ชาวจีนสิงคโปร์ได้พบกับคำสอนรูปแบบต่างๆ ของพุทธศาสนาในโลกปัจจุบัน มิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะพุทธศาสนาแบบจีนเท่านั้น สิงคโปร์แม้จะได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมจีนเป็นอย่างมาก แต่สังคมสิงคโปร์ก็ได้พัฒนาวัฒนธรรมสิงคโปร์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนขึ้นมาเช่นเดียวกัน
ศาสนาในสิงคโปร์ยุคแรกมีลักษณะผสมผสานทางความเชื่อระหว่างศาสนาเต๋ากับพุทธศาสนา ส่วนหลักปฏิบัติจะเน้นจริยธรรมขงจื้อ เช่น ความกตัญญูกตเวที ความผูกพันทางเครือญาติ มารยาททางสังคม ความประหยัดมัธยัสถ์ การเคารพกฎหมาย การปรองดองกับเพื่อนบ้าน การปฏิเสธความเชื่อที่ผิด และการยกย่องการศึกษาที่ถูกต้อง เป็นต้น ปัจจุบันชาวจีนสิงคโปร์ที่ไปวัดมีแนวโน้มที่จะแยกแยะระหว่าง "พุทธศาสนา" กับ "ศาสนาเต๋า" มากขึ้น ภายหลังการสำรวจสำมะโนประชากรปี ค.ศ.1980 ประชาชนจะต้องเลือกศาสนาให้ชัดเจน
พุทธศาสนาแบบสมาคม
การไหว้พระและประกอบพิธีศาสนาที่วัดจีนในสิงคโปร์ ไม่อาจดึงดูดความสนใจของคนหนุ่มสาวสิงคโปร์มากนัก คนรุ่นใหม่สนใจที่จะศึกษาพุทธปรัชญา จริยธรรม และการปฏิบัติธรรมอย่างกว้างขวาง รวมทั้งการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ความสนใจดังกล่าวเกิดขึ้นในหมู่ฆราวาสชาวสิงคโปร์ และเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเกินกว่าจำนวนของครูที่มีอยู่ องค์การต่างๆ จึงถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการนี้ จนกลายเป็นความเคลื่อนไหวใหม่ที่เรียกว่า "พุทธศาสนาแบบสมาคม" (Associational Buddhism) โดยมีจำนวนสมาชิกที่แน่นอน และสมาชิกมีความสนใจต่อคำสอนและวิธีปฏิบัติโดยเฉพาะของพุทธศาสนาในแบบของตน นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของพุทธศาสนาในสิงคโปร์ มีดังนี้
1. ห้องสมุดพุทธศาสนา (Buddhist Library)
ธรรมรัตนะ พระภิกษุศรีลังกาผู้ได้รับแรงบันดาลใจจากงานของท่านธรรมนันทะในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ต้องการส่งเสริมกิจกรรมการศึกษา การปฏิบัติสมาธิภาวนา และการเผยแผ่พุทธศาสนา (ซึ่งสมัยนั้นสถานที่สำหรับกระทำกิจกรรมดังกล่าวยังไม่มี) ท่านและชาวสิงคโปร์กลุ่มหนึ่งจึงได้ก่อตั้ง "สมาคมวิจัยพุทธศาสนา" (Buddhist Research Society) ขึ้นในปี ค.ศ.1981 และได้พัฒนาต่อมาจนกลายเป็น "ห้องสมุดพุทธศาสนา" (เปิดเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1983) ห้องสมุดได้จัดกิจกรรมการบรรยายและปาฐกถาในหัวข้อพุทธศาสนา รวมทั้งการปฏิบัติธรรมภายใต้การนำของพระภิกษุอยู่เป็นประจำ
แม้ว่าพระภิกษุสิงหลจะเป็นผู้เล็งเห็นถึงความจำเป็น และริเริ่มการก่อตั้งสมาคมแห่งนี้ แต่เสียงตอบรับส่วนใหญ่มาจากชาวพุทธจีนในสิงคโปร์ การบรรยายธรรมกระทำด้วยภาษาอังกฤษหรือภาษาจีนกลาง (โดยมีการแปลเป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน) สมาชิกของห้องสมุดพุทธศาสนาส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวเชื้อสายจีน และมีการศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป โดยหนึ่งในสามมีการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย
2. พุทธสมาคมมหาปรัชญา (Mahaprajna Buddhist Society)
สมาคมนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อต้นปี ค.ศ.1986 โดยมีพระภิกษุจากไต้หวันเป็นที่ปรึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ถึงความหมายและการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา กิจกรรมหลักอันหนึ่งได้แก่การสอนพุทธศาสนาทั้งแบบอินเดียและแบบจีนให้แก่สมาชิก โดยแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ขั้นแนะนำ ขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นสูง (แต่ละขั้นมี 24 คาบ และแต่ละคาบใช้เวลา 2 ชั่วโมง) การบรรยายส่วนใหญ่เป็นภาษาจีนกลาง นอกจากนี้ ยังมีการสวดมนต์ โดยสวดจากพระสูตรมหายานเป็นภาษาจีนกลางหรือจีนฮกเกี้ยน เพื่อให้เกิด "ความเบิกบานทางจิตใจ ความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม และความสามัคคีในหมู่สมาชิก" สมาคมได้แยกแยะความแตกต่างระหว่างพุทธศาสนากับศาสนาเต๋าให้เห็นอย่างชัดเจน สมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวจีน โดยมีสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
3. กลุ่มพุทธสมาคมแห่งมหาวิทยาลัย (Buddhist societies in tertiary educational institutions)
กลุ่มพุทธสมาคมแห่งมหาวิทยาลัย ประกอบด้วยพุทธสมาคมของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) สถาบันเทคโนโลยีหนานยาง (Nanyang Technological Institute) สิงคโปร์โพลีเทคนิค (Singapore Polytechnic) และพุทธสมาคมงีอานโพลีเทคนิค (Ngee Ann Polytechnic Buddhist Society) สมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวจีน มีชาวอินเดียบ้าง แต่ไม่มีชาวมาเลย์ กลุ่มพุทธสมาคมแห่งมหาวิทยาลัยจะมีกิจกรรมที่หลากหลาย และสัมพันธ์กับองค์กรพุทธศาสนาอื่นๆ ในสิงคโปร์
ตัวอย่างเช่น พุทธสมาคมงีอานโพลีเทคนิค มีกิจกรรมสอนพุทธธรรมและการปฏิบัติสมาธิภาวนา โดยมีการสวดมนต์เป็นภาษาบาลีก่อนการเรียน มีการบรรยายและการแสดงปาฐกถาเป็นครั้งคราว มีการจัดแสดงหนังสือ การเยี่ยมบ้านคนชรา และการเยือนวัดพุทธศาสนานิกายต่างๆ ทั้งในแบบไทย ทิเบต ศรีลังกา และจีน เพื่อการเรียนรู้พุทธศาสนาที่หลากหลาย เป็นต้น
4. สมาคมพุทธศาสนาแห่งสิงคโปร์ (Singapore Buddha Sasana Society)
สมาคมมีวัตถุประสงค์ในการนำเสนอพุทธศาสนา รูปแบบที่เหมาะสมกับความก้าวหน้าของสังคมสมัยใหม่ ขณะเดียวกันก็เป็นการเคารพในรากเหง้าทางวัฒนธรรมอันมีมาตั้งแต่โบราณด้วย โดยมุ่งเน้นคำสอนพุทธศาสนาทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน กรรมการบริหารประกอบด้วยหนุ่มสาวจีน 15 คน โดยมีลามะทาชิเทนซินลา พระภิกษุทิเบตพักอาศัยอยู่ประจำ
นอกจากนี้ ยังมีบ้านพักชาวพุทธแห่งสิงคโปร์ (The Singapore Buddhist Lodge) สหภาพชาวพุทธ (Buddhist Union) สมาพันธ์ชาวพุทธสิงคโปร์ (Singapore Buddhist Federation) พุทธสมาคมจีนแห่งสิงคโปร์ (Singapore Chinese Buddhist Association) สมาคมธรรมจักร (Dharma Cakra Society) และองค์กรพุทธยานแห่งสิงคโปร์ (Singapore Buddha-Yana Organization) เป็นต้น
"พุทธศาสนาแบบสมาคม" ในสิงคโปร์มีคำสอนและหลักการปฏิบัติที่หลากหลายมาก ตัวอย่างเช่น ศูนย์ยุวพุทธอานันทเมตไตรย์ (Ananda Metyarna Buddhist Youth Circle) ที่วัดพุทธอานันทเมตไตรย์ มีการปฏิบัติแบบเถรวาทภายใต้การนำของพระสงฆ์ไทย ขณะที่สมาชิกของวัดทิเบต (Sakya Tenphel Ling) จะประกอบพิธีกรรมและปฏิบัติแบบทิเบต ภายใต้การนำของพระสงฆ์ที่บวชในฝ่ายวัชรยาน ด้วยลักษณะเช่นนี้ชาวจีนสิงคโปร์ได้พบกับคำสอนรูปแบบต่างๆ ของพุทธศาสนาในโลกปัจจุบัน มิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะพุทธศาสนาแบบจีนเท่านั้น สิงคโปร์แม้จะได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมจีนเป็นอย่างมาก แต่สังคมสิงคโปร์ก็ได้พัฒนาวัฒนธรรมสิงคโปร์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนขึ้นมาเช่นเดียวกัน
คณะสงฆ์ในสิงคโปร์
คณะสงฆ์ในสิงคโปร์มีความโดดเด่นน้อยกว่าคณะสงฆ์อื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การปฏิบัติของชาวพุทธสิงคโปร์โดยทั่วไปคือ การกราบไหว้พระพุทธรูป การเสี่ยงเซียมซี และบางครั้งก็นั่งสวดมนต์อย่างเงียบๆ ในสิงคโปร์เราจะพบเห็นพระสงฆ์ได้ก็แต่ในวัดใหญ่ที่เพิ่งบูรณะใหม่เท่านั้น เช่น วัดซวนหลิน (Shuang Lin Si, 1909) วัดหลงซัน (Long Shan, 1926) และวัดโปร์คาร์กซี (Phor Kark See, 1925) เป็นต้น
ในปี ค.ศ.1966 "องค์การคณะสงฆ์แห่งสิงคโปร์" (Singapore Buddhist Sangha Organization) ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางของพระสงฆ์ในสิงคโปร์ โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่วัดโปร์คาร์กซี (Phor Kark See) ใช้ภาษาอังกฤษในการติดต่อสื่อสาร และมีสมาชิกอยู่เพียง 58 รูปเท่านั้น (สถิติ ปี ค.ศ.1989) นอกจากนี้ยังมี "สมาพันธ์ชาวพุทธสิงคโปร์" (Singapore Buddhist Federation) ซึ่งก่อตั้งขึ้นก่อน สมาชิกมีทั้งพระสงฆ์และฆราวาสซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นชาวพุทธจีน และใช้ภาษาจีนกลางในการติดต่อ พระสงฆ์ซึ่งพูดได้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีนกลาง และเป็นสมาชิกของทั้งสององค์การมีเป็นจำนวนน้อย
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10655. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6.
Photo : https://pixabay.com/photos/buddha-tooth-relic-temple-singapore-3178593/