หลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนานั้น สามารถสรุปลงด้วยคำจำกัดความสั้น ๆ ได้คือ "ความไม่ประมาท" หรือ "อัปปมาทะ" คือ ความเป็นอยู่อย่างไม่ขาดสติ หรือความเพียรที่มีสติเป็นเครื่องเร่งเร้าและควบคุม ได้แก่ การดำเนินชีวิตโดยมีสติเป็นเครื่องกำกับความประพฤติปฏิบัติและการกระทำทุกอย่าง ระมัดระวังตัว ไม่ยอมถลำลงไปในทางเสื่อม แต่ไม่ยอมพลาดโอกาสสำหรับความดีงามและความเจริญก้าวหน้า ตระหนักในสิ่งที่พึงกระทำและพึงระเว้น ใส่ใจสำนึกอยู่เสมอในหน้าที่อันจะต้องรับผิดชอบ ไม่ยอมปล่อยปละละเลย กระทำการด้วยความจริงจัง รอบคอบและรุดหน้าเรื่อยไป (พระเทพเวที, ๒๕๓๕: ๖๗ - ๘.) เพราะความไม่ประมาทเป็นที่รวมแห่งกุศลกรรมความดีทั้งหลาย พระพุทธเจ้าทางเน้นหลักธรรมนี้เพื่อให้บรรลุประโยชน์ทั้งหลาย
พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักธรรมสำหรับการดำเนินชีวิตไว้มากมายหลายตามระดับความสามารถของผู้ปฏิบัติ อย่างไรก็ตามหลักปฏิบัติที่ต่างกันนั้นล้วนมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ การพัฒนาชีวิตของแต่ละปัจเจกบุคคลให้เจริญก้าวหน้าขึ้น ซึ่งหลักธรรมข้อหนึ่งซึ่งกล่าวถึงการไปสู่จุดหมายของชีวิตนั้น คือ "อรรถะ ๓" หรือ "อัตถะ"
"อรรถะ" หรือ "อัตถะ" คือ ประโยชน์ที่เป็นจุดหมาย หรือจุดหมายของชีวิต หมายถึงจุดหมายของพรหมจรรย์ หรือจริยธรรม หรือระบบการดำเนินชีวิต และการปฏิบัติธรรมของพระพุทธศาสนา
เป็นที่ทราบกันดีว่า จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาหรือพรหมจริยะนั้นคือ "พระนิพพาน" ซึ่งมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า "ปรมัตถ์" หรือ "ปรมัตถะ" แปลว่า ประโยชน์อย่างยิ่งหรือจุดหมายสูงสุด ซึ่งในการสอนธรรมของพระพุทธศาสนานั้นจะเน้นการปฏิบัติเพื่อบรรลุจุดหมายสูงสุด ในพระไตรปิฎกพระพุทธเจ้าได้ทรงแบ่ง "อรรถะ" หรือจุดหมายนี้ไว้ ๒ ระดับ คือ
๑. ประโยชน์ขั้นต้น เรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ แปลว่า ประโยชน์ปัจจุบัน หรือประโยชน์บัดนี้
๒. ประโยชน์ขั้นล้ำลึก เรียกว่า สัมปรายิกัตถะ แปลว่า ประโยชน์เบื้องหน้าหรือเบื้องสูง
"ปรมัตถะ" นั้นถูกรวมอยู่ในสัมปรายิกัตถะด้วย เพราะปรมัตถะเป็นส่วนที่สูงสุดของสัมปรายิกัตถะ ดังนั้นเพื่อให้เห็นเด่นชัดจึงแยกปรมัตถะออกมาเป็นอีกระดับหนึ่ง ดังจะให้ความหมายโดยสรุปของทิฏฐธัมมิกัตถะ สัมปรายิกัตถะ และปรมัตถะ ดังนี้
๑. ทิฏฐธัมมิกัตถะ คือประโยชน์บัดนี้ประโยชน์ชีวิตนี้หรือประโยชน์ปัจจุบัน อันเป็นจุดหมายขั้นต้น หรือจุดหมายเฉพาะหน้า อันเป็นประโยชน์อย่างที่เห็นกันอยู่ ที่เข้าใจได้ง่ายในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่มุ่งหมายกันในโลกนี้ ได้แก่ ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ ทรัพย์สิน ฐานะ ไมตรี และชีวิตคู่ครองที่เป็นสุข เป็นต้น รวมถึงการแสวงหาสิ่งเหล่านี้โดยชอบธรรม หรือการปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้โดยทางที่ถูกต้อง การใช้สิ่งเหล่านี้ทำให้ตนเองและบุคคลที่เกี่ยวข้องสามารถอยู่ร่วมกันด้วยดี และปฏิบัติหน้าที่ต่อกันอย่างถูกต้องในระหว่างเพื่อนมนุษย์เพื่อความสุข
องค์ประกอบของทิฏฐธัมมิกัตถะประโยชน์มี ๔ ประการ คือ
(๑.) อุฏฐานสัมปทา ความขยันหมั่นเพียร รู้จักใช้ปัญญาดำเนินกิจการ
(๒.) อารักขสัมปทา รู้จักเก็บรักษาทรัพย์สินและผลแห่งกิจการงานให้รอดพ้นอันตรายไม่เสื่อมเสีย
(๓.) กัลยาณมิตตตา รู้จักเสวนาคบหาคนดีที่เกื้อกูลแก่การงาน และความก้าวหน้าของชีวิต
(๔.) สมชีวิตา รู้จักเลี้ยงชีวิตแต่พอดีให้มีความสุขได้โดยไม่สุรุ่ยสุร่ายฟุ่มเฟือย สามารถประหยัดทรัพย์ไว้ให้เพิ่มพูนขึ้นได้
หลักธรรมทั้ง ๔ ประการนี้จัดเป็นหลักธรรมที่สำคัญ สำหรับสร้างฐานะให้มีความมั่นคง อันเป็นจุดมุ่งหมายขั้นพื้นฐานของมนุษย์ กล่าวคือ การตั้งตัวมีหลักฐานมั่นคง ซึ่งการตั้งตัวนั้นสิ่งที่สำคัญคืออยู่ที่มีการมีทรัพย์ และหลักธรรมทั้ง ๔ ประการนี้สามารถอำนวยประโยชน์โดยตรงให้แก่ ผู้ที่ปฏิบัติตามได้
๒. สัมปรายิกัตถะ คือ ประโยชน์เบื้องหน้าหรือประโยชน์ที่ลึกล้ำยิ่งกว่าจะมองเห็นกันเฉพาะหน้า อันเกี่ยวเนื่องกับชีวิตด้านใน หรือเป็นประโยชน์ด้านคุณค่าของชีวิต อันเป็นจุดหมายขั้นสูงขึ้นไปเพื่อเป็นหลักประกันชีวิตเมื่อละโลกนี้ไป เป้าหมายในระดับสัมปรายิกัตถะนี้ ได้แก่ ความเจริญงอกงามแห่งชีวิตจิตใจที่ก้าวหน้าเจริญเติบใหญ่ขึ้นด้วยคุณธรรม ความใฝ่ใจในศีลธรรม ในเรื่องบุญกุศล ในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม อาศัยศรัทธา ความเสียสละ การมีความมั่นใจในคุณธรรม มีความสงบสุขทางจิตใจ การรู้จักปีติสุข รักคุณภาพชีวิตและความเจริญงอกงามของจิตใจ คลายความยึดติดผูกพันในวัตถุ ไม่ตีค่าผลประโยชน์สูงเกินไปจนต้องไขว่คว้าอันนำมาซึ่งเหตุของการกระทำความชั่วร้าย
องค์ประกอบของสัมปรายิกัตถะประโยชน์มี ๔ ประการ คือ
(๑.) ศรัทธาสัมปทา ความเชื่ออันประกอบด้วยเหตุผล ถูกหลักพระพุทธศาสนาทราบซึ้งในคุณ พระรัตนตรัย มีสิ่งดีงามเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ
(๒.) ศีลสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยศีล มีความประพฤติดีงาม เลี้ยงชีพโดยทางสุจริต มีระเบียบวินัยสมควรแก่ภาวะแห่งการดำเนินชีวิตของตน
(๓.) จาคสัมปทา ความเสียสละ รู้จักเผื่อแผ่แบ่งปัน พร้อมที่จะช่วยเหลือคนที่ควรได้รับ การช่วยเหลือ
(๔.) ปัญญาสัมปทา การดำเนินชีวิตด้วยปัญญา รู้จักคิด รู้จักพิจารณา ใช้วิจารณญาณ รู้เท่าทันโลกและชีวิต สามารถทำจิตใจให้เป็นอิสระได้ตามโอกาส
๓. ปรมัตถะ คือ ประโยชน์อย่างยิ่งยวดหรือประโยชน์ที่เป็นสาระแท้จริงของชีวิต อันเป็นจุดหมายสูงสุด หรือที่หมายขั้นสุดท้าย ได้แก ่การรู้แจ้งสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง รู้เท่าทันคติธรรมดาของสังขารธรรม ไม่ตกเป็นทาสของโลกและชีวิต มีจิตใจเป็นอิสระโปร่งโล่งผ่องใส ไม่ถูกบีบคั้นด้วยความยึดติดถือมั่นหวาดหวั่นของตนเอง ปราศจากกิเลสที่ทำให้เศร้าหมองขุ่นมัว อยู่อย่างไร้ทุกข์ ประจักษ์แจ้งความสุขที่สะอาดบริสุทธิ์สิ้นเชิง อันประกอบพร้อมด้วยความสงบเยือกเย็นสว่างไสวเบิกบานโดยสมบูรณ์ เรียกว่า "วิมุตติ" หรือ "นิพพาน"พระพุทธเจ้าทรงยอมรับความสำคัญของประโยชน์ หรือจุดหมายเหล่านี้ทุกระดับ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับระดับความเป็นอยู่ การครองชีพ สภาพแวดล้อม และความพร้อม หรือความแก่กล้าสุกงอมแห่งอินทรีย์ของปัจเจกบุคคล ดังพุทธพจน์ความว่า "บุคคลผู้ปรารถนาโภคะอันโอฬารต่อๆ ไป พึงบำเพ็ญความ ไม่ประมาท บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญความไม่ประมาท ในบุญกิริยาทั้งหลาย บัณฑิตผู้ไม่ประมาทย่อมยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้ง ๒ คือประโยชน์ภพนี้ และประโยชน์ภพหน้า เพราะยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ ผู้มีปัญญาจึงได้นามว่า "บัณฑิต" ฯ" (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ๑๕ / ๓๘๕ / ๑๑๑.) นอกจากนี้ พระพุทธเจ้าทรงกล่าวสำทับว่า ตามคติพระพุทธศาสนา บุคคลควรดำเนินชีวิตให้บรรลุจุดหมายอย่างน้อยถึงขั้นสัมปรายิกัตถะ กล่าวคือ เมื่อบรรลุทิฏฐธัมมิกัตถะแล้วก็ดีอยู่ แต่ยังไม่เพียงพอ หรือไม่ควรหยุดอยู่เพียงแค่นั้น ควรก้าวต่อไปให้ได้อย่างน้อยในส่วนของสัมปรายิกัตถะด้วย และผู้ใดประสบจุดหมายหรือประโยชน์ถึงประโยชน์ในขั้นสัมปรายิกัตถะนี้แล้ว พระพุทธเจ้าทรงยกย่องให้เป็น "บัณฑิต" (บัณฑิต แปลว่า ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา เป็นผู้มีชีวิตไม่ว่างเปล่าไร้ค่าในโลกนี้)
พระพุทธเจ้าทรงเน้นหลักธรรมที่จะให้บรรลุประโยชน์ทั้งหลายอีกแนวทางหนึ่ง คือ ทรงย้ำอัปปมาทธรรม อันได้แก่ ความไม่ประมาท ไม่เพิกเฉย ละเลย หรือความเอาใจใส่ กระตือรือร้น ขวนขวาย ความเตรียมพร้อม ระวัง ทำสิ่งที่ควรทำ แก้ไขสิ่งที่ควรแก้ไขปรับปรุง ประกอบกรรมที่ดีงาม โดยถือว่าอัปปมาทธรรมนั้นเป็นคุณธรรมพื้นฐานหรือหลักใหญ่ที่จะให้บรรลุประโยชน์ ทั้งที่เป็นทิฏฐธัมมิกัตถะและสัมปรายิกัตถะ (พระธรรมปิฎก, ๒๕๔๑: ๕๙๖.)
หลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนานั้น สามารถสรุปลงด้วยคำจำกัดความสั้น ๆ ได้คือ "ความไม่ประมาท" หรือ "อัปปมาทะ" คือ ความเป็นอยู่อย่างไม่ขาดสติ หรือความเพียรที่มีสติเป็นเครื่องเร่งเร้าและควบคุม ได้แก่ การดำเนินชีวิตโดยมีสติเป็นเครื่องกำกับความประพฤติปฏิบัติและการกระทำทุกอย่าง ระมัดระวังตัว ไม่ยอมถลำลงไปในทางเสื่อม แต่ไม่ยอมพลาดโอกาสสำหรับความดีงามและความเจริญก้าวหน้า ตระหนักในสิ่งที่พึงกระทำและพึงระเว้น ใส่ใจสำนึกอยู่เสมอในหน้าที่อันจะต้องรับผิดชอบ ไม่ยอมปล่อยปละละเลย กระทำการด้วยความจริงจัง รอบคอบและรุดหน้าเรื่อยไป (พระเทพเวที, ๒๕๓๕: ๖๗ - ๘.) เพราะความไม่ประมาทเป็นที่รวมแห่งกุศลกรรมความดีทั้งหลาย พระพุทธเจ้าทางเน้นหลักธรรมนี้เพื่อให้บรรลุประโยชน์ทั้งหลาย
---
บรรณานุกรม
กรมการศาสนา. (๒๕๒๕). พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑-๔๕. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา.
เทพเวที, พระ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). (๒๕๓๕). พจนานุกรมพุทธศาสตร์. (พิมพ์ครั้งที่ ๗). กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.ธรรมปิฎก.
ธรรมปิฎก, พระ (ป.อ.ปยุตฺโต). (๒๕๔๑). พุทธธรรม. (พิมพ์ครั้งที่ ๘). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.
________. (๒๕๔๓). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. (พิมพ์ครั้งที่ ๙). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.
มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์. (๒๕๓๗). พระสูตร และอรรถกถา, แปล. (พิมพ์ครั้งที่ ๓). กรุงเทพฯ. (มหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ พิมพ์เนื่องในโอกาสครบ ๒๐๐ ปี แห่งพระราชวงศ์จักรี กรุงรัตนโกสินทร์ พุทธศักราช ๒๕๒๕).
เมธีธรรมาภรณ์, พระ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต). (๒๕๓๕). พุทธศาสนากับปรัชญา. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.
ราชบัณฑิตยสถาน. (๒๕๓๙). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (พิมพ์ครั้งที่ ๖). กรุงเทพฯ: บริษัท อักษรเจริญทัศน์ จำกัด.
ราชบัณฑิตยสถาน. (๒๕๔๐). พจนานุกรมศัพท์ปรัชญา อังกฤษ - ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถา น. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน.
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, สำนัก. สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์แห่งชาติ. (๒๕๓๙). คำถาม-คำตอบเกี่ยวกับพุทธศาสนา เล่ม ๑-๒. กรุงเทพฯ.
สมพงษ์ จิวะนนท์. พุทธศาสนิก. (๒๕๓๗). พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพฯ : สารมวลชน.
สุชีพ ปุญญานุภาพ. (๒๕๓๙). พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน. (พิมพ์ครั้งที่ ๑๖). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์.