จริยธรรมตามแนวคิดตะวันออกและตะวันตก

ส่วนทรรศนะทางด้านตะวันตกนั้น เวลาพูดถึงจริยธรรมจะแยกปรัชญาออกจากศาสนา นี่คือจุดสำคัญ เพราะฉะนั้นเวลาฝรั่งพูดถึงจริยธรรมหรือศีลธรรมจะพูดถึงการไตร่ตรอง (Philosophizing) การคิดด้วยปรัชญาเป็นการคิดอย่างเป็นระบบ แยกออกจาศาสนา และสิ่งที่เป็นลักษณะสำคัญของตะวันตกคือเรื่องการคิดอย่างเป็นระบบ คิดอย่างมีทฤษฎีรองรับ และในที่สุดก็จะเน้นที่ Value Clarification ซึ่งโคลเบอร์กนำไปอธิบายเรื่อง การใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม (Moral Reason) หรือทฤษฎีพัฒนาการของการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมของบุคคลซึ่งอธิบายอย่างเป็นขั้นตอน
 

รองศาสตราจารย์สิวลี ศิริไล  

คำว่า "จริยธรรม" เป็นศัพท์บัญญัติโดยราชบัณฑิตยสถาน คำนี้ไม่มีรากศัพท์ภาษาอังกฤษ ซึ่งแตกต่างจากคำอื่น ๆ เช่น คำว่า"ศีลธรรม" หรือในภาษาอังกฤษว่า morality นั้นมาจากภาษาละติน หมายถึง หลักความประพฤติที่ดีงาม ส่วนคำว่า "จริยศาสตร์" (Ethics) นั้นมีรากศัพท์มาจากภาษากรีกว่า Ethos ซึ่งปัจจุบันนี้ทางราชบัณฑิตยสถานบัญญัติให้ใช้ว่าเป็นชื่อวิชาหนึ่งที่เป็น สาขาหนึ่งของวิชาปรัชญา ส่วนคำว่า "มโนธรรม" นั้นมาจากภาษาละตินว่า "CUM+SCIR" หมายถึงความสำนึกสองอย่างที่เกิดขึ้นพร้อมกัน (Guilty and Shame) ซึ่งนักปรัชญาตะวันตกและตะวันออกต่างเชื่อตรงกันว่ามีอยู่ในใจของมนุษย์ ดังนั้นคำว่า "จริยธรรม" เข้าใจว่านั้นเป็นการบัญญัติจากศัพท์ภาษาไทยแท้ ทางราชบัณฑิตยสถานบัญญัติขึ้นมาจากคำสองคำ คือ คำว่า "จริย" ซึ่งแปลว่า " ความประพฤติ" กับคำว่า "ธรรม" ซึ่งแปลว่า "หลักความจริง" เมื่อแปลออกมาแล้ว ราชบัณฑิตของไทยให้ความหมาย " หลักแห่งความประพฤติที่ดีงามเพื่อประโยชน์สูงสุดแห่งตนเองและสังคม " ซึ่งเป็นความหมายแรกของจริยธรรมที่สังคมไทยใช้

ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า ขอบเขตของคำว่าจริยธรรมนี้กว้างมาก ถ้าเราพูดถึงจริยธรรมในความหมายของศาสนา แน่นอนที่สุดว่าจริยธรรมในความหมายนี้จะต้องมาจากหลักศีลธรรมในแต่ละศาสนา เช่น พระพุทธศาสนามีศีล ๕ เป็นหลักจริยธรรมสำหรับชาวบ้าน เพราะฉะนั้นจริยธรรมในความหมายของเช่น พระพุทธศาสนาก็คือพึงมีเมตตาพึงซื่อสัตย์ พึงสำรวมความประพฤติ เป็นต้น ถ้าเป็นจริยธรรมที่มาจากกฎหมายก็จะมีมาตรากฎหมายเป็นฐานว่าเวลาที่เราพูดถึง จริยธรรมในแง่กฎหมาย ก็จะระบุว่าพึงเคารพกฎหมาย พึงใช้สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง เป็นต้น ถ้าเป็นจริยธรรมในความหมายของขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม หรือค่านิยมจะมาจากวัฒนธรรมไทย เช่น พึงเคารพผู้อาวุโส พึงกตัญญู พึงสุภาพอ่อนโยน ถ่อมตน เหล่านี้เป็นจริยธรรมในความหมายที่มาจากขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ถ้าเป็นจริยธรรมที่มาจากปรัชญาวิชาชีพ ซึ่งภาษาไทยใช้คำว่า จรรยาบรรณ ภาษาอังกฤษ คือ "Code of Ethics" เมื่อเราพูดถึงจริยธรรมในวิชาชีพ ในสงไทยเราใช้คำว่า " จรรยาบรรณ" ทันที เพราะว่าอะไร ? เพราะขึ้นอยู่กับปรัชญาของแต่ละวิชาชีพ เช่นการแพทย์บอกว่าปรัชญาของวิชาชีพที่สำคัญที่สุดก็คือ การป้องกันส่งเสริมสุขภาพของมนุษย์ ดังนั้นจริยธรรมข้อหนึ่งซึ่งเป็นสากล (Universal) สำหรับผู้ที่เป็นแพทย์ เป็นพยาบาล ก็คือพึงให้บริการโดยเคารพศักดิ์ศรีเกียรติภูมิของมนุษย์ (Human Dignity) นี้เป็นความหมายของจริยธรรมซึ่งมาจากศัพท์บัญญัติ

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นความหมายของจริยธรรมที่เป็นศัพท์บัญญัติ ยังมีจริยธรรมอีกความหมายหนึ่งซึ่งเรากำลังพูดกันมากอยู่ในปัจจุบันนี้ แล้วก็โยงเข้ากับหัวข้อการสัมมนานี้ คือ คำว่า "จริยธรรม" หมายถึง หลักความประพฤติที่มนุษย์ควรประพฤติ (Ethical Rule) จะมีคำที่สำคัญอยู่ 2 คำ คือคำว่า "มนุษย์" กับคำว่า "ควร" เพราะว่าคำทั้งสองนี้บอกถึงความสำคัญของคำว่าจริยธรรมในความหมายนี้ว่า ลักษณะพิเศษประการหนึ่งของมนุษย์คือความเป็นผู้มีสำนึกทางจริยธรรม ซึ่งประเด็นนี้ตรงกันทั้งทางตะวันออกและตะวันตกว่า ถ้าคนเราเป็นมนุษย์ เวลาเราพูดถึงเรื่องทำแท้ง ในที่สุดก็จะถามว่า เรายังตระหนักถึงความเป็นสัตว์ประเสริฐหรือผู้มีสำนึกทางมโนธรรมอยู่หรือไม่

ส่วนคำว่า "ควร" นี้หมายถึงการที่คนเรารู้จักไตร่ตรอง เราพินิจพิจารณา ศีลธรรมบอกว่า จงอย่าพูดปด แต่จริยธรรม หมายถึงว่า ในสถานการณ์หนึ่ง เราจะพูดจริงหรือเราจะพูดเท็จหรือพูดเลี่ยง นี้คือจริยธรรมในความหมายนี้ เพราะฉะนั้นจริยธรรมในความหมายนี้จะแยกจากศีลธรรม ศีลธรรมนั้นเป็นหลักความประพฤติที่มาจากศาสนา เช่น ในศาสนาพุทธ ห้ามพูดปด ห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เพราะฉะนั้นจริยธรรมในความหมายนี้ไม่ตัดสินความเป็นคนดีหรือคนไม่ดี แต่จะตัดสินว่าเหตุการณ์หนึ่งเป็นเรื่องควรทำหรือไม่ควรทำ เพราะอะไร เช่นในด้านการแพทย์ การทดลองในเด็ก การที่ไปขอบริจาคอวัยวะ เป็นสิ่งควรทำหรือไม่ควรทำ เพราะอะไร การบอกว่าควรทำก็ไม่ได้หมายความว่า การกระทำนี้ถูกศีลธรรมในศาสนา หรือมิควรทำก็ไม่ได้หมายความว่า คนนี้ผิดศีลธรรม ความหมายนี้สำคัญมากสำหรับการที่เราจะพูดกันในสาขาของแพทย์ รวมทั้งในการใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบันด้วย

ม.ร.ว.คึก ฤทธิ์ ปราโมช ได้ให้คำจำกัดความคำว่า "จริยธรรม" ในความหมายนี้ค่อนข้างจะชัดเจน ท่านบอกว่า " จริยธรรมเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งควรประพฤติในกรณีใด สถานการณ์ใดในโอกาสหรือเวลาใด เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ส่งเสริมให้บุคคลเป็นสมาชิกของสังคมที่กำลังพัฒนา ไม่ขัดต่อการพัฒนา และส่งเสริมให้การพัฒนาเป็นไปด้วยดี" เป็นความที่ชัดเจนมากและครอบคลุมความหมายของคำสำคัญ 2 คำที่กล่าวมาข้างต้น ดังนั้นคำว่า "จริยธรรม" ในความหมายนี้จะมีลักษณะที่ภาษาปรัชญาใช้คำว่า "Relative" แปลว่า มีลักษณะสัมพัทธ์ไม่ตายตัว ยกตัวอย่าง เช่น ในทางการแพทย์นั้น การไม่ช่วยชีวิตคน เราถือว่าขาดเมตตา ผิดจรรยาบรรณ แต่คนไข้ซึ่งกำลังทุกข์ทรมานเหลือเกิน แล้วอยู่ในขั้นตอนที่สิ้นหวังแล้วอย่างสิ้นเชิง บางทีการให้คนไข้จากไปโดยสงบ คือหยุดการรักษาที่ไม่จำเป็น (Stop Treatment) ก็เป็นสิ่งที่สมควรกระทำ มากกว่าที่จะพยายามใช้เทคโนโลยีช่วยชีวิต ทั้ง ๆ ที่คนไข้นั้นเป็นกรณีที่หมดหวังแล้วอย่างสิ้นเชิง ตามความรู้สึกทางการแพทย์

ลูกศิษย์คน หนึ่งของผู้เขียนเคยเล่าให้ฟังว่า เขาผิดหรือเปล่าที่พยายามเจาะคอคนไข้ พยายามทุกอย่างให้ญาติคนไข้เห็นว่าได้ช่วยชีวิตคนไข้แล้วอย่างเต็มที่ ถ้าคนไข้นั้นยังพอมีหวัง ผู้เขียนเชื่อว่า ก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำ วิญญูชนไม่ติเตียน ถ้าหากเห็นว่าเป็นคนไข้ที่หมดหวังแล้วอย่างสิ้นเชิงแน่ ๆ ความตายได้มาแล้วอย่างในมรณาวิถีแล้ว การทำเช่นนั้นก็เป็นคำถาม คือแพทย์ผู้นั้นถามคนไข้ว่า "คุณควรจะเก็บคุณแม่ของคุณที่รักเอาไว้ในหัวใจ หรือว่าเก็บไว้ใน ไอ.ซี.ยู." เพราะฉะนั้นประเด็นนี้จึงเป็นจริยธรรมในความนี้ซึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ค่อนข้างจะให้ความหมายได้ชัดเจนที่สุด และเป็นประโยชน์มาก เผอิญท่านได้บรรยายให้นักเศรษฐศาสตร์ฟังเพราะฉะนั้นความหมายของท่านก็มุ่งไป ในเรื่องของการพัฒนาประเทศ

ทีนี้เราจะ ดูความหมายของจริยธรรมในความนี้ได้อย่างไร เราจะดูการแสดงออกของจริยธรรมในความหมายดังกล่าว เมื่อบุคคลนั้นเผชิญกับ Dilemma คำว่า "Dilemma" เป็นคำภาษากรีก แปลว่า สถานการณ์ 2 อย่าง ที่จะต้องตัดสินใจ โดยไม่จำเป็นที่ว่าจะต้องเป็นสถานการณ์ที่ดีข้างหนึ่ง ไม่ดีข้างหนึ่ง เป็นสถานการณ์ ที่ดีทั้งสองอย่างก็ได้ หรือจะดีข้างหนึ่ง ไม่ดีข้างหนึ่งก็ได้ เช่น ยกตัวอย่างกรณีที่บอกว่า ควรไปขออวัยวะจากผู้ป่วยที่กำลังจะตาย คือขอจากญาติเขาไหม เพราะว่าเป็นการบอกทางให้เขาทำกุศล หรือขอให้เขาอุทิศด้วยความสมัครใจของเขาเอง เพียงแต่เราบอกว่ามีคนต้องการ เพราะอะไร เพราะการเข้าไปขอบางทีเป็นการสร้างทุกข์ซ้อนทุกข์ ญาติผู้ป่วยอาจจะไม่กล้าให้ ในขณะเดียวกันเขาจะตำหนิตัวเองว่าใจดำ

ดังนั้น ความหมายของจริยธรรมที่เราใช้ในทางจริยศาสตร์ชีวภาพ (Bioethics) จะเป็นจริยธรรมในความหมายนี้ แล้วเมื่อเราจะดูว่า ใครจะแสดงออกทางจริยธรรมหรือไม่นั้นเราต้องดูเมื่อมีสถานการณ์ 2 อย่าง (Dilemma) มาท้าทาย หลักศีลธรรมทางพุทธศาสนาบอกว่า จะดูว่าใครมีศีลธรรมหรือไม่ ต้องอยู่ด้วยกันดูเวลาที่มีปัญหา เวลาตัดสินใจแล้วจึงจะพูดไดว่ามีศีลธรรมหรือไม่ ไม่ใช่ดูว่าไปสำนักไหน ถือศีลหรือไม่ ประเด็นนี้ค่อนข้างจะสอดคล้องกับความหมายนี้

สำหรับ ปรัชญาตะวันออกนั้น เรามีปรัชญาจีนกับปรัชญาอินเดียเป็นแม่แบบของจริยธรรม และทั้งสองระบบนี้ต่างกันด้วย ปรัชญาจีนนั้นเน้นที่การปฏิบัติ จะมีลักษณะเป็น Ethical Philosophy จะเน้นที่ความคิด (Wisdom) การมีมโนธรรม และการปฏิบัติ เพราะฉะนั้นปรัชญาจีนจะเป็นปรัชญาชองการ ปฏิบัติจริง ๆ ในสังคม ในชีวิตประจำวันไม่ได้พูดถึงชีวิตหลังความตาย แต่ปรัชญาอินเดียไม่แยกจากศาสนา ปรัชญาอินเดียทุกระบบจะรวมอยู่กับศาสนา เพราะฉะนั้นนอกจากจะเน้นที่ปรัชญา เน้นที่มโนธรรมแล้ว ยังมีเรื่องศรัทธา (Faith) กับความเชื่อ (Believe) ด้วย ซึ่งทำให้มีข้อผูกมัด (Commitment) กับหลักศีลธรรมหรือหลักจริยธรรมนั้น แล้วจึงออกมาเป็นการปฏิบัติได้ พุทธศาสนาเป็นปรัชญาอินเดีย เพราะฉะนั้นจริยธรรมในพุทธศาสนาจึงมีลักษณะของปรัชญาอินเดีย มีศรัทธา ความเชื่อ และการปฏิบัติ เข้ามาด้วย

ส่วนปรัชญา จีนนั้น เป็นเรื่องของการใคร่ครวญ การมีมโนธรรม แยกออกว่า อะไรถูก อะไรผิด และนำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งเป็นปรัชญาของขงจื๊อ ขงจื๊อกล่าวว่า "ความมีจริยธรรมอยู่ภายในใจของมนุษย์" แล้วถ้าใจเป็นรากแก้ว พฤติกรรมที่แสดงออกให้คนเห็นคือคุณธรรม สำหรับใจของจีนนั้นจีนเน้นว่าเป็นใจที่คิดด้วยเหตุผล ด้วยการไตร่ตรอง เช่น คนที่มีความรู้สึกสงสารคนในใจบุคลิกภาพ หรือการปฏิบัติตนที่แสดงออกมาคือ เป็นคนที่ยุติธรรม เป็นคนที่มีมนุษยธรรม เพราะฉะนั้นคนที่มีความละอาย มีหิริโอตัปปะอยู่ในใจจะเป็นคนที่มีความเที่ยงธรรม ไม่ทำสิ่งใดผิดหลักการเป็นอันขาด ความ รู้สึกอ่อนโยนในใจจะแสดงออกมาด้านบุคลิกภาพคือคนที่มีมารยาทงาม ความรู้สึกถูกผิด จะทำให้เป็นคนที่มีปัญญา เพราฉะนั้นจีนจะบอกว่าคนที่มีปัญญาไม่ได้หมายถึงคนมีการศึกษาดี (Well-Educated) เสมอไป แต่เป็นคนที่ใช้สติปัญญาใคร่ครวญ แล้วจากจิตใจก็ออกมาทางพฤติกรรมเป็นการปฏิบัติ ที่สอดคล้องแบบเพื่อน นี่คือทรรศนะทางด้านตะวันออก

ส่วนทรรศนะ ทางด้านตะวันตกนั้น เวลาพูดถึงจริยธรรมจะแยกปรัชญาออกจากศาสนา นี่คือจุดสำคัญ เพราะฉะนั้นเวลาฝรั่งพูดถึงจริยธรรมหรือศีลธรรมจะพูดถึงการไตร่ตรอง (Philosophizing) การคิดด้วยปรัชญาเป็นการคิดอย่างเป็นระบบ แยกออกจาศาสนา และสิ่งที่เป็นลักษณะสำคัญของตะวันตกคือเรื่องการคิดอย่างเป็นระบบ คิดอย่างมีทฤษฎีรองรับ และในที่สุดก็จะเน้นที่ Value Clarification ซึ่งโคลเบอร์กนำไปอธิบายเรื่อง การใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม (Moral Reason) หรือทฤษฎีพัฒนาการของการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมของบุคคลซึ่งอธิบายอย่างเป็น ขั้นตอน

***
ที่มา : วริยา ชินวรรโณ, บรรณาธิการ. (2536). นานาทรรศนะเกี่ยวกับจริยธรรม. ภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.

THAI CADET

 

© 2547-2565. All Right Reserved by THAI CADET   TEL./LINE : 0959429193

Made with Pingendo Free  Pingendo logo