เมื่ออริสโตเติ้ลกล่าวถึงคุณธรรมจึงหมายถึงสภาวะของการรู้จัก ตัดสินใจเลือกระหว่างสิ่งที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป ไม่ได้หมายถึงตัวคุณธรรมเช่นความกล้าหาญ ความยุติธรรม ดังเช่นที่นักปรัชญากรีกในสมัยเดียวกันเชื่อและอธิบายไว้ ผู้มีคุณธรรมจึงหมายถึงผู้ที่สามารถใช้ปัญญาและเหตุผลตัดสินใจเลือกการกระทำ ที่ตนเผชิญได้อย่างเหมาะสม มากกว่าจะหมายถึงผู้ที่ยึดหลักคุณธรรมตายตัว
เมื่อกล่าวถึงปรัชญากรีกสมัยโบราณ นักปรัชญากรีกในสมัยนั้นได้พยายามที่จะให้คำตอบต่อคำถามที่ว่า "ชีวิตที่ดีสำหรับมนุษย์คือชีวิตแบบใด" และ "มนุษย์ควรดำเนินชีวิตอย่างไร" สำหรับคำตอบต่อคำถามเหล่านี้ โสคราตีสและเพลโต้มีความเชื่อว่าคุณธรรมคือตัวนำไปสู่การมีชีวิตที่ดีและการ ประพฤติที่ถูกต้อง โสคราตีสและเพลโต้เชื่อว่าถ้าบุคคลรู้ว่าชีวิตที่ดีคืออะไร มนุษย์จะไม่ทำในสิ่งที่ผิด ทรรศนะดังกล่าวนี้เชื่อว่าการกระทำผิดเกิดจากการขาดความรู้ ถ้ามนุษย์สามารถรู้ว่าอะไรคือความถูกต้อง เขาจะไม่กระทำความผิด (Stroll and Popkink, 1993: 3) ดังนั้นการสอนให้คนรู้จักคิดหรือคิดเป็นจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการนำไปสู่ ความเป็นผู้มีคุณธรรม ในสมัยกรีกโบราณ คุณธรรมหลักที่ถือว่าเป็นคุณธรรมพื้นฐาน 4 ประการ คือ ความยุติธรรม (justice) ความรอบคอบ (prudence) ความกล้าหาญอดทน (fortitude) ความรู้จักประมาณ (temperance) คุณธรรมเหล่านี้เป็นตัวนำให้บุคคลมีชีวิตที่ดีและมีการกระทำที่ถูกต้อง
อริสโตเติ้ลศิษย์ของเพลโต้และเป็นนักปรัชญาคนสำคัญคนหนึ่งในยุครุ่งเรืองของปรัชญากรีก อธิบายเรื่องชีวิตมนุษย์และคุณธรรมไว้ในผลงานสำคัญชื่อ Nicomachean Ethics มีสาระสำคัญมุ่งเน้นที่คุณลักษณะของตัวบุคคล การตัดสินใจเลือกการกระทำมากกว่าที่จะเน้นเรื่องของความรู้หลักคุณธรรมเพียง อย่างเดียว หมายความว่า การที่บุคคลจะเป็นผู้มีคุณธรรมได้ไม่ได้หมายถึงการที่บุคคลนั้นมีความรู้เรื่องของคุณธรรม เช่น ความกล้าหาญ ความยุติธรรมแล้วประพฤติปฏิบัติตามหลักการนั้นอย่างมั่นคง สำหรับอริสโตเติ้ลแล้ว ถือว่าการที่บุคคลมีความรู้เรื่องความกล้าหาญ ความยุติธรรมแล้วสามารถตัดสินใจเลือกปฏิบัติได้โดยใช้เหตุผลเป็นพื้นฐานอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ เวลา และตัวบุคคล บุคคลเช่นนี้ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีคุณธรรม หรืออาจกล่าวอีกอย่าง หนึ่งได้ว่า อริสโตเติ้ลเน้นลักษณะที่แสดงออกถึงคุณธรรมมากกว่าการมีความรู้เรื่อง คุณธรรม เพราะบางคนรู้ว่าคุณธรรมคืออะไรแต่ก็อาจไม่ปฏิบัติตามนั้น ตามทรรศนะของอริสโตเติ้ลผู้มีคุณธรรมจะต้องเป็นผู้ที่มีการกระทำที่แสดงออก ถึงลักษณะของคุณธรรม เช่น ความกล้าหาญ ความรู้จักประมาณ ความเป็นผู้มีปัญญา ความยุติธรรม อย่างสม่ำเสมอ ความคิดดังกล่าวของอริสโตเติ้ลได้ชื่อว่าเป็นจุดเริ่มต้นของจริยศาสตร์ คุณธรรม (Virtue Ethics) ที่เน้นคุณลักษณะนิสัยทางศีลธรรมที่แสดงออกในการดำเนินชีวิตของบุคคล (Edge and Groves, 1999: 30)
ในหนังสือจริยศาสตร์ดังกล่าว อริสโตเติ้ลได้อธิบายไว้ว่า คุณธรรมมีสองชนิด คือ คุณธรรมทางปัญญา (intellectual virtue) และ คุณธรรมทางศีลธรรม (moral virtue) คุณธรรมทางปัญญาเกิดจากการพัฒนาและการอบรมสั่งสอนซึ่งต้องใช้ประสบการณ์และ เวลา ส่วนคุณธรรมทางศีลธรรมเป็นผลจากการประพฤติปฏิบัติ (ซึ่งมาจากคำในภาษากรีกว่า "etos" ที่แปลว่านิสัย) ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่ปรากฏชัดว่า ไม่มีคุณธรรมทางลักษณะนิสัยอันใดที่จะเกิดแก่มนุษย์โดยธรรมชาติ หมายความว่ามนุษย์ไม่ได้เกิดมามีคุณธรรมโดยกำเนิดและไม่มีสิ่งที่เกิดใน ธรรมชาติอันใดจะก่อให้เกิดลักษณะที่ตรงกันข้ามกับธรรมชาติของสิ่งนั้นได้ ยกตัวอย่างเช่น ก้อนหินที่โยนขึ้นไปในอากาศย่อมตกลงมา ไม่สามารถที่จะทำให้มันลอยขึ้นไปเองได้ ไม่ว่าจะใช้ความพยายามมากเท่าใด ดังนั้น คุณธรรมจะเกิดขึ้นในตัวมนุษย์ได้ก็ไม่ใช่โดยธรรมชาติ แต่ธรรมชาติบางประการในตัวมนุษย์อันได้แก่ปรีชาญาณทำมนุษย์ให้มีความสามารถ ที่จะมีคุณธรรมนั้นได้ และคุณธรรมทางศีลธรรมเกิดได้ด้วยการประพฤติหรือฝึกปฏิบัติจนเป็นนิสัย เช่นเดียวกับทักษะในการทำสิ่งต่าง ๆ กล่าวคือเราเรียนรู้โดยการกระทำ เช่น เราเป็นนายช่างก็โดยการลงมือฝึกปฏิบัติ เป็นนักเล่นพิณก็โดยการลงมือเล่นพิณ เป็นต้น เช่นเดียวกับการที่เราจะเป็นคนมีความยุติธรรมก็โดยการกระทำอย่างยุติธรรม เป็นผู้กล้าหาญก็โดยการกระทำอย่างกล้าหาญ (Aristotle, 2000: 23)
จากความคิดเรื่องคุณธรรมตามที่กล่าวมา อริสโตเติ้ลได้อธิบายเกี่ยวกับคุณธรรมทางศีลธรรมต่อไปว่า คุณธรรมทางศีลธรรมเป็นสภาวะของลักษณะนิสัยที่เกี่ยวข้องกับการเลือกประสบการณ์จะเป็นตัวแสดงให้เห็นว่า สภาวะลักษณะนิสัยที่ได้ทำให้บุคคลมีความสามารถทำหน้าที่ของแต่ละคนได้อย่าง ถูกต้องนั้น ต้องขึ้นอยู่กับรู้จักความพอดีระหว่างความมากเกินไปและน้อยเกินไป บุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีคุณธรรมทางศีลธรรมมักจะเลือกแสดงออกที่มีความ สอดคล้องกับ "วิถีกึ่งกลาง" (golden mean) อริสโตเติ้ลอธิบายว่า วิถีกึ่งกลางไม่ได้เหมือนกันในทุก ๆ คน (Albert, et al., 1984: 40) โดยอริสโตเติ้ล ได้กล่าวถึง "วิถีกึ่งกลาง" ไว้ว่า สิ่งนี้ไม่ได้มีมาตรฐานวัดอย่างตายตัวเป็นอย่างเดียวกันสำหรับทุกคน วิถีกึ่งกลางเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องอยู่กับแต่ละบุคคลเองว่าในสภาพแวดล้อม หรือสถานการณ์นั้น ๆ เขาควรแสดงออกหรือกระทำอย่างไรจึงจะเป็นความพอดีสำหรับตนเอง เช่น อาหารสิบปอนด์อาจมากเกินไปกับการจะกินสำหรับคนบางคนในขณะเดียวกันสองปอนด์ก็ ดูจะน้อยเกินไป กรณีเช่นนี้เขาต้องเลือกความพอดีสำหรับตัวเอง ความพอดีสำหรับบุคคลใดบุคคลหนึ่งจะเกิดขึ้นได้ บุคคลนั้นต้องใช้เหตุผลหรือปัญญาของตนพิจารณาเลือกด้วยตนเอง
ประเด็นนี้อริสโตเติ้ลได้กล่าวไปถึงคุณธรรมทางลักษณะนิสัย เพราะคุณธรรมทางลักษณะนิสัยเกี่ยวข้องอยู่กับความรู้สึกและการกระทำและ สามารถที่จะพบได้จากความมากเกินไป (exess) น้อยเกินไป (defect) และความพอดี (mean)หรือวิถีกึ่งกลาง ตัวอย่างเช่น ความกลัว (fear) ความมั่นใจ(confidence) ความโกรธ (anger) ความสงสาร (pity) และอารมณ์ทั่ว ๆ ไปเหล่านี้มีมากหรือน้อยได้ แต่ไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้ามีสิ่งเหล่านี้ อย่างเหมาะสมกับเวลา สภาพการณ์ บุคคล และจบลงอย่างถูกต้องในวิถีทางที่ถูกต้องจึงถือได้ว่าเป็นวิถีกึ่งกลางและดี ที่สุด และสิ่งนี้ก็คือลักษณะของคุณธรรม ในทำนองเดียวกันความมาก เกินไป น้อยเกินไปและความพอดีก็มีอยู่ในการกระทำ คุณธรรมเกี่ยวเนื่องอยู่กับความรู้สึกและการกระทำ ถ้ามากหรือน้อยเกินไปก็จัดได้ว่าผิดเป้าหมาย ในขณะที่ถ้าอยู่ในความพอดีก็จัดได้ว่าถูกต้อง ดังนั้นคุณธรรมก็คือวิถีกึ่งกลาง (Aristotle, 2000: 30)
อริสโตเติ้ลได้อธิบายต่อไปว่าบุคคลอาจจะผิดพลาดต่อการมุ่งไปสู่เป้าหมายในหลาย ๆ วิธี แต่เขาสามารถกระทำถูกต้องต่อสิ่งเหล่านั้นเพียงวิธีเดียว และความมีเหตุผลก็อยู่ในฐานะเป็นสิ่งที่ดี ความมากและน้อยเกินไปเป็นลักษณะของความไม่ดี ขณะที่ความพอดีเป็นลักษณะของคุณธรรม ดังนั้น คุณธรรมจึงเป็นสภาวะที่เกี่ยว เนื่องอยู่กับการเลือก ซึ่งเกี่ยวเนื่องอยู่ในความพอดีที่สัมพันธ์อยู่กับตัวบุคคลและถูกกำหนดด้วย ความมีเหตุผล ซึ่งหมายถึงบุคคลผู้มีปัญญาหรือเหตุผลทางการปฏิบัติ จะกำหนดได้ซึ่งเป็นความพอดีระหว่างความสุดโต่งทั้งสองกล่าวคือความมากและ น้อยเกินไป ดังนั้นคุณธรรมจึงเป็นความพอดีที่อยู่ในความรู้สึกและการกระทำ (2000: 30)
อริสโตเติ้ล กล่าวต่อไปอีกว่า แต่หาใช่ว่าการกระทำหรือความรู้สึกทุกอย่างจะเป็นความพอดี บางอย่างได้ชื่อว่าเป็นลักษณะเลวทางศีลธรรม เช่น ความเคียดแค้น (spite) ความไร้ยางอาย (shamelessness) ความอิจฉาริษยา (envy) เป็นต้น ในกรณีที่บุคคลอยู่ในอารมณ์เช่นนี้เขาไม่สามารถที่จะพบกับความพอดีได้ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เลวในตัวเองอยู่แล้ว(2000: 31)
ในบรรดาลักษณะ นิสัยที่มาก น้อยและพอดีทั้งสามนี้ อริสโตเติ้ลกล่าวว่า สองอย่างแรกคือความมากเกินไปและความน้อยเกินไปเป็นความไม่ดี แต่อย่างที่สามคือความพอดีนั้นจัดว่าเป็นคุณธรรม แต่ละอย่างนั้นได้อยู่ในลักษณะที่คอยขัดแย้งกันและกัน ความสุดโต่งก็ขัดแย้งกับวิถีกึ่งกลาง ส่วนวิถีกึ่งกลางก็ขัดแย้งกับความสุดโต่งเช่นกัน ดังนั้นสภาวะอันเป็นวิถีกึ่งกลางก็คือสภาวะที่มากเกินไปสัมพันธ์กับสภาวะที่ น้อยเกินไป สิ่งนี้อยู่ทั้งในความรู้สึกและการกระทำ (2000: 34)
ด้วยเหตุนั้น อริสโตเติ้ลจึงอธิบายว่าคุณธรรมทางลักษณะนิสัยก็คือการกระทำที่เป็นความพอดี หรืออยู่ในวิถีกึ่งกลาง และอยู่ในความรู้สึกระหว่างความสุดโต่งหรือความไม่ดีทั้งสองคือความมากเกิน ไปและความน้อยเกินไป อย่างไรก็ตามอริสโตเติ้ลก็ได้กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับบุคคล เรื่องราวเหตุการณ์ เวลาหรือสถานที่อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีเฉพาะ เพราะเหตุที่มันไม่ง่ายที่จะกำหนดว่าบุคคลควรโกรธอย่างไร กับใคร ด้วยเหตุผลเช่นไร ยาวนานแค่ไหน ซึ่งในบางครั้งเราก็ได้สรรเสริญบุคคลที่กำลังโกรธเป็นไฟว่าเขาได้ แสดงออกอย่างเหมาะสม ตรงกันข้าม ในบางครั้งเราก็ได้ตำหนิคนที่แสดงอาการโกรธน้อยเกินไปด้วยเช่นกันเพราะได้ ชื่อว่าไม่แสดงอารมณ์ที่อยู่ในระดับของความถูกต้องเหมาะสม จากสิ่งที่ได้กล่าวมานี้ปรากฏให้เห็นว่าสภาวะกึ่งกลางสามารถค้นพบได้ในทุก กรณี แต่บางครั้งเราก็ต้องเอนเอียงไปหาความมากเกินไปหรือน้อยเกินไปบ้าง เพราะในวิถีทางเช่นนี้เราจะต้องหาความพอดีซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่ดีให้ มากที่สุด (2000: 35-36)
ข้ออธิบายข้างต้นทำให้เราพบว่า จริยศาสตร์คุณธรรมของอริสโตเติ้ลไม่ได้เป็นลักษณะคุณธรรมที่ตายตัวเหมือนดัง ที่นักปรัชญากรีกทั่วไปได้เสนอไว้ แต่เป็นสภาวะที่เกี่ยวเนื่องอยู่กับการเลือกอย่างมีเหตุผลซึ่งเหมาะสมกับการ กระทำเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่มีความขัดแย้ง กล่าวคือ มันเป็นการกระทำที่เหมาะสมกับบุคคล เวลา สถานที่ กล่าวได้ว่า คุณธรรมก็คือสภาวะที่สัมพันธ์กับการกระทำที่ถูกต้องนั่นเอง (Albert, et al., 1984: 43) และการกระทำเช่นนั้นก็อยู่บนพื้นฐานของเหตุผล หรือปัญญาของแต่ละบุคคลที่จะรู้ว่าเขาควรเลือกที่จะแสดงออกต่อสถานการณ์ที่ ขัดแย้งอย่างไร ดังนั้น บุคคลที่มีการเลือกอย่างมีเหตุผลจึงเรียกว่าผู้มีคุณธรรมทางศีลธรรมในทรรศนะ ของอริสโตเติ้ล
ด้วยเหตุที่อริสโตเติ้ลเชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล (rational animal) ในการดำเนินชีวิต มนุษย์ย่อมใช้เหตุผลหรือปัญญาช่วยในการตัดสินใจเลือกปฏิบัติให้เกิดภาวะที่ เรียกว่าคุณธรรมได้ เพราะความเข้าใจด้วยเหตุผลจึงทำให้เข้าถึงความพอดีระหว่างความเกินกับความ ขาดแล้วปฏิบัติอยู่ในความพอดีนั้นให้เกิดความต่อเนื่อง โดยปราศจากการฝืนความรู้สึกจนเป็นลักษณะนิสัยที่เรียกว่าลักษณะทางคุณธรรม อีกทั้งการปฏิบัติเช่นนั้นเป็นการปฏิบัติที่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ คือการใช้ปัญญาควบคุมวิญญาณที่ไร้เหตุผล จึงได้ชื่อว่าเป็น การทำหน้าที่ของมนุษย์อันมีความหมายต่อไปคือสิ่งนั้นเป็นความดีหรือความสุขสำหรับมนุษย์ อาจสรุปได้ว่า วิถีอันนำมนุษย์ไปสู่จุดมุ่งหมายคือความดีนั้นได้แก่ คุณธรรม อันเกิดจากการทำหน้าที่คือ การใช้เหตุผลอันเป็นแก่นแท้ของมนุษย์เป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิตที่ถูก ต้อง และเป็นความดีที่สมบูรณ์ในตัวเองหรือเป็นจุดมุ่งหมายของการกระทำ ดังนั้น จุดมุ่งหมายกับความดีจึงเป็นสิ่งเดียวกัน
กล่าวโดยสรุป ทรรศนะของอริสโตเติ้ลเรื่องจริยศาสตร์คุณธรรมมีสาระสำคัญคือ ประ การแรก อริสโตเติ้ลเชื่อว่า ธรรมชาติของมนุษย์ที่แท้จริง คือ เหตุผลและปัญญา (wisdom) ประการที่สอง ด้วยลักษณะของธรรมชาติดังกล่าวมนุษย์จึงแสวงหาความรู้ (desire to know) ประการที่สาม ความรู้ที่เกิดจากปัญญาและเหตุผลนำมนุษย์ไปสู่ความเข้าใจในจุดมุ่งหมายที่ แท้จริงของการกระทำ รู้จักแยกแยะการกระทำที่ดีและรู้จักคุณค่าทางศีลธรรมคือ ดี ถูก ผิด ฯลฯ คนดีคือคนที่ทำในสิ่งต่าง ๆ ด้วยปัญญาและเหตุผล ประการที่สี่ สิ่งทีดีเป็นสิ่งที่รู้ได้ด้วยเหตุผล ด้วยเหตุนี้เมื่ออริสโตเติ้ลกล่าวถึงคุณธรรมจึงหมายถึงสภาวะของการรู้จัก ตัดสินใจเลือกระหว่างสิ่งที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป ไม่ได้หมายถึงตัวคุณธรรมเช่นความกล้าหาญ ความยุติธรรม ดังเช่นที่นักปรัชญากรีกในสมัยเดียวกันเชื่อและอธิบายไว้ ผู้มีคุณธรรมจึงหมายถึงผู้ที่สามารถใช้ปัญญาและเหตุผลตัดสินใจเลือกการกระทำ ที่ตนเผชิญได้อย่างเหมาะสม มากกว่าจะหมายถึงผู้ที่ยึดหลักคุณธรรมตายตัว คุณธรรมทางศีลธรรมตามทรรศนะของอริสโตเติ้ลจึงเป็น ลักษณะนิสัยของบุคคลที่แสดงออกได้อย่างเหมาะสมถูกต้อง โดยมีเหตุผลมีปัญญาเป็นพื้นฐาน และ อาจกล่าวได้ว่าเป็นแนวความคิดทางจริยศาสตร์ที่สัมพัทธ์กับแต่ละสถานการณ์ที่ ปัญญามีอำนาจตัดสินใจเลือก (power of determining) อย่างเหมาะสม (Jordan, 1987: 158)
--
ที่มา : พระมหาจู่ล้อม ชูเลื่อน. (๒๕๔๖). ความกล้าหาญทางจริยธรรมในการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ในทศชาติชาดก. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต, สาขาวิชาจริยศาสตร์ศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.