พิธีกรรมกับจริยธรรมในสังคม

การประกอบพิธีกรรมนั้นเป็นการแสดงถึงคุณธรรมที่มีอยู่ในทรรศนะของผู้ประกอบพิธีกรรม และสิ่งที่น่าพิจารณานั่นคือการประกอบพิธีกรรมใด ๆ ก็ตาม ควรคำนึงถึงฐานะทาง เศรษฐกิจของตน และควรเป็นพิธีกรรมที่มีประโยชน์ต่อตนเองและสังคมด้วย. 
     

มิตรสหายท่านหนึ่ง 

“พิธีกรรม” (Rituals) หมายถึง การปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานทางวัฒนธรรมอันเกี่ยวกับสัญลักษณ์ที่กระทำในโอกาสต่าง ๆ หรือหมายถึงพฤติกรรมทางสังคมอันละเอียดอ่อนที่ถูกกำหนดขึ้นโดยขนบธรรมเนียม กฎหมาย หรือระเบียบของสังคม ซึ่งแสดงออกถึงสัญลักษณ์ของคุณค่านิยม หรือความเชื่อ พิธีกรรมเป็นรูปแบบหนึ่งของพิธีการ แต่มิได้มีความหมายตรงกันนัก ข้อแตกต่างที่สำคัญคือพิธีการเป็นการปฏิบัติในสังคมที่มีคนจำนวนมากกว่าหนึ่งคน แต่พิธีกรรมอาจจะปฏิบัติเพียงคนเดียวก็ได้ นอกจากนี้ พิธีการมักจะจัดให้มีขึ้นในเหตุการณ์สำคัญ ๆ ลักษณะสำคัญของพิธีกรรมคือส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนา และมักเกี่ยวข้องกับการใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ ในการแสดงความหมาย และมีการแสดงให้เห็นความมหัศจรรย์ หรือความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้บุคคลเกิดความเกรงขาม หรือเคารพนับถือด้วย (สมิทธ์ สระอุบล. ๒๕๓๔: ๖๒.)

ตามทรรศนะของภิกขุโพธิ์ แสนยานุภาพ กล่าวว่า ประเพณี พิธีกรรม ก็เปรียบเสมือนคอกที่ล้อมคนในสังคมให้เข้ามารวมกันไว้เป็นหมู่ เป็นพวก เพื่อไม่ให้กระจัดกระจายกันไปต่างคนต่างทำกิจกรรมกันไปคนละทิศละทาง ไม่อาจจะร่วมกันเป็นปึกแผ่นสามัคคีกันได้ คนประเภทที่ฉลาดน้อยจำเป็นต้องเอาพิธีกรรมเข้าล้อมพวกเขาไว้ก่อน ในวันข้างหน้าถ้าพวกเขามีสติปัญญาสูงขึ้นก็จะสามารถเข้าใจและค่อย ๆ ข้ามรั้ว คอก คือ ประเพณีออกมาได้เอง ข้อนี้นับว่าเป็นวิธีการที่ดี ถ้าเหตุการณ์เป็นไปเช่นกล่าวมานี้ แต่เท่าที่เป็นอยู่ปัจจุบันคนเราติดพิธีกรรมจนลืมหูลืมตาไม่ขึ้น ติดอยู่ในคอกของประเพณีพิธีกรรมจนเข้าไม่ถึงหลักคำสอนที่แท้จริงของศาสนา เช่น คนไทยชาวพุทธบางคน เห็นว่าพระพุทธรูป คือ พระพุทธเจ้า อย่างคำที่นักปราชญ์ผู้หนึ่งกล่าวว่า “พระพุทธรูปบังพระพุทธเจ้า ในลาน บังพระธรรม ผ้าเหลืองบังพระสงฆ์”

อีกประการหนึ่ง ท่านภิกขุโพธิ์ แสนยานุภาพ กล่าวว่า “ประเพณี พิธีกรรมเปรียบเสมือนเรื่อที่มีไว้ให้คนนั่งพายเข้าหาฝั่ง คือ ศาสนา” แต่เมื่อขึ้นฝั่งได้แล้วจงสละเรือเสีย อย่ามัวติดอยู่ในเรือนั้น ถ้ายังติดอยู่ในเรือก็ไม่ได้ขึ้นฝั่งสักที จากข้อคิดนี้แสดงให้เห็นว่า ประเพณี พิธีกรรม กับเรือนั้นเป็นเพียงเครื่องมือที่จะนำคนเราไปสู่จุดหมายข้างหน้า ซึ่งอยู่นอกประเพณี พิธีกรรม และนอกเรือ ถ้าคนเรามัวติดอยู่แต่ใน ประเพณี พิธีกรรมก็จะไม่ได้บรรลุจุดมุ่งหมายที่แท้จริงเลย ฉะนั้น ท่านจึงแนะนำให้ทิ้งเรือเสียจึงจะถึงฝั่ง คือ แก่นแท้ของศาสนา การปฏิบัติตามประเพณี พิธีกรรมทางศาสนาพุทธนั้น นับว่าเป็นการทำความดีเป็นบุญกุศล แต่ในที่สุดก็ต้องละทิ้งบุญนี้เสีย จึงจะถึงฝั่ง คือพระนิพพาน นั่นคือผู้ที่ได้บรรลุนิพพานเป็นพระอรหันต์ จึงเป็นผู้ละได้ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งบุญและบาป (ปุญญปาปปหินํ) นี่คือจุดหมายสูงสุดของพุทธศาสนา สำหรับผู้ที่เข้าถึงแก่นแท้ของศาสนาเหล่านี้ แม้จะมีโอกาสเข้าร่วมทำพิธีกรรมอยู่ก็ตาม ก็ทำไปตามสังคมเพื่ออนุเคราะห์คนที่ยังติดอยู่ในคอกแห่งประเพณี พิธีกรรมเท่านั้น แต่ตัวท่านทั้งหลายเหล่านั้นข้องอยู่ไม่ ดั่งใจความในพุทธภาษิตที่ ว่า “สูเจ้าทั้งหลาย งมาดูโลกนี้อันตระการดุจราชรถที่พวกคนเขลาหมกอยู่ แต่ผู้รู้หาข้องติดอยู่ไม่” (มหาวิทยาลัยรังสิต. ๒๕๔๐.)

หากย้อนกลับไปพิจารณาประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติแล้วจะพบว่า พิธีกรรมมีความเกี่ยวพันกับชีวิตของมนุษย์มาเนิ่นนานตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งพิธีกรรมต่าง ๆ ได้มีพัฒนาการไปตามลำดับความเจริญก้าวหน้าของสังคม และเป็นที่น่าสังเกตว่าพิธีกรรมต่าง ๆ นั้น นับเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของทุก ๆ ศาสนา ทั้งนี้เพราะพิธีกรรมเป็นเสมือนเครื่องมือหล่อเลี้ยงศาสนาที่คนทั่วไปถือว่า (ศาสนา) เป็นแหล่งกำเนิดของประเพณีและวัฒนธรรมต่าง ๆ ของสังคม แต่กระนั้นก็ตาม การที่พิธีกรรมจะดำรงอยู่ได้ ย่อมต้องได้รับการเกื้อกูลจากศาสนาเช่นเดียวกัน กล่าวคือ ก่อนที่พิธีกรรมใด ๆ จะปรากฏขึ้นนั้นย่อมต้องมีรากฐานมาจากความเชื่อ และความศรัทธา รวมทั้งประสบการณ์ทางศาสนา (Religion Experience) ที่แต่ละปัจเจกบุคคลได้รับจากศาสนานั้น ๆ อันนำไปสู่การประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นสื่อ หรือหนทางที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จในสิ่งที่คาดหวังไว้ ทำให้เกิดความสบายใจ และมีกำลังใจที่จะดำเนินชีวิตต่อไป

นอกเหนือจากนี้ พิธีกรรมและศาสนาเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์กันใกล้ชิดกัน เพราะมีรากฐานมาจาก “ความเชื่อ” (Beliefs) ก็คือการยอมรับสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นจริงทั้ง ๆ ที่สิ่งนั้นจะพิสูจน์ไม่ได้ก็ตาม ด้วยเหตุผลหรือปราศจากเหตุผลมารองรับ (สมิทธ์ สระอุบล. ๒๕๓๔: ๕๔.)

“พิธีกรรมทางศาสนา” หรือที่เรียกว่า “ศาสนพิธี” ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับศาสนาที่เป็นแบบแผนปฏิบัติสืบ ๆ กันมา หรือเป็นการแสดงออกถึงความเชื่อทางศาสนา ซึ่งการปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนานี้เป็นสิ่งที่ทุกศาสนาจะต้องมีในพระพุทธศาสนา หากชาวพุทธได้ศึกษาศาสนพิธีของศาสนาพุทธให้เข้าใจอย่างถ่องแท้แล้วย่อมจะเป็นประโยชน์ ในฐานะที่เป็นการธำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา และนำมาซึ่งความสุขในการดำเนินชีวิต

สำหรับศาสนพิธีต่าง ๆ ที่กระทำกันในศาสนาพุทธนั้นเกิดขึ้นอย่างมีเหตุผลและมีจุดมุ่งหมาย มิใช่เกิดจากศรัทธาที่เลื่อนลอยหรือไร้เหตุผล ตัวอย่างศาสนพิธีทางพระพุทธ ศาสนา ยกตัวอย่างเช่น การทำบุญตักบาตร, การถวายสังฆทาน, การกราบ, การไหว้, เวียนเทียน, แห่เทียนพรรษา, เป็นต้น

จากศาสนพิธีดังกล่าวช่วยเสริมสร้างจริยธรรมในแง่ที่ว่า พิธีกรรมดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบพิธีกรรมน้อมจิตระลึกถึงความสำคัญของพิธีกรรมนั้น ๆ แล้วตั้งจิตเพื่อบูชาพระรัตนตรัย และแน่นอนว่าผู้ที่เข้าร่วมในพิธีกรรมนั้นล้วนแต่มีใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใจ จิตใจก็จะปลอดโปร่งด้วยความอิ่มเอมในบุญกุศลที่ตนเองได้ทำ และเมื่อศาสนิกชนปฏิบัติศาสนพิธีอย่างต่อเนื่องแล้ว ย่อมมีจิตใจเป็นกุศล และการทำใจให้เป็นสมาธิย่อมทำให้เกิดปัญญาทำให้สามารถควบคุมจิตใจให้สงบ สามารถข่มใจไม่ไหวหวั่นต่อสิ่งที่จะมากระทบกระเทือนใจ อีกทั้งการประกอบศาสนพิธีย่อมทำให้เกิดความสามัคคีขึ้นในหมู่ชนอย่างแน่แท้

สังคมไทยแม้จะมีรากฐานมาจากพระพุทธศาสนาก็ตาม แต่คนบางส่วนของสังคมก็ยังคงมีความเชื่อในเรื่องที่เร้นลับ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีมาช้านานในสังคมไทย โดยทั่วไปความเชื่อมักจะมีเรื่องของความผูกพันกันของคนในสังคมแฝงอยู่ และสะท้อนออกมาในรูปแบบของพิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งการประกอบพิธีกรรมนั้นต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชน เพื่อให้สังคมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่แม้กระนั้นในส่วนของคนแต่ละคนมักมีความเชื่อ และศรัทธาต่อสิ่งต่าง ๆ แตกต่างกันออกไป จนนำไปสู่การประกอบพิธีกรรมตามรูปแบบความเชื่อของแต่ละคน และไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมประเภทใด ๆ ก็ตามล้วนแต่มีสารัตถะอยู่ที่การเสริมสร้างความดีงาม และความบริสุทธิ์แห่งความคิดของผู้ร่วมพิธีกรรมเป็นพื้นฐาน เป็นต้นว่า การกราบไหว้หรือบูชาพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนาเพื่อเสริมสร้างกำลังใจและความเป็นสิริมงคลให้แก่ตน หาใช่เป็นไปเพื่อการวิงวอนร้องขอจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการประกอบพิธีกรรมนั้นเป็นการแสดงถึงคุณธรรมที่มีอยู่ในทรรศนะของผู้ประกอบพิธีกรรม และสิ่งที่น่าพิจารณานั่นคือการประกอบพิธีกรรมใด ๆ ก็ตาม ควรคำนึงถึงฐานะทาง เศรษฐกิจของตน และควรเป็นพิธีกรรมที่มีประโยชน์ต่อตนเองและสังคมด้วย.  
---
บรรณานุกรม

กรมการศาสนา, วัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรมการศาสนา.

มหาวิทยาลัยรังสิต. เอกสารประกอบการสอน วิชาอารยธรรมไทย. ภาคเรียนที่ ๑ : ปีการศึกษา ๒๕๔๐.

เมธีธรรมาภรณ์, พระ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต). (๒๕๓๕). พุทธศาสนากับปรัชญา. (พิมพ์ครั้งที่ ๒). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.

ราชบัณฑิตยสถาน. (๒๕๒๔). พจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยา อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์.

เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, สำนัก. สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์แห่งชาติ. (๒๕๓๙). คำถาม-คำตอบเกี่ยวกับพุทธ-ศาสนา เล่ม ๑ - ๒. กรุงเทพฯ.

สมิทธ์ สระอุบล. (๒๕๔๔). มานุษยวิทยาเบื้องต้น .(พิมพ์ครั้งที่ ๑). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.   

Photo : https://pixabay.com/photos/buddhists-monks-orange-robes-456269/

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo