พระภิกษุสงฆ์ก็เช่นเดียวกัน ถ้าหากตนเองมิได้ประพฤติตนดังเช่นคำวิพากษ์วิจารณ์ของศิลปินที่แสดงออกในภาพเขียนที่ชื่อ "ภิกษุสันดานกา" แล้ว ก็ไม่ควรที่จะต้องเดือดเนื้อร้อนใจแต่ประการใด เพราะชาวพุทธยังคงให้ความเคารพนับถือด้วยศรัทธาที่มั่นคงเหมือนเดิม มีแต่เพียงภิกษุซึ่งประพฤติตนมิชอบอันเข้าข่าย "ภิกษุสันดานกา" เท่านั้น ที่จะพึงเดือดเนื้อร้อนใจเพราะคำวิพากษ์วิจารณ์นั้น
การเคลื่อนไหวของสมัชชาชาวพุทธแห่งชาติ ที่ออกมาคัดค้านการแสดงภาพเขียนที่มีชื่อว่า "ภิกษุสันดานกา" โดยจิตรกรคือคุณอนุพงษ์ จันทร ซึ่งได้รับรางวัลเหรียญทองอันดับ 1 ประเภทจิตรกรรม ในการประกวดผลงานศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 53 ประจำปี พ.ศ.2550 กำลังเป็นข่าวและเป็นที่สนใจของสังคมไทยในขณะนี้
ปัจจุบันภาพเขียน "ภิกษุสันดานกา" กำลังจัดแสดงอยู่ที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ (ระหว่างวันที่ 7 กันยายน ถึงวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2550) โดยจะมีการนำภาพนี้ไปแสดงในมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศ (ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน พ.ศ.2550 ถึงวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2551)
ภาพเขียน "ภิกษุสันดานกา" เป็นภาพเขียนขนาดใหญ่ แสดงรูปผู้ที่แต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์ 2 คนเอาศีรษะชนกัน มีปากแหลมสีดำเป็นปากอีกา กำลังแสดงกิริยาแย่งด้ายสายสิญจน์และตะกรุดในบาตร เนื้อตัวสักยันต์เป็นรูปกบในท่ากำลังผสมพันธุ์กัน บริเวณลำตัวมีภาพตุ๊กแกกำลังอยู่ในท่าผสมพันธุ์เช่นกัน ในย่ามมีลูกกรอกชาย-หญิงเปลื้องผ้าเห็นอวัยวะเพศ โดยมีอีกาเกาะอยู่ที่ตัวของผู้ที่ห่มเหลืองทั้ง 2 คน
พระเทพวิสุทธิกวี ในฐานะเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรหนึ่งที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน ได้แสดงทรรศนะว่า พระภิกษุในภาพเขียน "ภิกษุสันดานกา" นั้นมีลักษณะเหมือนสัตว์นรก ทำให้ผู้ชมภาพโดยทั่วไปอาจคิดว่า พระสงฆ์มีพฤติกรรมดังที่แสดงออกในภาพ ส่วนอีกภาพหนึ่งที่มีชื่อว่า "หมา-นุษย์" (เป็นภาพสุนัขห่มจีวรหมอบนอนอยู่ และมีอีกาฝูงหนึ่งมาเกาะอยู่บนหลัง) ยิ่งเป็นภาพที่รับไม่ได้ เพราะเอาจีวรซึ่งเป็นของสูงไปห่มสัตว์เดรัจฉาน
ตามทรรศนะของพระเทพวิสุทธิกวี แม้ว่าคำว่า "ภิกษุสันดานกา" จะเป็นคำที่พระพุทธเจ้าทรงกล่าวตำหนิติเตียนพระภิกษุที่ประพฤติมิชอบในสมัยพุทธกาล และปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกก็ตาม แต่ก็อยู่ในรูปของคำพูด จึงดูไม่รุนแรงเหมือนกับที่เขียนออกมาเป็นภาพ การแสดงภาพเขียนดังกล่าวจึงนับเป็นการลบหลู่คณะสงฆ์ และเป็นการทำลายพุทธศาสนา ท่านกล่าวสรุปว่า จิตรกรผู้เขียนรูปยังไม่น่าตำหนิเท่ากับคณะกรรมการผู้พิจารณารางวัลระดับชาติชุดนี้ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปะหลายท่านด้วยกัน และเสนอทางออกว่า น่าจะถอยกันคนละก้าวเพื่อยุติปัญหานี้
ทางด้านศิลปินผู้เขียนรูป "ภิกษุสันดานกา" นั้น ต้องการจะวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของ "มารศาสนา" ผู้แอบแฝงมาในรูปของพระสงฆ์เพื่อแสวงหาลาภสักการะ หรือมีพฤติกรรมมิชอบผิดสมณะวิสัย อันไม่อาจเรียกว่าภิกษุสงฆ์อีกต่อไป นับเป็น "กาฝาก" ที่คอยบ่อนทำลายพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ และปรากฏเป็นข่าวอยู่เนืองๆ จึงวาดภาพ "ภิกษุสันดานกา" ออกมาในลักษณะที่เหมือน "เปรต" เต็มไปด้วยการเสพเมถุนและไสยศาสตร์ ซึ่งเป็นวิธีการของศิลปินที่เขียนภาพให้ดูสุดโต่งเข้าไว้ เพื่อต้องการชี้ให้เห็นประเด็นอย่างชัดเจน
อนึ่ง นกที่เรียกว่า "อีกา" ในวิธีคิดแบบไทยที่ปรากฏในรูปของนิทานพื้นบ้าน นิทานอีสป หรือนิทานคติธรรมนั้น มีอุปนิสัยชอบปกป้องและเอาแต่พวกพ้องของตัวเอง ขี้ลักขี้ขโมย เอารัดเอาเปรียบผู้อื่นทั้งทางตรงและทางอ้อม และใจดำ (ดังภาษิตไทยที่ว่า "ใจดำเหมือนกา") แต่ก็มีข้อดีอยู่อย่างหนึ่งคือ ขยัน ตื่นแต่เช้าออกทำมาหากิน
ในสังคม สถาบัน องค์การ หรือชุมชนใดๆ ก็ตาม การรู้จักวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง (self-criticism) นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเป็นกระบวนการตรวจสอบชี้จุดบกพร่องของกันและกัน เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น อันจะทำให้ชุมชน องค์การ สถาบัน หรือสังคมของตนนั้นเข้มแข็ง โปร่งใส และมั่นคงยิ่งขึ้นในระยะยาว การเขียนภาพ "ภิกษุสันดานกา" ครั้งนี้ก็อาจถือได้ว่า เป็นการวิพากษ์วิจารณ์กันเองในหมู่ชาวพุทธ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า พุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองหรือเสื่อมนั้น ก็ขึ้นอยู่กับพุทธบริษัททั้ง 4 (อันได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา) ที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหา จรรโลง และปกปักรักษา
ในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงตำหนิติเตียนภิกษุที่ประพฤติตนออกนอกลู่นอกทางด้วยถ้อยคำต่างๆ เช่น งูเปื้อนคูถ สุนัขขี้เรื้อน ป่าช้าผีดิบ สมณะแกลบ ดาบที่หมกอยู่ในจีวร ยาพิษในโลก ผู้จมมิดในหลุมคูถ และสันดานกา เป็นต้น เพื่อมิให้พระภิกษุสงฆ์รูปอื่นๆ ประพฤติปฏิบัติตาม โดยพระพุทธองค์ทรงตรัสแก่พระอานนท์ว่า
"อานนท์! เราไม่พยายามทำกะพวกเธออย่างทะนุถนอม เหมือนพวกช่างหม้อทำแก่หม้อที่ยังเปียกยังดิบอยู่ อานนท์! เราจักขนาบแล้วขนาบอีกไม่มีหยุด อานนท์! เราจักชี้โทษแล้วชี้โทษอีกไม่มีหยุด ผู้ใดมีมรรคผลเป็นแก่นสาร ผู้นั้นจักทนอยู่ได้"
เสรีภาพทางความคิดเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงศิลปะ ศิลปินมีหน้าที่ที่จะต้องสะท้อนความเป็นจริงของสังคมออกมาในรูปของศิลปะ แต่ขณะเดียวกันก็จะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ซึ่งเครือข่ายศิลปินแห่งประเทศไทยก็ได้ออกมายืนยันเช่นนั้น ดังนั้นถ้าหากจิตรกรผู้เขียนภาพ "ภิกษุสันดานกา" จะหมายถึง ผู้ที่แต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์ ปลอมปนมาบวชในพุทธศาสนา หรือผู้ห่มจีวรของพระภิกษุ แต่ประพฤติตนทุศีล แสวงหาลาภสักการะ ไม่รักษาพระธรรมวินัยแล้ว ก็น่าจะแก้ไขชื่อของภาพเขียนนี้ให้เจาะจงเฉพาะกลุ่มลงไป เช่น "ภิกษุทุศีล-สันดานกา" หรือ "พระสงฆ์ทุศีล-ภิกษุสันดานกา" เป็นต้น
พระภิกษุสงฆ์ก็เช่นเดียวกัน ถ้าหากตนเองมิได้ประพฤติตนดังเช่นคำวิพากษ์วิจารณ์ของศิลปินที่แสดงออกในภาพเขียนที่ชื่อ "ภิกษุสันดานกา" แล้ว ก็ไม่ควรที่จะต้องเดือดเนื้อร้อนใจแต่ประการใด เพราะชาวพุทธยังคงให้ความเคารพนับถือด้วยศรัทธาที่มั่นคงเหมือนเดิม มีแต่เพียงภิกษุซึ่งประพฤติตนมิชอบอันเข้าข่าย "ภิกษุสันดานกา" เท่านั้น ที่จะพึงเดือดเนื้อร้อนใจเพราะคำวิพากษ์วิจารณ์นั้น
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ปีที่ ๓๐ ฉบับที่ ๑๐๘๐๙ หน้า ๖.