กรณีพิพาทเขาพระวิหารมุมมองทางศาสนา

คนกัมพูชากับคนไทยส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่เน้นความเมตตากรุณา ฉะนั้น ชาวกัมพูชาและชาวไทยไม่ค่อยมีปัญหาว่าปราสาทพระวิหารจะเป็นของไทยหรือของกัมพูชา ถ้ารัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชามีข้อตกลงร่วมกันว่าปราสาทพระวิหารเป็นพื้นที่ร่วมกันของทั้งสองประเทศ เปิดพรมแดนให้คนทั้งสองฝ่ายสามารถเข้าไปสักการะและทำพิธีทางศาสนาร่วมกันได้ หรือจดทะเบียนเป็นมรดกโลกร่วมกันทั้งสองประเทศ หรือยกพื้นที่ปราสาทพระวิหารให้กับองค์การพุทธศาสนาที่เป็นตัวแทนของชาวพุทธทั่วโลก เข้าไปดูแลและบริหารจัดการ โดยเป็น "เขตสันติภาพ"ไม่มีกองกำลังทหารของทั้งสองฝ่ายอยู่ในอาณาบริเวณนั้น ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี 
    

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
ภาควิชามนุษยศาสตร์ 
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยมหิดล

แต่เดิมนั้นกัมพูชาเป็นดินแดนที่นับถือผีสางนางไม้และรุขเทวดาแบบไทยซึ่งเรียกว่า "วิญญาณนิยม"(Animism) ต่อมา ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูจากอินเดียก็เข้ามามีบทบาทและอิทธิพลทางวัฒนธรรมต่อ "อาณาจักรขอม" ฉะนั้น แนวคิดของศาสนาพราหมณ์ฮินดูจึงฝังรากลึกลงในวัฒนธรรมรวมทั้งพิธีกรรมของกัมพูชาอย่างลึกซึ้ง ต่อมาพุทธศาสนามหายานก็มาถึงกัมพูชา (ก่อน ค.ศ.เล็กน้อย) แนวคิดเรื่องการช่วยเหลือสังคมตามอุดมคติ "พระโพธิสัตว์" จึงได้เข้ามา แล้วรุ่งเรืองอย่างเด่นชัดในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสร้างนครธมปราสาทบายน รวมทั้งที่พักคนเดินทาง สระน้ำ "อโรคยาศาลา"(โรงพยาบาล) เพื่อช่วยเหลือประชาชน เพราะแนวคิดโพธิสัตว์แบบมหายานนั้นไม่ได้มุ่งแค่ความพ้นทุกข์ทางใจอย่างเดียว แต่ความทุกข์ทางกายก็มุ่งแก้ไขด้วยเช่นกัน ต่อมาพุทธศาสนาเถรวาทได้มาถึงในยุคของพระเจ้าอินทรวรมันที่ 3 ชาวกัมพูชาจึงได้เปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาเถรวาทกระทั่งถึงปัจจุบัน แม้คนกัมพูชาส่วนใหญ่จะนับถือพุทธศาสนาเถรวาท แต่ร่องรอยความเชื่อของฝ่ายมหายาน และพราหมณ์ฮินดูยังคงฝังอยู่ค่อนข้างลึกซึ้ง

ในอดีตชาวกัมพูชาจะสร้างปราสาทของศาสนาพราหมณ์ แต่ด้วยศิลปวัฒนธรรมแบบกัมพูชา มีการสร้างเทวรูป เช่น พระพรหม พระนารายณ์ หรือพระอิศวร เป็นต้นเพื่อบูชาเทพเจ้าในศาสนาฮินดู ต่อมาเมื่อพุทธศาสนามหายานมาถึงและมีพระเจ้าแผ่นดินทรงรับนับถือ พระองค์จะไม่ทรงทำลายปราสาท เพียงแต่ยกเอาเทวรูปฮินดูออกจากปราสาท แล้วสร้างพระพุทธรูปหรือพระโพธิสัตว์เข้ามาบูชาแทนที่ ฉะนั้นปราสาทหลังเดิมซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นของศาสนาพราหมณ์ฮินดู ก็จะมีประติมากรรมของพุทธศาสนามาแทน เมื่อผ่านมาอีกยุคสมัยหนึ่งมีพระเจ้าแผ่นดินนับถือพราหมณ์ฮินดูอีก ก็อัญเชิญพระพุทธรูปหรือพระโพธิสัตว์ออกจากปราสาท แล้วอัญเชิญเทวรูปฮินดูมาประทับแทน สลับกันไปมาอย่างนี้หลายครั้งหลายหน เรื่องนี้ถือว่าเป็นวัฒนธรรมพิเศษของชาวกัมพูชา

แต่เดิมนั้นประเทศยังไม่มีเส้นกั้นแอาณาเขตที่ชัดเจนอย่างในปัจจุบันวัฒนธรรมการก่อสร้างปราสาทด้วยศิลาแลงของอาณาจักรขอม (เช่น นครวัด และนครธม เป็นต้น) ได้แผ่ไปทั่วอาณาบริเวณนั้น รวมทั้งในส่วนของประเทศไทยปัจจุบันด้วย (เช่น ปราสาทหินพิมาย และปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นต้น) ซึ่งก็มีลักษณะเช่นเดียวกับปราสาทของกัมพูชา

"ปราสาทพระวิหาร"มีลักษณะเป็นปราสาทแบบขอมที่ทำด้วยศิลาแลง ถ้าเราดูภาพถ่ายทางอากาศ ปราสาทพระวิหารจะตั้งอยู่ตรงกลาง และจะมีปราสาททั้งในเขตกัมพูชาและเขตไทยล้อมรอบออกเป็นชั้นๆชาวกัมพูชาถือว่า"ปราสาทพระวิหารคือศูนย์กลางของจักรวาล"ซึ่งสำคัญที่สุดในความรู้สึกนึกคิดของชาวกัมพูชา ฉะนั้นกัมพูชาต้องการอย่างยิ่งโดยอาจจะยอมแลกทุกสิ่งทุกอย่างได้ เพื่อให้ได้มาซึ่งปราสาทเขาพระวิหารนี้

สำหรับคนไทยปราสาทพระวิหารเป็นปราสาทอีกหลังหนึ่งในเขตแดนไทย ซึ่งคนไทยควรจะเป็นเจ้าของคนไทยควรจะหวงแหน "อธิปไตยของชาติ"มิให้ต่างชาติเข้ามาครอบครอง คนไทยส่วนใหญ่คิดในแง่มุม "ภูมิรัฐศาสตร์"เท่านั้น แต่สำหรับชาวกัมพูชานอกจากเรื่องภูมิรัฐศาสตร์แล้ว เขายังมีความเชื่อทางศาสนาที่ว่า ปราสาทพระวิหารเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ดังนั้นความรู้สึกนึกคิดของคนไทยและคนกัมพูชาต่อปราสาทพระวิหารนั้นต่างกัน

กรณีปราสาทพระวิหารเคยขึ้นศาลโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช(ซึ่งต่อมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และนายกรัฐมนตรี) เป็นทนายฝ่ายไทย ฝ่ายไทยได้อ้างประวัติศาสตร์ว่าคนไทยอยู่ในอาณาบริเวณนั้นมาช้านาน (แต่เราไม่มีหลักฐานที่เป็นเอกสาร) และอ้างหลักสันปันน้ำ (ซึ่งเป็นหลักสากลในการปักปันเขตแดนระหว่างประเทศ) ว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตไทยฝ่ายกัมพูชาได้เอาแผนที่ที่ฝรั่งเศสทำไว้ (ในยุคอาณานิคม) ไปแสดงต่อศาลโลก ศาลโลกได้ตัดสินไปตามหลักฐานที่เป็นเอกสาร ให้ตัวปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา (ส่วนพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารมิได้ระบุในคำตัดสินของศาลโลก)

วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2551 มาดามวับุนรานี (ภรรยาของสมเด็จฯฮุน เซนนายกรัฐมนตรีกัมพูชา) ขึ้นไปประกอบพิธีบวงสรวงอย่างอลังการบนเขาพระวิหาร นับเป็นการเข้าไปยืนยันอธิปไตยเหนือปราสาทเขาพระวิหาร และเป็นการประกาศว่าเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชาทั้งในทางการเมืองและในทางวัฒนธรรม ซึ่งฝ่ายกัมพูชาพยายามแสดงความเป็นเจ้าของต่อมาในปีพ.ศ.2553 กัมพูชาได้ขอขึ้นทะเบียนที่ "องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ"หรือ "ยูเนสโก"(UNESCO) ให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยกัมพูชาเป็นผู้จดทะเบียนฝ่ายเดียว นัยยะก็คือกัมพูชาพยายามแสดงให้โลกเห็นว่าปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา โดย ประเทศไทยได้ยื่นเรื่องคัดค้านองค์การยูเนสโกจึงประกาศเลื่อนการพิจารณาจดทะเบียนออกไป

คนกัมพูชากับคนไทยส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่เน้นความเมตตากรุณา ฉะนั้น ชาวกัมพูชาและชาวไทยไม่ค่อยมีปัญหาว่าปราสาทพระวิหารจะเป็นของไทยหรือของกัมพูชา ถ้ารัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชามีข้อตกลงร่วมกันว่าปราสาทพระวิหารเป็นพื้นที่ร่วมกันของทั้งสองประเทศ เปิดพรมแดนให้คนทั้งสองฝ่ายสามารถเข้าไปสักการะและทำพิธีทางศาสนาร่วมกันได้ หรือจดทะเบียนเป็นมรดกโลกร่วมกันทั้งสองประเทศ หรือยกพื้นที่ปราสาทพระวิหารให้กับองค์การพุทธศาสนาที่เป็นตัวแทนของชาวพุทธทั่วโลก เข้าไปดูแลและบริหารจัดการ โดยเป็น "เขตสันติภาพ"ไม่มีกองกำลังทหารของทั้งสองฝ่ายอยู่ในอาณาบริเวณนั้น ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี

หมายเหตุ - รายการปฏิบัติ "การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว" (Dynamic Meditation) ในโอกาสครบรอบ 100 ปี แห่งชาตกาลของหลวงพ่อเทียนจิตฺตสุโภ ในปี พ.ศ.2554 ที่จัดขึ้น ณมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก (The World Buddhist University)ตลอดทั้งปีตามที่ลงในบทความที่แล้วนั้น ขอเลื่อนมาเป็นทุกวันอาทิตย์ที่สองของเดือน เวลา 13.00 - 16.00 น. ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมฟังคำบรรยาย (เป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทย) และการปฏิบัติได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ (สอบถามรายละเอียดได้ที่มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก 616 ในสวนเบญจสิริ สุขุมวิท 24 กรุงเทพฯ 10110 โทร. 0-2258-0369-73 หรือ www.worldbuddhistuniversity.com
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2554 ปีที่ 34 ฉบับที่ 12027. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6.

Photo : https://www.sarakadee.com/2008/09/06/เขาพระวิหาร/

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo