ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพุทธจริยธรรม

คำว่า "จริยธรรม" นั้นมีผู้ให้ความหมายไว้หลายท่าน ซึ่งสรุปได้ดังนี้ คือ จริยธรรม หมายถึง แนวทางในการประพฤติตนที่ดีงามเหมาะสม เพื่อให้สมาชิกในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข เป็นความหมายที่สอดคล้องกับพระพุทธศาสนา ดังคำว่า "ธมฺมสฺส จริยา ธมมา วา อนเปตา จริยา ธมฺมจริยา" แปลว่า "ความประพฤติที่เหมาะสม หรือความประพฤติที่ไม่ปราศจากธรรม เรียกว่า ธรรมจริยา" (มังคลัตถทีปนี ภาค ๒ ฉบับบาลี, ๒๕๓๖: ๔๗) เมื่อกล่าวในแง่ของพุทธศาสนา เรียกว่า พุทธจริยธรรม ตามทรรศนะของพุทธศาสนา พุทธจริยธรรมนั้นนอกจากจะเป็นหลักของการดำเนินชีวิตแล้ว ยังเป็นวิธีการแก้ปัญหาด้วย
  

พระมหาสาคร ศรีดี (ป.ธ.๙)
ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต 
สาขาจริยศาสตร์ศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

คำว่า "จริยธรรม" นั้นมีผู้ให้ความหมายไว้หลายท่าน ซึ่งสรุปได้ดังนี้ คือ จริยธรรม หมายถึง แนวทางในการประพฤติตนที่ดีงามเหมาะสม เพื่อให้สมาชิกในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข เป็นความหมายที่สอดคล้องกับพระพุทธศาสนา ดังคำว่า "ธมฺมสฺส จริยา ธมมา วา อนเปตา จริยา ธมฺมจริยา" แปลว่า "ความประพฤติที่เหมาะสม หรือความประพฤติที่ไม่ปราศจากธรรม เรียกว่า ธรรมจริยา" (มังคลัตถทีปนี ภาค ๒ ฉบับบาลี, ๒๕๓๖: ๔๗) เมื่อกล่าวในแง่ของพุทธศาสนา เรียกว่า พุทธจริยธรรม ตามทรรศนะของพุทธศาสนา พุทธจริยธรรมนั้นนอกจากจะเป็นหลักของการดำเนินชีวิตแล้ว ยังเป็นวิธีการแก้ปัญหาด้วย ซึ่งมีที่มาดังนี้ คือ

ในสมัยพุทธกาลนั้น ยังไม่มีการสังคายนาหลักคำสอนของพระองค์ สิ่งที่พระองค์ทรงใช้ประกาศศาสนาในสมัยนั้น ทรงใช้อยู่ ๓ คำ คือ "พรหมจรรย์" (พรฺหมจริย) "ธรรมวินัย" (ธมฺมวิจย) และคำว่า "นวังคสัตถุสาสน์"

๑. พรหมจรรย์

คำว่า "พรหมจรรย์" นี้ เป็นคำที่พระพุทธเจ้าทรงใช้เป็นอุดมการณ์ในการประกาศในครั้งที่ส่งสาวกไปประกาศศาสนาครั้งแรกจำนวน ๖๑ รูป จุดประสงค์เพื่อความประโยชน์สุขของคนทั่วไป ดังตัวอย่างที่พระพุทธเจ้าใช้ คำว่า พรหมจรรย์ คือ

จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขายโลกานุกมฺปาย
อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ มา เอเกน เทฺว อคมิตฺถ
เทเสถ ภิกฺขเว ธมฺมํ อาทิกลฺยาณํ มชฺเฌกลฺยาณํ ปริโยสานกลฺยาณํ
สาตฺถํ สพฺยญฺชนํ เกวลปริปุณฺณํ ปริสุทฺธํ พฺรหมจริยํ ปกาเสถ ฯ

มีความหมายว่า
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อความสุขแก่คนเป็นจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์
เพื่อความสุข เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงแสดงธรรมที่งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง
และงามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถะ 
พร้อมทั้งพยัญชนะ อันบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ฯ 
(ที.ม.๑๐/๕๒/๔๓)

และนอกจากนี้ยังมีหลักพุทธพจน์ที่แสดงถึงหลักจริยธรรมอีกว่า
อยเมว โข ภิกขุ อริโย อฏฺฐงฺคิโก มคฺโค พฺรหฺมจริยํ ฯ
มีความหมายว่า
ดูก่อนภิกษุ มรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ อันประเสริฐ นี้แหละ คือ พรหมจรรย์ ฯ 
(สํ.ม.๑๙/๓๐/๗)

ด้วยเหตุนี้ พรหมจรรย์ จึงได้ชื่อว่า เป็นพุทธจริยธรรม เมื่อพิจารณาในแง่นี้จะเห็นได้ว่า พุทธจริยธรรมนั้นกว้างขวางมาก ในการดำเนินตามแนวทางนี้ นอกจากบุคคลจะสามารดำเนินชีวิตจนบรรลุความดีอันสูงสุดแล้ว สังคมก็ดำเนินไปด้วยความสงบสุขอันเนื่องมาจากการปฏิบัติของบุคคลในสังคมนั้น

๒. ธรรมวินัย

คำว่า "ธรรมวินัย" นี้ ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้ทรงใช้คำว่า "ธรรมวินัย" คือ

โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต
โส โว มมจฺเยน สตฺถา ฯ

มีความหมายว่า
ธรรมและวินัยอันใด ที่เราตถาคตแสดงไว้แล้ว บัญญัติไว้แล้ว
เมื่อเราล่วงไปแล้ว ธรรมและวินัยนั้นจะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย ฯ 
(สุตฺต.ม. ๑๐/๑๔๑/๑๓๘)

๓. นวังคสัตถุสาสน์ หรือ สัตถุสาสน์ ๙ ประการ คือ

๑. สุตตะ คำสอนประเภทร้อยแก้วล้วน

๒. เคยยะ คำสอนที่เป็นร้อยแก้วผสมกับร้อยกรอง อันได้แก่ พระสูตรที่มีคาถาทั้งหมด โดยเฉพาะสคาถวรรคสังยุตตนิกาย

๓. เวยยากรณะ คำสอนประเภทที่เป็นอรรถกถาธิบายโดยละเอียด เป็นร้อยแก้วล้วนๆ เช่น อภิธรรมปิฎก พระสูตรที่ไม่มีคาถา และพระพุทธพจน์อื่นๆ ที่ไม่นับเข้าในองค์ ๘ ข้อที่เหลือ

๔. คาถา คำสอนประเภทร้อยกรองล้วน เช่น ธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถา และคาถาล้วนในสุตตนิบาตที่ไม่มีชื่อกำกับว่า "สูตร"

๕. อุทาน คำสอนประเภทที่เปล่งขึ้นจากแรงบันดาลใจของพระพุทธเจ้า และพระสาวก ส่วนมากจะเป็นบทร้อยกรอง

๖. อิติวุตตกะ คำสอนประเภทคำอ้างอิงที่ยกข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้มาอ้างเป็นตอน ๆ ได้แก่ พระสูตรสั้น ๆ

๗. ชาตกะ คำสอนประเภทนิทานชาดกหรือเรื่องราวในชาติปางก่อนของพระพุทธเจ้าขณะที่เป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีอยู่

๘. อัพภูตธรรม คำสอนประเภทเรื่องอัศจรรย์เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย

๙. เวทัลละ คำสอนประเภทคำถาม และคำตอบ (ม.มู.๑๒/๒๗๘/๑๘๕)
---
ลักษณะพุทธจริยธรรม

ลักษณะและขอบเขตและเนื้อหาของพระพุทธจริยธรรมนั้นแบ่งได้ออกเป็น ๒ส่วน คือ ส่วนที่เป็นอภิปรัชญาที่กล่าวถึงความจริงของจักรวาล ของโลกและสรรพสิ่งและมนุษย์ อาจกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประเภทจิตนิยม (Idealism) ในแง่ที่ว่า มนุษย์มีองค์ประกอบที่สำคัญ ๒ ส่วนคือ กาย กับจิต และถือว่าจิตเป็นเรื่องสำคัญดังพุทธพจน์ที่แสดงไว้หลายแห่งเป็นต้นว่า

ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วแต่ใจ ถ้าบุคคลมีใจ อันโทษประทุษร้ายแล้ว กล่าวอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม ทุกข์ย่อมไปตามบุคคลนั้น เพราะ ทุจริต ๓ อย่างนั้น เหมือนล้อหมุนไปตามรอยเท้าโคผู้ลากเกวียนไปอยู่ ฉะนั้น ฯ (ขุ.ธ. ๒๕/๑๑/๑๑)

ส่วนที่ ๒ คือเป็นจริยศาสตร์ที่สอนให้มนุษย์เข้าใจถึงความหมายของชีวิต พระพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาแห่งเหตุผล และเป็นศาสนาที่แสดงถึงหลักความจริงในชีวิต ไม่ใช่ศาสนาที่สอนให้บุคคลหลงใหล เชื่อในสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ พระพุทธศาสนาสอนให้เชื่อตามหลักเหตุผลที่ใคร่ครวญด้วยสติปัญญาแล้ว จะเห็นได้จากหลักปฏิบัติในเรื่องความเชื่อที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในกาลามสูตร มี ๑๐ ประการ

๑. มา อนุสฺสเวน อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา
๒. มา ปรมฺปราย อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบๆกันมา
๓. มา อิติกิราย อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ
๔. มา ปิฏกสมฺปทาเนน อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำรา หรือคัมภีร์
๕. มา ตกฺกเหตุ อย่าปลงใจเชื่อ เพราะอาศัยตรรกะ
๖. มา นยเหตุ อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการอนุมาน
๗. มา อาการปริวิตกฺเกน อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการตรึกตรองตามเหตุผล
๘. มา ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้ากับทฤษฎีที่พินิจแล้ว
๙. มา ภพฺพรูปตาย อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมาองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้
๑๐. มา สมโณ โน ครูติ อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า สมณะรูปนี้เป็นครูอาจารย์ของเรา 
(องฺ.ติก. ๒๐/๕๐๕/๑๗๙)

ในแง่ญาณวิทยา พระพุทธศาสนาแบ่งความรู้ออกเป็นหลายระดับ เช่น วิญญาณ ความรู้ทางประสาทสัมผัส สัญญา ความจำ ปัญญา ความรอบรู้ และได้แสดงบ่อเกิดของความรู้ไว้ ๓ ทางด้วยกัน (อภิ.วิ.๓๕/๘๐๔/๓๙๕) คือ

๑. จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดแต่การคิด การพิจารณาหาเหตุผล
๒. สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการสดับ การเล่าเรียน
๓. ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดแต่การฝึกอบรมลงมือปฏิบัติ

พุทธจริยธรรมจึงเป็นหลักการหรือแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ดี ประเสริฐ อันเป็นวิธีการ หรือเครื่องมือในการสู่จุดมุ่งหมายอันเป็นประโยชน์สูงสุด เป็นอุดมคติของชีวิต ครอบคลุมถึงเกณฑ์ตัดสินว่า การกระทำใดดีหรือไม่ดี ควรหรือไม่ควร ด้วยเหตุนี้พุทธจริยธรรมจึงมีลักษณะที่แตกต่างจากทรรศนะของปรัชญาในสำนักอื่น ๆ คือ พุทธจริยธรรมไม่ได้เกิดจากโต้แย้งทางความคิด (Argument) การนิยามความหมาย การคาดคะเน หรือการพิจารณาเทียบเคียง เหมือนปรัชญาสำนักอื่น ๆ แต่พุทธจริยธรรมมีธรรมชาติของความเป็นจริง เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติแล้วสามารถเห็นได้ด้วยตัวของตนเอง (สนฺทิฏฺฐิโก) ไม่จำกัดเวลา (อกาลิโก) ซึ่งเป็นผลของการตรัสรู้ธรรมอันยอดเยี่ยมของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า "อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ" ซึ่งแยกได้เป็น ๒ ส่วนคือ ส่วนที่เป็นสัจธรรมและส่วนที่เป็นศีลธรรม พระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตฺโต) (๒๕๔๒: ๖) ได้จัดแบ่งพุทธจริยธรรมตามนัยดังกล่าวไว้ดังนี้ คือ

๑. มัชเฌนธรรม หรือมัชเฌนธรรมเทศนา ซึ่งกล่าวถึง ความจริงตามแนวเหตุผลบริสุทธิ์ ตามกระบวนของธรรมชาติ

๒. มัชฌิมาปฏิปทา กล่าวคือหลักการครองชีวิตของผู้ฝึกอบรมตน ผู้รู้เท่าทันชีวิต ไม่หลง งมงาย มุ่งผลสำเร็จคือความสุข สะอาด สว่าง สงบ เป็นอิสระ

เมื่อกล่าวให้ง่ายต่อความเข้าใจในเชิงจริยศาสตร์ พุทธจริยธรรมแบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือ
๑. สัจธรรม เป็นส่วนแสดงสภาวะหรือรูปลักษณะตัวจริง
๒. จริยธรรม เป็นส่วนแห่งข้อประพฤติปฏิบัติทั้งหมด

โดยนัยนี้ สัจธรรมในพระพุทธศาสนาหมายถึงคำสอนเกี่ยวกับสภาวะความเป็นจริงของสรรพสิ่งทั้งปวงเป็นไปโดยสภาวธรรมชาติหรือกฎธรรมชาติ (Natural Law) กล่าวคือเป็นไปตามกฎของไตรลักษณ์ ๓ ประการ คือ (๑) อนิจจตา (Impermanence; Transiency) ความไม่เที่ยง เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมสลายไป (๒) ทุกขตา (State of Suffering) ความเป็นทุกข์ และ (๓) อนัตตา (Non-Self) ความไม่มีตัวตน ข้อเท็จจริงเหล่านี้ พระพุทธศาสนาเชื่อว่ามีอยู่แล้วอย่างนั้นและมีอยู่ตลอดไป ไม่ว่าจะมีคนรับรู้ข้อเท็จจริงเหล่านี้หรือไม่ก็ตาม (สมภาร พรหมทา, ๒๕๔๑: ๕) ส่วนในส่วนจริยธรรม หมายถึงการถือเอาประโยชน์จากความรู้และความเข้าใจในสภาพและความเป็นไปของสิ่งทั้งหลาย หรือการรู้กฎธรรมชาติและนำมาใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ (พระศรีสุทธิโมลี, ๒๕๑๔: ๑๘๗ อ้างถึงใน พระมหาไพฑูรย์ อุทัยคาม, ๒๕๔๒: ๓๓)

นอกจากนั้น เนื้อหาของพุทธจริยธรรมยังสามารถแบ่งได้อีก ๒ ระดับคือ (๑) ระดับโลกิยธรรม ได้แก่ธรรมอันเป็นวิสัยของปุถุชนผู้ครองเรือน เป็นข้อปฏิบัติสำหรับปุถุชนให้ถูกต้องตามหลักศีลธรรม มุ่งสอนเพื่อให้เกิดการลดละกิเลสที่เป็นอกุศล สาเหตุที่ก่อให้เกิดอกุศลต่างๆ ให้กระทำความดี เว้นจากการกระทำความชั่ว ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน และทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว หมดจดจากกองกิเลสที่ทำให้เศร้าหมอง เพื่อให้เกิดความความสุขแก่ตนเองและสังคม (๒)โลกุตรธรรม ได้แก่ธรรมอันไม่ใช่วิสัยของชาวโลก แต่เป็นข้อปฏิบัติของพระอริยะ พุทธจริยธรรมในขั้นนี้เป็นขั้นสูงของพระอริยบุคคลผู้พัฒนาจิตใจ จนเกิดปัญญาสามารถละกิเลสหรือสังสารวัฏได้อย่างเด็ดขาด พ้นจากอำนาจกิเลสโดยสิ้นเชิง อยู่เหนือบุญและบาป เป็นผู้ที่ได้บรรลุจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิต การกระทำของพระอรหันต์ไม่เป็นทั้งบุญและบาป ไม่มีชาตินี้และชาติหน้า พระอรหันต์อยู่ในส่วนของวิวัฏ จึงไม่มีภพชาติสังสารวัฏต่อไป ดังพระพุทธพจน์ว่า พระอรหันต์ มีความสุขหนอ เพราะท่านไม่มีตัณหา กำหนดรู้เบญจขันธ์มีสัทธรรม ๗ ประการเป็นโคจร มีร่างกายนี้เป็นครั้งสุดท้าย หลุดพ้นจากภพใหม่ บรรลุพระอรหัตภูมิแล้ว ชนะขาดแล้วในโลก ไม่มีความเพลิดเพลินอยู่ในส่วนเบื้องบน ท่ามกลาง และที่สุด เป็นผู้ยอดเยี่ยมในโลก (สํ.ข.๑๗/๗๖/๔๑)

ในทางพระพุทธศาสนา ความสุขในระดับโลกิยะเป็นความสุขในระดับหนึ่ง พระพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธความจริงอันเป็นสมมติสัจจะและโลกแห่งวัตถุเหล่านี้ เพราะในความเป็นจริง ความสุขในระดับโลกิยะเป็นแนวทางให้บุคคลมีความพยายามเพื่อบรรลุความสุขขั้นสูงสุด อันเป็นบรมสุขกล่าวคือพระนิพพานซึ่งเป็นความสุขในระดับโลกุตตระ จะเห็นได้ว่าเป้าหมายของชีวิตในระดับโลกิยะและโลกุตตระจะสัมพันธ์กันโดยความเป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน ความสุขที่เกิดจากโลกแห่งวัตถุ เป็นเป้าหมายในระดับสัมมติสัจจะ อยู่ในระดับโลกิยวิสัย จึงหาความจริงแท้ไม่ได้ เพราะเป็นความสุขที่ที่สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ตามสภาวะแห่งสามัญญลักษณะ และการมีสุขเช่นนี้ ก็ไม่นับว่าเป็นเป้าหมายที่สูงสุดในพระพุทธศาสนา แต่ความสุขในระดับโลกิยะนั้นเป็นสิ่งสำคัญต่อการขัดเกลาจิตในระดับเบื้องต้น ถ้าหากบุคคลไม่ได้รับการฝึกฝนและได้รับความสุขระดับเบื้องต้น ความพยายามในที่จะให้ความสุขในระดับโลกุตตระอันเป็นจุดหมายปลายทางเกิดขึ้นก็จะมีไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า ความสุขในระดับโลกิยะและความสุขในระดับโลกุตตระจึงเป็นเหตุผลของกันและกันและสัมพันธ์กันดังกล่าวมา

พุทธปรัชญาได้สอนหลักจริยธรรมการดำเนินชีวิตไว้ทุกระดับ ตั้งแต่จริยธรรมสำหรับผู้อยู่ครองเรือนจนถึงบรรพชิตผู้ออกแสวงหาความสงบ และความหลุดพ้นจากกองกิเลสทั้งปวงพระพุทธศาสนาได้แสดงอรรถะ คือจุดมุ่งหมายของชีวิตที่ดีงาม ที่มนุษย์พึงประสงค์ไว้ ๓ ระดับ คือ

๑. ทิฏฐธัมมิกัตถะ หรือประโยชน์ในปัจจุบันประโยชน์ในโลกนี้ อันเป็นจุดหมายเบื้องต้นหรือจุดหมายเฉพาะหน้าที่มองเห็นได้ในชีวิตประจำวัน อันได้แก่ ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ หรือทรัพย์สิน ฐานะเป็นต้น รวมถึงการแสวงหาสิ่งเหล่านี้โดยชอบธรรม มี ๔ ประการ คือ
     ๑.๑ อุฏฐานสัมปทา หาเลี้ยงชีพด้วยความหมั่น คือ ขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่การงาน ประกอบอาชีพอันสุจริต มีความชำนาญ รู้จักใช้ปัญญาสอดส่องตรวจตรา หาอุบายวีธี สามารถดำเนินการให้ได้ผลดี
     ๑.๒ อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษา คือรู้จักคุ้มครองเก็บรักษาโภคทรัพย์และผลงานอันตนได้ทำไว้ด้วยความขยันหมั่นเพียรโดยชอบธรรม ด้วยกำลังของตน ไม่ให้เป็นอันตรายหรือสูญหาย
     ๑.๓ กัลยาณมิตตตา การคบคนดีเป็นมิตร คือ รู้จักกำหนดบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะ และปัญญา ไม่แนะนำไปสู่อบายมุข
     ๑.๔ สมชีวิตา มีความอยู่พอเหมาะสม คือรู้จักกำหนดรายได้และรายจ่าย เลี้ยงชีวิตแต่พอดี ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ไม่ฟุ่มเฟือยนัก ให้รายได้เหนือรายจ่าย มีประหยัดเก็บไว้ (องฺ.อฏฺฐก.๒๓/๑๔๔/๒๒๒)

๒. สัมปรายิกัตถะ หรือประโยชน์เบื้องหน้าประโยชน์ในภพหน้า เป็นประโยชน์ขั้นสูงที่ลึกล้ำกว่าจะมองเห็นได้เฉพาะหน้า เกี่ยวเนื่องด้วยคุณค่าของชีวิต เป็นหลักประกันว่า เมื่อละชีวิตจากโลกนี้ไปแล้ว จะไม่ตกลงไปสู่ที่ชั่ว อันได้แก่ ความเจริญด้านจิตใจที่ประกอบไปด้วยคุณธรรมและศีลธรรม ใฝ่ใจในทางในเรื่องบุญกุศล มีความสงบสุขทางจิตใจ มี ๔ประการ คือ
     ๒.๑ สัทธาสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา คือ เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ เช่น เชื่อว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น
     ๒.๒ สีลสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยศีล คือรักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย ไม่มีโทษ และรู้จักรักษาระเบียบวินัยเป็นอันดี
     ๒.๓ จาคสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยการเสียสละ เป็นการเฉลี่ยความสุขให้แก่ผู้อื่น
     ๒.๔ ปัญญาสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยปัญญา คือ รู้จัก บาป คุณ โทษ ประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์ เป็นต้น

๓. ปรมัตถะ หรือประโยชน์สูงสุดประโยชน์อย่างยิ่งอันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด หมายถึงจิตที่หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ทั้งปวง คือวิมุตติและพระนิพพานอันเป็นสาระแท้ของชีวิต ได้แก่การรู้แจ้งและรู้เท่าทันคติธรรมดาของสังขารธรรม ไม่ตกเป็นทาสของโลกและชีวิต (องฺ.อฏฺฐก.๒๓/๑๔๔/๒๒๒)

สรุปได้ว่า ขอบเขตของพุทธจริยศาสตร์นั้น อยู่ที่การกระทำทางกาย วาจา และใจ เป็นพื้นฐานให้เกิดคุณธรรมขั้นสูงๆ ขึ้นไปเท่านั้น เพราะจริยศาสตร์เป็นเป็นเรื่องที่ว่าด้วยคุณค่าของการกระทำที่มีค่าในระดับโลกิยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่อยู่ในขั้นปรมัตถ์หรือโลกุตรธรรม

๑) ระดับโลกิยธรรมเป็นเป้าหมายของชีวิตมนุษย์ในสภาวะที่สืบเนื่องอยู่ในโลกแห่งปรากฏการณ์ สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส เป้าหมายของชีวิตในระดับนี้จึงสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เพราะเป้าหมายในระดับนี้วัดจากรูปธรรมอันปรากฏให้เห็นเท่านั้น แต่มิได้หมายความว่า อุดมคติของชีวิตในระดับนี้จะเป็นสิ่งเลวร้าย ในทางตรงกันข้ามหากสร้างและดำเนินชีวิตตามอุดมคติที่วางไว้ได้อย่างถูกต้องตามกฎศีลธรรมแล้ว ชีวิตก็จะสมบูรณ์ในระดับหนึ่ง

๒) ระดับโลกุตรธรรมเป็นเป้าหมายของมนุษย์อันอยู่ในสภาวะที่พ้นจากโลก เป้าหมายในระดับนี้ไม่ได้สามารถวัดได้ด้วยวัตถุ สิ่งของ หรือประสาทสัมผัสทั้ง ๕ เพราะเป็นขั้นที่หลุดพ้นจากอำนาจกิเลสทั้งปวง เป็นเป้าหมายในระดับปรมัตถะ เป็นความสุขที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะอื่นใด อันได้แก่ พระนิพพาน
---
การจัดลำดับพุทธจริยธรรม

พุทธจริยธรรม มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้บุคคลมีชีวิตที่ดี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สามารถอยู่ร่วมกันเป็นสังคมได้เป็นอย่างดี มีความสุข และทำให้มีการดำเนินชีวิต การครองชีพอย่างประเสริฐ เพราะฉะนั้นพุทธจริยธรรมจึงเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ดีของชาวพุทธ การจัดพุทธจริยธรรมสามารถจัดได้ดังนี้

๑. พุทธจริยธรรมขั้นพื้นฐานเป็นเบื้องต้นของธรรมจริยา หรืออกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (พระเทพเวที, ๒๕๓๒: ๕) และยังเป็นพื้นฐานของคุณธรรมขั้นสูงๆขึ้นไป จริยธรรมในระดับนี้จะเป็นจริยธรรมขั้นพื้นฐานที่จำเป็นทั้งต่อตนเองและสังคม กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เป็นหลักมนุษยธรรมขั้นพื้นฐาน ได้แก่ เบญจศีล อันได้แก่ ศีล ๕ (five percepts) และเบญจธรรม อันได้แก่ ธรรม ๕ ประการ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติฝ่ายศีลและธรรมที่สนับสนุนกัน เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติควบคู่กัน

๑. เบญจศีล
๑.๑ เว้นจากการฆ่าสัตว์ (ปาณาติปาตา เวรมณี)
๑.๒ เว้นจากการลักทรัพย์ (อทินฺนาทานา เวรมณี)
๑.๓ เว้นจากประพฤติผิดในกาม (กาเมสุ มิจฺฉาจารา เวรมณี )
๑.๔ เว้นจากการพูดปด (มุสาวาทา เวรมณี)
๑.๕ เว้นจากการดื่มสุราและเมรัย (สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี)

๒. เบญจธรรม
๒.๑ มีเมตตากรุณาต่อสัตว์ (เมตตา-กรุณา)
๒.๒ เลี้ยงชีวิตในทางที่ถูกต้อง (สัมมาอาชีวะ)
๒.๓ มีความสำรวมระวังในกาม (กามสังวร)
๒.๔ พูดแต่คำสัตย์จริง (สัจจะ)
๒.๕ มีสติรักษาตนไว้เสมอ (สติ-สัมปชัญญะ)
(องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๑๗๑/๑๘๒)

๒. พุทธจริยธรรมขั้นกลางในระดับนี้เป็นการพัฒนาจริยธรรมให้สูงขึ้นไป คือกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ แบ่งประเภทออกเป็น ๓ ทาง คือ
(๑) ความดีทางกาย เรียกว่า กายสุจริต (๒) ความดีทางวาจา เรียกว่า วจีสุจริต และ (๓) ความดีทางใจ เรียกว่า มโนสุจริต ได้แก่
๑. ความดีทางกายมี ๓ คือ (๑) เว้นจากการฆ่าสัตว์ (๒) เว้นจากการลักทรัพย์ (๓) เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๒. ความดีทางวาจามี ๔ คือ (๑) เว้นจากการพูดปด (๒) เว้นจากการพูดคำหยาบ (๓) เว้นจากการพูดส่อเสียด (๔) เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อไร้สาระ
๓. ความดีทางใจมี ๓ คือ (๑) ไม่โลภอยากได้ของเขา (๒) ไม่คิดปองร้ายผู้อื่น (๓) ไม่เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม (ม.มู. ๑๒/๔๘๕/๓๖๗)

๓. พุทธจริยธรรมขั้นสูงคืออริยอัฏฐังคิกมรรค ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ หรือเรียกอีกอย่างว่า อริยมรรค มีความหมายว่า ทางอันประเสริฐหรือทางนำผู้ปฏิบัติให้เป็นผู้ประเสริฐ มี ๘ ข้อ คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ มีความเข้าใจถูกต้อง ดังนี้คือ
๑.๑ เห็นว่าทานที่ให้แล้วมีผล
๑.๒ เห็นว่าของที่เราบูชาแล้วมีผล
๑.๓ เห็นว่าของที่เราบางสรวงแล้วมีผล
๑.๔ เห็นผลของกรรมดี กรรมชั่วมี
๑.๕ เห็นว่าโลกนี้มี
๑.๖ เห็นว่าโลกหน้ามี
๑.๗ เห็นว่ามารดามี
๑.๘ เห็นว่าบิดามี
๑.๙ เห็นว่าสัตว์ที่ผุดขึ้นเองมี
๑.๑๐ เห็นว่าสมณพราหมณ์ที่หมดกิเลสปฏิบัติดีมีอยู่

๒. สัมมาสังกัปปะ มีความคิดถูกต้อง ดังนี้คือ
๒.๑ คิดออกจากกาม
๒.๒ ไม่คิดพยาบาทปองร้ายใคร
๒.๓ ไม่คิดเบียดเบียนใคร

๓. สัมมาวาจา มีวาจาถูกต้อง ดังนี้คือ
๓.๑ พูดคำจริง
๓.๒ ไม่พูดส่อเสียด

๓.๓ พูดไพเราะอ่อนหวาน ไม่พูดคำหยาบ
๓.๔ พูดอย่างมีสติใคร่ครวญ ไม่เหลวไหลเลื่อนลอย

๔. สัมมากัมมันตะ มีการงานถูกต้อง ๓ ประการ ดังนี้ คือ
๔.๑ ไม่ฆ่าสัตว์
๔.๒ ไม่ลักทรัพย์
๔.๓ ไม่ประพฤติในกามทั้งหลาย

๕. สัมมาวายามะ มีอาชีพถูกต้อง ดังนี้
๕.๑ ละอาชีพที่ทุจริต
๕.๒ ประกอบอาชีพที่สุจริต

๖. สัมมาวายามะ มีความเพียรพยายามถูกต้องดังนี้
๖.๑ เพียรระวังไม่ให้ความไม่ดีเกิดขึ้นตังเอง
๖.๒ เพียรพยายามละความชั่ว ที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป
๖.๓ เพียรสร้างกุศลความดีที่ยังไม่เกิดขึ้น ให้เกิดมีขึ้น
๖.๔ เพียรรักษาความดีที่มีอยู่แล้วให้คงอยู่ และให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไปตามลำดับ

๗. สัมมาสติ มีความระลึกรู้ตัวทั่วพร้อมในสติปัฏฐาน ๔ ดังนี้ คือ
๗.๑ การพิจารณากายในกาย
๗.๒ การพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา
๗.๓ การพิจารณาเห็นจิตในจิต
๗.๔ การพิจารณาเห็นธรรมในธรรม

๘. สัมมาสติ ความมีใจมั่นคงถูกต้องในฌาน ๔ ดังนี้
๘.๑ ปฐมฌาน (ฌานที่ ๑)
๘.๒ ทุติยฌาน (ฌานที่ ๒)
๘.๓ ตติยฌาน (ฌานที่ ๓)
๘.๔ จตุตถฌาน (ฌานที่ ๔) (ม.มู.๑๒/๑๔๙/๘๖)

อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ เรียกว่า ทางสายกลาง คือเป็นข้อปฏิบัติที่อยูระหว่างกามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยค เป็นทางสายเอกเพื่อความบริสุทธิ์ เปรียบเหมือนเชือกที่มี ๘ เกลียว แต่รวมกันเข้าเป็นอันเดียว หมายถึงผู้ปฏิบัติในอริยมรรคนี้ต้องกระทำไปพร้อม ๆ กัน

จากการจัดลำดับพุทธจริยธรรมที่กล่าวมาข้างต้นนั้น สรุปการจัดระดับพุทธจริยธรรมตามแนวมรรคมีองค์ ๘ ประการดังกล่าวแล้วนั้น สามารถแบ่งออกเป็น ๓ ระดับย่นย่อลงในไตรสิกขา คือ ระดับศีล ระดับสมาธิ และระดับปัญญา หรือแบ่งออกเป็น ๓ ระดับ ได้ดังนี้

๑. ระดับต้น ได้แก่ เบญจศีล เบญจธรรม
๒. ระดับกลาง ได้แก่ กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ
๓. ระดับสูง ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ ประการ

เมื่อกล่าวโดยสรุป พุทธจริยธรรม ได้แก่มรรคมีองค์ ๘ หรือที่เรียกว่า มัชฌิมปฏิปทา ย่อเข้าในไตรสิกขา ก็คือ ศีล สมาธิ และปัญญา เพราะเป็นข้อปฏิบัติที่สามารถนำไปสูประโยชน์และความสุขทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น
---
เกณฑ์ตัดสินพุทธจริยธรรม

ต่อไปนี้จะเป็นการศึกษาปัญหาเกณฑ์ตัดสินพุทธจริยธรรม คือ ปัญหาที่ว่า การกระทำที่มีคุณค่าทางจริยะที่ว่า การกระทำที่เรียกว่า ดี ถูก ผิด หรือควร ไม่ควร เป็นอย่างไร และมีอะไรเป็นเกณฑ์ในการตัดสินในการกระทำนั้นว่า ดี ถูก ผิด หรือควร ไม่ควร

หลักจริยธรรมในระบบพุทธจริยศาสตร์นั้น เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่ามี ๒ อย่างคือ สัจธรรม และศีลธรรม สัจธรรมเป็นอันติมสัจจะ กล่าวคือ เป็นความจริงสูงสุดอันเป็นฐานรองรับหลักศีลธรรม และหลักจริยธรรม หรือการกระทำอันมีค่าทางพุทธจริยศาสตร์ที่ดำเนินไปถึงเพื่อเข้าถึงเป้าหมายอันเป็นอันติมสัจจะนั้น เป็นสิ่งที่มีอยู่เอง มีอยู่อย่างเที่ยงแท้ และสามารถดำรงอยู่ได้โดยธรรมดา ถ้ามนุษย์ไม่มีเป้าหมายในการกระทำ ก็ไม่สามารถกล่าวได้ว่า การกระทำใดถูก หรือผิด เพราะฉะนั้น เกณฑ์ในการตัดสินค่าจริยะว่า สิ่งนี้ถูก ผิด ควร ไม่ควร จึงต้องอาศัยเป้าหมายเป็นแนว ในขั้นนี้ ผู้วิจัยจะศึกษาวิเคราะห์ปัญหาที่ว่า มาตรการวัดและตัดสินคุณค่าทางจริยะเหล่านี้ ในทางพุทธจริยศาสตร์คืออะไร และมีอะไรบ้าง นี้เป็นปัญหาที่จะต้องศึกษาต่อไป

ในพระพุทธศาสนากล่าวการกระทำของมนุษย์ไว้ ๓ ทางคือ ทางกาย เรียกว่า กายกรรม ทางวาจา เรียกว่า วจีกรรม และทางใจ เรียกว่า มโนกรรม การกระทำจะดีหรือชั่วอยู่ที่ ๓ ทางนี้ ถ้าการกระทำนั้นเป็นฝ่ายดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ เรียกว่า กายสุจริต วจีสุจริตและมโนสุจริต กรรมฝ่ายดีนี้ เรียกว่า กุศลกรรม แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นการกระทำในฝ่ายชั่วทางทวารทั้ง ๓ นี้ เรียกว่า กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต กรรมฝ่ายชั่วทั้ง ๓ นี้เรียกว่า อกุศลกรรม ส่วนปัญหาที่ว่า การกระทำของมนุษย์นั้น จะดีหรือชั่ว ใช้อะไรเป็นเกณฑ์วัด เป็นปัญหาที่จะต้องพิจารณากันต่อไป

ตามแนวพุทธจริยศาสตร์นั้น ให้ถือเจตนาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินว่า การกระทำใด ดี หรือชั่ว ถูก หรือผิด เพราะการกระทำทั้งหมดของมนุษย์มีเจตนาเป็นตัวคอยบ่งชี้ เพราะฉะนั้นเจตนาจึงเป็นตัวแท้ของกรรม"บุคคลคิดแล้วจึงกระทำ กรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ" (องฺ.ฉกฺก.๒๒/๓๓๔/๓๖๕)

เค.เอ็น. ชยติลเลเก (๒๕๓๔: ๓๖) ได้ให้ทัศนะในปัญหานี้ว่า

พระพุทธศาสนาถือว่า การกระทำที่ถูกต้องและผิดนั้นจะต้องเป็นการ กระทำที่เป็นไปอย่างเสรี แต่เป็นเสรีภาพที่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับกฎของเหตุผล ตามทัศนะของพระพุทธศาสนา มีเงื่อนไขที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้การกระทำที่ถูกแตกต่างจากการกระทำที่ผิด นั่นคือแรงจูงใจและความตั้งใจหรือเจตนาที่บุคคลมีต่อการกระทำๆ

โดยนัยนี้ กล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนา เชื่อว่า มนุษย์มีเจตจำนงเสรีในการกระทำ ซึ่งเป็นเจตจำนงเสรีที่ความสัมพันธ์กันในเหตุผลเชิงจริยธรรม เพราะถ้ามนุษย์ไม่มีเจตน์จำนงเสรีในการกระทำ ก็จะไม่มีความชั่ว ถูก ผิด ควร หรือไม่ควร การกระทำก็เป็นแต่สักว่า ทำแล้ว กำลังทำ หรือทำอยู่เท่านั้น แต่มนุษย์มีเจตจำนงเสรีในการกระทำ และการกระทำทุกอย่างย่อมประกอบด้วยความจงใจหรือเจตนาเสมอ เพราะฉะนั้น ด้วยการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนาหรือความจงใจนี้เอง พระพุทธศาสนาจึงกล่าวว่า ถ้าประกอบด้วยกุศล ก็จัดเป็นกุศลกรรม ถ้าประกอบด้วยอกุศล จัดว่าเป็นอกุศลกรรม ดังพุทธพจน์ว่า

กรรมที่ถูกโลภะครอบงำ...กรรมที่ถูกโทสะครอบงำ...กรรมที่ถูกโมหะครอบงำ เกิดแต่โมหะ มีโมหะเป็นเหตุ มีโมหะเป็นแดนเกิด ย่อมให้ผลในที่ที่เกิดอัตภาพของเขา กรรมนั้นให้ผลในขันธ์ใด ในขันธ์นั้น เขาจะต้องเสวยวิบากของกรรมนั้น ในลำดับที่เกิดหรือต่อ ๆ ไปในปัจจุบันนั่นเอง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติ ๓ประการนี้แล เป็นเหตุให้เกิดกรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ อโลภะ ๑ อโทสะ ๑อโมหะ ๑...กรรมที่ถูกอโลภะครอบงำ...กรรมที่ถูกอโทสะครอบงำ... กรรมที่ถูกอโมหะครอบงำ เกิดแต่ อโมหะมีอโมหะเป็นเหตุ มีอโมหะเป็นแดนเกิด เมื่อโมหะปราศไปแล้ว ย่อมเป็นอันบุคคลละได้เด็ดขาด ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วนทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา...ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติ ๓ประการนี้แลเป็นเหตุให้เกิดกรรม ฯ (องฺ.ติก.๒๐/๔๗๓/๑๒๘)

จึงกล่าวได้ว่า ตามหลักพุทธจริยศาสตร์ เจตนาที่ประกอบด้วยด้วยความพยายามในการกระทำอันเป็นเหตุเบื้องต้น หรือเป็นความพยายามเพื่อให้การกระทำสำเร็จลงเป็นเกณฑ์ตัดสินคุณค่าเชิงพุทธจริยธรรม ดังพุทธพจน์ที่ว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลายเรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม บุคคลคิดแล้วจึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา (องฺ.ฉกฺก.๒๒/๓๔/๓๕๖)
---
พุทธจริยธรรมเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่

การดำรงตนอยู่ในสังคมนั้น บุคคลหนึ่งจะต้องมีบทบาทหน้าที่หลายๆ อย่าง ถ้าขาดหลักการปฏิบัติในการทำบทบาทหน้าที่เหล่านั้นแล้ว ก็จะเกิดความสับสนในบทบาทหน้าที่เหล่านั้นได้ พระพุทธองค์จึงได้บัญญัติข้อปฏิบัติในการปฏิบัติตนตามบทบาทหน้าที่ในสังคมไว้ดังต่อไปนี้ (ที.ปา. ๑๑/๑๙๘/๑๙๖)

๑. ฐานะลูก ซึ่งมีบทบาทหน้าที่เมื่อเป็นลูกอย่างนี้ คือ 
๑.๑ ช่วยทำธุระของพ่อแม่
๑.๒ ประพฤติตัวดี ควรแก่การที่พ่อแม่จะมอบความไว้วางใจ
๑.๓ สร้างและรักษาชื่อเสียงของวงศ์ตระกูลไว้
๑.๔ เลี้ยงดูท่านด้วยความกตัญญูกตเวที
๑.๕ เมื่อท่านเสียชีวิตแล้วบำเพ็ญกุศลอุทิศส่วนบุญไปให้

๒. ฐานะพ่อแม่ มีบทบาทและหน้าที่เมื่อเป็นพ่อแม่ ดังนี้
๒.๑ รักษาลูกไม่ให้ทำความชั่ว
๒.๒ ส่งเสริมให้ลูกทำความดี
๒.๓ ให้การศึกษา
๒.๔ หาคู่ครองที่ดีให้
๒.๕ มอบทรัพย์มรดกให้เมื่อถึงเวลาอันสมควร

๓. ฐานะศิษย์ มีบทบาทและหน้าที่เมื่อเป็นศิษย์ ดังนี้
๓.๑ มีความเคารพนับถือครูอาจารย์
๓.๒ เชื่อฟังครูอาจารย์
๓.๓ มีความกตัญญูกตเวทีต่อครูอาจารย์
๓.๔ ช่วยทำกิจธุระของครูอาจารย์
๓.๕ เรียนศิลปะวิทยาด้วยความตั้งใจ

๔. ฐานะครู มีบทบาทและหน้าที่เมื่อเป็นครู ดังนี้
๔.๑ แนะนำศิษย์อย่างดี ด้วยเจตนาดี
๔.๒ สอนอย่างดี ด้วยความตั้งใจ ยึดประโยชน์ของศิษย์เป็นที่ตั้ง
๔.๓ สอนวิทยาการให้สิ้นเชิง ไม่ปิดบัง
๔.๔ ยากย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง
๔.๕ ช่วยเหลือศิษย์ไม่ให้มีอันตรายและให้มีความสุข

๕. ฐานะคู่ชีวิต คือสามีภรรยา มีบทบาทและหน้าที่ ดังนี้คือ
๕.๑ บทบาทหน้าที่ของสามีต่อภรรยา
๕.๑.๑ ยกย่องว่าเป็นภรรยา
๕.๑.๒ ไม่ดูหมิ่นเหยียดหยาม
๕.๑.๓ ไม่ประพฤตินอกใจ
๕.๑.๔ มอบความเป็นใหญ่ในบ้านให้
๕.๑.๕ ให้เครื่องประดับเครื่องแต่งกาย
๕.๒ บทบาทหน้าที่ของภรรยาต่อสามี
๕.๒.๑ จัดการงานในบ้านเรียบร้อยดี
๕.๒.๒ สงเคราะห์คนข้างเคียงสามีดี
๕.๒.๓ ไม่นอกใจสามี
๕.๒.๔ รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้
๕.๒.๕ มีความขยัน

๖. ฐานะเพื่อน มีบทบาทหน้าที่ ดังนี้คือ
๖.๑ หน้ามิตรบำรุงมิตร
๖.๑.๑ ช่วยเหลือเพื่อน
๖.๑.๒ เจรจาถ้อยคำไพเราะ
๖.๑. ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์
๖.๑.๔ เป็นผู้วางตนเสมอ
๖.๑.๕ ไม่แกล้งกล่าวให้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
๖.๒ หน้าที่มิตรอนุเคราะห์มิตร
๖.๒.๑ รักษาเพื่อนผู้มีความประมาทแล้ว
๖.๒.๒ รักษาทรัพย์ของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว
๖.๒.๓ เมื่อมีภัย เป็นที่พึ่งได้
๖.๒.๔ นับถือวงศ์ญาติของเพื่อน

๗. ฐานะนายและทาสกรรมกร
๗.๑ หน้าที่นายจ้างบำรุงบ่าวไพร่
๗.๑.๑ จัดงานให้ทำตามสามควรแก่กำลัง
๗.๑.๒ ให้อาหารและรางวัล
๗.๑.๓ รักษาพยาบาลในเวลาเจ็บไข้
๗.๑.๔ ให้รางวัลพิเศษเมื่อทำงานได้ดี
๗.๑.๕ ให้ลูกจ้างได้พักตามกาลอันสมควร
๗.๒ หน้าที่บ่าวไพร่อนุเคราะห์นาย
๗.๒.๑ ลุกขึ้นทำงานก่อนนาย
๗.๒.๒ เลิกการงานที่หลังนาย
๗.๒.๓ ถือเอาแต่ของที่นายให้
๗.๒.๔ ทำงานให้ดีขึ้น
๗.๒.๕ นำคุณของนายไปสรรเสริญให้ที่นั้นๆ

๘. บทบาทหน้าที่สำหรับผู้ปกครอง หมายถึง บุคคลที่สังคมยกย่องให้เป็นผู้นำนั้นต้องประกอบด้วยคุณธรรมอันนำมาซึ่งความสงบสุข และนำสมาชิกของสังคมไปสู่ความเจริญ รุ่งเรือง พระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงหลักธรรมสำหรับนักปกครองไว้ว่า ทศพิพิธราชธรรม หมายถึง ธรรมของพระราชา หรือกิจวัตรที่นักปกครองต้องประพฤติปฏิบัติ มี ๑๐ ประการ คือ (ขุ.ชา.๒๘/๒๔๐/๖๒)

๘.๑ ทาน การให้ คือการสละทรัพย์สิ่งของบำรุงเลี้ยงช่วยเหลือประชาราษฎร์ และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์

๘.๒ ศีล ความประพฤติดีงาม คือ สำรวมกายกายทวาร และวจีทวาร ประกอบแต่การกระทำที่สุจริต รักษากิตติคุณ และเป็นที่เคารพของนับถือของประชาราษฎร์ มิให้มีข้อที่ใครจะดูแคลนได้

๘.๓ ปริจจาค การบริจาค คือเสียสละความสุขสำราญ เป็นต้น ตลอดจนชีวิตของตน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

๘.๔ อาชชวะ ความซื่อตรง คือ ซื่อตรงต่อหน้าที่ ปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ โดยสุจริต มีความจริงใจ ไม่หลอกลวงประชาชน

๘.๕ มัททวะ ความอ่อนโยน คือ มีอัธยาศัยไม่เย่อหยิ่งหยาบคาย หรือถือตัว มีความงามอันเกิดจากกิริยามารยาทสุภาพนุ่มนวล ละมุนละไม ให้ได้ความรักภักดี และความยำเกรง

๘.๖ ตปะ ความทรงเดช คือ กำจัดกิเลสตัณหา ไม่ให้เข้ามาครอบงำจิตใจ ข่มใจได้ ไม่ยอมให้หลงใหลหมกมุ่นในความสุขสำราญอันเกิดจากความปรนเปรอ มีความมุ่งมั่นในการบำเพ็ญเพียร ทำกิจให้สมบูรณ์

๘.๗ อักโกธะ ความไม่โกรธ คือ ไม่กริ้วกราด ลุแก่อำนาจโทสะ จะเป็นเหตุให้เกิดการกระทำผิดพลาด มีเมตตาประจำใจเสมอ วินิจฉัยความแลการกระทำต่าง ๆ อันประกอบด้วยธรรม

๘.๘ อวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน คือ ไม่กดขี่บีบคั้นประชาชน เช่น การขูดรีดเก็บภาษี หรือเกณฑ์แรงงานเกินขนาด ไม่หลงระเริงอำนาจจนขาดความเมตตากรุณา

๘.๙ ขันติ ความอดทน คือ อดทนต่องานที่ตรากตรำ ถึงจะลำบายกายเพียงใด ก็ไม่เกิดความย่อท้อ ถึงแม้จะถูกเย้ยหยันด้วยคำเสียดสีอย่างไร ก็ไม่หมดกำลังใจ ไม่ยอมละทิ้งกรณียกิจที่บำเพ็ญโดยชอบธรรม

๘.๑๐ อวิโรธนะ ความไม่คลาดจากธรรม คือวางตนเป็นหลักในธรรม ไม่มีความเอนเอียงเพราะถ้อยคำที่ดีหรือร้อย ไม่เห็นแก่ลาภสักการะ หรืออิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ใดๆ ตั้งมั่นในหลักธรรมทั้งในส่วนของความยุติธรรม คือ ความเที่ยงธรรม นิติธรรม คือ ระเบียบแบบแผนหลักการปกครอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ไม่ประพฤติให้คลาดเคลื่อนจนเกิดความเสียหายไป
---
พุทธจริยธรรมเกี่ยวกับการแก้ปัญหา

ปัญหาหรือความทุกข์ที่เกิดขึ้นแก่มนุษย์โดยทั่วไป มักเกิดขึ้นมาจากความทะยานอยาก หรือความพอใจอยากได้จนเกินประมาณ คือ อยากได้ในกามคุณเพื่อนสนองความความต้องการทางประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ความอยากที่จะมีอยู่คงอยู่ตลอดไป และความอยากที่จะพ้นจากสภาพที่ไม่พึงปรารถนา อยากทำลายหรือดับสูญ รวมความแล้วได้แก่ตัณหา ๓ คือ กามตัณหาภวตัณหา วิภวตัณหา (องฺ.ฉกฺก. ๒๒/๓๗๗/๓๙๘)

วิธีการแก้ปัญหาต่าง ๆ นั้น ต้องรู้ถึงสาเหตุของปัญหาและแก้ไขตามสาเหตุอย่างถูกต้อง และวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือ การแก้ปัญหาตามหลักอริยสัจ อันเป็นพื้นฐานเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้อยากถูกต้อง เพราะในชีวิตประจำวันของมนุษย์เรานั้นต้องมีการตัดสินใจอยู่ตลอดเวลา นั่นคือต้องมีการเผชิญกับปัญหาต่างๆ และต้องตัดสินใจเสมอ และอริยสัจ นี้ก็เป็นหลักธรรมที่ทำให้ผู้เข้าถึงสามารถเป็นผู้ประเสริฐได้ ๑. อริยสัจจ์ ๔คือ ความจริงอันประเสริฐ หรือความจริงของพระอริยเจ้า

๑.๑ ทุกข์หมายถึงความไม่สบายกายไม่สบายใจ เป็นสภาพที่ทนได้ยาก เป็นสภาวะบีบคั้น ขัดแย้งขัดข้อง มีความบกพร่องไม่สมบูรณ์ในตัวเอง ได้แก่ ชาติ ชรา มรณะ ซึ่งเป็นสภาวะปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันหรือสภาพปัญหาอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตแก่ผู้ที่ยึดมั่นด้วยอำนาจอุปาทาน ทั้งนี้เพราะปัจจัยต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นสิ่งที่มีสภาพเป็นไตรลักษณ์ คือสภาวะที่ไม่มีความยั่งยืน มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ไม่สามารถยึดถือเป็นแก่นสารได้

๑.๒ สมุทัยเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ อันได้แก่ ตัณหา ๓ ประการอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ คือ (๑) กามตัณหา ความทะยานอยากในกามคุณ ที่เป็นสิ่งสนองความต้องการทางประสาทสัมผัสทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ (๒) ภวตัณหา ความทะยานอยากในภาวะที่ตนกำลังเป็นอยู่นี้ตลอดไป หรือความอยากที่จะไปสู่ภาวะอย่างใดอย่างหนึ่งที่คิดได้ (๓) วิภวตัณหา ความทะยานอยากในเราที่พ้นไปเสียจากภาวะอยากจะหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่พอใจจากสิ่งที่ตนกำลังได้รับ หรือไม่อยากพบภาวะที่ตนไม่ชอบใจในอนาคต แต่เนื่องจากความเป็นไปในโลกนี้มิได้เป็นไปตามความอยาก แต่เป็นไปตามกฎของไตรลักษณ์ จึงทำให้ประสบกับความทุกข์

๑.๓ นิโรธความดับทุกข์ ภาวะที่ตัณหาดันสิ้นไป ภาวะที่เข้าถึงเมื่อกำจัดอวิชชา และสำรอกตัณหาได้แล้ว ปราศจากความดิ้นรนทางใจเพื่อแสวงหาความเป็นอิสระจากทุกข์ทั้งปวง คงเหลือแต่ความปรุงแต่งทางกายตามสภาพธรรมชาติ

๑.๔ มรรคข้อปฏิบัติที่ให้ทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าสู่ภาวะนิโรธ คือความดับทุกข์ ได้แก่การปฏิบัติตาม มรรคมีองค์ ๘(อภิ.วิ. ๓๕/๑๔๔/๙๓) อริยสัจ ๔ ประการนี้ เป็นแนวทางการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นซึ่งได้แก่ ทุกข์ แล้วพิจารณาหาเหตุของทุกข์เพื่อแก้ปัญหา คือ สมุทัย เมื่อหาสาเหตุแห่งทุกข์ได้แล้ว ต้องหาวิธีแก้ทุกข์ หรือหาวิธีการเพื่อให้พ้นจากสภาพไม่พึงประสงค์ด้วยวิธีการต่าง ๆ คือนิโรธ แล้วจึงปฏิบัติตามแนวทางเพื่อให้ดับทุกข์คือ นิโรธคามินีปฏิปทา อันได้แก่การดำเนินทางตามแนว มรรคมีองค์ ๘ หรือทางสายกลาง

๒. สัปปุริสธรรมคือ ธรรมของสัตบุรุษ ๗ ประการ คือ

๒.๑ ธัมมัญญุตาความเป็นผู้จักธรรม หมายถึง รู้หลักความจริง รู้หลักการ รู้หลักเกณฑ์ รู้กฎธรรมชาติแห่งสรรพสิ่ง หรือรู้เหตุ รู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล เช่น รู้ว่าอะไรเป็นเหตุให้ทำชั่ว อะไรเป็นหลักเกณฑ์แห่งความดี เป็นต้น

๒.๒ อัตถัญญุตาความเป็นผู้รู้จักอรรถ หมายถึง รู้ความหมาย รู้จุดมุ่งหมายหรือจุดประสงค์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ เช่น รู้หลักธรรมหรือภาษิตนั้นๆ มีความหมายอย่างไร มีความมุ่งหมายอะไร เมื่อปฏิบัติตามแล้วจะเกิดผลดีหรือผลเสียอย่างไร เป็นต้น

๒.๓ อัตตัญญุตาความเป็นผู้รู้จักตน คือรู้จักตนเองโดยฐานะ ภาวะ เพศ วัย ความรู้ ความสามารถ และคุณธรรมอื่นๆ มีศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญา เป็นต้น แล้วประพฤติตนให้เหมาะสมแก่ภาวะของตน และเมื่อรู้ว่า บกพร่องในเรื่องใด ก็ปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น

๒.๔ มัตตัญญุตาความเป็นผู้รักประมาณ คือ รู้จักความพอดี ความพอเหมาะสม ในการดำรงชีวิต เช่น การรู้จักประมาณในบริโภคอาหาร การรู้จักประมาณในการใช้จ่ายทรัพย์ที่หามาได้ รู้จักประมาณในการทำงานเป็นต้น

๒.๕ กาลัญญุตาความเป็นผู้รูจักกาล คือรู้จักเวลาว่า เวลาไหนควร ไม่ควรทำอะไร การงานใด จะต้องใช้เวลาเท่าไร แล้วทำให้ตรงต่อเวลา ให้เป็นเวลา

๒.๖ ปุริสัญญุตาความเป็นผู้รู้จักบริษัท คือรู้จักชุมชนและสังคม รู้กริยาที่จะพึงประพฤติ แล้วประพฤติตนให้เหมาสมต่อชุมชนและสังคมนั้นๆ

๒.๗ ปุคคลปโรรัญญุตาความเป็นผู้รู้จักเลือกคบบุคคล คือ รู้จักบุคคลที่ยิ่งหย่อนกว่ากัน รู้ความแตกต่างแห่งบุคคลนั้นๆ ว่า ใคร ผู้ใด มีอัธยาศัย หรือไม่ดี มีค่ำนิยมอย่างไร เป็นต้น (องฺ.สตฺตก.๒๓/๖๕/๙๑)

๓. สันโดษคือ ความยินดี ความพอใจ ความรู้จักเพียงพอด้วยปัจจัย ๔ ที่ตนหามาได้ด้วยเรี่ยวแรงความเพียรโดยชอบธรรม เพราะมนุษย์โดยทั่วไปจะเกิดความพึงพอใจในแสวงหา ในการบริโภคอย่างมาก เพราะฉะนั้น ความพอใจดังกล่าวนี้ ไม่ใช่หลักการตัดสินอรรถประโยชน์ ถ้าความพอใจไม่ได้มากับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ก็อาจจะเป็นตัวการในการทำลายอรรถประโยชน์ได้ เช่น ทำให้หลงมัวเมา เสียคุณภาพชีวิต เป็นต้น ๔ ประการ คือ

๓.๑ ยถาลาภสันโดษยินดีตามที่ได้ คือได้สิ่งใดมา หรือเพียรหาสิ่งใดมาได้ และสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ตนปรารถนา ไม่ว่าจะหยาบหรือประณีตเพียงใด ก็ยินดีพอใจด้วยสิ่งนั้น ไม่ติดใจอยากได้สิ่งอื่น ไม่เดือดร้อนกระวนกระวายในสิ่งที่ตนไม่ได้ ไม่ปรารถนาสิ่งที่ตนได้หรือเกินไปกว่าที่ตนพึงได้โดยถูกต้อง ไม่เพ่งอยากได้ของที่คนอื่นไม่ได้ให้

๓.๒ ยถาพลสันโดษยินดีตามกำลัง คือยินดีแต่พอกำลังร่างกายสุขภาพและวิสัยแห่งการใช้สอยของตน ไม่อยากได้เกินกำลัง หรือเมื่อได้มาแล้วไม่สามารถจะใช้กับกำลังร่างกายหรือสุขภาพได้ ก็ไม่หวงแหน ย่อมจะสละให้กับผู้อื่นได้

๓.๓ ยถาสารุปปสันโดษยินดีตามสมควร คือ ยินดีตามที่เหมาะสมกับตน อันสมควรแก่ภาวะ ฐานะ แนวทางการดำเนินชีวิต และจุดมุ่งหมายการบำเพ็ญกิจของตน (ม.อ.๒/๑๘๘; องฺ.อ.๑/๘๑)
---
พุทธจริยธรรมเกี่ยวกับการสร้างศรัทธาต่อความดี

๑. ศรัทธาคือความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล ๔ประการ คือ

๑.๑ กัมมสัทธา เชื่อเรื่องกรรมเชื่อกฎแห่งกรรม เชื่อว่ากรรมมีอยู่จริง คือ เชื่อว่า เมื่อทำอะไรโดยมีเจตนา จงใจทำการกระทำนั้นย่อมเป็นกรรม คือเป็นความชั่ว หรือความดี เป็นเหตุปัจจัยก่อให้เกิดผลดีผลร้าย สืบเนื่องต่อไป การกระทำไม่ว่างป่าว และเชื่อว่า ผลจะสำเร็จได้ด้วยการกระทำ มิใช่ด้วยอ้อนวอนหรือ เป็นต้น

๑.๒ วิปากสัทธา เชื่อผลของการกระทำเชื่อว่าผลของการกระทำมีจริง คือเชื่อว่า กรรมที่ทำแล้วต้องมีผล และผลของต้องมีเหตุ ผลดีเกิดจากกรรมดี ผลชั่วเกิดจากกรรมชั่ว

๑.๓ กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีกรรมเป็นของตนคือแต่ละคนย่อมเป็นเจ้าของของการกระทำ และจะต้องเสวยวิบากอันเป็นไปตามกรรมของตน

๑.๔ ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าคือมีความเชื่อมั่นในพระพุทธเจ้าว่า ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงประกอบด้วยพระคุณทั้ง ๙ ประการ บัญญัติวินัยไว้ด้วยดี ทรงเป็นผู้นำทางที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์คือเราทุกคนนี้ หากฝึกตนดีแล้ว ก็สามารถเข้าบรรลุภูมิธรรมอันสูง บริสุทธิ์ และหลุดพ้นจากกองกิเลส ดังที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญไว้ได้ (องฺ.สตฺตก.๒๓/๔/๓)

๒. กรรมหมายถึงกระทำที่ประกอบด้วยเจตนาดีหรือชั่ว ในที่นี้หมายถึงกรรมประเภทต่าง ๆ พร้อมทั้งหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ผลของกรรม ดังนี้คือ
     ก. กรรมที่จำแนกตามเวลาที่ให้ผล
          ๑. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในปัจจุบันคือในภพนี้
          ๒. อุปปัชชเวทนียกรรม คือกรรมที่ให้ผลในภพภูมิชาติหน้า
          ๓. อปราปริยเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในภพต่อๆ ไป
          ๔. อโหสิกรรม คือ กรรมที่เลิกให้ผล ไม่มีผลอีก

     ข. กรรมที่ให้ผลตามหน้าที่
          ๑. ชนกกรรม คือ กรรมที่แต่งให้เกิด หรือกรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด
          ๒. อุปัตถัมภกกรรม คือ กรรมสนับสนุน ซ้ำเติมต่อจากชนกกรรม
          ๓. อุปปีฬกกรรม คือ กรรมบีบคั้นผลแห่งชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรมนั้น ให้แปรเปลี่ยนทุเลาลงไป บั่นทอนวิบากกรรมไม่ให้เป็นไปได้นาน
          ๔. อุปฆาตกกรรม คือ กรรมตัดรอน กรรมที่แรง เป็นกรรมฝ่ายตรงกันข้ามกับชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรม เข้าไปตัดรอนการให้ผลของกรรมสองอย่างนั้นให้ขาดไป เช่น คนเกิดในตระกูลสูง มั่งคั่ง แต่อายุสั้น เป็นต้น

     ค. กรรมที่จำแนกตามลำดับความรุนแรงในการให้ผล
          ๑. ครุกธรรม คือ กรรมหนักที่ให้ผลก่อน ได้แก่ สมาบัติ ๘ หรือ อนัตริยกรรม
          ๒. พหุลกรรม หรือ อาจิณณกรรม คือ กรรมที่ทำมาก หรือกรรมชิน ซึ่งให้ผลรองจากครุกรรม
          ๓. อาสันนกรรม คือกรรมจวนเจียน หรือกรรมที่ให้ผลในเวลาใกล้ตาย ๔. กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม คือ กรรมสักว่าทำ กรรมที่ทำไว้ด้วยเจตนาอันอ่อน หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้นโดยตรง กรรมข้อนี้จะให้ผลต่อเมื่อไม่มีกรรมอื่นๆ ให้ผลให้แล้ว (วิสุทธิ. ๓/๒๒๓)
---
พุทธจริยธรรมเกี่ยวกับการปฏิบัติตนเพื่อการดำรงชีวิตที่ดี

มนุษย์จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้นั้น จะต้องมีหลักจริยธรรมในการครองชีวิตในปัจจุบัน ในพุทธจริยธรรม ได้สอนหลักเพื่อการดำรงชีวิตที่ดี ประเสริฐ ดี งาม และสงบไว้มาก ดังนั้น ผู้วิจัยจะกล่าวเฉพาะที่มีปรากฏอยู่ในบทเพลงเท่านั้น

๑. มงคล ๓๘ ประการหมายถึงหลักการดำเนินชีวิต หลักความประพฤติ ๓๘ ประการ เพื่อก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้วางหลักไว้ เริ่มตั้งแต่การดำเนินชีวิตขั้นต้น จนถึงขั้นสูงสุด คือ ตั้งแต่โลกิยธรรม จนถึงโลกุตรธรรม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ เริ่มจากการดำเนินชีวิตจากสิ่งง่ายๆ ไปสู่สิ่งที่ยากที่สุด ครอบคลุมหลักจริยธรรม ในการดำเนินชีวิตด้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานให้เกิดคุณธรรมตั้งแต่เบื้องตนจนถึงขั้นสูงสุด คือ จิตที่ปราศจากกิเลส มีดังนี้

(๑) ไม่คบคนพาล (๒) คบบัณฑิต (๓) บูชาผู้ควรบูชา (๔) อยู่ในประเทศอันสมควร (๕) เคยทำบุญไว้ในชาติก่อน (๖) ตั้งตนไว้ชอบ (๗) สดับตรับฟังมาก (๘) การรู้ศิลปะ (๙) ศึกษาวินัยดี (๑๐) วาจาเป็นสุภาษิต (๑๑) บำรุงบิดามารดา (๑๒) สงเคราะห์บุตร (๑๓) สงเคราะห์ภรรยาโดยสมควร (๑๔) การงานไม่อากูล (๑๕) ให้ทาน (๑๖) ประพฤติธรรม (๑๗) สงเคราะห์ญาติ (๑๘) การงานไม่มีโทษ (๑๙) การงดเว้นจากบาป (๒๐) สำรวมจากการดื่มน้ำเมา (๒๑) ความไม่ประมาทในธรรม (๒๒) ความเคารพ (๒๓) ความอ่อนน้อมถ่อมตน (๒๔) ความสันโดษ (๒๕) ความกตัญญู (๒๖) การฟังธรรมตาลกาล (๒๗) ความอดทน (๒๘) ความเป็นคนว่านอนสอนง่าย (๒๙) การไดเห็นสมณะ (๓๐)การสนทนาธรรมตามกาล (๓๑) มีตบ ความเพียร (๓๒) ประพฤติพรหมจรรย์ (๓๓) เห็นอริยสัจ ๔ (๓๔) การทำแจ้งซึ่งพระนิพพาน (๓๕) จิตไม่หวั่นไหวในกิเลส (๓๖) จิตไม่เศร้าโศก (๓๗) จิตปราศจากธุลีไร้กิเลส (๓๘)จิตเกษม ปราศจากอกุศลมูล (ขุ.ธ. ๒๕/๖/๓)

มงคลชีวิต ๓๘ ประการ เป็นหลักจริยธรรมสำหรับการดำรงชีวิตเพื่อการดำเนินชีวิตให้ประสบความเจริญก้าวหน้า ซึ่งค่านิยมด้านต่าง ๆ ในมงคล ๓๘ ประการ ได้แก่ เรื่อง ทาน ศีล ความกตัญญู ความมีวินัย เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างบุคคลต่างๆ ที่ดำเนินไปด้วยความถูกต้อง จัดว่าเป็นหลักจริยธรรมที่จำเป็นและสำคัญมากที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติจะได้มีกำลังในการปฏิบัติตามมงคลชีวิตจากระดับต้น จนถึงระดับสูง

๒. การทำบุญถวายทานเป็นหลักการดำเนินชีวิตของคนไทยอีกประการหนึ่ง เป็นการสละออกซึ่งความตระหนี่ และเป็นหลักจริยธรรมเบื้องต้นของการดำเนินชีวิต เช่น การตักบาตร เลี้ยงพระ ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในการทำบุญให้ทานนั้น เจตนาถือว่า เป็นสิ่งสำคัญ ผู้ให้จะต้องมีเจตนาทั้ง ๓ กาล คือ ก่อนให้ทาน ขณะให้ทาน และหลังให้ทาน ดังพุทธพจน์ว่า ทายากก่อนแต่จะให้ย่อมเป็นผู้มีใจดี กำลังให้ทานอยู่ก็ยังมีจิตใจผ่องใส ครั้นให้แล้ว ก็ย่อมปลาบปลื้มจิต นี้เป็นความสมบูรณ์ของทายก (องฺ.ฉกฺก. ๒๒/๓๐๘/๓๐๖)

ส่วนวัตถุที่ควรให้ทานนั้น มี ๑๐ ประการ คือ ทานวัตถุเหล่านี้คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม ของลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องตามประทีป (องฺ.สฺตฺตก. ๒๓/๔๙/๕๔)

ชาวไทยนิยมทำบุญไม่ว่าจะปรารภเหตุใด ๆ ก็ให้เข้ากับหลักบุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการ คือ (๑) ทานมัย ทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ (๒) สีลมัย ทำบุญด้วยการรักษาศีล และ (๓) ภาวนามัย ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา คือ ฝึกอบรมจิตใจ โดยหลักการทั้ง ๓ ประการนี้ การทำบุญซึ่งเป็นหลักบำเพ็ญความดีและทำในกรณีต่างๆ กันตามเหตุผลที่ปรารภจึงเกิดพิธีกรรมขึ้นหลายประการ

กล่าวโดยสรุป คือ การพัฒนาชีวิตและการแก้ปัญหาชีวิตตามหลักของพุทธจริยธรรม เป็นหลักการปฏิบัติตนเพื่อการดำรงที่ดี และการอยู่ร่วมกันด้วยดีของสังคม พุทธจริยธรรมที่ควรนำมาใช้ ได้แก่การปฏิบัติตนตามพุทธโอวาท ๓ คือ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การทำแต่ความดี และการทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว ซึ่งมีพื้นฐานมาจากพุทธจริยธรรม ๓ ระดับ คือ

๑. พุทธจริยธรรมขั้นพื้นฐาน ได้แก่เบญจศีล และเบญจธรรม
๒. พุทธจริยธรรมขั้นกลาง ได้แก่ กุศลกรรมบถ ๑๐
๓. พุทธจริยธรรมขั้นสูง ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘
---
พุทธจริยธรรมกลุ่มสัจการแห่งตน

พุทธจริยธรรมในกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ช่วยให้มนุษย์ได้มองเห็นตนเองอย่างมีหลักเกณฑ์ และทำให้มีความเคารพต่อตนเองและผู้อื่น สามารถปฏิบัติตนต่อเหตุการณ์ที่ได้พบและต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ตามความเหมาะสม เช่น มีความซื่อสัตย์ ความเสียสละ เป็นต้น พุทธจริยธรรมในกลุ่มนี้ ได้แก่

๑. คารวธรรม หมายถึง ความเคารพการถือเป็นสิ่งสำคัญใส่ใจและปฏิบัติตนด้วยความเอื้อเฟื้อ หรือโดยหนักแน่นจริงจัง การมองเห็นคุณค่าและความสำคัญแล้วปฏิบัติตนต่อบุคคล หรือสิ่งนั้นโดยถูกต้อง ด้วยความจริงใจ ลักษณะของความเคารพมีดังนี้ ๑) ความสุภาพอ่อนโยน หมายถึงการแสดงออกซึ่งกิริยาวาจาสุภาพอ่อนโยนต่อบุคคลทั่วไป ๒) ความอ่อนน้อม หมายถึงการไม่ทำตัวให้แข็งกระด้าง ไม่ประพฤติผิดในสิ่งที่หยาบคายต่อบุคคลอื่น ๆ ทั้งทางกาย วาจา และทางใจ ๓) ความเชื่อฟัง หมายถึงการไม่ดื้อรั้น รับฟังด้วยเหตุผล ยอมรับปฏิบัติตามด้วยความจริงใจและเต็มใจเป็นอย่างยิ่ง ๔) ความรู้จักสถานที่ หมายถึงรู้จักวางตัวได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับกาลเวลา คือเลือกประพฤติตัวได้อย่างพอเหมาะพอควรทั้งต่อบุคคลและสถานที่ มี ๖ ประการ คือ (องฺ.ฉกฺก.๒๒/๓๐๓/๓๐๐)

๑.๑ พุทธคารวตา ความเคารพในพระพุทธเจ้าหรือบางแห่งเรียกว่า "สัตถุคารวตา" ข้อนี้นับเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่จะต้องแสดงออกด้วยความเคารพอย่างจริงจังและด้วยศรัทธา เพราะถ้าขาดความศรัทธาแล้ว คุณธรรมข้ออื่น ๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าพระพุทธเจ้าจะปรินิพพานไปนานแล้ว แต่สัญลักษณ์หรือสิ่งที่ทำให้ระลึกถึงพระพุทธองค์ยังปรากฏอยู่ เช่น พระบรมสารีริกธาตุ สังเวชนียสถานทั้ง ๔ และพระพุทธรูป เป็นต้น

๑.๒ ธัมมคารวตา ความเคารพในพระธรรมอันหมายถึงพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา ทั้งที่เป็นส่วนพระธรรม และพระวินัย ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงและบัญญัติไว้แล้ว รวมทั้งการเคารพต่อคัมภีร์พระธรรมวินัย โดยไม่แสดงอาการดูหมิ่น

๑.๓ สังฆคารวตา ความเคารพในพระสงฆ์ทั้งที่เป็นพระอริยสงฆ์ และสมมติสงฆ์โดยแสดงความเคารพดังนี้ คือ ไม่แสดงกริยาวาจารที่ดูหมิ่นเหยียดหยาม ไม่ปลอมแปลงเป็นเพศพระสงฆ์ และหมั่นเข้าไปหาท่านเพื่อสนทนาธรรม และฟังธรรมะจากท่านบ่อยๆ

๑.๔ สิกขาคารวตา ความเคารพในสิกขาหมายถึง ความเคารพต่อการศึกษาเล่าเรียน ในที่นี้ หมายถึง ความเคารพในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา เพื่อให้เกิดความตั้งมั่น และให้เกิดปัญญา คือความรู้ในกองสังขารทั้ง ๕ อันจะเป็นแนวทางให้บรรลุถึงพระนิพพานได้

๑.๕ อัปปมาทคารวตา ความเคารพในความไม่ประมาทหมายถึง เคารพในความเพียรพยายามเพื่อละอกุศลทุจริต และประพฤติปฏิบัติในกุศลสุจริต หรือเคารพในการพยายามเพื่อละความชั่ว และประกอบคุณงามความดีอยู่เสมอ หรือ หมายถึงการแสดงเคารพในการประกอบกิจการงานทุกอย่างทั้งโดยส่วนและส่วนตนด้วยสติสัมปชัญญะ

๑.๖ ปฏิสันถารคารวตา ความเคารพในการปฏิสันถารหมายถึง ความเคารพในการต้อนรับแขกผู้มาเยือนด้วยอัธยาศัยไม่ตรีที่ดีต่อกัน อันแสดงออกถึงความมีน้ำใจ ความโอบอ้อมอารีต่อกัน ซึ่งการปฏิสันถาร มี ๒ ประการคือ ๑) อามิสปฏิสันถาร คือ การต้อนรับด้วยอามิสสิ่งของ ๒) ธัมมปฏิสันถาร คือการต้อนรับด้วยการกล่าวธรรม หรือสนทนาปราศรัยด้วยธรรมะ

๒. ฆราวาสธรรม คือ ธรรมสำหรับผู้ครองเรือน หรือคฤหัสถ์เป็นธรรมที่จะนำความสุข และเป็นสามัคคีธรรม ช่วยให้บุคคลในตระกูลมีความสมานสามัคคี ทำให้ชีวิตในการมีความสุข ความสงบ อันสมควรแก่ฆราวาสวิสัย มี ๔ ประการ คือ (สํ.ส. ๑๕/๘๔๕/๒๕๘)

๒.๑ สัจจะ ความซื่อสัตย์ต่อกันความจริงใจ ความซื่อตรง เป็นพุทธจริยธรรมที่สำคัญในการคบหากับทุกชนชั้นจนถึงผู้อยู่ครองเรือนเดียวกัน เช่น สามี ภรรยา บิดามารดากับบุตร เป็นต้น

๒.๒ ทมะ ความข่มใจการฝึกฝน เป็นข้อปฏิบัติเพื่อไม่ให้ตนเองตกไปอยู่ในอำนาจกิเลส หรือถูกอารมณ์ต่าง ๆ ครอบงำจิตใจ ให้มีสติระวังทวารภายนอก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และทวารภายใน คือ ใจ เมื่อถูก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มาปรากฏในทวารภายนอกก็ดี อย่าให้อารมณ์เหล่านี้ครอบงำได้ ให้รู้จักควบคุมและแก้ไขข้อบกพร่อง ปรับปรุงตนให้เจริญก้าวหน้าด้วยสติปัญญา

๒.๓ ขันติ ความอดทนตั้งมั่นในการทำหน้าการงานด้วยความขยันหมั่นเพียร เข้มแข็ง ทนทาน ไม่หวั่นไหว มั่นใจในจุดหมาย ไม่ท้อถอย อดกลั้นต่ออารมณ์อันเกิดจากอำนาจโทสะ

๒.๔ จาคะ การให้ปันสิ่งของของตนเสียสละความสุขสบายและผลประโยชน์ส่วนตนได้ ใจกว้าง พร้อมที่จะรับฟังความทุกข์ ความคิดเห็น และความต้องการของผู้อื่น พร้อมที่จะร่วมมือ ช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่คับแคบเห็นแก่ตนหรือเอาแต่ใจตัวเอง พร้อมกันนั้น นอกจากนี้ จาคะ ยังหมายถึงการสละกิเลสอีกด้วย
---
ที่มา : สาคร ศรีดี. (๒๕๔๕). วิเคราะห์หลักพุทธจริยธรรมที่ปรากฏในเพลงพื้นบ้านจังหวัดสุพรรณบุรี: ศึกษาเฉพาะกรณีเพลงอีแซว. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต, สาขาวิชาจริยศาสตร์ศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล. 

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo