พุทธศาสนากับสังคมการเมืองในอุษาคเนย์

พุทธศาสนาจากอินเดียที่เข้ามายังเกาะลังกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น เป็นพุทธศาสนาฝ่าย "เถรวาท" มีลักษณะอนุรักษ์นิยม เนื่องจากได้รักษารูปแบบและเนื้อหาคำสอนของพุทธศาสนาแบบอินเดีย โดยเกือบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญแต่อย่างใด เนื่องจากดินแดนแถบนี้ไม่มีปรัชญาหรือศาสนาที่สำคัญอยู่ก่อน เมื่อพุทธศาสนาเดินทางมาถึง จึงเป็นที่ยอมรับของประชาชนได้โดยง่าย เพราะมีคำสอนหรือปรัชญาที่ลึกซึ้งกว่าศาสนาปฐมบรรพ์อย่างเทียบกันไม่ได้
 

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
ภาควิชามนุษยศาสตร์ 
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยมหิดล

พุทธศาสนาจากอินเดียที่เข้ามายังเกาะลังกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น เป็นพุทธศาสนาฝ่าย "เถรวาท" (Theravada) มีลักษณะอนุรักษ์นิยม (Conservative) เนื่องจากได้รักษารูปแบบและเนื้อหาคำสอนของพุทธศาสนาแบบอินเดีย โดยเกือบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญแต่อย่างใด เนื่องจากดินแดนแถบนี้ไม่มีปรัชญาหรือศาสนาที่สำคัญอยู่ก่อน เมื่อพุทธศาสนาเดินทางมาถึง จึงเป็นที่ยอมรับของประชาชนได้โดยง่าย เพราะมีคำสอนหรือปรัชญาที่ลึกซึ้งกว่าศาสนาปฐมบรรพ์อย่างเทียบกันไม่ได้

ดินฟ้าอากาศในดินแดนแถบนี้อยู่ในเขตร้อน พระภิกษุจากอินเดียเมื่อเดินทางมาถึงจึงไม่ต้องปรับตัวมากนัก ยังคงครองผ้าสามผืนได้ดังในครั้งพุทธกาล ทำให้สามารถอนุรักษ์รูปแบบของสถาบันสงฆ์ดั้งเดิมไว้ได้ ข้อดีของพุทธศาสนาเถรวาทก็คือ สามารถรักษารูปแบบและเนื้อหาคำสอนในครั้งพุทธกาลไว้ได้อย่างใกล้เคียงที่สุด ส่วนข้อด้อยก็คือ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับแนวคิดและสภาพแวดล้อมใหม่ ก็ไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงหรือปรับตัวให้เข้ากับความคิดหรือสภาพแวดล้อมใหม่นั้น ทำให้การเผยแผ่พุทธศาสนาเถรวาทกระทำได้อย่างจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในดินแดนตะวันตกปัจจุบัน

พุทธศาสนาในพม่า

แต่เดิมนั้นพม่าก็มี 3 สถาบันหลักคล้ายไทยคือ "ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์" เมื่ออังกฤษเข้ายึดครองพม่าเป็นอาณานิคม ทำให้สถาบันชาติล่มสลาย และสถาบันพระมหากษัตริย์สิ้นสุดลง (กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่าคือ พระเจ้าธีบอ เสด็จลี้ภัยไปอยู่อินเดีย) เหลือแต่เพียงสถาบันพุทธศาสนาเท่านั้นที่ยังคงอยู่เป็นที่พึ่งของประชาชน ในยามที่บ้านเมืองต้องตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งต่างชาติ

แต่เดิมนั้นรัฐ (คือพระมหากษัตริย์) ทำหน้าที่ทำนุบำรุงพุทธศาสนาในพม่า เมื่ออังกฤษเข้ามาปกครองพม่า การทำนุบำรุงพุทธศาสนาจากรัฐจึงสิ้นสุดลง ทำให้พระสงฆ์กับประชาชนต้องรวมตัวกันเพื่อปกป้องพุทธศาสนา อันเป็นสถาบันเดียวที่เหลืออยู่ในขณะนั้น พระสงฆ์พม่าจึงทำหน้าที่เป็นผู้นำประชาชนมาตลอดในยุคอาณานิคม

สมัยที่อังกฤษปกครองพม่านั้น ข้าหลวงอังกฤษไม่ยอมถอดรองเท้าในเวลาเข้าโบสถ์พุทธศาสนาตามธรรมเนียมพม่า ทำให้พระสงฆ์และชาวพม่าเกิดความขุ่นเคืองใจเป็นอย่างยิ่ง จนนำไปสู่การเดินขบวนประท้วงที่เรียกกันว่า "กบฏเกือก" (ต่อมาชาวอังกฤษต้องยอมถอดรองเท้าในเวลาเข้าวัดพม่า) และกลายเป็น "ขบวนการกู้ชาติ" ในเวลาต่อมา ความเคลื่อนไหวในเชิงการเมืองและวัฒนธรรมนี้ พระสงฆ์คือผู้นำของประชาชน

แม้จะแตกแยกเป็นหลายนิกายหลายสำนักมาตลอดประวัติศาสตร์ แต่พุทธศาสนาของพม่าก็มีความเข้มแข็ง เนื่องจากเติบโตขึ้นจากฐานรากของประชาชนอย่างแท้จริง สถาบันสงฆ์ของพม่าไม่มีองค์กรปกครองสูงสุด (อย่างเช่น "มหาเถรสมาคม" ของไทย) คณะสงฆ์พม่าจึงไม่ตกอยู่ในระบบราชการ กระบวนการตรวจสอบระหว่างประชาชนกับพระสงฆ์ยังคงมีอยู่อย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง พระสงฆ์จึงเป็นผู้ทรงศีล ประชาชนจึงยังคงเคารพศรัทธาพระสงฆ์อย่างเต็มเปี่ยม

เมื่อพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในวันที่ 4 มกราคม ค.ศ.1948 นายกรัฐมนตรีอูนุ (U Nu) ได้พยายามผลักดันนโยบาย "พุทธสังคมนิยม" (Buddhist Socialism) ในแบบฉบับของพม่า โดยรัฐจะให้หลักประกันในด้านปัจจัยสี่ (อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค) แก่ประชาชน และพุทธศาสนาให้แนวทางในด้านจิตใจและจริยธรรม ความพยายามของอูนุยังไม่ประสบผลสำเร็จนักก็เกิดรัฐประหารขึ้นก่อน

แม้ว่าพม่าจะได้สถาบัน "ชาติ" กลับคืนมาแล้ว แต่ผู้นำรัฐก็เป็นเผด็จการทหารที่มุ่งแต่แสวงหาประโยชน์ส่วนตน ไม่แตกต่างไปจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษในอดีต ประชาชนจึงไม่อาจหวังพึ่ง "รัฐ" ได้ ในยามที่ประชาชนรู้สึกโดดเดี่ยวภายใต้ระบอบเผด็จการทหารนั้น จึงมีเพียงสถาบันสงฆ์เท่านั้นที่พอจะเป็นที่พึ่งของประชาชน พระสงฆ์จึงก้าวออกมาเป็นผู้นำประชาชน และยืนหยัดเคียงข้างประชาชนในการเรียกร้องความเป็นธรรมของสังคม

เมื่อนางออง ซาน ซูจี (Aung San Suu Kyi) บุตรสาวของอองซาน (วีรบุรุษการต่อสู้เพื่อเอกราชของพม่า) ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งปี ค.ศ.1990 แต่ถูกรัฐบาลทหารล้มการเลือกตั้งนั้น และกักตัวนางออง ซาน ซูจี ไว้ที่บ้าน ทำให้พม่าขาด "ผู้นำประชาชน" อีกครั้งหนึ่ง สถาบันสงฆ์พม่าจึงยังคงเป็นเพียงความหวังเดียวของประชาชน การเดินขบวนประท้วงระบอบเผด็จการทหารโดยนักศึกษาและประชาชนพม่า จึงมีพระสงฆ์ร่วมยืนหยัดเคียงข้างอย่างเหนียวแน่นเสมอมา

พุทธศาสนาในกัมพูชา

หลังจากที่กัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส พุทธศาสนาเถรวาทก็ได้เข้ามามีบทบาทต่อการเมืองของกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 เป็นต้นมา เจ้านโรดมสีหนุนำเสนอ "พุทธสังคมนิยม" (Buddhist Socialism) บนฐานคิดของพุทธศาสนาและโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรมกัมพูชา โดยเน้นหลักความเสมอภาค ความเป็นอยู่ที่ดีของคนยากจน และเอกลักษณ์ของชาติ พระองค์ทรงย้ำว่าความเป็นกลางทางการเมืองระหว่างประเทศของกัมพูชา มาจากหลัก "ทางสายกลาง" ในพุทธศาสนา

สงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงในเดือนเมษายน ค.ศ.1975 ด้วยชัยชนะของเขมรแดง รัฐบาลเขมรแดงปกครองประเทศอย่างเข้มงวด และเปลี่ยนแปลงสังคมกัมพูชาอย่างถึงรากถึงโคน ภายใต้รัฐบาลเขมรแดง พุทธศาสนาต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงทั้งในด้านคำสอน คณะสงฆ์ และวัด พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าถูกตีความให้รับใช้การปฏิวัติ พระสงฆ์ต้องเข้ารับการศึกษาใหม่ และต้องใช้แรงงานเช่นเดียวกับฆราวาสทั้งในท้องนา การก่อสร้างถนนและเขื่อน มีการทำลายวัดวาอารามและพระพุทธรูป มีการเผาคัมภีร์และตำราทางศาสนา ภายในระยะเวลาเพียงสี่ปีพุทธศาสนาเกือบสูญสิ้นไปจากประเทศ

การยึดครองกรุงพนมเปญของกองทัพเวียดนามเมื่อวันที่ 7 มกราคม ค.ศ.1979 ทำให้การปกครองของเขมรแดงสิ้นสุดลง ระบอบเฮงสัมริน (Heng Samrin) ได้ถูกสถาปนาขึ้นภายใต้การควบคุมของเวียดนาม เฮงสัมรินได้ใช้พุทธศาสนาและคณะสงฆ์กัมพูชาเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการต่อสู้กับเขมรแดง ภายใต้ระบอบเฮงสัมริน แม้พระสงฆ์จะมิได้ถูกมองว่าเป็นกาฝากของสังคม และเป็นผู้ยังประโยชน์แก่ประเทศ แต่คณะสงฆ์ก็ถูกควบคุมจากรัฐบาลอย่างใกล้ชิด โดยต้องเข้ารับการอบรมลัทธิคอมมิวนิสต์จากเวียดนามและโซเวียต นิกายธรรมยุตและมหานิกายของกัมพูชาถูกยุบรวมเป็นหนึ่งเดียว และพระสงฆ์ต้องตีความพุทธศาสนาให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ

ภายใต้รัฐบาลปัจจุบันของสมเด็จฯฮุน เซน (Hun Sen) สถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ โดยเจ้านโรดมสีหโมลี (พระโอรสของเจ้านโรดมสีหนุ) ทรงเป็นกษัตริย์องค์ปัจจุบัน พุทธศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีได้รับการส่งเสริมสนับสนุน พร้อมกับระบอบประชาธิปไตยที่มีพรรคการเมืองหลายพรรค สำหรับชาวกัมพูชาแล้วพุทธศาสนาและเอกลักษณ์ความเป็นกัมพูชาคือสิ่งเดียวกัน 

พุทธศาสนาในลาว

ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสในยุคอาณานิคม ฝรั่งเศสได้แยกเรื่องรัฐและศาสนาออกจากกันตามแนวคิดแบบตะวันตก พุทธศาสนาจึงมิได้เป็นศาสนาประจำชาติอีกต่อไป และเมื่อฝรั่งเศสนำระบบการศึกษาแบบตะวันตกเข้ามา พระสงฆ์ลาวก็เริ่มสูญเสียบทบาทในด้านการศึกษา และการเป็นผู้นำทางสติปัญญาแก่สังคมไปด้วย ทำให้พุทธศาสนาของลาวในยุคอาณานิคมเสื่อมลง

ต่อมาเมื่อกองทัพญี่ปุ่นบุกเข้ายึดครองประเทศลาวในสงครามโลกครั้งที่สอง คนลาวได้รวมตัวกันเป็น "ขบวนการชาตินิยมลาว" ขึ้นในปี พ.ศ.2483 มีการปลุกระดมให้สำนึกถึงประวัติศาสตร์ และประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมของลาวอันมีพุทธศาสนาเป็นศูนย์กลาง จึงเกิดความพยายามที่จะฟื้นฟูพุทธศาสนาขึ้นมาใหม่ พระสงฆ์ทำหน้าที่ในการปลูกฝังความรู้สึกรักชาติ และวัดได้กลายเป็นศูนย์กลางการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราช พุทธศาสนาจึงมีบทบาทอย่างสำคัญในการต่อสู้ของประชาชน จากการครอบครองของจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง และของอาณานิคมฝรั่งเศสในยุคต่อมา

เมื่อ "สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว" ได้รับการสถาปนาขึ้นในปี พ.ศ.2518 นโยบายเกี่ยวกับพุทธศาสนาถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจน โดยเน้นว่า หลักการของพุทธศาสนาและสังคมนิยมมีความสอดคล้องกัน เพราะต่างก็สอนให้มนุษย์มีความเสมอภาค สมบัติหรือกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลเป็นสิ่งต้องห้าม ทรัพย์สินหรือกรรมสิทธิ์ส่วนรวมได้รับการสนับสนุน เป้าหมายของพุทธศาสนาและสังคมนิยมคือ การทำให้มนุษย์ปราศจากทุกข์ โดยในส่วนบุคคลคือการละกิเลสเพื่อบรรลุนิพพาน ในส่วนสังคมคือการปฏิวัติสังคมนิยม เพื่อปลดปล่อยชาติและประชาชนจากการแสวงหาผลประโยชน์ของพวกนายทุน ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ในความทุกข์ยากของประชาชน

นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 เป็นต้นมา ประเพณีและพิธีกรรมในพุทธศาสนาถูกประยุกต์ใช้เป็นยุทธวิธี ในการจัดระเบียบทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เช่น ในการประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา มีการอธิบายและแทรกแนวคิดลัทธิมาร์กซ์-เลนิน (Marxism-Leninism) เข้าไปด้วย เป็นต้น นับเป็นการใช้พุทธศาสนาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ลาวอย่างได้ผล ทำให้พุทธศาสนากับลัทธิสังคมนิยมอยู่เคียงคู่กันได้เป็นอย่างดีในสังคมนิยมแบบลาว

โดยสรุป พุทธศาสนาได้ให้อุดมการณ์ทางความคิดและพื้นฐานทางวัฒนธรรมแก่ชาวอุษาคเนย์ ในการเผชิญหน้ากับลัทธิอาณานิคมจากตะวันตก การยึดครองของญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง และลัทธิเผด็จการทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพม่า แม้ว่าพุทธศาสนาต้องเผชิญกับการปราบปรามที่เข้มงวดของเขมรแดงในกัมพูชา แต่พุทธศาสนาก็ปรับตัวได้ดีกับลัทธิสังคมนิยมในลาว และโดยภาพรวมแล้วพุทธศาสนาได้รับชัยชนะและยังคงเป็นฐานแห่งความคิดและวัฒนธรรมที่มั่นคงของประเทศในอุษาคเนย์ต่อไป.
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ปีที่ ๓๒ ฉบับที่ ๑๑๔๗๔. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า ๖.

Photo : https://pixabay.com/photos/buddhism-journey-nature-temple-1851454/

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo