ความรู้เกี่ยวกับจริยธรรม

จริยธรรมก็คือ สิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวมนุษย์โดยธรรมชาติ ซึ่งจะต้องพัฒนาขึ้นโดยอาศัยกฎเกณฑ์ความประพฤติที่มนุษย์ควรประพฤติที่ได้ จากหลักการทางศีลธรรม หลักปรัชญา วัฒนธรรม กฎหมายหรือจารีตประเพณี เพื่อประโยชน์สุขแก่ตนเองและสังคม นอกจากนี้ จริยธรรมยังใช้เป็นแนวทางประกอบการติดสินใจเลือกความประพฤติ/การกระทำที่ถูก ต้องเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ด้วย
 

ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาจริยศาสตร์ศึกษา
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ความหมายของจริยธรรม

คำว่า “จริยธรรม” แยกออกเป็น จริย + ธรรม ซึ่งคำว่า จริย หมายถึง ความประพฤติหรือกิริยาที่ควรประพฤติ ส่วนคำว่า ธรรม มีความหมายหลายประการ เช่น คุณความดี, หลักคำสอนของศาสนา, หลักปฏิบัติ เมื่อนำคำทั้งสองมารวมกันเป็น "จริยธรรม" จึงมีความหมายตามตัวอักษรว่า “หลักแห่งความประพฤติ” หรือ “แนวทางของการประพฤติ”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2535 ให้คำนิยามว่า "จริยธรรม" คือ ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ, ศีลธรรม, กฎศีลธรรม

โดยทั่วไป จริยธรรมมักอิงอยู่กับศาสนา ทั้งนี้เพราะคำสอนทางศาสนามีส่วนสร้างระบบจริยธรรมให้สังคม ดังคำกล่าวของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ว่า “จริยธรรมของสังคมไทยขึ้นอยู่กับระบบศีลธรรมของพุทธศาสนา ศาสนาพุทธกำหนดหลักในการปฏิบัติในชีวิตประจำไว้อย่างไร นั่นหมายความว่า ได้กำหนดหลักจริยธรรมไว้ให้ปฏิบัติอย่างนั้น” แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า จริยธรรมอิงอยู่กับหลักคำสอนทางศาสนาเพียงอย่างเดียว แท้ที่จริงนั้นจริยธรรมหยั่งรากอยู่บนขนบธรรมเนียมประเพณี โดยนัยนี้ บางคนเรียกหลักแห่งความประพฤติอันเนื่องมาจากคำสอนทางศาสนาว่า "ศีลธรรม" และเรียกหลักแห่งความประพฤติอันพัฒนามาจากแหล่งอื่น ๆ ว่า "จริยธรรม"

จริยธรรม ไม่แยกเด็ดขาดจากศีลธรรม แต่จริยธรรมจะมีความหมายกว้างกว่าศีลธรรม เพราะศีลธรรมเป็นหลักคำสอนทางศาสนาที่ว่าด้วยความประพฤติปฏิบัติชอบ ส่วนจริยธรรม หมายถึง หลักแห่งความประพฤติปฏิบัติชอบอันวางรากฐานอยู่บนหลักคำสอนของศาสนา ปรัชญาและขนบธรรมเนียมประเพณี

อีกทั้ง จริยธรรมมิใช่กฎหมาย ทั้งนี้เพราะกฎหมายเป็นสิ่งบังคับให้คนทำตาม และมีบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน ดังนั้น สาเหตุที่คนเคารพเชื่อฟังกฎหมายเพราะกลัวถูกลงโทษ ในขณะที่จริยธรรมไม่มีบทลงโทษ ดังนั้นคนจึงมีจริยธรรมเพราะมีแรงจูงใจ แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับจริยธรรมในฐานะเป็นแรงหนุนจากภายนอกเพื่อให้คน มีจริยธรรม

จากนิยามที่ยกมานั้น สามารถประมวลสรุปความได้ว่า จริยธรรม คือ แนวทางของ การประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นคนดี เป็นประโยชน์สุขของตนเองและส่วนรวม

กล่าวโดยสรุป จริยธรรมก็คือ สิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวมนุษย์โดยธรรมชาติ ซึ่งจะต้องพัฒนาขึ้นโดยอาศัยกฎเกณฑ์ความประพฤติที่มนุษย์ควรประพฤติที่ได้ จากหลักการทางศีลธรรม หลักปรัชญา วัฒนธรรม กฎหมายหรือจารีตประเพณี เพื่อประโยชน์สุขแก่ตนเองและสังคม นอกจากนี้ จริยธรรมยังใช้เป็นแนวทางประกอบการติดสินใจเลือกความประพฤติ/การกระทำที่ถูก ต้องเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ด้วย

ลักษณะการปฏิบัติและลักษณะความคิดที่จัดเป็นคุณธรรมนั้นมีสภาพเป็นอยู่มากมาย จึงได้มีการจัดกลุ่มคุณธรรมหลักขึ้น เพื่อสะดวกในการทำความเข้าใจลักษณะคุณธรรมในระดับต่าง ๆ ดังลักษณะคุณธรรมที่ได้รวบรวมมาจากผล การประชุมทางวิชาการเกี่ยวกับจริยธรรมไทย ในส่วนของนโยบายและการพัฒนาเด็กระยะยาวด้านจริยธรรม จากแนวคิดของสาโรช บัวศรี และพระราชวรมุนี ดังต่อไปนี้

1. การรักความจริง การไม่พูดปดและไม่ฉ้อฉล การรักษาคำมั่นสัญญา 
2. การไม่เบียดเบียนกัน การรักษาสิทธิและความชอบธรรมของผู้อื่น 
3. ความละอายใจต่อการกระทำความผิดหรือความชั่วใด ๆ 
4. ความรู้จักพอ ความไม่โลภ ไม่หลง และการจัดการชีวิตตนโดยสันโดษ 
5. การรู้จักบังคับใจตนเอง 
6. ความรับผิดชอบต่อสังคม 
7. ความเสมอภาค
 8. ความเสียสละ 
9. ความซื่อสัตย์ 
10. ความกล้า 
11. การมีแนวความคิดกว้าง 
12. ความสามัคคี 
13. ความเข้าใจในศาสนา และการใช้หลักธรรมะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ 
14. ความมีเมตตา กรุณา และการให้อภัย 
15. ความพากเพียรและอดทน 
16. การรู้จักค่าของการทำงาน 
17. การรู้จักค่าของทรัพยากร 
18. ความมีสติสัมปชัญญะ 
19. การรู้จักใช้ปัญญาแก้ไขปัญหา 
20. การมีสัมมาอาชีวะ 
21. การมีคาวรธรรม 
22. การมีสามัคคีธรรม 
23. การมีปัญญาธรรม 
24. ความไม่ประมาท 
25. ความกตัญญูกตเวที 
26. การรักษาระเบียบวินัย 
27. การประหยัด 
28. ความยุติธรรม 
29. การมีมรรค 8 ซึ่งจัดเป็น 3 สาย คือ ศีล สมาธิ และปัญญา

ในข้อเท็จ จริงจะเห็นได้ว่า การจัดลักษณะคุณธรรมที่กล่าวมานั้นมีบางส่วนที่ซ้ำซ้อนกัน ดังนั้นจะได้จัดกลุ่มคุณธรรมหลักเป็น 19 กลุ่ม คือ

1. ความมีเหตุผล (rationality) 
2. ความซื่อสัตย์สุจริต (honesty) 
3. ความอุตสาหะ หรือการมีความตั้งใจอันแน่วแน่ (resolution) 
4. ความเมตตากรุณา (compassion) 
5. ความเสียสละ (devotion) 
6. ความสามัคคี (cooperation) 
7. ความรับผิดชอบ (responsibility) 
8. ความกตัญญูกตเวที (gratitude) 
9. ความประหยัด (moderation) 
10. ความรู้จักพอ (satisfaction) 
11. ความมีสติสัมปชัญญะ (awareness) 
12. ความมีระเบียบวินัย (discipline) 
13. ความยุติธรรม (fairness) 
14. ความอดทนอดกลั้น (endurance) 
15. ความเคารพนับถือผู้อื่น (consideration) 
16. ความไม่เห็นแก่ตัว (selflessness) 
17. ความถ่อมตัว (modesty) 
18. ความกล้าทางคุณธรรม (courage) 
19. ความเคารพตนเอง (self-respect)

คำจำกัดความ ความหมาย และตัวอย่างพฤติกรรมของแต่ละกลุ่ม

1. ความมีเหตุผล
นิยาม ความสามารถในการใช้ปัญญาในการประพฤติปฏิบัติ รู้จักไตร่ตรอง พิสูจน์ให้ประจักษ์ ไม่หลงงมงาย มีความยับยั้งชั่งใจ ไม่ผูกพันตนเองกับอารมณ์และความยึดมั่นส่วนตัวความสามารถในการหาสาเหตุของ สิ่งต่าง ๆ ได้โดยการคิดใคร่ครวญ ไตร่ตรองปัญหาต่าง ๆ ว่ามีต้นตอมามาจากสิ่งใด รวมไปถึงการพิจารณาว่าถ้าทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดลงไปแล้วจะเกิดผลดีหรือผลเสียต่อ ตนเอง และคนรอบข้างอย่างไรบ้าง
ตัวอย่าง
- ใช้กระบวนการคิดอย่างมีเหตุผล 
- ศรัทธาต่อการเข้าให้ถึงความจริงของเรื่องต่าง ๆ 
- ไม่ลุ่มหลงเพราะเชื่องมงาย 
- ไม่ยึดตนเองหรือบุคคลเป็นใหญ่ 
- ไม่สรุปอย่างง่าย ๆ โดยไม่ใช้เหตุผลอย่างรอบคอบ 
- รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาละเทศะ

2. ความซื่อสัตย์สุจริต
นิยาม การประพฤติปฏิบัติอย่างเหมาะสม และตรงต่อความเป็นจริง ประพฤติปฏิบัติอย่างตรงไปตรงมา ทั้งกาย วาจา ใจ ต่อตนเองและผู้อื่น รวมตลอดทั้งต่อหน้าที่การงานและคำมั่นสัญญา ความประพฤติที่ตรงไปตรงมา และจริงใจในสิ่งที่ถูกที่ควร ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม รวมไปถึงการไม่คิดคดทรยศ ไม่คดโกงและไม่หลอกลวง นอกจากนี้แล้วความซื่อสัตย์สุจริตยังรวมไปถึง การรักษาคำพูดหรือคำมั่นสัญญา และการปฏิบัติหน้าที่การงานของตนเองด้วยความรับผิดชอบ และด้วยความซื่อสัตย์ไม่แสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้องด้วยการใช้ อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งความซื่อสัตย์สุจริตนี้จะดำเนินไปด้วยความตั้งใจจริงเพื่อทำหน้าที่ของ ตนเองให้สำเร็จลุล่วง ด้วยความระมัดระวัง และเกิดผลดีต่อตนเองและสังคม
ตัวอย่าง
- ซื่อตรงต่อเวลา งาน การนัดหมาย คำมั่นสัญญา ระเบียบประเพณี กฎหมาย 
- ไม่พูดปด ฉ้อฉล สับปลับ กลับกลอก ไม่คดโกง 
- ไม่ให้ร้ายผู้อื่น 
- กล้าที่จะรับความจริง 
- ประกอบสัมมาชีพ

3. ความอุตสาหะ 
นิยาม ความพยายามอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้งานที่ทำสำเร็จลุล่วง ความมีมานะพยายามในการประกอบการงานที่สุจริตด้วยความขยันขันแข็ง อดทน เอาใจใส่อยู่เป็นนิจและเสมอต้นเสมอปลาย โดยใช้สติปัญญาเพื่อให้งานที่ทำบรรลุผลสำเร็จและได้รับผลดีสูงสุด (สรุปการทำงานด้วยความอดทนไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค)
ตัวอย่าง 
- มานะอดทน 
- บากบั่น พยายาม ไม่ท้อถอย 
- ขยัน 
- ไม่ละเลยหรือทอดทิ้งธุระการงานทั้งของตนเองและทั้งที่ได้รับ มอบหมายให้ปฏิบัติ 
- พยายามต่อสู้เพื่อเอาชนะอุปสรรค

4. ความเมตตากรุณา 
นิยาม เมตตา คือ ความรักใคร่ ปรารถนาจะให้ผู้อื่นเป็นสุข กรุณา คือ ความสงสาร คิดจะช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ความปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับความสุข สามารถแสดงออกได้โดยการช่วยเหลือโดยการกระทำ หรือวาจา รวมถึงการไม่คิดร้ายต่อผู้อื่นด้วย
ตัวอย่าง
- ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น 
- มีอาการทางกาย วาจา ที่แสดงต่อผู้อื่นด้วยความสุภาพ นุ่มนวล 
- ช่วยปลอบใจผู้ที่ได้รับความลำบาก 
- ไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้เป็นทุกข 
- แสดงความยินดีเมื่อผู้อื่นได้รับความสุขและความสำเร็จ 
- ไม่ข่มขู่ ดูหมิ่น เสียดสี พูดจาด้วยความเกรี้ยวโกรธเคียดแค้น

5. ความเสียสละ 
นิยาม การละความเห็นแก่ตัว การให้ปันแก่ผู้ที่ควรได้รับ ด้วยกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังสติปัญญา รวมทั้งการรู้จักสลัดทิ้งอารมณ์ร้ายในตนเอง ความมีจิตใจกว้างขวาง ช่วยเหลือเกื้อกูล การสละความสุขสบายหรือผลประโยชน์ของตนเอง อันเป็นการกระทำที่เป็นประโยชน์ให้แก่บุคคลอื่นโดยที่ตนเองมิได้หวังผลตอบ แทนความมีจิตใจกว้างขวาง ช่วยเหลือเกื้อกูล การสละความสุขสบายหรือผลประโยชน์ของตนเอง อันเป็นการกระทำที่เป็นประโยชน์ให้แก่บุคคลอื่นโดยที่ตนเองมิได้หวังผลตอบแทน
ตัวอย่าง 
- บำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม 
- ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน 
- สละ แบ่งปัน ทรัพย์ เครื่องอุปโภค แก่ผู้ที่สมควรได้รับ 
- ช่วยแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา 
- ช่วยเพิ่มพูนความรู้ใหม่แก่ผู้อื่นตามกำลังสติปัญญา

6. ความสามัคคี
นิยาม ความพร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน การร่วมมือกันทำกิจการให้สำเร็จลุล่วงด้วยดีความพร้อมเพรียง หรือความปรองดองกัน
ตัวอย่าง
- รักหมู่คณะ มีใจหวังดี 
- มองคนอื่นในแง่ดีเสมอ 
- เข้ามีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในกิจการของส่วนรวม 
- เป็นผู้ประสานความสามัคคีในหมู่คณะ 
- ปรับตนเองให้เข้ากับผู้อื่นได้

7. ความรับผิดชอบ
นิยาม ความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความผูกพันและละเอียดรอบคอบ ยอมรับผลการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามความมุ่งหมาย อีกทั้งพยายามที่จะปรับปรุงการปฏิบัติหน้าที่ให้ดียิ่งขึ้น การมีความสำนึกและการปฏิบัติหน้าที่ของตนทั้งที่เป็นภารกิจส่วนตัว ภารกิจที่ได้รับมอบหมาย และภารกิจทางสังคมโดยจะต้องกระทำจนบรรลุผลสำเร็จ ไม่หลีกเลี่ยงภาระดังกล่าว และยอมรับผลในการกระทำของตน
ตัวอย่าง
- ให้ความสามารถอย่างเต็มที่ 
- ยอมรับผลการกระทำของตน 
- รู้หน้าที่ และกระทำหน้าที่เป็นอย่างดี 
- เอาใจในการทำงาน

8. ความกตัญญูกตเวที 
นิยาม ความกตัญญู หมายถึง ความรู้สึกนึกในการอุปการะคุณ หรือ บุญคุณที่ผู้อื่นหรือสิ่งอื่นมีต่อตนเอง กตเทวี หมายถึง การแสดงออกเพื่อการตอบแทนบุญคุณ ความกตัญญูกตเวที หมายถึง การรู้บุญคุณและตอบแทนคุณต่อคนอื่นและสิ่งอื่นที่มีบุญคุณ
ตัวอย่าง
- แสดงความเคารพนับถือ ยกย่องเชิดชู ผู้มีพระคุณ 
- ไม่ละทิ้งผู้มีพระคุณในคราวที่ผู้มีพระคุณเดือดร้อนลำบาก 
- ไม่ประพฤติเหี้ยมโหดต่อสัตว์ที่มีบุญคุณ 
- รักษาและสงวนทรัพยากรธรรมชาติ

9. ความประหยัด 
นิยาม การใช้สิ่งทั้งหลายอย่างพอเหมาะพอควรเพื่อให้ได้ประโยชน์มากที่สุดการรู้จักใช้ รู้จักออมทรัพย์สิน เวลา ทรัพยากรทั้งส่วนตนและสังคมตามความจำเป็นให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าที่สุด รวมทั้งการรู้จักดำรงชีวิตให้เหมาะสมกับสภาพฐานะความเป็นอยู่ส่วนตนและสังคม
ตัวอย่าง
- รู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ เหมาะกับสถานการณ์ 
- ใช้จ่ายทรัพย์เท่าที่จำเป็น สมควรแก่อัตภาพ 
- รู้จักใช้ประโยชน์จากของเก่า 
- รู้จักทำของใช้เอง 
- ใช้และถนอมของใช้ และทรัพย์สินให้คงคุณค่า และประโยชน์

10. ความรู้จักพอ 
นิยาม การไม่โลภ ไม่หลง และการจัดการชีวิตของตนโดยสันโดษการพึงพอใจในสภาพที่ตนเองเป็นอยู่ และรู้จักดำรงชีวิตให้เหมาะสมกับสภาพฐานะความเป็นอยู่ของตนเอง การมีความระลึกและรู้สึกตัวอยู่เสมอ อันจะมีผลให้สามารถควบคุมตนเองให้พ้นจากการเป็นทาสของกิเลส
ตัวอย่าง
- พอใจสิ่งที่ตนเองมีอยู่ 
- รู้จักข่มความโลภ ความหลงผิด

11. ความมีสติสัมปชัญญะ 
นิยาม การควบคุมตนเองให้มีความพร้อม มีสภาพตื่นตัว ฉับไวในการรับรู้ทางประสาทสัมผัส ในการตัดสินใจ และในการพฤติตนอย่างเหมาะสมบนพื้นฐานของการสำรวมรอบคอบและระมัดระวัง
ตัวอย่าง
- รู้ตัวตลอดเวลาว่าตนเองกำลังคิดและทำอะไร 
- ตระหนักในข้อดีข้อเสียของพฤติกรรมของตน 
- มีความฉับไวในการรับรู้สิ่งภายนอก 
- เมื่อประสบปัญหาข้อยุ่งยาก ก็จะสามารถควบคุมอารมณ์และความคิดของตนให้มีความพร้อมที่จะแก้ปัญหา 
- ยับยั้งการแสดงพฤติกรรมของตนได้ทัน ก่อนที่จะก่อให้เกิดผลเสียหายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น 
- ควบคุมตนเองไม่ให้ไปเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย 
- ระลึกตั้งมั่นในความถูกต้องดีงามอยู่เสมอ

12. ความมีระเบียบวินัย 
นิยาม การควบคุมความประพฤติให้ถูกต้องและเหมาะสมกับจรรยา มารยาท ข้อบังคับ ข้อตกลง กฎหมาย และศีลธรรมการรู้จักควบคุมตนเองให้ประพฤติปฏิบัติตามข้อตกลง ข้อบังคับ ระเบียบแบบแผน และขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ย่อมนำมาซึ่งความสงบสุขในชีวิตของตน ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคมและประเทศชาติ
ตัวอย่าง
- ควบคุมจิตใจและอารมณ์ให้อยู่ในกรอบและระเบียบที่ดีงาม 
- ควบคมและปรับปรุงกิริยาให้งดงาม เป็นระเบียบ สุภาพเหมาะกับ บุคคล โอกาส เวลา และสถานที่ - รักษาร่างกาย เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย เครื่องใช้ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย 
- รักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสถานที่ และปฏิบัติตามกฎ และข้อบังคับของสถานที่นั้น ๆ

13. ความยุติธรรม 
นิยาม การปฏิบัติด้วยความเที่ยงตรง สอดคล้องกับความเป็นจริง และเหตุผลความเที่ยงธรรม ความชอบธรรม และความชอบด้วยเหตุผล
ตัวอย่าง
- ไม่เห็นผิดเป็นชอบ 
- ไม่ลำเอียงเพราะความพอรักใคร่ โกธร เกลียด กลัว หลง

14. ความอดทนอดกลั้น
นิยาม ความอดทน คือการกระทำทุกอย่างด้วยความตั้งใจ สม่ำเสมอเป็นระยะเวลานาน โดยไม่ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรคทั้งปวง ความอดกลั้น คือ การรู้จักข่มใจในเวลาที่เผชิญกับเหตุการณ์ที่เย้ายวนทุกรูปแบบ อันจะทำให้ไม่เกิดความเสียหายหรือถลำลึกลงไปในความชั่วร้าย หรือความทุจริตทั้งปวง ความเข้มแข็ง ความบึกบึน ความหนักแน่นของจิตใจที่สามารถยืนหยัดต่อสู้การกระทบกระทั้งของสภาพการณ์และ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยไม่แสดงอาการหวั่นไหวใด ๆ
ตัวอย่าง
- ไม่แสดงอาการเจ็บป่วย หรือทุรนทุรายต่อความเจ็บป่วย หรือต่อ ความลำบาก ตรากตรำ 
- อดทนต่อความยากลำบาก ต่อคำเย้ยหยัน คำดูหมิ่น และคำวิพากษ์วิจารณ์ของผู้อื่นโดยไม่แสดงปฏิบัติโต้ตอบใด ๆ 
- มีจิตใจเข้มแข็ง ไม่ท้อแท้ ไม่ว่าจะตกอยู่ในสภาพการณ์หรือเหตุการณ์ใด ๆ

15. ความเคารพนับถือผู้อื่น 
นิยาม การแสดงออกซึ่งกาย วาจา ใจ อันสุภาพอ่อนโยน การรู้จักสำรวม รู้จักการให้เกียรติผู้อื่นและให้เกียรติสิ่งที่ควรเคารพอย่างถูกต้องเหมาะ สมตามโอกาสและสถานการณ์ การเคารพในการแสดงออกทางความคิด คำพูดและการกระทำของผู้อื่น อันจะทำให้ตนเองมีใจที่เปิดกว้าง ไม่หมกมุ่นอยู่แต่ความติดของตนเอง เพราะในบางครั้งการที่ยึดติดอยู่เฉพาะแต่ความคิดของตนอย่างเดียวนั้นอาจจะ ผิดพลาด หรือมองปัญหาได้ไม่ทั่วถึง
ตัวอย่าง
- แสดงความสุภาพอ่อนโยน 
- แสดงอากัปกิริยาสำรวมและสงบเสงี่ยม 
- ยอมรับฟังคำแนะนำของผู้อื่นด้วยกิริยาอันสำรวม

16. ความไม่เห็นแก่ตัว
นิยาม การกระทำที่ไม่หวังประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว แต่คำนึงถึงประโยชน์ของผู้อื่นและส่วนรวม
ตัวอย่าง
- ประพฤติตนเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม 
- ไม่ยึดถือเอาสาธารณสมบัติมาใช้ประโยชน์ส่วนตัว

17. ความถ่อมตัว
นิยาม การวางตนอย่างเหมาะสม ไม่แสดงตนเหนือผู้อื่น
ตัวอย่าง
- ไม่คุยโวโอ้อวด 
- ไม่เย่อหยิ่ง

18. ความกล้าทางคุณธรรม
นิยาม การแสดงความกล้าในการคิด และกระทำแต่สิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสมความกล้าหาญที่จะคิด พูด และทำในสิ่งที่ตนคิดว่าถูกต้องทางจริยธรรมโดยไม่คำนึงว่าหากตนปฏิบัติตาม สิ่งนั้นแล้วตนเองจะได้รับประโยชน์ หรือเสียผลประโยชน์อะไรบ้าง หากแต่กระทำไปเพราะมันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และจะไม่กระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องแม้ว่ามันจะนำมาซึ่งผลประโยชน์มากมายมหาศาล ก็ตาม
ตัวอย่าง 
- กล้าพูดความจริง 
- กล้าเสียสละ

19.ความเคารพตนเอง
นิยาม การรู้รับและเชื่อมั่นในความรู้และขอบเขตความสามารถของตนการปฏิบัติตามความ ตั้งใจ หรือปณิธานของตนเองอย่างแน่วแน่ที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ และเป็นสิ่งที่พิจารณาแล้วว่าถูกทำนองคลองธรรมการมีความเชื่อมั่นในความ สามารถที่จะกระทำการใด ๆ ให้สำเร็จได้ด้วยตนเอง สามารถดำรงชีพอยู่ได้โดยราบรื่น ไม่เดือดร้อน สามารถหาปัจจัยที่จำเป็นในการดำรงชีพมาได้ด้วยความสามารถของตนเอง ไม่เป็นภาระให้ผู้อื่นต้องคอยอุปถัมภ์สงเคราะห์
ตัวอย่าง
- รักศักดิ์ศรีของตน 
- ไม่โกหกตนเองว่าตนเองเก่งเกินตัว 
- ยอมรับขอบเขตความสามารถในการทำงานของตน 
--
บรรณานุกรม
- กรมการศาสนา. (2525). พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ 1-45. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา.
- พระเมธีธรรมาภรณ์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต). พุทธศาสนากับปรัชญา, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, 2535), หน้า 83.
- เทพเวที, พระ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). (2535). พจนานุกรมพุทธศาสตร์. (พิมพ์ครั้งที่ 7). กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.ธรรมปิฎก.
- ธรรมปิฎก, พระ (ป.อ.ปยุตฺโต). (2541). พุทธธรรม. (พิมพ์ครั้งที่ 8). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.
- ________. (2543). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. (พิมพ์ครั้งที่ 9). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.
- ราชบัณฑิตยสถาน. (2539). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (พิมพ์ครั้งที่ 6). กรุงเทพฯ: บริษัท อักษรเจริญทัศน์ จำกัด.
- สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2539). พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน. (พิมพ์ครั้งที่ 16). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์.

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo