อัมเบดการ์ พุทธศาสนากับสิทธิมนุษยชน

ดร.อัมเบดการ์เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิของคนวรรณะต่ำและคนนอกวรรณะในอินเดีย)นักต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดีย และบุคคลแรกในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่นำพุทธศาสนากลับคืนสู่ประเทศอินเดีย ท่านเห็นว่าถ้าอินเดียจะปฏิรูปสังคมโดยการยกเลิกระบบวรรณะ การนำพุทธศาสนากลับคืนสู่อินเดียเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่ง ผลจากการต่อสู้และอุทิศตัวของท่าน ทำให้ปัจจุบันมีชาวพุทธเกิดขึ้นในอินเดียแล้วกว่า 50 ล้านคน และพุทธศาสนาก็กำลังเติบโตขึ้นในอินเดีย แผ่นดินอันเป็นแหล่งกำเนิดของพุทธศาสนา 
  

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
ภาควิชามนุษยศาสตร์ 
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยมหิดล

พุทธศาสนาเกิดขึ้นในท่ามกลาง"วัฒนธรรมพราหมณ์"ของอินเดียซึ่งนอกจากจะเป็น "สังคมที่มีเพศชายเป็นใหญ่" (Patriarchy) แล้ว ยังมี"การแบ่งชั้นวรรณะ"(Caste System) กันอย่างโจ่งแจ้งอีกด้วย พระพุทธเจ้านอกจากจะดำรงสถานะ "ศาสดา" หรือผู้นำทางศาสนาแล้ว พระองค์ยังทรงเป็นนักปฏิรูปสังคมคนสำคัญของอินเดียอีกด้วย สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงต่อสู้ให้แก่สังคมอินเดียในสมัยของพระองค์นั้นได้แก่ประเด็นเรื่อง "สิทธิมนุษยชน" (Human Rights) และ "สิทธิสตรี" (Women's Rights)

"การแบ่งชั้นวรรณะ"ด้วยชาติกำเนิดในอินเดียนั้นถือเป็นการละเมิด "สิทธิมนุษยชน"ในขั้นพื้นฐาน มูลเหตุของการเกิดระบบชั้นวรรณะในอินเดียน่าจะมาจากเหตุผลทางประวัติศาสตร์และการเหยียดเชื้อชาติ ในอดีตแผ่นดินอินเดียเป็นถิ่นที่อยู่ของชนพื้นเมืองที่เรียกว่า"ดราวิเดียน" (Dravidian) ดราวิเดียนเป็นคนในกลุ่ม "มองโกลลอยด์" (Mongoloid) และได้สร้างวัฒนธรรมที่รุ่งเรืองในแผ่นดินอินเดียมาช้านาน ต่อมามีชนอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า "อารยัน" (Aryan) ซึ่งเป็นคนในกลุ่ม "โคเคซอยด์" (Caucasoid) มีบรรพบุรุษร่วมกับชาวยุโรป ได้ค่อยๆ อพยพเข้ามาในทวีปเอเชียกระทั่งถึงแผ่นดินอินเดีย

ชาว "อารยัน"เป็นชนเผ่าเร่ร่อนจึงมีฝีมือในการรบพุ่งมากกว่าชาว "ดราวิเดียน" ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองปักหลักอยู่กับที่ (ในสมัยโบราณชนเผ่าเร่ร่อนเมื่ออพยพก็ต้องต่อสู้กับเจ้าของพื้นที่อยู่เนืองๆทำให้มีประสบการณ์ในการรบมากกว่า)ในที่สุดชาว "อารยัน"เป็นฝ่ายชนะสงครามและได้จับชาว "ดราวิเดียน"ลงเป็นข้าทาสสังคมจึงได้แบ่งเป็นสองชนชั้นระหว่าง"อารยัน" กับ "ดราวิเดียน"ต่อมาในหมู่ชาว"อารยัน" ด้วยกันเองก็มีการแบ่งชนชั้นออกไปอีก และเมื่อเกิดศาสนาพราหมณ์ขึ้นในอินเดีย ระบบชนชั้นก็เริ่มชัดเจนขึ้นกลายเป็น "วรรณะสี่"อันมีพราหมณ์ กษัตริย์แพศย์ (เชื้อสาย "อารยัน") และศูทร (เชื้อสาย "ดราวิเดียน")

"ระบบวรรณะ"ในอินเดียจึงมีมูลเหตุมาจากการสงครามและการเหยียดเชื้อชาติ ต่อมาศาสนาพราหมณ์ได้เข้ามาสร้างความชอบธรรมให้ในภายหลัง โดยการอธิบายเชื่อมต่อในเชิงเทพนิยายว่า วรรณะ"พราหมณ์" "กษัตริย์""แพศย์"และ "ศูทร"เกิดจากปาก หน้าอก ท้อง และเท้าของพระพรหม ("พระเจ้าผู้สร้าง" ในศาสนาพราหมณ์) ตามลำดับ วรรณะในอินเดียนั้นแบ่งโดยชาติกำเนิด ในชั่วชีวิตของคนคนหนึ่งนั้นไม่อาจจะเปลี่ยนวรรณะได้ และการแต่งงานข้ามวรรณะนั้นถือเป็นเรื่องเสียหายร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างวรรณะที่เป็นเชื้อสาย "อารยัน"(พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์) กับเชื้อสาย"ดราวิเดียน" (ศูทร) ลูกที่ออกมาจะถูกประณามว่าเป็น "จัณฑาล" (Untouchable) คนนอกวรรณะที่ไม่มีใครอยากคบค้าสมาคมด้วย

พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในอินเดียท่ามกลาง "ระบบวรรณะ"ที่หยั่งรากลึก แม้พระองค์จะทรงอยู่ในวรรณะ"กษัตริย์" (ปัจจุบันวรรณะ "กษัตริย์" มิได้หมายเพียงถึงสมาชิกในราชวงศ์เท่านั้นแต่หมายรวมถึงประชากรอินเดียหลายล้านคนที่ประกอบอาชีพด้านการปกครองเป็นหลักใหญ่ เช่น ข้าราชการ ทหารตำรวจ เป็นต้น) แต่พระพุทธเจ้าทรงไม่เห็นด้วยกับการแบ่งชั้นวรรณะ จึงทรงยกเลิก "ระบบวรรณะ" ในคณะสงฆ์ทั้งหมด โดยตรัสว่า "คนจะดีหรือชั่วมิใช่อยู่ที่ชาติกำเนิดแต่อยู่ที่กรรม (การกระทำ)"และทรงใช้ระบบ"อาวุโสโดยพรรษา"แทน เช่น ภิกษุที่เพิ่งบวช (แม้มาจากวรรณะพราหมณ์) ต้องแสดงคารวะก่อนต่อภิกษุที่บวชมานานกว่า (แม้มาจากจัณฑาล) เป็นต้น พระพุทธเจ้าจึงทรงได้ชื่อว่าเป็นนักต่อสู้เพื่อ "สิทธิมนุษยชน"และพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ปกป้อง"สิทธิมนุษยชน"เรื่องนี้เองได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ ดร.อัมเบดการ์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวอินเดียในยุคหลัง

ดร.บี อาร์อัมเบดการ์ (Dr.B.R.Ambedkar) (พ.ศ.2434-2499 หรือ ค.ศ.1891-1956) เกิดในตระกูลนอกวรรณะ (จัณฑาล) ได้รับการดูถูกดูแคลน เหยียดหยาม และกดขี่ ตลอดชั่วชีวิตของท่าน แต่ด้วยความอดทนและมานะอุตสาหะ ท่านได้พากเพียรพยายามเรียนหนังสืออย่างดีที่สุดและด้วยความช่วยเหลือของครูวรรณะพราหมณ์คนหนึ่ง ท่านจึงได้ใช้นามสกุล"อัมเบดการ์"เพื่ออำพรางความเป็นคนนอกวรรณะของท่าน ต่อมาท่านได้ทุนการศึกษาจากมหาราชาแห่งแคว้นบาโรดาให้ไปศึกษาต่อยังประเทศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญ ญาเอกทั้งด้านเศรษฐศาสตร์และนิติศาสตร์ หลังจากนั้นท่านได้กลับประเทศอินเดียเพื่อว่าความให้แก่คนวรรณะต่ำและคนนอกวรรณะที่ถูกกดขี่ จนกระทั่งท่านกลายเป็นผู้นำของคนทั้งในและนอกวรรณะท่ามกลางบรรยากาศการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดียจากอังกฤษในยุคอาณานิคม กลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสำคัญมีอยู่ 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ มหาตมะ คานธีซึ่งเรียกร้องเอกราชด้วยหลัก"อหิงสา"(สันติวิธี) แต่ต้องการคงระบบวรรณะไว้โดยเห็นว่าวรรณะเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมอินเดีย กลุ่มที่สองคือ สันนิบาตมุสลิม ซึ่งต้องการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษและแบ่งแยกดินแดนเพื่อตั้งรัฐอิสลาม และกลุ่มที่สามคือ ดร.อัมเบดการ์ ซึ่งต้องการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษพร้อมๆ ไปกับการยกเลิกระบบวรรณะ และไม่ต้องการให้อินเดียแบ่งแยกประเทศ

ความคิดเห็นที่แตกต่างอีกประการหนึ่งระหว่าง มหาตมะ คานธีและดร.อัมเบดการ์ก็คือ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง มหาตมะ คานธี ต้องการให้อินเดียไปเข้ากับฝ่ายอักษะ (เยอรมนี) โดยให้เหตุผลว่าอินเดียเคยอยู่ข้างอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่เมื่อสิ้นสุดสงครามอังกฤษกลับไม่ได้ให้เอกราขแก่อินเดีย ส่วน ดร.อัมเบดการ์ต้องการให้ อินเดียอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร (อังกฤษ) ต่อไป เพราะเห็นว่าสงครามครั้งนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายเผด็จการฟาสซิสต์ (เยอรมนี) และฝ่ายเสรีประชาธิปไตย (อังกฤษ) หากปล่อยให้เผด็จการฟาสซิสต์เป็นฝ่ายชนะ อินเดียจะยิ่งถูกปกครองด้วยอำนาจเผด็จการยิ่งขึ้น

ด้วยความคิดเห็นที่แตกต่างนี้ทำให้ มหาตมะ คานธี ไปร่วมมือกับสันนิบาตมุสลิม เพื่อต่อต้าน ดร.อัมเบดการ์ ในปี พ.ศ.2475 (ค.ศ.1932) นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้อนุญาตให้มีผู้แทนจากชนกลุ่มน้อยต่างๆ ในอินเดีย รวมทั้งคริสเตียน มุสลิม ซิกส์ ชาวยุโรป และคนนอกวรรณะ มหาตมะคานธี ได้อดอาหารประท้วงมิให้คนนอกวรรณะแยกตัวออกไปมีผู้แทนของตนทำให้ ดร.อัมเบดการ์ ต้องประนีประนอมเพื่อเห็นแก่ชีวิตของมหาตมะ คานธี ภายหลังเมื่อไม่สามารถยกเลิกระบบวรรณะในสังคมฮินดูได้สำเร็จ ดร.อัมเบดการ์ จึงพาประชาชนอินเดียในวรรณะศูทรและจัณฑาลนับล้านคน ประกาศลาออกจากความเป็นศาสนิกในศาสนาฮินดู และเข้ารับนับถือพุทธศาสนาโดยการปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ เมื่ออังกฤษได้คืนเอกราชแก่อินเดียแล้ว สันนิบาตมุสลิมซึ่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการแบ่งแยกดินแดน (โดยมหาตมะ คานธี มิได้คัดค้านมาตั้งแต่ต้น) ก็ได้ประกาศแยกดินแดนไปตั้งเป็นประเทศใหม่ที่ชื่อว่า "ปากีสถาน"ท่ามกลางการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างสับสนโกลาหลของประชาชนทั้งชาวฮินดูและมุสลิม มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นจำนวนมากมหาตมะ คานธี เองก็เสียใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น อีก 5 เดือนต่อมาท่านก็ถูกลอบสังหารโดยชาวฮินดูที่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการที่ประเทศต้องถูกแบ่งแยกออกไป

รัฐบาลชุดแรกของอินเดียซึ่งมีเยาวะหราล เนรูห์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เชิญ ดร.อัมเบดการ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนแรก ดร.อัมเบดการ์ได้แสดงบทบาทความเป็นผู้นำ โดยนอกจากท่านจะเป็นผู้ออกแบบธงชาติอินเดีย ซึ่งมี "ธรรมจักร"ในพุทธศาสนาอยู่ตรงกลาง และตราสัญญลักษณ์ของรัฐบาลอินเดียที่เป็น "สิงห์สี่หน้า"บนเสาหินแห่งพระเจ้าอโศกมหาราช(ผู้เผยแผ่พุทธศาสนาทั้งในอินเดียและดินแดนต่างๆ ในทวีปเอเชีย) แล้ว ดร.อัมเบดการ์ ยังเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญของอินเดียที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญคือคนทั้งในและนอกวรรณะ รวมทั้งสตรีมีสิทธิเสรีภาพเสมอกัน (ธรรมเนียมการแบ่งชั้นวรรณะที่ชาวฮินดูยึดถือกันจนถึงปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ) ทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ดร.อัมเบดการ์เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิของคนวรรณะต่ำและคนนอกวรรณะในอินเดีย)นักต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดีย และบุคคลแรกในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่นำพุทธศาสนากลับคืนสู่ประเทศอินเดีย ท่านเห็นว่าถ้าอินเดียจะปฏิรูปสังคมโดยการยกเลิกระบบวรรณะ การนำพุทธศาสนากลับคืนสู่อินเดียเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่ง ผลจากการต่อสู้และอุทิศตัวของท่าน ทำให้ปัจจุบันมีชาวพุทธเกิดขึ้นในอินเดียแล้วกว่า 50 ล้านคน(หรือกว่าร้อยละ 5 ของประชากรอินเดียทั้งหมด) และพุทธศาสนาก็กำลังเติบโตขึ้นในอินเดีย แผ่นดินอันเป็นแหล่งกำเนิดของพุทธศาสนา
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 11355. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6.

Photo : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/c/c3/Dr._Bhimrao_Ambedkar.jpg

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo