ด้วยเหตุที่พระพุทธศาสนามีความเกี่ยวพันกับจิตใจของคนไทยมาเป็นเวลาช้านาน เป็นหลักที่พึ่งและการดำเนินชีวิตคนไทย การแสดงออกจึงมีเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาแทรกอยู่ในชีวิตประจำวัน และเนื่องจากเพลงพื้นบ้านเป็นเครื่องบันทึกเหตุการณ์ของสังคมแต่ละยุคและแต่ละสมัย และเพลงพื้นบ้านก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีสาระทางพุทธจริยธรรมแทรกอยู่ในเนื้อเพลง
ดนตรีและบทเพลงนั้นเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของมนุษยชาติ และมีการสืบต่อกันมาอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งอาจจะได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น ต้นไม้ ดอกไม้ ท้องทุ่ง หรือธรรมชาติต่าง ๆ รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีการประกอบอาชีพ หรือความเชื่อทางศาสนา เช่น เรื่องบาป-บุญ ชาตินี้ หรือชาติหน้า เป็นต้น จินตนา ดำรงค์เลิศ ได้กล่าวที่มาของบทเพลงว่า "บทเพลงถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมๆ กับสังคมมนุษย์ มีที่มาจากชีวิตมนุษย์ และเป็นผลงานที่สร้างสรรค์โดยน้ำมือของมนุษย์ทั้งสิ้น บทเพลงเป็นศิลปะที่แพร่หลายทั่วไปไปในสังคม มีความหมายรวมถึงดนตรีและการขับร้อง" (จินตนา ดำรงเลิศ, ๒๕๓๑: ๑)
พระพุทธศาสนาได้เผยแผ่หลักธรรมเข้ามาประเทศไทยโดยรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งมาจากหลักคำสอนโดยตรง หรืออาจจะสอดแทรกเข้ามาในวรรณกรรมชาวบ้านหรือแม้กระทั่งบทเพลงพื้นบ้านต่า งๆ เช่น บทเพลงพื้นบ้านที่ว่าด้วยหลักคำสอน ศรัทธาและความเชื่อ เช่น ความเชื่อเรื่องกรรม บาป-บุญ เป็นต้น ซึ่งผู้เขียนจะได้กล่าวถึงบทเพลงต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ที่มาของบทเพลงอันเป็นพื้นฐานของบทเพลงต่างๆ ในปัจจุบัน
ในพระพุทธศาสนามีบทเพลงต่าง ๆ อยู่มาก ทั้งบทเพลงที่สัมปยุตด้วยโลกิยธรรม และสัมปยุตด้วยโลกุตรธรรม
๑. บทเพลงที่สัมปยุตด้วยโลกิยธรรมหมายถึงบทเพลงธรรมอันเป็นวิสัยของปุถุชนผู้ครองเรือน เป็นบทเพลงที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพื่อการบรรลุคุณธรรมขั้นสูง แต่แฝงไปด้วยข้อปฏิบัติสำหรับปุถุชนให้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักศีลธรรม มุ่งสอนเพื่อให้เกิดการลดละกิเลสที่เป็นอกุศล สาเหตุที่ก่อให้เกิดอกุศลต่าง ๆ ดังตัวอย่าง เพลงรักที่ปัญจสิขะเทพบุตรได้ขับถวายพระพุทธเจ้า คือ
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ถ้ำอินทสาล ใกล้เมืองราชคฤห์ พระอินทร์ใคร่จะเฝ้า แต่เนื่องด้วยพระองค์กำลังเข้าฌานสมาบัติอยู่จึงไม่กล้ารบกวน พระอินทร์จึงมีเทวบัญชาให้ปัญจสิขะเทพบุตรไปดูลาดเลาก่อน และสั่งว่า ถ้าพระพุทธเจ้าออกจากฌานสมาบัติเมื่อใด ให้ทำอาณัติสัญญาณบอก ปัญจสิขะไปรออยู่นาน พระองค์ก็ไม่ออกจากสมาบัติ จึงหยิบพิณขึ้นมาดีด พร้อมกับบรรยายายเพลงรักถึงความรักอันซาบซึ้งที่ตนมีต่อสาวงามนางหนึ่ง เสียงพิณและเสียงเพลงทำให้พระพุทธเจ้าตื่นจากฌานสมาบัติ พอเขาขับเพลงจบ พระองค์จึงตรัสถามว่า "เธอขับเพลงขับได้ไพเราะดี ไปเรียนมาจากไหน" ก็กราบทูลว่า "เมื่อครั้งพระองค์ยังมิได้ตรัสรู้พระโพธิญาณ ประทับบำเพ็ญเพียรอยู่ ณ โคนต้นโพธิ์ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ข้าพระพุทธเจ้าหลงใหลนางหนึ่ง นาวว่า ภัทรา ผู้มีสมญานามว่า สุริยายายอแสง (สริยวัจฉสา) ธิดาของติมพรุหัวหน้าคนธรรพ์ แต่นางได้ฝากดวงใจไว้กับชายอื่นเสียแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าได้มาพบพระองค์ประทับนิ่ง สงบ อยู่ใต้ต้นโพธิ์ด้วยดวงพักตร์อันอิ่มเอิบ มีความสุขอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ จึงนึกในใจว่า ถ้าหากรักของข้าพเจ้าสมหวัง จ้อคงมีความสุขเช่นท่านผู้นี้ เหตุนี้เอง เป็นแรงดลใจให้ข้าพุทธเจ้าแต่งเพลงบรรเลงความรักอมตะที่มีต่อนาง" (ที.ม.๑๐/๒๔๘/๒๓๖)
บทเพลงที่ปัญจสิขะเทพบุตรได้ขับร้องถวายพระพุทธเจ้า เป็นการความรักที่ตนมีต่อนางสุริยวัจฉสา ซึ่งเปรียบเทียบถึงพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และพระอรหันต์ทั้งหลายไว้อย่างไพเราะ ดังตัวอย่างตอนหนึ่งว่า (เสฐียรพงษ์ วรรณปก, ๒๕๓๑: ๔๖)
ยํ เม อตฺถิ กตํ ปุญฺญํ อรหนฺเตสุ ตาทิสุ
ตํ เน สพฺพงฺคกลฺยาณิ ตยา สทฺธํ วิปจฺจตํ ฯ
โอ้...น้องผู้งามล้ำทั่วสรรพางค์ บุญใดที่จ้าสร้างไว้ในพระอรหันต์ผู้มีจิตคงที่ ขอ บุญนั้นจงเผล็ดผลให้ได้นฤมล เป็นคู่ครอง ฯ
สกฺยปุตฺโตว ฌาเนน เอโกทิ นิปโก สโต
อมตํ มุนิ ชิคึสาโน ตมหํ สริยวจฺฉเส ฯ
สุริยายอแสง เอย ข้ารักและปรารถนาเจ้าอย่างสุดซึ้ง ดังหนึ่งศากยมุนี มีสติ ปรีชาญาณ ทรงบำเพ็ญฌานสมาธิจิต ปรารถนาอมฤตนฤพาน ฯ
จากหลักฐานที่กล่าวมานี้ สามารถมองเห็นกระบวนการให้กำเนิดศิลปะด้านบทเพลงและดนตรีในพระพุทธศาสนาอันเกิดจากภายในจิตใจ และอารมณ์ที่ปัญจสิขะเทพบุตรได้ถ่ายทอดออกมาเป็นบทเพลง และบทเพลงนี้ ถือเป็นบทเพลงรักบทเดียวในพระพุทธศาสนา นอกจากนี้เป็นเพลงโศก หรือเพลงบรรยายความสงบสุขอันเกิดจากการหลุดพ้นกิเลส
๒. บทเพลงที่สัมปยุตด้วยโลกุตรธรรม หมายถึงบทเพลงที่ประกอบธรรมอันเป็นข้อปฏิบัติของพระอริยะอันเป็นพุทธจริยธรรมในขั้นขั้นสูงของพระอริยบุคคลผู้พัฒนาจิตใจ เมื่อฟังแล้วสามารถส่งกระแสจิตไปตามบทเพลงแล้วทำให้เกิดปัญญาสามารถละกิเลส หรือสังสารวัฏได้อย่างเด็ดขาด พ้นจากอำนาจกิเลสโดยสิ้นเชิง บทเพลงประเภทนี้มีปรากฏอยู่ในมากในพระพุทธศาสนา เพลงประเภทนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บทเพลงแห่งพระอรหันต์ ดังตัวอย่าง (สิริมังคลาจารย์, ๒๔๙๘: ๒๖๑-๒๖๒) ดังตัวอย่างคือ ในสมัยหนึ่ง มีภิกษุชื่อ ติสสะ เดินทางไปใกล้สระปทุม ได้ยินเด็กหญิงคนหนึ่งกำลังหักดอกปทุมในสระปทุม ร้องเพลงที่ประกอบด้วยธรรมะ ดังนี้ว่า
ปาตผุลฺลํ โกกนทํ สุริยาโลเกน ตชฺชิยเต
เอวํ มนุสฺสตฺตคตา ชราภิเวเคน มิลายนฺติ
ดอกปทุมชื่อโกกนท บานแล้วในเวลาเช้า ถูกแสงพระอาทิตย์ให้เหี่ยวแห้งไป ฉันใด สัตว์ทั้งหลายผู้ถึงความเป็นมนุษย์ ย่อมเหี่ยวแห้งไปด้วยกำลังชรา ฉันนั้น ฯ พระติสสะเถระเมื่อได้สดับเพลงที่เด็กหญิงร้อง ก็ส่งกระแสจิตไปตามบทเพลง แล้วก็บรรลุพระอรหันต์
บุรุษผู้หนึ่งในพุทธันดรหนึ่ง (หมายถึงในเวลาที่ว่างจากพระพุทธเจ้า) กลับจากป่าพร้อมกับบุตร ๗ คน ฟังเพลงที่สตรีนางหนึ่งซึ่งกำลังเอาสากตำข้าสาร ดังนี้ว่า
ชราย ปริมทฺทิตํ เอตํ มิลาตจฺฉวิจมฺมนิสฺสิตํ
มรเณน ภิชฺชติ เอตํ มจฺจุสฺส ฆสมามิสํ คตํ
กิมีนํ อาลยํ เอตํ นานากุณปปูริตํ
อสุจิภาชนํ เอตํ กฏฺฐกฺขนฺธสมํ อิมํ ฯ
สรีระนี่อาศัยหนังมีผิวเหี่ยวแห้ง ถูกชราย่ำยีแล้ว สรีระนี่ถึงความเป็นอามิส คือเหยื่อ ของมฤตยู ย่อมตกไปเพราะมรณะ สรีระนี่เป็นที่อยู่ของหมู่หนอน เต็มไปด้วยซากศพต่าง ๆ สรีระนี่เป็นภาชนะของไม่สะอาด สรีระนี่เสมอด้วยท่อนไม้ ฯ
บุรุษพร้อมด้วยบุตรอีก ๗ คน พิจารณาบทเพลงนี้ แล้วก็บรรลุปัจเจกโพธิญาณ แม้เทพยดาและมนุษย์เหล่าอื่น ๆ ที่ฟังเพลงนี้ก็สามารถบรรลุอริยภูมิด้วยเช่นกัน
จะเห็นได้ว่า บทเพลงในพระพุทธศาสนานั้น มิได้มีแต่บทเพลงกล่าวถึงแต่เรื่องโลกิยวิสัยแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังแฝงแง่คิดเชิงจริยธรรมอย่างลึกซึ้ง และมีสารัตถประโยชน์มาก เพราะฉะนั้น บทเพลงในพระพุทธศาสนาจึงมีทั้งบทเพลงที่ประกอบด้วยโลกิยธรรมและโลกุตรธรรม ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญของบทเพลงต่างๆ ในปัจจุบันที่สอดแทรกหลักจริยธรรมที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิตไว้อย่างลึกซึ้งอีกด้วย
นอกจากนี้ บทเพลงในพระพุทธศาสนากับเพลงพื้นบ้านยังมีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือการร้องโต้ตอบกัน แสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องกันของบทเพลงพื้นบ้านกับพระพุทธศาสนาได้อย่างชัดเจน จนกลายเป็นรูปแบบของบทเพลงที่สอดแทรกหลักคำสอนโดยตรง ดังตัวอย่างบทเพลงที่ปรากฏอยู่ในเรื่องนาคเอรกปัตต์ (พุทธโฆษาจารย์, ๒๕๔๑: ๙๔-๙๗) ว่า สมัยหนึ่ง ได้มีพระยานาคตนหนึ่ง นามว่า เอรกปัตต์ ได้ให้หญิงธิดาคนหนึ่งนั่งบนพังพานแล้วให้ฟ้อนรำขับร้องเพลง ในทุก ๆ วันอุโบสถ โดยมีอุบายว่า ถ้าใครร้องเพลงโต้ตอบกับหญิงธิดาได้ ก็จะมองหญิงธิดาพร้อมทั้งนาคพิภพให้ หญิงธิดายืนฟ้อนอยู่บนพังพานแล้วขับเพลงว่า
ผู้เป็นใหญ่อย่างไรเล่า ชื่อว่าพระราชา? อย่างไรเล่า พระราชาชื่อว่ามีธุลีบน พระเศียร? อย่างไรเล่า ชื่อว่าปราศจากธุลี ?อย่างไรเล่าท่านจึงเรียกว่า คนพาล? ชาวชมพูทวีปทั้งสิ้น ก็พากันมาร้องเพลงแก้ตามกำลังสติปัญญาของตน ๆ แต่นางก็ปฏิเสธเพลงขับตอบนั้นจนเวลาล่วงไปพุทธันดรหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก วันหนึ่งพระองค์ทรงตรวจดูโลก แล้วก็เห็นเหตุการณ์นั้น จึงได้ตรัสเรียก อุตตระมานพ ซึ่งกำลังจะไปขับเพลงตอบกับนางนาคมานวิกา จึงได้ตรัสสอนเพลงขับแก้กับอุตตระมานพ ว่า
ผู้เป็นใหญ่ในทวารทั้งหก ชื่อว่าเป็นพระราชา พระราชาผู้กำหนัดอยู่ชื่อว่า มีธุลีบนพระเศียร ผู้ไม่กำหนัดอยู่ ชื่อว่าปราศจากธุลี ผู้กำหนัดอยู่ ท่านเรียกว่าเป็นคนพาล
เมื่อพระพุทธเจ้าได้ประทานเพลงขับแก้แก่อุตตรมานพแล้ว ก็ได้ไปร้องเพลงขับแก้กับนาง นางก็ได้ร้องเพลงแก้เพลงขับของมานพนี้อีกว่า
คนพาลอันอะไรเอ่ยย่อมพัดไป? บัณฑิตย่อมบรรเทาอย่างไร? อย่างไรจึงเป็นผู้มีความเกษมจากโยคะ ? ท่านผู้อันเราถามแล้ว ขอได้โปรดบอกข้อนั้นแก่เรา
อุตตรมาณพจึงร้องแก้ว่า
คนพาลอันห้วงน้ำ (คือกามโอฆะเป็นต้น)ย่อมพัดไป บัณฑิตย่อมบรรเทาได้ด้วยความเพียร บัณฑิตผู้ไม่ประกอบด้วยโยคะทั้งปวง ท่านเรียกว่า ผู้มีความเกษมจากโยคะ
ในทรรศนะของพระพุทธศาสนานั้น ถึงแม้จะมีบทเพลงปรากฏอยู่มาก แต่ถ้าบทเพลงนั้นเป็นสิ่งที่เจือปนด้วยกิเลสตัณหา ขัดขวางต่อการบรรลุคุณธรรม หรือเป็นข้าศึกต่อกุศลก็ไม่อนุญาต ถึงกับมีข้อห้ามบทเพลงประเภทนี้ไว้ว่า "เว้นขาดจากการฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดนตรีและดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล" (ที.สี.๙/๑๓/๖) ในขณะเดียวกับพระพุทธศาสนาก็อนุญาตบทเพลงที่ประกอบด้วยธรรมะ และเป็นต้องเป็นวาจาสุภาษิต อันนำมาซึ่งโลกิยสุขและโลกุตรสุข ดังตัวอย่าง คือ "ในครั้งพุทธกาล ภิกษุปล่อยกระแสจิตไปตามบทเพลงที่ได้ยินจากคนหาฟืน ยังสามารถทำให้บรรลุธรรมพิเศษ" (สิริมังคลาจารย์, ๒๔๒๙ : ๒๗๑-๒๗๒) เพราะฉะนั้นพ่อเพลงแม่เพลงมองเห็นจุดประสงค์อันลึกซึ้งในพระพุทธศาสนา และเพลงพื้นบ้านว่ามีจุดมุ่งหมายอันเดียวกันแง่ของการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม จึงได้ประพันธ์เพลงให้มีความหมายสอดคล้องกับความศรัทธาความเชื่อในหลักคำสอน ด้วยเหตุที่พระพุทธศาสนามีความเกี่ยวพันกับจิตใจของคนไทยมาเป็นเวลาช้านาน เป็นหลักที่พึ่งและการดำเนินชีวิตคนไทย การแสดงออกจึงมีเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาแทรกอยู่ในชีวิตประจำวัน และเนื่องจากเพลงพื้นบ้านเป็นเครื่องบันทึกเหตุการณ์ของสังคมแต่ละยุคและแต่ละสมัย และเพลงพื้นบ้านก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีสาระทางพุทธจริยธรรมแทรกอยู่ในเนื้อเพลง
---
ที่มา :สาคร ศรีดี. (๒๕๔๕). วิเคราะห์หลักพุทธจริยธรรมที่ปรากฏในเพลงพื้นบ้านจังหวัดสุพรรณบุรี: ศึกษาเฉพาะกรณีเพลงอีแซว. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต, สาขาวิชาจริยศาสตร์ศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.