ความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมและศาสนา

ไม่ว่าสังคมจะแปรเปลี่ยนไปในทิศทางใดย่อมส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมที่ดำเนินอยู่ในสังคมทั้งสิ้น สิ่งที่คนไทยจะทำได้นั่นคือ ความรับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่ของตนเองในฐานะของคนไทย และปฏิบัติตนเป็นศาสนิกชนที่ดีตามหลักคำสอนทางศาสนา โดยกระทำให้เต็มกำลังความสามารถ เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ แต่ก็ยังดีกว่าการที่ไม่คิด จะทำอะไร ทั้งนี้ถ้าคนไทยทุกคนรู้จักการสร้างสำนึกให้กับคนเองแล้ว ประเทศไทยจะไม่มีวันสูญเสียวัฒนธรรมประจำชาติไปอย่างแน่นอน. 
    

มิตรสหายท่านหนึ่ง 

การแสวงหาคำตอบเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมและศาสนานั้น ในเบื้องต้นจำเป็นต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “วัฒนธรรม” เพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาหาคำตอบต่อไป

พระยาอนุมานราชธน (เสฐียรโกเศศ) ได้อธิบายความหมายของ “วัฒนธรรม” ไว้ว่า “วัฒนธรรม คือ สิ่งที่มนุษย์เปลี่ยนแปลงปรับปรุง หรือผลิตขึ้นเพื่อความเจริญงอกงามของชีวิตมนุษย์ในส่วนรวมที่ถ่ายทอดกันได้ เรียนกันได้ เอาอย่างกันได้ วัฒนธรรม คือ สิ่งอันเป็นผลผลิตของส่วน รวมที่มนุษย์ได้เรียนรู้มาจากคนรุ่นก่อนสืบต่อเป็นประเพณีกันมา วัฒนธรรม คือ ความรู้สึก ความประพฤติ และกิริยาอาการ หรือการกระทำใด ๆ ของมนุษย์ในส่วนรวมลงรูปเป็นพิมพ์เดียวกัน คือ มรดกแห่งสังคม ซึ่ง ปัจจุบันปรับปรุงให้เจริญงอกงาม”

ราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ว่า “วัฒนธรรมเป็นชื่อรวมสำหรับแบบอย่างของพฤติกรรมทั้งหลายที่ได้มาทางสังคม และถ่ายทอดกันไปทางสังคมโดยอาศัยสัญลักษณ์ เช่น การทำเครื่องมือ ศิลปะ วิทยาศาสตร์ กฎหมาย การปกครอง ศีลธรรมและศาสนา รวมทั้งอุปกรณ์ที่เป็นวัตถุหรือสิ่งประดิษฐ์ซึ่งแสดงรูปแบบแห่งสัมฤทธิผลทางวัฒนธรรม เช่น อาคาร เครื่องมือ เครื่องจักร ศิลปวัตถุ ฯลฯ” (ราชบัณฑิตยสถาน. ๒๕๒๔: ๑๐๑.)

จากนิยามที่ยกมานั้น สามารถประมวลสรุปความได้ ว่า “วัฒนธรรม” หมายถึง วิถีการดำเนินชีวิต แบบแผนแห่งพฤติกรรม ผลงานที่มนุษย์ได้สร้างสรรค์ขึ้น ซึ่งวัฒนธรรมนั้นครอบคุลมถึงความคิด ความเชื่อ และความรู้

ทุกสังคมจะขาดวัฒนธรรมไม่ได้ และวัฒนธรรมก็จะดำรงอยู่ไม่ได้ถ้าปราศจากสังคม กล่าวคือ ถ้าสังคมใดขาดวัฒนธรรม สังคมนั้นก็จะมีลักษณะเป็นสังคมของสัตว์มิใช่สังคมมนุษย์ เพราะสิ่งที่บ่งชี้ว่าสังคมมนุษย์ต่างกับสังคมสัตว์ก็คือวัฒนธรรม ในทางตรงกันข้ามวัฒนธรรมจะ ดำรงอยู่ไม่ได้ถ้าปราศจากสังคม เพราะมนุษย์ที่อยู่ในสังคมนั้นเป็นผู้สร้างวัฒนธรรมขึ้นมา ด้วยเหตุนี้มนุษย์กับวัฒนธรรมและสังคมจึงเป็นสิ่งที่อยู่คู่ กันมาโดยตลอด

สำหรับวัฒนธรรมที่แสดงถึงความรู้สึกนึกคิด และวิถีทางดำเนินชีวิตของคนในสังคมอันเป็นวัฒนธรรมเกี่ยวกับจิตใจ หรือวัฒนธรรมทางความเชื่อ นั่นก็คือ “ศาสนา”ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้นิยามว่า “ศาสนา” คือ “ลัทธิความเชื่อ แสดงกำเนิดและความสิ้นสุดของโลก เป็นต้น แสดงหลักธรรมและลัทธิพิธีที่ กระทำ, หลักคำสอน”

โดยทั่วไปวัฒนธรรมมักอิงอยู่กับศาสนา อีกทั้งศาสนาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของวัฒนธรรมที่ขาดมิได้ เพราะศาสนาสอนให้มนุษย์ทำความดี แต่อย่างไรก็ดี เมื่อกล่าวถึงวัฒนธรรมไทยสิ่งหนึ่งที่จะต้องกล่าวควบคู่กันไปนั่นคือ “พระพุทธศาสนา” ทั้งนี้เพราะคำสอนทางพระพุทธศาสนามีส่วนในการสร้างระบบจริยธรรมให้สังคมไทย ดังจะเห็นได้ว่า วัฒนธรรมต่าง ๆ ที่ปรากฏขึ้นในสังคมไทยล้วนแต่มีพระพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานแทบทั้งสิ้น ดั่งคำกล่าวของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ว่า “จริยธรรมของสังคมไทยขึ้นอยู่กับระบบศีลธรรมของพุทธศาสนา ศาสนาพุทธกำหนดหลักในการปฏิบัติในชีวิตประจำไว้อย่างไร นั่นหมายความว่าได้กำหนดหลักจริยธรรมไว้ให้ปฏิบัติอย่างนั้น” (พระเมธีธรรมาภรณ์, ๒๕๓๕: ๘๓.)

อย่างไรก็ดี วัฒนธรรมไทยที่มีรากฐานมาจากพระพุทธศาสนานั้นได้ถูกถ่ายทอกออกมาในรูปแบบของความเชื่อ พิธีกรรม ศิลปกรรม ศีลธรรม กฎหมาย วรรณกรรม ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี ความ สามารถและอุปนิสัยของคนในสังคมไทย เป็นต้น เพราะวัฒนธรรมไทยนับเป็นเครื่องหล่อหลอมสมาชิกของสังคมให้เกิดความผูกพันสามัคคี และอบรมขัดเกลาให้คนในสังคมมีทัศนคติ ความเชื่อ และค่านิยมที่สอดคล้องกับบุคคลอื่น ๆ ในสังคมไทย อนึ่ง วัฒนธรรมไทยมิได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ หากแต่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาไปตามยุคสมัย

หากความสุขหมายความเพียงการเป็นอยู่ที่ดีทางกาย มนุษย์เราก็สามารถมีความสุขได้โดยไม่ต้องเชื่อถือหรือปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาใด ๆ แต่ธรรมชาติของมนุษย์นั้นประกอบด้วยกายและใจ อันปรารถนาการมีชีวิตที่พัฒนา และมีความสุขอย่างสมบูรณ์ ดังนั้น มนุษย์จึงต้องพัฒนาทั้งกายและใจ ในกรณีนี้พระพุทธศาสนาจึงเข้ามามีบทบาทให้คำชี้นำและให้แนวทางที่ดีในการพัฒนาจิตและวิญญาณเคียงคู่ไปกับการพัฒนาทางร่างกาย พิจารณาได้จากหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่สอนให้คนเชื่อในเรื่องทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว, สอนหลักในการดำเนินชีวิตด้วยทางสายกลาง, ให้รู้จักสำรวมกาย วาจา ใจ, ให้พิจารณาสิ่งต่าง ๆ โดยใช้เหตุผล ด้วยสติปัญญา รวมความแล้วอาจกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนาเป็นการสอนให้คนพัฒนาตนเองเพื่อให้เป็นคนดีของสังคม

พระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่คนในวัฒนธรรมไทยสามารถสัมผัสได้ด้วยอุดมการณ์ทางความคิด เหตุผลและความเชื่อ และในท้ายที่สุดพระพุทธศาสนาได้ฝังรากลึกลงในสังคมไทย ให้คนไทยได้ยึดถือและปฏิบัติสืบต่อ ๆ กันมา อีกทั้งพระพุทธศาสนาเป็นศูนย์รวมและที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทยเกือบทั้งประเทศ จนกลายเป็นวัฒนธรรมทางจิตใจ

กล่าวได้ว่า อิทธิพลของพระพุทธศาสนาจึงเข้ามามีบทบาทในการกำหนดวิถีชีวิตของคนในสังคมไทยเป็นอย่างมาก พิจารณาได้จากค่านิยมของไทยบางอย่างที่ปฏิบัติจนเป็นระเบียบแบบแผน ที่ล้วนแต่มีต้นกำเนิดจากหลักคำสอนทางศาสนา ตัวอย่างเช่น มีความเชื่อในกฎแห่งกรรม คือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ซึ่งทำให้คนไทยเป็นชนชาติที่มีความเด็ดเดี่ยว อดทน เจียมตน รักความ เป็นอิสระ แต่ก็ยอมรับสภาพความทุกข์ และมีความหวังกับชีวิตใหม่ว่าจะต้องดีขึ้นถ้าหากกระทำความดี มีศรัทธามั่นคงในการทำบุญและให้ทาน เพื่อสะสมบุญบารมีไว้ภายภาคหน้า มีจิตใจโอบอ้อมอารี ให้อภัยเพื่อนมนุษย์ ไม่ผูกพยาบาท เชื่อฟัง เคารพนับถือบุคคลตามลำดับอาวุโส และยึดมั่นในความกตัญญูต่อผู้มีอุปการะ มีความสงบเสงี่ยม นอบน้อม สำรวม เกรงใจผู้อื่น และมีความระมัดระวัง รอบคอบ ฯลฯ

สภาวการณ์ปัจจุบันที่สังคมไทยกำลังสับสนวุ่นวาย ยังผลให้วัฒนธรรมไทยสั่นคลอนตามไปด้วย ซึ่งรวมถึง “สถาบันทางศาสนา” ซึ่งพระพุทธศาสนาที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นศาสนาประจำชาติไทย แต่ได้กลับกลายเป็นชนวนปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนไทยซึ่งอยู่ร่วมในสังคมเดียวกัน ไม่ว่าเหตุการณ์นี้จะปิดฉากลงในรูปแบบใด เป็นภารกิจของผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องที่จะดำเนินการให้ถูกต้องต่อไป และรวมถึงหน้าที่ของพุทธบริษัทที่จะต้องช่วยกันจรรโลงวัฒนธรรมในการนับถือพระพุทธศาสนาของตนให้มั่งคงสืบต่อไป

ในกระแสของโลกเทคโนโลยีสารสนเทศที่กำลังถาโถมเข้าสู่สังคมไทยซึ่งกำลังถูกทำให้เป็นชุมชนโลก ความเจริญทางวัตถุและการพยายามก้าวตาม ความเจริญรุดหน้าของสังคมตะวันตกทั้งในรูปแบบการดำเนินชีวิต และในบางครั้งก็ทำให้อิทธิพลของพระพุทธศาสนาที่มีต่อวัฒนธรรมไทยเริ่มเสื่อมถอยลงคนไทยเริ่มไม่เชื่อถือ และศรัทธาในพระพุทธศาสนาดังเช่นในอดีต เพราะมองว่าเป็นเรื่องไร้ที่งมงาย พิสูจน์ไม่ได้ไม่เหมาะกับยุคสมัยและล้าหลัง อย่างไรก็ตาม แม้ความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกยังดำเนินอยู่เรื่อยไป หรือไม่ว่าสังคมจะแปรเปลี่ยนไปในทิศทางใดย่อมส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมที่ดำเนินอยู่ในสังคมทั้งสิ้น สิ่งที่คนไทยจะทำได้นั่นคือ ความรับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่ของตนเองในฐานะของคนไทย และปฏิบัติตนเป็นศาสนิกชนที่ดีตามหลักคำสอนทางศาสนา โดยกระทำให้เต็มกำลังความสามารถ เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ แต่ก็ยังดีกว่าการที่ไม่คิด จะทำอะไร ทั้งนี้ถ้าคนไทยทุกคนรู้จักการสร้างสำนึกให้กับคนเองแล้ว ประเทศไทยจะไม่มีวันสูญเสียวัฒนธรรมประจำชาติไปอย่างแน่นอน.
---
บรรณานุกรม

กรมการศาสนา, วัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรมการศาสนา.

มหาวิทยาลัยรังสิต. เอกสารประกอบการสอน วิชาอารยธรรมไทย. ภาคเรียนที่ ๑ : ปีการศึกษา ๒๕๔๐.

เมธีธรรมาภรณ์, พระ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต). (๒๕๓๕). พุทธศาสนากับปรัชญา. (พิมพ์ครั้งที่ ๒). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.

ราชบัณฑิตยสถาน. (๒๕๒๔). พจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยา อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์.

เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, สำนัก. สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์แห่งชาติ. (๒๕๓๙). คำถาม-คำตอบเกี่ยวกับพุทธ-ศาสนา เล่ม ๑ - ๒. กรุงเทพฯ.

สมิทธ์ สระอุบล. (๒๕๔๔). มานุษยวิทยาเบื้องต้น .(พิมพ์ครั้งที่ ๑). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.   

Photo : https://pixabay.com/photos/buddhists-monks-meditate-walk-457265/

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo