"ประชาศาสนา" อันเป็นแง่มุมทางศาสนาที่นักการเมืองจะหยิบฉวยออกมาใช้ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของตน หรือเพื่อเป็นประโยชน์ทางการเมืองแก่ตนหรือพรรคการเมืองของตน โดยส่วนใหญ่จะขาดความชัดเจนในด้านเนื้อหาสาระ หรือนโยบายที่เป็นรูปธรรมที่จะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงแก่ประชาชน
คำว่า "ประชาศาสนา" (Civil Religion) เป็นคำที่ฌอง-ฌาค รุสโซ (Jean-Jacque Rousseau) นักปรัชญาตะวันตกเริ่มต้นใช้ก่อนเป็นคนแรก โดยรุสโซได้เชื่อมโยงสิ่งที่เรียกว่าประชาศาสนาเข้ากับความเชื่อพื้นฐานของสามัญชนในสังคมตะวันตก เช่น ความเชื่อในเรื่องพระเจ้า ชีวิตในโลกหน้า ผลตอบแทนของความดี การลงโทษในความชั่ว และการยอมรับในความเชื่อที่แตกต่างของบุคคลอื่น เป็นต้น
ต่อมาโรเบิร์ต เบลลาห์ (Robert Bellah) นักวิชาการศาสนาชาวอเมริกันได้ขยายความแนวคิดเรื่องประชาศาสนาต่อ โดยการตั้งข้อสังเกตว่า ในสุนทรพจน์การเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีทุกคนจะเอ่ยอ้างถึงคำว่า "พระเจ้า" เสมอโดยไม่มีข้อยกเว้น เพียงแต่มากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป พระเจ้าที่ประธานาธิบดีสหรัฐเอ่ยถึงนั้นเป็นพระเจ้าในความหมายกลางๆ ไม่เฉพาะเจาะจงลงไปในนิกายใดนิกายหนึ่ง เป็นพระเจ้าที่ชาวคริสต์ทุกคนในสหรัฐยอมรับได้ และประธานาธิบดีก็จะใช้ "พระเจ้า" ในความหมายรวมๆ นี้ในการผูกมัดใจประชาชนทั่วไป เบลลาห์ตั้งข้อสังเกตต่อไปอีกว่า ถ้าประธานาธิบดีคนไหนไม่เอ่ยถึงพระเจ้าในวันรับตำแหน่งประธานาธิบดี ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่ได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาอีก
ตามทรรศนะของเบลลาห์ แนวคิดเรื่อง "พระเจ้า" มีการตีความที่หลากหลาย พระเจ้าจึงมีความหมายตามแต่ความเชื่อถือของประชาชนในแต่ละลัทธินิกาย นี้คือสถานะของศาสนาที่เชื่อพระเจ้าในปัจจุบัน การเอ่ยถึงพระเจ้าในความหมายอย่างกว้างๆ โดยไม่เจาะจงในรายละเอียด จึงเป็นยุทธวิธีที่ปลอดภัยของนักการเมืองในการเรียกคะแนนนิยม นอกจากนี้นักการเมืองยังมักจะใช้พิธีกรรมทางศาสนาในการสร้างภาพลักษณ์ของตัวเองว่าเป็นคนเคร่งศาสนา (ไม่ว่าจะเคร่งจริงหรือไม่ก็ตาม) ทั้งนี้ก็เพื่อเรียกคะแนนเสียงทั้งสิ้น
นอกจากการแสดงตนว่าเป็นคนเคร่งศาสนาแล้ว การเสนอภาพลักษณ์ของตัวเองว่าเป็นคนที่อยู่ในกรอบประเพณีตามค่านิยมของสังคม เช่น การมีภรรยาเพียงคนเดียวและมีครอบครัวที่อบอุ่น เป็นต้น ก็ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่นักการเมืองเมื่อมีโอกาสแล้วจะไม่พลาดในการนำเสนอต่อสาธารณะ (ไม่ว่าจะเป็นจริงตามนั้นหรือไม่ก็ตาม) เพื่อเรียกคะแนนนิยมจากประชาชน (ยกเว้นนักการเมืองบางคนที่มีปมในเรื่องนี้ ก็จะไม่ปริปากพูดถึงเรื่องนี้เลยแม้แต่คำเดียว)
เมื่อครั้งที่คุณจำลอง ศรีเมือง สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนั้น ท่านได้เสนอภาพลักษณ์ของตัวท่านว่าเป็นคนเคร่งศาสนา โดยท่านใส่เสื้อม่อฮ่อม ตัดผมสั้นเกรียน กินอาหารมังสวิรัติเพียงวันละมื้อ ใช้ชีวิตอย่างสมถะ และที่ฮือฮากันมากก็คือท่านประกาศต่อสาธารณะว่าท่านไม่ "นอน" กับภรรยาของท่านอีกต่อไป ครั้งนั้นท่านต้องหาเสียงแข่งกับเศรษฐีอย่างคุณชนะ รุ่งแสง ซึ่งมีเพียบพร้อมทุกอย่างทั้งฐานทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม แต่ในที่สุดคุณจำลองก็ชนะเลือกตั้งแบบถล่มถลาย จนเกิดเป็น "จำลองฟีเวอร์" ขึ้นในขณะนั้น (คล้ายกับ "ทักษิณฟีเวอร์" ในขณะนี้)
เป็นที่ทราบกันดีว่า คุณจำลอง ศรีเมือง เป็นศิษย์ของสมณะโพธิรักษ์ แห่งสำนักสันติอโศก ซึ่งเป็นสำนักที่เน้น "ศีล" และมีการตีความพุทธศาสนาในลักษณะหนึ่ง ขณะที่กำลังหาเสียงอยู่นั้นคุณจำลองมิได้นำเสนอตัวเองว่า เป็นชาวอโศกที่นับถือพุทธศาสนาตามการตีความของสมณะโพธิรักษ์แต่อย่างใด ถ้าคุณจำลองนำเสนอตัวเองเช่นนั้น ก็อาจจะได้คะแนนเสียงอย่างท่วมท้นเฉพาะจากชาวอโศกเท่านั้น แต่จะไม่ได้คะแนนเสียงจากชาวพุทธส่วนใหญ่ซึ่งอาจจะไม่เห็นด้วยกับการตีความของสมณะโพธิรักษ์ก็เป็นได้ แต่คุณจำลองก็เป็นนักการเมืองมากพอที่จะนำเสนอตัวเองแต่เพียงว่า เป็นชาวพุทธที่นับถือพระรัตนตรัยและเคร่งครัดในศีลเท่านั้น โดยไม่เจาะจงลงไปในรายละเอียดของศรัทธาความเชื่อ คุณจำลองจึงได้คะแนนเสียงจากชาวพุทธทั้งที่เป็นอโศกและมิใช่อโศกอย่างท่วมท้น นี้คือความหมายของ "ประชาศาสนา" อันเป็นมิติทางศาสนาของนักการเมือง
ก่อนหน้าวันเลือกตั้งปี พ.ศ. 2548 เล็กน้อย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้เชิญพรรคการเมืองทุกพรรคมาแถลงนโยบายที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา และตอบคำถามแก่ชาวพุทธทั่วประเทศที่หอประชุมพุทธมณฑล พรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดไม่ยอมเข้าร่วมโดยอ้างว่าไม่ว่าง (สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญแก่นโยบายที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาของพรรคการเมืองนี้) ส่วนพรรคการเมืองใหญ่ที่รองๆ ลงไป ต่างก็แถลงนโยบายที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาอย่างกว้างๆ และคลุมเครือ พอให้ได้คะแนนเสียงจากชาวพุทธเท่านั้น โดยไม่ได้ผูกมัดตัวเองในประเด็นใดประเด็นหนึ่งเป็นพิเศษแต่อย่างใด มีแต่พรรคการเมืองเล็กๆ บางพรรคเท่านั้น (ที่คิดว่าตัวเองคงไม่มีโอกาสเข้าร่วมรัฐบาล หรือแม้แต่จะเป็นฝ่ายค้าน) ที่กล้าชูบางประเด็นอย่างชัดเจน และมีพรรคการเมืองเล็กๆ พรรคหนึ่งที่อ้างว่าเป็นพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาเพื่อชาวพุทธและพุทธศาสนาโดยเฉพาะ
ในสังคมและวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยนั้น การอ้างสถาบัน "ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์" นั้นกระทำกันอย่างกว้างขวางในหมู่นักการเมืองไทย แต่เป็นการอ้างอย่างกว้างๆ และคลุมเครือ เพื่อเรียกร้องคะแนนเสียงจากประชาชน โดยเกือบจะไม่มีนักการเมืองคนไหนที่ออกมาพูดให้ชัดเจนว่า "ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์" ที่ตัวเองอ้างว่าเชิดชูอยู่นั้นหมายถึงอะไร และพรรคการเมืองมีนโยบายที่เป็นรูปธรรมอย่างไร ในการปกป้องรักษา ส่งเสริมสนับสนุน หรือเชิดชูสถาบันเหล่านั้น
เนื่องจากศาสนาได้รับการยอมรับอย่างกว้างๆ (และบ่อยครั้งอย่างคลุมเครือ) ว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม ดังนั้น พิธีกรรมเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สัญลักษณ์ และความเชื่อทางศาสนา ซึ่งถูกทำให้กลายเป็นสถาบัน (โดยจะเกี่ยวข้องกับความรอดหรือความพ้นทุกข์จริงหรือไม่ก็ตาม) จึงเป็นเรื่องของค่านิยมทางสังคม และมีความหมายสำคัญในทางการเมือง ทั้งหมดนี้รวมเรียกว่า "ประชาศาสนา" อันเป็นแง่มุมทางศาสนาที่นักการเมืองจะหยิบฉวยออกมาใช้ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของตน หรือเพื่อเป็นประโยชน์ทางการเมืองแก่ตนหรือพรรคการเมืองของตน โดยส่วนใหญ่จะขาดความชัดเจนในด้านเนื้อหาสาระ หรือนโยบายที่เป็นรูปธรรมที่จะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงแก่ประชาชน
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับวันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 9836. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6.
Photo : https://pixabay.com/photos/monk-buddha-statue-sculpture-1782432/