ทรรศนะนักวิชาการไทยเกี่ยวกับสงครามที่เป็นธรรม

สงครามที่เป็นธรรมจัดเป็นความขัดแย้งทางจริยธรรมระหว่างหน้าที่ในอันที่จะไม่ฆ่า หรือเบียดเบียนผู้อื่น และหน้าที่ในการป้องกันประเทศ หรือรักษาสันติภาพ ซึ่งทฤษฎีสงครามที่เป็นธรรมจะพยายามแก้ไขความขัดแย้งนี้ ด้วยการเสนอเงื่อนไขที่ทำให้บางครั้งการฆ่าไม่ถือว่าผิดจริยธรรม อย่างไรก็ตาม แม้ทฤษฎีสงครามที่เป็นธรรมจะเสนอว่าการฆ่าในสงครามบางครั้งเป็นสิ่งที่ชอบธรรมภายใต้เงื่อนไขบางประการ แต่เมื่อพิจารณาจากจุดยืนของพระพุทธศาสนาแล้วจะเห็นว่าพระพุทธศาสนาห้ามการฆ่าหรือทำลายทุกสิ่งที่มีชีวิต พิจารณาได้จากหลักเบญจศีลข้อที่หนึ่ง กระนั้นก็ตาม แม้ว่าพระพุทธศาสนาจะห้ามการทำลายชีวิต แต่ในบางครั้งการดำเนินชีวิตของมนุษย์ย่อมเผชิญกับความขัดแย้งเชิงจริยธรรมระหว่างการดำเนินชีวิตเพื่อความอยู่รอด กับหลักคำสอนทางศาสนา ซึ่งสงครามนับเป็นปัญหาความขัดแย้งประการหนึ่งดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ดังนั้น การพิจารณาความขัดแย้งทางจริยธรรมดังกล่าวบนพื้นฐานพุทธจริยศาสตร์จึงเป็นสิ่งจำเป็น 
        

ดวงเด่น น. 

สงครามที่เป็นธรรมจัดเป็นความขัดแย้งทางจริยธรรมระหว่างหน้าที่ในอันที่จะไม่ฆ่า หรือเบียดเบียนผู้อื่น และหน้าที่ในการป้องกันประเทศ หรือรักษาสันติภาพ ซึ่งทฤษฎีสงครามที่เป็นธรรมจะพยายามแก้ไขความขัดแย้งนี้ ด้วยการเสนอเงื่อนไขที่ทำให้บางครั้งการฆ่าไม่ถือว่าผิดจริยธรรม อย่างไรก็ตาม แม้ทฤษฎีสงครามที่เป็นธรรมจะเสนอว่าการฆ่าในสงครามบางครั้งเป็นสิ่งที่ชอบธรรมภายใต้เงื่อนไขบางประการ แต่เมื่อพิจารณาจากจุดยืนของพระพุทธศาสนาแล้วจะเห็นว่าพระพุทธศาสนาห้ามการฆ่าหรือทำลายทุกสิ่งที่มีชีวิต พิจารณาได้จากหลักเบญจศีลข้อที่หนึ่ง กระนั้นก็ตาม แม้ว่าพระพุทธศาสนาจะห้ามการทำลายชีวิต แต่ในบางครั้งการดำเนินชีวิตของมนุษย์ย่อมเผชิญกับความขัดแย้งเชิงจริยธรรมระหว่างการดำเนินชีวิตเพื่อความอยู่รอด กับหลักคำสอนทางศาสนา ซึ่งสงครามนับเป็นปัญหาความขัดแย้งประการหนึ่งดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ดังนั้น การพิจารณาความขัดแย้งทางจริยธรรมดังกล่าวบนพื้นฐานพุทธจริยศาสตร์จึงเป็นสิ่งจำเป็น

จุดยืนของพุทธจริยศาสตร์ต่อประเด็นเรื่องสงครามที่เป็นธรรมที่ควรนำมาประกอบการพิจารณา คือ เรื่องความหนักเบาของโทษที่เกิดจากการกระทำปาณาติบาต รวมถึงเจตนาของการกระทำว่าเกิดจากกุศลมูลหรืออกุศลมูล ตลอดจนผลของการกระทำ ซึ่งจากการศึกษา ภาคเอกสารเกี่ยวกับแนวคิดทางพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับสงคราม พบว่า การฆ่าหรือทำลายชีวิตในสงคราม หรือแม้แต่สงครามที่เห็นว่าชอบธรรมนั้น เป็นบาปทั้งสิ้น เพราะในการรบเพื่อป้องกันประเทศต้องมีการเตรียมการ มีการวางแผนการสู้รบ หรือแม้แต่เจตนาในการใช้อาวุธเพื่อต่อสู้กับศัตรู อันนำไปสู่การทำร้ายหรือทำลายชีวิตของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งการกระทำดังกล่าวย่อมครบองค์ห้าของ ปาณาติบาต แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อศึกษาร่วมกับเกณฑ์สำหรับพิจารณาโทษของปาณาติบาตแล้วพบว่า ถึงแม้การฆ่าจะเป็นบาป แต่การฆ่าแต่ละครั้งก็มีโทษ (หรือบาป) ไม่เท่ากัน ด้วยเหตุนี้ เป็นไปได้ว่า หากเหตุผลของการทำสงครามเกิดจากกุศลมูล กล่าวคือ เป็นไปเพื่อป้องกันตัว เพื่อรักษาผู้บริสุทธิ์ หรือความถูกต้อง บาปย่อมจะน้อย ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้สอดคล้องกับที่พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) (2538: 48) ได้เสนอไว้ว่า “ในกรณีที่ผู้ทำมีเจตนาไม่รุนแรง เช่น ทหารที่ทำสงครามป้องกันตัวในสนามรบ โดยเป็นการทำเพื่อป้องกันตัว ซึ่งไม่ได้มีเจตนาที่มุ่งร้าย หรือมีเจตนาที่อาฆาต และไม่ได้มีเจตนาที่จะไปเบียดเบียนผู้อื่น ก็จะถือว่าเป็นบาปน้อย ”และในท้ายที่สุดแล้ว เมื่อการทำสงครามที่มีผลโดยไม่ได้เป็นการเบียดเบียนตนเอง เบียดเบียนผู้อื่น หรือไม่ได้ทำตนเองหรือผู้อื่นให้เดือดร้อน อีกทั้งเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น จึงน่าจะเป็นสิ่งที่ชอบธรรม

การศึกษาเกี่ยวกับแนวคิดทางพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับสงคราม ได้ข้อสรุปว่าพระพุทธศาสนาน่าจะยอมรับว่ามีสงครามบางครั้งที่กล่าวได้ว่าชอบธรรม นั่นคือ สงครามที่ทำโดยมีเจตนาเป็นกุศลมูลประกอบด้วย เช่น ความเมตตากรุณาในการปกป้องประเทศชาติ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน อย่างไรก็ตาม จุดที่พระพุทธศาสนาดูจะต่างออกไปจากทฤษฎีสงครามที่เป็นธรรมในจริยศาสตร์ตะวันตก ก็คือว่า พระพุทธศาสนาไม่ได้มีทรรศนะว่าการฆ่าคนในการทำสงครามนั้นไม่ผิดจริยธรรม หากแต่เห็นว่าบาปที่ก่อนี้ไม่รุนแรงเท่ากับการฆ่าด้วยโทสะล้วน ๆ นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมว่าสิ่งอื่น ๆ ที่ทำในขณะทำสงครามก็มิใช่จะชอบธรรมไปเสียทั้งหมด ทั้งนี้ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป เช่น หากมีการทรมานเชลยศึกหรือฉุดคร่าก็เป็นบาป และไม่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายที่ดีในการทำสงคราม

เมื่อทราบถึงจุดยืนของพุทธจริยศาสตร์ที่มีต่อการทำสงครามแล้ว ในลำดับต่อไป ผู้เขียนจะได้อภิปรายผลการศึกษาทรรศนะของนักวิชาการ ดังนี้

จากการสัมภาษณ์นักวิชาการผู้เขียนพบว่า คำให้สัมภาษณ์ดูจะชี้ว่าผู้ให้สัมภาษณ์เห็นว่ามีสงครามที่เป็นธรรม อย่างไรก็ตาม ไม่อาจกล่าวได้เต็มที่นักว่ากลุ่มตัวอย่างทุกท่านมีความเห็นว่าพระพุทธศาสนายอมรับการมีอยู่ของสงครามที่เป็นธรรม ทั้งนี้เพราะว่าความเป็นธรรมของสงครามในทรรศนะของคนเหล่านี้นั้นบางครั้งก็มีเหตุผลอื่นที่ไม่ได้อ้างจากพระพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้ในประเด็นหนึ่งว่ามีการยอมรับพร้อม ๆ กันว่าพระพุทธศาสนาไม่ยอมรับการทำสงคราม และในขณะเดียวกัน สงครามก็เป็นสิ่งที่ต้องให้เป็นไปด้วยเหตุที่เป็นธรรมชาติ เมื่อพิจารณาคำสัมภาษณ์จะสังเกตเห็นได้ว่าบางครั้งการให้เหตุผลจะออกมาในรูปที่ว่า “ จริยธรรมหรือศาสนา ” เป็นคนละเรื่องกับ “ ความเป็นจริง ” เช่น คำกล่าวให้สัมภาษณ์ที่ว่า “ การป้องกันตัวเป็นหน้าที่ของสังคมและประชาชน ซึ่งอยู่นอกเหนือจากเรื่องของหลักธรรม ”ทรรศนะเช่นนี้อาจจะไม่ตรงกับพระพุทธศาสนาเสียทีเดียว เนื่องจากสิ่งที่พระพุทธองค์สอนก็คือ “ ธรรมะ ” หรือ “ ธรรมชาติ ” ดังนั้น ศาสนาจึงไม่ได้แยกออกจากความเป็นจริง ไม่ว่าความเป็นจริงจะเป็นอย่างไร หลักการที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบก็ยังจริงอยู่เช่นนั้น หรืออีกนัยหนึ่ง หลักจริยธรรมของพระพุทธศาสนานั้นมีลักษณะเป็นสัมบูรณ์นิยม กล่าวคือ พระพุทธศาสนาเห็นว่าค่าทางศีลธรรมเป็นสิ่งตายตัว ในทรรศนะของพระพุทธศาสนา การฆ่าคนไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นการกระทำที่ผิดศีลธรรม การทำสงครามถือเป็นการฆ่ารูปแบบหนึ่ง ซึ่งผิดศีลธรรมเช่นกัน ดังนั้น จึงหมายความว่าการฆ่าคนในสงครามผิดหลักศีลธรรมของพระพุทธศาสนา ก็ต้องผิดในความเป็นจริงด้วย และสิ่งนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้เราต้องสั่งสอนคนให้มีจริยธรรมที่ถูกต้อง ดังที่มีผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวว่า “ ถ้าคนในสังคมของเรา หรือในศาสนาของเราช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และคนเราหันมาช่วยกันจรรโลงพระพุทธศาสนา และเราปฏิบัติได้ ทุกคนจะไม่เดือดร้อนจากการทำสงคราม ”

นอกจากการชี้ให้เห็นว่า “ จริยธรรมหรือศาสนา ” เป็นคนละเรื่องกับ “ ความเป็นจริง ” แล้ว กลุ่มตัวอย่างยังได้กล่าวถึง การแบ่งหน้าที่ของพุทธศาสนิกชน กับหน้าที่การเป็นทหาร ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่าผู้ให้สัมภาษณ์พยายามแบ่งหน้าที่ทั้งสองออกจากกัน กล่าวคือเป็นการให้เหตุผลว่า “ หน้าที่ของพุทธศาสนิกชน ” เป็นคนละเรื่องกับ “ หน้าที่การเป็นทหาร ” เช่น คำกล่าวให้สัมภาษณ์ที่ว่า “ ถ้าเรามีหน้าที่ในการปกป้องประเทศ เราก็ต้องแบ่งระหว่างหน้าที่ในส่วนของการนับถือศาสนา การเคารพ การบูชาตามหลักคำสอนเป็นอีกส่วนหนึ่ง จากนั้นเมื่อภารกิจอีกด้านหนึ่งแทรกเข้ามา จำเป็นที่ทหารจะต้องแยกให้ถูกว่า ในความศรัทธา ในความเชื่อทางพระพุทธศาสนาที่เขามีอยู่ กับหน้าที่ที่จำเป็นจะต้องปฏิบัติเพื่อให้สังคมอยู่รอด รวมไปถึงเพื่อรักษาพระพุทธศาสนาด้วย บางครั้งต้องเสียสละ ”ทรรศนะเช่นนี้อาจจะไม่ตรงกับพระพุทธศาสนาเสียทีเดียว กล่าวคือ ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน เมื่อประเทศชาติเกิดสงครามขึ้น และเราต้องไปปฏิบัติหน้าที่ทหารเพื่อป้องกันประเทศ ก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเราเข้าสู่สนามรบ ความเป็นพุทธศาสนิกชนของเราจะยุติลงชั่วคราว ด้วยเหตุดังกล่าวจึงไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงหลักคำสอนทางศาสนาเมื่ออยู่ในสนามรบ ในทางตรงกันข้าม เมื่อประเทศชาติสงบเราก็ไม่จำเป็นต้องหน้าที่ในการป้องกันภัยคุกคาม เพียงเพราะเราถือว่าเป็นพุทธศาสนิกชนที่ต้องปฏิบัติตามหลักคำสอนทางศาสนาอย่างเคร่งครัด ดังนั้น ในสถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็นไปไม่ได้ว่ามนุษย์จะยึดถือหน้าที่ใดเพียงหน้าที่หนึ่งเท่านั้น อีกนัยหนึ่งคือ หน้าที่ของพุทธศาสนิกชน กับหน้าที่การเป็นทหารจึงแยกออกจากกันไม่ได้

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างได้กล่าวถึงเรื่องสิทธิในการป้องกันตนเอง เช่นคำกล่าวที่ว่า “ ทุกประเทศชาติย่อมจะรักประเทศชาติ รักเผ่าพันธุ์ของตัวเอง จึงต้องปกป้องพิทักษ์รักษาเผ่าพันธุ์ รักษาแผ่นดิน รักษาประเทศชาติของแต่ละบุคคลไว้ ถ้าหากว่ามีข้าศึกศัตรูมารุกราน ประเทศนั้นก็มีสิทธิที่จะปกป้องตัวเองได้ ”ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว ไม่ว่าในสถานการณ์ใด ๆ หากมีการอ้างสิทธิแล้ว ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นที่ยอมรับได้ในทุกกรณี ซึ่งกรณีของการอ้างสิทธิในการทำสงครามเพื่อป้องกันตัวเองก็เช่นกัน พิจารณาได้จากของทฤษฎีสงครามที่เป็นธรรมที่เสนอว่า “ การที่จะประกาศสงครามได้นั้นต้องมีเหตุผลอันชอบธรรม เป็นต้นว่า การต่อสู้ป้องกันตัวจากการรุกรานของฝ่ายตรงข้ามที่ไม่เป็นธรรม คุ้มครองประชาชนผู้บริสุทธิ์ ปกป้องสิทธิเสรีภาพและรัฐจากการถูกล่วงล้ำสิทธิ ”

ทรรศนะที่ให้สัมภาษณ์บางส่วนอ้างถึงความชอบธรรมในการออกรบ มาจากการทำหน้าที่ที่มีในฐานะชาวโลก เช่น “ ไม่ว่าเราจะไปเกิดที่ไหนก็ตาม เราย่อมมีหน้าที่ของเรา สมมติว่าหน้าที่ของเรา เราเป็นทหาร เราก็ปฏิบัติตามหน้าที่ของเรา ถ้าเราไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของเรามันก็ไม่ถูกไม่ควร และถ้าเราไม่อยากอยู่ในหน้าที่ตรงนั้นเราก็ออกมาได้ เราก็ลาออกมาแล้วหันมาปฏิบัติ เราก็สามารถบรรลุถึงขั้นไหน ๆ ได้เหมือนกัน ”การอ้างเหตุผลดังกล่าว ในส่วนหนึ่งคล้ายมีสมมุติฐานเกี่ยวกับการแยกความเป็นจริงหรือชีวิตทางโลกกับศาสนา ซึ่งมีปัญหาดังที่อภิปรายมาแล้ว อย่างไรก็ตาม ในอันที่จริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะมีการอ้างถึงหลักกรรมว่า “ ถามว่ามันเป็นบาปเป็นกรรมหรือไม่ คำตอบคือ ‘ เป็น ' แต่ไม่ถึงขั้นหนัก ”ดังนั้น จุดสนใจจึงน่าจะอยู่ที่คำถามว่าการอ้างหน้าที่ทางโลกจะให้ความชอบธรรมแก่การกระทำ เช่น การออกรบได้หรือไม่ ตามหลักพุทธจริยศาสตร์เป็นไปได้ว่าการอ้างหน้าที่อาจจะให้ความชอบธรรมกับการกระทำได้ แต่ความชอบธรรมนี้ไม่ได้มาจากเพียงการมีหน้าที่นั้น หากแต่ต้องดูความชอบธรรมของตัวหน้าที่เองอีกทอดหนึ่ง เช่น หน้าที่การเป็นทหารนั้นต่างจากโจร เพราะทหารมีไว้เพื่อผลประโยชน์ของคนหมู่มาก ในขณะที่โจรไม่ใช่ ดังนั้น การทำหน้าที่ของทหารจึงชอบธรรม ในขณะที่ของโจรไม่ชอบธรรม อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องพิจารณาเจตนาเป็นรายบุคคลไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่ออกรบโดยมีทัศนคติว่าเป็นหน้าที่ ทำไปตามหลักเหตุและผลแบบอุเบกขาย่อมจะมีบาปน้อยกว่าผู้ที่ออกรบด้วยความเคียดแค้นชิงชังศัตรู

การอ้างถึงหน้าที่ในการป้องกันประเทศชาติของคนในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน ดังคำกล่าวที่ว่า “ อย่างเราเป็นชาวพุทธ จะให้คนอื่นเข้ามาเหยียบย่ำ ย่ำยี ยึดของ ๆ เรา เราป้องกันประเทศของเราหรือเปล่า หรือจะปล่อยให้เขามายึดของเรา มันไม่ใช่ มันไม่ถูก ”จาก คำกล่าวนี้จะเห็นได้ว่าสามารถเชื่อมโยงเข้ากับแนวคิดของพระพุทธศาสนาเรื่องเมตตากรุณา เช่น ปกป้องสมาชิกในสังคม และการสละชีพเพื่อรักษาธรรม (ปกป้องศาสนา) ได้ ทั้งนี้ การอ้างเหตุผลดังกล่าวสามารถอธิบายสนับสนุนได้ด้วยหลักการทางพุทธจริยศาสตร์ดังที่ได้พิจารณามาแล้ว กล่าวคือ สงครามนั้น ๆ เกิดจากเจตนาที่เป็นกุศลมูล มีความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ไม่ต้องการให้เขาเหล่านั้นได้รับความเดือดร้อนจากกการถูกรุกราน หรือไม่ต้องการให้พระศาสนาถูกทำลาย ตลอดจนตั้งใจที่จะค้ำชูให้พระพุทธศาสนาดำรงสืบต่อไปได้ นอกจากนี้ ผู้ที่ไปทำสงครามต้องรู้ตัวอยู่เสมอว่าสิ่งที่ตนเองกระทำนั้นเป็นบาป แต่เมื่อไม่สามารถหลีกเลี่ยงการกระทำที่จะนำไปสู่บาปนั้นได้ ดังนั้นเมื่อกระทำไปแล้วต้องทำความดีให้มากยิ่งขึ้น และพร้อมที่จะรับผลของการกระทำที่จะเกิดขึ้นด้วย เหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่ทำให้สงครามนั้น ๆ มีความชอบธรรมได้

จากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างยังพบว่ามีการกล่าวอ้างถึงแนวคิดทางพระพุทธศาสนา เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำในสงคราม เช่น การกล่าวถึงเรื่อง “ ธรรม ” ในคำสัมภาษณ์ที่ว่า “ เมื่อประเทศเราเกิดสงคราม แล้วเราไปทำสงครามเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เพราะเราทำเพื่อป้องกันตัวเอง เพื่อความเป็นธรรม เพื่อรักษาความเป็นธรรมในโลก ”ซึ่งธรรมที่กลุ่มตัวอย่างหมายถึงนั้นน่าจะหมายความถึง “ ความยุติธรรม หรือความชอบธรรม ” ระหว่างประเทศ ที่ประเทศทั้งหลายพึงมีในฐานะของประเทศอธิปไตยที่ควรจะปราศจากการคุกคาม หรือการรุกรานจากประเทศอื่น ซึ่งต่างไปจาก “ ธรรม ” ทางพระพุทธศาสนา กล่าวคือ “ ธรรม ” ในทางพระพุทธศาสนาหมายความถึง “ บรมสุข หรือ นิพพาน ” ซึ่งเป็นเรื่องของการสละชีวิตในทางโลก หรืออุทิศตนเพื่อแสวงหาความจริงอันสูงสุด และนำความจริงที่ค้นพบเหล่านั้นมาช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นจากห้วงทุกข์ อันได้แก่ เกิด แก่ เจ็บ และตาย

หรือการกล่าวถึงเรื่อง “ การสร้างกุศล ” คล้ายกับเป็นการล้างบาป เช่น การสร้างวัดหลังจากที่ไปฆ่าคนในสงคราม ซึ่งเมื่อพิจารณาจากหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาแล้ว ไม่พบว่ามีการกล่าวถึงเรื่องในทำนองการล้างบาป แต่พระพุทธศาสนาถือว่าเรื่องของการทำบุญเพื่อชำระล้างกรรมชั่วนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถลบล้างกันได้ และสำหรับการทำบุญหรือสร้างกุศลมาก ๆ จะทำให้ผลของบาปตามไม่ทันผลของบุญที่ทำสั่งสมไว้เท่านั้น หรือผลของกรรมชั่วอาจจะให้ผลไม่แรงเท่ากับกรรมดีที่สร้างสมเอาไว้นั่นเอง ดังพระพุทธพจน์อ้างอิง ดังต่อไปนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเช่นไรเล่า ทำบาปกรรมเล็กน้อยเช่นนั้นเหมือนกัน บาปกรรมนั้นให้ผลทันตาเห็น แต่ส่วนน้อยไม่ปรากฏ ปรากฏเฉพาะส่วนมาก ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้อบรมกาย อบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญา มีคุณไม่น้อย มีอัตภาพใหญ่มีธรรมเป็นเครื่องอยู่หาประมาณมิได้ บุคคลเช่นนี้ทำบาปกรรมเล็กน้อยเช่นนั้นเหมือนกัน บาปกรรมนั้นให้ผลทันตาเห็น แต่ส่วนน้อยไม่ปรากฏ ปรากฏเฉพาะแต่ส่วนมาก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษพึงใส่ก้อนเกลือลงในขันใบน้อย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน น้ำในขันเพียงเล็กน้อยนั้น พึงเค็มดื่มกินไม่ได้ เพราะก้อนเกลือโน้นใช่ไหม

ภิ. กราบทูลว่าใช่พระเจ้าข้า ฯ

พ. เปรียบเหมือนบุรุษพึงใส่ก้อนเกลือลงในแม่น้ำคงคา เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน แม่น้ำคงคาพึงเค็ม ดื่มไม่ได้ เพราะก้อนเกลือโน้นหรือไม่ ฯ

ภิ. หามิได้ พระเจ้าข้า ฯ

พ. ฉันนั้นเหมือนกันแล ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบาปกรรมเพียงเล็กน้อย บาปกรรมนั้นก็นำเขาเข้านรก ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ทำบาปกรรมเล็กน้อยเช่นนั้นเหมือนกัน บาปกรรมนั้นให้ผลทันตาเห็น ส่วนน้อยไม่ปรากฏ ปรากฏแต่เฉพาะส่วนมาก ... ฯ

(อังคุตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาท. 20/237-238/540)

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าความเชื่อและการกระทำต่าง ๆ ที่กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าจะช่วยล้างบาปจากการฆ่าคนในสงครามได้นั้น เป็นภาพสะท้อนความเชื่อของกลุ่มคนและถูกแสดงออกมาในรูปแบบของพิธีกรรม ที่คิดว่าหากทำความดีมาก ๆ แล้วบาปจะหมดไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงพิธีกรรมที่กระทำไปแล้วก่อให้เกิดความสบายใจเท่านั้น

หรือการกล่าวถึงเรื่อง “ การรับผลกรรม ” ในคำสัมภาษณ์ที่ว่า “ ในกรณีที่เราเป็นทหารแล้วไม่ป้องกันเขตชายแดน เขตแดนของเราก็ถูกรุกรานเข้ามา เขาก็ยึดไปหมด แล้วครอบครัว บ้านเมืองของเรามันก็อยู่ไม่เป็นสุข ก็เดือดร้อนทั้งหมด ลอง พิจารณาดูว่า จะให้เราเดือดร้อนเพียงผู้เดียว คือได้รับผลกรรมจากการทำบาป หรือให้คนอื่นเดือนร้อนด้วย ”เมื่อนำ หลักของพระพุทธศาสนามาพิจารณาคำกล่าวนี้จะเห็นว่า ในทางพระพุทธศาสนานั้นถือว่าการฆ่าทุกชนิดล้วนเป็นบาปทั้งสิ้น แม้ว่าการฆ่านั้นจะปราศจากอกุศลมูล หรือการกระทำนั้นจะเป็นไปด้วยเจตนาที่ดีก็ตาม ทั้งนี้เพราะการกระทำต่าง ๆ ในสงครามย่อมครบทั้งองค์ปาณาติบาตห้า กล่าวคือ ในการรบเพื่อป้องกันประเทศย่อมมีการวางแผนการรบ หรือเตรียมการก่อนที่จะออกไปสู้รบ หรือแม้แต่การมีเจตนาที่จะหยุดยั้งศัตรูด้วยอาวุธ เหล่านี้ย่อมทำให้เกิดการทำลายชีวิต ซึ่งการกระทำเพื่อการดังกล่าวเมื่อครบทั้งองค์ปาณาติบาตห้าถือว่าเป็นบาปทั้งสิ้น ดังนั้น ผลของการกระทำย่อมเป็นของผู้ฆ่าโดยตรง ผลกรรมนั้น ๆ ไม่สามารถถ่ายโอนไปให้ผู้อื่นได้ แม้ว่าจะเป็นการทำบาปกรรมเพื่อผู้อื่นก็ตาม ดังนั้น การอ้างว่า ที่ยอมรับความเดือดร้อนจากผลกรรมคนเดียว เพื่อไม่ให้คนอื่นเดือดร้อนจากการรุกราน ดูเหมือนจะเป็นเรื่องของความรับผิดชอบของคน (ในฐานะสมาชิกของสังคม) ที่มีต่อสังคมมากกว่าจะเป็นเรื่องของหลักการทางศาสนา

จากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างเพื่อทราบถึงทรรศนะที่ว่า ถ้าพระพุทธศาสนาไม่อนุญาตให้ใช้ความรุนแรงใด ๆ แล้วพระพุทธศาสนาแนะนำให้ทำอย่างไรถ้าต้องป้องกันตัว จะเห็นว่ากลุ่มตัวอย่างไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ หากแต่ทรรศนะที่ให้มานั้นดูเหมือนจะอิงกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ เช่นการพูดถึง “ สงครามภายใน ” (ซึ่งหมายถึงการต่อสู้กับกิเลสภายในตัวเอง) แทนที่จะเป็น “ สงครามภายนอก ” อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่าอาจจะมีพุทธศาสนิกชนที่ปฏิบัติตามหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัดอาจยอมสละชีพ หรือถูกฆ่าในสงคราม ทั้งนี้เพื่อรักษาความบริสุทธิ์ของศีลไม่ให้บกพร่อง แต่เมื่อพิจารณาในแง่ของความเป็นจริงแล้วจะเห็นว่า สังคมที่เราดำรงอยู่นี้เป็นสังคมของมนุษย์ ที่ทุกชีวิตต่างก็รักและหวงแหนในชีวิตของตนและญาติพี่น้อง คงไม่มีมนุษย์คนใดทนเห็นญาติพี่น้องของตนเองถูกฆ่าได้โดยที่ไม่คิดจะปกป้อง ในเรื่องดังกล่าวนี้ผู้เขียนขอเสนอทรรศนะของ สมภาร พรหมทา (2535 : 82-83) ซึ่งให้ทรรศนะที่น่าพิจารณาดังนี้

หลายครั้งที่เราพบว่ามีผู้เสนอความคิดว่าสิ่งนั้นไม่ควรมีในสังคม เพราะขัดกับหลักธรรมข้อนี้ข้อนั้นในพระพุทธศาสนา คนที่เสนอนั้นอาจพยายามนึกแต่เพียงว่า สิ่งนี้ขัดหรือไม่ขัดกับหลักธรรมอันหลากหลายในพุทธศาสนา จนลืมไปว่า สังคมที่เรากำลังอภิปรายอยู่นี้ไม่ใช่สังคมพระอริยะ หากแต่คือสังคมของคนปกติธรรมดา ที่พระพุทธศาสนาเรียกว่าปุถุชน การจะวินิจฉัยว่าอะไรควรมีหรือไม่ควรมี ต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงอันนี้ด้วย

นอกจากนี้ ผลการศึกษาพบว่าพระพุทธศาสนาให้คำตอบกับความจำเป็นที่จะต้องทำสงครามเพื่อรักษาชีวิต กล่าวคือ พระพุทธศาสนายอมรับความเป็นจริงของมนุษย์ที่ต้องเผชิญความขัดแย้งทาง จริยธรรม ดังนั้น เมื่อจำเป็นต้องทำสงครามแล้ว สงครามนั้นต้องเกิดจากเจตนาที่เป็นกุศลมูล ตลอดจนตระหนักว่าการกระทำนั้นเป็นบาป และเมื่อกระทำไปแล้วต้องทำความดีมาก ๆ เพื่อ ละลายความชั่วร้ายที่เกิดจากการทำสงครามให้เจือจางลง

ในประเด็นการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างเพื่อทราบถึงทรรศนะ ที่มีต่อสงครามศาสนาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าพระพุทธศาสนามีคุณลักษณะที่แตกต่างไปจากศาสนาอื่น ๆ โดยทั้งนี้เพราะไม่ปรากฏว่ามีสงครามครั้งใดที่มีสาเหตุมาจากศาสนิกชนในพระพุทธศาสนาที่มีความเชื่อทางศาสนาขัดแย้งกัน แต่อย่างไรก็ตาม ไม่อาจปฏิเสธว่าสงครามระหว่างพุทธศาสนิกชนไม่มีอยู่จริง แต่สงครามระหว่างพุทธศาสนิกชนด้วยกันล้วนมีสาเหตุแห่งความขัดแย้งมาจากเรื่องอื่น ๆ ที่มิใช่ความเชื่อในศาสนาที่ต่างกัน แต่อาจจะเป็นความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ หรือการทำสงครามเพื่อความเป็นเอกราช เป็นต้น นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างเห็นว่า เหตุผลประการหนึ่งของสงครามศาสนาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะศาสนิกชนขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในหลักคำสอนทางศาสนาที่ตนเองนับถืออยู่ ดังนั้น เมื่อศาสนิกชนขาดความเข้าใจในหลักคำสอนทางศาสนา ย่อมทำให้การตีความคำสอนคลาดเคลื่อนตามไปด้วย และทำให้การปฏิบัติตนในฐานะของศาสนิกของศาสนาผิดไปจากเจตจำนงของศาสดา อันเป็นที่มาของสงครามศาสนา แต่ผู้เขียนเห็นว่าสงครามต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและสาเหตุของสงครามศาสนาที่เกิดขึ้นนั้น สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อที่ต่างกัน หรือการอ้างว่าเป็นการทำสงครามเพื่อศาสนา หรือเป็นการทำสงครามเพื่อพระเจ้า บางครั้งมิได้เป็นการสู้รบเพื่อศาสนาอย่างแท้จริง หากแต่เป็นการทำสงครามโดยมีผลประโยชน์ด้านอื่น ๆ แอบแฝงอยู่ แล้วนำศาสนามาเป็นข้ออ้างในการทำสงคราม เช่น การทำสงครามเพื่อแย่งชิงดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งอ้างว่าเพื่อเผยแผ่ศาสนาของพระเจ้าให้เป็นที่กว้างขวาง แต่แท้จริงกลับเป็นไปเพื่อขยายอาณานิคมของตน เป็นต้น

บทสรุป

จากการศึกษาพบว่า ท่าทีของนักวิชาการกลุ่มตัวอย่างโน้มเอียงไปทางที่เห็นว่ามีสงครามที่เป็นธรรม อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นที่ว่าพระพุทธศาสนายอมรับว่ามีสงครามที่เป็นธรรมหรือไม่นั้น กลุ่มตัวอย่างกลับแสดงท่าทีในลักษณะที่ว่าพระพุทธศาสนาไม่ยอมรับแนวคิดดังกล่าว ลักษณะการอ้างเหตุผลของกลุ่มตัวอย่างสามารถจำแนกได้ดังนี้

กลุ่มที่หนึ่ง การอ้างเหตุผลที่กลุ่มตัวอย่างกล่าวว่าไม่ได้มาจากแนวคิดของพระพุทธศาสนากลุ่มตัวอย่างที่ ให้สัมภาษณ์เห็นว่ามีสงครามที่เป็นธรรม อย่างไรก็ตาม ไม่อาจกล่าวได้เต็มที่นักว่ากลุ่มตัวอย่างทุกท่านมีความเห็นว่าพระพุทธศาสนายอมรับการมีอยู่ของสงครามที่เป็นธรรม ทั้งนี้เพราะว่าความเป็นธรรมของสงครามในทรรศนะของคนเหล่านี้นั้นบางครั้งก็มีเหตุผลอื่นที่ไม่ได้อ้างจากพระพุทธศาสนา เป็นต้นว่า การกล่าวว่า จริยธรรมหรือศาสนา เป็นคนละเรื่องกับ ความเป็นจริง การกล่าวว่า หน้าที่ของพุทธศาสนิกชนเป็นคนละเรื่องกับหน้าที่การเป็นทหาร หรือการอ้างสิทธิในการป้องกันตัว เป็นต้น ซึ่งกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าเหตุผลเหล่านี้สามารถใช้เป็นเหตุผลเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการทำสงครามได้

กลุ่มที่สอง กลุ่มที่สนับสนุนความชอบธรรมของการทำสงคราม โดยยกเหตุผลที่ดูจะไม่ใช่เรื่องของพระพุทธศาสนา แต่เมื่อพิจารณาแล้ว สามารถนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาอธิบายได้เช่น ทรรศนะที่ให้สัมภาษณ์บางส่วนอ้างถึงความชอบธรรมในการออกรบ มาจากการทำหน้าที่ที่มีในฐานะชาวโลก และ การอ้างถึงหน้าที่ในการป้องกันประเทศชาติของคนในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน

กลุ่มที่สาม การกล่าวอ้างถึงแนวคิดทางพระพุทธศาสนา เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำในสงครามเช่น การกล่าวถึงเรื่องธรรม ซึ่งธรรมในทรรศนะของกลุ่มตัวอย่าง หมายถึง ความชอบธรรม หรือความยุติธรรมในการทำสงครามเพื่อป้องกันตัวเอง แต่ธรรมในทรรศนะของพระพุทธศาสนาที่ได้จากการทบทวนวรณกรรมหมายความถึง นิพพาน หรือ บรมสุข นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างได้กล่าวถึงเรื่องการสร้างกุศลหลังจากทำสงคราม ซึ่งดูเหมือนจะเป็นความคิดที่ว่าสามารถล้างบาปได้ และการยอมรับผลของกรรมจากการไปฆ่าคนในสงครามเพื่อให้ประเทศชาติและพระศาสนาดำรงอยู่สืบไป

กล่าวโดยสรุปแล้ว จากการศึกษาทรรศนะของนักวิชาการผู้เขียนพบว่า ทรรศนะโดยรวมของนักวิชาการอิงกับแนวคิดทางพระพุทธศาสนา และทรรศนะส่วนตัว ซึ่ง ทรรศนะของนักวิชาการกลุ่มตัวอย่างเป็นไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ นักวิชาการทั้งหมดมีความเห็นตรงกันว่าพระพุทธศาสนาไม่อนุญาตให้ทำสงคราม เพราะพระพุทธศาสนามีหลักคำสอนให้งดเว้นจากการฆ่าหรือ ทำลายทุกสิ่งที่มีชีวิต กระนั้นก็ตาม แม้นักวิชาการทั้งหมดจะเห็นว่าพระพุทธศาสนาไม่สนับสนุนการทำสงคราม แต่นักวิชาการเหล่านี้ก็ยังมีทรรศนะว่ามีสงครามที่เป็นธรรม เพราะ ในบางครั้งที่เราไม่สามารถหลีก เลี่ยงการทำสงครามได้ บางครั้งเราต้องพิจารณาว่าจะตัดสินใจเลือกการกระทำแบบใด ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการทำสงคราม และยอมรับว่าการฆ่าในสงครามเป็นบาป ตลอดจนยอมรับในเรื่องผลกรรมที่จะได้รับ ทั้งนี้เพราะท่านเหล่านั้นพิจารณาแล้วว่าแม้การทำสงครามจะเป็นบาป แต่ในบางครั้งอาจนำมาซึ่งประโยชน์มหาศาลแก่ผู้คนในประเทศ อีกทั้งการทำสงครามเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ที่แต่ละปัจเจกบุคคลรับผิดชอบอยู่ เช่น หน้าที่ของทหารในการรักษาและป้องกันประเทศให้รอดพ้นจากภัยคุกคาม ดังนั้นการละเลยหรือไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ปล่อยให้ข้าศึกเข้ามารุกรานประเทศโดยไม่คิดจะป้องกันหรือตอบโต้จึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง อีกทั้งยังก่อให้เกิดผลเสียต่อประเทศชาติ ทำให้ประชาชนในประเทศได้รับความเดือดร้อน ดังนั้นการทำสงครามเพื่อป้องกันตัวจึงเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในทรรศนะของนักวิชาการเหล่านี้
--
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจริยศาสตร์ศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง “พุทธจริยศาสตร์กับแนวคิดเรื่องสงครามที่เป็นธรรม: กรณีศึกษาทรรศนะของนักวิชาการในบริบทสังคมไทยร่วมสมัย” ซึ่งวิทยานิพนธ์นี้
     • ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ประเภทนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ประจำปี 2545
     • ได้รับรางวัลเผยแพร่ผลงานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี ๒๕๔๕ ประเภทผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ (ผลงานวิจัยที่เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ได้รับการตีพิมพ์ ในวารสารวิชาการนานาชาติที่เป็นที่ยอมรับในสาขาวิชานั้น ๆ)
     • ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในโครงการประกวดวิทยานิพนธ์ดีเด่น ด้านสังคมศาสตร์ ครั้งที่ ๒ (ประจำปี ๒๕๔๘) จัดโดยบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
--
บรรณานุกรม

กรมการศาสนา. (2525). พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ 1-45. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา.

ต่วน สิริธมฺโม, พระมหา. 25 กุมภาพันธ์ 2545. ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. สัมภาษณ์ .

ธรรมปิฎก , พระ ( ป . อ . ปยุตฺโต ). ( 2538). ทำแท้ง : ตัดสินอย่างไร ชีวิตเริ่มต้นเมื่อไร ? การทำแท้ง ในทัศนะของพระพุทธศาสนา. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : บริษัท สหธรรมิก จำกัด.

________. (254 3 ). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม . (พิมพ์ครั้งที่ 9). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.

บุญถึง ชุตินธโร , พระมหา. 25 กุมภาพันธ์ 2545 . ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. สัมภาษณ์.

มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์. (2537). พระสูตร และอรรถกถา, แปล .(พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ. (มหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ พิมพ์เนื่องในโอกาสครบ 200 ปี แห่งพระราชวงศ์จักรี กรุงรัตนโกสินทร์ พุทธศักราช 2525).

สมภาร พรมทา. ( 2535 ) . พุทธศาสนากับปัญหาจริยศาสตร์: ทัศนะของพุทธศาสนาเกี่ยวกับปัญหาโสเภณี ทำแท้ง และการุณยฆาต. ( พิมพ์ครั้งที่ 1 ) . กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์พุทธชาด .

สมภาร สมภาโร , พระอาจารย์ . 25 กุมภาพันธ์ 2545 . ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. สัมภาษณ์ .

สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย แปล ภาค 1 .(2508). กรุงเทพฯ. (พิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศล จากพระเมรุพระศพสมเด็จพระสังฆราชญาโนทยมหาเถระ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร).

สัทธัมมะโชติกะ ธัมมาจริย , พระ. (2534). ปรมัตถโชติกา มหาอภิธัมมัตถสังหฎีกา เล่มที่ 2 .กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.

สารีบุตรเถระ , พระ. (2542). สารัตถทีปนี ฎีกาพระวินัย ภาค 1 และภาค 2 .(สิริ เพ็ชรไชย , ผู้แปล) กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดทิพยวิสุทธิ์.

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo