พุทธศาสนากับสิทธิสตรี

การฟื้นฟูสถาบันภิกษุณีดังกล่าวนี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนและด้อยโอกาสของผู้หญิงจำนวนมหาศาลในสังคมไทยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องโสเภณีและการใช้แรงงานเด็ก เพราะเมื่อเด็กผู้หญิงที่ยากจนในชนบทมีทางออกที่ดีกว่าแล้ว โอกาสที่จะไปเป็นโสเภณีหรือถูกบังคับให้ขายแรงงานตั้งแต่อายุยังน้อยก็ย่อมจะลดน้อยลงไปด้วย อีกประการหนึ่งการที่ผู้หญิงได้ปกครองผู้หญิงด้วยกันเองในองค์กรทางศาสนา กล่าวคือในสถาบัน “ ภิกษุณี ” นั้น ทำให้โอกาสที่ผู้หญิงหรือเด็กสาวจะตกเป็นเหยื่อทางกามารมณ์ของเจ้าสำนักหรือเจ้าอาวาสเพศชายนั้น ลดน้อยลงไปหรืออาจจะหมดไปได้ในที่สุด

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
ภาควิชามนุษยศาสตร์ 
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยมหิดล

คำสอนของศาสนาที่สำคัญของโลกส่วนใหญ่ จะมีพื้นฐานที่ให้สิทธิความเสมอภาคระหว่างเพศชายกับเพศหญิง ในพุทธศาสนาผู้ชายกับผู้หญิงมีธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะเหมือนกัน และผู้หญิงก็สามารถบรรลุธรรมที่สูงสุดได้เช่นเดียวกับผู้ชาย อย่างไรก็ตามเนื่องจากอคติของเพศชาย ศาสนาในระดับสถาบันได้กีดกันผู้หญิงอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน สถาบันภิกษุณีซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนอารยธรรมอินเดียในยุคที่รุ่งเรืองสูงสุด มิได้รับโอกาสให้ดำรงอยู่ในสังคมไทย จะมีก็แต่เพียงแม่ชีซึ่งมีสถานะทางสังคมตกต่ำยิ่งกว่าผู้หญิงธรรมดาเสียอีก จำนวนของโสเภณีและความยากจนของผู้หญิงที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทย ส่วนหนึ่งมาจากการขาดสถาบันทางศาสนาที่มีเกียรติและศักดิ์ศรีของเพศหญิง อย่างเช่นสถาบันภิกษุณี อันจะส่งเสริมผู้หญิงในทางจิตใจ และให้โอกาสแก่ผู้หญิงในทางสังคมเพื่อชีวิตที่ดีกว่า สถานะและบทบาทของสตรีจากมุมมองทางศาสนา วัฒนธรรม และสังคมการเมือง จะได้รับการสำรวจและวิเคราะห์ในบทความนี้ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่าสถาบันภิกษุณี (หลังจากการเดินทางอันยาวนานมากว่า 2,500 ปี เพิ่งจะเริ่มต้นมาถึงประเทศไทย) จะสามารถยกสถานะของสตรี และช่วยแก้ปัญหาโสเภณีกับความยากจนของผู้หญิงได้อย่างไร 


1 . ผู้หญิงจากทรรศนะทางศาสนา

ในยุคสมัยของเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อประมาณ 2,500 กว่าปีที่ผ่านมา สถานะของผู้หญิงใน อินเดีย (ซึ่งก็เช่นเดียวกับในสังคม “อารยะ” ทั้งหลายนับตั้งแต่จีนไปจนกระทั่งถึงกรีซ) นั้นตกต่ำเป็นดุจดังทาส และทุกข์ร้อน อีกทั้งระบบวรรณะของอินเดียก็แข็งกร้าวและฝังรากลึก พระพุทธเจ้าในฐานะผู้นำทางจิตใจและนักปฏิรูปสังคม ได้ทรงนำความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงมาสู่สังคมมนุษย์ ทั้งในด้านสิทธิมนุษยชนด้วยการล้มเลิกระบบวรรณะ และในด้านสิทธิสตรีด้วยการปลดปล่อยผู้หญิงให้เป็นอิสระในโลกแห่งพุทธศาสนา

ก. สถานะและบทบาทสตรีในพุทธศาสนาของอินเดีย 

ก่อนยุคพุทธกาล ลัทธิความเป็นใหญ่ของพราหมณ์ได้บั่นทอนสถานะสตรีลงเหลือเพียงคนรับใช้หรือข้าวของ ในคัมภีร์ มนูสมฤติ (หรือมานวธรรมศาสตร์) ผู้หญิงต้องถูกจองจำกับผู้ชายตลอดชีวิต ผู้หญิงถูกจำกัดให้อยู่แต่ในบ้านเพื่อรับใช้บิดาและพี่ชายหรือน้องชาย และเมื่อแต่งงานไปก็ต้องรับใช้สามี ตามคัมภีร์ มนูสมฤติ ผู้หญิงไม่มีสิทธิศึกษาพระเวท ความจงรักภักดีและการยอมสวามิภักดิ์ต่อสามีอย่างซื่อสัตย์เป็นเพียงหนทางเดียวที่จะได้รับความสุขในสวรรค์ นะยะกะ ปิยะทัสสี (Nayaka Piyadassi) พระภิกษุศรีลังกา รายงานว่า

ความซื่อสัตย์จงรักภักดีของภรรยาดังกล่าว มิได้จำกัดแต่เฉพาะในช่วงเวลาแห่งชีวิตของสามีเท่านั้น แต่ยังติดตามไปแม้ในกองฟืนแห่งการเผาศพของสามี ภรรยาอินเดียถูกคาดหมายว่า เธอควรจะติดตามสามีของเธอไปในโลกหน้า โดยการทำลายตนเองด้วยการถลาเข้าไปในเปลวไฟแห่งกองฟืนเผาศพของสามี แม้ว่าการปฏิบัติที่โหดร้ายป่าเถื่อนเหล่านี้ จะถูกยกเลิกและห้ามปรามโดยสิ้นเชิงแล้วก็ตาม ... แต่ก็เป็นสิ่งที่ชี้ถึงสถานะที่ตกต่ำของสตรีในสังคมครั้งอดีตนานโพ้น และอาจจะยังคงยึดถือกันอยู่ในบางระดับแม้ในปัจจุบัน (Piyadassi 1991, 281)

การเกิดของเด็กผู้หญิงเคยถือกันว่าเป็นความโชคร้าย ขณะเมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลกำลังทรงสนทนาอยู่กับพระพุทธเจ้านั้น พลันข่าวก็ได้มาถึงพระองค์ว่าพระมเหสีมัลลิกาได้ประสูติพระธิดา เมื่อทรงสังเกตเห็นพระเจ้าแผ่นดินโศรกเศร้า พระพุทธองค์จึงตรัสว่า

ขออย่าได้ร้อนใจเลย โอ้ พระราชา
เด็กผู้หญิงอาจจะพิสูจน์ให้เห็นว่า
เป็นผู้สืบเชื้อสายที่ดีกว่าแม้แต่ผู้ชาย
เพราะเธออาจเติบโตขึ้นมา
อย่างชาญฉลาดและมีคุณธรรม (Kindred Sayings, I: iii)

พระพุทธเจ้าทรงย้ำว่า เด็กผู้หญิงก็อาจพิสูจน์ให้เห็นว่าดีกว่าเด็กผู้ชาย โดยการมีคุณธรรม ความเฉลียวฉลาด และความน่ายกย่องนับถือ พระองค์ทรงแนะนำสาวกของพระองค์ให้ปฏิบัติต่อผู้หญิงทุกคนเหมือนกับเป็น “ มารดาหรือพี่สาวของตนเอง ” และทรงสอนฆราวาสว่า “ การเคารพมารดาและยกย่องภรรยาของตนเองเป็นสิ่งที่ประเสริฐ ” (Kabilsingh 1991, 33) พระพุทธองค์ทรงชี้ว่าผู้หญิงเป็นมารดาของผู้ชาย และไม่มีบุคคลใดที่จะประเสริฐควรแก่การเคารพยิ่งไปกว่ามารดาของตน บุตรทุกคนไม่อาจจะตอบแทนบุญคุณของมารดาได้หมด ในคัมภีร์พุทธศาสนาบางครั้งผู้หญิงถูกเรียกว่า “ มาตุคาม ” ( ชุมชนแห่งมารดา ) พระพุทธองค์ทรงสอนให้ผู้ชายปกป้องพี่สางและน้องสาว ปฏิบัติต่อภรรยาอย่างเสมอภาคและฉันมิตร และเปิดโอกาสในชีวิตให้แก่บุตรสาวเช่นเดียวกับที่ให้แก่บุตรชาย

พระพุทธเจ้าทรงประกาศว่าผู้หญิงเสมอกับผู้ชายในความสามารถที่จะบรรลุนิพพาน ผู้หญิงทุกคนมีธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ หรือศักยภาพที่จะบรรลุธรรมที่สูงสุดในตนเองเช่นเดียวกับผู้ชาย พระพุทธองค์ทรงเปรียบเทียบหนทางไปสู่ความรู้แจ้งดุจดังรถม้า โดยตรัสว่า

และไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือเป็นชาย
รถม้าก็จะรออยู่
ด้วยพาหนะชนิดเดียวกัน
ที่พวกเขาจะปรากฏในนิพพาน (Kindred Sayings, I: 45)

ในพุทธศาสนา ความแตกต่างทางเพศมิได้เป็นอุปสรรคในการบรรลุธรรมที่สูงสุดแต่อย่างใด ความก้าวหน้าและความสำเร็จทั้งปวง ทั้งระดับโลกียธรรมและโลกุตตรธรรม ล้วนอยู่ในความสามารถของผู้หญิงที่จะบรรลุถึงได้ทั้งสิ้น 

ข. ภิกษุณีสงฆ์ : สถาบันนักบวชหญิงแห่งแรกของโลก

การตั้งภิกษุณีสงฆ์โดยพระพุทธเจ้าเมื่อกว่า 2,500 ปีมาแล้วนั้น นับเป็นความริเริ่มอย่างใหม่ เป็นการยอมรับสตรีว่ามีธรรมชาติแห่งภูมิธรรมอันสูงส่ง ความเข้มแข็งทางจริยธรรม และความสามารถทางสติปัญญาเสมอเหมือนผู้ชาย ตามทรรศนะของปิยะทัสสี (Piyadassi) เหตุการณ์นี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์สองประการ ประการแรกพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตการสถาปนาภิกษุณีสงฆ์ในช่วงเวลาและสถานที่ในประวัติศาสตร์ ที่ซึ่งผู้หญิงถูกบีบคั้นกดดันให้อยู่ในสถานะที่ต่ำต้อยและไร้เกียรติในสังคม ประการที่สองแม้ว่าระบบศาสนาอื่นจะเจริญรุ่งเรืองอยู่ในอินเดียนับตั้งแต่สมัยนั้นจนกระทั่งถึงบัดนี้ แต่ศาสนาอื่นเหล่านั้นก็ไม่ปรากฏว่ามีสถาบันนักบวชหญิงแต่อย่างใด

อังคุตตรนิกายได้บันทึกเรื่องราวของสตรีในพุทธศาสนาไว้อย่างรอบด้าน ทั้งภิกษุณีและอุบาสิกา ผู้ซึ่งทำงานอย่างอุทิศตนไม่เพียงแต่ในฐานะสานุศิษย์เท่านั้น แต่ยังในฐานะธรรมาจารย์อีกด้วย การออกบวชของพระนางปชาบดีโคตมีและการสถาปนาภิกษุณีสงฆ์นับเป็นเรื่องราวที่น่าประทับใจยิ่ง เป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังของความกล้าหาญและความตั้งใจอันแน่วแน่เด็ดเดี่ยว ที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะสามารถให้แก่สังคมในยุคสมัยของนางได้ นับเป็นประวัติศาสตร์อีกบทหนึ่งของการปลดปล่อยสตรีให้เป็นอิสระ

พระเจ้าสุทโธทนะซึ่งทรงปกครองชาวศากยะ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ได้อภิเษกสมรสกับทั้งพระนางสิริมหามายาและพระนางปชาบดีซึ่งเป็นน้องสาว การอภิเษกสมรสในลักษณะเช่นนี้มิได้ขัดแย้งกับราชประเพณีในยุคนั้นแต่อย่างใด เมื่อพระนางสิริมหามายาสิ้นพระชนม์หลังจากประสูติเจ้าชายสิทธัตถะได้เพียง 7 วัน พระนางปชาบดีก็ทรงรับหน้าที่เลี้ยงดูเจ้าชายน้อย การปฏิบัติหน้าที่เช่นนี้ทำให้พระนางปชาบดีไม่เพียงแต่ได้รับความรู้สึกขอบคุณจากชาวพุทธทั่วโลกในเวลาต่อมาเท่านั้น แต่ยังทำให้เจ้าชายสิทธัตถะทรงรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณต่อพระนางอีกด้วย ครั้นพระเจ้าสุทโธทนะเสด็จสวรรคต พระนางปชาบดีทรงตัดสินพระทัยที่จะสละโลก พระนางทรงเดินเท้าด้วยความยากลำบากและยาวนานเพื่อทูลขออุปสมบทต่อพระพุทธเจ้า แต่มิได้รับอนุญาต ด้วยความรู้สึกสงสารและเห็นใจ พระอานนท์สานุศิษย์ผู้ซื่อสัตย์ของพระพุทธเจ้า จึงได้ทูลขอการอุปสมบทต่อพระพุทธเจ้าแทนพระนาง ปชาบดีถึง 3 ครั้ง แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ครั้นแล้วพระอานนท์นึกถึงอุบายได้อย่างหนึ่ง จึงทูลถามพระพุทธเจ้าว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผู้หญิงที่ออกบวชจากเรือน ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือนแล้ว และได้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของพระตถาคตเจ้า จะสามารถสำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ได้หรือไม่ ”

“ผู้หญิงสามารถบรรลุธรรมเหล่านั้นได้ ... อานนท์ ”

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าผู้หญิงสามารถบรรลุธรรมเหล่านั้นได้ ก็พระนาง ปชาบดีโคตมีทรงเคยปฏิบัติภาระกิจที่ยิ่งใหญ่ต่อพระองค์ผู้ประเสริฐ ด้วยทรงเป็นพระน้านาง ผู้เลี้ยงดู และผู้ให้นม ภายหลังการสิ้นพระชมน์ของพระมารดา พระนางทรงให้นมแก่พระองค์ผู้ประเสริฐ เหตุไฉนเล่าพระองค์ผู้เจริญจึงจะมิทรงอนุญาตให้พระนางได้ออกบวชจากเรือน ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือนแล้ว ได้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของพระตถาคตเจ้า ” (Woodward 1979, 80-1)

เมื่อทรงเผชิญกับคำอ้อนวอนที่หนักแน่นจากพระอานนท์เช่นนั้น พระพุทธเจ้าจึงประทานการอุปสมบทแก่พระนางปชาบดี โดยมีเงื่อนไขว่าพระนางจะต้องทรงรักษา “ คุรุธรรม 8 ประการ ” ซึ่งมีดังนี้

1 . ภิกษุณีแม้บวชมานาน 100 พรรษา ก็ต้องลุกขึ้นแสดงความเคารพต่อพระภิกษุ แม้บวชในวันนั้น

2 . ภิกษุณีไม่พึงจำพรรษาในที่ที่ปราศจากพระภิกษุ

3 . ทุกกึ่งเดือน ภิกษุณีพึงปรารถนา 2 ประการจากภิกษุสงฆ์ คือ วันพระและวันแสดงธรรม

4 . เมื่อออกพรรษาแล้ว ภิกษุณีพึงไถ่ถามในคณะสงฆ์ทั้งสองฝ่าย ในสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน หรือสงสัย

5 . ภิกษุณีหากต้องอาบัติ จะต้องอยู่มานัต ในสงฆ์สองฝ่ายเป็นเวลากึ่งเดือน

6 . เมื่อบวชเป็นสิกขามานาครบ 2 ปี จึงขออุปสมบทจากสงฆ์ทั้งสองฝ่าย

7 . ภิกษุณีไม่พึงว่ากล่าวพระภิกษุ

8 . ภิกษุณีไม่พึงสั่งสอนภิกษุ แต่ภิกษุพึงสั่งสอนภิกษุณีได้ (ฉัตรสุมาลย์ 2541, 18-19)

พระนางปชาบดีทรงยินดีที่จะปฏิบัติตาม ครั้นแล้วพระนางก็ทรงได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุณีรูปแรกในพุทธศาสนา นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ศาสนาของโลกที่สถาบันนักบวชหญิงได้ถูกจัดตั้งขึ้น และผู้หญิงได้รับการยอมรับในการใช้ชีวิตแบบสงฆ์ ตามบันทึกพระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า

อานนท์ ถ้าผู้หญิงมิได้รับอนุญาตให้ละบ้านเรือนออกบวช เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือน ตามพระธรรมวินัยของพระตถาคตเจ้าแล้ว ชีวิตพรหมจรรย์และพระธรรมวินัยจักดำรงอยู่ได้นานหนึ่งพันปี อานนท์ แต่บัดนี้ผู้หญิงได้รับอนุญาตให้ละบ้านเรือนออกบวช เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือน ตามพระธรรมวินัยของพระตถาคตเจ้า ชีวิตพรหมจรรย์และพระธรรมวินัยจักดำรงแพร่หลายอยู่ได้ไม่นาน เพียงห้าร้อยปีเท่านั้น อานนท์ ...

อานนท์ เปรียบเหมือนบุคคลที่สร้างฝายกั้นน้ำด้วยความระมัดระวัง เพื่อการชลประทาน เพื่อป้องกันน้ำท่วม อานนท์ เราก็ได้ตั้งคุรุธรรม 8 ด้วยความระมัดระวัง เพื่อให้ปฏิบัติสืบทอดกันจนกว่าชีวิตจะหาไม่ (Woodward 1979, 82)

หลังจากการตั้งสถาบันภิกษุณีแล้ว ผู้หญิงจำนวนมากได้เข้ามาสู่คณะสงฆ์ ตามบันทึกใน เถรีคาถา ภิกษุณีและสตรีนับพันได้บรรลุธรรมในระดับต่างๆ ในหมู่ภิกษุณีอย่างน้อยมี 13 รูปที่ได้รับการสรรเสริญจากพระพุทธเจ้า เช่น ปชาบดีโคตมีเถรี ในฐานะผู้รู้ราตรีนาน คือเป็นปฐมภิกษุณี ปฏาจราเถรี ในฐานะผู้เป็นเลิศทางพระวินัย และธัมมทินนาเถรี ในฐานะผู้เป็นเลิศทางสั่งสอนธรรม ในหมู่ฆราวาสผู้ที่ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้ามีเป็นจำนวนมาก เช่น นางวิสาขา ผู้เป็นเลิศในเรื่องทาน สามาวดี ผู้เป็นเลิศในเรื่องกรุณา และขัตติยานี ผู้เป็นเลิศในเรื่องศรัทธาที่มั่นคง ความสำเร็จในทางธรรมของสตรีเหล่านี้ ทำให้ “ พุทธบริษัท 4 “ ครบถ้วนสมบูรณ์ อันได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา

คำถามที่มักจะถามกันบ่อยก็คือ ความลังเลใจของพระพุทธเจ้าที่จะอนุญาตให้สตรีออกบวชนั้น สืบเนื่องมาจากการที่พระองค์ทรงเห็นว่าสตรีมีสถานะต่ำต้อย ไม่เหมาะสมกับหน้าที่อันสูงส่งในคณะสงฆ์หรือไม่ ตามทรรศนะของปิยะทัสสี ความลังเลใจนั้นมาจากการที่พระพุทธองค์ทรงเล็งเห็นว่า ถ้าสตรีได้รับอนุญาตให้ออกบวช เรื่องพรหมจรรย์ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นพื้นฐานของชีวิตคณะสงฆ์ก็จะได้รับผลกระทบ ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงวางกฎทั้งแปดประการเพื่อเป็นเครื่องป้องกัน

คุรุธรรม 8 มักจะถูกนักวิชาการตะวันตกหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างว่า เป็นข้อพิสูจน์ถึงอคติทางเพศของพุทธศาสนา ( จากมาตรฐานปัจจุบัน ) นับตั้งแต่การที่ภิกษุณีผู้แก่พรรษาจะต้องคารวะภิกษุแม้ที่บวชใหม่ ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่ขัดต่อระบบอาวุโสในคณะสงฆ์ จนถึงข้อกำหนดที่ว่าภิกษุณีไม่พึงสั่งสอนหรือว่ากล่าวตักเตือนภิกษุ แต่ภิกษุพึงสั่งสอนหรือว่ากล่าวตักเตือนภิกษุณีได้ ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ นักวิชาการพุทธศาสนา อธิบายตีความการตั้งกฎทั้งแปดว่า เป็นยุทธวิธีของพระพุทธเจ้าในการจัดตั้งและปกป้องคณะภิกษุณีสงฆ์ เพื่อการยอมรับในคณะสงฆ์พระพุทธเจ้าจำเป็นจะต้องให้ความมั่นใจแก่เหล่าภิกษุว่า พวกตนจะไม่มีอะไรสูญเสียในการยอมรับการมีอยู่ของภิกษุณี ดังนั้นการที่ภิกษุณียอมอยู่ใต้อาณัติของภิกษุภายใต้บรรยากาศทางสังคมในขณะนั้น อาจถือได้ว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่จะทำให้ได้รับการยอมรับและการปกป้องคุ้มครองในคณะสงฆ์ (Kabilsingh 1991, 28-9)

ตามทรรศนะของฉัตรสุมาลย์ ภิกษุณีมิได้มีขึ้นเพื่อรับใช้พระภิกษุ เมื่อเหล่าภิกษุเริ่มเอารัดเอาเปรียบจากสถานะที่เหนือกว่า และเรียกร้องให้ภิกษุณีทำงานรับใช้ตน พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติข้อห้ามขึ้น แม้ว่าคุรุธรรมข้อที่ 7 จะห้ามมิให้ภิกษุณีวิพากษ์วิจารณ์ความประพฤติของพระภิกษุ แต่อุบาสกและอุบาสิกาก็ได้รับอนุญาตให้วิพากษ์วิจารณ์ได้ ขณะเมื่อพระพุทธองค์ทรงพระชนม์อยู่นั้น อำนาจและอภิสิทธิของเพศชายในคณะสงฆ์ถูกตรวจสอบอยู่เสมอ (Kabilsingh 1991, 29)

เชื่อกันว่า คัมภีร์พระไตรปิฎกได้รับการบันทึกภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วกว่า 400 ปี นับเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความทรงจำ ศรัทธา ความเชื่อ และการตีความ มีการสังคายนาพระไตรปิฎกหลายครั้งตลอดประวัติศาสตร์ และการสังคายนาแต่ละครั้งกระทำโดยเพศชายตามลำพัง ดังน้ันข้อความบางตอนอาจถูกแต่งเติมขึ้นมาภายหลังด้วยอคติของเพศชายก็เป็นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องคุรุธรรม 8 และคำพยากรณ์ถึงความยืนยาวของพุทธศาสนา คำพยากรณ์ที่ว่าพุทธศาสนาจะยืนยาวถึง 1 , 000 ปีถ้าไม่มีสตรีเข้ามาบวช และจะลดลงเหลือเพียง 500 ปีถ้าสตรีเข้ามาบวชในคณะสงฆ์ ก็ได้รับการพิสูจน์จากประวัติศาสตร์แล้วว่าไม่เป็นความจริง

ภิกษุณีสงฆ์ในอินเดียได้รับการสืบทอดกันต่อมา จนกระทั่งถึงคริสตศตวรรษที่ 10 หรือ 11 เมื่อพุทธศาสนาของอินเดียทั้งหมดถูกอิสลามรุกราน ก่อนหน้านั้นประมาณคริสตศตวรรษที่ 3 ก่อน ค.ศ. ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช สังฆมิตตาเถรีและภิกษุณีผู้คงแก่เรียนกลุ่มหนึ่งได้เดินทางไปถึงเกาะลังกา และจัดตั้งคณะภิกษุณีขึ้นที่นั่น สถาบันภิกษุณีได้เจริญรุ่งเรืองอยู่บนเกาะลังกาเป็นเวลากว่า 1,000 ปี จนกระทั่งถึงคริสตศตวรรษที่ 11 ความยุ่งยากทางการเมืองและการรุกรานของราชวงศ์โชลา (Chola) จากอินเดียใต้ ทำให้คณะสงฆ์สูญสิ้นไปจากเกาะลังกา ภายหลังคณะสงฆ์ลังกาได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ โดยการสืบทอดจากคณะสงฆ์ไทย แต่น่าเสียดายที่ภิกษุณีสงฆ์มิได้รับการฟื้นฟูกลับคืนมาใหม่แต่อย่างใด อย่างไรก็ตามสถาบันภิกษุณีลังกาได้รับการสืบทอดไปยังประเทศจีน ภิกษุณีสงฆ์ลังกากลุ่มหนึ่งได้รับนิมนต์ให้ไปช่วยอุปสมบทแก่ผู้หญิงจีนในปี ค . ศ . 433 ภิกษุณีสงฆ์สายธรรมคุปต์ (Dharmagupta) ในฝ่ายเถรวาทนี้ ยังคงมีบทบาทอย่างสำคัญในประเทศจีนตราบจนทุกวันนี้ และยังได้สืบทอดแพร่หลายไปยังประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น และเวียตนามอีกด้วย (Kabilsingh 1991, 30-1) 


2 . ผู้หญิงจากทรรศนะทางวัฒนธรรม

เช่นเดียวกับสังคมอื่นๆ ครอบครัวอันเป็นหน่วยสังคมที่เล็กที่สุด มีบทบาทอย่างสำคัญในวัฒนธรรมไทย นักมานุษยวิทยาพยายามที่จะอธิบายระบบครอบครัวไทย แต่ก็ไม่มีคำอธิบายในเชิงโครงสร้างที่ชัดเจน ทฤษฎีที่มีอิทธิพลที่สุดได้แก่ ทฤษฎี “ โครงสร้างหลวมๆ ” (Loose Structure Theory) ของจอห์น เอมบรี (John Embree) เขาให้คำจำกัดความว่า ครอบครัวไทยมีโครงสร้างที่หลวมมากจนกระทั่ง “ การผันแปรเป็นอย่างมากของพฤติกรรมส่วนบุคคลสามารถกระทำได้ ” (Embree 1950, 4) เป็นระบบสังคมที่ค่อนข้างขาดกฎเกณฑ์ ดังนั้นรูปแบบจึงไม่ชัดเจนตามไปด้วย ความพยายามใดๆที่จะอธิบายโครงสร้างของครอบครัวไทยเป็นสิ่งที่ไร้ผล ทฤษฎีของเอมบรีมีอิทธิพลอย่างมากในทศวรรษที่ 1950 และ 1960 จนกระทั่งกลายเป็นอุปสรรคต่อการวิเคราะห์ในเชิงโครงสร้างเอง

ในปี ค.ศ. 1977 สุลามิธ ฮีอินส์ พอทเตอร์ (Sulamith Heins Potter) ได้เสนอทฤษฎี “ ผู้หญิงเป็นศูนย์กลาง ” ของระบบครอบครัวไทยขึ้น นับเป็นการผ่าทางตันจากทฤษฎีของเอมบรี พอทเตอร์ชี้ว่า โครงสร้างครอบครัวไทยภาคเหนือสามารถอธิบายได้ว่า เป็นระบบซึ่งการสืบสายนั้นผ่านทางผู้หญิง มิใช่ผู้ชาย และอำนาจสืบทอดผ่านทางเครือญาติจากพ่อตาไปสู่ลูกเขย โดยความสัมพันธ์กับทางฝ่ายหญิง ปัจจัยหลักในการเข้าใจระบบนี้ก็คือ การมองเห็นถึงความสำคัญในเชิงโครงสร้างของผู้หญิง ถ้ามองไม่เห็นจุดนี้แล้วระบบครอบครัวไทยเป็นสิ่งที่ไม่อาจเข้าใจได้ (Potter 1977, 123)

ตลอดประวัติศาสตร์กว่า 700 ปีของพุทธศาสนาในประเทศไทย ไม่เคยมีภิกษุณีสงฆ์อย่างเป็นทางการเกิดขึ้นเลย จะมีก็แต่เพียงชีวิตทางศาสนารูปแบบหนึ่งของสตรีชาวพุทธที่เรียกว่า “ แม่ชี ” เท่านั้น แม่ชีโกนศีรษะ นุ่งห่มสีขาว และรักษาศีลแปด ใช้ชีวิตทางศาสนาโดยไม่มีการบวชหรือการสืบสายอย่างเป็นทางการ ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ แม่ชีมีอยู่ในสังคมไทยมาแล้วอย่างน้อย 300 ปี ระบบครอบครัวไทยที่มีผู้หญิงเป็นศูนย์กลาง ซึ่งทำให้ผู้หญิงอยู่ในสถานะที่สำคัญ กับสถาบันแม่ชีซึ่งทำให้ผู้หญิงอยู่ในสถานะที่ตกต่ำทางศาสนา จะได้รับการวิเคราะห์ในฐานะแนวโน้มสองแนวทางของวัฒนธรรมท้องถิ่นของไทยที่มีต่อสตรี

ก. ระบบครอบครัวไทยที่มีผู้หญิงเป็นศูนย์กลาง

ครอบครัวไทยถูกจัดในลักษณะที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อน โดยตั้งอยู่บนปัจจัยที่เคลื่อนไหวสองปัจจัยด้วยกันคือ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงซึ่งเป็นตัวกำหนดโครงสร้างหลักของครอบครัว (รวมทั้งกำหนดความสัมพันธ์ที่สำคัญในระหว่างผู้ชาย ) กับสถานะทางสังคมที่สูงกว่าและอำนาจอย่างเป็นทางการของผู้ชาย อำนาจได้ผ่านมือจากผู้ชายคนหนึ่งไปสู่ผู้ชายอีกคนหนึ่ง แต่ก็ด้วยความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับฝ่ายหญิง กล่าวคือจากพ่อตาไปสู่ลูกเขย นับเป็นภาพสะท้อนของการสืบอำนาจของผู้ชายโดยผ่านทางสายเลือดจากแม่มาสู่ลูกสาว มากกว่าจากพ่อไปสู่ลูกชาย พอทเตอร์ (1977, 20) กล่าวว่า

ข้าพเจ้ากำลังอธิบายถึงระบบซึ่งผู้ที่ถูกเชื่อมโยงโดยเครือญาติคือผู้ชาย ผู้ที่มีความสำคัญทางโครงสร้างคือฝ่ายหญิง มิใช่ฝ่ายชาย ข้าพเจ้าเรียกระบบนี้ว่าระบบครอบครัวที่มีผู้หญิงเป็นศูนย์กลาง ซึ่งแตกต่างไปจากระบบการสืบสายเลือดผ่านทางฝ่ายชาย (patriliny) หรือฝ่ายหญิง (matriliny) โดยที่ทั้งสองระบบนี้ตามที่เข้าใจกันในปัจจุบันเป็นระบบที่มีผู้ชายเป็นศูนย์กลาง

ปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือความคาดหวังในทางวัฒนธรรมที่ว่า การแต่งงานนั้นจะต้องอยู่กินกันที่บ้านของฝ่ายหญิง (matrilocal) อย่างน้อยที่สุดก็ชั่วระยะเวลาหนึ่ง หมายความว่าผู้ชายที่แต่งงานนั้นจะต้องอยู่ร่วมกับเครือญาติทางฝ่ายหญิง ซึ่งได้กลายเป็นเครือญาติของตน เขาจะต้องอยู่ร่วมกับพ่อตา พี่เขย หรือน้องเขย ซึ่งทั้งหมดนี้ได้เข้ามาอยู่ร่วมกันเนื่องจากการแต่งงาน ฉัตรสุมาลย์ อธิบายถึงที่มาของโครงสร้างครอบครัวชนิดนี้ว่า

ภายใต้ระบบการเกณฑ์แรงงานจากหลวงในสมัยอยุธยา ผู้ชายจะต้องจากบ้านไปอย่างน้อยเดือนเว้นเดือน หรือบางครั้งนานถึงสามเดือน ในระหว่างที่ผู้ชายไม่อยู่ ผู้หญิงจะต้องดูแลครอบครัว ด้วยเหตุนี้จึงกลายเป็นธรรมเนียมที่ว่า คู่แต่งงานใหม่มักจะอาศัยอยู่กับครอบครัวของฝ่ายหญิง จนกระทั่งนำไปสู่ระบบครอบครัวที่ผู้หญิงมีความสำคัญ และความเป็นอิสระค่อนข้างมากทางด้านการเงินของผู้หญิง (Kabilsingh 1991, 18)

ตามทรรศนะของพอทเตอร์ ความสัมพันธ์ทางสังคมของครอบครัวไทยภาคเหนือ ถูกจัดขึ้นบนหลักที่สำคัญสามประการ ประการแรกอำนาจอย่างเป็นทางการเป็นของผู้ชายมีมากกว่าผู้หญิง ประการที่สองผู้น้อยจะต้องเคารพยำเกรงผู้ใหญ่ และผู้ใหญ่ก็ให้ความอุปถัมภ์คุ้มครองผู้น้อย ประการที่สามความสัมพันธ์ในครอบครัวสืบทอดมาทางฝ่ายหญิง โดยที่ผู้ชายเป็นเพียงเครือญาติที่มาเชื่อมโยงกับครอบครัวของฝ่ายหญิง ซึ่งศูนย์กลางผ่านจากแม่ไปสู่ลูกสาว (Potter 1977, 99) ในเรื่องที่เกี่ยวกับการแต่งงานนั้น พ่อแม่อาจจะให้คำแนะนำหรือกดดันก็ได้ แต่โดยธรรมเนียมแล้วผู้ชายกับผู้หญิงจะเลือกคู่ครองกันเอง และแต่งงานกันด้วยความรัก ในระบบเช่นนี้ภรรยาจะอยู่ในสถานะที่สำคัญที่สุด สถานะของสามีเกิดขึ้นในครอบครัวก็เนื่องมาจากเธอ ผลที่ติดตามมาก็คือผู้หญิงกลายเป็นเสียงที่สำคัญที่สุดที่จะชี้ขาดเรื่องชีวิตในครอบครัว นับเป็นอำนาจของผู้หญิงในโครงสร้างของครอบครัวไทย อย่างไรก็ตามธรรมเนียมที่ผู้น้อยต้องเคารพยำเกรงผู้ใหญ่ ทำให้สามียังคงมีอำนาจอยู่ด้วย (Potter 1977, 101)

ในภาคเหนือของไทย ทรัพย์สินมรดกจะถูกแบ่งอย่างเท่าเทียมกันให้แก่ลูกๆ ไม่ว่าหญิงหรือชาย และโดยปรกติแล้วบ้านมักจะตกเป็นของลูกสาวคนเล็กสุด จอห์น อี เดอยาง (John E. deYoung) (1958, 23) รายงานว่า

ทั้งบุตรชายและบุตรสาวจะได้รับมรดกที่นาเท่าๆกัน แต่บ้านรวมทั้งอาณาบริเวณบ้านมักจะตกเป็นของบุตรสาวตามสิทธิแห่งการรับมรดก โดยเป็นที่คาดหมายกันว่า หล่อนจะอยู่ร่วมกับสามีในบ้านหลังนั้น ธรรมเนียมที่บุตรสาวที่แต่งงานแล้วจะยังคงอยู่ในบ้านของบิดามารดาและได้รับบ้านเป็นมรดก เป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันอย่างกว้างขวางในภาคเหนือมาก จนน่าจะเป็นระบบพิเศษของการอยู่ร่วมกันกับครอบครัวฝ่ายหญิงในระยะก่อนหน้านี้ แม้ว่าในปัจจุบันจะไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไปก็ตาม

ตามทรรศนะของเดอยาง ผู้หญิงชาวนาไทยอยู่ในสถานะที่มีอำนาจ หล่อนมีสิทธิเสียงมานานในกิจการของหมู่บ้าน บ่อยครั้งทีเดียวที่หล่อนเป็นตัวแทนของครอบครัวในการประชุมหมู่บ้าน ด้วยกิจการซื้อขายผู้หญิงไทยสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้แก่ครอบครัว และมักจะทำหน้าที่ดูแลทรัพย์สินและรายรับรายจ่ายของครอบครัว แต่เดอยางก็ได้สังเกตว่า ในลุ่มน้ำภาคกลางของประเทศไทย ซึ่งมีการซื้อขายข้าวกันเป็นจำนวนมากนั้น ดูเหมือนว่าผู้ชายจะควบคุมรายได้จากการขายข้าวด้วยตนเอง

ข. แม่ชี : สถานะทางศาสนาที่ตกต่ำของผู้หญิงไทย

การดำรงอยู่ของแม่ชีไม่ได้รับการสนับสนุนจากคัมภีร์พุทธศาสนาหรือกฎหมายไทย แม่ชีมักจะถูกมองว่าเป็นเพียง อุบาสิกา ที่อาศัยอยู่ในวัด เจ้าอาวาสมีความรับผิดชอบต่อแม่ชีเพียงในฐานะที่เป็นผู้อาศัยวัดเท่านั้น แต่แม่ชีก็ถูกปฏิเสธสิทธิพลเมืองบางอย่าง เช่น สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งเช่นเดียวกับพระสงฆ์ เพราะแม่ชีถูกมองในเชิงวัฒนธรรมว่า เป็นผู้ที่สละโลกแล้ว ฉัตรสุมาลย์ ประเมินสถานะของแม่ชีดังนี้

เนื่องจากแม่ชีขาดสถานะทางกฎหมายในคณะสงฆ์ ฆราวาสจึงไม่รู้สึกว่าจำเป็นจะต้องสนับสนุน ... ในขณะที่พระสงฆ์ถูกมองว่าเป็น “ เนื้อนาบุญของโลก ” แม่ชีกลับมิได้ถูกมองเช่นนั้น ... การขาดศักดิ์ศรีของแม่ชี ประกอบกับท่าทีที่เป็นลบของสังคม ทำให้สถานะของแม่ชีตกต่ำอย่างที่สุด ด้วยการถูกกีดกันให้อยู่วงนอก ด้อยการศึกษา และมิได้รับการสนับสนุนทางด้านเศรษฐกิจ แม่ชีถูกทำให้แปลกแยกในสังคมไทย (Kabilsingh 1991, 39)

ในปี ค.ศ. 1969 สมเด็จพระสังฆราชทรงเรียกประชุมแม่ชีทั่วประเทศเป็นครั้งแรก และทรงสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันแม่ชีไทยขึ้น มูลนิธิที่สนับสนุนสถาบันแม่ชีไทยก็ได้รับการจัดตั้งขึ้นเช่นกันในปี ค.ศ. 1972 สถาบันแม่ชีไทยได้พยายามจดทะเบียบแม่ชีและจัดตั้งระบบบริหารองค์กรขึ้น แต่ก็ประสบความสำเร็จเพียงบางส่วนเท่านั้น (Kabilsingh 1991, 39-40) ฉัตรสุมาลย์ รายงานว่า

แม่ชีที่อายุมากหลายคนได้ออกขอตามบ้าน ด้วยความคิดที่ว่าคนคงอยากจะทำทานกับแม่ชีมากกว่ากับขอทานทั่วไป แต่การกระทำเช่นนั้นกลับทำให้ภาพ ลักษณ์ของแม่ชีเสื่อมเสีย สถาบันแม่ชีไทยสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ และพยายามจะแก้ปัญหาด้วยการส่งแม่ชีเหล่านั้นไปยังบ้านพักคนชรา แต่วิธีนี้ก็มิได้แก้ปัญหาที่รากฐาน นั่นคือความยากจนของแม่ชีอันเนื่องมาจากขาดการสนับสนุน ทั้งจากสถาบันและสังคม (Kabilsingh 1991, 41)

ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของคณะสงฆ์ แม่ชีควรที่จะเป็นผู้นำทางจิตใจของประชาชน แต่การขาดการศึกษาทำให้โอกาสเช่นนั้นลดลงไป ผู้หญิงควรได้รับการสนับสนุนให้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่ในพุทธศาสนา แม่ชีควรได้รับการศึกษาที่เหมาะสมภายในคณะสงฆ์ และควรได้รับการอุปสมบทอย่างถูกต้อง ฉัตรสุมาลย์ กล่าวว่า

ในสมัยพุทธกาล มีตัวอย่างมากมายของผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จในคณะสงฆ์ อย่างไรก็ตาม ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของพุทธศาสนาในประเทศไทย สถานะที่สูงส่งของผู้หญิงได้ถูกทำลายและถูกกีดกันมาโดยตลอด การฟื้นฟูสถาบันภิกษุณีขึ้นมาใหม่ เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งในการยกสถานะของผู้หญิงในทางศาสนา (Kabilsingh 1991, 42)

การแทนที่แม่ชีด้วยสถาบันภิกษุณี จะเป็นการยกสถานะของผู้หญิงครั้งสำคัญในใจกลางวัฒนธรรมไทย และจะสามารถช่วยแก้ปัญหาสำคัญหลายอย่างของผู้หญิงในประเทศไทย รวมทั้งปัญหาความยากจน การใช้แรงงานเด็ก และโสเภณี 


3. ผู้หญิงจากทรรศนะทางสังคมการเมือง

ความด้อยพัฒนาของโลกที่สามกับการพัฒนาของโลกที่หนึ่ง มิใช่เป็นปรากฏการณ์สองอย่างที่แยกจากกัน แต่สัมพันธ์กันในเชิงโครงสร้าง ความด้อยพัฒนาเป็นผลมาจากประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของการกดขี่ การค้าที่ไม่เสมอภาค และความสัมพันธ์แบบพึ่งพา เศรษฐกิจของโลกที่สามถูกกำหนดให้ผลิตสินค้าอย่างจำกัดตามความต้องการของตลาดโลก มากกว่าการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวมเพื่อตอบสนองประชาชนในท้องถิ่น ธรรมชาติของโลกที่สามจะเข้าใจได้ก็แต่โดยการเห็นถึงความสัมพันธ์ชุดหนึ่ง เป็นความสัมพันธ์ระหว่างโลกที่หนึ่งซึ่งเป็นศูนย์กลางและเป็นผู้ควบคุม กับโลกที่สามซึ่งเป็นบริวารและเป็นผู้พึ่งพา ไม่ว่าจะเป็นดินแดนอาณานิคมยุคเก่าหรือประเทศอิสระภายใต้ลัทธิอาณานิคมใหม่ ความสัมพันธ์แบบพึ่งพานี้เป็นสาเหตุหลักของความยากจนที่เรื้อรังและแผ่กว้างภายในโลกที่สาม นับเป็นความยากลำบากอย่างยิ่งที่จะเอาชนะปัญหาความด้อยพัฒนา นอกเสียจากว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความสัมพันธ์แบบพึ่งพานี้ จอห์น เรนส์ และดอนนา เดย์ - โลเวอร์ (John Raines and Donna Day-Lower 1986, 13) ชี้ว่า การวิเคราะห์ทางจริยธรรมจะต้องครอบคลุมฐานที่กว้าง สิ่งที่ดีสำหรับโลกที่พัฒนาแล้วจะต้องมิใช่ได้มาด้วยความสูญเสียของประเทศด้อยพัฒนา เช่นเดียวกับสิ่งที่ดีสำหรับทุนข้ามชาติจะต้องมิใช่ด้วยความสูญเสียของชุมชนท้องถิ่นในโลกที่หนึ่งเอง

ในฐานะประชาชนโลกที่สาม ผู้หญิงในประเทศด้อยพัฒนารวมทั้งประเทศไทย ถูกเอารัดเอาเปรียบด้วยโครงสร้างทางเศรษฐกิจของระบบทุนข้ามชาติ ขณะเดียวกันในฐานะที่เป็นเพศหญิง ผู้หญิงถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกกดขี่ด้วยอคติของผู้ชาย ผลลัพธ์ก็คือ ผู้หญิงในโลกที่สามถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกกดขี่เป็นสองเท่า ทั้งจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและจากอคติทางเพศ

ก. ผู้หญิงในโลกที่สาม

เนื่องจากบรรษัทข้ามชาติแสวงหาแรงงานราคาถูก ว่านอนสอนง่าย ควบคุมง่าย และยินดีทำงานที่ซ้ำซากน่าเบื่อ ผู้หญิงในโลกที่สามจึงตกเป็นเป้าหมาย บรรษัทข้ามชาติได้ใช้สถานะทางสังคมที่ต่ำของผู้หญิงเป็นเครื่องต่อรองในการให้ค่าจ้างต่ำกว่าผู้ชาย โดยอ้างว่าผู้หญิงเป็นเพียงรายได้เสริมของครอบครัวเท่านั้น บรรษัทข้ามชาติชอบผู้หญิงโสดที่ไม่มีบุตร มีการทดสอบการตั้งครรภ์อยู่บ่อยๆเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินสวัสดิการการคลอดบุตร บรรษัทเลือกที่จะฝึกวัยรุ่นกลุ่มใหม่เข้าทำงาน มากกว่าที่จะต้องจ่ายเงินสูงขึ้นให้แก่ผู้หญิงที่มีประสบการณ์ แอนเน็ทท์ ฟูเอนเทส และบาร์บารา เอห์เรนริช (Annette Fuentes and Barbara Ehrenreich 1987, 18) ชี้ว่า

ผู้หญิงจำนวนมหาศาลมีรายได้เพียงประทังชีวิตเท่านั้น ไม่ว่าจะทำงานในโรงงานบรรษัทข้ามชาติหรือโรงงานท้องถิ่น ขณะที่ผู้บริหารของบรรษัทข้ามชาติมักจะอ้างว่าได้ให้ค่าจ้างที่เหมาะสมเมื่อเปรียบเทียบกับค่าครองชีพที่ต่ำของท้องถิ่นนั้น ค่าแรงขั้นต่ำในประเทศเอเชียตะวันออกส่วนใหญ่ ไม่อาจครอบคลุมค่าใช้จ่ายพื้นฐานได้ ... แม้ค่าจ้างจะน้อยแสนน้อย แต่ผู้หญิงส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นหลักในการหาเลี้ยงครอบครัว ... และก็มีแรงกดดันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆที่จะทำให้ผู้หญิงทั้งในท้องนาและในเมืองต้องเลื่อนการแต่งงานออกไป และต้องออกหางานทำเพื่อเลี้ยงครอบครัว

ผู้หญิงส่วนใหญ่ทำงานภายใต้เงื่อนไขที่อาจทำลายสุขภาพ หรือระบบประสาทภายในระยะเวลาเพียงสองสามปี และบ่อยครั้งก่อนที่พวกเธอจะหาเงินได้มากกว่าระดับประทังชีวิต ฟูเอนเทส และเอห์เรนริช (1987, 20) รายงานว่า

บริษัทอิเลกโทรนิคส์ต้องการคนงานที่มีสายตาดีเยี่ยม แต่ผู้หญิงส่วนใหญ่ต้องใส่แว่นตาหลังจากทำงานได้เพียงสองสามปี ระหว่างทำงานผู้หญิงต้องจ้องมองผ่านกล้องจุลทัศน์วันละเจ็ดถึงเก้าชั่วโมง เพื่อเชื่อมลวดทองที่เล็กเท่าเส้นผมให้เข้ากับซิลิคอนชิพ

ในงานวิจัยของฟูเอนเทสและเอห์เรนริช คนงานหญิงตามโรงงานอยู่ในสถานะที่เปราะบางยิ่ง ถูกปฏิบัติเหมือนเป็นคนงานชั่วคราว และมักจะถูกขู่เรื่องไล่ออก การลาป่วย วันหยุดและพักร้อนเกือบจะไม่ต้องพูดถึง ส่วนใหญ่แล้วจะถูกให้ทดลองทำงานเป็นระยะเวลาหกเดือนหรือกว่านั้น โดยระยะเวลาดังกล่าวจะได้ค่าจ้างเพียงสามในสี่ของค่าจ้างปรกติเท่านั้น โรงงานมักจะไล่คนงานออกก่อนครบกำหนดเล็กน้อยเพื่อเป็นการประหยัดค่าจ้างเต็ม

ชีวิตการทำงานของผู้หญิงเต็มไปด้วยแรงกดดันและความกังวลใจ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ โรงงานส่วนใหญ่ทำงานกันหลายกะ โดยคนงานต้องผลัดเปลี่ยนทำงานกะกลางวันและกะกลางคืนกันทุกหนึ่งหรือสองสัปดาห์ เวลาทำงานที่เปลี่ยนไปมาเช่นนี้ได้ทำลายแบบแผนการนอนตามปรกติ ก่อให้เกิดโรคประสาทและโรคกระเพาะ การพักกลางวันก็นานเพียงแค่ให้เวลายืนต่อแถวในโรงอาหารและกินอาหารเท่านั้น การขออนุญาติไปเข้าห้องน้ำถูกปฏิบัติราวกับเป็นการใช้อภิสิทธิ์ทีเดียว (Fuentes and Ehrenreich 1987, 23)

ผู้หญิงทั่วทั้งโลกได้กลายเป็นกองทัพแรงงาน ที่ถูกบรรษัทข้ามชาติเลือกใช้สอยได้ตามอำเภอใจ ไม่มีผู้หญิงคนใดรู้สึกถึงความมั่นคงของงาน ตราบเท่าที่กำไรยังเป็นแรงจูงใจของบรรดาบรรษัทข้ามชาติ ผู้หญิงถูกกีดกันทั้งในเรื่องเพศและสีผิว โดยที่งานบริหารจัดการและงานเทคนิคชั้นสูงตกอยู่ในมือของผู้ชายผิวขาว ซาราลี แฮมิลตัน (Saralee Hamilton) ชี้ว่า “ บรรษัทข้ามชาติจงใจที่จะเลือกผู้หญิงเป็นเป้าหมายของการเอารัดเอาเปรียบ ถ้าลัทธิต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี (feminism) จะมีความหมายต่อผู้หญิงทั่วทั้งโลกแล้ว ก็จะต้องค้นหาวิธีใหม่ในการต่อต้านบรรษัทข้ามชาติในระดับนานาชาติ ” (Fuentes and Ehrenreich 1987, 59) วิธีหนึ่งที่จะต่อต้านอำนาจนั้นก็คือการรวมตัวกันกดดันการกระทำที่ไม่เหมาะสมของบรรษัทข้ามชาติเป็นกรณีๆไป ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จก็คือการรณรงค์ไม่ซื้อผลิตภัณฑ์ของเนสเล่ย์ เพื่อประท้วงกลยุทธการตลาดของบริษัทที่ให้เปลี่ยนการเลืี้ยงเด็กทารกจากนมแม่ไปเป็นนมของบริษัท ยุทธวิธีที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลกันระหว่างนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีในโลกที่สามกับโลกที่หนึ่ง การแลกเปลี่ยนความรู้ที่จะทำให้คนงานผู้หญิงเกิดความเข้มแข็งในการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม นับเป็นความสำคัญในอันดับต้นๆ ฟูเอนเทส และเอห์เรนริช (1987, 59) สรุปว่า

ภาระที่ยากที่สุดแต่สำคัญที่สุด ในการต่อสู้กับการครอบงำของบรรษัทข้ามชาติก็คือการสร้างเครือข่ายของคนงานผู้หญิงทั่วโลก ... อาจจะต้องใช้เวลาหลายปีก่อนที่เครือข่ายนี้จะกว้างขวางและมีอำนาจเพียงพอ ที่จะท้าทายอย่างได้ผลต่อบรรษัทข้ามชาติและรัฐบาลที่อยู่เบื้องหลัง แต่ผู้หญิงทั่วโลกก็เข้าใกล้กันยิ่งขึ้นทุกขณะ

นอกเหนือจากการกดขี่ทางเศรษฐกิจ ผู้หญิงในโลกที่สามโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปเอเชียและประเทศไทย ต้องเผชิญหน้ากับการกดขี่ทางเพศในรูปแบบที่หยาบที่สุดนั่นคือโสเภณี ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาประเทศ

ข. โสเภณี : ปรากฏการณ์ของโลกที่สาม

ปัญหาโสเภณีในเอเชียเกี่ยวโยงกับอิทธิพลของเศรษฐกิจ เพศ ชนชั้น เชื้อชาติ การทหาร และลัทธิจักรวรรดินิยม แม้ว่าโสเภณีจะมีอยู่ในเอเชียมานานหลายศตวรรษแล้วก็ตาม แต่การเพิื่มจำนวนอย่างรวดเร็วของโสเภณีก็เชื่อมโยงกับการเข้ามาของกองทัพมหาอำนาจตะวันตก ในต้นคริสตศตวรรษที่ 20 ญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาแทนที่ยุโรปในฐานะมหาอำนาจที่ครอบครองเอเชีย ตามทรรศนะของเอลิซาเบธ บาวด์ (Elizabeth M. Bounds) ในครั้งแรกกองทัพญี่ปุ่นได้นำผู้หญิงชาวญี่ปุ่นเองไปปรนเปรอกองทัพ ผู้หญิงเหล่านี้เป็นทาสที่ซื้อมาจากครอบครัวชาวนาญี่ปุ่น ภายในทศวรรษที่ 1920 เมื่อจักรวรรดิญี่ปุ่นรุ่งเรืองมีการออกกฎหมายห้ามผู้หญิงญี่ปุ่นเป็นโสเภณี ซึ่งหมายถึงการแทนที่โสเภณีด้วยผู้หญิงจากดินแดนอื่นในเอเชียที่ถูกญี่ปุ่นยึดครอง ในระหว่างสงครามโลกคร้ังที่ 2 ผู้หญิงเกาหลีประมาณ 50 , 000 ถึง 70 , 000 คนได้ถูกส่งไป “ ปลอบขวัญ ” ทหารญี่ปุ่นในแนวหน้า ผู้หญิงเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกฆ่าตายในระหว่างสงคราม หรือถูกฆ่าโดยทหารญี่ปุ่นในช่วงเวลาที่ยอมแพ้แก่กองทัพสัมพันธมิตร (Bounds 1991, 134-5)

หลังปี ค.ศ. 1945 สหรัฐอเมริกาได้เข้าแทนที่ญี่ปุ่นในฐานะมหาอำนาจทหารในเอเชียและแปซิฟิก สงครามเกาหลีและสงครามเวียตนามได้นำทหารจำนวนมหาศาลไม่เพียงแต่สู่เกาหลีและเวียตนามเท่านั้น แต่ยังสู่แหล่งพักผ่อนและสถานเริงรมย์ (Rest and Recreation หรือ R and R) ในญี่ปุ่น โอกินาวา ฟิลิปปินส์ และประเทศไทยอีกด้วย บาวด์ (Bounds 1991, 135) รายงานว่า

ฐานสนับสนุนเหล่านี้ให้กำเนิดวัฒนธรรมกาฝาก เช่น บาร์ คลับ และโรงแรม ในช่วงสูงสุดของสงครามเวียตนาม ประมาณกันว่ามีโสเภณีกว่าครึ่งล้านคนในเมืองไซ่ง่อน ขณะเดียวกันจะต้องมีสถานเริงรมย์ภายนอกเวียตนามด้วย สหรัฐอเมริกาได้พัฒนาแหล่งเริงรมย์ในประเทศไทย โดยมีทหารอเมริกันประมาณ 50 , 000 ถึง 70 , 000 คนมาใช้บริการทุกปี และที่อ่าวซูบิกในฟิลิปปินส์ซึ่งมีเรือรบกว่า 100 ลำ ( แต่ละลำบรรทุกทหารหลายร้อยคน ) มาทอดสมอทุกปี การปรากฏตัวของสหรัฐอเมริกาและการใช้จ่ายเงินในที่ทั้งสองแห่ง ( เฉพาะที่ประเทศไทยแห่งเดียวอาจจะเป็นเงินกว่า 5 , 000 ล้านเหรียญสหรัฐ ) หมายถึงการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ นั่นคือการดื่ม การเต้นรำ และการมีเพศสัมพันธ์

ในประเทศไทย โสเภณีถูกกล่าวถึงตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 มีการเก็บภาษีโรงหญิงนครโสเภณีที่เรียกว่า “ ภาษีสัญจร” ในปี พ . ศ . 2477 โสเภณีกลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย “ พระราชบัญญัติป้องกันกามโรค พุทธศักราช 2477 “ กำหนดให้โสเภณีจดทะเบียนเพื่อรับการตรวจรักษาประจำ ประเทศไทยใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้จนถึงปี พ . ศ . 2503 เมื่อสหประชาชาติได้ประกาศยกเลิกโสเภณี รัฐบาลไทยได้ตอบสนองนโยบายของสหประชาชาติด้วยการออก “ พระราชบัญญัติยับยั้งการเป็นโสเภณี ” มาแทนที่ พ . ร . บ . ปี 2477 ทำให้โสเภณีกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายนับแต่นั้น (Kabilsingh 1991, 71-72)

โสเภณีในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทศวรรษที่ 1960 เมื่อสหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพในระหว่างสงครามเวียตนาม แม้ว่าต่อมาจะมีการถอนฐานทัพอเมริกันออกไปแล้วก็ตาม แต่โสเภณีก็ยังคงอยู่ต่อไปในรูปแบบต่างๆ เช่น ผู้หญิงบาร์ นักร้อง พาร์ทเนอร์ และอาชีพบังหน้าอื่นๆ เพื่อบริการนักท่องเที่ยวต่างชาติและผู้ชายไทย ฉัตรสุมาลย์ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยได้ยอมสละผู้หญิงและวัฒนธรรมที่ดีงามของตน เพื่อแลกกับการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะสั้นที่ฉาบฉวย (Kabilsingh 1991, 72-73) นอกจากจะเกี่ยวข้องกับลัทธิจักรวรรดินิยมและทหารแล้ว โสเภณียังเกี่ยวโยงกับลัทธิเชื้อชาตินิยม (racism) อีกด้วย บาวด์ (Bounds 1991, 139) ชี้ว่า

ลัทธิเชื้อชาตินิยม ซ่อนอยู่เบื้องหลังภาพที่เย้ายวนใจของหญิงต่างชาติชาวเอเชีย ( ประจักษ์พยานในเพลงของทหารอังกฤษ และใบแผ่นพับการท่องเที่ยวของนอร์เวย์ ) และการว่านอนสอนง่ายกับความชำนิชำนาญของคนงานหญิงเอเชีย ... และลัทธิเชื้อชาตินิยมอยู่เบื้องหลังการแทนที่โสเภณีในกองทัพญี่ปุ่น ด้วยผู้หญิงชาติอื่นจากเอเชีย กับการแทนที่ผู้หญิงญี่ปุ่นด้วยผู้หญิงเอเชียชาติอื่น ในกองทัพธุรกิจใหม่ของญี่ปุ่นในคลับใจกลางเมืองโตเกียวและโอซากา

ประเทศในเอเชียถูกมองว่ามี “ ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ ” (comparative advantage) โดยมีหาดทรายที่สวยงาม และพนักงานบริการค่าจ้างต่ำ ธุรกิจการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม เครื่องบินโดยสาร และรายการท่องเที่ยวต่างๆ มักจะมีนายทุนต่างชาติอยู่เบื้องหลัง ดังนั้น กำไรจากการท่องเที่ยวระหว่าง 40 % ถึง 75 % ในที่สุดแล้วจะถูกนำออกนอกประเทศ งานบริหารจัดการบ่อยครั้งจะตกอยู่ในมือของชาวต่างชาติ ทิ้งให้คนงานท้องถิ่นทำงานรับใช้ชาวต่างประเทศในงานที่ค่าจ้างต่ำที่สุดและต้องการทักษะน้อยที่สุด บาวด์ (Bounds 1991, 136-7) ให้ความเห็นว่า

การค้าที่เชื่อมโยงกับเรื่องเพศ ถูกถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของทรัพยากรของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศที่ซ่อนเร้นอยู่ในแผ่นโฆษณาของสายการบิน หรือบริการทางเพศที่โจ่งแจ้งในรายการท่องเที่ยวสำหรับผู้ชายตะวันตกและญี่ปุ่น แม้ว่าฟิลิปปินส์ ไทย และเกาหลี ต่างก็มีกฎหมายห้ามการค้าประเวณี แต่ประเทศเหล่านี้กลับสนับสนุนสิ่งต้องห้ามนี้ ในฐานะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ยิ่งใหญ่ และใช้กฎหมายเฉพาะกับตัวโสเภณีเท่านั้น แต่กลับไม่ใช้กับเจ้าของกิจการบาร์และซ่อง ... โสเภณีเป็นกุญแจสำคัญของเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ จึงทำให้รัฐเปลี่ยนสถานะกลายเป็นแมงดาไป

ผู้หญิงเอเชียรู้สึกถึงความรับผิดชอบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัว สำหรับโสเภณีเอเชียเกือบจะทั้งหมดแล้ว เหตุผลหลักของการทำงานก็คือส่งเงินกลับบ้าน ในประเทศไทยลูกสาวคนโตมักจะยอมถูกขายไปเป็นโสเภณี เพื่อแบกรับภาระทางการเงินที่หนักอึ้งของครอบครัว นับเป็นหลักจริยธรรมเรื่อง “ ความกตัญญูกตเวที ” ที่ถูกบิดเบือนเพื่อตอบสนองต่อแรงกดดันทางเศรษฐกิจ ฉัตรสุมาลย์ ให้ความเห็นว่า

ผู้หญิงได้กลายเป็นโสเภณีด้วยสำนึกในหน้าที่หรือความผูกพันต่อพ่อแม่ ร่วมรับผิดชอบต่อภาระทางเศรษฐกิจของครอบครัว เมื่อครอบครัวมีหนี้สินอันเกิดจากการเก็บเกี่ยวไม่ได้ผล หรือเพียงเพราะพ่อแพ้การพนัน ลูกสาวคนโตมักจะถูกขอร้องให้ “ เสียสละ ” เพื่อพ่อแม่และน้องๆ มีบางกรณีที่พ่อขายลูกสาวเป็นโสเภณีครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อซื้อวัวเพิ่มในการทำนา ทั้งหมดนี้กระทำด้วยความเชื่อที่ว่าลูกจะต้องแสดง “ ความกตัญญูกตเวที ” ต่อพ่อแม่ (Kabilsingh 1991, 78)

ในความพยายามที่จะช่วยเหลือโสเภณีในประเทศไทย องค์กรเอกชน “ เอ็มพาวเวอร์ ” (EMPOWER) เชื่อว่า ขั้นแรกสุดจะต้องยอมรับบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจของโสเภณีว่า “ พวกเธอเป็นพลังผลิตที่สำคัญของอุตสาหกรรมบันเทิงของรัฐ ... เป็น ( แหล่งที่มาของ ) รายได้ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ” (Bounds 1991, 141) ดังนั้นองค์กรนี้จึงได้จัดชั้นเรียนภาษาอังกฤษให้ ด้วยความเชื่อที่ว่าความรู้ภาษาอังกฤษจะช่วยพวกผู้หญิงให้สามารถควบคุมเงื่อนไขการทำงานของตนเองได้มากขึ้น โดยอาจจะเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งสหภาพโสเภณีได้ในที่สุด แต่ความช่วยเหลือเหล่านี้อาจจะสายเกินไป เพราะโรคเอดส์กำลังคุกคามโสเภณีไทยในทุกหัวระแหง ยุทธศาสตร์ที่น่าจะเป็นประโยชน์กว่านี้ก็คือ การหาหนทางในการช่วยเหลือผู้หญิงไม่ให้ต้องตกไปเป็นโสเภณีอย่างได้ผล การเพิ่มอำนาจให้แก่ผู้หญิงเป็นสิ่งจำเป็น และจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคมภายในบริบทของระบบโลก 


4 . ภิกษุณี : ทางออกของผู้หญิงชาวพุทธ

“ การวิพากษ์ศาสนาเป็นสิ่งแรกที่จะต้องกระทำก่อนการวิพากษ์ทั้งปวง” นั่นเป็นทรรศนะของคาร์ล มาร์ซ (Karl Marx, 1975, 243) เนื่องจากศาสนาเป็นรากเหง้าของวัฒนธรรมและสังคม การกดขี่สิทธิสตรีทางศาสนาถือเป็นการกดขี่ที่สำคัญที่สุดที่เพศชายกระทำต่อเพศหญิง การกดขี่ในรูปแบบอื่นไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริยธรรม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง จะต้องแก้ไขไปพร้อมกัน ทั้งในบริบทของสังคมไทยและระบบโลก โสเภณีเป็นรูปแบบของการกดขี่ผู้หญิงที่ชัดเจนที่สุดและเป็นระบบที่สุดในโลกที่สาม ในประเทศไทยการคืนสิทธิอันชอบธรรมของสตรีในทางศาสนา นั่นคือการฟื้นฟูสถาบันภิกษุณีขึ้นมาใหม่ จะเป็นทางออกในเชิงโครงสร้างต่อปัญหาโสเภณี การล่วงละเมิดสิทธิทางเพศ และการละเมิดสิทธิเด็กในสังคมไทย

ก. สิทธิสตรีทางศาสนา : รากฐานของสิทธิทั้งปวง

พุทธศาสนาในฐานะศาสนาหรือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ได้ยกสถานะของผู้หญิงเท่าเทียมกับผู้ชาย ในทฤษฎี “ ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ ” พระพุทธเจ้าทรงชี้ว่า มนุษย์ทุกคนไม่ว่าหญิงหรือชายมีธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะเช่นเดียวกัน เป็นธรรมชาติแห่งความสะอาด สว่าง สงบ และเป็นศักยภาพที่จะบรรลุการตรัสรู้ ทั้งผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเสมอกันในการเข้าถึงนิพพานอันเป็นเป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนา ในคัมภีร์พุทธศาสนามีตัวอย่างมากมายที่กล่าวถึงความสำเร็จในทางธรรมของผู้หญิง การสถาปนาสถาบันภิกษุณีซึ่งเป็นสถาบันนักบวชหญิงแห่งแรกในประวัติศาสตร์ศาสนาของโลก นับเป็นประจักษ์พยานว่าผู้หญิงได้รับสิทธิในทางศาสนาเสมอภาคกับผู้ชาย

อย่างไรก็ตาม พุทธศาสนาในฐานะสถาบัน ได้ละเมิดสิทธิทางศาสนาของสตรีมาโดยตลอด โดยริดรอนสิทธิการอุปสมบทของผู้หญิงซึ่งพระพุทธเจ้าทรงประทานให้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท การสังคายนาครั้งแรกภายหลังการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ไม่มีตัวแทนของผู้หญิงในที่ประชุม และพระอานนท์ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ชักนำสตรีเข้ามาสู่คณะสงฆ์ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงอคติทางศาสนาของผู้ชายที่มีต่อผู้หญิง ความวิตกกังวลที่ว่าการบวชของสตรีจะยังความเสื่อมมาสู่พุทธศาสนานั้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่าผิด ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของสถาบันภิกษุณีในประเทศพุทธศาสนา นับตั้งแต่อินเดีย ศรีลังกา และจีน ( รวมทั้งไต้หวัน ) ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใดๆที่บ่งชี้ว่าภิกษุณีสงฆ์ได้ทำให้พุทธศาสนาตกต่ำ ตรงกันข้ามสถาบันภิกษุณีได้กลายเป็นแหล่งการศึกษาที่สำคัญแก่สตรีมาตลอดประวัติศาสตร์ ในไต้หวันซึ่งอาจจะเป็นฐานที่มั่นที่เข้มแข็งที่สุดของภิกษุณีสงฆ์ในโลกปัจจุบัน ภิกษุณีสงฆ์ได้กลายเป็นพลังสร้างสรรค์ที่สำคัญทั้งแก่พุทธศาสนาเองและแก่สังคมโดยรวม

ข้ออ้างที่ใช้กันบ่อยในการปฏิเสธที่จะฟื้นฟูสถาบันภิกษุณีในประเทศเถรวาทก็คือ ภิกษุณีสงฆ์ขาดสูญไปแล้วไม่อาจมีได้อีก ตามธรรมเนียมปฏิบัติผู้หญิงที่จะบวชเป็นภิกษุณีจะต้องบวชกับพระปวัตติณี ( อุปัชฌาย์ฝ่ายหญิง ) ก่อน แล้วจึงบวชกับพระอุปัชฌาย์ฝ่ายชาย ต่อหน้าที่ประชุมภิกษุอย่างน้อย 5 รูปและภิกษุณีอย่างน้อย 5 รูป แต่เนื่องจากไม่มีภิกษุณีเถรวาทอีกแล้ว จึงมักอ้างกันว่าการบวชภิกษุณีเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ตามพิธีอุปสมบทเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของพิธีกรรมที่มนุษย์กำหนดขึ้นเท่านั้น ซึ่งสมาชิกของสังคมอาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ และพิธีกรรมดังกล่าวก็มิได้มีในครั้งพุทธกาล แต่มาเกิดขึ้นภายหลัง การขาดสูญของภิกษุณีเถรวาทแตกต่างกับการสูญพันธุ์ของสายพันธุ์สัตว์ เช่น ไดโนเสาว์ ซึ่งไม่อาจกลับฟื้นคืนมาได้อีก ภิกษุณีสงฆ์ยังคงมีอยู่ในวัฒนธรรมมหายานที่ประเทศจีน ซึ่งได้สืบทอดมาจากวัฒนธรรมเถรวาทนิกายธรรมคุปต์ (Dharmagupta) ในศรีลังกานั้นเอง มีความพยายามของผู้หญิงไทยหลายครั้งที่จะอุปสมบทโดยมีภิกษุณีไต้หวันร่วมเป็นองค์ประชุมอยู่ด้วย แต่ทั้งหมดก็ถูกทางการไทยและคณะสงฆ์ไทยปราบปราม การปฏิเสธการตั้งคณะภิกษุณีสงฆ์ ( ในกรณีประเทศไทย พม่า ลาว และกัมพูชา ) กับการปฏิเสธการฟื้นฟูคณะภิกษุณีสงฆ์ ( ในกรณีศรีลังกา ) นับเป็นอคติทางศาสนาของผู้ชายที่มีต่อผู้หญิง

ในประเทศไทย สิทธิการอุปสมบทของสตรีถูกแทนที่ด้วยสถานะที่ต่ำต้อยของสถาบันแม่ชี แม่ชีไม่เคยได้รับการยอมรับในทางกฎหมายว่าเป็นส่วนหนึ่งของคณะสงฆ์ไทย ในฐานะนักบวชพระภิกษุได้รับอภิสิทธิ์ทางกฎหมาย เช่น เสียค่าโดยสารการเดินทางทั้งทางบก เรือ และอากาศเพียงครึ่งเดียว ขณะที่แม่ชีไม่ได้รับสิทธิเช่นนั้น กฎหมายไทยห้ามนักบวชไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แม่ชีก็ถูกห้ามลงคะแนนเสียงเลือกตั้งด้วย ทั้งๆที่แม่ชีมิได้เป็นนักบวชตามกฎหมาย แม่ชีไม่ได้รับอนุญาตให้ออก บิณฑบาตรหรือรับสังฆทานเช่นเดียวกับภิกษุ สิ่งที่แม่ชีได้รับก็คือของที่เหลือจากการบริโภคของภิกษุ ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือของใช้อื่นๆที่มีผู้นำมาถวาย สถานะทางสังคมของแม่ชีไม่แตกต่างไปจากผู้ไร้ที่อยู่อาศัยนัก ที่ต้องขออาศัยอยู่ในวัดภายใต้กฎระเบียบบางประการของวัด

เดิมทีนั้นสถานะของผู้หญิงไทยอาจจะสูงที่สุดในเอเชีย เนื่องจากระบบครอบครัวที่มีผู้หญิงเป็นศูนย์กลางของสังคมไทย อย่างไรก็ตามการกดขี่เอารัดเอาเปรียบผู้หญิงได้เกิดขึ้นในเวลาต่อมา ในทางหนึ่งเนื่องมาจากโครงสร้างทางชนชั้นในสังคมไทยเอง และอีกทางหนึ่งจากความสัมพันธ์แบบพึ่งพาระหว่างประเทศไทยในฐานะโลกที่สาม กับสหรัฐอเมริกา ยุโรปตะวันตก และญี่ปุ่น ในฐานะโลกที่หนึ่ง ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อสถานะของผู้หญิงไทยจนตกต่ำอย่างที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องโสเภณี มีความคล้ายคลึงกันอย่างน่าพิศวงในการให้เหตุผลของการเป็นโสเภณีกับการเป็นแม่ชี ฉัตรสุมาลย์อ้างว่า เนื่องจาก “ ความกตัญญูกตเวที ” หรือความรับผิดชอบต่อพ่อแม่ ผู้หญิงส่วนหนึ่งเลือกเป็นโสเภณีเพื่อตอบแทน “ บุญคุณ ” พ่อแม่ทางวัตถุ ขณะที่ผู้หญิงอีกส่วนหนึ่งเลือกเป็นแม่ชีเพื่อตอบแทน “ บุญคุณ ” พ่อแม่ทางจิตใจ ด้วยการอุทิศบุญกุศลจากการปฏิบัติธรรมให้ (Kabilsingh 1991, 78)

ข. ภิกษุณีกับโสเภณี : ทางออกเชิงโครงสร้าง

ประเทศไทยมีชื่อเสียง (ในทางเสื่อมเสีย) ไปทั่วโลกว่า มีอุตสาหกรรมทางเพศที่ใหญ่โตมั่นคงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เด็กสาวจำนวนมากในประเทศไทยถูกกดขี่โดยโครงสร้างของอุตสาหกรรมทางเพศนี้ อันเป็นรูปแบบหนึ่งของระบบทาสสมัยใหม่ แม้ว่าการค้าประเวณีจะเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่เนื่องจากความไร้ประสิทธิภาพของระบบราชการที่เป็นอยู่ ทำให้รัฐบาลไทยไม่สามารถแก้ปัญหาโสเภณีได้ โสเภณีเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับคำสอนของพุทธศาสนา แต่สถาบันสงฆ์ของไทยกลับเงียบเฉยต่อปัญหานี้

ความยากลำบากทางเศรษฐกิจในชนบท อันเนื่องมาจากการดึงดูดทรัพยากรจากชนบทสู่เมือง และการขาดความเอาใจใส่จากรัฐบาลในการปรับปรุงเกษตรกรรมอย่างจริงจัง ได้ผลักดันให้คนหนุ่มสาวจากชนบทหลั่งไหลเข้าสู่เมืองเพื่อหางานทำ ส่วนใหญ่แล้วจะได้งานเป็นกรรมกรก่อสร้าง คนงานในโรงงานอุตสาหกรรม และในธุรกิจบริการอื่นๆ ขณะเดียวกันผู้หญิงเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กสาวจากภาคเหนือของประเทศไทย ได้กลายเป็นโสเภณีหรือทำงานในธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับทางเพศ หญิงสาวเหล่านั้นถูกกำหนดด้วยโครงสร้างของความยากจน ลัทธิบริโภคนิยม และค่านิยมท้องถิ่นที่ถูกบิดเบือนในเรื่องของ “ ความกตัญญูกตเวที ” ว่าลูกสาวจะต้องทดแทนบุญคุณพ่อแม่ด้วยการ “ ทำงาน ” ช่วยเหลือครอบครัวที่กำลังขัดสน หญิงสาวจากชนบทที่โชคร้ายบางคนถูกล่อลวงและถูกบังคับให้ขายตัวในญี่ปุ่น ไต้หวัน ซาอุดิอาระเบีย และเยอรมันนี โดยเครือข่ายของแก๊งค้าประเวณีข้ามชาติ

บางคนอาจจะโต้แย้งว่า ผู้หญิงเหล่านั้นสามารถจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายในหมู่บ้านของตนในชนบท และสามารถจะยังชีพด้วยการทำนาและหัตถกรรมในครัวเรือน แทนที่จะต้องไปเป็นโสเภณี อย่างไรก็ตามยุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว ภายใต้นโยบายการพัฒนาประเทศจากรัฐบาลกลาง ถนน วิทยุ โทรทัศน์ และนิตยสารต่างๆได้เข้าไปถึงหมู่บ้านในชนบท ด้วยสื่อเหล่านี้ “ ศาสนาแห่งบริโภคนิยม ” ได้แพร่ระบาดไปถึง ผู้คนในชนบทไม่อาจมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย และมีความสุขตามขนบธรรมเนียมประเพณีและคุณค่าแบบเดิมได้อีกต่อไป (Sivaraksa 1992, 3-9) ในทางหนึ่งชีวิตเกษตรกรรมตามธรรมเนียมเดิมของคนชนบท ถูกคุกคามด้วยความแร้นแค้นยากจน ที่มาพร้อมกับโครงสร้างเกษตรกรรมใหม่ที่ต้องพึ่งพาเมือง การเปลี่ยนมือของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และระบบอุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่ ในอีกทางหนึ่งลัทธิบริโภคนิยมที่มาพร้อมกับสื่อต่างๆ ได้ปลุกเร้าคนชนบทให้ต้องการบริโภคสินค้ามากขึ้น ทุกวันนี้ครอบครัวส่วนใหญ่ในชนบทถูกฉีกกระชากด้วยพลังสองพลังนี้ ภายใต้สภาพเช่นนี้เป็นการยากที่จะให้เด็กหนุ่มเด็กสาวในชนบทใช้ชีวิตและมีความสุขอยู่ที่บ้าน ปัจจุบันหมู่บ้านส่วนใหญ่ในชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือและภาคอีสาน ได้กลายเป็นเพียงที่อยู่อาศัยของเด็กเล็กและคนแก่ที่ถูกทอดทิ้งอยู่เบื้องหลัง

โสเภณีไทยไม่เพียงแต่ต้องเผชิญกับการกดขี่ทางเพศเท่านั้น แต่ยังต้องเผชิญหน้ากับความเป็นความตายของโรคเอดส์อีกด้วย ในประเทศไทยประชากรที่ได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) อันเป็นต้นเหตุของโรคเอดส์นั้นมีสัดส่วนสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โสเภณีไทยเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดโรคเอดส์ โดยพื้นฐานแล้วโสเภณีเป็นผลข้างเคียงของโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่เป็นธรรม โสเภณีเป็นรูปแบบที่ชัดเจนที่สุดของการกดขี่ทางเพศ และการละเมิดสิทธิสตรีในขั้นพื้นฐาน โสเภณีเป็นข้อเท็จจริงของเมืองไทยที่รู้กันไปทั่ว แต่ก็มีการพูดถึงปัญหานี้ในที่สาธารณะไม่มากนัก นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีและชาวพุทธที่ต้องการเห็นสังคมที่ดีกว่าได้เริ่มต้นพูดบ้างแล้ว เพื่อปกป้องสิทธิของผู้ที่เป็นแม่ พี่สาว น้องสาว ลูกสาว และหลานสาวของสังคมไทย โดยการชี้ให้เห็นถึงรากเหง้าของปัญหาว่า โสเภณีเกิดจากค่านิยมวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ถูกบิดเบือน อันเนื่องมาจากโครงสร้างความยากจนยุคใหม่ และจากการหลอกลวงของแก๊งอาชญากรรมข้ามชาติ

ความไม่เสมอภาคและไร้ประสิทธิภาพของการจัดการศึกษาของรัฐ ทำให้เด็กเล็กทั้งชายและหญิงในชนบทที่ห่างไกลต้องขาดโอกาสทางการศึกษาเป็นจำนวนมาก สำหรับเด็กชายที่ด้อยโอกาสนั้นพ่อแม่มักนิยมส่งไปบวชเรียนในวัดใกล้บ้าน เมื่อได้รับการเลี้ยงดูให้เติบโตขึ้นภายในวัด พร้อมทั้งได้รับการอบรมทางศีลธรรมและจากการศึกษาตามระบบของคณะสงฆ์แล้ว เด็กเหล่านั้นในที่สุดแล้วได้กลายเป็นพระภิกษุและสามเณรส่วนใหญ่ของประเทศ และเมื่อได้สึกหาลาเพศไปแล้วส่วนใหญ่ก็จะกลายเป็นพลเมืองดีที่ทำประโยชน์ต่อสังคม สถาบันภิกษุจึงเป็นทางออกที่สำคัญของเด็กชายไทยที่ด้อยโอกาส ให้สามารถได้รับการศึกษาและกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้อย่างมีเกียรติ ส่วนผู้ที่ประสงค์จะแสวงหาโมกขธรรมในฐานะพระภิกษุต่อไปก็ย่อมกระทำได้ และยังเป็นที่เคารพนับถือของคนส่วนใหญ่อีกด้วย

สำหรับเด็กผู้หญิงในชนบทที่ห่างไกลนั้นมิได้รับโอกาสเช่นนี้ เด็กผู้หญิงที่ถือว่าโชคดีจะได้รับการดูแล การศึกษา และการฝึกอาชีพ โดยองค์กรการกุศลต่างๆ เช่น มูลนิธิคุ้มครองเด็ก สาวิกาสิกขาลัย หรือโรงเรียนพุทธเกษตร เป็นต้น รวมทั้งสำนักอย่างวัดสามพรานของอดีตพระ “ ภาวนาพุทโธ ” ด้วย ส่วนเด็กสาวที่โชคร้ายต้องไปเป็นโสเภณีโดยแรงบีบคั้นทั้งจากความยากจน ลัทธิบริโภคนิยมที่มากับสื่อต่างๆ และค่านิยมที่ผิดของการขายลูกสาว รวมทั้งจากการถูกล่อลวงโดยแก๊งค้าประเวณีข้ามชาติ สำหรับเด็กสาวที่ถือว่า “ โชคดี ” เหล่านั้น บางครั้งก็ยังต้องเผชิญกับการถูกข่มขืนกระทำชำเราอย่างเช่นที่เกิดขึ้นที่วัดสามพรานอีกด้วย ปัญหาจึงมีอยู่ว่า ทำอย่างไรเด็กผู้หญิงซึ่งด้อยโอกาสเหล่านั้นจึงจะได้รับการอุปการะเลี้ยงดูและได้รับการศึกษาอย่างเป็นระบบและมั่นคง โดยไม่ต้องตกเป็นเหยื่ออย่างในกรณีของอดีตพระ “ ภาวนาพุทโธ ” อีก

การฟื้นฟูสถาบันภิกษุณีขึ้นมาใหม่ น่าจะเป็นทางออกของเด็กผู้หญิงที่ยากจนในชนบท เช่นเดียวกับการที่สถาบันภิกษุได้ให้ทางออกที่เป็นจริง และสอดคล้องกับวัฒนธรรมพุทธของไทยแก่เด็กผู้ชายที่ยากจนในชนบทมาแล้ว การตั้งสถาบันภิกษุณีขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งนั้น จะทำให้สถานะทางศาสนาของสตรีเทียบเท่ากับของบุรุษ ในทางหนึ่งเมื่อผู้หญิงเกิดความสนใจและศรัทธาในศาสนาขึ้นมา ก็สามารถจะบวชเรียนเป็นสามเณรีหรือภิกษุณี ศึกษาและปฏิบัติธรรมโดยตรงในหมู่ผู้หญิงด้วยกันเองได้ ไม่จำเป็นต้องไปห้อมล้อมหรือขออาศัยอยู่ในวัดของพระภิกษุ อันจะเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมของบรรดาเรื่องอื้อฉาวทั้งหลายที่เกิดขึ้นระหว่างสีกากับพระ การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ของการปฏิบัติธรรมต่อกันระหว่างภิกษุกับภิกษุณีย่อมสามารถจะกระทำได้ โดยการติดต่อกันอย่างเป็นกิจจลักษณะและเปิดเผย ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย

ในอีกทางหนึ่งการตั้งสถาบันภิกษุณี จะทำให้ผู้หญิงสามารถเป็นเจ้าอาวาสในวัดของภิกษุณีได้ เป็น ปวัตตินีหรืออุปัชฌาย์ฝ่ายหญิง ทำหน้าที่บวชผู้หญิงให้เป็นสามเณรีหรือภิกษุณีได้ สามารถรับเด็กผู้หญิงที่ด้อยโอกาสในสังคมมาบวชเรียน ให้การอุปการะเลี้ยงดูและโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กผู้หญิงเหล่านั้นในรูปของสามเณรีและภิกษุณี เช่นเดียวกับที่เด็กผู้ชายได้รับจากวัดในรูปของสามเณรและพระภิกษุ เมื่อสามเณรีและภิกษุณีเหล่านั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ได้รับการอบรมทางศีลธรรมและการศึกษาแล้ว ก็ย่อมจะเป็นพลเมืองดีของประเทศไปด้วย สามเณรีและภิกษุณีเหล่านั้นสามารถจะสึกหาลาเพศออกไปมีครอบครัว หรือจะใช้ชีวิตนักบวชต่อไปตามสมัครใจก็ย่อมได้

การฟื้นฟูสถาบันภิกษุณีดังกล่าวนี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนและด้อยโอกาสของผู้หญิงจำนวนมหาศาลในสังคมไทยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องโสเภณีและการใช้แรงงานเด็ก เพราะเมื่อเด็กผู้หญิงที่ยากจนในชนบทมีทางออกที่ดีกว่าแล้ว โอกาสที่จะไปเป็นโสเภณีหรือถูกบังคับให้ขายแรงงานตั้งแต่อายุยังน้อยก็ย่อมจะลดน้อยลงไปด้วย อีกประการหนึ่งการที่ผู้หญิงได้ปกครองผู้หญิงด้วยกันเองในองค์กรทางศาสนา กล่าวคือในสถาบัน “ ภิกษุณี ” นั้น ทำให้โอกาสที่ผู้หญิงหรือเด็กสาวจะตกเป็นเหยื่อทางกามารมณ์ของเจ้าสำนักหรือเจ้าอาวาสเพศชายนั้น ลดน้อยลงไปหรืออาจจะหมดไปได้ในที่สุด

การล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นในวัดหรือองค์กรศาสนานั้น ถ้ามองดูอย่างผิวเผินและเป็นปัจเจกแล้วก็อาจจะบอกว่า ต้นเหตุของปัญหาคือ ตัณหา ( กามราคะ ) ของผู้ชายที่เป็นนักบวช แต่ถ้าเรามองดูโครงสร้างของศาสนาและสังคมแล้ว จะเห็นได้ว่าสาเหตุที่แท้จริงก็คือ การที่ผู้หญิงขาดสถาบันทางศาสนาของผู้หญิงเองมารองรับมากกว่า เพื่อเป็นทางออกให้แก่ผู้หญิงที่แสวงหาที่พึ่งทางใจในทางธรรมอย่างหนึ่ง และเป็นทางออกของเด็กผู้หญิงที่ด้อยโอกาสในชนบท ( รวมทั้งเด็กหญิงชาวไทยภูเขา ) ด้วยอีกอย่างหนึ่ง ผู้หญิงจึงต้องหันมาพึ่งพาสถาบันภิกษุอันเป็นสถาบันทางศาสนาของเพศชาย เมื่อชายและหญิงคลุกคลีกันมากในสถาบันทางศาสนา ทั้งที่เป็นกิจจลักษณะและไม่เป็นกิจจลักษณะแล้ว เรื่องอื้อฉาวอย่างในกรณีของอดีตพระยันตระก็เกิดขึ้นได้โดยง่าย และเมื่อเด็กผู้หญิงที่ด้อยโอกาสทั้งทางเศรษฐกิจและการศึกษา ต้องมาพึ่งพาการอุปการะจากนักบวชเพศชายแล้ว โอกาสที่เด็กสาวเหล่านั้นจะตกเป็นเหยื่อ ดังเช่นในกรณีของอดีตพระ “ ภาวนาพุทโธ ” ก็เกิดขึ้นได้โดยง่ายเช่นเดียวกัน การฟื้นฟูสถาบันภิกษุณีขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งนั้นจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นและสำคัญ และจะทำให้ “ พุทธบริษัทสี่ ” อันประกอบด้วย ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ครบถ้วนสมบูรณ์ดังในครั้งพุทธกาลอีกวาระหนึ่ง
--
[1] คำว่า “มนู” แปลว่า ผู้ฉลาด ส่วนคำว่า “สมฤติ” หมายถึง คำสอนของครูบาอาจารย์ที่สอนโดยการท่องจำด้วยปากสืบทอดกันต่อๆมา คัมภีร์นี้จึงไม่น่าจะใช่งานเขียนของบุคคลที่ชื่อว่า “มนู” ดังที่เข้าใจกันโดยทั่วไป แต่เป็นการรวบรวมงานเขียนของบุคคลหลายคนเข้าไว้ด้วยกัน เป็นคัมภีร์ที่เขียนโดยพราหมณ์ เพื่อพราหมณ์ สตรีจึงต้องเสียสละอิสรภาพให้กับความยิ่งใหญ่ของพราหมณ์ ซึ่งเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์และชะตากรรมของคนในวรรณะต่างๆ (ฉัตรสุมาลย์ 2542 : 14-15)

[2] คำว่า “มานว” แปลว่า อันสืบเนื่องจากมนู ดังนั้น “มานวธรรมศาสตร์” จึงมีความหมายสองนัย ความหมายแรกหมายถึง คัมภีร์ที่รวมไว้ซึ่งคำสอนของมนูที่กำหนดหน้าที่ของคนในสังคมตามระบบวรรณะ ความหมายที่สองหมายถึง คัมภีร์อันว่าด้วยธรรมะหรือหน้าที่ของมนุษย์อันพึงเป็นไปในสังคม (ฉัตรสุมาลย์ 2542 : 14)

[3] “นิพพาน” เป็นคำบาลีตรงกับคำว่า “นิรวาณ” ในภาษาสันสกฤต ถือเป็นเป้าหมายสูงสุดในพุทธศาสนา

[4] ตามทรรศนะของอนันทนันท์ รามบาชาน (Anantanand Rambachan) ศาสนาเชนซึ่งตั้งขึ้นโดยพระมหาวีระในยุคสมัยเดียวกับพระพุทธเจ้านั้นก็มีสถาบันนักบวชหญิงเช่นเดียวกัน แต่ศาสนาเชนมิได้เป็นศาสนาที่ใหญ่และสำคัญของโลกแต่อย่างใดแม้จนกระทั่งปัจจุบัน

[5] วินัยกรรมที่สงฆ์ทำแก่ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสให้เป็นภิกษุที่นับเข้าในหมู่สงฆ์ได้ เช่น สวดมานัต

[6] คาถาหรือเพลงสวดเหล่านี้เป็นการแสดงออกถึงความปลาบปลื้มยินดีที่ภิกษุได้รับ หลังจากที่ได้ออกบวชและต่อมาได้บรรลุธรรม

[7] ผู้หญิงไทยทำงานถึง 45 % นับเป็นสถิติที่สูงที่สุดในเอเชีย

[8] ผู้หญิงชาวนาในประเทศไทยถูกพ่อแม่ขายด้วยการทำ “สัญญา” อันหมายถึงผู้หญิงเหล่านี้ต้องตกอยู่ในมือของเจ้าของจนกว่าจะสามารถหาเงินได้ครบตามสัญญา ผู้หญิงเหล่านี้บางคนถูกล่ามโซ่ในห้อง ดังที่ปรากฏเป็นข่าวในกรณีเพลิงไหม้รีสอร์ทของไทยแห่งหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้หญิงที่ถูกจองจำในห้องด้านหลังเสียชีวิตไปหลายคน (Bound 1991: 134)

[9] สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับโสเภณีและการแก้ปัญหา ดู Brock and Thistlewaite, 1996.

[10] แม้ว่าระบบโสเภณีและอุตสาหกรรมทางเพศระหว่างประเทศ จะกดขี่ผู้ใหญ่และเด็กทั้งสองเพศ แต่โสเภณีและผู้ที่ทำงานทางเพศจำนวนมหาศาลในประเทศไทยนั้นเป็นผู้หญิงและเด็กผู้หญิง

[11] ผู้หญิงสาวมีจำนวนถึง 80 % ของคนงานค่าจ้างต่ำในโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทย เพลิงไหม้เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 ที่โรงงานของบริษัทอุตสาหกรรมเคเดอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ในเขตพุทธมณฑล ซึ่งทำให้คนงานอย่างน้อย 213 คนเสียชีวิต และบาดเจ็บอีกกว่า 500 คน โดยคนงานเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ได้เผยให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมของการทำงาน และมาตรฐานความปลอดภัยของหญิงสาวส่วนมากในโรงงาน เพลิงไหม้ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ร้ายแรงยิ่งกว่าเพลิงไหม้ที่โรงงานของบริษัทไทรแองเกิล เชิร์ทเวสท์ (Triangle Shirtwaist Co.) ในเมืองนิวยอร์ค เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2454 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 156 คนเสียอีก ( Philadelphia Inquiror, May 12, 1993.)

[12] สำหรับรายละเอียดของวิกฤติการณ์โรคเอดส์ในประเทศไทย ดู Bonacci, 1992. ***                      

Photo : https://pixabay.com/photos/theravada-buddhism-nuns-meditation-3818886/

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo