พระสงฆ์ไทยกับการชุมนุมทางการเมือง

ในฐานะบรรพชิตแห่งพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาแห่งสันติและอหิงสา การแสดงออกทางการเมืองของพระสงฆ์นั้น ควรจะมุ่งเน้นไปในแนวทางแห่งสันติวิธีและความเมตตากรุณา เพื่อลดระดับของอุณหภูมิทางการเมืองให้ผ่อนคลายและสงบเย็นลง
  

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
ภาควิชามนุษยศาสตร์ 
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยมหิดล

ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน ที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมขับไล่รัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ และบุกเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม เป็นต้นมา เพื่อเรียกร้องให้นายสมัคร สุนทรเวช ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมทั้งเรียกร้องให้มีการสร้าง "การเมืองใหม่" ต่อมาสมาชิกวุฒิสภาได้ฟ้องร้องนายสมัคร สุนทรเวช ที่ไปออกรายการโทรทัศน์ "ชิมไปบ่นไป" ว่าเป็นการรับจ้างในขณะที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินให้นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 9 กันยายน

ในกระแสโลกาภิวัตน์ที่ทุนเป็นใหญ่และกำลังครองโลก ระบบทุนนิยมได้เข้ายึดกุมอำนาจทางการเมืองในเกือบทุกประเทศทั่วโลกรวมทั้ง ประเทศไทย รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ครองเสียงข้างมากในรัฐสภา เป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของทุนนิยมในการเมืองไทย แม้ว่านโยบายประชานิยม เช่น การปฏิรูประบบราชการ กองทุนหมู่บ้าน 30 บาทรักษาทุกโรค หวยออนไลน์ และการปราบปรามยาเสพติดขั้นเด็ดขาด จะเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนระดับรากหญ้า แต่นักการเมืองนายทุนก็รวบอำนาจอย่างก้าวร้าว ทุจริตทั้งทางตรงและในเชิงนโยบายอย่างโจ่งแจ้ง สร้างความไม่พอใจแก่ชนชั้นกลางทั้งในกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ (โดยมีเอเอสทีวีเป็นสื่อกลาง) จนนำไปสู่การประท้วงของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเปิดช่องให้อำนาจเก่าแห่งรัฐข้าราชการที่สูญเสียผลประโยชน์ใช้เป็นข้อ อ้างในการทำรัฐประหาร จัดตั้งรัฐบาล (ขิงแก่) ของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มอำนาจเก่า และต่อมาหนุนหลังพรรคการเมืองแนวอนุรักษ์นิยมในความพยายามเพื่อช่วงชิงอำนาจ กลับคืนมา

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น สมณะจากสำนักสันติอโศกจำนวนหนึ่ง นำโดยสมณะโพธิรักษ์ และสมณะจันทเสฏโฐ (ท่านจันท์) ได้เข้าร่วมชุมนุมกับฝ่ายพันธมิตร ทั้งที่สนามหลวง (ก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549) และที่ทำเนียบรัฐบาล โดยท่านจันท์ได้ขึ้นเวทีปราศรัยของฝ่ายพันธมิตรด้วย ต่อมาพระสงฆ์จากองค์กรบริหารมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) จำนวนหนึ่ง นำโดยพระสาธิต เมธวาที นายกองค์กร ก็ได้ขึ้นเวทีปราศรัยของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่สนามหลวง (ก่อนการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) เพื่อต่อต้านฝ่ายพันธมิตร และสำนักสันติอโศก ความเคลื่อนไหวของนักบวชทั้งสองกลุ่มนี้จุดประเด็นปัญหาขึ้นมาว่า พระสงฆ์ไทยควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง หรือมีสิทธิในการร่วมชุมนุมทางการเมืองหรือไม่

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 5 ระบุว่า "ประชาชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ หรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน"

และมาตรา 37 วรรคหนึ่ง ระบุว่า "บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนธรรม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่พลเมืองและไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน"

ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว พระสงฆ์ก็คือประชาชนหรือบุคคลที่นับถือพระพุทธศาสนา และปฏิบัติตามศาสนธรรมหรือศาสนบัญญัติ ในการอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ดังนั้น พระสงฆ์จึงได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญนี้เสมอกับประชาชนทั่วไป ตามมาตรา 37 วรรคสอง ที่ว่า "...บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐกระทำการใดๆ อันเป็นการรอนสิทธิหรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้เพราะเหตุที่ถือศาสนา นิกายของศาสนา ลัทธินิยมในทางศาสนา หรือปฏิบัติตามศาสนบัญญัติหรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือ แตกต่างจากบุคคลอื่น"

ในฐานะประชาชนคนหนึ่งพระสงฆ์จึงมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือแสดงออกด้วยการร่วมชุมนุมทางการเมืองตามกรอบของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การร่วมชุมนุมกับฝ่ายพันธมิตรของสมณะสันติอโศก หรือการร่วมชุมนุมกับฝ่าย นปช. ของพระนิสิตมหาจุฬาฯ รวมทั้งการขึ้นเวทีปราศรัยทางการเมือง จึงนับเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือการแสดงออกทางการเมืองที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ในฐานะบรรพชิตแห่งพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาแห่งสันติและอหิงสา การแสดงออกทางการเมืองของพระสงฆ์นั้น ควรจะมุ่งเน้นไปในแนวทางแห่งสันติวิธีและความเมตตากรุณา เพื่อลดระดับของอุณหภูมิทางการเมืองให้ผ่อนคลายและสงบเย็นลง

คำสั่งของมหาเถรสมาคม ลงวันที่ 2 มกราคม 2538 เรื่อง "ห้ามพระภิกษุเกี่ยวข้องกับการเมือง" โดยมีสาระสำคัญในข้อ 4 ที่ว่า "ห้ามพระภิกษุสามเณร เข้าไปในที่ชุมนุมหรือในบริเวณสภาเทศบาล หรือสภาการเมืองอื่นใด หรือในที่ชุมนุมทางการเมืองไม่ว่ากรณีใดๆ" กับข้อ 6 ที่ว่า "ห้ามพระภิกษุสามเณรร่วมชุมนุมในการเรียกร้องสิทธิของบุคคลหรือคณะบุคคลใด" และข้อ 7 ที่ว่า "ห้ามพระภิกษุสามเณรร่วมอภิปรายหรือบรรยายเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งจัดขึ้นทั้งในวัดและนอกวัด" นั้น จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 ดังมาตรา 6 ที่ว่า "รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้"

ขณะเดียวกันบรรพชิตอีกกลุ่มหนึ่งนำโดย พระศรีญาณโสภณ พระไพศาล วิสาโล พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี และแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ก็ได้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองด้วยการออกแถลงการณ์ "คำขอบิณฑบาตอาวุธและความรุนแรง" เมื่อวันที่ 9 กันยายน เพื่อเรียกร้องให้การชุมนุมทางการเมืองของทุกฝ่ายเป็นไปอย่างสงบและสันติ ปราศจากอาวุธหรือความรุนแรงใดๆ ดังความตอนหนึ่งของแถลงการณ์ที่ว่า

"มาตรการหนึ่งที่จะช่วยป้องกันมิให้ความรุนแรงเกิดขึ้นได้ ก็คือการไม่มีอาวุธหรืออุปกรณ์ที่ใช้เป็นอาวุธได้อยู่ในครอบครอง แม้ว่าแต่ละฝ่ายมีเหตุผลว่าเพื่อป้องกันตัวเองก็ตาม แต่การที่แต่ละฝ่ายมีอาวุธอยู่ในมือย่อมก่อความระแวงให้อีกฝ่ายหนึ่ง ทำให้ต้องหาอาวุธมาไว้ป้องกันตนเองบ้าง ยิ่งสะสมมากเท่าไรก็ยิ่งเพิ่มความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันให้มากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น พวกเราจึงขอบิณฑบาตอาวุธจากทุกฝ่ายด้วย หากแต่ละฝ่ายแสดงให้เห็นอย่างเปิดเผยว่าฝ่ายของตนปลอดอาวุธอย่างสิ้นเชิง ก็จะช่วยสร้างบรรยากาศแห่งความไว้วางใจให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการแสวงหาทางออกอย่างสันติวิธี อันเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนต้องการเห็น"

ประชาชนไทยผ่านการต่อสู้ทางการเมืองมาหลายครั้ง เพื่อเรียกร้องการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข โดยคนไทยต้องเสียชีวิต บาดเจ็บ และพิการเป็นจำนวนมาก ทั้งในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 จนกระทั่งเราได้ระบอบประชาธิปไตยที่ผ่านการเลือกตั้งอย่างเต็มรูปแบบ รวมทั้งการปฏิรูปการเมืองในรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 แม้ว่าเราจะได้เพียง "รูปแบบ" ของประชาธิปไตย โดย "เนื้อใน" ยังไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงก็ตาม ภาระหน้าที่ของประชาชนไทยน่าจะเป็นการเดินหน้า "ปฏิรูป" เนื้อในให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น มากกว่าการล้มรูปแบบประชาธิปไตยและสถาปนาระบบปกครองอื่นขึ้นมาแทนที่

ในการปฏิรูปเนื้อในของระบอบประชาธิปไตยนั้น นอกจากการออกกฎหมายในการป้องกันและปราบปรามการซื้อสิทธิขายเสียงในการเลือก ตั้ง โดยสมาชิกเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอาจจะลงไปควบคุมการเลือก ตั้งโดยตรง (ดังที่สมัยหนึ่งนิสิตนักศึกษาเข้าไปคุมการเลือกตั้ง) การมีระบบการตรวจสอบที่เข้มแข็ง โดยนักการเมืองไม่มีสิทธิแต่งตั้งศาลและองค์กรอิสระ และการเมืองภาคประชาชนจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจนโยบายสาธารณะ รวมทั้งการมีส่วนร่วมและตรวจสอบโครงการต่างๆ ตามนโยบายสาธารณะแล้ว การสร้าง "รัฐสวัสดิการ" (ซึ่งเป็นที่ต้องการของประชาชนในระดับรากหญ้าเป็นอย่างยิ่ง) ควรเป็นนโยบายหลักของทุกพรรคการเมือง

การปฏิรูปโครงสร้างการบริหารประเทศเป็นสิ่งจำเป็น โดยรัฐบาลควบคุมเฉพาะนโยบายหลักที่สำคัญ เช่น นโยบายกลาโหม ต่างประเทศ และการเงินการคลัง เป็นต้น และบริหารงบประมาณเท่าที่จำเป็นและในจำนวนที่จำกัด (เพื่อป้องกันการทุจริตในโครงการอภิมหาเมกะโปรเจ็คต์ทั้งหลาย) แล้วกระจายอำนาจการบริหารลงสู่ระดับจังหวัด (โดยอาจจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการในทุกจังหวัด) เพื่อให้งบประมาณแผ่นดินกระจายลงสู่ทุกจังหวัดอย่างทั่วถึง (โดยมีระบบควบคุมการเลือกตั้งที่มีประสิทธิภาพ องค์กรอิสระและศาลที่เป็นอิสระจากนักการเมือง ระบบการตรวจสอบที่เข้มแข็ง และการเมืองภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างและปฏิบัติตามนโยบาย สาธารณะต่างๆ ดังเช่นส่วนกลาง)

นอกจากนี้ ภาพลักษณ์ของนักการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ นักการเมืองจะต้องถูกตรวจสอบจากประชาชนจนกว่าจะเป็นที่ยอมรับ นักการเมืองที่มีประวัติด่างพร้อยจะต้องไม่อยู่ในคณะผู้บริหารไม่ว่าในระดับ ใด หากการเมืองภาคประชาชนถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองภาครัฐแล้ว ความขัดแย้งต่างๆ ก็น่าจะบรรเทาและยุติลงได้ในที่สุด
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 14 กันยายน 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11145. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6.

Photo : https://pixabay.com/photos/monk-hand-mudra-gesture-meditation-5948907/

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo