เกณฑ์ตัดสินความดีความชั่วในพระพุทธศาสนา

เกณฑ์วินิจฉัยกรรมดีและกรรมชั่วว่า ในแง่ของกรรมให้ถือเอาเจตนาเป็นหลักตัดสินว่าเป็นกรรมหรือไม่ และในแง่ที่ว่ากรรมนั้นดีหรือชั่ว ให้พิจารณาตามเกณฑ์หลัก คือ การตัดสินด้วยความเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล 
       

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต)
(๒๕๔๒: ๑๗๙) 

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต)(๒๕๔๒: ๑๗๙) ได้กล่าวถึงเกณฑ์วินิจฉัยกรรมดีและกรรมชั่วว่า ในแง่ของกรรมให้ถือเอาเจตนาเป็นหลักตัดสินว่าเป็นกรรมหรือไม่ และในแง่ที่ว่ากรรมนั้นดีหรือชั่ว ให้พิจารณาตามเกณฑ์หลัก คือ การตัดสินด้วยความเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล โดย

๑. พิจารณามูลเหตุว่า เป็นเจตนาที่เกิดจากกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ หรือเกิดจากอกุศลมูลคือ โลภะ โทสะ โมหะ

เนื่องจากพระพุทธศาสนาเชื่อว่าสิ่งที่เป็นต้นเหตุ หรือแรงผลักดันที่ทำให้มนุษย์ทำกรรมต่าง ๆ มีอยู่ ๒ ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายแรกคือกุศลมูล (รากเหง้าของความดี) ฝ่ายที่สองคือ อกุศลมูล (รากเหง้าของความชั่ว) ถ้าการกระทำนั้นเป็นไปโดยแรงผลักดันฝ่ายดีหรือกุศลมูล (ได้แก่ ความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความไม่หลง) การกระทำนั้นถือว่าเป็นการกระทำความดี แต่ถ้าเป็นไปโดยแรงผลักดันฝ่ายชั่วหรืออกุศลมูล (ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง) การกระทำนั้นถือว่าเป็นการกระทำชั่ว ผลที่ได้รับก็คือความเสียหาย ทุกข์ และโทษ

๒. พิจารณาตามสภาวะ เป็นสภาพเกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจหรือไม่ ทำให้จิตสบายไร้โรค ปลอดโปร่ง ผ่องใส สมบูรณ์หรือไม่ ส่งเสริมหรือบั่นรอนคุณภาพและสมรรถภาพของจิต ช่วยให้กุศล (สภาพที่เกื้อกูล) ทั้งหลายเจริญงอกงามขึ้น อกุศลธรรมทั้งหลายลดน้องลง หรือทำให้กุศลธรรมลดน้องลง อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญงอกงาม ตลอดจนมีผลต่อบุคลิกภาพอย่างไร

นอกเหนือจากเกณฑ์หลักดังกล่าวในข้างต้น พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) (๒๕๔๒: ๑๗๙) ได้เสนอเกณฑ์ร่วม เพื่อใช้ประกอบการตัดสินความดีความชั่ว ดังนี้

๑. ใช้มโนธรรม คือความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของตนเองพิจารณาว่า การที่กระทำนั้น ตนเองติเตียนตนเองได้หรือไม่ เสียความเคารพหรือไม่

๒. พิจารณาการยอมรับของวิญญูชน หรือนักปราชญ์หรือบัณฑิตชน ว่าเป็นสิ่งที่วิญญูชนยอมรับหรือไม่ ชื่นชมสรรเสริญ หรือตำหนิติเตียน

๓. พิจารณาลักษณะและผลของการกระทำทั้งต่อตนเองและผู้อื่นว่า

๓.๑ เป็นการเบียดเบียนตนเอง เบียดเบียนผู้อื่น ทำตนเองหรือผู้อื่นให้เดือดร้อนหรือไม่

๓.๒ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุข หรือเป็นไปเพื่อทุกข์ ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น
--
ที่มา  

ธรรมปิฎก, พระ (ป.อ.ปยุตฺโต). (๒๕๔๑). พุทธธรรม. (พิมพ์ครั้งที่ ๘). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.  

ดวงเด่น นุเรมรัมย์. (๒๕๔๕). พุทธจริยศาสตร์กับแนวคิดเรื่องสงครามที่เป็นธรรม: กรณีศึกษาทรรศนะของนักวิชาการในบริบทสังคมไทยร่วมสมัย. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต, สาขาวิชาจริยศาสตร์ศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo