ทะไลลามะกับปัญหาทิเบต

การเสด็จลี้ภัยการเมืองของทะไลลามะและชาวทิเบตเป็นจำนวนมากไปอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย ทำให้พุทธศาสนาฝ่ายวัชรยานแบบทิเบตเป็นที่รู้จักของชาวโลกอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และกลายเป็นคู่แข่งขันที่สำคัญของพุทธศาสนานิกายเซนในโลกตะวันตก

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
ภาควิชามนุษยศาสตร์ 
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยมหิดล

การจลาจลของชาวทิเบตทั้งในเมืองลาซาและเมืองอื่นๆ 2 สัปดาห์ก่อนพิธีการจุดคบไฟโอลิมปิค 2008 ซึ่งประเทศจีนเป็นเจ้าภาพ รวมทั้งการประท้วงระหว่างการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิคในประเทศต่างๆนั้น นับเป็นการคำนวณจังหวะการประท้วงที่เหมาะเจาะเพื่อเรียกร้องความสนใจจากชาวโลกในปัญหาทิเบต องค์ทะไลลามะ (Dalai Lama) ผู้นำทางจิตใจของชาวทิเบตที่เสด็จลี้ภัยไปต่างประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ.2502 กลับมาอยู่ในความสนใจของชาวโลกอีกครั้งหนึ่ง ขณะที่ชาวทิเบตอ้างว่าทิเบตเคยเป็นเอกราชอยู่นาน 38 ปี (พ.ศ.2455-2493) ในสมัยองค์ทะไลลามะที่ 13 นั้น รัฐบาลจีนก็อ้างประวัติศาสตร์เช่นกันว่า ทิเบตเคยเป็นส่วนหนึ่งของจีนมานานกว่า 150 ปี

ทิเบตเป็นรัฐเล็ก (แม้ดินแดนจะกว้างใหญ่ แต่มีพลเมืองน้อย) ตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานทิเบตเกือบไม่เคยเป็นตัวของตัวเองเลย ในอดีตทิเบตอยู่ภายใต้การยึดครองของมองโกล (มองโกเลียในปัจจุบัน) และจีนสลับกันไปมาหลายครั้ง ยามที่จีนอ่อนแอและมองโกลเข้มแข็งทิเบตก็ตกเป็นของมองโกล ยามที่จีนเข้มแข็งและมองโกลอ่อนแอทิเบตก็ตกเป็นของจีน และในยุคอาณานิคมทิเบตก็ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของอังกฤษ การอ้างประวัติศาสตร์ของทั้งชาวทิเบตและรัฐบาลจีนนั้น ต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แต่เป็นประวัติศาสตร์คนละช่วงเวลากัน

ชาวทิเบตเชื่อกันว่าทะไลลามะเป็นอวตาร (reincarnation) ของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ซึ่งชาวทิเบตเรียกว่า เชนรีซี (Chen-re-zi) ทะไลลามะเริ่มมีบทบาทอย่างเด่นชัดตั้งแต่องค์ที่ 5 เป็นต้นมา ก่อนหน้านี้ตำแหน่งทะไลลามะไม่มีบทบาทเท่าใดนัก และที่ย้อนหลังสืบทอดไปจนถึงองค์ที่ 1 ก็ด้วยเหตุผลเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง แม้ทะไลลามะจะเริ่มมีอำนาจทั้งฝ่ายศาสนจักรและฝ่ายอาณาจักรมาตั้งแต่องค์ที่ 5 แต่ก็จากการหนุนหลังของกองทัพมองโกล และกว่าจะได้อำนาจเต็มก็ต้องต่อสู้ทางการเมืองมานานกว่า 250 ปี กระทั่งถึงองค์ที่ 13 อำนาจทั้งฝ่ายศาสนจักรและฝ่ายอาณาจักรจึงตกอยู่ในมือของทะไลลามะอย่างแท้จริง แม้ชาวทิเบตจะเชื่อในเรื่องความบริสุทธิ์หมดกิเลสของทะไลลามะ แต่การเลี้ยงดูและการเตรียมตัวทะไลลามะมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กก็มีบทบาทอย่างสำคัญ ดังกรณีของทะไลลามะองค์ที่ 6 ซึ่งทรงประพฤติพระองค์อย่างเกษมสำราญ ผิดจากจารีตประเพณีอันดีงามและเคร่งครัด จนเป็นเหตุให้เกิดการลอบปลงพระชนม์จากกองทัพมองโกล ทั้งนี้ เนื่องจากทะไลลามะองค์ที่ 6 ทรงถูกค้นพบเมื่ออายุได้ถึง 13 ปี อันเป็นวัยที่เติบโตเกินกว่าที่จะหล่อหลอมให้เป็นไปตามพระราชประเพณีอันดีงามได้ ตามปกติแล้วนั้นทะไลลามะองค์อื่นๆ ทรงถูกค้นพบในวัยที่ยังเป็นทารกหรืออายุไม่เกิน 2-3 ปี จึงทรงเคร่งครัดในพระธรรมวินัยและความประพฤติอย่างสูง แม้ชาวทิเบตจะเชื่อในเรื่องการอวตารกลับมาเกิดใหม่ของทะไลลามะ แต่จากประวัติศาสตร์ก็บ่งบอกถึงอิทธิพลทางการเมืองทั้งจากภายนอกและจากภายในทิเบตเองด้วย รวมทั้งการแย่งชิงอำนาจระหว่างทะไลลามะกับผู้สำเร็จราชการแผ่นดินของพระองค์ ดังกรณีของทะไลลามะองค์ที่ 9, 10, 11, และ 12 ซึ่งสิ้นพระชนม์ตั้งแต่อายุยังน้อยติดต่อกันถึง 4 พระองค์ และเป็นที่สงสัยกันว่าผู้สำเร็จราชการแผ่นดินจะเป็นผู้ลอบปลงพระชนม์ เพื่อที่ตนจะได้มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินเบื้องหลังตำแหน่งทะไลลามะ และดังกรณีของทะไลลามะองค์ที่ 13 ซึ่งได้ทรงสั่งลงโทษผู้สำเร็จราชการแผ่นดินของพระองค์จนถึงแก่ความตาย และได้อำนาจเต็มในการบริหารแผ่นดินทิเบตคืนมาสู่ตำแหน่งทะไลลามะอีกครั้งหนึ่ง

ทะไลลามะองค์ที่ 14 ซึ่งเป็นองค์ปัจจุบัน ประสูติในปี พ.ศ.2477 และได้รับการสถาปนาให้เป็นทะไลลามะในปี พ.ศ.2483 ในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2493 ขณะเมื่อทะไลลามะมีพระชนมายุเพียง 16 พรรษานั้น จีนได้ส่งกำลังทหารข้ามแม่น้ำเดรชู อันเป็นเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างจีนกับทิเบต เข้าไปในทิเบตและยึดทิเบตไว้ได้ทั้งหมด กองทัพของทิเบตซึ่งมีขนาดเล็กมากไม่อาจต้านทานกำลังทัพอันมหาศาลของจีนได้ ทิเบตได้ขอความช่วยเหลือไปยังรัฐบาลอังกฤษ สหรัฐอเมริกา อินเดีย และเนปาล แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ จึงได้ร้องทุกข์ไปยังองค์การสหประชาชาติ โดยมี เอลซัลวาดอร์ เป็นผู้ยื่นคำร้องในคราวประชุมสมัชชาใหญ่เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2493 แต่สหประชาชาติปฏิเสธที่จะพิจารณาปัญหาทิเบต โดยอังกฤษเป็นผู้ยื่นเรื่องให้ระงับปัญหาทิเบต วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2502 ทะไลลามะทรงตัดสินพระทัยเสด็จลี้ภัยไปยังอินเดีย ภายหลังได้เกิดจลาจลอย่างขนานใหญ่ขึ้นในกรุงลาซา ทะไลลามะทรงประกาศจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นที่ป้อมลุนด์เสด์ซอง ตำบลโซดานูบ ชายแดนทิเบต ก่อนที่จะเสด็จเข้าไปในประเทศอินเดีย ในปีเดียวกัน ไอร์แลนด์และมลายู ได้ยื่นข้อร้องทุกข์ของทิเบตต่อสหประชาชาติ มีการหารือกันถึงเรื่องนี้ในคณะกรรมการบริหารของสมัชชาใหญ่ ในสมัยประชุมที่ 14 ในปี พ.ศ.2502 และมีมติสนับสนุนข้อเรียกร้องของทิเบต ต่อมาไทยและมลายูเป็นผู้นำเสนอญัตตินี้อีกในปีถัดมา แต่เกิดเหตุการณ์ในแอฟริกาที่สำคัญกว่า สมัชชาใหญ่จึงเลื่อนวาระการอภิปรายเรื่องทิเบตออกไปทุกวันจนสิ้นสุดสมัยการประชุม

ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 ทะไลลามะองค์ปัจจุบันได้ทรงกระทำในสิ่งที่ทะไลลามะในอดีตไม่เคยกระทำมาก่อน นั่นคือ การประกาศว่าทะไลลามะองค์ที่ 14 จะไม่ทรงอวตารกลับชาติมาเกิดใหม่อีก มิใช่เพียงเพราะว่าพระองค์ในฐานะอวตารของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร จะทรงหมดความเมตตากรุณาต่อสรรพสัตว์ที่อยู่เบื้องหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนชาวทิเบต แต่เหตุผลที่แท้จริงซึ่งพระองค์มิได้ทรงกล่าวออกมา มีนัยทางการเมืองระหว่างประเทศอย่างสำคัญ ในประเด็นการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองของชาวทิเบตจากรัฐบาลจีน

ถ้าหากว่าทะไลลามะทรงปล่อยให้ "วัฒนธรรมการอวตาร" ดำเนินต่อไป หากพระองค์สิ้นพระชนม์ลงวันใด ชาวทิเบตจะต้องออกติดตามเด็กทารกซึ่งเชื่อกันว่าจะเป็นอวตารของพระองค์ และจะเลี้ยงดูเด็กคนนั้นไปอีก 18 ปีอันเป็นวัยที่จะทรงบรรลุนิติภาวะ เวลา 18 ปีนั้นนานเกินไปสำหรับการสานต่ออุดมการณ์การเรียกร้องเอกราชจากจีน และไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าเด็กคนนั้นจะไม่ถูกปลูกฝังอุดมการณ์เป็นอย่างอื่นในแผ่นดินทิเบตภายใต้การปกครองของจีน ทะไลลามะจึงทรงพอพระทัยมากกว่า ในการแต่งตั้งทายาททางการเมืองด้วยพระองค์เองขณะที่พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่

ภายหลังจากที่ทิเบตได้เป็นเอกราชตั้งแต่ปี พ.ศ.2455 ถึง พ.ศ.2493 เป็นเวลา 38 ปี ในที่สุดทิเบตก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีนอีกวาระหนึ่ง และปัญหาทิเบตก็เข้าสู่สถานการณ์ของโลกปัจจุบัน การเสด็จลี้ภัยการเมืองของทะไลลามะและชาวทิเบตเป็นจำนวนมากไปอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย ทำให้พุทธศาสนาฝ่ายวัชรยานแบบทิเบตเป็นที่รู้จักของชาวโลกอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และกลายเป็นคู่แข่งขันที่สำคัญของพุทธศาสนานิกายเซนในโลกตะวันตก อาจเป็นไปได้ที่ว่าต่อไปในอนาคตชุมชนทิเบตทางตอนเหนือของอินเดีย จะมีส่วนฟื้นฟูพุทธศาสนาให้กลับคืนมาสู่ภาคเหนือของอินเดีย ดินแดนที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นบ่อเกิดของพุทธศาสนา
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 9 ธันวาคม 2550 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11019. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6.

Photo : https://pixabay.com/photos/barack-obama-dalai-lama-1159790/

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo