เขาพระวิหารกับพุทธศาสนาในกัมพูชา

อาณาจักรขอมโบราณ มีความเชื่อเรื่องสิ่งเร้นลับในธรรมชาติ เช่น ผีสางนางไม้ และรุกขเทวดา เป็นต้น อันเรียกโดยภาพรวมว่า "วิญญาณนิยม" (Animism) ต่อมาเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับชนชาติอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเดีย ก็ได้รับเอาความเชื่อของศาสนาอื่นเข้ามาด้วย ที่สำคัญได้แก่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พุทธศาสนามหายาน และพุทธศาสนาเถรวาทตามลำดับ แต่ในที่สุดพุทธศาสนาเถรวาทก็ได้รับชัยชนะในสังคมกัมพูชา ทำให้ชาวกัมพูชาส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนาเถรวาทตราบกระทั่งปัจจุบัน

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
ภาควิชามนุษยศาสตร์ 
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยมหิดล

กรณีพิพาทปราสาท "เขาพระวิหาร" ระหว่างไทยกับกัมพูชาในขณะนี้ มีรากเหง้ามาจากลัทธิอาณานิคมฝรั่งเศสในอดีต และลัทธิทุนนิยมผูกขาด (หรือที่เรียกกันว่า "ทุนสามานย์") ของนักการเมืองไทยในปัจจุบัน ในอดีตฝรั่งเศสใช้สถานะความเป็นมหาอำนาจเข้ากำหนดเขตแดน (แบบตะวันตก) ทำให้ปราสาทพระวิหารตกอยู่ในเขตแดนของกัมพูชาภายใต้การยึดครองของตน ทั้งๆ ที่อยู่ในเขตไทย และตามประเพณีเดิมนั้นโบราณสถานทางศาสนาใช้เป็นที่ประกอบพิธีบูชาของประชาชนทั้งสองฝ่าย แต่เมื่อพิจารณาจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่ฝรั่งเศสทำขึ้น ศาลโลกจึงตัดสินให้เขาพระวิหารเป็นของกัมพูชาในปี พ.ศ.2505

ปัจจุบันนายทุนใหญ่ที่กุมอำนาจเบื้องหลังการเมืองไทย ได้รับสัมปทานสิทธิประโยชน์เชิงธุรกิจมหาศาลในกัมพูชา เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ บ่อนกาสิโน และโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น โดยใช้ดินแดนปราสาทพระวิหารเป็นข้อต่อรอง ผลประโยชน์เชิงธุรกิจที่จะได้รับนั้นตกเป็นของเอกชน ส่วนดินแดนที่จะเสียไปนั้นเป็นของคนไทยทั้งประเทศ รัฐบาลที่เป็นตัวแทนของทุนนิยมผูกขาดจึงแสดงความกระตือรือร้นที่จะยกสมบัติของส่วนรวม เพื่อแลกกับผลประโยชน์เฉพาะตน บทความนี้ขอนำเสนอประวัติศาสตร์ศาสนา วัฒนธรรม และสังคมการเมืองของกัมพูชา เพื่อความเข้าใจสถานการณ์อย่างกระจ่างชัดยิ่งขึ้น

อาณาจักรขอมโบราณ มีความเชื่อเรื่องสิ่งเร้นลับในธรรมชาติ เช่น ผีสางนางไม้ และรุกขเทวดา เป็นต้น อันเรียกโดยภาพรวมว่า "วิญญาณนิยม" (Animism) ต่อมาเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับชนชาติอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเดีย ก็ได้รับเอาความเชื่อของศาสนาอื่นเข้ามาด้วย ที่สำคัญได้แก่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พุทธศาสนามหายาน และพุทธศาสนาเถรวาทตามลำดับ แต่ในที่สุดพุทธศาสนาเถรวาทก็ได้รับชัยชนะในสังคมกัมพูชา ทำให้ชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ (กว่าร้อยละ 90) นับถือพุทธศาสนาเถรวาทตราบกระทั่งปัจจุบัน

ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อาณาจักรขอมนับถือทั้งพุทธศาสนามหายาน และเถรวาท (ซึ่งรับมาจากอาณาจักรทวารวดี) งานที่สำคัญของพระองค์ก็คือการสร้าง "นครธม" ซึ่งมี "วิหารบายน" เป็นศูนย์กลางตามคติความเชื่อของพุทธศาสนามหายาน และทรงสร้าง "ปราสาทตาพรม" เพื่อเป็นที่ประดิษฐานภาพสลักศิลาของพระมารดาในรูปของ "พระโพธิสัตว์ปรัชญาปารมิตา" อันเป็นสัญลักษณ์ของปัญญา และ "ปราสาทชัยศรี" เพื่อเป็นที่ประดิษฐานภาพสลักศิลาของพระบิดาในรูปของ "พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร" อันเป็นสัญลักษณ์ของกรุณา ตามคติความเชื่อของพุทธศาสนาวัชรยาน รวมทั้งทรงนำหลักการ "ธรรมราชา" ในพุทธศาสนามาใช้แทน "เทวราชา" ตามคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูอีกด้วย

ต่อมาพระเจ้าอินทรวรมันที่ 3 ทรงให้การสนับสนุนพุทธศาสนาเถรวาท จนกระทั่งถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันพาราเมศวร ทรงโปรดให้มีการจารึกสรรเสริญพระเจ้าแผ่นดินด้วยภาษาบาลี (แทนที่จะเป็นภาษาสันสกฤตดังในอดีต) แสดงให้เห็นว่าอาณาจักรขอมได้เปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาเถรวาทโดยสมบูรณ์ หลังจากที่กัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส พุทธศาสนาก็ได้เข้ามามีบทบาทต่อการเมืองของกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 เป็นต้นมา

เจ้าสีหนุกับ "พุทธสังคมนิยม"

เจ้านโรดมสีหนุนำเสนอ "พุทธสังคมนิยม" (Buddhist Socialism) ในลักษณะที่แตกต่างไปจากแนวคิด "สังคมนิยม" ของทั้งตะวันตกและตะวันออก พุทธสังคมนิยมของพระองค์ตั้งอยู่บนฐานคิดของพุทธศาสนาและโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรมกัมพูชา โดยการเน้นหลักความเสมอภาค ความเป็นอยู่ที่ดีของคนยากจน และเอกลักษณ์ของชาติ พระองค์ทรงย้ำว่าความเป็นกลางทางการเมืองระหว่างประเทศของกัมพูชามาจากหลัก "ทางสายกลาง" ในพุทธศาสนา ตามทรรศนะของพุทธศาสนา ผู้ปกครองจะต้องปฏิบัติต่อประชาชนด้วยความเมตตากรุณาและเที่ยงธรรม หลักการนี้ขัดแย้งกับลัทธิมาร์กซิสม์ (Marxism) ที่เรียกร้องให้ประชาชนโค่นล้มรัฐบาลและสถาปนาระบอบ "เผด็จการโดยชนชั้นกรรมาชีพ" ขึ้น

"พุทธสังคมนิยม" (Buddhist Socialism) ของเจ้านโรดมสีหนุ ไม่เห็นด้วยกับการปฏิเสธทรัพย์สินส่วนบุคคลของสังคมนิยมมาร์กซิสม์ โดยเจ้าสีหนุกล่าวว่า เศรษฐีจะถูกชักชวนให้ทำทานแก่คนยากจนมากกว่าจะถูกยึดทรัพย์ไปเป็นสมบัติของส่วนรวม เจ้านโรดมสีหนุถูกนายพลลอน นอล (Lon Nol) กระทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ.1970 และต่อมาในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ลอน นอลได้ประกาศให้กัมพูชาเป็นสาธารณรัฐ

พุทธศาสนากับการเมืองยุคลอน นอล

ชนชั้นปกครองของสาธารณรัฐกัมพูชาได้สัญญากับประชาชนว่า จะยกย่องพุทธศาสนาให้เป็นศาสนาประจำชาติ และจะเคารพขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวกัมพูชา บทบาททางศาสนาที่เคยปฏิบัติโดยพระมหากษัตริย์จะถูกแทนที่โดยประธานาธิบดี ลอน นอลได้เรียกร้องให้ประชาชนออกมาต่อต้านคอมมิวนิสต์เขมรแดงและเวียดนาม โดยให้เหตุผลเป็นคำขวัญว่า "ถ้าคอมมิวนิสต์มา พุทธศาสนาจะหมดสิ้นไป"

พุทธศาสนาภายใต้เขมรแดง

สงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงในเดือนเมษายน ค.ศ.1975 ด้วยชัยชนะของเขมรแดง รัฐบาลเขมรแดงปกครองประเทศอย่างเข้มงวด และเปลี่ยนแปลงสังคมกัมพูชาอย่างถึงรากถึงโคน ภายใต้รัฐบาลเขมรแดง พุทธศาสนาต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงทั้งในด้านคำสอน คณะสงฆ์ และวัด พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าถูกตีความให้รับใช้การปฏิวัติ พระสงฆ์ต้องเข้ารับการศึกษาใหม่ และต้องใช้แรงงานเช่นเดียวกับฆราวาสทั้งในท้องนา การก่อสร้างถนนและเขื่อน มีการทำลายวัดวาอารามและพระพุทธรูป มีการเผาคัมภีร์และตำราทางศาสนา ภายในระยะเวลาเพียงสี่ปีพุทธศาสนาเกือบสูญสิ้นไปจากประเทศ

พุทธศาสนาภายใต้ระบอบเฮง สัมริน

การยึดครองกรุงพนมเปญของกองทัพเวียดนามเมื่อวันที่ 7 มกราคม ค.ศ.1979 ทำให้การปกครองของเขมรแดงสิ้นสุดลง ระบอบเฮง สัมริน (Heng Samrin) ได้ถูกสถาปนาขึ้นภายใต้การควบคุมของเวียดนาม รัฐบาลใหม่ได้ฟื้นฟูพุทธศาสนาในระดับหนึ่ง โดยซ่อมแซมวัดและพระพุทธรูปจำนวนหนึ่ง รวมทั้งอนุญาตให้ผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปบวชเป็นพระภิกษุได้

เฮง สัมรินได้ใช้พุทธศาสนาและคณะสงฆ์กัมพูชา เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการต่อสู้กับเขมรแดง ภายใต้ระบอบเฮง สัมริน แม้พระสงฆ์จะมิได้ถูกมองว่าเป็นกาฝากของสังคม และเป็นผู้ยังประโยชน์แก่ประเทศ แต่คณะสงฆ์ก็ถูกควบคุมจากรัฐบาลอย่างใกล้ชิด โดยต้องเข้ารับการอบรมลัทธิคอมมิวนิสต์จากเวียดนามและโซเวียต นิกายธรรมยุตและมหานิกายของกัมพูชาถูกยุบรวมเป็นหนึ่งเดียว และพระสงฆ์ต้องตีความพุทธศาสนาให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ

พุทธศาสนากับสังคมกัมพูชาปัจจุบัน

เมื่อรัฐบาลผสมกัมพูชาประชาธิปไตยถูกจัดตั้งขึ้นโดยมีนายกรัฐมนตรีซอน ซานน์ (Son Sann) เป็นผู้นำนั้น ซอน ซานน์เชื่อมั่นว่า พุทธศาสนาอันเป็นรากฐานวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวกัมพูชา จะเป็นพลังอันสำคัญในการรวมชาติกัมพูชาให้เป็นหนึ่งเดียว รัฐบาลซอน ซานน์จึงสนับสนุนการฟื้นฟูพุทธศาสนาเถรวาทในรูปแบบดั้งเดิมของกัมพูชาขึ้นมาใหม่

ภายใต้รัฐบาลปัจจุบันของสมเด็จฮุน เซน (Hun Sen) สถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ โดยเจ้านโรดมสีหโมลี (พระโอรสของเจ้านโรดมสีหนุ) ทรงเป็นกษัตริย์องค์ปัจจุบัน พุทธศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีได้รับการส่งเสริมสนับสนุน พร้อมกับระบอบประชาธิปไตยที่มีพรรคการเมืองหลายพรรค สำหรับชาวกัมพูชาแล้วพุทธศาสนาและเอกลักษณ์ความเป็นกัมพูชาคือสิ่งเดียวกัน

บทสรุป “เขาพระวิหาร”

เมื่อองค์การยูเนสโก (UNESCO) ณ เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา ได้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็น "มรดกโลก" (World Heritage) ของกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียวเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 ท่ามกลางการคัดค้านของประชาชนไทยทั่วประเทศ เราน่าจะต้องถอดถอนรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช ที่ทำให้ประเทศไทยสูญเสียอธิปไตยเหนือดินแดนปราสาทพระวิหาร และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่เป็นตัวแทนที่แท้จริงของประชาชน เพื่อทวงคืนดินแดนเหนือปราสาทพระวิหารหรือแม้กระทั่งปราสาทพระวิหารด้วย เพราะองค์การยูเนสโกนั้นเป็นเพียงองค์กรเครือข่ายของสหประชาชาติเท่านั้น มิได้เป็นส่วนหนึ่งของสหประชาชาติ และก็มิใช่ศาลโลก ประเทศไทยจึงมีสิทธิอย่างสมบูรณ์ในการเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมในบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศ
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 13 กรกฎาคม 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11082. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6.

Photo : https://pixabay.com/photos/monument-cambodia-angkor-wat-601312/

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo