ถ้าชีวิตหลังความตายคือ “การกลับชาติมาเกิดใหม่” เป็น “ข้อเท็จจริง” (fact) มนุษย์ไม่ว่าชาติใดภาษาใดหรือศาสนาใด ก็ต้องกลับชาติมาเกิดใหม่เสมอไม่มียกเว้น แต่ถ้าชีวิตหลังความตายคือ “การรอคอยวันสิ้นโลก” เป็น “ข้อเท็จจริง” มนุษย์ไม่ว่าจะมีความเชื่ออย่างไรก็ต้องเป็นไปตามนั้น เพราะ “ความเชื่อ” เป็นเรื่องหนึ่งและ “ข้อเท็จจริง” เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเราย้อนหลังไปเพียง 500 ปี มนุษย์ทุกคนในโลกนี้ต่างก็เชื่อว่า “โลกแบน” แต่ความเชื่อของคนส่วนใหญ่ไม่สามารถเปลี่ยนข้อเท็จจริงที่ว่า “โลกกลม” ได้ฉันใด “ความเชื่อ” ในเรื่องชีวิตหลังความตายก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง “ข้อเท็จจริง” เกี่ยวกับชีวิตหลังความตายได้ฉันนั้น เพียงแต่ว่ามนุษย์จะเสาะหา “ข้อเท็จจริง” เกี่ยวกับชีวิตและความตาย หรือเพียงแต่เชื่อตาม “ความเชื่อ” ของคนส่วนใหญ่ที่สืบทอดมาแต่โบราณเท่านั้น
มนุษย์ในทุกยุคทุกสมัย ในทุกหนทุกแห่ง และในทุกอารยธรรม ล้วนรักตัวกลัวตาย ไม่อยากตาย ต่างแสวงหา “ความไม่ตาย” (Immortality) ด้วยกันทั้งสิ้น มนุษย์แสวงหา “ความเป็นอมตะ” ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไป ชาวอียิปต์โบราณแสวงหาความเป็นอมตะด้วยการทำมัมมี่ โดยมีความเชื่อว่าคนที่ตายไปแล้วหากรักษาสภาพร่างกายไว้ให้ดี ก็อาจจะมีโอกาสฟื้นกลับคืนชีพขึ้นมาใหม่ได้อีก ชาวอียิปต์โบราณจึงได้สร้าง “วัฒนธรรมมัมมี่” ขึ้นมา ด้วยวิธีการดองศพและพันห่อทั่วทั้งร่างกายด้วยผ้าขาว แล้วนำไปบรรจุลงในโลงศพ เก็บรักษาไว้ภายใต้ปิรามิด ชนชั้นสูงในสมัยนั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่ากษัตริย์ฟาห์โร บรรดาขุนนาง และผู้มั่งคั่งทั้งหลาย ต่างเสาะแสวงหาความเป็นอมตะด้วยการทำมัมมี่แทบทั้งสิ้น เทคโนโลยีการทำมัมมี่ของอียิปต์นับว่าก้าวหน้าเป็นที่เลื่องลือ เพราะสามารถรักษาสภาพศพมิให้เน่าเปื่อยมาได้นับหลายพันปี
ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์สามารถค้นพบตัวยาสมุนไพร และเทคนิควิธีการทำมัมมี่ของชาวอียิปต์โบราณได้สำเร็จ นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบวินิจฉัยสภาพร่างกายของมัมมี่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันได้อย่างแม่นยำ ว่ามัมมี่เหล่านั้นก่อนตายป่วยด้วยโรคอะไร และตายด้วยสาเหตุใด เช่น มัมมี่บางตนไขข้ออักเสบก็ยังตรวจพบได้ และมัมมี่บางตนถูกฆาตรกรรมด้วยวิธีใดก็บอกได้ เป็นต้น มีการนำเทคโนโลยีการสืบสวนสอบสวนในยุคปัจจุบัน ไปสืบหาตัวคนร้ายในคดีฆาตรกรรมที่เกิดขึ้นในอียิปต์เมื่อหลายพันปีก่อน โดยอาศัยร่องรอยที่ทิ้งไว้ในมัมมี่ได้สำเร็จ เป็นที่ฮือฮาในวงการอาชญวิทยาเป็นอย่างยิ่ง
ในสหรัฐอเมริกามีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ได้ใช้ความต้องการที่จะเป็นอมตะของมนุษย์ทำธุรกิจที่สร้างกำไรอย่างมหาศาล โดยอิงอาศัยข้อเท็จจริงที่ว่า ปัจจุบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว มนุษย์จะมีความรู้เพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวในทุกๆ 4 ปี ด้วยอัตราความเร็วของความรู้ที่เพิ่มขึ้นนี้ บริษัทแห่งนี้ประมาณการว่า ในอีก 100 ถึง 200 ปีข้างหน้า มนุษย์จะสามารถค้นพบเทคโนโลยีที่จะปลุกชีวิตให้ตื่นขึ้นจากความตายได้ บริษัทจึงเสนอตัวที่จะเป็นผู้เก็บรักษาร่างกายของผู้ที่ถึงแก่ความตายในปัจจุบัน ด้วยแนวคิดแบบอียิปต์โบราณ แต่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่คือ เก็บรักษาร่างกายของคนตายในแคปซูลที่ควบคุมความเย็น แล้วนำไปเก็บไว้ในห้องเย็นใต้ดิน รอวันเวลาที่นักวิทยาศาสตร์ในอนาคตจะค้นพบความรู้ในการปลุกชีวิตให้ตื่นขึ้นจากความตาย ปรากฏว่ามหาเศรษฐี นักการเมือง ดาราฮอลลีวู๊ด และชาวอเมริกันผู้มั่งคั่งอื่นๆ แห่กันมาใช้บริการอย่างคับคั่ง โดยยินดีจ่ายเบี้ยประกันราคาแพงให้กับบริษัท เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในส่วนลึกของจิตใจที่อยากจะเป็นอมตะของตน
จีนในสมัยโบราณแสวงหาความมีอายุยืน (Longevity) และความไม่ตายด้วยวัฒนธรรม “ ยาอายุวัฒนะ ” โดยการเสาะหาตัวยาสมุนไพรที่หาได้ยาก มาเล่นแร่แปรธาตุเพื่อให้เป็นยาอายุวัฒนะ โดยเชื่อว่าเมื่อดื่มกินเข้าไปแล้วจะทำให้ร่างกายอยู่ยงคงกระพัน ชาวจีนโบราณทำได้สำเร็จอย่างมากก็เพียงทำให้อายุยืนยาวขึ้นเท่านั้น ด้วยกายบริหารแบบ “ไทเก็ก” และการหลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์และอาหารบางประเภท แต่ก็ไม่อาจเอาชนะความตายไปได้
ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ในยุโรปตะวันตกพยายามค้นหา “ยาอายุวัฒนะ” ด้วยแนวคิดแบบจีนโบราณ แต่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ นักวิทยาศาสตร์เหล่านั้นได้ทำการวิจัยถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้คนมีอายุยืน โดยการสัมภาษณ์คนที่มีอายุยืนที่สุดในโลกจำนวนหนึ่ง การวิจัยนี้พบว่า สาเหตุที่ทำให้คนมีอายุยืนนั้น การรักษาสุขภาพและการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นเพียงปัจจัยประกอบเท่านั้น ปัจจัยหลักอยู่ที่การมี “ยีนอายุยืน” ในตัวของบุคคลเหล่านั้น นักวิทยาศาสตร์จึงนำยีนของบุคคลเหล่านั้นมาวิจัยในห้องทดลอง เพื่อศึกษาถึงองค์ประกอบของยีนอายุยืน โดยหวังว่าเมื่อค้นพบแล้วจะสามารถสกัดองค์ประกอบสำคัญนั้น มาเพาะขยายในห้องทดลอง แล้วบรรจุลงในรูปของแคปซูลหรือยาฉีดหรือการปลูกถ่าย แล้วนำออกจำหน่ายเป็น “ยาอายุวัฒนะ” เมื่อผู้คนบริโภคเข้าไปแล้ว จะไปทำให้ยีนของตนกลายเป็น “ ยีนอายุยืน” ดังเช่นยีนต้นแบบ หากนักวิทยาศาสตร์ทำได้สำเร็จ จะทำให้บริษัทยาสร้างกำไรได้มหาศาล
ชาวอินเดียโบราณก็แสวงหาความเป็นอมตะเช่นเดียวกับชนชาติอื่น แต่ชาวอินเดียกลับเห็นว่ามนุษย์ไม่มีทางที่จะเอาชนะความตายทางร่างกายได้ อินเดียโบราณจึงมุ่งไปยังการสร้างปรัชญาที่ลึกซึ้งขึ้นมาทดแทน พวกพราหมณ์ในอินเดียได้เสนอทฤษฎี “จิตอมตะ” (อาตมัน) ขึ้นมา โดยอธิบายว่าร่างกายยังมิใช่ตัวตนที่แท้จริงของมนุษย์ “จิต” ต่างหากที่เป็นตัวตนที่แท้จริง เมื่อร่างกายตายลง “จิต” หาได้ตายตามไม่ “จิต” จะล่องลอยไปหาร่างกายใหม่ เพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป ทฤษฎีนี้เป็นที่มาของความเชื่อในเรื่องการกลับชาติมาเกิดใหม่ ทฤษฎี “จิตอมตะ” จะเป็นจริงหรือไม่เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ทฤษฎีนี้สามารถตอบสนองต่อความต้องการในส่วนลึกของจิตใจที่อยากจะเป็นอมตะของมนุษย์ได้ จึงเป็นที่นิยมเชื่อถือกันอย่างกว้างขวางทั้งในอินเดียและประเทศที่ได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมอินเดีย
ศาสนาที่เกิดในคาบสมุทรอารเบีย หรือที่เรียกกันว่า “ศาสนาตะวันตก” อันได้แก่ ศาสนายูดาย (ยิว) ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม เป็นต้นนั้น ก็เชื่อในเรื่อง “จิตอมตะ” เช่นเดียวกัน แต่ทฤษฎี “จิตอมตะ ” ของศาสนาที่เชื่อพระเจ้าองค์เดียว (Monotheism) เหล่านี้กลับอธิบายว่า เมื่อร่างกายตายลง “จิต” จะไม่แวะเวียนไปที่ไหน แต่จะตรงดิ่งไปยังสถานที่ซึ่งพระเจ้ากำหนดให้ และรออยู่ที่นั่นจนกว่าจะถึงวันสิ้นโลก แล้วพระเจ้าจึงจะลงมาพิพากษา ในทางดาราศาสตร์ดวงอาทิตย์จะมีเชื้อเพลิงเผาผลาญตัวเองไปอีกประมาณ 5,000 ล้านปี ถ้า “วันสิ้นโลก” คือวันที่สุริยจักรวาลถึงกาลแตกดับ “จิต” ของคนตายจะต้องรอแกร่วอยู่นานโขทีเดียวกว่าจะถูกพิพากษา นับเป็นความเชื่อที่แปลกไปจาก “ศาสนาตะวันออก” มากทีเดียว
ถ้าชีวิตหลังความตายคือ “การกลับชาติมาเกิดใหม่” เป็น “ข้อเท็จจริง” (fact) มนุษย์ไม่ว่าชาติใดภาษาใดหรือศาสนาใด ก็ต้องกลับชาติมาเกิดใหม่เสมอไม่มียกเว้น แต่ถ้าชีวิตหลังความตายคือ “การรอคอยวันสิ้นโลก” เป็น “ข้อเท็จจริง” มนุษย์ไม่ว่าจะมีความเชื่ออย่างไรก็ต้องเป็นไปตามนั้น เพราะ “ ความเชื่อ ” เป็นเรื่องหนึ่งและ “ ข้อเท็จจริง ” เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเราย้อนหลังไปเพียง 500 ปี มนุษย์ทุกคนในโลกนี้ต่างก็เชื่อว่า “โลกแบน” แต่ความเชื่อของคนส่วนใหญ่ไม่สามารถเปลี่ยนข้อเท็จจริงที่ว่า “โลกกลม” ได้ฉันใด “ความเชื่อ” ในเรื่องชีวิตหลังความตายก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง “ข้อเท็จจริง” เกี่ยวกับชีวิตหลังความตายได้ฉันนั้น เพียงแต่ว่ามนุษย์จะเสาะหา “ ข้อเท็จจริง ” เกี่ยวกับชีวิตและความตาย หรือเพียงแต่เชื่อตาม “ ความเชื่อ ” ของคนส่วนใหญ่ที่สืบทอดมาแต่โบราณเท่านั้น
Photo : https://pixabay.com/photos/mummy-egypt-pharaoh-egyptian-241965/