สถานภาพและบทบาทของทะไลลามะ

สถาบันสงฆ์ของทิเบต จึงมีส่วนอย่างสำคัญในการกำหนดสถานะของชนเผ่าทิเบต ดินแดนทิเบต และความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์กับประเทศจีน ทะไลลามะทรงอยู่ในฐานะผู้นำทั้งทางฝ่ายศาสนจักรและทางฝ่ายอาณาจักรในดินแดนทิเบตมาเป็นเวลาช้านาน ครั้นทะไลลามะองค์ปัจจุบันลี้ภัยการเมืองไปอยู่ อินเดียตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 ชาวทิเบตทั้งภายนอกและภายในของทิเบต ก็ยังคงยอมรับฐานะการเป็นผู้นำทั้งทางธรรมและทางโลกขององค์ทะไลลามะอยู่ ทั้งนี้เพราะขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมที่สืบทอดมายาวนาน
  

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
ภาควิชามนุษยศาสตร์ 
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยมหิดล

ประวัติศาสตร์ของทิเบตนั้นแยกไม่ออกจากประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาในทิเบต ดังเช่นที่ประวัติศาสตร์ไทยแยกไม่ออกจากประวัติศาสตร์ของพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ของไทย สถานภาพและบทบาทของทะไลลามะ [ 1] ตลอดจนสถาบันสงฆ์ของทิเบต จึงมีส่วนอย่างสำคัญในการกำหนดสถานะของชนเผ่าทิเบต ดินแดนทิเบต และความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์กับประเทศจีน ทะไลลามะทรงอยู่ในฐานะผู้นำทั้งทางฝ่ายศาสนจักรและทางฝ่ายอาณาจักรในดินแดนทิเบตมาเป็นเวลาช้านาน ครั้นทะไลลามะองค์ปัจจุบันลี้ภัยการเมืองไปอยู่ อินเดียตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 ชาวทิเบตทั้งภายนอกและภายในของทิเบต ก็ยังคงยอมรับฐานะการเป็นผู้นำทั้งทางธรรมและทางโลกขององค์ทะไลลามะอยู่ ทั้งนี้เพราะขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมที่สืบทอดมายาวนาน รายพระนามของทะไลลามะแห่งทิเบตเรียงลำดับตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันมีดังนี้

ทะไลลามะองค์ที่ 1 เกตุน ทรุป (Gedun Drup) ( พ.ศ. ๑๙๓๔ - ๒๐๑๗ )
ทะไลลามะองค์ที่ 2 เกตุน เกียโช (Gedun Gyatso) ( พ.ศ. ๒๐๑๘ - ๒๐๘๕ )
ทะไลลามะองค์ที่ 3 โซนัม เกียโช (Sonam Gyatso) ( พ.ศ. ๒๐๘๖ - ๒๑๓๑ )
ทะไลลามะองค์ที่ 4 ยอนเต็น เกียโช (Yontan Gyatso) ( พ.ศ. ๒๑๓๒ - ๒๑๕๙ )
ทะไลลามะองค์ที่ 5 หลอบซัง เกียโช (Lobsang Gyatso) ( พ.ศ. ๒๑๖๐ - ๒๒๒๕ )
ทะไลลามะองค์ที่ 6 ชังยัง เกียโช (Tsangyang Gyatso) ( พ.ศ. ๒๒๒๖ - ๒๒๔๙ )
ทะไลลามะองค์ที่ 7 เกลซัง เกียโช (Kalsang Gyatso) ( พ.ศ. ๒๒๕๑ - ๒๓๐๐ )
ทะไลลามะองค์ที่ 8 ยัมเปล เกียโช (Jampal Gyatso) ( พ.ศ. ๒๓๐๑ - ๒๓๔๗ )
ทะไลลามะองค์ที่ 9 ลงโตก์ เกียโช (Lungtok Gyatso) ( พ.ศ. ๒๓๔๘ - ๒๓๕๘ )
ทะไลลามะองค์ที่ 10 โชลทริม เกียโช (Tsultrim Gyatso) ( พ.ศ. ๒๓๕๙ - ๒๓๘๐ )
ทะไลลามะองค์ที่ 11 เคดุป เกียโช (Kedup Gyatso) ( พ.ศ. ๒๓๘๑ - ๒๓๙๘ )
ทะไลลามะองค์ที่ 12 ทรินเล เกียโช (Trinle Gyatso) ( พ.ศ. ๒๓๙๙ - ๒๔๑๘ )
ทะไลลามะองค์ที่ 13 ทุปเทน เกียโช (Thubtan Gyatso) ( พ.ศ. ๒๔๑๙ - ๒๔๗๖ )
ทะไลลามะองค์ที่ 14 เทนซิน เกียโช (Tenzin Gyatso) ( พ.ศ. ๒๔๗๗ - ปัจจุบัน )


สถานภาพของทะไลลามะ

ชาวทิเบตเชื่อกันว่า ทะไลลามะเป็นอวตาร (reincarnation) ของพระอวโลกิเตศวร โพธิสัตว์ ซึ่งชาวทิเบตเรียกว่า เชนรีซี (Chen-re-zi) ความเชื่อในเรื่องการอวตารนั้นผิดจากความเชื่อในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด (rebirth) ชาวทิเบตเชื่อว่าเชนรีซีอวตารมาเกิดในร่างของทะไลลามะ เพื่อช่วยชาวทิเบตและชาวโลกให้พ้นไปจากความทุกข์ ทะไลลามะจึงเป็นผู้ที่บริสุทธิ์ไม่มีกิเลสใดๆ แต่ที่ทรงกลับมาเกิดใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่าในร่างของทะไลลามะองค์ต่อๆมา ก็ด้วยความเมตตากรุณาประสงค์จะขนสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ข้ามพ้นไปจากทะเลแห่งวัฏสงสาร ตามคติความเชื่อของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ส่วนความเชื่อเรื่องเวียนว่ายตายเกิดนั้นเป็นเรื่องของปุถุชนที่ยังมีกิเลสอยู่ จึงยังต้องกลับมาเกิดใหม่เพื่อเสวยวิบากกรรมต่อไปจนกว่าจะพ้นทุกข์ จึงจะไม่ต้องกลับมาเกิดใหม่อีก อันเป็นความเชื่อสามัญของชาวพุทธโดยทั่วไป

ทะไลลามะเริ่มมีบทบาทอย่างเด่นชัดตั้งแต่องค์ที่ ๕ เป็นต้นมา ก่อนหน้านี้ตำแหน่งทะไลลามะไม่มีบทบาทเท่าใดนัก และที่ย้อนหลังสืบทอดไปจนถึงองค์ที่ ๑ ก็ด้วยเหตุผลเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องตามความเชื่อในเรื่องการอวตารกลับมาเกิดใหม่ เพื่อรับใช้ชาวทิเบตและชาวโลกของทะไลลามะ ดังเช่นที่พุทธศาสนานิกายฌาน (เซน) สืบย้อนหลังตำแหน่งพระสังฆปรินายกจากพระโพธิธรรมกลับไปถึงพระมหากัสสปและพระพุทธเจ้านั่นเอง แม้ทะไลลามะจะเริ่มมีอำนาจทั้งฝ่ายศาสนจักรและฝ่ายอาณาจักรมาตั้งแต่องค์ที่ ๕ แต่กว่าจะได้อำนาจเต็มก็ต้องต่อสู้ทางการเมืองมา กว่า ๒๕๐ ปี กระทั่งถึงองค์ที่ ๑๓ อำนาจทั้งฝ่ายศาสนจักรและฝ่ายอาณาจักรจึงตกอยู่ในมือของทะไลลามะอย่างแท้จริง

แม้ชาวทิเบตจะเชื่อในเรื่องความบริสุทธิ์หมดกิเลสของทะไลลามะ แต่การเลี้ยงดูและการเตรียมตัวทะไลลามะมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กก็มีบทบาทอย่างสำคัญ ดังกรณีของทะไลลามะองค์ที่ ๖ ซึ่งทรงประพฤติพระองค์อย่างเกษมสำราญ ผิดจากจารีตประเพณีอันดีงามและเคร่งครัด จนเป็นเหตุให้เกิดการลอบปลงพระชนม์จากพวกมองโกล ทั้งนี้เนื่องจากทะไลลามะองค์ที่ ๖ ทรงถูกค้นพบเมื่ออายุได้ถึง ๑๓ ปี อันเป็นวัยที่เติบโตเกินกว่าที่จะหล่อหลอมให้เป็นไปตามพระราชประเพณีอันดีงามได้ ตามปรกติแล้วนั้นทะไลลามะองค์อื่นๆทรงถูกค้นพบ ในวัยที่ยังเป็นทารกหรืออายุไม่เกิน ๒ - ๓ ปี จึงทรงเคร่งครัดในพระธรรมวินัยและความประพฤติอย่างสูง

แม้ชาวทิเบตจะเชื่อในเรื่องการอวตารกลับมาเกิดใหม่ของทะไลลามะ แต่จากประวัติศาสตร์ก็บ่งบอกถึงอิทธิพลทางการเมืองทั้งจากภายนอกและจากภายในทิเบตเองด้วย รวมทั้งการแย่งชิงอำนาจระหว่างทะไลลามะกับผู้สำเร็จราชการแผ่นดินของพระองค์ ดังกรณีของทะไลลามะองค์ที่ ๙ , ๑๐ , ๑๑ และ ๑๒ ซึ่งสิ้นพระชนม์ตั้งแต่อายุยังน้อยติดต่อกันถึง ๔ พระองค์ และเป็นที่สงสัยกันว่าผู้สำเร็จราชการแผ่นดินจะเป็นผู้ลอบปลงพระชนม์ เพื่อที่ตนจะได้มีอำนาจเต็มในการบริหารราชการแผ่นดินเบื้องหลังตำแหน่งทะไลลามะ และดังกรณีของทะไลลามะองค์ที่ ๑๓ ซึ่งได้ทรงสั่งลงโทษผู้สำเร็จราชการแผ่นดินของพระองค์จนถึงแก่ความตาย และได้อำนาจเต็มในการบริหารแผ่นดินทิเบตคืนมาสู่ตำแหน่งทะไลลามะอีกครั้งหนึ่ง


ทะไลลามะและพระราชวังโปตาละขึ้นสู่อำนาจ

พุทธศาสนาในทิเบตนั้นสัมพันธ์กับอำนาจในการปกครองอย่างใกล้ชิด การต่อสู้แย่งชิงอำนาจในระหว่างนิกายจึงเกิดขึ้นหลายครั้งในประวัติศาสตร์ของทิเบต พุทธศาสนาในทิเบตแบ่งออกเป็น ๓ นิกายใหญ่ด้วยกันคือ

๑ . นิงมะปะ(Nyingmapa) หรือที่รู้จักกันในนามว่า “นิกายหมวกแดง” เพราะพระภิกษุในนิกายนี้ครองจีวรสีแดง ท่านปัทมะสัมภวะ (Padma Sambhava) พระภิกษุที่มีชื่อเสียงจากอินเดียนำเข้าไปเผยแพร่ในทิเบตในปี พ.ศ. ๑๒๙๒ ชาวทิเบตส่วนใหญ่ในปัจจุบันนับถือนิกายนี้

๒ . คาร์กิวปะ(Kargyupa) นักบวชในนิกายนี้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ตามป่าตามถ้ำแบบฤาษีดาบสและนุ่งห่มชุดสีขาว มีท่านมิลาเรปะ (Milarepa) ในพุทธศาตวรรษที่ ๑๖ เป็นอาจารย์ที่สำคัญนิกายนี้มิได้ยุ่งเกี่ยวหรือมีบทบาททางการเมืองแต่อย่างใด

๓ . เกลุกปะ(Gelugpa) หรือที่รู้จักกันในนามว่า “นิกายหมวกเหลือง” เพราะพระภิกษุในนิกายนี้ครองจีวรสีเหลือง ท่านชองขะปะ (Tsong Kapa, พ.ศ. ๑๙๐๑ - ๑๙๖๒) พระภิกษุผู้มีชื่อเสียงของอินเดียได้นำเข้าไปเผยแพร่ในทิเบต และเป็นนิกายของทะไลลามะผู้มีอำนาจทั้งทางฝ่ายศาสนจักรและฝ่ายอาณาจักรในเวลาต่อมา

เดิมทีนั้นอำนาจการปกครองอยู่ในมือของกษัตริย์ทิเบตที่นับถือนิกายเดิมคือ นยิงมะปะ ครั้นนิกายเกลุกปะเกิดขึ้นในทิเบต และสามารถสร้างความศรัทธาให้เกิดขึ้นได้ในหมู่ขุนพลของ มองโกล กองทหารมองโกลก็ได้เข้าไปกวาดล้างนิกายหมวกแดงในทิเบต และหนุนพระในนิกายหมวกเหลืองให้มีอำนาจขึ้นมา ต่อมากษัตริย์เดสีชองปะ (De-si Tsong-pa) ซึ่งทรงสนับสนุนนิกายหมวกแดงได้กลับขึ้นมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่ง และพยายามจะทำลายอำนาจของพระในนิกายหมวกเหลือง แต่กองทัพมองโกลได้เข้ามาช่วยอีกครั้งหนึ่ง ทำให้พระในนิกายหมวกเหลืองมีอำนาจมานับแต่บัดนั้น

หัวหน้ามองโกลชื่อ กุศรี (Gusri) มีชัยชนะเหนือแผ่นดินทิเบตค่อนข้างเด็ดขาด รวบรวมได้ทั้งภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของทิเบต และได้สถาปนาทะไลลามะองค์ที่ ๕ ขึ้นให้มีอำนาจสูงสุดทั้งฝ่ายอาณาจักรและฝ่ายศาสนจักรเป็นครั้งแรก ชัยชนะในครั้งนี้ยังก่อให้เกิดความตื่นตัวทางพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิกายหมวกเหลืองขึ้นในมองโกเลีย พระภิกษุชาวมองโกลได้เดินทางเข้าไปในทิเบตเพื่อศึกษาพระคัมภีร์ต่างๆ และกลับไปตั้งสำนักของตนในดินแดนบ้านเกิด ชาวมองโกลได้หลั่งไหลเข้าไปยังกรุงลาซา (Lhasa) เพื่อที่จะได้ดื่มรสพระธรรมจากแหล่งกำเนิด มีการจาริกแสวงบุญเกิดขึ้นเสมอในระยะนั้น

ทะไลลามะองค์ที่ ๕ ได้มีพระบัญชาให้สร้างพระราชวังโปตาละ (Potala) ขึ้นบนยอดเขาแดง (Red Hill) พระราชวังโปตาละนี้ตั้งขึ้นตามชื่อของภูเขาลูกหนึ่งทางตอนใต้สุดของอินเดีย ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ผู้เป็นพระโพธิสัตว์แห่งความเมตตากรุณา พระราชวังแห่งนี้ตั้งอยู่บนภูเขาลูกเดียวโดดๆ สูงจากพื้นดิน ๓๐๐ - ๔๐๐ ฟุต ใช้เวลาในการก่อสร้างอยู่นานถึง ๔๐ ปี พระราชวังมีลักษณะเป็นเหมือนป้อมที่ใหญ่โต เห็นได้ชัดว่ามีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการ โจมตีของข้าศึก


ทะไลลามะองค์ที่ ๕

รัชสมัยของทะไลลามะองค์ที่ ๕ นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในประวัติศาสตร์ของทิเบต บัดนี้พระได้รับการสถาปนาให้ขึ้นครองราชสมบัติ และขณะเดียวกันก็ได้รับการเคารพดุจพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงมีอำนาจทั้งฝ่ายโลกและฝ่ายธรรม ทรงเป็นประมุขทั้งทางด้านวัตถุและทางด้านจิตใจ ทะไลลามะองค์ที่ ๕ ได้ชื่อว่าเป็นทะไลลามะที่ยิ่งใหญ่ แต่พระองค์ก็ทรงปกครองดินแดนของพระองค์อยู่เพียงไม่เกิน ๓ ปี หลังจากนั้นได้ทรงหลีกเร้นเพื่อแสวงหาความวิเวกทางศาสนา ทิ้งภารกิจในการบริหารราชการแผ่นดินไว้กับผู้สำเร็จราชการแผ่นดินของพระองค์ ซึ่งบริหารราชการโดยมิได้ปรึกษาหารือกับพระองค์มากนัก

ในปี พ.ศ. ๒๑๙๕ ทะไลลามะเสด็จกรุงปักกิ่งเพื่อทรงเข้าเฝ้าพระจักรพรรดิจีน พระองค์ทรงได้รับการต้อนรับอย่างดีในฐานะประมุขของรัฐอิสระ ซึ่งมีกองทัพมองโกลและประชาชนชาวมองโกลหนุนหลัง ขณะนั้นจีนยังหวั่นเกรงการโจมตีจากกองทัพมองโกลอยู่ ในปี พ.ศ. ๒๒๒๕ วันที่ยี่สิบห้า เดือนยี่ ตามปฏิทินทิเบต ทะไลลามะได้ “ เสด็จสู่สรวงสวรรค์ ” ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินชื่อ ซังกี เกียโช (Sang-gye Gya-tso) ได้ปกปิดข่าวการสิ้นพระชนม์อยู่เป็นเวลาหลายปี โดยแจ้งแก่ประชาชนว่าทะไลลามะทรงแสวงหาความวิเวกทางศาสนาในพระราชวัง และทรงไม่ประสงค์ให้ใครรบกวน

เป็นธรรมเนียมในทิเบตที่ลามะชั้นสูง จะแสวงหาความวิเวกทางศาสนาครั้งหนึ่งเป็นเวลาติดต่อกันเป็นปีหรือหลายปี ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต้องการใช้ชื่อของทะไลลามะในการบริหารราชการของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสงค์ที่จะสร้างพระราชวังโปตาละให้สำเร็จสมบูรณ์ ก่อนที่จะประกาศข่าวการสิ้นพระชนม์ การก่อสร้างพระราชวังโปตาละต้องอาศัยการเกณฑ์แรงงานเป็นจำนวนมาก ในการขนก้อนหินและงานหนักอื่นๆโดยไม่มีค่าตอบแทน ประชาชนยินดีที่จะอุทิศแรงกายเพื่อทะไลลามะได้ แต่มิใช่เพื่อผู้สำเร็จราชการแผ่นดินซึ่งแม้จะเป็นพระก็ตาม ในภายหลังพระจักรพรรดิจีนได้ทรงประท้วง ที่มิได้ทรงรับการแจ้งข่าวการสิ้นพระชนม์ของทะไลลามะอยู่นานถึง ๑๖ ปี แต่ตามหลักฐานของฝ่ายทิเบตข่าวการสิ้นพระชนม์ถูกปกปิดอยู่เป็นเวลา ๙ ปี

ด้านตะวันตกของพระราชวังโปตาละ มีสุสานของทะไลลามะที่สิ้นพระชนม์ไปแล้วทุกพระองค์เรียงรายอยู่ โดยเริ่มจากทะไลลามะองค์ที่ ๕ ยกเว้นทะไลลามะองค์ที่ ๖ ซึ่งมิได้สิ้นพระชนม์ในเมืองลาซา ในบรรดาสุสานทั้งหมดในพระราชวังโปตาละนั้น สุสานของทะไลลามะองค์ที่ ๕ ได้รับการประดับประดาตกแต่งเป็นการพิเศษ มีหนังสือหลายเล่มที่เขียนถึงทะไลลามะองค์ที่ ๕ หนังสือชีวประวัติของพระองค์หนาถึง ๖ เล่ม รวมความยาวถึง ๓ , ๙๐๐ หน้า

กฎเกณฑ์ในการเลี้ยงดูทะไลลามะตั้งแต่ตอนเป็นเด็กนั้นเป็นไปอย่างเข้มงวดกวดขันยิ่ง พระสหายของพระองค์อาจจะดื่มสุราหรือเครื่องดื่มประเภทมึนเมาอื่นๆได้ แต่ทะไลลามะไม่อาจทรงประพฤติตนเช่นนั้น ภายหลังจากที่มีอายุได้สามหรือสี่ปีขึ้นไป ทะไลลามะจะทรงมิได้รับอนุญาตให้พบกับสตรีเลย แม้กระทั่งมารดาของพระองค์เอง กับพระพุทธเจ้าที่มีชีวิตและเลือดเนื้อทั้งหมดนี้ การดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดดำเนินไปอย่างเข้มงวดกวดขัน เพื่อให้พระองค์ได้สำนึกถึงต้นกำเนิดอันศักดิ์สิทธิ์และภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ที่รออยู่เบื้องหน้าของพระองค์ เกือบจะไม่เคยมีข้อครหานินทาทะไลลามะในด้านความประพฤติเลยว่า ทรงออกนอกลู่นอกทางแห่งคุณธรรม อันที่จริงแล้วในบรรดาทะไลลามะทั้ง ๑๔ องค์ มีอยู่เพียงพระองค์เดียวเท่านั้นที่เกิดเป็นกรณีอื้อฉาวในเรื่องความประพฤติขึ้น


ทะไลลามะองค์ที่ ๖

การปกปิดข่าวการสิ้นพระชนม์ของทะไลลามะองค์ที่ ๕ เป็นเวลานานกว่า ๙ ปี ทำให้การดำเนินการค้นหาเด็กที่เป็นอวตารของพระองค์ต้องล่าช้าออกไปมาก เด็กได้ถูกค้นพบทางภาคใต้ของทิเบตขณะเมื่อมีอายุได้ถึง ๑๓ ปี และอีก ๒ ปีต่อมาก็ได้รับการสถาปนาเป็นทะไลลามะองค์ที่ ๖ พระจักรพรรดิจีนได้ทรงส่งตัวแทนเข้าร่วมพิธีการสถาปนาดังกล่าว เนื่องจากทะไลลามะองค์ใหม่ทรงถูกค้นพบเมื่ออายุได้กว่า ๑๓ ปี จึงทำให้พลาดจากการประคบประหงมเลี้ยงดูตามราชประเพณีตั้งแต่อายุยังน้อย ข้อนี้อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทะไลลามะองค์ที่ ๖ ทรงประพฤติพระองค์ผิดไปจากธรรมเนียมอันศักดิ์สิทธิ์ โดยพระองค์ทรงโปรดปรานการดื่มสุราและการนัดพบกับอิสตรีที่มาจากในเมืองในยามค่ำคืน

พระองค์ทรงโปรดให้มีการแสดงฟ้อนรำในพระราชวังซึ่งติดกับวัดในใจกลางกรุงลาซา ทรงโปรดการประพันธ์ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเพลงรัก และเป็นที่ร้องกันสนุกสนานกระทั่งถึงปัจจุบัน ไม่ต้องสงสัยเลยว่า คนทั้งหลายจะพากันตั้งคำถามว่าพระองค์ทรงเป็นทะไลลามะองค์จริงหรือไม่ พระจักรพรรดิจีนและหัวหน้ามองโกลในทิเบตต่างก็ลงความเห็นว่า พระองค์มิใช่ทะไลลามะองค์จริง และทะไลลามะเองนั้นก็ทรงประกาศเลิกคำปฏิญาณในเรื่องพรหมจรรย์และความเป็นพระที่วัดทาชิลุนโป (Ta-shi Lhun-po)

ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินชื่อ ซังกี เกียโช (Sang-gye Gya-tso) ซึ่งมีอายุมากแล้ว ได้ยืนหยัดอยู่ข้างทะไลลามะหนุ่ม และได้วางแผนที่จะต่อต้าน ลาซาง ฮ่าน (Latsang Khan) หัวหน้ากองทัพมองโกลผู้มีกำลังทหารหนุนหลังอยู่อย่างมหาศาล ลาซาง ฮ่าน ได้เข้าโจมตีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินซึ่งหนีไปอยู่ในป้อมแห่งหนึ่งใกล้กรุงลาซา และออกอุบายว่า ทะไลลามะทรงมีรับสั่งให้ยอมจำนน ผู้สำเร็จราชการจึงยอมจำนนและถูกประหารชีวิตในทันที เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๔๘ ซังกี เกียโช ได้ปกครองทิเบตอยู่เป็นเวลายาวนานด้วยความสามารถที่หาได้ยากยิ่ง นอกเหนือจากหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว ท่านยังเขียนหนังสือหลายเล่มที่เกี่ยวกับการแพทย์ โหราศาสตร์ และบทสนทนาการเมือง ซังกี เกียโช ได้รับการสดุดีเป็นอย่างสูงในความสามารถทางด้านการปกครอง

ทางด้านทะไลลามะองค์ที่ ๖ นั้นก็ทรงพระชนม์ชีพอยู่ได้ไม่นาน ภายหลังการตายของผู้สำเร็จราชการแผ่นดินของพระองค์ ลาซาง ฮ่าน ได้เรียกร้องให้พระลามะชั้นผู้นำทั้งหลายขับไล่ทะไลลามะออกจากตำแหน่ง สภาได้ถูกเปิดขึ้นและบรรดาพระลามะชั้นผู้ใหญ่ที่เข้าร่วมประชุมต่างก็ลงความเห็นว่า การที่ทะไลลามะทรงประพฤติพระองค์เช่นนั้นก็เนื่องมาจากว่าไม่มี “ ภาวะของการตรัสรู้ ” อยู่ในพระองค์ แต่ไม่มีใครกล้ากล่าวถึงการขับไล่พระองค์ออกจากตำแหน่ง หรือแม้แต่จะกล่าวว่าพระองค์มิใช่ทะไลลามะองค์จริง

เมื่อความพยายามดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จ ลาซาง ฮ่าน จึงตกลงใจที่จะกำลัง ในปี พ.ศ. ๒๒๔๙ เขาได้ทูลเชิญทะไลลามะเสด็จไปยังกรุงปักกิ่งเพื่อทรงเข้าเฝ้าพระจักรพรรดิจีน ขณะเดียวกันก็ได้ส่งคนที่เขาไว้วางใจพร้อมทั้งทหารมองโกลกองหนึ่งติดตามไปด้วย เพื่อปลงพระชนม์ในระหว่างทาง ความจงรักภักดีของชาวทิเบตที่มีต่อประมุขสูงสุดของตนนั้น ได้แสดงออกอย่างเด่นชัดในเหตุการณ์ครั้งนี้ โดยพระจากวัดเดรปุง (Dre-pung) ได้วางแผนชิงตัวทะไลลามะออกมาจากกองทหารมองโกล แต่ชาวทิเบตไม่มีกองทัพของตนเอง ทหารมองโกลได้เข้าโจมตีวัดและจับทะไลลามะได้อีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นไม่นานทะไลลามะก็สิ้นพระชนม์

อันเนื่องมาจากความจงรักภักดี และความศรัทธาอย่างมิรู้คลายในจิตใจของชาวทิเบต ประชาชนชาวทิเบตไม่เคยคิดที่จะตั้งคำถามเกี่ยวกับองค์ทะไลลามะ หากว่าเกิดข้อผิดพลาดขึ้นในการบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีของทะไลลามะจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบและได้รับคำตำหนิติเตียน ทะไลลามะผู้เป็นอวตารของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์นั้นอยู่เหนือคำวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ชาวทิเบตเองกลับอธิบายทะไลลามะองค์ที่ ๖ ว่า

“ ทะไลลามะองค์ที่ ๖ ทรงมีพระราชอำนาจพิเศษในการปรากฏพระองค์ในหลายรูปแบบ ขณะที่พระองค์ทรงปรากฏพระวรกายหนึ่งที่พระราชวังโปตาละ พระวรกายที่สองของพระองค์ก็ได้ทรงปรากฏในรูปของการเที่ยวหาความสำราญ ดื่มสุรา และเสพส้องอิสตรี อันที่จริงแล้วสตรีที่กล่าวถึงก็เป็นเทพธิดาองค์หนึ่ง ซึ่งพร้อมที่จะมีพระราชโอรสกับทะไลลามะ พระราชโอรสจะทรงเติบโตขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีชื่อเสียง ปกครองดินแดนกว่า ๓ , ๐๐๐ แห่ง ชัยชนะที่มีต่อประเทศเหล่านั้นจะก่อให้เกิดสงครามมากมาย จะกลืนกินชีวิตผู้คนมหาศาล นับเป็นบาปอย่างมหันต์ ประชาชนทิเบตจะมีอำนาจที่ยิ่งใหญ่และความมั่งคั่งรุ่งเรืองตลอดรัชสมัยของพระองค์ แต่ด้วยเหตุนี้ชาวทิเบตก็จะเสื่อมศรัทธาและสูญเสียพระศาสนาของตนเอง ดังนั้นพระมหากษัตริย์พระองค์นั้นจึงมิได้ทรงอุบัติขึ้น ”

พระพุทธเจ้าสมณโคดมเองก็ทรงมีอิสระที่จะเลือก ระหว่างการเป็นจอมจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่กับการเสด็จออกผนวชเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า สำหรับชาวทิเบตแล้วไม่มีปัญหาเลยว่าอะไรจะเป็นสิ่งที่สูงส่งกว่ากัน


ทะไลลามะองค์ที่ ๗

ลาซาง ฮ่าน พยายามที่จะแต่งตั้งทะไลลามะองค์ใหม่ขึ้นมา โดยนำเอาชายผู้หนึ่งอายุ ๒๕ ปีให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง โดยอ้างว่าเป็นอวตารของทะไลลามะองค์ที่ ๕ และมองข้ามองค์ที่ ๖ ไป พระจักรพรรดิจีนทรงสนับสนุนแต่ไม่มีชาวทิเบตคนใดยอมรับ ในพระราชนิพนธ์บทหนึ่งของทะไลลามะองค์ที่ ๖ มีข้อความตอนหนึ่งว่า พระองค์จะทรงบินด้วยปีกของนกกระเรียนขาวไปยังตำบลลิทัง (Li-tang) และจะทรงเสด็จกลับจากที่นั้น ข้อความนี้ได้รับการถือเป็นคำพยากรณ์ว่า ทะไลลามะจะทรงอวตารกลับมาเกิดใหม่ในตำบลนั้น ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของทิเบต

ในไม่ช้าก็มีการค้นพบเด็กทารกคนหนึ่ง ซึ่งประกาศว่าตนเองเป็นทะไลลามะกลับชาติมาเกิด และปรารถนาจะกลับกรุงลาซา ลาซาง ฮ่าน ได้สั่งทหารให้เตรียมพร้อม และในปี พ.ศ. ๒๒๖๐ เด็กน้อยก็ถูกควบคุมตัวไว้ที่วัดคุมบุม (Kum-bum) ใกล้เมืองชินงิง (Sining) ในคานซู ( Kansu ) ขุนพลมองโกลอีกผู้หนึ่งไม่เห็นด้วย ได้ก่อการกบฏโดยได้เข้ายึดกรุงลาซาและได้ฆ่า ลาซาง ฮ่าน กับคณะในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๒๖๑

พระจักรพรรดิจีนได้ทรงตระหนักถึงกำลังของฝ่ายมองโกลซึ่งเหลืออยู่ไม่มากนัก จึงทรงรับรองเด็กน้อยจากลิทังว่าเป็นอวตารที่แท้จริงของทะไลลามะองค์ก่อน และทรงส่งเด็กน้อยกลับไปกรุงลาซาพร้อมด้วยกองทัพที่เข้มแข็ง กองทัพจีนพร้อมด้วยพันธมิตรทิเบตบางส่วนได้รบชนะพวก มองโกล และเข้ายึดกรุงลาซาได้สำเร็จในปี พ.ศ. ๒๒๖๓ ประชาชนทิเบตได้ต้อนรับทะไลลามะองค์ที่ ๗ สู่พระราชวังโปตาละ นับแต่นั้นเป็นต้นมาจีนก็ได้อำนาจที่แท้จริงในกรุงลาซา จีนได้ผนวกดินแดนภาคตะวันออกของทิเบตเข้าไว้ ส่งทหารไปประจำการที่กรุงลาซาและเส้นทางจากต้าเชียนลู่ (Tachienlu) และแต่งตั้งผู้แทนฝ่ายจีนเข้าบริหารราชการในเมืองหลวงของทิเบต

ในปี พ.ศ. ๒๒๗๐ ชาวทิเบตได้ก่อการกบฏขึ้นที่กรุงลาซา และนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ถูกลอบสังหาร ทะไลลามะองค์ที่ ๗ และบิดาถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ยุยงส่งเสริมการกบฏครั้งนี้ ข้าหลวงโปลา (Po-lha) จากเมืองชาง (Tsang) ของทิเบตเอง ได้ส่งกองทหารเข้าช่วยปราบกบฏในกรุงลาซา และได้รับการแต่งตั้งจากจีนให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ทะไลลามะทรงถูกจับกุมและทรงถูกกักบริเวณที่วัดคาตะ (Ka-ta) ทางภาคตะวันออกของทิเบตใกล้กับกองทหารของจีน พระองค์ทรงถูกสั่งห้ามมิให้พักอาศัยในกรุงลาซาเป็นการถาวร แต่ทรงได้รับอนุญาตให้เยี่ยมเยียนกรุงลาซาได้ครั้งละไม่เกิน ๑ เดือน ภายหลังจากการถูกสั่งห้ามเช่นนี้เป็นเวลาติดต่อกันนานถึง ๗ ปี และเพื่อที่จะเป็นการเอาใจชาวทิเบต จีนได้อนุญาตให้ทะไลลามะเสด็จกลับพระราชวังโปตาละอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังจากการครองราชสมบัติอันยาวนาน ทะไลลามะองค์ที่ ๗ ได้สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. ๒๓๐๐


มิชชันนารีในทิเบต

ในรัชสมัยของทะไลลามะองค์ที่ ๕ บาทหลวงเยซูอิด ๒ รูปคือ กรูเบอร์ (Grueber) กับ ดอร์วิลล์ (D'Orville) ได้เดินทางมาถึงเมืองลาซาในปี พ.ศ. ๒๒๐๔ และพักอยู่เป็นเวลาปีครึ่ง นับเป็นชาวตะวันตกที่เดินทางมาถึงเมืองหลวงของทิเบตเป็นครั้งแรก และได้บันทึกถึงลักษณะการปกครองของทิเบตในครั้งนั้น

ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของทะไลลามะองค์ที่ ๖ ได้ไม่นาน บาทหลวงในศาสนาคริสต์ได้เดินทางจากยุโรปมายังกรุงลาซาอีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ. ๒๒๕๐ บาทหลวงนิกายคาพูชิน (Capuchin) ได้เดินทางไปถึงที่นั่น ซึ่งดูเหมือนว่าจะเดินทางไปจากเมืองกาฏมัณฑุในประเทศเนปาล ขณะเดียวกันบาทหลวงนิกายเยซูอิต (Jesuit) อีกรูปหนึ่งชื่อ อิปโปลิโต เดสิเดริ (Ippolito Desideri) ก็ได้เดินทางไปถึงเมืองลาซาในวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๕๙ การแข่งขันของทั้งสองนิกายในศาสนาคริสต์ในทิเบตได้เริ่มขึ้น และชัยชนะตกเป็นของนิกายคาพูชิน

มีคำสั่งจากกรุงโรมให้นิกายเยซูอิตถอนตัวออกจากทิเบตในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๒๖๔ เดสิเดริ ได้เดินทางกลับคืนสู่เนปาลภายหลังจากที่ได้อยู่ในกรุงลาซาเป็นเวลา ๕ ปี และในวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๒๘๘ บาทหลวงนิกายคาพูชินทั้งหมดก็ได้ออกจากกรุงลาซา นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๒๘๘ เป็นต้นมาก็เกือบจะไม่มีมิชชันนารีในเมืองลาซา กรุงโรมแห่งพุทธศาสนาฝ่ายเหนือ หรืออาจจะทั่วทั้งดินแดนทิเบตอันกว้างใหญ่อีกเลย

มีความเหมือนกันอย่างน่าสังเกต ในตลอดประวัติศาสตร์ของความพยายามในการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ของบรรดาเหล่ามิชชันนารีในทิเบต กล่าวคือ ครั้งแรกจะได้รับการต้อนรับหรือกึ่งต้อนรับจากผู้ปกครองฝ่ายอาณาจักร ต่อมาติดตามด้วยการต่อต้านจากพระของทิเบต กระทั่งกลายเป็นความรุนแรงเมื่อเวลาผ่านไป ไม่ว่านิกายคาพูชิน เยซูอิต หรือลาซาริสต์ (Lazarist) ทั้งหมดประสบกับเหตุการณ์ทำนองเดียวกัน

ไม่เพียงแต่ความรุนแรงจากฝูงชนเท่านั้นที่บรรดามิชชันนารีต้องประสบ แต่ก็ยังมีอุปสรรคสำคัญอีกสองประการที่ยากจะเอาชนะได้ ประการที่หนึ่งคือ ขอบเขตที่กว้างขวางและโครงสร้างที่ซับซ้อนของพุทธศาสนาในทิเบต และการอุทิศตัวของพระทิเบตต่อการศึกษาอย่างบากบั่นยาวนาน บาทหลวงในศาสนาคริสต์มีความรู้เหล่านี้เพียงพอที่จะโต้แย้งได้หรือ เดสิเดริได้พยายามโต้แย้งแนวความคิดเรื่องสุญญตา (Emptiness) แต่นั่นก็เป็นเพียงแนวความคิดหนึ่งในบรรดาแนวความคิดต่างๆอันหลากหลายในพุทธศาสนาของทิเบต

อุปสรรคประการที่สองได้แก่ ความเคร่งครัดเอาจริงเอาจังและความเข้มงวดกวดขันอย่างยิ่งยวดของพระทิเบต พระทิเบตนั้นรักษาพรหมจรรย์อย่างเคร่งครัด และไม่ฉันอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว พระบางรูปได้ไปบำเพ็ญสมณธรรมในถ้ำท่ามกลางหิมะติดต่อกันหลายวัน โดยมีเครื่องนุ่งห่มและอาหารแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น บางรูปได้เก็บตัวอยู่ในที่ที่ห่างไกลเป็นเวลาครั้งละ ๓ ปีก็มี

ชาวทิเบตมีความเชื่อมั่นอย่างเข้มแข็งในการศึกษาและในพระธรรมวินัยที่เคร่งครัด อันเปรียบเสมือนทางเอกสองสายที่คู่กันของพุทธศาสนาในทิเบต และทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายบรรดามิชชันนารีผู้ต้องการเปลี่ยนชาวทิเบตให้มานับถือศาสนาคริสต์ ลำพังความกระตือรือร้นในการเผยแพร่คำสอนเป็นสิ่งที่ไม่เพียงพอ ความรักก็เป็นสิ่งที่ไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีความรอบรู้ในพุทธศาสนาของทิเบตอย่างแตกฉานเท่านั้น อีกทั้งยังจะต้องมีสติปัญญาอย่างรอบด้านอีกด้วย


ทะไลลามะองค์ที่ ๘ กับอิทธิพลของจีน

ภายหลังจากที่บาทหลวงนิกายคาพูชินได้ออกจากกรุงลาซาไปในปี พ.ศ. ๒๒๘๘ ข้าหลวง โปลา ได้ถึงแก่กรรมลงและบุตรชายของเขาได้สืบทอดตำแหน่งแทน บุตรชายของโปลาได้ก่อการจลาจลต่อต้านจีนในกรุงลาซาแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ทำให้กองทหารของจีนมีอำนาจมากขึ้นและอิทธิพลของจีนก็ได้เพิ่มขึ้นด้วย ในรัชสมัยของทะไลลามะองค์ที่ ๘ ตำแหน่ง ปันเชน ริมโปเช (Pan-chen Rim-po-che) เริ่มมีบทบาทในประวัติศาสตร์ของทิเบต ทะไลลามะเองนั้นทรงมีความรอบรู้อย่างยิ่ง และทรงมีอิทธิพลสำคัญในหมู่ชาวทิเบต พระองค์ทรงได้รับเชิญให้เสด็จไปเยือนพระราชสำนักของจีนตามประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบกันมา

ขณะนั้นกองทหารกุรข่า (Gurkha) ซึ่งเพิ่งแสดงพละกำลังทางทหารโดยเข้ายึดครองเนปาลทั้งประเทศ และกำลังหึกเหิมด้วยอำนาจทางทหาร ได้เตรียมการที่จะเข้าโจมตีทิเบตเพื่อหวังปล้นทรัพย์สมบัติอันล้ำค่าจากวัดสำคัญต่างๆ และจากบ้านของตระกูลขุนนางต่างๆในทิเบต ในปี พ.ศ. ๒๓๓๑ กองทหารกุรข่าได้หาสาเหตุเข้าโจมตีและยึดครองชายแดนบางส่วนของทิเบตไว้ และอีก ๓ ปีต่อมาได้รุกคืบหน้าลึกเข้าไปในดินแดนทิเบตและเข้าปล้นวัดทาชิลุนโป (Ta-Shi Lhun-po) วัดอันมั่งคั่งของปันเชน ริมโปเช กองทัพจีนด้วยความช่วยเหลือจากชาวทิเบตบางส่วนได้ยาตราทัพเข้าสู่ทิเบตในกลางฤดูหนาว ขับไล่กองทหารกุรข่าออกไป และรุกเข้าไปในเนปาลจนเกือบจะถึงเมืองหลวงซึ่งทหารกุรข่ายึดครองอยู่ กองทหารกุรข่าถูกบังคับให้เซ็นสัญญาสันติภาพ หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้จีนได้มีอิทธิพลเหนือทิเบตเกือบจะสิ้นเชิง

ทั้งรัฐบาลของจีนและของทะไลลามะ เป็นครั้งเป็นคราวได้เข้าแทรกแซงการกลับชาติมาเกิดใหม่ของบรรดาลามะที่มีอิทธิพลทั้งหลาย โดยปฏิเสธสิทธิในการกลับชาติมาเกิดใหม่ของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้มีความผิดฐานก่ออาชญากรรม หลังจากที่ได้รับชัยชนะเหนือกองทหารกุรข่าแล้ว จีนได้ใช้อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นในทิเบต เข้าควบคุมเรื่องราวการกลับชาติมาเกิดใหม่ของบรรดาลามะชั้นสูงของทิเบต ชาวทิเบตนั้นไม่เคยรู้สึกพึงพอใจที่ต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของชนต่างชาติ ความรู้สึกรักอิสรภาพนั้นมีอยู่อย่างแข็งขันในเผ่าชนทิเบต ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นชนเผ่าเร่ร่อนบนเทือกเขาสูงในอดีตอันไกลโพ้น และความรู้สึกนี้ยิ่งเข้มข้นขึ้นด้วยความหวงแหนในพระศาสนาของตน โดยกริ่งเกรงว่าชาวต่างชาติอาจจะเข้ามาทำลายพระศาสนา ซึ่งสำหรับชาวทิเบตแล้วเป็นเรื่องคอขาดบาดตายยิ่งกว่าการเข้าครอบครองผืนแผ่นดินทิเบตเสียอีก


ทะไลลามะองค์ที่ ๙, ๑๐, ๑๑ และ ๑๒ สิ้นพระชนม์แต่ยังเยาว์

ทะไลลามะองค์ที่ ๙ มีพระชนมายุได้เพียง ๑๐ พรรษาก็สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. ๒๓๕๘ และต่อมาทะไลลามะองค์ที่ ๑๐ ทรงเจริญวัยขึ้น กระทั่งพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษาก็สิ้นพระชนม์ลงอีกในปี พ.ศ. ๒๓๘๐ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินของพระองค์ถูกสงสัยว่า เป็นผู้ลอบปลงพระชนม์โดยการลอบใส่ยาพิษในพระกระยาหาร

ในรัชสมัยของทะไลลามะองค์ที่ ๑๑ การปกครองภายใต้ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเป็นไปด้วยความกดขี่ทารุณ กระทั่งปันเชนลามะ (Pan-chen Lama) ในขณะนั้นรวมทั้งพระลามะชั้นผู้ใหญ่ในรัฐบาลกรุงลาซา ได้ส่งตัวแทนเดินทางไปร้องเรียนต่อพระจักรพรรดิจีน พระจักรพรรดิจีนจึงได้ส่งข้าหลวงคนใหม่มาประจำที่กรุงลาซา ข้าหลวงจีนได้จับกุมผู้สำเร็จราชการแผ่นดินของทิเบตผู้นั้นและเนรเทศไปอยู่ที่แมนจูเรีย และทั้งๆที่มีการระมัดระวังอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม ทะไลลามะองค์ที่ ๑๑ ก็ยังสิ้นพระชนม์ลงในปี พ.ศ. ๒๓๙๘ ด้วยพระชนมายุเพียง ๑๗ พรรษา และผู้ที่สืบราชสมบัติต่อมาคือทะไลลามะองค์ที่ ๑๒ ก็สิ้นพระชนม์ลงอีกในปี พ.ศ. ๒๔๑๘ ด้วยพระชนมายุ ๑๘ พรรษา

ด้วยเหตุที่ทะไลลามะทั้งสี่พระองค์นี้สิ้นพระชนม์แต่ยังทรงพระเยาว์ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ทะไลลามะพระองค์อื่นๆทรงพระชนม์ยืนนานแทบทุกพระองค์ จึงเป็นที่สงสัยกันว่าผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเป็นผู้อยู่เบื้องหลังกรณีการสิ้นพระชนม์แต่ยังทรงพระเยาว์ติดต่อกันถึง ๔ รัชสมัย ทั้งนี้เพราะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินจะเป็นผู้มีอำนาจเต็มในการปกครอง ในขณะที่ทะไลลามะยังทรงพระเยาว์อยู่ และทำการปกครองในนามของทะไลลามะ ครั้นเมื่อทะไลลามะทรงเจริญวัยขึ้นจนมีพระชนมายุครบ ๑๘ พรรษาบริบูรณ์ อำนาจในการปกครองทุกอย่างจะกลับคืนมาสู่องค์ทะไลลามะโดยตรง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นธรรมดาอยู่เอง ที่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินจะคิดกำจัดทะไลลามะเสียก่อนที่จะทรงมีพระชนมายุครบ ๑๘ พรรษา อันเป็นวัยที่ทะไลลามะผู้เป็นอวตารของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรหรือเชนรีซี จะทรงมีอำนาจอย่างแท้จริงทั้งทางโลกและทางธรรม


วิธีการค้นหาทะไลลามะ

วิธีการค้นหาการกลับชาติมาเกิดใหม่ของทะไลลามะ ปันเชนลามะ หรือพระลามะชั้นสูงอื่นๆซึ่งอวตารกลับชาติมาเกิดใหม่นั้น เป็นเรื่องที่พิสดารและเป็นเอกลักษณ์ของทิเบต ซึ่งจะหาที่ใดในโลกมาเปรียบไม่ได้อีกแล้ว ก่อนที่ทะไลลามะจะ “ เสด็จสู่สรวงสวรรค์ ” พระองค์จะทรงแสดงสัญญาณบางอย่างเพื่อบอกความหมายเป็นนัยๆว่า จะทรงกลับมาเกิดอีก ณ แห่งหนตำบลใด คณะลามะผู้คงแก่เรียน อันมีลามะจากวัดที่สำคัญเช่น วัดเสระ (Se-ra) วัดเดรปุง (Dre-pung) และวัดแกนเตน (Gan-den) เป็นอาทิ ก็จะร่วมกันออกค้นหาตามสัญญาณที่ทะไลลามะองค์ก่อนบอกความหมายเป็นนัยทิ้งไว้ให้

คณะค้นหาจะออกสืบเสาะเด็กที่เกิดมาพร้อมด้วยนิมิตหมายบางอย่าง และค้นหาเด็กที่มีสัญญลักษณ์พิเศษบางอย่างตามร่างกาย อันเป็นลักษณะของพระโพธิสัตว์เชนรีซีซึ่งแตกต่างออกไปจากคนธรรมดาสามัญทั่วไป ลักษณะพิเศษบางประการของเด็กที่เป็นอวตารของเชนรีซีตามความเชื่อของชาวทิเบตมีดังนี้

1. มีตำหนิคล้ายหนังเสืออยู่บนขาทั้งสองข้าง
2. มีตาและคิ้วเรียวยาวโค้งขึ้นบนทั้งสองข้าง
3. มีหูที่ใหญ่ทั้งสองข้าง
4. มีปุ่มเนื้อบนหัวไหล่ทั้งสองข้าง อันเป็นเครื่องบ่งบอกถึงแขนอีกสองข้างของเชนรีซี
5. มีลายคล้ายกับก้นหอยบนฝ่ามือข้างใดข้างหนึ่ง

เมื่อเด็กที่มีลักษณะถูกต้องตามตำราถูกค้นพบ ในตำแหน่งแห่งที่ซึ่งทะไลลามะองค์ก่อนได้บอกเป็นนัยไว้แล้ว บางครั้งจะได้เด็กที่อยู่ในข่ายที่จะเป็นอวตาร ๓ หรือ ๔ คน ชื่อของเด็กทั้ง ๓ หรือ ๔ คนนี้ก็จะถูกเขียนไว้ในแผ่นกระดาษชื่อละแผ่นแล้วใส่ลงในโกศทองคำ หลังจากนั้นก็จะมีการประกอบพิธีทางศาสนา และใช้ตะเกียบคีบเอารายชื่อของเด็กคนหนึ่งขึ้นมา เมื่อจีนมีอำนาจในทิเบตข้าหลวงใหญ่ของจีนจะเป็นผู้คีบรายชื่อของเด็ก เด็กที่ถูกเลือกแล้วจะสามารถชี้เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆทั้งทางโลกและทางธรรมของทะไลลามะองค์ก่อน หรืออันที่จริงแล้วของตนเองในอดีตชาติได้อย่างถูกต้องเสมอ

เด็กน้อยจะถูกพรากตัวไปจากพ่อแม่และได้รับการบำรุงเลี้ยงจากพวกพระ การเลี้ยงดูเด็กที่เป็นอวตารของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเป็นไปอย่างเอาใจใส่พิถีพิถันและเข้มงวดกวดขันยิ่ง เพื่อให้จิตใจของเด็กน้อยได้ตระหนักถึงต้นกำเนิดอันศักดิ์สิทธิ์ และภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ที่รออยู่เบื้องหน้า ครั้นเมื่อเด็กมีอายุได้ ๑๘ ปี หรือถ้าหากนับตามปฏิทินสากลก็คงไม่เกิน ๑๗ ปี หรือบางครั้งเพียงแค่ ๑๖ ปีเท่านั้น ก็จะได้รับการสถาปนาให้เป็น “ เกียลวา รินโปเช่ ” หรือทะไลลามะ มีอำนาจทั้งฝ่ายอาณาจักรและฝ่ายศาสนจักรปกครองแว่นแคว้นทิเบตทั้งปวง


ทะไลลามะองค์ที่ ๑๓

ทะไลลามะองค์ที่ ๑๓ ประสูติในปี พ.ศ. ๒๔๑๙ จากครอบครัวที่ยากจนในหมู่บ้านเปอร์โชเด (Per-cho-de) จังหวัดตักโป (Tak-po) เด็กน้อยมีลักษณะต้องตามตำราอย่างเด่นชัดมากจนกระทั่งชาวทิเบตปฏิเสธที่จะใส่ชื่อและให้ชี้ขาดในโกศทองคำโดยข้าหลวงจีน ทะไลลามะพระองค์นี้ได้รับพระราชอำนาจในการปกครองเมื่อพระชนมายุได้ ๑๙ พรรษา

ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินของพระองค์เป็นพระลามะชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งถือกันว่าเป็นอวตารของพระลามะที่ยิ่งใหญ่ในอดีต และก็เป็นเจ้าอาวาสของวัดเตนกีลิง (Ten-gye-ling) ที่มีความสำคัญในกรุงลาซา ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินถูกลงโทษด้วยข้อหาพยายามใช้เวทย์มนต์คาถาเพื่อปลงพระชนม์ ทะไลลามะ โดยถูกคุมขังอยู่ในกุฏิเล็กๆภายในวัด และมรณภาพลงจากการลงโทษ มีบุคคลเป็นจำนวนมากที่ไม่เพียงแต่จะเห็นว่าท่านเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ยังยกย่องชมเชยความสามารถในการบริหารราชการของท่านเป็นอย่างสูงอีกด้วย บรรดาพระในวัดของท่านมีความจงรักภักดีต่อท่านอย่างไม่เกรงกลัวอำนาจใดๆ และพยายามทุกวิถีทางที่จะหาโอกาสก่อการกบฏต่อต้านทะไลลามะและรัฐบาลของพระองค์ ในที่สุดเมื่อทิเบตลุกฮือขึ้นประกาศอิสรภาพจากจีนในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ บรรดาพระจากวัดเทนกีลิงได้เข้าข้างฝ่ายจีน อีก ๒ ปีต่อมาเมื่อจีนถูกขับไล่ออกไปจากกรุงลาซา วัดเทนกีลิงก็ถูกโจมตี สิ่งก่อสร้างต่างๆซึ่งทำด้วยหินถูกทุบทำลายและพระในวัดถูกขับไล่แตกกระเจิงไป

ตามความเชื่อโดยทั่วไปที่ว่า ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินใช้คาถาอาคมในความพยายามที่จะลอบปลงพระชนม์ทะไลลามะนั้น แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศาสนาโบน (Bonism) [ ชาวทิเบตเรียกศาสนาดั้งเดิมนี้ว่า “ โพนบู ” (Ponbu)2] อันเป็นความเชื่อแบบปฐมบรรพ์ที่มีอยู่แต่เดิมก่อนที่พุทธศาสนาจะแพร่หลายเข้าไปในทิเบตนั้น ยังคงมีอยู่แม้ในนิกายหมวกเหลืองอันเป็นนิกายที่ถือกันว่าผ่านการปฏิรูปมาแล้ว ไม่จำต้องกล่าวถึงนิกายหมวกแดงซึ่งอิทธิพลของศาสนาโบนยังคงมีอยู่เป็นอันมาก

ในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ อังกฤษได้ส่งกองทหารเข้ายึดครองกรุงลาซาแบบจู่โจม เป็นเหตุให้ทะไลลามะต้องเสด็จลี้ภัยไปยังมองโกเลีย และเหตุการณ์ครั้งนี้ก็เป็นแรงกดดันที่ทำให้พระองค์ต้องเสด็จเยือนกรุงปักกิ่ง กองทหารอังกฤษที่เข้ายึดครองทิเบตและสนธิสัญญาที่ติดตามมาได้ผูกพันอังกฤษและทิเบตเข้าไว้อย่างใกล้ชิด ต่อมาทหารอังกฤษได้ถอนตัวออกไปจากทิเบต ปฏิบัติการของกองทหารอังกฤษทำให้ฝ่ายจีนตื่นตัวและพยายามที่จะช่วงชิงทิเบตกลับคืนมาให้ได้ ภายหลังจากที่ต้องทรงลี้ภัยอยู่นานถึง ๕ ปี ทะไลลามะก็เสด็จกลับกรุงลาซาในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ แต่ชั่วเวลาเพียงอีกไม่กี่เดือนต่อมา กองทัพจีนก็ได้กลับเข้ายึดครองทิเบตอีก ทำให้ทะไลลามะต้องเสด็จลี้พระองค์อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เสด็จไปยังอินเดียและทรงใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่เมืองดาร์จีลิง (Darjeeling) เป็นเวลากว่า ๒ ปี

ต่อมาชาวทิเบตได้ก่อการปฏิวัติขึ้น กระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๕๕ กองทัพจีนจึงถูกขับไล่ออกไปจากทิเบต และทะไลลามะได้ทรงเป็นพระประมุขอย่างแท้จริงในแผ่นดินอันเป็นบ้านเกิดของพระองค์ หลังจากนั้นพระองค์ได้ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองอย่างขนานใหญ่ ทรงส่งเสริมการพระศาสนา การสาธารณูปโภค และการป้องกันประเทศ ชาวทิเบตเคารพรักในทะไลลามะองค์ที่ ๑๓ เป็นอย่างยิ่ง และได้ยกย่องพระองค์ให้เป็นทะไลลามะที่ยิ่งใหญ่

ในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ รัฐบาลทิเบตได้ทำสัญญากับรัฐบาลมองโกเลีย มีสาระสำคัญว่าทิเบตและมองโกเลียต่างถือว่าเป็นอิสระแก่กัน และในปีเดียวกันผู้แทนของอังกฤษ ทิเบต และจีนได้ร่วมประชุมกันแล้วร่างข้อตกลง ซึ่งอังกฤษขอให้ทิเบตยอมรับให้จีนมีคณะผู้แทนมาอยู่ประจำกรุงลาซา และให้จีนรับรองว่าทิเบตปกครองตนเอง อังกฤษได้เซ็นสัญญานี้ร่วมกับทิเบตในวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ แต่รัฐบาลจีนไม่ยอมลงนาม เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ทะไลลามะทรงส่งทหารเข้าร่วมรบเป็นพันธมิตรกับฝ่ายอังกฤษ ครั้นเกิดสงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่นและสงครามโลกครั้งที่สองขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ทิเบตได้วางตัวเป็นกลาง ไม่ยอมให้ขนอาวุธยุทธภัณฑ์จากอินเดียผ่านทิเบตไปยังจีน จะยอมให้ก็แต่วัสดุและยวดยานที่ปราศจากอาวุธเท่านั้น

ภายหลังจากที่ต้องตกเป็นรัฐในอารักขาของมองโกเลีย มาเป็นระยะเวลากว่าหนึ่งศตวรรษ และตกเป็นรัฐในอาณัติของจีนอีกเป็นเวลากว่า ๑๕๐ ปี และถูกอังกฤษยึดครองในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ในที่สุดทิเบตก็ได้กลับเป็นเอกราชอีกครั้งหนึ่ง โดยการประกาศอิสรภาพจากจีนในรัชสมัยของทะไลลามะองค์ที่ ๑๓ แต่ทิเบตก็ดำเนินนโยบายปิดประเทศโดยเก็บตัวเงียบอยู่แบบรัฐโบราณ เกือบจะมิได้ติดต่อกับโลกภายนอกเลย จึงขาดการทำสนธิสัญญาที่สำคัญอย่างเพียงพอกับต่างประเทศ มิได้มีการแลกเปลี่ยนทางการฑูตกับประเทศอื่น มิได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสันนิบาตชาติหรือองค์การสหประชาชาติ และมิได้ดำเนินความพยายามที่จะให้โลกภายนอกรับรองเอกราชและอธิปไตยของทิเบต เอกราชที่มีอยู่จริงในทางพฤตินัยของทิเบตตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๕ จึงขาดการรับรองตามกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นเหตุให้จีนเข้ายึดครองและอ้างอธิปไตยเหนือทิเบตได้โดยง่ายในเวลาต่อมา

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เมื่อด้านตะวันออกของพระราชวังโปตาละอยู่ในระหว่างการซ่อมแซม ทะไลลามะทรงมีคำสั่งพิเศษให้จิตรกรวาดรูปนกสีน้ำเงินบนผนังด้านทิศเหนือ และวาดรูปมังกรสีขาวบนผนังด้านทิศตะวันออกของบันไดที่นำไปสู่ห้องโถงด้านเหนือ ครั้งนั้นจิตรกรเอกและนักปราชญ์ในราชสำนักต่างพากันรู้สึกประหลาดใจในพระประสงค์ของพระองค์ เพราะภาพวาดเหล่านั้นมิได้มีความหมายที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์หรือตำนานต่างๆแต่อย่างใด ภายหลังจึงเป็นที่ประจักษ์กันว่า นกสีน้ำเงินมีความหมายเป็นนัยที่บอกถึงปีสิ้นพระชนม์ของพระองค์คือปีนกธาตุน้ำ และมังกรสีขาวบอกถึงการขึ้นครองราชสมบัติของทะไลลามะองค์ที่ ๑๔ ในปีมังกรธาตุเหล็ก ทะไลลามะองค์ที่ ๑๓ สิ้นพระชนม์ในวันที่ ๓๐ เดือน ๑๐ ปีนกธาตุน้ำ ตามปฏิทินของทิเบต ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๗๖


ทะไลลามะองค์ที่ ๑๔ กับสถานการณ์ของโลกปัจจุบัน

ทะไลลามะองค์ที่ ๑๔ ซึ่งเป็นองค์ปัจจุบัน ประสูติเมื่อวันขึ้น ๕ ค่ำเดือน ๕ ปีกุน ธาตุไม้ ตามปฏิทินทิเบต ตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ที่หมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งชื่อดักด์เสอ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของทิเบต ซึ่งเวลานั้นเป็นเขตปกครองของจีน เด็กน้อยถูกค้นพบในกระท่อมของชาวนาที่ยากจนครอบครัวหนึ่ง และสามารถทักทายบุคคลในคณะค้นหาได้อย่างถูกต้องหมดทุกคน อีกทั้งสามารถชี้เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆของทะไลลามะองค์ก่อนได้ถูกต้อง เมื่อผ่านการพิสูจน์ตามธรรมเนียมของชาวทิเบตจนครบถ้วน และเป็นที่แน่ใจว่าเป็นอวตารของทะไลลามะที่แท้จริงแล้ว เด็กน้อยก็ได้รับการสถาปนาให้เป็นทะไลลามะองค์ที่ ๑๔ ในวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ โดยมีเรติง รินโปเช เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินของพระองค์ และทรงรับผิดชอบบ้านเมืองโดยตรงเมื่อมีพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา

ในวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ขณะเมื่อทะไลลามะมีพระชนมายุเพียง ๑๖ พรรษาเท่านั้น จีนได้ส่งกำลังทหารข้ามแม่น้ำเดรชู อันเป็นเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างจีนกับทิเบต เข้าไปในทิเบตและยึดภาคตะวันออกของทิเบตไว้ได้ทั้งหมด กองทัพของทิเบตซึ่งมีขนาดเล็กมาก เหมาะที่จะทำหน้าที่เพียงคอยลาดตระเวนเพื่อกันคนไม่ให้เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และทำหน้าที่เป็นตำรวจมากกว่า ไม่อาจต้านทานกำลังทัพอันมหาศาลของจีนได้ ทิเบตได้ขอความช่วยเหลือไปยังรัฐบาล อังกฤษ สหรัฐอเมริกา อินเดีย และเนปาล แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ จึงได้ร้องทุกข์ไปยังองค์การสหประชาชาติ โดยมี เอลซัลวาดอร์ เป็นผู้ยื่นคำร้องในคราวประชุมสมัชชาใหญ่เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๓ แต่สหประชาชาติปฏิเสธที่จะพิจารณาปัญหาทิเบต โดยอังกฤษเป็นผู้ยื่นเรื่องให้ระงับปัญหาทิเบต

ในปีรุ่งขึ้นคือปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ทะไลลามะจึงทรงแต่งตั้งผู้แทน ๔ คนเดินทางไปเจรจากับจีนที่กรุงปักกิ่ง จีนได้กดดันให้ทิเบตต้องลงนามในสัญญา ๑๗ ข้อที่ฝ่ายจีนเป็นผู้เสนอในวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ สาระสำคัญของสัญญาก็คือ อำนาจทางกลาโหมและการต่างประเทศของทิเบตขึ้นตรงต่อจีน ส่วนกิจการอื่นๆนั้นทิเบตจะได้รับสิทธิในการปกครองตนเอง หลังจากนั้นจีนได้ส่งนายพลชาง ชิน - วู พร้อมด้วยกองทหารจีนไปประจำอยู่ที่กรุงลาซา ขณะเดียวกันจีนก็ผลักดันให้ทิเบตยอมรับเด็กชาวทิเบตคนหนึ่งว่าเป็นอวตารของปันเชนลามะ ผู้นำทางศาสนาที่สำคัญอีกองค์หนึ่งของทิเบต และพยายามเพิ่มอำนาจและบทบาทให้แก่ปันเชนลามะ

ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ทะไลลามะเสด็จกรุงปักกิ่ง ทรงหารือปัญหาทิเบตกับผู้นำจีน นับตั้งแต่ เหมา เจ๋อ ตุง ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน จูเต้อ รองประธานพรรค โจว เอิน ไหล นายกรัฐมนตรี และหลิว เฉา ชี ประธานาธิบดีในเวลาต่อมาของจีน จีนได้เสนอให้ตั้ง “ คณะกรรมการเตรียมการเพื่อการปกครองตนเองของทิเบต ” โดยมีกรรมการ ๕๑ คน เป็นผู้แทนจีน ๕ คน นอกนั้นเป็นชาวทิเบตทั้งหมด มีทะไลลามะทรงเป็นประธาน ปันเชนลามะกับผู้แทนจีนคนหนึ่งเป็นรองประธาน มีหน้าที่เตรียมการให้ทิเบตเป็นเขตปกครองตนเอง นอกจากนี้ทะไลลามะทรงได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมรัฐสภาของจีนด้วย และในระหว่างที่ประทับอยู่ที่กรุงปักกิ่งพระองค์ทรงได้พบกับ เนห์รู นายกรัฐมนตรีของอินเดียเป็นครั้งแรก

ครั้นเสด็จกลับถึงกรุงลาซา รัฐบาลจีนได้ส่งนายพลเชนยี รองนายกรัฐมนตรีมาเปิดประชุม “คณะกรรมการเตรียมการเพื่อการปกครองตนเองของทิเบต ” โดยเริ่มประชุมในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๙๙ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ทำให้ชาวทิเบตบางส่วนเริ่มทำสงครามกองโจรต่อต้านกองทัพจีนในทิเบต และการรบได้ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ความตึงเครียดระหว่างทิเบตกับจีนได้เพิ่มมากขึ้น

มหาราชกุมารแห่งแคว้นสิขิมได้เสด็จกรุงลาซา เพื่อทูลเชิญทะไลลามะให้เสด็จอินเดียเพื่อร่วมฉลองงานครบรอบ ๒๕ พุทธศตวรรษ วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ รัฐบาลอินเดียได้ส่งโทรเลขถึงรัฐบาลจีน ทูลเชิญทะไลลามะและปันเชนลามะให้ไปร่วมงานฉลองในฐานะแขกของรัฐบาล อินเดีย เมื่อทะไลลามะเสด็จถึงกรุงเดลี ทรงได้พบปะกับบรรดาผู้นำอินเดีย อันมี ดร.ราเชนทร ประสาท ประธานาธิบดี ดร.ราธากฤษณัน รองประธานาธิบดี และเนห์รู นายกรัฐมนตรี ทรงหารือปัญหาทิเบตกับนายกรัฐมนตรีอินเดียอย่างจริงจัง และได้เชิญนายกรัฐมนตรีอินเดียไปเยือนกรุงลาซาในเวลาต่อมา แต่รัฐบาลจีนไม่อนุญาตโดยให้เหตุผลว่า ไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยให้ได้ในทิเบต

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ จีนได้ทูลเชิญทะไลลามะให้เสด็จดูการแสดงในค่ายทหารจีนกลางกรุงลาซา ประชาชนทิเบตได้เข้าขัดขวางเพราะเกรงว่าจีนจะจับองค์ทะไลลามะไป ในที่สุดประชาชนได้เข้าล้อมป้องกันวังนอร์บุลิงก์ อันเป็นที่ประทับของทะไลลามะในขณะนั้นไว้ จนเกิดวิกฤตการณ์ระหว่างชาวทิเบตกับทหารจีนอย่างรุนแรง วันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ ทะไลลามะทรงตัดสินพระทัยเสด็จลี้ภัยไปยังอินเดีย แม้หนทางจะยากลำบากและทุรกันดาร ภายหลังได้เกิดจลาจลอย่างขนานใหญ่ขึ้นในกรุงลาซา ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และสถานที่ต่างๆได้รับความเสียหายอย่างหนัก ทะไลลามะทรงประกาศจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นที่ป้อมลุนด์เสด์ซอง ตำบลโซดานูบ ชายแดนทิเบต ก่อนที่จะเสด็จลี้พระองค์เข้าไปในประเทศอินเดีย

ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ทะไลลามะทรงประกาศอย่างเป็นทางการบอกเลิกสัญญา ๑๗ ข้อที่ทำไว้กับจีน ในปีเดียวกันสมาชิกสหประชาชาติ ๒ ประเทศคือ ไอร์แลนด์และมลายู ได้ยื่นข้อร้องทุกข์ของทิเบตต่อสหประชาชาติ มีการหารือกันถึงเรื่องนี้ในคณะกรรมการบริหารของสมัชชาใหญ่ ในสมัยประชุมที่ ๑๔ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ และมีมติสนับสนุนข้อเรียกร้องของทิเบต ต่อมาประเทศไทยและมลายูเป็นผู้นำเสนอญัตตินี้อีกในปีถัดมา แต่เกิดเหตุการณ์ในแอฟริกาที่สำคัญกว่า สมัชชาใหญ่จึงเลื่อนวาระการอภิปรายเรื่องทิเบตออกไปทุกวันจนสิ้นสุดสมัยการประชุม ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ นั้นเอง ทะไลลามะทรงได้รับรางวัลแมกไซไซในสาขาผู้นำชุมชน

ทะไลลามะองค์ปัจจุบันเคยเสด็จประเทศไทย ๒ ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ทรงได้รับเชิญอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลไทย และทรงได้รับการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติและอบอุ่นยิ่ง นอกจากจะได้ทรงเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะองค์เอกอัครพุทธศาสนูปถัมภกของไทยแล้ว ยังได้เสด็จเยือนพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่หลายท่านทั้งฝ่ายมหานิกายและฝ่ายธรรมยุต นับตั้งแต่สมเด็จพระญาณสังวร ท่านพุทธทาสภิกขุ และพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ครั้งที่สองพระองค์เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ทะไลลามะกลับทรงถูกปฏิเสธจากรัฐบาลไทย มิให้เข้าร่วมการประชุมนานาชาติในประเทศไทยถึง ๓ ครั้ง โดยเกรงว่าจะกระทบกระเทือนสัมพันธไมตรีกับประเทศจีน ครั้งแรกได้แก่ การประชุมเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ จัดโดยองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ครั้งที่สองการประชุมสตรีชาวพุทธนานาชาติ (ซึ่งภายหลังได้ย้ายไปจัดที่ประเทศอื่น) และครั้งที่สามได้แก่ การประชุมผู้ที่เคยได้รับรางวัลแมกไซไซ จัดโดยมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ทะไลลามะทรงได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

ภายหลังจากที่ทิเบตได้เป็นเอกราชตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๕ ถึง พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นเวลา ๓๘ ปี ในที่สุดทิเบตก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีนอีกวาระหนึ่ง และปัญหาทิเบตก็เข้าสู่สถานการณ์ของโลกปัจจุบัน การเสด็จลี้ภัยการเมืองของทะไลลามะและชาวทิเบตเป็นจำนวนมากไปอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย ทำให้พุทธศาสนาฝ่ายทิเบตเป็นที่รู้จักของชาวโลกอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และกลายเป็นคู่แข่งขันที่สำคัญของพุทธศาสนานิกายเซนในโลกตะวันตก อาจเป็นไปได้ที่ว่าต่อไปในอนาคตชุมชนทิเบตทางตอนเหนือของอินเดีย จะมีส่วนฟื้นฟูพุทธศาสนาให้กลับคืนมาสู่ภาคเหนือของอินเดีย ดินแดนที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นบ่อเกิดของพุทธศาสนา
--
NOTE :
[1] คำว่า “ ทะไลลามะ ” เป็นคำที่มาจากภาษามองโกล “ ทะไล ” แปลว่า มหาสมุทรอันกว้างใหญ่ ส่วน “ ลามะ ” หมายถึง ผู้มีความรู้ความชำนาญในพุทธศาสนา มองโกล จีน และฝรั่งนิยมเรียกชื่อนี้ โดยที่ฝรั่งออกเสียงเพี้ยนไปเป็น “ ดาไลลามะ ” (Dalai Lama) ทิเบตเองกลับเรียกว่า “ เกียลวา รินโปเช่ ” (Gyalwa Rinpoche) แต่ปัจจุบันก็เรียก “ ทะไลลามะ ” ตามที่รู้จักกันในทางสากล

[2] ชาวทิเบตเรียกศาสนาดั้งเดิมนี้ว่า “ โพนบู ” (Ponbu)
     
Photo : https://pixabay.com/photos/tibetan-monk-buddhism-meditation-4691169/

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo