สามเณรีกับสิทธิทางกฎหมาย

ความตื่นตัวด้านสิทธิสตรีในทางสากล และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ "ภิกษุณี" ในสังคมไทยที่มีเพิ่มขึ้น ได้จุดประกายให้ผู้หญิงไทยจำนวนหนึ่ง แม้จะน้อยนิด แต่ก็เป็นผู้ที่มีความกล้าหาญในทางจริยธรรม และกล้าหาญต่อหนทางแห่งสัจจะ ได้ตัดสินใจออกบวชอย่างเต็มรูปแบบในฐานะ "สามเณรี" และ "ภิกษุณี" เพื่อให้พุทธบริษัทสี่ อันมีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ดังเช่นในครั้งพุทธกาล สตรีเหล่านี้เปรียบเหมือนอิฐก้อนแรก ที่ยอมเสียสละเพื่อปูทางให้อนุชนรุ่นหลังได้ก้าวเดินอย่างสะดวกยิ่งขึ้น สตรีเหล่านี้จึงเป็นผู้กล้าหาญโดยแท้ สมควรแก่การยกย่องและอุปัฏฐากบำรุงในฐานะ "เนื้อนาบุญ" ของโลกเคียงคู่กับภิกษุ
  

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
ภาควิชามนุษยศาสตร์ 
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยมหิดล

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พุทธศักราช 2547 ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ณ บ้านเลขที่ 9/24 หมู่ที่ 5 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม อาจจะนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาของไทย ที่พิธีทำบุญขึ้นบ้านใหม่ประกอบโดยคณะสงฆ์ฝ่ายหญิงล้วน กล่าวคือ ภิกษุที่ 1 รูปเป็นองค์ประธานในพิธี และสามเณรีอีก 4 รูป เป็นผู้ร่วมสวดมนต์ในพิธี มีการอาราธนาศีลและให้ศีล การวงด้ายสายสินธุ์ การประพรมน้ำมนต์ การเจิมหน้าประตูทุกบานในบ้าน และการสาธยายธรรม พิธีจบลงด้วยการถวายภัตตาหารเพล

จากนั้นข้าพเจ้าและภิกษุณีซึ่งเป็นชาวอเมริกัน ได้พาคณะสามเณรีไปยังสำนักงานฝ่ายหนังสือเดินทางของกระทรวงการต่างประเทศ ที่ชั้น 8 ของอาคารสำนักงานเซ็นทรัลปิ่นเกล้า เพื่อทำหนังสือเดินทาง อันเป็นจุดเริ่มต้นของแผนการเดินทางไปรับการฝึกอบรมธรรม ในวัฒนธรรมพุทธศาสนาเถรวาทที่ประเทศศรีลังกา คณะสามเณรีได้เดินเรื่องตามกฎเกณฑ์ของสำนักงานทุกประการในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง แต่แล้ววาทกรรมร่วมสมัยก็ได้บังเกิดขึ้นตามที่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า

เมื่อคณะสามเณรีมาถึงฝ่ายตรวจสอบหลักฐาน เจ้าหน้าที่ได้ซักถามว่า "มาจากวัดไหน" คณะสามเณรีมิได้ถือหนังสือสุทธิ แต่ถือบัตรประชาชนมาทำหนังสือเดินทางในฐานะประชาชนไทยคนหนึ่ง จึงไม่จำเป็นต้องตอบคำถามดังกล่าวของเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ได้แสดงให้เห็นว่าพร้อมที่จะทำหนังสือเดินทางให้ โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องสวมเสื้อผ้าของฆราวาสทับจีวรพระในเวลาถ่ายรูปถึงจะอนุญาต ข้าพเจ้าและภิกษุณีได้ซักถามเจ้าหน้าที่ถึงเหตุผล ก็ได้รับคำตอบว่าเจ้าหน้าที่ต้องทำตามระเบียบ แต่เมื่อข้าพเจ้าและภิกษุณีขอดูระเบียบดังกล่าวที่เป็นลายลักษณ์อักษร เจ้าหน้าที่ก็ไม่มีให้

ข้าพเจ้าได้โทรศัพท์ถึงวุฒิสมาชิก ระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช และ ดร.สุธีรา ทอมป์สัน นายกสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีแห่งประเทศไทย โดยได้กล่าวถึงรัฐธรรมนูญไทยที่ได้ประกันสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาแก่ประชาชน คนไทยทุกคนย่อมมีสิทธิแสดงออกถึงความเชื่อในทางศาสนาของตนได้โดยสงบและอย่างสันติ การล่วงละเมิดสิทธิดังกล่าวย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

ในแง่ข้อเท็จจริงทางสังคมแล้ว คนไทยที่นับถือศาสนาอื่น ต่างก็แต่งกายตามความเชื่อทางศาสนาของตนในการทำหนังสือเดินทาง เช่น เครื่องแบบของบาทหลวงชาวคริสต์คาทอลิก เครื่องแต่งกายของชาวมุสลิมชายที่สวมหมวกและไว้หนวดเครา และมุสลิมหญิงที่คลุมศีรษะ ชาวซิกข์ที่โพกศีรษะตามความเชื่อทางศาสนาของตน เป็นต้น ก็ไม่เห็นว่ากระทรวงการต่างประเทศไปบังคับกะเกณฑ์อะไรกับบุคคลเหล่านั้น แต่เมื่อมาถึงภิกษุณีหรือสามเณรีในพุทธศาสนา กลับไม่ยินยอมให้นุ่งห่มตามความเชื่อทางศาสนาของตน นับเป็นการเลือกปฏิบัติอันขัดกับกฎหมายบ้านเมือง

อีกประการหนึ่งเป็นที่ทราบดีว่า ผู้หญิงไทยจำนวนหนึ่งเดินทางไปต่างประเทศเพื่อลักลอบประกอบพิธีโสเภณี กระทรวงการต่างประเทศก็คงออกหนังสือเดินทางให้ตามปกติ ในฐานะประชาชนไทยคนหนึ่งโดยไม่มีข้อแม้ใดๆ แต่สำหรับผู้หญิงไทยที่นุ่งห่มชุดผู้ทรงศีล อันเป็นชุดของผู้ต้องการทำคุณงามความดี กลับมีการตั้งข้อรังเกียจ จนถึงกับจะกะเกณฑ์ให้นำชุดของฆราวาสผู้ยังอยู่ในโลกียะมาสวมทับชุดอันเป็นสัญญลักษณ์ของโลกุตตระ ถามว่าเหมาะสมเพียงใด และการที่สตรีนุ่งห่มชุดผู้ทรงศีลเดินทางออกนอกประเทศ จะนำความอัปยศอดสูมาสู่ประเทศชาติหรือ การกีดกันสิทธิสตรีทางศาสนาต่างหากที่จะนำความเสื่อมเสียมาสู่ชื่อเสียงของประเทศไทย

เมื่อข้าพเจ้าได้พูดคุยโทรศัพท์ด้วยเสียงอันดังฟังชัดดังนี้แล้ว ขณะนั้นเจ้าหน้าที่ได้โทรศัพท์ตามหาหัวหน้าสำนักงานหนังสือเดินทางให้มาแก้ไขสถานการณ์ เมื่อหัวหน้ามาถึงก็ได้มีการปรึกษาหารือกันอย่างเคร่งเครียดพักใหญ่ แล้วในที่สุดประวัติศาสตร์บทใหม่ก็ได้เกิดขึ้น เมื่อหัวหน้าสำนักงานหนังสือเดินทางแห่งนั้นมีคำสั่งด้วยวาจา อนุญาตให้สามเณรีถ่ายรูปติดบัตรหนังสือเดินทางด้วยชุดจีวรในพระพุทธศาสนา นับได้ว่าหัวหน้าสำนักงานและเจ้าหน้าที่ฝ่ายออกหนังสือเดินทางทุกท่าน รวมทั้งคณะภิกษุณีและสามเณรี ได้ร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการพระพุทธศาสนาในประเทศไทย

ตลอดประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาของไทย สถานภาพของสตรีในทางศาสนาไม่เคยได้รับการยอมรับใดๆ ไม่ว่าในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติจากหน่วยงานราชการต่างๆ แม้จะมีบันทึกทางประวัติศาสตร์ว่า แม่ชีมีความเป็นมาในสังคมไทยอย่างน้อยนับได้ว่า 300 ปีก็ตาม แต่วัฒนธรรมเถรวาทของไทยและกฎหมาย ก็ไม่เคยรับรองสถานภาพความเป็นนักบวชของแม่ชีแม้แต่ครั้งเดียว แม่ชีไม่มีสิทธิบิณฑบาต ไม่มีสิทธิรับเครื่องไทยทานที่มีผู้นำไปถวายที่วัด(แม้ว่ากว่า 80% ของผู้ที่ไปทำบุญที่วัดจะเป็นผู้หญิงก็ตาม) แม่ชีจึงพึ่งตนเองไม่ได้ในด้านปัจจัยสี่เครื่องยังชีพต้องพึ่งพิงพระภิกษุและรับใช้พระภิกษุ แม่ชีจึงอยู่ในวัดในฐานะเพียงเป็นผู้ขออาศัยเท่านั้น ไม่มีสิทธิไม่มีเสียงใดๆ แม่ชีต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมาโดยตลอด กระทรวงคมนาคมตีความว่าแม่ซีมิได้เป็นนักบวช จึงต้องเสียค่าโดยสารทุกประเภทเต็มราคา(ทั้งๆ ที่ไม่มีรายได้) กระทรวงมหาดไทยตีความว่าแม่ชีเป็นผู้ที่สละบ้านเรือน(แต่ก็ไม่ยอมรับว่าเป็นนักบวช) จึงไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง โรงพยาบาลของรัฐตีความว่าแม่ชีมิได้เป็นนักบวช จึงไม่มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลโดยไม่คิดมูลค่า แต่แม่ชีส่วนใหญ่ไม่มีเงินรักษา จึงมักถูกจัดให้อยู่ในประเภทคนไข้อนาถา ปัจจุบันมีแม่ชีในประเทศไทยจำนวนกว่า 10,000 รูป แม่ชีเหล่านี้เป็นประจักษ์พยานของความปรารถนาอันแรงกล้าของสตรีไทยจำนวนไม่น้อยที่ต้องการออกบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ตามรอยพระบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ความตื่นตัวด้านสิทธิสตรีในทางสากล และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ "ภิกษุณี" ในสังคมไทยที่มีเพิ่มขึ้น ได้จุดประกายให้ผู้หญิงไทยจำนวนหนึ่ง แม้จะน้อยนิด แต่ก็เป็นผู้ที่มีความกล้าหาญในทางจริยธรรม และกล้าหาญต่อหนทางแห่งสัจจะ ได้ตัดสินใจออกบวชอย่างเต็มรูปแบบในฐานะ "สามเณรี" และ "ภิกษุณี" เพื่อให้พุทธบริษัทสี่ อันมีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ดังเช่นในครั้งพุทธกาล สตรีเหล่านี้เปรียบเหมือนอิฐก้อนแรก ที่ยอมเสียสละเพื่อปูทางให้อนุชนรุ่นหลังได้ก้าวเดินอย่างสะดวกยิ่งขึ้น สตรีเหล่านี้จึงเป็นผู้กล้าหาญโดยแท้ สมควรแก่การยกย่องและอุปัฏฐากบำรุงในฐานะ "เนื้อนาบุญ" ของโลกเคียงคู่กับภิกษุ

วันที่ 1 มิถุนายน พุทธศักราช 2547 คณะสามเณรีได้รับหนังสือเดินทาง ที่มีรูปถ่ายในสมณเพศอย่างเต็มภาคภูมิ สามเณรีเหล่านี้ได้นำดอกกุหลาบไปมอบให้กับหัวหน้าและเจ้าหน้าที่สำนักงานหนังสือเดินทางทุกท่านเพื่อแสดงความขอบคุณ นับได้ว่าคณะสามเณรีได้แสดงออกถึงความเข้มแข็งและความอ่อนโยนในเวลาเดียวกัน.
-- 
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 9585. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6. 

Photo : https://pixabay.com/photos/theravada-buddhism-sayalay-nun-4749025/

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo