ภิกษุณี : มุมมองทางประวัติศาสตร์

อังคุตตรนิกายได้บันทึกเรื่องราวของสตรีในพุทธศาสนาไว้อย่างรอบด้าน ทั้งภิกษุณีและอุบาสิกา ผู้ซึ่งอุทิศตนไม่เพียงแต่ในฐานะสานุศิษย์เท่านั้น แต่ยังในฐานะธรรมาจารย์อีกด้วยการออกบวชของพระนางปชาบดีโคตมีและการสถาปนาภิกษุณีสงฆ์ เป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังของความกล้าหาญและความตั้งใจอันแน่วแน่เด็ดเดี่ยว ที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะสามารถให้แก่สังคมในยุคสมัยของนางได้ นับเป็นประวัติศาสตร์อีกบทหนึ่งของการปลดปล่อยสตรีให้เป็นอิสระ 
    

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
ภาควิชามนุษยศาสตร์ 
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยมหิดล

การตั้งภิกษุณีสงฆ์โดยพระพุทธเจ้าเมื่อกว่า 2,500 ปีนั้น เป็นความริเริ่มอย่างใหม่ เป็นการยอมรับสตรีว่ามีธรรมชาติแห่งภูมิธรรมอันสูงส่ง ความเข้มแข็งทางจริยธรรมและความสามารถทางสติปัญญาเสมอเหมือนผู้ชาย เหตุการณ์นี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์สองประการ ประการแรกพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตการสถาปนาภิกษุณีสงฆ์ในช่วงเวลาและสถานที่ในประวัติศาสตร์ ที่ซึ่งผู้หญิงถูกบีบคั้นกดดันให้อยู่ในสถานะที่ต่ำต้อยและไร้เกียรติในสังคม ประการที่สองแม้ว่าศาสนาอื่นจะเจริญรุ่งเรืองอยู่ในอินเดียและดินแดนอื่น แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีสถาบันนักบวชหญิงแต่อย่างใด

อังคุตตรนิกายได้บันทึกเรื่องราวของสตรีในพุทธศาสนาไว้อย่างรอบด้าน ทั้งภิกษุณีและอุบาสิกา ผู้ซึ่งอุทิศตนไม่เพียงแต่ในฐานะสานุศิษย์เท่านั้น แต่ยังในฐานะธรรมาจารย์อีกด้วยการออกบวชของพระนางปชาบดีโคตมีและการสถาปนาภิกษุณีสงฆ์ เป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังของความกล้าหาญและความตั้งใจอันแน่วแน่เด็ดเดี่ยว ที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะสามารถให้แก่สังคมในยุคสมัยของนางได้ นับเป็นประวัติศาสตร์อีกบทหนึ่งของการปลดปล่อยสตรีให้เป็นอิสระ

เมื่อพระนางสิริมหามายาสิ้นพระชนม์หลังจากประสูติเจ้าชายสิทธัตถะได้เพียง 7 วัน พระนางปชาบดีก็ทรงรับหน้าที่เลี้ยงดูเจ้าชายน้อย การปฏิบัติหน้าที่นี้ทำให้พระนางปชาบดีไม่เพียงแต่ได้รับความรู้สึกขอบคุณจากชาวพุทธทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังทำให้เจ้าชายสิทธัตถะทรงรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณต่อพระนางอีกด้วย ครั้นพระเจ้าสุทโธทนะเสด็จสวรรคต พระนางปชาบดีทรงตัดสินพระทัยที่จะสละโลก พระนางทรงเดินเท้าด้วยความยากลำบากและยาวนาน เพื่อทูลขออุปสมบทต่อพระพุทธเจ้าถึง 3 ครั้ง แต่มิได้รับอนุญาต ด้วยความรู้สึกสงสารและเห็นใจพระอานนท์สานุศิษย์ผู้ซื่อสัตย์ของพระพุทธเจ้าจึงได้ทูลขอการอุปสมบทต่อพระพุทธเจ้าแทนพระนางปชาบดี โดยทูลถามพระพุทธเจ้าว่า"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผู้หญิงที่ออกบวชจากเรือนไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือนแล้ว และได้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของพระตถาคตเจ้า จะสามารถสำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามีและพระอรหันต์ ได้หรือไม่"

"ผู้หญิงสามารถบรรลุธรรมเหล่านั้นได้...อานนท์"

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าผู้หญิงสามารถบรรลุธรรมเหล่านั้นได้ ก็พระนางปชาบดีโคตมีทรงเคยปฏิบัติภารกิจที่ยิ่งใหญ่ต่อพระองค์ผู้ประเสริฐ ด้วยทรงเป็นพระน้านาง ผู้เลี้ยงดู และผู้ให้นม ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระมารดา พระนางทรงให้นมแก่พระองค์ผู้ประเสริฐ เหตุไฉนเล่าพระองค์ผู้เจริญจึงจะมิทรงอนุญาตให้พระนางได้ออกบวชจากเรือน ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือนแล้ว ได้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของพระตถาคตเจ้า"

เมื่อทรงเผชิญกับคำอ้อนวอนที่หนักแน่นจากเพระอานนท์เช่นนั้น พระพุทธเจ้าจึงประทานการอุปสมบทแก่พระนางปชาบดี โดยมีเงื่อนไขว่าพระนางจะต้องทรงรักษา "คุรุธรรม 8 ประการ"ดังนี้

1. ภิกษุณีแม้บวชมานาน 100 พรรษา ก็ต้องลุกขึ้นแสดงความเคารพต่อพระภิกษุ แม้บวชในวันนั้น

2. ภิกษุณีไม่พึงจำพรรษาในที่ที่ปราศจากพระภิกษุ

3. ทุกกึ่งเดือน ภิกษุณีพึงปรารถนา 2 ประการจากภิกษุสงฆ์ คือ วันพระและวันแสดงธรรม

4. เมื่อออกพรรษาแล้ว ภิกษุณีพึงไถ่ถามในคณะสงฆ์ทั้งสองฝ่าย ในสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน หรือสงสัย

5. ภิกษุณีหากต้องอาบัติ จะต้องอยู่ "มานัต"(วินัยกรรมที่สงฆ์ทำแก่ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสเพื่อให้นับเข้าในหมู่สงฆ์อีกครั้ง) ในสงฆ์สองฝ่ายเป็นเวลากึ่งเดือน

6. เมื่อบวชเป็นสิกขามานาครบ 2 ปี จึงขออุปสมบทจากสงฆ์ทั้งสองฝ่าย

7. ภิกษุณีไม่พึงว่ากล่าวพระภิกษุ8.ภิกษุณีไม่พึงสั่งสอนภิกษุ แต่ภิกษุพึงสั่งสอนภิกษุณีได้

พระนางปชาบดีทรงยินดีที่จะปฏิบัติตาม ครั้นแล้วพระนางก็ทรงได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุณีรูปแรกในพุทธศาสนา นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ศาสนาของโลกที่สถาบันนักบวชหญิงได้ถูกจัดตั้งขึ้น และผู้หญิงได้รับการยอมรับในการใช้ชีวิตแบบสงฆ์ ตามบันทึกพระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า

"อานนท์ ถ้าผู้หญิงมิได้รับอนุญาตให้ละบ้านเรือนออกบวช เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือน ตามพระธรรมวินัยของพระตถาคตเจ้าแล้ว ชีวิตพรหมจรรย์และพระธรรมวินัยจักดำรงอยู่ได้นานหนึ่งพันปี อานนท์ แต่บัดนี้ผู้หญิงได้รับอนุญาตให้ละบ้านเรือนออกบวช เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือนตามพระธรรมวินัยของพระตถาคตเจ้า ชีวิตพรหมจรรย์และพระธรรมวินัยจักดำรงแพร่หลายอยู่ได้ไม่นาน เพียงห้าร้อยปีเท่านั้น อานนท์...

"อานนท์ เปรียบเหมือนบุคคลที่สร้างฝายกั้นน้ำด้วยความระมัดระวัง เพื่อการชลประทาน เพื่อป้องกันน้ำท่วม อานนท์ เราก็ได้ตั้งคุรุธรรม 8 ด้วยความระมัดระวัง เพื่อให้ปฏิบัติสืบทอดกันจนกว่าชีวิตจะหาไม่"

หลังจากการตั้งสถาบันภิกษุณีแล้ว ผู้หญิงจำนวนมากได้เข้ามาสู่คณะสงฆ์ ตามบันทึกในเถรีคาถา ภิกษุณีและสตรีนับพันได้บรรลุธรรมในระดับต่างๆ ในหมู่ภิกษุณีอย่างน้อยมี 13 รูป ที่ได้รับการสรรเสริญจากพระพุทธเจ้า เช่น ปชาบดีโคตมีเถรี ในฐานะผู้รู้ราตรีนาน คือเป็นปฐม ภิกษุณี ปฏาจราเถรี ในฐานะผู้เป็นเลิศทางพระวินัยและธัมมทินนาเถรี ในฐานะผู้เป็นเลิศทางสั่งสอนธรรม ในหมู่ฆราวาสผู้ที่ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้ามีเป็นจำนวนมาก เช่น นางวิสาขา ผู้เป็นเลิศในเรื่องทาน สามาวดี ผู้เป็นเลิศในเรื่องกรุณา และขัตติยานี ผู้เป็นเลิศในเรื่องศรัทธาที่มั่นคง ความสำเร็จในทางธรรมของสตรีเหล่านี้ทำให้ "พุทธบริษัท 4" ครบถ้วนสมบูรณ์ อันได้แก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา

คำถามที่มักจะถามกันบ่อยก็คือ เพราะเหตุใดพระพุทธเจ้าจึงทรงปฏิเสธพระนางปชาบดีมิให้บวชเป็นภิกษุณีในสามครั้งแรก แต่กลับทรงอนุญาตให้พระนางได้บวชเป็นภิกษุณีในครั้งที่สี่จนเกิดมีสถาบันภิกษุณีขึ้น ตามทรรศนะของสุวรรณาสถาอานันท์ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเงื่อนไขทางสังคมและวัฒนธรรมของอินเดียยุคนั้น ที่ผู้หญิงถูกกีดกันมิให้ยุ่งเกี่ยวกับศาสนาในทุกทาง ถ้าหากทรงอนุญาตให้ผู้หญิงได้เป็นนักบวชเป็นเนื้อเป็นตัวของศาสนาเสียเองนั้น สังคมอินเดียขณะนั้นอาจจะยอมรับไม่ได้ จึงทรงปฏิเสธไปถึงสามครั้งแรกด้วยคำนึงถึงเหตุผลทาง "โลกียะ" (สังคมและวัฒนธรรม) แต่เมื่อพระอานนท์ได้ทูลถามถึงศักยภาพของสตรีในการบรรลุธรรม อันเป็นเหตุผลทาง"โลกุตตระ"(มรรคผลนิพพาน) ซึ่งเป็นเหตุผลที่หนักแน่นกว่า พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้พระนางปชาบดีบวชเป็นภิกษุณีได้ามทรรศนะของฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ตภิกษุณีมิได้มีขึ้นเพื่อรับใช้พระภิกษุ เมื่อเหล่าภิกษุเริ่มเอารัดเอาเปรียบจากสถานะที่เหนือกว่า และเรียกร้องให้ภิกษุณีทำงานรับใช้ตนพระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติข้อห้ามขึ้น แม้ว่าคุรุธรรมข้อที่ 7 จะห้ามมิให้ภิกษุณีวิพากษ์วิจารณ์ความประพฤติของพระภิกษุ แต่อุบาสกและอุบาสิกาก็ได้รับอนุญาตให้วิพากษ์วิจารณ์ได้ ขณะเมื่อพระพุทธองค์ทรงพระชนม์อยู่นั้น อำนาจและอภิสิทธิของเพศชายในคณะสงฆ์ถูกตรวจสอบอยู่เสมอ

เชื่อกันว่า คัมภีร์พระไตรปิฎกได้รับการบันทึกภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วกว่า400 ปี นับเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความทรงจำ ศรัทธา ความเชื่อและการตีความ มีการสังคายนาพระไตรปิฎกหลายครั้งตลอดประวัติ ศาสตร์ และการสังคายนาแต่ละครั้งกระทำโดยเพศชายตามลำพัง ดังนั้นข้อความบางตอนอาจถูกแต่งเติมขึ้นมาภายหลังด้วยอคติของเพศชายก็เป็นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องคุรุธรรม 8 และคำพยากรณ์ถึงความยืนยาวของพุทธศาสนา คำพยากรณ์ที่ว่าพุทธศาสนาจะยืนยาวถึง 1,000 ปี ถ้าไม่มีสตรีเข้ามาบวช และจะลดลงเหลือเพียง 500 ปี ถ้าสตรีเข้ามาบวชในคณะสงฆ์ ก็ได้รับการพิสูจน์จากประวัติศาสตร์แล้วว่าไม่เป็นความจริง

ภิกษุณีสงฆ์ในอินเดียได้รับการสืบทอดกันต่อมา จนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 10 หรือ11 เมื่อพุทธศาสนาของอินเดียทั้งหมดถูกกองทัพอิสลามรุกราน ก่อนหน้านั้นประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 3 ก่อน ค.ศ. ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช สังฆมิตตาเถรี (พระราชธิดาของพระเจ้าอโศก) และภิกษุณีผู้คงแก่เรียนกลุ่มหนึ่งได้เดินทางไปถึงเกาะลังกา และจัดตั้งคณะภิกษุณีขึ้นที่นั่น สถาบันภิกษุณีได้เจริญรุ่งเรืองอยู่บนเกาะลังกาเป็นเวลาเกือบ 1,000 ปี จนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 11 ความยุ่งยากทางการเมืองและการรุกรานของกองทัพราชวงศ์โจฬะ (Chola) จากอินเดียใต้ ทำให้คณะสงฆ์สูญสิ้นไปจากเกาะลังกา ภายหลังคณะสงฆ์ลังกาได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่โดยการสืบทอดจากคณะสงฆ์ไทย มอญ และพม่าแต่สถาบันภิกษุณีสงฆ์มิได้รับการฟื้นฟูกลับคืนมาใหม่แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม สถาบันภิกษุณีลังกาได้รับการสืบทอดไปยังประเทศจีน ภิกษุณีสงฆ์สายธรรมคุปต์ (Dharmagupta) ฝ่ายเถรวาทกลุ่มหนึ่งได้รับนิมนต์ให้ไปช่วยอุปสมบทแก่ผู้หญิงจีนในปีค.ศ.433 และเป็นที่มาของภิกษุณีพุทธศาสนาฝ่ายมหายานในประเทศจีนตราบจนทุกวันนี้โดยยังได้สืบทอดแพร่หลายไปยังประเทศเกาหลีญี่ปุ่น และเวียดนามอีกด้วย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ภิกษุณีสงฆ์ได้รับการฟื้นกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่งในประเทศศรีลังกาจนถึงปัจจุบัน และได้ขยายตัวมายังดินแดนเอเชียอาคเนย์รวมทั้งประเทศไทย โดยภิกษุณีสงฆ์ฝ่ายเถรวาทได้รับการยอมรับมากขึ้นโดยลำดับทั้งในสังคมไทยและสังคมนานาอารยประเทศ
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 11747. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6.

Photo : https://pixabay.com/photos/monk-female-girl-religious-2650183/

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo