อยู่นอกเหนือธรรมเนียมและคัมภีร์" ท่านเน้นความรู้สึกตัว (สติ) และการเห็นโลกตามที่เป็นจริงเหนือความคิด เนื่องจากคัมภีร์และธรรมเนียมเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของความคิด ดังนั้นคำสอนเรื่องการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวของท่าน ซึ่งชี้ตรงไปยังความรู้สึกตัวเหนือความคิดนั้น จึงเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับคัมภีร์และธรรมเนียมน้อยมาก ในทรรศนะนี้คำสอนของหลวงพ่อเทียนไม่เข้ากับธรรมเนียมพุทธศาสนาของไทย ซึ่งเน้นหนักในเรื่องพระไตรปิฎกและขนบประเพณี
โดยสรุป ริชาร์ด นีบูรห์ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากแม็คส์ เวเบอร์ (Max Weber) และเอิร์นส์ต์ โทรเอลต์ช์ (Ernst Troeltsch) ได้เสนอมุมมอง (methodology) ในการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาและวัฒนธรรมไว้อย่างเด่นชัด เมื่อเราประเมินประสบการณ์เชิงสังคมและวัฒนธรรมในพุทธศาสนาของไทย รวมทั้งประสบการณ์ในประเทศอื่น วิธีห้าประการในมุมมองของนีบูรห์ที่อธิบายปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับสังคมนับว่าเป็นประโยชน์มากทีเดียว เพราะช่วยให้เราเข้าใจคุณลักษณะที่แตกต่างหลายประการของพุทธศาสนาของไทย และให้ภาพรวมของความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับสังคมไทยปัจจุบันได้อย่างชัดเจน.
--
ที่มา :หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 9612. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6.
Photo : https://pixabay.com/illustrations/buddha-followers-praying-grove-1053137/