ในพุทธศาสนาของไทยตัดสินกันที่ "ความดีความชั่ว" มิได้ตัดสินกันที่ "ความสำเร็จหรือความล้มเหลว" ในการงาน และธุรกิจทางโลก การวิเคราะห์ของแจ๊กสันในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูปกับระบบทุนนิยมไทย จึงมีความแตกต่างจากศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ในระหว่างการปฏิวัติอุตสาหกรรมในทวีปยุโรป
"ระบบทุนนิยม" (Capitalism) เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศอังกฤษประมาณคริสตศตวรรษที่ 17 หลังจากนั้นได้เติบโตขึ้นในยุโรปตะวันตก และสหรัฐอเมริกา และขยายตัวอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่องไปยังส่วนอื่นของโลกจนกระทั่งถึงปัจจุบัน มูลเหตุของการเกิดระบบทุนนิยมในความหมายสมัยใหม่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ โดยที่มนุษย์รู้จักทำการค้าขาย การใช้เงินตรา และการแสวงหากำไรมาหลายพันปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในอารยธรรมจีน อินเดีย อียิปต์ กรีซ หรือจักรวรรดิโรมัน และมนุษย์ก็มีความโลภมาทุกยุคทุกสมัย แต่ "การค้า เงิน กำไร และความโลภ" มิได้ก่อให้เกิด "ระบบทุนนิยม" ขึ้นในความหมายอย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว "ระบบทุนนิยม" เกิดขึ้นได้อย่างไร และอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของการกำเนิดระบบทุนนิยมสมัยใหม่นี้
แม็ค เวเบอร์ (Max Weber) (ค.ศ. 1864 - 1920) นักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน ได้เสนอทฤษฎี "การกำเนิดระบบทุนนิยม" ไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง ในหนังสือเรื่อง Protestant Ethic and The Spirit of Capitalism (จริยธรรมโปรเตสแตนต์กับจิตใจแบบทุนนิยม) เวเบอร์ กล่าวว่า "ระบบทุนนิยมเกิดขึ้นในยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 17 และรุ่งเรืองอยู่ในดินแดนที่ถูกครอบงำด้วยศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์รูปแบบหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งลัทธิคาลวิน (Calvinism)"
ตามทรรศนะของเวเบอร์ "ระบบทุนนิยม" เป็นผลมาจาก "การสร้างระบบเหตุผล" (rationalization) ขององค์การและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ "ระบบเหตุผล" นี้มิได้เกิดจากความต้องการชีวิตที่สุขสบาย (บ่อยครั้งที่นายทุนในยุคแรกใช้ชีวิตที่เรียบง่าย เคร่งครัด และอดออมเป็นอย่างยิ่ง) แต่เกิดจากความจำเป็นที่จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า "ตนเองก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับความโปรดปราน และความรอดจากพระเจ้า" ตามคำสอนของลัทธิคาลวิน ผลกำไรและความมั่งคั่งจะเป็นข้อพิสูจน์ที่ว่า ตนเองได้รับพรจากพระเจ้า และถูกรวมอยู่ในบรรดาผู้ที่พระเจ้าเลือกสรรแล้ว (the elect หรือ the predestined) ให้เป็นผู้รอดพ้น
ผู้ที่ถูกพระเจ้าเลือกสรรแล้ว ไม่เพียงแต่ทำงานที่ดีเป็นเรื่องๆ ไปเท่านั้น แต่จะต้องมี "ชีวิตการงานที่ดี" อีกด้วย "การงานที่ดี" ในที่นี้มิได้หมายถึง "การงานทางศาสนา" แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง "การงานทางโลก" อีกด้วย เพราะฉะนั้น "ความเคร่งวินัย" (asceticism) จึงมิได้ถูกจำกัดอยู่แต่ภายในกำแพงโบสถ์เท่านั้น แต่ยังดำรงอยู่ในโรงงาน และสถานที่ทำงานอีกด้วย
ผลกำไรและความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในยุคแรก จึงมิได้ถูกนำไปใช้อย่างฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่ายเพื่อความสุขสบายของชีวิต แต่กลับถูกนำไปลงทุนเพิ่มในการงาน และธุรกิจของตนเองเป็นหลักใหญ่ ทำให้กำไร และทรัพย์สินกลับเพิ่มเป็นทวีคูณขึ้นมาอีก (อันเป็นข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนยิ่งขึ้นอีกว่า ตนเองได้รับความรอดจากพระเจ้า) นอกเหนือจากการลงทุนเพิ่มแล้ว นายทุนในยุคแรกได้ใช้เงินส่วนหนึ่งในการบริจาคทานให้แก่ผู้ที่ยากจน
อย่างไรก็ตาม ในยุคหลังแรงจูงใจทางศาสนาที่ผลักดันให้เกิด "ระบบทุนนิยม" ขึ้นนั้น ได้เลือนหายไปเป็นส่วนใหญ่ แต่อุปนิสัยและ "ระบบเหตุผล" ที่เกิดจากแรงจูงใจทางศาสนาตั้งแต่ต้นนั้นยังคงอยู่ และสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้
กล่าวโดยสรุป เวเบอร์ได้ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับชีวิตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงื่อนไขทางจิตวิทยาที่ทำให้เกิดระบบทุนนิยมขึ้นในตะวันตก เวเบอร์ได้วิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างคำสอนของลัทธิคาลวิน กับท่าทีใหม่ต่อการแสวงหาความมั่งคั่งในอังกฤษ และยุโรปยุคหลังการปฏิรูป (Post-Reformation) กล่าวคือ คำสอนที่ว่า "ผู้ซึ่งพระเจ้าเลือกสรรแล้ว" จะมีสัญญาณบอกโดยการเป็นผู้ประสบความสำเร็จจากการงานที่ดี ทำให้ผู้ที่นับถือลัทธิคาลวินใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดในการอดออมเพื่อการลงทุน และความสำเร็จทางธุรกิจ อันเป็นข้อพิสูจน์ว่าตนเองก็เป็น "คนที่พระเจ้าเลือกแล้ว" คนหนึ่งเช่นกัน อันก่อให้เกิดการสะสมทุน และระบบทุนนิยมขึ้นในเวลาต่อมา นับเป็นท่าทีใหม่ของศาสนาคริสต์ที่ยอมรับการที่มนุษย์แสวงหาความมั่งคั่งในทรัพย์สิน และบางครั้งถึงขนาดสนับสนุนว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักการของศาสนา
ปัจจุบันนักวิชาการด้านไทยศึกษา พยายามที่จะอธิบายการเกิดขึ้นของระบบทุนนิยมในประเทศไทย ปีเตอร์ แจ๊กสัน (Peter Jackson) เสนอว่า นักปฏิรูปพุทธศาสนาของไทยได้เน้นคำสอนทางจริยธรรมที่เป็นการส่งเสริมคุณค่า และคุณภาพชีวิต อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จในทางธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชนชั้นกลาง นักปฏิรูปพุทธศาสนาหลายท่าน (เช่น ปัญญา นันทะภิกขุ และพระพยอม กัลยาโณ เป็นต้น) ได้สอนเน้นเรื่องของการอดออม ประหยัด และชีวิตที่มัธยัสถ์ในทางโลก การสอนให้ประหยัด และอดออมนั้น มิได้หมายความว่าให้เกียจคร้านหรือเฉื่อยชา แต่ให้ขยันหมั่นเพียรและประกอบหน้าที่การงานที่เป็นประโยชน์ในทางโลก
การเน้นเรื่องการงานและความประหยัดนี้อาจถือได้ว่า เป็นการให้เหตุผล และความชอบธรรมแก่การสะสมความมั่งคั่ง ซึ่งจำเป็นสำหรับการลงทุนในระบบทุนนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการที่เป็นชนชั้นกลาง นั่นก็คือ ลัทธิความมัธยัสถ์อดออมในทางโลก ซึ่งนักปฏิรูปพุทธศาสนาของไทยยึดถืออยู่นั้น ได้กลายเป็นเหตุผลทางศาสนาแก่การประกอบการเชิงพาณิชย์ของกลุ่มธุรกิจใหม่ ที่จะต้องละเว้นการบริโภคในปัจจุบัน เพื่อการสะสมทุนอันจำเป็นต่อการลงทุนในธุรกิจของตน ดังนั้น จึงอาจตีความได้ว่า พุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูปของชนชั้นกลางไทย ได้กลายเป็นตัวแทนของระบบการสร้างความชอบธรรมทางศาสนาแก่ระบบทุนนิยมของไทย
ทฤษฎีของแจ๊กสันเป็นแนวคิดที่น่าสนใจยิ่ง แต่ก็เกิดคำถามขึ้นว่า ถ้าระบบทุนนิยมในสังคมไทยมีรากฐานอยู่บนหลักของความประหยัดมัธยัสถ์ ซึ่งเป็นคำสอนในพุทธศาสนาของไทยตามคำกล่าวของแจ็คสันแล้ว ระบบทุนนิยมก็น่าที่จะเติบโต และเฟื่องฟูอยู่ในสังคมไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยหรือก่อนหน้านั้นเป็นต้นมา เพราะคำสอนของพุทธศาสนาได้อยู่คู่กับสังคมไทยมาตลอดประวัติศาสตร์ ทำไมระบบทุนนิยมไทยจึงเพิ่งเกิดและเติบโตเมื่อไม่กี่ทศวรรษมานี้เองถ้ามิใช่เพราะปัจจัยอื่น อีกประการหนึ่งถ้าหากระบบทุนนิยมไทยตั้งอยู่บนรากฐานของความประหยัดมัธยัสถ์ตามหลักคำสอนของพุทธศาสนาแล้ว คนไทยภายใต้ระบบทุนนิยมสมัยใหม่ก็ไม่น่าที่จะใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยเกินตัว จนกระทั่งเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงในช่วงปี พ.ศ. 2540 - 2546 ขึ้นได้
ในพุทธศาสนาของไทยนั้น ไม่มีแรงกดดันที่จะต้องให้ประสบความสำเร็จในการงาน และธุรกิจดังเช่นในลัทธิคาลวิน "กฎแห่งกรรม" ในพุทธศาสนาของไทยตัดสินกันที่ "ความดีความชั่ว" มิได้ตัดสินกันที่ "ความสำเร็จหรือความล้มเหลว" ในการงาน และธุรกิจทางโลก การวิเคราะห์ของแจ๊กสันในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูปกับระบบทุนนิยมไทย จึงมีความแตกต่างจากศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ในระหว่างการปฏิวัติอุตสาหกรรมในทวีปยุโรป
--
ที่มา :หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 9501. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6.
Photo : https://pixabay.com/photos/dhammakaya-pagoda-more-than-million-472907/