ปัจจุบันกระแสธารกำลังย้อนกลับ สถาบันภิกษุณีซึ่งเคยรุ่งเรืองบนเกาะลังกานับพันปีและสูญหายไปพร้อมกับสถาบันภิกษุ กำลังฟื้นกลับคืนมาใหม่อย่างเต็มรูปแบบ พุทธศาสนาของศรีลังกาปัจจุบันมีภิกษุณีและสามเณรีจำนวนหลายพันรูป ศรีลังกาได้กลายเป็นแหล่งบันดาลใจอีกครั้งหนึ่งให้แก่พุทธศาสนาของไทยและอุษาคเนย์ โดยสตรีไทยได้เดินทางไปประกอบพิธีบรรพชาเป็นสามเณรีและอุปสมบทเป็นภิกษุณีจาก "ปวัตตินีย์" (อุปัชฌาย์ฝ่ายหญิง) ชาวศรีลังกาอย่างต่อเนื่อง การแลกเปลี่ยนทางพุทธศาสนาระหว่างศรีลังกากับไทยยังคงดำรงอยู่อย่างแนบแน่นไม่ขาดระยะ ทั้งในประวัติศาสตร์อันไกลโพ้นและในสภาวการณ์ของโลกปัจจุบัน
ท่ามกลางบรรยากาศอันร้อนระอุของการเมืองไทย กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ภายใต้การนำของ ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศ และท่านธนาธิป อุปัติศฤงค์ รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ได้พาคณะผู้แทนจากประเทศไทย อันประกอบด้วยเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม สื่อมวลชน และศิลปิน รวมทั้งตัวแทนนักศึกษาในฐานะยุวทูต รวมจำนวน 26 คน ไปเยือนประเทศอินเดียและศรีลังกา ท่ามกลางอากาศอันร้อนระอุ ในระหว่างวันที่ 20-27 มีนาคม พุทธศักราช 2549 ภายใต้โครงการ "การเดินทางแห่งสติปัญญาใน BIMSTEC" (The Walk of Wisdom in BIMSTEC)
ระหว่างที่อยู่ในประเทศอินเดียตั้งแต่วันที่ 20-23 มีนาคม 2549 นั้น คณะได้รับการต้อนรับที่อบอุ่นทั้งจากสถานทูตไทยและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอินเดีย จุดหมายใหญ่ของการเดินทางคือ ถ้ำอะชันตา (Ajanta Caves) และถ้ำเอลโลรา (Ellora Caves) ในเมืองโอรางคบัด (Aurangabad) ของอินเดีย ถ้ำอะชันตาเป็นผลงานสร้างสรรค์ของชาวพุทธอินเดีย ซึ่งสร้างขึ้นสองยุคด้วยกัน ยุคแรกประมาณศตวรรษที่ 2 ถึงที่ 1 ก่อนคริสตศักราช ภายในถ้ำถูกเจาะเป็น "วิหาร" สำหรับพระภิกษุเพื่อปฏิบัติสมาธิภาวนา และ "เจดีย์" เพื่ออุทิศแด่พระพุทธเจ้า ยุคนี้มีแต่ภาพเขียนสีน้ำบนผนังถ้ำเล่าเรื่องราวชาดกและพุทธประวัติ ที่น่าสนใจก็คือพระพุทธเจ้าถูกแทนด้วยสัญลักษณ์ เช่น ดอกบัว หรือธรรมจักร เป็นต้น เป็นคติความเชื่อของพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม (เถรวาท)
ยุคที่สองสร้างประมาณคริสตศตวรรษที่ 5 ถึงที่ 6 ภายในถ้ำถูกเจาะเป็น "วิหาร" และ "เจดีย์" เช่นเดียวกับยุคแรก แต่มีการแกะสลักพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์หลายพระองค์บนเจดีย์และผนังวิหาร แสดงให้เห็นถึงคติความเชื่อของพุทธศาสนาแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ (มหายาน) ถ้ำอะชันตาในยุคแรกบางถ้ำถูกเขียนต่อเติม (หรือซ่อมแซม) รวมทั้งถูกแกะสลักพระพุทธรูปเพิ่มเติม นับเป็นการทับซ้อนของสองยุคในถ้ำเดียวกัน
สำหรับถ้ำเอลโลราแบ่งเป็นสามกลุ่ม คือวิหารของศาสนาเชน พุทธศาสนา และศาสนาฮินดู วิหารทั้งหมดเป็นศิลปกรรมการเจาะภูเขาทั้งสิ้น สร้างขึ้นระหว่างคริสตศักราชที่ 5 ถึงที่ 11 ในวิหารของศาสนาเชน รูปแกะสลักของศาสดา "มหาวีระ" มีลักษณะเด่นคือเห็นอวัยวะเพศ (ชาย) อย่างชัดเจน อันเป็นการแสดงออกถึงการบูชา "ศิวะลึงก์" ในแบบของเชน และสะท้อนคติความเชื่อของนิกาย "ฑิฆัมพร" (ลัทธิชีเปลือย) ของเชนอีกด้วย ส่วนวิหารของพุทธศาสนาที่เอลโลรานั้นเป็นคติความเชื่อแบบ "มหายาน" มีศิลปกรรมการแกะสลักผนังถ้ำเป็นพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์อันวิจิตรมากมาย พระพักตร์ของพระพุทธเจ้าหรือพระโพธิสัตว์แสดงออกถึงความสงบและเมตตากรุณา ซึ่งผิดจากพระพักตร์ของเทวรูปในศาสนาฮินดูซึ่งแสดงออกทั้งร่าเริง เกรี้ยวกราด หรือโศกเศร้า คล้ายกับมนุษย์
สุดยอดของอารยธรรมการแกะสลักภูเขาอันวิจิตรพิศดารของอินเดียนั้นได้แก่ วิหาร "ไกรลาส" อันเชื่อว่าเป็นที่ประทับของพระศิวะ (พระเจ้าที่ชาวฮินดูเคารพยำเกรงมากที่สุด) วิหารไกรลาศเป็นปฏิมากรรมชิ้นเอกของอินเดียและของโลก นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์เหนือคำบรรยายใดๆ ที่ภูเขาทั้งลูกถูกแกะสลักให้เป็นวิหารขนาดใหญ่สองชั้นและสองหลัง ซึ่งทั้งชั้นบนและชั้นล่างมีทางเดินเชื่อมติดต่อกัน การแกะสลักวิจิตรพิสดารทั้งภายในและภายนอกวิหาร ทั้งในแบบของเทวรูปและภาพแกะสลักผนังถ้ำ เล่าเรื่องราวของพระเจ้าต่างๆ ในศาสนาฮินดู มหากาพย์ "รามายณะ" และคติความเชื่ออื่นๆ ของชาวฮินดู มีเสาหินแกะสลักที่สูงใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่ทั้งสองข้าง ภูเขารอบๆ วิหารถูกเจาะเป็นทางเดินและแกะสลักเป็นเทวรูปต่างๆ ทั้งหมดนี้เป็นปฏิมากรรมบนหินก้อนเดียวกันที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ศาสนาที่เกิดในอินเดียมีสองสายใหญ่ๆ ด้วยกัน สายแรกคือ "พหุเทวนิยม" (Polytheism) เป็นศาสนาที่นับถือพระเจ้าหลายองค์ อันได้แก่ศาสนาฮินดู (Hinduism) สายที่สองคือ "อเทวนิยม" (Atheism) เป็นศาสนาที่ไม่เชื่อการมีอยู่ของพระเจ้า ได้แก่ศาสนาเชน (Jainism) และพุทธศาสนา (Buddhism) ศาสนาเชนเป็นศาสนาที่เกิดก่อนพุทธศาสนาอยู่หลายร้อยปี โดยมีศาสดามาแล้วหลายพระองค์แต่ไม่สู้เด่นนัก จนถึง "มหาวีระ" (Mahvira) อันเป็นองค์ที่ 24 และร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า มหาวีระได้รับการยกย่องให้เป็นศาสดาที่ยิ่งใหญ่ และศาสนาเชนได้กลายเป็นคู่แข่งที่สำคัญของพุทธศาสนาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลจนถึงยุคปัจจุบัน
ศาสนาในอินเดียแม้จะมีปรัชญาและการปฏิบัติที่แตกต่างกัน แต่ก็มีโลกทัศน์ร่วมกันคือ เห็นว่าชีวิตนี้เป็นทุกข์ มนุษย์สามารถเข้าถึง "ความพ้นทุกข์" (ฮินดูเรียกว่า "โมกษะ" เชนเรียกว่า "ไกลวัลย์" พุทธเรียกว่า "นิพพาน") ได้ และหนทางที่จะเข้าถึงก็คือ "สมาธิภาวนา" (โดยแต่ละศาสนาก็มีวิธีการของตนเอง) ศาสนาที่เกิดในอินเดียล้วนยึดหลัก "อหิงสา" (สันติวิธี) และการต่อสู้แข่งขันระหว่างศาสนาก็เป็นการ "ต่อสู้ทางความคิด" อันเป็นวิถีแห่งอารยะโดยแท้
ระหว่างวันที่ 24-27 เมษายน พุทธศักราช 2549 คณะผู้แทนไทยได้เยือนประเทศศรีลังกา โดยได้รับการต้อนรับที่อบอุ่นจากท่านเอกอัครราชทูตไทย เจ้าหน้าที่สถานทูตไทยประจำกรุงโคลัมโบ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของศรีลังกา คณะของเราได้เยือนวัดกัลยาณีที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในกรุงโคลัมโบ ถ้ำรังคีรี (Rangiri Cave) อันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปอันเก่าแก่ กับสีหคีรี (Sigiriya) อันเป็นพระราชวังเก่าแก่ (คริสต์ศตวรรษที่ 5) ในเมืองธรรมปุระ และวัดพระเขี้ยวแก้วอันมีชื่อเสียงในเมืองแคนดี้ ได้เห็นถึงศรัทธาอันมั่นคงในพุทธศาสนา และการรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าเขาลำเนาไพรและธารน้ำใสสะอาด ที่ยังมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ทั่วทั้งเกาะลังกาในปัจจุบัน
ภายในโบสถ์ของวัดกัลยาณีนอกจากจะมีจิตรกรรมฝาผนังอันวิจิตรงดงาม เล่าเรื่องราวพุทธประวัติและพุทธศาสนาในศรีลังกาแล้ว ยังมีภาพเขียนที่สำคัญอายุเก่าแก่กว่า 300 ปี ทั้งด้านขวาและด้านซ้ายของพระประธานอีกด้วย โดยภาพเขียนด้านขวาเป็นภาพของภิกษุณีสังฆมิตตา พระราชธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดีย ทรงยืนบนหัวเรือที่แล่นฝ่าคลื่นลม เพื่อนำสถาบันภิกษุณีและกิ่งพระศรีมหาโพธิ์จากอินเดียมาสถาปนาไว้ยังเกาะลังกา ส่วนภาพเขียนด้านซ้ายเป็นภาพของเจ้าชายสุทันธะและเจ้าหญิงเหมะมาลา ที่ทรงอัญเชิญพระทันตธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากอาณาจักรกาลิงคะในอินเดียมาประดิษฐานไว้ในลังกา
ตลอดประวัติศาสตร์กว่า 2,500 ปีที่ผ่านมา ชาวศรีลังกาได้ต่อสู้เพื่อปกป้องพุทธศาสนาให้ยืนยงเคียงคู่แผ่นดินลังกามาอย่างยาวนานและยากลำบาก ในอดีตพุทธศาสนาเคยถูกทำลายจนสูญหายไปจากเกาะลังกาถึง 3 ครั้ง โดยสองครั้งแรกจากการรุกรานของราชวงศ์โจฬะ (Chola Dynasty) แห่งอินเดียใต้ และครั้งที่สามจากการรุกรานของโปรตุเกสในยุคอาณานิคม ที่มุ่งทำลายพุทธศาสนาเพื่อสถาปนาศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิคขึ้นแทน พร้อมกับการทำลายพุทธศาสนาจากกษัตริย์ชาวทมิฬของศรีลังกาเองที่นับถือศาสนาฮินดู ทำให้พุทธศาสนาสูญสิ้นไปจากเกาะลังกา
หลังจากกอบกู้เอกราชกลับคืนมาได้ พระเจ้ากีรติศรีราชสิงห์ได้ส่งราชทูตมาขอพระสงฆ์ไทยจากพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์แห่งอยุธยา ในปี พ.ศ.2296 คณะสงฆ์ไทยนำโดยพระอุบาลีได้เดินทางไปฟื้นฟูสถาบันสงฆ์ถึงเกาะลังกา โดยได้รับการต้อนรับจากสามเณรสรณังกร ซึ่งต่อมาได้เป็นพระสังฆราชรูปแรกแห่ง "สยามวงศ์" อันเป็นนิกายที่สำคัญที่สุดในศรีลังกา ในปี พ.ศ.2546 รัฐบาลศรีลังกาและไทยได้เฉลิมฉลองวาระครบรอบ 250 ปี แห่งความสัมพันธ์ทางพุทธศาสนาระหว่างกันอย่างยิ่งใหญ่ โดยรัฐบาลศรีลังกาได้มอบกิ่งพระศรีมหาโพธิ์มาปลูกในวัดธรรมาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อันเป็นวัดเดิมของพระอุบาลี เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในครั้งนั้น
ปัจจุบันกระแสธารกำลังย้อนกลับ สถาบันภิกษุณีซึ่งเคยรุ่งเรืองบนเกาะลังกานับพันปีและสูญหายไปพร้อมกับสถาบันภิกษุ กำลังฟื้นกลับคืนมาใหม่อย่างเต็มรูปแบบ พุทธศาสนาของศรีลังกาปัจจุบันมีภิกษุณีและสามเณรีจำนวนหลายพันรูป ศรีลังกาได้กลายเป็นแหล่งบันดาลใจอีกครั้งหนึ่งให้แก่พุทธศาสนาของไทยและอุษาคเนย์ โดยสตรีไทยได้เดินทางไปประกอบพิธีบรรพชาเป็นสามเณรีและอุปสมบทเป็นภิกษุณีจาก "ปวัตตินีย์" (อุปัชฌาย์ฝ่ายหญิง) ชาวศรีลังกาอย่างต่อเนื่อง การแลกเปลี่ยนทางพุทธศาสนาระหว่างศรีลังกากับไทยยังคงดำรงอยู่อย่างแนบแน่นไม่ขาดระยะ ทั้งในประวัติศาสตร์อันไกลโพ้นและในสภาวการณ์ของโลกปัจจุบัน.
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ปีที่ ๒๙ ฉบับที่ ๑๐๒๗๐. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า ๖.
Photo : https://pixabay.com/photos/shop-vendor-magazine-man-singapore-805536/