ทะไลลามะกับอนาคตของทิเบต

ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 ทะไลลามะองค์ปัจจุบันได้ทรงกระทำในสิ่งที่ทะไลลามะในอดีตไม่เคยกระทำมาก่อน นั่นคือการประกาศว่าทะไลลามะองค์ที่ 14 จะไม่ทรงอวตารกลับชาติมาเกิดใหม่อีก มิใช่เพียงเพราะว่าพระองค์ในฐานะอวตารของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร จะทรงหมดความเมตตากรุณาต่อสรรพสัตว์ที่อยู่เบื้องหลังโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนชาวทิเบตแต่เหตุผลที่แท้จริงซึ่งพระองค์มิได้ทรงกล่าวออกมา มีนัยทางการเมืองระหว่างประเทศอย่างสำคัญ ในประเด็นการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิการปกครองตนเองของชาวทิเบตจากรัฐบาลจีน
 

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
ภาควิชามนุษยศาสตร์ 
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยมหิดล

ทะไลลามะองค์ที่ 14 ซึ่งเป็นองค์ปัจจุบัน ประสูติเมื่อวันขึ้น 5 ค่ำเดือน 5 ปีกุน ธาตุไม้ตามปฏิทินทิเบตตรงกับปี พ.ศ.2477 ที่หมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งชื่อดักด์เสอ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของทิเบต ซึ่งเวลานั้นเป็นเขตปกครองของจีน เด็กน้อยถูกค้นพบในกระท่อมของชาวนาที่ยากจนครอบครัวหนึ่ง เมื่อผ่านการพิสูจน์ตามธรรมเนียมของชาวทิเบตจนครบถ้วน และเชื่อกันว่าเป็นอวตารของทะไลลามะที่แท้จริงแล้วเด็กน้อยก็ได้รับการสถาปนาให้เป็นทะไลลามะองค์ที่ 14 ในวันที่ 13 ตุลาคมพ.ศ.2483 โดยมี เรติง รินโปเชเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินของพระองค์และทรงรับผิดชอบบ้านเมืองโดยตรงเมื่อมีพระชนมายุได้ 16 พรรษา

ในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2493 ขณะเมื่อทะไลลามะมีพระชนมายุเพียง 16 พรรษาเท่านั้น จีนได้ส่งกำลังทหารข้ามแม่น้ำเดรชู อันเป็นเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างจีนกับทิเบต เข้าไปในทิเบตและยึดภาคตะวันออกของทิเบตไว้ได้ทั้งหมด กองทัพของทิเบต (ซึ่งมีขนาดเล็กมาก เหมาะที่จะทำหน้าที่เพียงคอยลาดตระเวนเพื่อป้องกันคนไม่ให้เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และทำหน้าที่เป็นตำรวจมากกว่า) ไม่อาจต้านทานกำลังทัพอันมหาศาลของจีนได้ ทิเบตได้ขอความช่วยเหลือไปยังรัฐบาลอังกฤษ สหรัฐอเมริกา อินเดีย และเนปาล แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ จึงได้ร้องทุกข์ไปยังองค์การสหประชาชาติ โดยมีเอลซัลวาดอร์เป็นผู้ยื่นคำร้องในคราวประชุมสมัชชาใหญ่เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2493 แต่สหประชาชาติปฏิเสธที่จะพิจารณาปัญหาทิเบต โดยอังกฤษเป็นผู้ยื่นเรื่องให้ระงับปัญหาทิเบต ในปีรุ่งขึ้นคือปี พ.ศ.2494 ทะไลลามะจึงทรงแต่งตั้งผู้แทน 4 คนเดินทางไปเจรจากับจีนที่กรุงปักกิ่ง จีนได้กดดันให้ทิเบตต้องลงนามในสัญญา 17 ข้อที่ฝ่ายจีนเป็นผู้เสนอในวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2494 สาระสำคัญของสัญญาก็คือ อำนาจทางกลาโหมและการต่างประเทศของทิเบตขึ้นตรงต่อจีน ส่วนกิจการอื่นๆ นั้นทิเบตจะได้รับสิทธิในการปกครองตนเอง หลังจากนั้นจีนได้ส่ง นายพลชางชินวู พร้อมด้วยกองทหารจีนไปประจำอยู่ที่กรุงลาซา ขณะเดียวกันจีนก็ผลักดันให้ทิเบตยอมรับเด็กชาวทิเบตคนหนึ่งว่าเป็นอวตารของปันเชนลามะ ผู้นำทางศาสนาที่สำคัญอีกองค์หนึ่งของทิเบตและพยายามเพิ่มอำนาจและบทบาทให้แก่ปันเชนลามะ

ปี พ.ศ. 2497 ทะไลลามะเสด็จกรุงปักกิ่ง ทรงหารือปัญหาทิเบตกับผู้นำจีนนับตั้งแต่เหมาเจ๋อตุง ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน จูเต้อ รองประธานพรรค โจวเอินไหลนายกรัฐมนตรี และหลิวเฉาชี ผู้นำที่สำคัญอีกคนหนึ่งของจีน จีนได้เสนอให้ตั้ง"คณะกรรมการเตรียมการเพื่อการปกครองตนเองของทิเบต"โดยมีกรรมการ 51 คนเป็นผู้แทนจีน 5 คน นอกนั้นเป็นชาวทิเบตทั้งหมด มีทะไลลามะทรงเป็นประธาน ปันเชนลามะกับผู้แทนจีนคนหนึ่งเป็นรองประธาน มีหน้าที่เตรียมการให้ทิเบตเป็นเขตปกครองตนเอง นอกจากนี้ทะไลลามะทรงได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมรัฐสภาของจีนด้วย และในระหว่างที่ประทับอยู่ที่กรุงปักกิ่ง พระองค์ทรงได้พบกับ เยาวะหะราลเนห์รู นายกรัฐมนตรีของอินเดียเป็นครั้งแรก

ครั้นเสด็จกลับถึงกรุงลาซา รัฐบาลจีนได้ส่ง นายพลเชนยีรองนายกรัฐมนตรี มาเปิดประชุม "คณะกรรมการเตรียมการเพื่อการปกครองตนเองของทิเบต"โดยเริ่มประชุมในเดือนเมษายน พ.ศ.2499 แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ทำให้ชาวทิเบตบางส่วนเริ่มทำสงครามกองโจรต่อต้านกองทัพจีนในทิเบต และการรบได้ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ความตึงเครียดระหว่างทิเบตกับจีนได้เพิ่มมากขึ้น มหาราชกุมารแห่งแคว้นสิขิมได้เสด็จกรุงลาซา เพื่อทูลเชิญทะไลลามะให้เสด็จอินเดียเพื่อร่วมฉลองงานครบรอบ 25 พุทธศตวรรษ วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2499 รัฐบาลอินเดียได้ส่งโทรเลขถึงรัฐบาลจีน ทูลเชิญทะไลลามะและปันเชนลามะให้ไปร่วมงานฉลองในฐานะแขกของรัฐบาลอินเดียเมื่อทะไลลามะเสด็จถึงกรุงเดลี ทรงได้พบปะกับบรรดาผู้นำอินเดียอันมีดร.ราเชนทรประสาท ประธานาธิบดี ดร.ราธา กฤษณันรองประธานาธิบดี และเนห์รูนายกรัฐมนตรี ทรงหารือปัญหาทิเบตกับนายกรัฐมนตรีอินเดียอย่างจริงจัง และได้เชิญนายกรัฐมนตรีอินเดียไปเยือนกรุงลาซาในเวลาต่อมา แต่รัฐบาลจีนไม่อนุญาตโดยให้เหตุผลว่าไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยให้ได้ในทิเบต

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2502 จีนได้ทูลเชิญทะไลลามะให้เสด็จดูการแสดงในค่ายทหารจีนกลางกรุงลาซา ประชาชนทิเบตได้เข้าขัดขวางเพราะเกรงว่าจีนจะจับองค์ทะไลลามะไป ในที่สุดประชาชนได้เข้าล้อมป้องกันวังนอร์บุลิงก์ อันเป็นที่ประทับของทะไลลามะในขณะนั้นไว้ จนเกิดวิกฤตการณ์ระหว่างชาวทิเบตกับทหารจีนอย่างรุนแรง วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2502 ทะไลลามะทรงตัดสินพระทัยเสด็จลี้ภัยไปยังอินเดียแม้หนทางจะยากลำบากและทุรกันดาร ภายหลังได้เกิดจลาจลอย่างขนานใหญ่ขึ้นในกรุงลาซา ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และสถานที่ต่างๆ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ทะไลลามะทรงประกาศจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นที่ป้อมลุนด์เสด์ซอง ตำบลโซดานูบชายแดนทิเบต ก่อนที่จะเสด็จลี้ภัยการเมืองไปยังเมืองธรรมศาลาประเทศอินเดียแต่รัฐบาลพลัดถิ่นของทะไลลามะไม่ได้รับการรับรองจากประเทศใดๆ อย่างเป็นทางการ

ปี พ.ศ.2502 ทะไลลามะทรงประกาศอย่างเป็นทางการบอกเลิกสัญญา 17 ข้อที่ทำไว้กับจีน ในปีเดียวกันสมาชิกสหประชาชาติ 2 ประเทศ คือ ไอร์แลนด์และมลายู ได้ยื่นข้อร้องทุกข์ของทิเบตต่อสหประชาชาติมีการหารือกันถึงเรื่องนี้ในคณะกรรมการบริหารของสมัชชาใหญ่สมัยประชุมที่ 14 ในปี พ.ศ.2502 และมีมติสนับสนุนข้อเรียกร้องของทิเบต ต่อมาประเทศไทยและมลายูเป็นผู้นำเสนอญัตตินี้อีกในปีถัดมาแต่เกิดเหตุการณ์ในแอฟริกาที่สำคัญกว่าสมัชชาใหญ่จึงเลื่อนวาระการอภิปรายเรื่องทิเบตออกไปทุกวันจนสิ้นสุดสมัยการประชุม ในปี พ.ศ.2502 นั้นเองทะไลลามะทรงได้รับรางวัลแม็กไซไซในสาขาผู้นำชุมชน

ทะไลลามะองค์ปัจจุบันเคยเสด็จประเทศไทย 2 ครั้ง ครั้งแรกในปีพ.ศ.2510 ทรงได้รับเชิญอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลไทย และทรงได้รับการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติและอบอุ่นยิ่งนอกจากจะได้ทรงเข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะองค์เอกอัครพุทธศาสนูปถัมภกของไทยแล้ว ยังได้เสด็จเยือนพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่หลายท่านทั้งฝ่ายมหานิกายและฝ่ายธรรมยุต นับตั้งแต่สมเด็จพระญาณสังวร ท่านพุทธทาสภิกขุ และพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ครั้งที่สองพระองค์เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ในปีพ.ศ.2515

ในปี พ.ศ. 2530 ทะไลลามะกลับทรงถูกปฏิเสธจากรัฐบาลไทย มิให้เข้าร่วมการประชุมนานาชาติในประเทศไทยถึง3 ครั้ง โดยเกรงว่าจะกระทบกระเทือนสัมพันธไมตรีกับประเทศจีน ครั้งแรกได้แก่การประชุมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ จัดโดยองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกครั้งที่สองการประชุมสตรีชาวพุทธนานาชาติ (ซึ่งภายหลังได้ย้ายไปจัดที่ประเทศอื่น) และครั้งที่สาม ได้แก่ การประชุมผู้ที่เคยได้รับรางวัลแม็กไซไซ จัดโดยมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ต่อมาในปี พ.ศ.2532 ทะไลลามะทรงได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

การจลาจลของชาวทิเบตทั้งในเมืองลาซาและเมืองอื่นๆ 2 สัปดาห์ก่อนพิธีการจุดคบเพลิงโอลิมปิค 2008 ซึ่งประเทศจีนเป็นเจ้าภาพ รวมทั้งการประท้วงระหว่างการวิ่งคบไฟโอลิมปิคในประเทศต่างๆและการที่ทะไลลามะทรงมีพระชนมายุครบ 75 ปี ด้วยพระวรกายที่มีโรคภัยไข้เจ็บรุมเร้าในปี พ.ศ.2553 ทำให้ปัญหาทิเบตกลับมาอยู่ในความสนใจของชาวโลกอีกครั้งหนึ่ง ขณะที่ชาวทิเบตอ้างว่าทิเบตเคยเป็นเอกราชอยู่นาน 38 ปี(พ.ศ.2455-2493) ในสมัยองค์ทะไลลามะที่ 13 (ขณะนั้นจีนประสบปัญหายุ่งยากจากลัทธิอาณานิคมตะวันตก สงครามกับญี่ปุ่น และสงครามกลางเมือง) รัฐบาลจีนก็อ้างประวัติศาสตร์เช่นกันว่า ทิเบตเคยเป็นส่วนหนึ่งของจีนมานานกว่า 150 ปี

ทิเบตเป็นรัฐเล็ก (แม้ดินแดนจะกว้างใหญ่ แต่มีพลเมืองน้อย) ตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานทิเบตเกือบไม่เคยเป็นตัวของตัวเองเลย ในอดีตทิเบตอยู่ภายใต้การยึดครองของมองโกล (มองโกเลียในปัจจุบัน) และจีนสลับกันไปมาหลายครั้งยามที่จีนอ่อนแอและมองโกลเข้มแข็งทิเบตก็ตกเป็นของมองโกล ยามที่จีนเข้มแข็งและมองโกลอ่อนแอทิเบตก็ตกเป็นของจีน และในยุคอาณานิคมทิเบตก็ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของอังกฤษ การอ้างประวัติศาสตร์ของทั้งชาวทิเบตและรัฐบาลจีนนั้น ต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แต่เป็นประวัติศาสตร์คนละช่วงเวลากัน

ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 ทะไลลามะองค์ปัจจุบันได้ทรงกระทำในสิ่งที่ทะไลลามะในอดีตไม่เคยกระทำมาก่อน นั่นคือการประกาศว่าทะไลลามะองค์ที่ 14 จะไม่ทรงอวตารกลับชาติมาเกิดใหม่อีก มิใช่เพียงเพราะว่าพระองค์ในฐานะอวตารของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร จะทรงหมดความเมตตากรุณาต่อสรรพสัตว์ที่อยู่เบื้องหลังโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนชาวทิเบตแต่เหตุผลที่แท้จริงซึ่งพระองค์มิได้ทรงกล่าวออกมา มีนัยทางการเมืองระหว่างประเทศอย่างสำคัญ ในประเด็นการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิการปกครองตนเองของชาวทิเบตจากรัฐบาลจีน

ถ้าหากว่าทะไลลามะทรงปล่อยให้"วัฒนธรรมการอวตาร" ดำเนินต่อไปหากพระองค์สิ้นพระชนม์ลงวันใด ชาวทิเบตจะต้องออกติดตามเด็กทารกซึ่งเชื่อกันว่าจะเป็นอวตารของพระองค์ และจะเลี้ยงดูเด็กคนนั้นไปอีก 16 ปีอันเป็นวัยที่จะบรรลุนิติภาวะและได้รับการสถาปนาเป็นทะไลลามะองค์ใหม่ เวลา 16 ปีนั้นนานเกินไปสำหรับการสานต่ออุดมการณ์การเรียกร้องสิทธิการปกครองตนเองจากจีน และก็ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าเด็กคนนั้นจะไม่ถูกปลูกฝังอุดมการณ์เป็นอย่างอื่นในแผ่นดินทิเบตภายใต้การปกครองของจีน ทะไลลามะองค์ปัจจุบันจึงทรงพอพระทัยมากกว่า ที่จะแต่งตั้งทายาททางการเมืองด้วยพระองค์เองขณะที่พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่
--
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 11838. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6. 

Photo : https://pixabay.com/photos/dalai-lama-tibet-buddhism-lama-2244829/

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo