สถานภาพอันคาบเกี่ยวของแม่ชี กับสิทธิสตรีที่สังคมปิดตาย

ทั้งที่จริงแล้ว ความเป็นหญิงเป็นชาย ไม่เคยแยกออกจากกัน เหตุเพราะการแยกแยะความเป็นชายเป็นหญิง ถูกกำหนดขึ้นโดยคนภายในสังคม ที่จะต้องการกดผู้อื่นให้กลายเป็นผู้ถูกกระทำ และยกตัวเองขึ้นสู่ความเป็นผู้นำ และความไม่เท่าเทียม

มิตรสหายท่านหนึ่ง 

ในชีวิตประจำวันหากคุณขึ้นรถเมล์ จะสังเกตเห็นว่า รถโดยสารประจำทางที่สังกัดกรมการขนส่งทางบกเหล่านี้ จะถูกจัดแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่ง ไว้สำหรับบริการพระภิกษุ สามเณร และยังงดเว้นไม่เก็บเงินค่าโดยสาร ทั้งนี้ก็เพื่อการปฏิบัติตนตามหน้าที่ของพุทธมามกที่ดี ว่าด้วยการทำหน้าที่ในการอภิบาล หรืออำนวยความสะดวกแก่นักบวช ผู้ซึ่งเสียสละความสุขส่วนตนทางโลก เพื่อศึกษาข้อธรรมะ และทำหน้าที่สืบทอดพระพุทธศาสนา

แต่แล้วในวันหนึ่ง จากเพียงข้อสังเกตก็นำไปสู่ประเด็นในการขบคิดเสียใหม่ว่า "แม่ชี" ภาพลักษณ์ของผู้เผยแผ่ศาสนา ซึ่งฉันเข้าใจเสมอมา ว่าเราสามารถนิยามถึงสถานภาพของแม่ชีได้ว่า "นักบวช" นั้น แต่เหตุใด จึงไม่ได้รับความสะดวกจากสังคมตามสมควร เหมือนอย่างพระภิกษุและสามเณร เริ่มต้นการยกตัวอย่างของสิทธิสภาพของแม่ชี กับรถเมล์

ซึ่งข้อเท็จจริงของสังคมนี้ เกิดจากการที่กรมการศาสนา ไม่ยอมรับแม่ชีเข้าอยู่ภายในสังกัดของตน เนื่องด้วยเหตุผลของการที่ "แม่ชี" ไม่ได้มีหลักฐานมีถูกกล่าวถึงความเป็นมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล

ทั้งที่ความจริงแล้ว บทบาทของสตรีกับพุทธศาสนา จากใจความในพระไตรปิฎก ได้กล่าวถึงสตรีในรูปของนักบวชที่เรียกว่า "ภิกษุณี" และในเมืองไทยเองก็มีประวัติศาสตร์พบว่าครั้งหนึ่ง มีภิกษุณีซึ่งดำรงตนเป็นนักบวช และทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา แถมยังเป็นพุทธบริษัทที่มีความเป็นมายาวนาน เพราะมีชีวิตและเชื้อสายสืบต่อกันอยู่ในสมัยที่เชื่อกันว่าในสมัยกลางพุทธกาล ที่เรียกว่า มัชฌิมโพธิกาล อันได้แก่ สมัยพระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนาจนเป็นปึกแผ่นมั่นคง แล้วทรงมองความเป็นใหญ่ในการปกครองสงฆ์แก่คณะสงฆ์

พระภิกษุณียังครองเพศคล้ายกับพระภิกษุ ห่มจีวร และปลงผม แต่ด้วยความเป็นเพศภาวะสตรีจึงทำให้ภิกษุณีมีศีลและจารีตธรรมเนียมที่ต้องปฏิบัติ ถึง ๓๑๑ ข้อ ในขณะที่พระภิกษุถือศีล ๒๒๗ ข้อ ซึ่งจำนวนตัวเลขของศีลและจารีตธรรมเนียมที่ภิกษุณีถือปฏิบัติ บ่งบอกได้ถึงความตั้งมั่นในการปฏิบัติธรรมของสตรีเพศ ที่ไม่ยิ่งหย่อนไปจากบุรุษเพศ

แต่ภายหลังที่พุทธศาสนาในประเทศไทยถูกสังคายนา และแบ่งแยกนิกายสำคัญๆ ออกเป็นสองสาย คือ เถรวาทและมหายาน ซึ่งใจความของพระไตรปิฎกในนิกายเถรวาท (นิกายที่ทรงอิทธิพลสูงสุดในคณะสงฆ์ของประเทศประเทศไทย) ไม่มีการอ้างอิงเกี่ยวกับบทบาทของสตรี ในฐานะนักบวช สุดท้ายเรื่องราวของภิกษุณีจึงหายไปจากพุทธประวัติ และเลือนหายไร้การสืบทอดไปจากสังคมไทยอย่างแท้จริง

พร้อม ๆ กับในขณะที่สตรีไทยพยายามเปิดประเด็นสังคม เพื่อแสดงออกถึงความมุ่งมั่นในการเป็นส่วนหนึ่ง ที่จะเผยแผ่ศาสนาและนำธรรมะเข้าถึงประชาชน นำมาสู่ทางออกในท้ายที่สุด บทบาทของสตรีในฐานะนักบวช จึงถูกแสดงออกตามรูปแบบของ "แม่ชี"

จะว่ากันไปแล้ว ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการปฏิบัติของแม่ชี ที่ฉันได้พบเห็นมานั้น แม่ชีจะเคร่งครัดในการถือศีล ๘ และบำเพ็ญตนเพื่อการศึกษาธรรมมะไม่ต่างจากสามเณร หนึ่งในนักบวชที่กรมการศาสนาให้การยอมรับ

ถ้าอย่างนั้นแล้ว การที่ไม่มีเครื่องราวของแม่ชีอ้างอิงอยู่ในพระไตรปิฏก ก็ดูเป็นเหตุผลในการบริหารราชการแบบระเบียบ เงื่อนไข ไม่สนใจในการกระทำ ข้อเสนอแนะ และแนวทางแก้ไข เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในสิทธิของสตรีหรือแม่ชี รวมทั้งยังสามารถธำรงใจความของพุทธบัญญัติไว้ได้อย่างครบถ้วน โดยไม่ต้องเติมเนื้อหาเรื่องของแม่ชีเข้าไป นั่นคือการ รื้อฟื้นพุทธบริษัท กลุ่มพระภิกษุณี ขึ้นในประเทศไทย เพื่อที่ให้โอกาสแม่ชี ซึ่งกำลังเคว้งคว้าง เหมือนบุคคลไร้สังกัด ไม่มีสถานภาพที่แน่นอน สามารถกลับเข้าสู่ระบบ โดยจัดเป็นกลุ่มพุทธบริษัท ๔ อยู่ในอันดับ ๒ รองจากภิกษุบริษัท

ในขณะเดียวกันก็เป็นการลบคำสบประมาท ที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์ว่า แม่ชีไทยส่วนใหญ่มาบวชชีก็เป็นพระหนีรัก เป็นคนเศร้าที่มายึดพระพุทธศาสนายามท้อแท้ใจ แต่ไม่ได้ตั้งใจในการที่จะศึกษาธรรมะ หรือเข้าสู่การเป็นนักบวช

ตามคำอ้างอิงจาก หนังสืออ่านเพิ่มเติม ชุดพุทธศาสนาและจริยธรรม เรื่อง"ประวัติพระภิกษุณี" โดยกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ระบุไว้ว่า หนึ่งในสามวิธี การบวชของภิกษุณี ที่เรียกว่า บวชด้วยการยอมรับเงื่อนไข นั้นคือ ก่อนที่แม่ชีหรือผู้หญิงคนหนึ่งจะเป็น ต้องผ่านครุธรรม ๘ หรือเงื่อนไข ๘ ประการ ซึ่งหนึ่งในครุธรรม ๘ ได้ระบุไว้ว่า ก่อนบวชเป็นพระภิกษุณี สตรีที่จะบวชต้องรักษาศีล ๖ ข้อ ตั้งแต่ข้อห้ามฆ่าสัตว์ จนถึงข้อห้ามฉันข้าว (หมายถึงศีล ๕ กับ ศีลห้ามฉันข้าวเย็นอีก ๑ มื้อ) ในเวลาหลังเที่ยวเป็นต้นไป เป็นเวลา ๒ ปี โดยไม่ให้ขาดตกบกพร่องแม้แต่ข้อหนึ่งข้อใด ถ้าข้อหนึ่งข้อใดขาด ต้อตั้งต้นรักษาใหม่ และนับเวลารักษาใหม่

ในระยะเวลากว่าสองปีในการพิสูจน์ความมุ่งมั่นของหญิงที่จะก้าวเข้าสู่การเป็นนักบวชนั้น เป็นหนทางที่ต้องใช้ความมานะ พากเพียร ดังนั้น หญิงที่สามารถข้ามสู่พิธีการและสามารถผ่านการทดสอบต่างๆ เพื่ออยู่ในภาวะของนักบวช หรือพระภิกษุณีแล้ว น่าจะมีความหลุดพ้นทางโลกและตัดซึ่งกิเลสได้มากกว่า ก็น่าจะมีแม่ชีอีกจำนวนมากที่รอพิสูจน์ตัวเองด้วยการผ่านการทดสอบก่อนเข้าสู่พิธีการบวช

จากข้อสังเกตเพียงหนึ่งที่สร้างความสงสัยในสิทธิของแม่ชี สิทธิของสตรี สิทธิในการกระทำแล้ว เหตุการณ์ชวนสังเกตอีกอย่างหนึ่ง คือ การที่แม่ชีไม่ได้รับสิทธิเยี่ยงนักบวชนั้น นอกจากการทำให้เสียสิทธิบางอย่าง อาทิ กิจกรรมเบื้องต้นเช่นการขึ้นรถเมล์แล้ว สถานภาพที่ไม่แน่นอนของแม่ชี ยังถูกริดรอนสิทธิจากกรมการปกครอง

ในสายตาของกรมการศาสนา มองแม่ชีว่าเป็นฆราวาสปกติ ไม่มีคุณสมบัติใด ๆ ในการเป็นนักบวช แม้ว่าจะมีการถือศีลปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในระดับปฐมภูมิแล้วก็ตาม

แต่สำหรับในสายตาของกรมการปกครอง แม่ชีไม่สามารถเลือกตั้งได้ เพราะว่าเป็นนักบวชในทางพุทธศาสนา

เหล่านี้เป็นข้อขัดแย้งกันเองระหว่างในวิธีคิด วิธีปฎิบัติของหน่วยงานราชการ แสดงให้เห็นถึงนโยบายที่ขาดการประสานงาน ไม่มีการจัดทำข้อตกลง แล้วระบุลงไปให้ชัดเจนว่า สถานภาพของแม่ชีคืออะไร หรืออาจจะเป็นอาการไม่ใส่ใจ มองว่าแม่ชีไม่มีตัวตน ไม่มีสถานภาพอยู่ในสังคม ไม่จำเป็นต้องไประลึกถึงว่าจะอยู่อย่างไร จะรู้สึกอย่างไร หรือได้รับความถูกต้องอะไรไปบ้าง

ซึ่งสถานภาพแบบครึ่งกลาง ๆ ไม่แน่นอนแบบนี้ จะทำให้แม่ชีเสียสิทธิในการเป็นตัวของตัวเอง ไม่สามารถเลือกกระทำได้อย่างตั้งใจ เลือกไม่ได้แม้แต่แนวทางและวิธีการใช้ชีวิตของตนเอง และแม้ว่าในปัจจุบันจะมีหลายหน่วยงานหลายองค์กร พยายามเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิสภาพของแม่ชีอยู่ในขณะนี้ และมีท่าทางว่าจะได้รับการสนับสนุนในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม

ก็เกิดข้อกังขา วิพากวิจารณ์ว่า คนเหล่านี้ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิให้แม่ชี เรียกร้องสิทธิของสตรี หรือที่เรียกว่า เฟมินิสต์ นั้น เป็นการตามกระแส ตามก้นฝรั่ง เห็นฝรั่งเขาทำกัน เขาเรียกร้องกัน จึงอยากจะได้อยากจะเสรี เหมือนที่ประเทศตะวันตกเขาเป็นกัน และที่น่าตกใจก็คือ คำวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับเพศชาย แต่เกิดขึ้นทั้งระบบสังคมที่มองว่าเพศชายเป็นใหญ่ และแม้แต่ในความคิดของสตรีเพศก็เช่นกัน พวกเธอมองอย่างนึกเดียดฉันท์ในการแสดงออกของเฟมินิสต์ เนื่องจากพวกเธอตกอยู่ภายใต้ระบบของสังคมที่คิดในแนวผู้ชายเป็นใหญ่มานาน คุ้นชินกับการถูกกดขี่ หรือการตกเป็นผู้กระทำ เสียจนไร้ซึ่งประกายความคิดใหม่ ๆ ที่จะยกระดับชีวิตของตัวเองให้แม้ไม่ดีขึ้นเท่าไหร่ แต่ต้องมีเสรีในการทำสิ่งใดอย่างแท้จริง

จึงเกิดคำถามมากมายตามมาว่า การเรียกร้องสิทธิสตรี ไม่ว่าจะเป็นในด้านใด เพราะเหตุผลอะไรสังคมไทยจึงต้องกลัว เป็นเป็นกังวล มองว่า เฟมินิสต์ คือสิ่งที่อันตราย อาจเป็นเพราะความไม่เข้าใจ หรือความเป็นห่วงกลัวว่าความสัมพันธ์ระหว่างหญิงกับชายจะแตกแยกไป

ทั้งที่จริงแล้ว ความเป็นหญิงเป็นชาย ไม่เคยแยกออกจากกัน เหตุเพราะการแยกแยะความเป็นชายเป็นหญิง ถูกกำหนดขึ้นโดยคนภายในสังคม ที่จะต้องการกดผู้อื่นให้กลายเป็นผู้ถูกกระทำ และยกตัวเองขึ้นสู่ความเป็นผู้นำ และความไม่เท่าเทียม

ไม่ต้องกล่าวว่าคนกลุ่มนั้นเป็นใคร หรือคนกลุ่มไหนที่ไม่อยากเสียความมั่นใจในศักดิ์ศรีทางเพศของตัวเอง แต่ถึงเวลาแล้วที่จะมองว่า สตรีไม่ได้ถูกจำกัดกรอบอยู่เฉพาะที่ความสงบเสงี่ยม แต่ในวันนี้ สตรีต้องช่วยเหลือสตรี เพื่อหาทางแก้วิกฤตต่าง ๆ ที่แลดูเป็นเรื่องธรรมดาและไม่มีผลกระทบเหล่านี้ ให้เป็นที่ยอมรับในสังคมไทยเสียที "สำหรับคำว่าสิทธิสตรี" ซึ่งมันมีอยู่จริง.   
--
Photo : https://pixabay.com/photos/beautiful-elderly-woman-buddhist-nun-1159543/

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo