พุทธศาสนากับสังคมการเมืองในศรีลังกา

ในระยะเวลากว่า 300 ปี ที่ลังกาถูกปกครองโดยชนชาติยุโรป 3 ชาติ มีความพยายามหลายครั้งที่จะทำลายพุทธศาสนาและเปลี่ยนคนพื้นเมืองให้ไปนับถือศาสนาคริสต์ เหตุการณ์เหล่านี้ รวมทั้งความรู้สึกภูมิใจและหวงแหนในมรดกวัฒนธรรมของตน เป็นแรงผลักดันให้ชาวศรีลังกาส่วนใหญ่รู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องปกป้องศาสนาของตนอย่างกระตือรือร้น

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
ภาควิชามนุษยศาสตร์ 
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยมหิดล

ประวัติศาสตร์ศรีลังกาเกี่ยวเนื่องอย่างใกล้ชิดกับความรุ่งเรืองและความเสื่อมของพุทธศาสนา บันทึกโบราณได้เชื่อมโยงเหตุการณ์ทางศาสนาเข้ากับประวัติศาสตร์ของประเทศ พุทธศาสนาที่นำเข้ามาในลังกาโดยมหินทะเถระนั้นได้เจริญรุ่งเรือง และเปลี่ยนประเทศนี้ให้กลายเป็นศูนย์กลางทางศาสนาที่สำคัญ

เจ้าชายวิชัย (Prince Vijaya) กษัตริย์พระองค์แรกของศรีลังกา ก่อตั้งราชอาณาจักรทัมบาปันนี (Tambapanni) ในปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน โดยมีกษัตริย์สืบต่อราชบัลลังก์อีกประมาณ 200 พระองค์ แต่นักประวัติศาสตร์บันทึกไว้ได้เพียง 165 พระองค์ เท่านั้น กษัตริย์ศรีลังกาเกือบทั้งหมดเป็นชาวสิงหล มีเพียง 2-3 พระองค์เท่านั้นที่เป็นชาวทมิฬ ปัจจุบันประชากร 2 ใน 3 ส่วน หรือร้อยละ 75 ในศรีลังกาเป็นชาวสิงหล นอกนั้นเป็นทมิฬและมัวส์ ซึ่งเป็นเลือดผสมระหว่างมุสลิม มาเลย์ และเบอร์เกอร์ (ผู้มีบรรพบุรุษเชื้อสายตะวันตก)

การก่อตั้งพุทธศาสนา

เมื่อพระจักรพรรดิอโศกมหาราชแห่งอินเดีย ทรงแต่งตั้งโมคคลีบุตรติสสะเถระ (Moggaliputtatissa) ทำการปฏิรูปพุทธศาสนา (307 ก่อน ค.ศ.) และทรงส่งพระโสนะ (Sona) และพระอุตตระ (Uttara) มาเผยแผ่พุทธศาสนายังดินแดนสุวรรณภูมิ พร้อมทั้งส่งมหินทะเถระ (Mahinda) พระโอรสมายังลังกาเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนานั้น ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะ (Devanampiyatissa) (307-267 ก่อน ค.ศ.) กษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งอนุราธปุระ (Anuradhapura) ในศรีลังกา

คณะธรรมทูตของท่านมหินทะประกอบด้วยพระภิกษุ 4 รูป สามเณร 1 รูป และฆราวาส 1 คน ทั้งหมดได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะและชาวลังกาทั้งปวง มีประชาชนจำนวนมากขออุปสมบท และพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงโปรดให้สร้างวิหารและศาสนสถานเป็นอันมาก รวมทั้งเจดีย์ธูปะราม (Thuparama) ซึ่งเป็นเจดีย์แห่งแรกในลังกา และโลหะปราสาท (Lohapasada) ซึ่งเป็นเจดีย์ที่สร้างจากโลหะ

พระราชินีอนุละเทวี (Anuladevi) ทรงส่งราชทูตเพื่อทูลขอภิกษุณีสังฆมิตตา (Sanghamitta) ราชธิดาของพระเจ้าอโศกแห่งอินเดีย มาอุปสมบทให้แก่ผู้หญิงลังกา อันเป็นจุดเริ่มต้นของภิกษุณีในศรีลังกา เชื่อกันว่าภิกษุณีสังฆมิตตาทรงนำกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ (จากต้นโพธิ์เดิมที่พุทธคยา) มาปลูกไว้ที่อนุราธปุระ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นต้นไม้ประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก (อายุกว่า 2,200 ปี) พระบรมสารีริกธาตุก็ถูกนำมายังลังกาหลายครั้งด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่พุทธศาสนาในอินเดียถูกภัยคุกคามจากผู้รุกรานนอกศาสนา

คณะสงฆ์ลังกาได้แบ่งออกเป็น 2 นิกาย คือ นิกายมหาวิหาร (Mahavihara) ฝ่ายเถรวาท และนิกายอภัยคีรี (Abhayagiri) ฝ่ายมหายาน การดำรงอยู่ของพุทธศาสนาทั้ง 2 นิกาย แสดงถึงพัฒนาการอันมั่งคั่งและหลากหลายของพุทธศาสนามากกว่าจะเป็นความแตกแยก เมื่อ ฟา-เสียน (Fa Hsien) พระภิกษุชาวจีนผู้มีชื่อเสียงเดินทางมาถึงลังกา (คริสต์ศตวรรษที่ 5) ท่านได้บันทึกถึงความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาโดยระบุว่า พระภิกษุฝ่ายอภัยคีรีมีจำนวนถึง 5,000 รูป และฝ่ายมหาวิหารอีก 3,000 รูป แต่สุดท้ายแล้วมหายานได้ค่อยๆ เลือนหายไปจากศรีลังกา

พุทธศาสนาในช่วงกลียุค

ในคริสต์ศตวรรษที่ 11 พุทธศาสนาในลังกาอยู่ในยุคเสื่อม ส่วนหนึ่งมาจากการรุกรานอย่างต่อเนื่องจากอินเดียใต้ และอีกส่วนหนึ่งจากการแย่งชิงอำนาจกันเองในหมู่ผู้นำชาวสิงหล เมื่อฝ่ายทมิฬได้รับชัยชนะ พุทธศาสนาก็ถึงจุดเสื่อมถอย ทำให้สถาบันภิกษุณีสูญหายไป และสถาบันภิกษุก็เกือบจะสูญสิ้น เมื่อพระเจ้าวิชัยพหุที่ 1 (Vijayabahu I) ปราบฝ่ายทมิฬได้สำเร็จ (ค.ศ.1071) และขึ้นสู่อำนาจที่เมืองโปโลนนะรุวะ (Polonnaruwa) ทรงประสงค์จะฟื้นฟูพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ แต่ขณะนั้นไม่มีพระสงฆ์เพียงพอ พระองค์จึงทรงนิมนต์พระสงฆ์ 20 รูป จากภาคใต้ของพม่า มาร่วมประกอบพิธีอุปสมบทเพื่อจัดตั้งคณะสงฆ์ลังกาขึ้นมาใหม่

ต่อมาพระเจ้าปรกรมพาหุที่ 1 (Parakramabahu I) (ค.ศ.1153-1186) ทรงรวบรวมลังกาให้เป็นปึกแผ่น และทรงทำนุบำรุงพุทธศาสนาอย่างสำคัญ โดยทรงปฏิรูปวินัยของคณะสงฆ์และรวมนิกายที่หลากหลายให้เป็นหนึ่งเดียว การปฏิรูปครั้งนี้ส่งผลให้เกิดการปฏิรูปพุทธศาสนาทั่วทั้งเอเชียอาคเนย์ รวมทั้งอาณาจักรสุโขทัย ศิลาจารึกในสมัยสุโขทัยเปิดเผยให้ทราบว่า ช่วงเวลานั้นกัมพูชา พม่า รามัญ (มอญ) และสยามต่างก็ส่งพระภิกษุสงฆ์ไปยังลังกา เพื่อนำพระวินัยที่เคร่งครัดกลับมายังประเทศของตน

สิ้นรัชสมัยของพระองค์ ลังกาได้ถดถอยเข้าสู่ห้วงแห่งความสับสนและปั่นป่วนที่ยาวนาน ทำให้วินัยของสงฆ์ย่อหย่อนลง คณะสงฆ์เกิดเรื่องอื้อฉาวจนนำไปสู่การลาสิกขาเป็นอันมาก นับจากปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นไป การแย่งชิงอำนาจภายในทำให้โปรตุเกสและชาวต่างชาติอื่นๆ เข้ามามีบทบาทในลังกามากขึ้น ในที่สุดลังกาก็ตกเป็นอาณานิคมของตะวันตกยาวนานถึง 300 ปี

อิทธิพลของมหาอำนาจยุโรป

ปี ค.ศ.1517 โปรตุเกสเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่เข้ามาปักหลักที่เมืองท่าโคลอมโบ (Colombo) ชาวโปรตุเกสได้ยื่นข้อเรียกร้องมากมายกับกษัตริย์ลังกาจนนำไปสู่การสู้รบหลายครั้ง เมื่อไม่สามารถต่อสู้กับโปรตุเกสได้ กษัตริย์ลังกาจำต้องยอมจำนนและจ่ายค่าชดเชยสงครามให้แก่โปรตุเกส สงครามและการสู้รบยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอีก 100 ปี กระทั่งปี ค.ศ.1632 โปรตุเกสจึงสามารถยึดเมืองท่าสำคัญทั้งหมดบนเกาะลังกาได้

กองเรือของโปรตุเกสไม่เพียงแต่บรรทุกสินค้ามาเท่านั้น แต่ยังบรรทุกกองทหารและบาทหลวงที่ตั้งใจจะมาเปลี่ยนคนพื้นเมืองให้หันมานับถือคาทอลิกอีกด้วย จุดมุ่งหมายนี้บรรลุความสำเร็จเมื่อกษัตริย์สิงหลซึ่งมีพระนามว่า ธรรมะปาละ ดอน จวน (Dhamapala Don Juan) ได้เข้ารีตนับถือศาสนาคริตส์ในปี ค.ศ.1542 ภายใต้การปกครองของโปรตุเกส พุทธศาสนาถูกบ่อนทำลายเป็นอันมาก วัด พระพุทธรูป และแม้แต่พระพุทธบาทบนเขาสุมนา (Sumana) ก็ถูกทำลาย เพื่อปูทางไปสู่การสร้างสิ่งก่อสร้างทางศาสนาอย่างใหม่ ขณะเดียวกันกษัตริย์ที่เมืองแคนดี้ (Kandy) พระองค์หนึ่ง ซึ่งนับถือศาสนาพราหมณ์ก็ทรงจับพระภิกษุและสามเณรสึกเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งสั่งทำลายเจดีย์ วิหาร และพระไตรปิฎก ลังกาได้สูญเสียคณะสงฆ์อีกเป็นครั้งที่สอง

ในปี ค.ศ.1657 ชาวดัตช์เข้ามาแทนที่โปรตุเกส แต่ไม่เข้ามาก้าวก่ายพุทธศาสนา จึงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพลเมืองท้องถิ่น ภายใต้การปกครองของดัตช์ พุทธศาสนาได้ฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระภิกษุสงฆ์จำนวน 30 รูป จากยะไข่ (Yakai) หรืออารข่าน (Arakan) ได้นำการอุปสมบทกลับเข้ามาในอาณาจักรแคนดี้ในปี ค.ศ.1697

ต่อมาลังกาขาดแคลนพระสงฆ์อีกเป็นครั้งที่สาม เหลือเพียงสามเณรจำนวนหนึ่งเท่านั้น สามเณรสรณังกร (Saranangara) ได้แนะนำให้กษัตริย์ลังกาทูลขอพระสงฆ์จากพระเจ้าบรมโกษฐ์แห่งอยุธยา ภายใต้การนำของพระอุบาลี (Upali) คณะสงฆ์สยามได้ลงเรือสินค้าชาวดัตช์ และเดินทางมาถึงแคนดี้เพื่อประกอบพิธีอุปสมบทในปี ค.ศ.1753 นับเป็นการตั้งสยามนิกายขึ้นเป็นครั้งแรกในลังกา และรุ่งเรืองสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ในปี ค.ศ.1797 อังกฤษได้เข้ามาปกครองเมืองชายฝั่งทะเล และจับพระเจ้าศรีวิกรมราชสิงเห (Sri Wickramarajasinghe) ได้ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1815 ส่งผลให้ระบอบกษัตริย์ในลังกาสิ้นสุดลง การเปลี่ยนนโยบายของอังกฤษเพื่อเอาใจบาทหลวงชาวคริสต์ในการเผยแพร่ศาสนาคริสต์บนความสูญเสียของพุทธศาสนา ทำให้ชาวพุทธทั่วประเทศรวมตัวกันเพื่อต่อต้าน ทุกวันนี้ชาวพุทธศรีลังกายังคงรู้สึกถึงภัยคุกคามของต่างชาติในการทำลายศาสนาประจำชาติของตน ชาวศรีลังกาจึงรู้สึกหวงแหนและพยายามอย่างยิ่งในการรักษาเอกลักษณ์ทางศาสนาของตนไว้ ลังกาอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยได้รับเอกราชในปี ค.ศ. 1948 รวมทั้งหมดแล้วอังกฤษปกครองศรีลังกาอยู่นานถึง 150 ปี

ความรุ่งเรืองและความเสื่อมของพุทธศาสนาขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสถียรภาพทางการเมือง และการอุปถัมภ์ค้ำจุนจากพระเจ้าแผ่นดิน พุทธศาสนาและคณะสงฆ์ในลังกาถูกคุกคามจนสูญหายไปถึงสามครั้ง เนื่องจากการแย่งชิงอำนาจภายในและการรุกรานจากภายนอก ในระยะเวลากว่า 300 ปี ที่ลังกาถูกปกครองโดยชนชาติยุโรป 3 ชาติ มีความพยายามหลายครั้งที่จะทำลายพุทธศาสนาและเปลี่ยนคนพื้นเมืองให้ไปนับถือศาสนาคริสต์ เหตุการณ์เหล่านี้ รวมทั้งความรู้สึกภูมิใจและหวงแหนในมรดกวัฒนธรรมของตน เป็นแรงผลักดันให้ชาวศรีลังกาส่วนใหญ่รู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องปกป้องศาสนาของตนอย่างกระตือรือร้น
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 8 มิถุนายน 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11047. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6.

Photo : https://pixabay.com/photos/temple-srilanka-n-travel-asia-3649292/

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo