ถึงแม้จะมีกฎธรรมชาติ แต่กฎธรรมชาติก็ต้องมีที่มา ซึ่งพระเจ้าก็คือที่มาของกฎธรรมชาตินั่นเอง เพราะพระเจ้าทางเป็นปฐมเหตุ กล่าวคือ ทรงทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้นและเป็นไปในจักรวาลนี้
นักบุญโทมัส อไควนัส (St. Thoman Aquinas) เป็นนักเทววิทยาชาวคริสเตียนที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปรัชญายุคกลางตอนปลาย นักบุญโทมัส อไควนัส เป็นนักเทววิทยาที่นำเอาปรัชญาของอริสโตเติ้ลมาอธิบายคำสอนของศาสนาคริสต์ ดังนั้น ผลงานส่วนใหญ่ของท่านจึงได้รับอิทธิพลมาจากอริสโตเติ้ล แต่ก็มีผลงานบางส่วนที่แสดงถึงทรรศนะของท่านที่แตกต่างไปจากอริสโตเติ้ล เช่น เรื่องที่ว่ามนุษย์ไม่สามารถจะใช้เหตุผลพิสูจน์เรื่องตรีเอกานุภาพ และเรื่องการสร้างโลก เป็นต้น โดยท่านยอมรับว่าคำสอนที่สำคัญในศาสนาคริสต์นั้นมนุษย์ไม่อาจจะพิสูจน์ได้ ด้วยเหตุผล เพราะศาสนาเป็นเรื่องของความเชื่อและความศรัทธาเพื่อเข้าถึงพระเจ้าโดยตรง
แนวคิดที่สำคัญของนักบุญโทมัส อไควนัส นั่นคือการใช้ปรัชญาของอริสโตเติ้ลมาสนับสนุนความเชื่อของทางศาสนาคริสต์ นั่นคือ แนวคิดเรื่องการมีอยู่ของพระเจ้า (The Existence of God)
ตามทรรศนะของนักบุญโทมัส อไควนัส พระเจ้าเป็นจิตอันบริสุทธิ์ ซึ่งมนุษย์สามารถรู้ถึงการมีอยู่ของพระเจ้าได้โดยอาศัยศรัทธา อีกทั้งมนุษย์สามารถมีความรู้เกี่ยวกับพระเจ้าได้ด้วยเหตุผล เพราะปกติแล้วมนุษย์อาศัยเหตุผลเป็นเครื่องนำทาง โดยเริ่มจากสิ่งที่รู้ไปยังสิ่งที่ไม่รู้ หรืออีกนัยหนึ่งคือจากผล ไปหาเหตุ ดังนั้นมนุษย์จึงอนุมานความมีอยู่ของพระเจ้าได้จากการสร้างสรรค์ของพระองค์ และมนุษย์สามารถพิสูจน์ได้ด้วยวิธีการดูจากสิ่งที่เป็นผลหรือสิ่งที่ถูก สร้างแล้ว หรือหลังการสร้างสรรค์ของพระองค์
ในการอธิบายการมีอยู่ของพระเจ้านั้น นักบุญโทมัส อไควนัสได้ใช้วิธีการของอริสโตเติ้ลมาพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้า ด้วยการใช้วิธีการ 5 ขั้นตอน อนึ่ง ก่อนการพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้านั้น ท่านได้ตั้งประเด็นโต้แย้งขึ้นมา 2 ประเด็น คือ
ประเด็นโต้แย้งที่ 1 จากคำกล่าวที่ว่า พระเจ้าทรงเป็นความดีที่เป็นอนันต์ ดังนั้น ถ้ามีพระเจ้าอยู่ก็จะต้องไม่มีความชั่วร้ายในโลกนี้ แต่ในความเป็นจริงเราจะพบว่ามีความชั่วร้ายมากมายในโลกนี้ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีพระเจ้าอยู่
ประเด็นโต้แย้งที่ 2 สิ่งธรรมชาติทั้งหลายย่อมอธิบายได้ด้วยกฎฟิสิกส์ กล่าวคือ ทุกสิ่งที่ปรากฏในธรรมชาตินั้น อธิบายได้ด้วยธรรมชาติ นั่นคือกฎฟิสิกส์ของอริสโตเติ้ลและสิ่งเดียวที่สามารถอธิบายในสิ่งเหล่านี้ ได้ก็คือเหตุผลของมนุษย์ ทั้งนี้เพราะมนุษย์ใช้เหตุผลเข้าใจกฎธรรมชาติ เข้าใจสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นในธรรมชาติได้ ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องพูดถึงพระเจ้าในเมื่อเหตุผลของมนุษย์สามารถเข้าใจทุกสิ่งได้
เมื่อนักบุญโทมัส อไควนัสได้ตั้งประเด็นโต้แย้งดังกล่าวขึ้นมาแล้ว ท่านได้พิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้าด้วยวิธีการ 5 ขั้นตอนดังนี้ คือ
การพิสูจน์ขั้นที่ 1 ข้อพิสูจน์โดยความเคลื่อนไหว (the argument from motion)
เป็นการเริ่มต้นด้วยแนวความคิดของอริสโตเติ้ลที่อธิบายว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีการเคลื่อนไหว (Motion) ซึ่งสิ่งที่มีการเคลื่อนไหวนั้นจะต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้เคลื่อนไหว กล่าวคือ อะไรก็ตามที่มีการเคลื่อนไหวต้องมีเหตุให้เคลื่อนไหว วัตถุต่าง ๆ จะเคลื่อนไหวด้วยตัวเองไม่ได้ถ้าไม่มีศักยภาพ (Potential) ที่จะนำไปสู่เหตุ ดังนั้น การเคลื่อนไหวจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงจากศักยภาพไปสู่ความเป็นจริง (Actuality) นั่นเอง เพราะความเคลื่อนไหวทั้งปวงจะต้องเกิดจากการเคลื่อนไหวก่อน ๆ และเรื่อยไปจนกระทั่งถึงสิ่งที่ทำให้สิ่งอื่นเคลื่อนไหวเป็นสิ่งแรก ซึ่งอริสโตเติ้ลเรียกสิ่งนี้ว่า "ปฐมกร "(The First Mover) นั่นคือคัวการเคลื่อนไหวแรกซึ่งไม่ถูกเคลื่อนไหวโดยสิ่งอื่น และไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่นมาผลักดัน
นักบุญโทมัส อไควนัสได้พิสูจนขั้นที่ 1 โดยนำแนวคิดของอริสโตเติ้ลมาอธิบายว่า ต้องมีอะไรบางอย่างที่เป็นที่มาของการเคลื่อนไหว โดยที่สิ่งนั้นไม่เคลื่อนไหว ซึ่งอริสโตเติ้ลเรียกว่า "ปฐมกร "นั้น นักบุญโทมัส อไควนัสได้อธิบายว่านั่นคือ "พระเจ้า "เพราะพระเจ้าทรงเป็นที่มาของการเคลื่อนไหวต่าง ๆ โดยที่พระองค์ทรงไม่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง
การพิสูจน์ขั้นที่ 2 ข้อพิสูจน์โดยการเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน (The Argument From The Formality of Efficient Causation)
อริสโตเติ้ลอธิบายว่า ทุกอย่างที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงนั้นจะต้องมาจากเหตุ และเหตุทั้งหลายย่อมมาจากปฐมเหตุ (The First Cause) อันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผล (cause - effect relation) ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าไม่มีผลอันใดที่ไม่มีเหตุ เพราะผลเป็นสิ่งสืบเนื่องมาจากเหตุ เช่น ก . เป็นผลของ ข . ข . เป็นผลของ ค . อีกต่อหนึ่ง และ ค . เป็นผลของ ง . เช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ก็จะพบว่า ก . นั้นไม่เป็นผลของสิ่งใดเลย แต่เมื่อกล่าวว่าทุก ๆ ผลจะต้องมีเหตุ ฉะนั้น ก . จะต้องเป็นผลของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นสาเหตุ แม้ ก . ไม่เป็นผลของสิ่งใดเลยก็ตาม ซึ่งเรียกสาเหตุแรกนี้ว่า "ปฐมเหตุ "ซึ่งปฐมเหตุนี้ไม่เป็นผลของสิ่งใดเลยนอกจากเป็นผลของตัวเอง
นักบุญโทมัส อไควนัส ได้นำแนวคิดนี้มาอธิบายว่า ปฐมเหตุนั้นก็คือ "พระเจ้า "เพราะ พระเจ้าทรงทำให้ทรงทำให้ทุกสรรพสิ่งเกิดขึ้นและเป็นไปในสากลจักรวาลนี้
การพิสูจน์ขั้นที่ 3 ข้อพิสูจน์จากความเป็นไปได้และความจำเป็น (The Argument From Possibility of Necessity)
เมื่อพิจารณาถึงความจำเป็นแล้ว เราจะพบว่าไม่มีอะไรเลยที่จำเป็น (necessary) หรือเป็นอยู่ด้วยตัวเองโดยไม่ขึ้นต่อสิ่งอื่น (absolutely) ถึงขนาดที่ว่า ถ้าปราศจากสิ่งนั้นแล้ว สิ่งอื่น ๆ จะอยู่ไม่ได้ หรือเพราะมีสิ่งนั้นโดยจำเป็น สิ่งทั้งหลายจึงมีอยู่ได้ ตามธรรมดาแล้วสรรพสิ่งในโลกล้วนแต่เป็นสิ่งทีเกิดขึ้นโดยบังเอิญ และจะต้องอาศัยสิ่งที่มีอยู่อย่างจำเป็น (necessary Being) ซึ่งมีความเป็นอยู่ด้วยตัวเอง และเป็นพื้นฐานของสิ่งที่มีอยู่โดยบังเอิญนั้น หรือเป็นสิ่งที่ทำให้สิ่งบังเอยนั้นเป็นไปได้ สิ่งนี้เรียกว่าสิ่งมีอยู่โดยจำเป็น
นักบุญโทมัส อไควนัส อธิบายว่า สิ่งทั้งหลายในโลกนี้มีภาวะเป็นอยู่ (Exist) และไม่เป็นอยู่ (Non-Exist) เพราะสรรพสิ่งมีการเปลี่ยนแปลงเสื่อมโทรมลง หมายความว่า ขณะนี้เรามีอยู่ แต่ไม่นานก็จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง แล้ววันหนึ่งเราจะไม่มีอยู่ นี่คือกฎธรรมชาติของทุกสิ่งในโลก ดังนั้น ทุกอย่างในโลกจึงมีภาวะเป็นอยู่และไม่เป็นอยู่ แต่ที่มาของสิ่งที่เป็นอยู่ และไม่เป็นอยู่นั้นต้องเป็นลักษณะที่แน่นอน ถาวร ดำรงอยู่ และเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นในตัวเองโดยไม่ได้รับมาจากสิ่งอื่น แต่เป็นสาเหตุที่ก่อความจำเป็นให้เกิดขึ้นในสิ่งอื่น ซึ่งสิ่งนี้คือ "พระเจ้า "นั่นเอง
การพิสูจน์ขั้นที่ 4 การพิสูจน์จากระดับต่าง ๆ ของสรรพสิ่ง (The Argument From The Gradation To Be Found In Thing)
อริสโตเติ้ลอธิบายว่า สรรพสิ่งในโลกนี้มีระดับขั้น มีความสมบูรณ์มากน้อยลดหลั่นกันเป็นชั้น ๆ เช่น ในเรื่องความดี ย่อมมีระดับลดหลั่นกันเป็นชั้น ๆ กล่าวคือ จะต้องมีดี ดีมาก ดีที่สุด เป็นต้น เราเคยมีประสบการณ์ในเรื่องความสวย เมื่อได้พบบางสิ่งบางอย่างและลงความเห็นว่าสวย แต่เราก็ยังหวังว่าจะต้องมีอะไรบางอย่างอีกที่สวยยิ่งกว่านี้ ความสมบูรณ์ ความดี ความงาม สิ่ง ต่าง ๆ ที่เราพบในโลกนี้ยังไม่เคยพบสิ่งใดที่เห็นว่าถึงที่สุดแล้ว แต่เพื่อที่จะคงความสมบูรณ์ ความดี ให้มีระดับชั้นลดหลั่นกันลงไป จึงต้องมีมาตรฐานแห่งระดับมาเป็นเกณฑ์ให้เปรียบเทียบได้ นั่นก็หมายความว่า จะต้องมีความสมบูรณ์มาจรฐานมาเป็นเครื่องเปรียบเทียบ ซึ่งสิ่ง ๆ นั้นจะต้องเป็นสิ่งสมบูรณ์ที่สุด
นักบุญโทมัส อไควนัส นำแนวคิดนี้มาพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้า กล่าวคือ เมื่อทุก ๆ สิ่งมีสาเหตุมาจากปฐมเหตุ และปฐมเหตุนั้นจะเต้องเป็นสาเหตุที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ ซึ่งสิ่งที่เป็นมาตรฐานความสมบูรณ์สูงสุดนั้นคือ "พระเจ้า "
การพิสูจน์ขั้นที่ 5 การพิสูจน์จากการควบคุมความเป็นไปได้ในโลก (The Argument From the convernance of the world)
นักบุญโทมัส อไควนัสอธิบายว่าสิ่งต่าง ๆ มีระเบียบแบบแผน ไม่ใช่สิ่งที่มีมาโดยบังเอิญ แต่จะต้องมีผู้สร้าง และจะต้องมีจุดมุ่งหมายในตัวเองด้วย กล่าวได้ว่าสิ่งทั้งหลายในจักรวาลนี้ล้วนแต่มีจุดหมายในตัวของมันเอง เมื่อพิจารณาความเป็นไปของโลกเราก็จะพบว่า สิ่งทั้งหลายแม้ไร้ความรู้สึกสำนึกก็ยังมีจุดหมายในความเป็นอยู่ของมัน เช่น "น้ำ "มีเพื่อมนุษย์ สัตว์ และพืชได้อาบกิน "พืช "มีไว้สำหรับเป็นอาหารสัตว์ เป็นต้น ฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติจึงมีจุดหมายของตัวเอง การกระทำอะไรก็ตามล้วนมีจุดมุ่งหมาย โดยมีปัญญาเป็นสิ่งนำทาง สิ่งเหล่านี้จะต้องมีผู้วางแผนให้ทุกสิ่งทุกอย่างมีหน้าที่และจุดหมายในตัว เอง โดยที่สิ่งต่าง ๆ ไม่ได้เป็นผู้กำหนดจุดหมายขึ้นมาด้วยตนเอง ซึ่งสิ่งที่เรียกว่าเป็นผู้กำหนดจุดมุ่งหมายและวางแผนสร้างโลกนี้อย่างมี ระเบียบและสมบูรณ์ นั่นคือ "พระเจ้า "ผู้ซึ่งมีลักษณะเป็นสรรพัญญู (omnipotent) และเป็น สรรพานุภาพ คือทรงสามารถทุกอย่าง และทรงเป็นสรรพเมตตา คือทรงปรารถนาดีทุกอย่าง
จากการพิสูจน์ การมีอยู่ของพระเจ้าด้วยวิธีการพิสูจน์ 5 ขั้น นักบุญ นักบุญโทมัส อไควนัสได้ใช้วิธีการของอริสโตเติ้ล โดยดูจากข้อเท็จจริงแล้วสืบขึ้นไปหาพระเจ้า และเมื่อมีการพิสูจน์ครบทั้ง 5 ขั้นแล้ว นักบุญโทมัส อไควนัสได้ย้อนกลับไปตอบคำถามในประเด็นโต้แย้งทั้ง 2 ข้อที่กล่าวไว้ในข้างต้น นั่นคือ
ประเด็นที่ว่า "ถ้าพระเจ้าทรงเป็นความดี ต้องไม่มีความชั่วร้าย แต่ในข้อเท็จจริงแล้วมีความชั่วร้ายอยู่ ดังนั้นจึงไม่มีพระเจ้า " นักบุญโทมัส อไควนัสได้ตอบประเด็นโต้แย้งนี้ ด้วยข้อพิสูจน์ที่ว่า "เนื่องจากพระเจ้าทรงเป็นสิ่งสมบูรณ์สูงสุด แต่ความชั่วรายนั้นเป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงยอมให้มีได้เพื่อให้ความดีนั้นเด่น ขึ้น ดังนั้น ความชั่วจึงมิใช่สิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง หากแต่เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงยอมให้มี เพื่อให้คนเห็นคุณค่าของความดี "
ประเด็นที่ว่า "กฎธรรมชาติทั้งหลายสามารถอธิบายได้ด้วยหลักการหนึ่ง นั่นคือเหตุผลของมนุษย์ เพราะมนุษย์สามารถเข้าใจทุกสิ่งได้ด้วยเหตุผล ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีพระเจ้า " นักบุญโทมัส อไควนัสตอบข้อโต้แย้งประเด็นนี้ว่า "ถึงแม้จะมีกฎธรรมชาติ แต่กฎธรรมชาติก็ต้องมีที่มา ซึ่งพระเจ้าก็คือที่มาของกฎธรรมชาตินั่นเอง เพราะพระเจ้าทางเป็นปฐมเหตุ กล่าวคือ ทรงทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้นและเป็นไปในจักรวาลนี้
จากที่กล่าวมาแล้วนั้น จะเห็นได้ว่าในตอนแรกนักบุญโทมัส อไควนัสได้ตั้งข้อสงสัยที่ดูเหมือนจะโจมตีศาสนาคริสต์ แต่ในท้ายที่สุดท่านก็ได้กลับไปโต้แย้งประเด็นดังกล่าว โดยได้นำทรรศนะทางปรัชญาของอริสโตเติ้ลด้วยวิธีการทั้ง 5 ขั้นเพื่อพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้า