ศาสนาในบรูไนและติมอร์ตะวันออก

นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา มีความพยายามที่จะสร้างชาติและวัฒนธรรมภายใต้คำขวัญที่ว่า "มาเลย์-อิสลาม-กษัตริย์" (Malayu-Islam-Beraja) แต่ปัญหามีอยู่ว่าชนชั้นกลางซึ่งนับวันจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นนั้นจะยอมรับการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่อไปอีกสักเท่าใด ในเมื่อสถานะทางการศึกษาและการเงินของชนชั้นกลางเหล่านี้มีสูงขึ้นตามลำดับอย่างต่อเนื่อง
 

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
ภาควิชามนุษยศาสตร์ 
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยมหิดล

บรูไนเป็นรัฐอิสลามที่ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยมีสุลต่านฮัสสนาล โบลเคียห์ (Hassanal Bolkiah) ซึ่งเป็นองค์ที่ 29 แห่งราชวงศ์เป็นประมุข บรูไนมีประชากรประมาณ 343,000 คน โดยเกือบร้อยละ 60 อาศัยอยู่ในเมือง ประชากรประกอบด้วยเชื้อสายมาเลย์ประมาณร้อยละ 64 เชื้อสายจีนประมาณร้อยละ 20 และชนเผ่าท้องถิ่นประมาณร้อยละ 8 การค้นพบน้ำมันและก๊าซธรรมชาติภายใต้แผ่นดินและผืนน้ำ ทำให้บรูไนมีรายได้ต่อหัวของประชากรประมาณ 17,500 เหรียญสหรัฐต่อปี สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บรูไนได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและพุทธศาสนาจากอินเดียในสหัสวรรษแรก บันทึกของจีนได้กล่าวถึงอาณาจักรปูนี (Puni) ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะกาลิมานตัน (Kalimantan) หรือบอร์เนียว (Borneo) ที่ได้ส่งเครื่องราชบรรณาการแก่พระจักรพรรดิจีนในระหว่างศตวรรษที่ 6 และ 9 ในศตวรรษที่ 14 บรูไนตกอยู่ภายใต้อำนาจของอาณาจักรมัชปาหิต (Majapahit) แห่งชวาซึ่งนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ในศตวรรษที่ 15 ผู้ปกครองบรูไนทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงแห่งมาลักกา จึงได้เข้ารีตนับถืออิสลาม ทำให้เกิดการแพร่ขยายศาสนาอิสลามไปตามหมู่เกาะต่างๆ จนกระทั่งถึงภาคใต้ของหมู่เกาะฟิลิปปินส์และอาณาบริเวณโดยรอบ ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ซึ่งสเปนได้นำเข้ามาเผยแพร่ภายหลังจากที่ได้ครอบครองเกาะลูซอน ทางภาคกลางของฟิลิปปินส์

บรูไนเคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ แต่ถูกญี่ปุ่นยึดครองในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามบรูไนก็กลับเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษอีกครั้งหนึ่ง โดยสุลต่านปกครองภายใต้ที่ปรึกษาชาวอังกฤษและกองทหารกุรข่า (Gurkha) ในปี ค.ศ.1959 บรูไนได้ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเตรียมจัดให้มีการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย พรรคปาร์ไท รักยัต บรูไน (Partai Rakyat Brunei) ซึ่งต่อต้านสมบูรณาญาสิทธิราชย์และสนับสนุนประชาธิปไตย ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งแรกในปี ค.ศ.1962 แต่ข้อเรียกร้องของพรรคดังกล่าวถูกปฏิเสธ สุลต่านยังต้องการคงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไว้ พรรคปาร์ไท รักยัต บรูไน ได้ก่อการปฏิวัติขึ้น แต่ถูกกองทหารกุรข่าปราบปราม สุลต่านได้ประกาศภาวะฉุกเฉินและยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยกเลิกการเลือกตั้งที่ผ่านมาและยุบพรรคปาร์ไท รักยัต บรูไน

บรูไนได้รับเอกราชในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1984 ความเป็นเอกราชมิได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของประชาชนบรูไนมากนัก พรรคการเมืองยังถูกสั่งห้าม รัฐมนตรีส่วนใหญ่ล้วนมาจากเครือพระญาติแห่งราชสำนัก และผู้ที่สุลต่านทรงวางใจ ในปี ค.ศ.1987 บรูไนได้เข้าเป็นสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ทำให้มีความใกล้ชิดกับชาติสมาชิกในภูมิภาคนี้

นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา มีความพยายามที่จะสร้างชาติและวัฒนธรรมภายใต้คำขวัญที่ว่า "มาเลย์-อิสลาม-กษัตริย์" (Malayu-Islam-Beraja) แต่ปัญหามีอยู่ว่าชนชั้นกลางซึ่งนับวันจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นนั้นจะยอมรับการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่อไปอีกสักเท่าใด ในเมื่อสถานะทางการศึกษาและการเงินของชนชั้นกลางเหล่านี้มีสูงขึ้นตามลำดับอย่างต่อเนื่อง

ศาสนากับสังคมการเมืองในติมอร์ตะวันออก

โอกาสในการสร้างผลกำไรจากป่าไม้จันทร์อันอุดมสมบูรณ์ ทำให้ชาวโปรตุเกสสร้างเมืองท่าสำหรับค้าขายขึ้นบนเกาะติมอร์ในปี ค.ศ.1642 การขยายดินแดนของชาวดัตช์ในศตวรรษต่อมา ทำให้เกิดความขัดแย้งและนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาระหว่างมหาอำนาจยุโรปทั้งสองในเวลาต่อมา โดยซีกตะวันออกของติมอร์ตกเป็นของโปรตุเกส ขณะที่ซีกตะวันตกเป็นของฮอลันดา

เกาะติมอร์เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และประชาชนชาวติมอร์ประสบกับการยึดครองที่โหดร้ายในสงคราม โดยประชาชนร้อยละ 10 (ประมาณ 50,000 คน) ต้องเสียชีวิตลง โปรตุเกสซึ่งยึดครองติมอร์ตั้งแต่ปี ค.ศ.1945 ได้ถอนตัวออกไปอย่างกะทันหันในปี ค.ศ.1975 สืบเนื่องจากนโยบายการคืนเอกราชแก่อาณานิคม ทำให้ติมอร์ตะวันออกขาดความพร้อมต่อการได้รับเอกราชในทันที

ปีถัดมา ค.ศ.1976 อินโดนีเซียประกาศผนวกดินแดนติมอร์ตะวันออกเป็นจังหวัดที่ 27 ของประเทศ การยึดครองต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างดุเดือดจากกองกำลังอาวุธซึ่งเรียกกันว่า "เฟรทิลิน" (Fretilin) ระหว่างการปกครองของอินโดนีเซียนั้น ประมาณกันว่า กว่าหนึ่งในสี่ของประชากร (ประมาณ 200,000 คน) ได้เสียชีวิตลงเนื่องจากความอดอยากและโรคภัยไข้เจ็บ

ระหว่างการฆ่าหมู่ที่เดลิ (Deli massacre) ในปี ค.ศ.1991 ทหารอินโดนีเซียยิงผู้ประท้วงที่ปราศจากอาวุธเสียชีวิตหลายร้อยคน โจเซ่ รามอส ฮอร์ตา (Jose Ramos Horta) ผู้นำกลุ่มเฟรทิลินที่ต่อต้านอินโดนีเซียและถูกเนรเทศไปยังต่างประเทศ กับบิชอปคาร์ลอส เบโล (Bishop Carlos Belo) ผู้นำศาสนาของติมอร์ตะวันออกซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกันในปี ค.ศ.1996

ประธานาธิบดีฮาบิบี (B. J. Habibie) แห่งอินโดนีเซียประกาศให้มีการลงประชามติ ภายใต้การดูแลของสหประชาชาติในวันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ.1999 เพื่อให้ติมอร์ตะวันออกเป็นเขตปกครองตนเอง โดยยืนยันว่าถ้าประชาชนติมอร์ตะวันออกไม่เห็นชอบกับข้อเสนอ ฮาบิบีก็จะให้ชาวติมอร์ตะวันออกเป็นอิสระจากอินโดนีเซีย เมื่อประชาชนร้อยละ 78 ปฏิเสธข้อเสนอของฮาบิบี หนทางสู่อิสรภาพของติมอร์ตะวันออกจึงดูสดใส

อย่างไรก็ตาม ในเดือนต่อมาหลังการลงประชามติ คลื่นแห่งความรุนแรงก็ได้เกิดขึ้น โดยนักรบติมอร์ตะวันออกที่สนับสนุนจาการ์ตาภายใต้การหนุนหลังของกองทัพอินโดนีเซีย ได้สังหารประชาชนไปกว่า 2,000 คน กองกำลังรักษาสันติภาพนานาชาติจากสหประชาชาติ จึงได้เข้าไปฟื้นฟูความสงบในปลายปี ค.ศ.1999 และเตรียมการณ์สำหรับการประกาศอิสรภาพ ในเที่ยงคืนของวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ.2002 ติมอร์ตะวันออกก็ได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์ ซานานา กุสเมา (Xanana Gusmao) อดีตผู้บัญชาการกองกำลังเฟรทิลินซึ่งถูกจับจองจำในอินโดนีเซียในปี ค.ศ.1992 ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นเป็นประธานาธิบดีคนแรก ส่วน โจเซ่ รามอส ฮอร์ตา (Jose Ramos Horta) ได้เป็นประธานาธิบดีคนปัจจุบัน

ติมอร์ตะวันออกเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในภูมิภาค ด้วยรายได้เฉลี่ยต่อคนเพียงปีละ 300 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น และกว่าร้อยละ 40 ของประชากรจำนวน 800,000 คน มีชีวิตอยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจน โดยมีรายได้น้อยกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน การว่างงานในเขตเมืองมีสูงถึงร้อยละ 80 ขณะที่ภาคชนบทมีเพียงชาวนาที่เพาะปลูกพอประทังชีพเท่านั้น อัตราการไม่รู้หนังสือมีถึงร้อยละ 50 และสาธารณูปโภคส่วนใหญ่ถูกทำลายเมื่อกองทหารอินโดนีเซียถอนทัพกลับไป ความหวังสูงสุดสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของติมอร์ตะวันออกในขณะนี้ ขึ้นอยู่กับสิทธิเหนือแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในทะเลติมอร์
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10900. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6. 

Photo : https://pixabay.com/photos/ship-junk-mosque-saifuddin-brunei-523587/

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo