การออกมาเคลื่อนไหวของหลวงตามหาบัวและสานุศิษย์ รวมทั้งนายทองก้อน วงศ์สมุทร จึงนับเป็นการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน และพระสงฆ์ภาคประชาชนโดยแท้ เพื่อเรียกร้องอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ และภาคประชาชนให้กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อการถ่วงดุลอำนาจรัฐและคณะสงฆ์ภายใต้อำนาจรัฐ
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2548 พระธรรมวิสุทธิมงคล หรือหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ได้ถวายฎีกาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เพื่อถอดสมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ) ออกจากสมณศักดิ์ และไม่โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายวิษณุ เครืองาม ให้ดำรงตำแหน่งในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยอ้างว่าเคยส่งเรื่องให้รัฐบาลทบทวน 4 ฉบับแล้ว แต่ไม่เคยได้รับคำตอบเลย จึงต้องถวายฎีกาพระเจ้าอยู่หัว
เรื่องหลวงตามหาบัวถวายฎีกานี้ สื่อมวลชนไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญ และมีพระวัดป่าและญาติธรรมกว่า 3,000 รูป รวมทั้งพระเกจิชื่อดัง เช่น พระอาจารย์อินถวาย สันตุสสโก วัดป่านาคำน้อย พระอาจารย์เพียร วิริโย วัดป่าหนองกอง และหลวงปู่บุญมี ปริสุนโน วัดป่านาตูน เป็นต้น ออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุน และกำลังอยู่ในความสนใจของประชาชน
ตามพระราชประเพณีแต่เดิมนั้น พระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นผู้แต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชมาตลอดทุกยุคทุกสมัย เมื่อสมเด็จพระสังฆราชทรงประชวร บางครั้งพระเจ้าแผ่นดินก็จะเสด็จฯมาทรงเยี่ยมไข้และทรงให้กำลังพระทัย และเมื่อสมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์ พระเจ้าแผ่นดินก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ตามพระราชอัธยาศัย ดังนั้น อำนาจในการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชจึงเป็นของพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน ทรงเป็นพระประมุขแห่งคณะสงฆ์ไทย ปัจจุบันแม้ว่าพระองค์จะทรงพระประชวร และประทับอยู่ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แต่ก็เสด็จออกรับแขกที่เข้าเฝ้าประจำวันได้ ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ ประการแรกสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช จะทรงมีสุขภาพที่ดีพอที่จะปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชได้หรือไม่ และใครคือผู้ตัดสินวินิจฉัยชี้ขาด ประการที่สอง ถ้าหากว่าสมเด็จพระสังฆราชทรงพระประชวรหนัก ไม่ทรงอยู่ในฐานะที่จะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งได้ ในพระราชประเพณีมีตำแหน่งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชหรือไม่ และถ้ามีใครคือผู้ชี้ขาดผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งนั้น
ตามข้อเท็จจริงที่ผ่านมา รัฐบาลโดยนายวิษณุ เครืองาม รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดที่แล้ว เป็นผู้ออกประกาศว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงพระประชวรหนัก ไม่ทรงอยู่ในฐานะที่จะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชได้ และนายวิษณุ เครืองาม เองก็เป็นผู้ออกประกาศแต่งตั้งสมเด็จพระพุฒาจารย์(หรือที่ประชาชนเรียกกันโดยย่อว่า สมเด็จเกี่ยว) ให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
กล่าวโดยสรุปก็คือ นายวิษณุ เครืองาม เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดทั้งสองประเด็นข้างต้น คำถามที่ติดตามมาก็คือ นายวิษณุ เครืองาม ในฐานะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดที่แล้ว มีอำนาจหน้าที่ในการกระทำดังกล่าวหรือไม่ และอำนาจหน้าที่นั้นจะถือเป็นการละเมิดหรือลิดรอนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามพระราชประเพณีแต่โบราณหรือไม่
สำหรับประการที่หนึ่งนั้น เป็นพระราชอำนาจโดยชอบธรรมของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ในขณะที่ยังทรงมีพระสติสัมปชัญญะดีอยู่ ที่จะทรงวินิจฉัยชี้ขาดสุขภาพของพระองค์เองว่า พระองค์จะทรงปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชต่อไปได้หรือไม่ นายวิษณุ เครืองาม ได้เข้าเฝ้าเพื่อทูลขอคำวินิจฉัยเกี่ยวกับสุขภาพส่วนพระองค์จากสมเด็จพระสังฆราชในเรื่องนี้แล้วหรือยัง ก่อนออกประกาศว่าพระองค์ทรงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งได้
สำหรับประการที่สองนั้น ถ้าหากสมเด็จพระสังฆราชทรงพระประชวรหนัก ถึงขั้นไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งต่อไปได้ ก็ไม่เคยปรากฏว่ามีการแต่งตั้งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชมาก่อน เพิ่งจะมีปรากฏก็แต่ในครั้งนี้ ส่วนอำนาจในการแต่งตั้งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชนั้น เป็นของพระมหากษัตริย์โดยพระราชประเพณี หรือเป็นของนายวิษณุ เครืองาม ในฐานะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดที่แล้วกันแน่ นายวิษณุ เครืองาม ได้เข้าเฝ้าเพื่อกราบบังคมทูลขอพระราชวินิจฉัยจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้วหรือยัง ก่อนการออกประกาศให้สมเด็จเกี่ยวทำหน้าที่ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชในครั้งนี้
การที่หลวงตามหาบัวถวายฎีกาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงถอดสมณศักดิ์สมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ) และไม่โปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายวิษณุ เครืองาม ให้ดำรงตำแหน่งในการบริหารราชการแผ่นดินในครั้งนี้จึงมีเหตุผลที่ฟังขึ้น การออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ของหลวงตามหาบัวและสานุศิษย์รวมทั้งนายทองก้อน วงศ์สมุทร จึงถือได้ว่าเป็นการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน (Civil Society) และพระสงฆ์ภาคประชาชน (Sangha Civil Society)
ถ้าวิเคราะห์ในเชิงโครงสร้างแล้ว การที่นายวิษณุ เครืองาม แต่งตั้งสมเด็จเกี่ยวให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชนั้น ก็เท่ากับว่ารัฐบาลเป็นผู้แต่งตั้งผู้นำของคณะสงฆ์ ทำให้คณะสงฆ์ต้องตกอยู่ภายใต้อาณัติของรัฐบาล และจะกลายเป็นเครื่องมือในการปกครองของรัฐบาลในที่สุด ความเป็นอิสระของคณะสงฆ์ก็จะหมดไป อีกประการหนึ่งการที่รัฐบาลเข้ามาเป็นผู้แต่งตั้งผู้นำคณะสงฆ์เสียเองนั้น ก็เท่ากับเป็นการลิดรอนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งผู้นำคณะสงฆ์ อันเป็นพระราชประเพณีที่สืบทอดมาแต่โบราณกาล
อำนาจของภาคประชาชนนั้นได้หมดสิ้นไปนานแล้ว ตั้งแต่มีการออกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เป็นต้นมา ประชาชนไม่อาจตรวจสอบพระสงฆ์ได้ดังในอดีต ระบบราชการในคณะสงฆ์เป็นผู้ตัดสินให้คุณให้โทษพระสงฆ์แทน สถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นสถาบันที่อิสระ อยู่เหนือการเมือง และเป็นสถาบันที่ตรวจสอบอำนาจของคณะสงฆ์(โดยการแต่งตั้งผู้นำคณะสงฆ์) มาโดยตลอดนั้น กำลังถูกท้าทายจากฝ่ายรัฐ หากสถาบันพระมหากษัตริย์ ภาคประชาชน และพระสงฆ์ภาคประชาชน ไม่อาจตรวจสอบอำนาจของคณะสงฆ์ (Sangha Hierarchy) ได้ และอำนาจของคณะสงฆ์ก็ถูกฝ่ายการเมืองเข้าครอบงำแล้ว พระพุทธศาสนาก็ตกอยู่ใต้อำนาจอิทธิพลทางการเมืองโดยสิ้นเชิง ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยก็เป็นสิ่งที่หวังได้ยาก
การออกมาเคลื่อนไหวของหลวงตามหาบัวและสานุศิษย์ รวมทั้งนายทองก้อน วงศ์สมุทร จึงนับเป็นการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน และพระสงฆ์ภาคประชาชนโดยแท้ เพื่อเรียกร้องอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ และภาคประชาชนให้กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อการถ่วงดุลอำนาจรัฐและคณะสงฆ์ภายใต้อำนาจรัฐ
--
ที่มา :หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับวันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 9864. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6.
Photo : https://pixabay.com/photos/monk-buddha-statue-sculpture-1782432/