ศาสนาคือฝิ่นของประชาชน?

เพราะทั้งพระพุทธเจ้าและคาร์ล มาร์กซ์ ต่างก็วิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องอำนาจดลบันดาล และเน้นการพึ่งพาตนเองด้วยกันทั้งคู่ เพียงแต่ว่าขณะที่มาร์กซ์สนใจแสวงหา “ความรอดในทางสังคม” นั้น พระพุทธเจ้ากลับทรงสั่งสอน "ความรอดพ้นในทางจิตใจ”  และในขณะที่มาร์กซ์เลือกใช้วิธีปฏิวัติทางชนชั้นที่รุนแรงนั้น พระพุทธเจ้ากลับทรงใช้หลักเมตตาธรรมและสันติวิธี ในการนำมนุษย์สู่ความหลุดพ้นทั้งปวง

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
ภาควิชามนุษยศาสตร์ 
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยมหิดล

คาร์ล มาร์กซ์ ( Karl Marx : 1818 - 1883) นักปรัชญาสังคม ผู้เป็นต้นตำรับของแนวความคิดเรื่อง "สังคมนิยม" (Socialism) และทฤษฎีการปฏิวัติระหว่างชนชั้น อันสั่นสะเทือนโลกเป็นเวลานานกว่าครึ่งศตวรรษ โดยมีประชากรที่อยู่ภายใต้การปกครองระบอบสังคมนิยมกว่า 1 ใน 3 ของประชากรโลก และประชากรที่เหลือทั้งหมดต่างก็ได้รับผลกระทบจากแนวคิดและทฤษฎีดังกล่าวทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมาได้แสดงทรรศนะที่เกี่ยวกับศาสนาไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง

คาร์ล มากซ์ เริ่มต้นวิเคราะห์ศาสนาด้วยคำพูดที่ว่า "การวิพากษ์วิจารณ์ศาสนา เป็นจุดเริ่มต้นของการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งมวล" ตามทรรศนะของมากซ์ ศาสนาคือรากเหง้าของวัฒนธรรมในสังคม ๆ หนึ่งเลยทีเดียว ถ้าหากว่าเราต้องการวิพากษ์วิจารณ์สังคมไม่ว่าเรื่องใด เราจะต้องรู้จักรากเหง้าของสังคมเสียก่อน และวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาจึงเป็นภารกิจแรกของการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งปวง ในความเห็นของมาร์กซ์ ถ้าเราต้องการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เราจะต้องเปลี่ยนแปลงทรรศนะของผู้คนเกี่ยวกับศาสนาเสียก่อนเป็นอันดับแรก

มาร์กซ์ให้ความเห็นต่อไปว่า “มนุษย์เป็นผู้ที่สร้างศาสนา ศาสนามิได้เป็นผู้สร้างมนุษย์” ตามทรรศนะของมาร์กซ์ สังคมมนุษย์เป็นสังคมที่มีการกดขี่ทางชนชั้นมาตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็นสังคมทาสที่มีนายทาสกดขี่ทาส หรือสังคมศักดินาที่เจ้าขุนมูลนายกดขี่บ่าวไพร่ หรือสังคมทุนนิยมที่นายทุนกดขี่คนงานและกรรมกร แน่นอนว่าผู้ที่ถูกกดขี่ย่อมมีความทุกข์ และพยายามหาวิธีการเพื่อให้พ้นจากภาวะที่ถูกกดขี่นั้น ซึ่งมาร์กซ์เห็นว่าทางออกก็คือการปฏิวัติทางชนชั้น ผู้คนหาทางออกชั่วคราวไปพลาง ๆ ก่อน และศาสนาก็ยื่นมือเข้ามาเป็นทางออกชั่วคราวนั้น เพราะทุกศาสนาล้วนกล่าวถึง และอาสาพาคนออกจากความทุกข์ (อย่างน้อยในทางนามธรรม) ทั้งสิ้น จึงตอบสนองต่อความต้องการในส่วนลึกที่จะออกจากทุกข์ที่เป็นจริง (ทุกข์ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง) ของผู้คนได้เป็นอย่างดี ในแง่นี้ศาสนาจึงเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงต่อทุกข์ที่เป็นจริงของผู้คน (จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม) ในยามที่ยังไม่มีทางออกที่ดีกว่านั้น

แล้ว คาร์ล มาร์กซ์ ก็กล่าวคำที่สั่นสะเทือนศาสนจักรไปทั่วโลกด้วยคำพูดที่ว่า “ศาสนาคือฝิ่นของประชาชน” (Religion is the opium of the people) ในงานเขียนอันมากมายของเขานั้นมาร์กซ์ได้เอ่ยถึงประโยคดังกล่าวเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น แต่เป็นประโยคที่ถูกเอ่ยอ้างมากที่สุดประโยคหนึ่ง แม้เขาจะไม่ได้ขยายความประโยคนี้อย่างชัดเจนก็ตาม คำว่า “ฝิ่น” (opium) ในที่นี้อาจตีความได้สองอย่าง อย่างแรกฝิ่นอาจหมายถึง ยาระงับปวด ที่แม้แต่ในวงการแพทย์ก็ใช้สำหรับระงับความเจ็บปวดเป็นการชั่วคราว ในแง่นี้ศาสนาคือยาระงับปวดซึ่งผู้คนที่ถูกกดขี่ใช้บริโภคเพื่อระงับความทุกข์ที่เป็นจริงเพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่ไม่อาจระงับความทุกข์ที่เป็นจริง (ทางสังคมการเมือง) ได้อย่างถาวร

อย่างที่สองฝิ่นอาจหมายถึง ยาเสพติด ที่ผู้คนใช้เสพเพื่อให้ลืมความทุกข์ที่เป็นอยู่จริงของตน และมีความสุขชั่วคราวไปในโลกแห่งอารมณ์และจินตนาการของตน แต่เมื่อเสพไปนาน ๆ ก็จะเป็นอันตรายต่อบุคคลนั้น และกลับจะเพิ่มทุกข์ให้มากขึ้นอีก ในแง่นี้ศาสนาคือยาเสพติด ที่ผู้ปกครองรัฐใช้มอมเมาประชาชน เพื่อให้ลืมความทุกข์ยากจากการถูกกดขี่เป็นการชั่วคราว (เช่น ทุกครั้งที่ไปวัด โบสถ์ หรือสุเหร่า ก็จะรู้สึกเพลิดเพลินชั่วคราว เพราะถูกชักจูงให้จินตนาการไปถึงโลกหน้า แต่เมื่อกลับมาก็ต้องเผชิญกับความทุกข์ที่เป็นจริงทางสังคมอีก) และลืมการปฏิวัติทางชนชั้นอันเป็นการแก้ปัญหาที่รากเหง้าของการกดขี่อย่างแท้จริง ตามทรรศนะของมาร์กซ์แล้วศาสนาจึงเป็นปัจจัยที่ทำให้เงื่อนไขของการปฎิวัติต้องถูกเลื่อนออกไป การวิพากษ์ศาสนาจึงเป็นภารกิจแรกที่ต้องทำในงานปฏิวัติทางชนชั้น

ในความคิดเห็นของมาร์กซ์ “การเป็น radical คือ การลงลึกถึงรากเหง้าของสิ่งทั้งหลาย แต่สำหรับมนุษย์แล้ว รากเหง้าก็คือตัวมนุษย์เอง” ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากเหง้า (radical) จะต้องเป็นผู้ที่เข้าใจและเข้าถึงรากเหง้านั้น ในความคิดเห็นของมาร์กซ์ รากเหง้าของมนุษย์มิใช่ ”พระเจ้า” หรือสวรรค์ หรืออำนาจศักดิ์สิทธิ์จากที่ไหน แต่รากเหง้าของมนุษย์ก็คือตัวมนุษย์เอง มาร์กซ์กล่าวต่อไปว่า “มนุษย์คือสิ่งสูงสุดสำหรับมนุษย์เอง” (Human is the supreme being for human) มนุษย์เป็นผู้ที่แสวงหาสติปัญญาและความจริงด้วยตัวมนุษย์เอง ไม่มีอำนาจดลบันดาลจาก “พระเจ้า” หรือสวรรค์ที่ไหนที่จะมาช่วยมนุษย์ได้ มนุษย์ต่างหากที่เป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของมนุษย์เอง ในแง่นี้มาร์กซ์จึงได้ชื่อว่าเป็นนักมนุษยนิยม (humanist หรือ secular humanist) เพราะเชื่อว่ามนุษย์เป็นศูนย์กลางของภารกิจและเป้าหมายทั้งหลาย

มาร์กซ์สรุปว่า “ปรัชญาคือมันสมอง และชนชั้นกรรมาชีพคือหัวใจของการปลดปล่อยมนุษย์” ปรัชญาคือการคิดวิเคราะห์ไปหาที่รากเหง้าของปัญหา วิพากษ์วิจารณ์ด้วยจิตใจที่อิสระ และให้โลกทรรศน์ที่เป็นระบบ จึงเปรียบเสมือนมันสมอง ส่วนชนชั้นกรรมาชีพคือผู้ที่ถูกกดขี่ภายใต้ระบบทุนนิยม เป็นคู่กรณีโดยตรงกับนายทุนที่กดขี่ จึงเป็นหัวใจของการปฏิวัติทางชนชั้นและการปลดปล่อยมนุษย์ออกจากระบบที่กดขี่นั้น

ส่วนศาสนาประเภท “เอกเทวนิยม” (Monotheism) ที่เชื่อในการมีอยู่ของพระเจ้าองค์เดียว เช่น ศาสนายูดาย ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม เป็นต้น และศาสนาประเภท “ พหุเทวนิยม ” (Polytheism) ที่เชื่อในการมีอยู่ของพระเจ้าหลายองค์ เช่น ศาสนาขงจื้อ ศาสนาชินโต และศาสนาพราหมณ์ฮินดู เป็นต้น อาจจะหวั่นไหวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์อันสั่นสะเทือนโลกของ คาร์ล มาร์กซ์ เพราะเขาโจมตีแนวคิดในเรื่อง “ พระเจ้า ” โดยตรงว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง และถูกผู้มีอำนาจนำไปใช้มอมเมาประชาชน ศาสนาจึงเป็นเครื่องมือของรัฐในการปกครองประชาชน

สำหรับพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประเภท “เอกเทวนิยม” (Atheism) ซึ่งไม่เชื่อการมีอยู่ของพระเจ้านั้น ดูเหมือนว่าแนวคิดของมาร์กซ์จะสอดคล้องกับพุทธศาสนามากกว่าจะขัดแย้งกัน เพราะทั้งพระพุทธเจ้าและคาร์ล มาร์กซ์ ต่างก็วิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องอำนาจดลบันดาล และเน้นการพึ่งพาตนเองด้วยกันทั้งคู่ เพียงแต่ว่าขณะที่มาร์กซ์สนใจแสวงหา “ความรอดในทางสังคม” (Social Liberation) นั้น พระพุทธเจ้ากลับทรงสั่งสอน "ความรอดพ้นในทางจิตใจ” (Psychological Liberation) และในขณะที่มาร์กซ์เลือกใช้วิธีปฏิวัติทางชนชั้นที่รุนแรง (violence) นั้น พระพุทธเจ้ากลับทรงใช้หลักเมตตาธรรมและสันติวิธี (non-violence) ในการนำมนุษย์สู่ความหลุดพ้นทั้งปวง 
--
Photo : https://en.wikipedia.org/wiki/Karl_Marx#/media/File:Karl_Marx_001.jpg

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo